ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“มหกรรมหนังสือระดับชาติ มหานครของนักอ่าน”

22
ตุลาคม
2565

 

“มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) การกลับมาของงานหนังสือพร้อมรูปลักษณ์ใหม่ของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เรียกขวัญกำลังใจจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ซื้อ ได้ด้วยการทำสถิติคนเข้าร่วมงานที่เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กลุ่มหลักมากกว่าครึ่งยังคงเป็นเยาวชนคนทำงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปี ทำให้มีความหวังร่วมกันว่าสถานการณ์จะพลิกฟื้นหลังล้มฟุบไปเพราะสื่อใหม่และความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ตลอด 3 ปี กับ 187 วัน

ครั้งนี้มาพร้อมแนวคิดทางการตลาดแบบนักธุรกิจกับนโยบายใหม่ ที่ปรับให้เป็นศูนย์แสดงสินค้าและมีร้านค้าเข้ามาร่วมหล่อเลี้ยงพื้นที่เหมือนห้าง ล้วนเป็นทางรอดที่ส่งผลถึงองคาพยพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จุดที่น่าจับตามอง คือ ปรากฏการณ์ที่เป็นกระแสต่อเนื่องมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อต้นปี 26 มีนาคม - 6 เมษายน 2565 ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับพรรคการเมือง เป็นทั้งเรื่องกระตุ้นการอ่านและสานโยงนโยบายอย่างแยบยล เปิดยุทธศาสตร์อีกด้านของการต่อสู้ทางการเมือง เอื้อให้มวลชนคนหนุ่มสาวได้มั่นใจว่า หนังสือคือองค์ความรู้ที่ทั้งลึกและกว้างมหาศาลต่อการเรียนรู้ และแตกต่างจากความรู้ที่ได้รับจากสื่อดิจิทัลใน Social Media อย่างไร ที่สำคัญมันมีผลต่อ Social Movement ขนาดไหน รูปแบบการจัดงานครั้งนี้จึงมีกลิ่นอายพุ่งเข้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่น้อยเลย ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการอ่านอย่างหนาตากว่าที่เคยมีมา และยังคงความเป็นมหาสมุทรของทุกชุดความรู้ที่หลากหลายเช่นเคย ทั้งหนังสือเก่าใหม่ ทุกหมวดที่ขนมาเอาใจนักอ่านแค่เดินผ่านก็มีความสุขนัก

นับเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อนโยบายการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครให้เป็นต้นแบบของ “มหานครนักอ่าน” และสานต่อพันธกิจปี 2556 ซึ่ง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้คัดเลือกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital 2013) เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด คือสิ่งสำคัญต่อมนุษย์ชาติ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (คนที่มีวิสัยทัศน์ต่อโลกใหม่) ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกอนาคต

 

 

“READERS TO LEADERS”

วินาทีแรกที่ประตูเปิด ประชาชนกรูกันเข้ามาเหมือนว่าจะสวมกอดคนรักที่ไม่ได้พบกันนาน ปีนี้มีแนวคิด “BOOKTOPIA: มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง” ประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นักอ่าน-นักเขียน-นักพัฒนาขวัญใจชาวไทย เป็นงานหนังสือที่สอดรับไปกับนโยบายหลักของกรุงเทพมหานครฯ ได้ดีเป็นเนื้อเดียวกัน

ในวันเปิดงาน 12 ตุลาคม 2565 ต้องเซ็ตอัพเวทีใหม่โดยย้ายด่วนจากบริเวณเวทีกลางขนาดเล็กไปเป็นเวทีใหญ่เฉพาะกิจที่หน้าฮอลล์ 6 เพื่อรองรับกองทัพนักข่าวและนักอ่าน รศ.ดร.ชัชชาติตั้งปณิธานสำหรับงานหนังสือว่า “ในหนึ่งปีมีงานใหญ่ 2 ครั้ง ต่อไปจะต้องเป็นงานที่อยู่ในปฏิทินโลก เชื่อว่าการอ่านคือการเปลี่ยนชีวิต กทม. จะเน้นสร้าง “บ้านหนังสือ” ที่อยู่ใกล้ชุมชน ผมเป็นผู้ว่าฯ ได้เพราะหนังสือ ก่อนทำงานผมสั่งซื้อหนังสือจาก Amazon ทุกเล่มที่เกี่ยวกับการสร้างเมือง เพราะหนังสือคือแหล่งความรู้ที่คนอื่นค้นคว้ามาให้เราแล้ว หลายสิ่งที่ทำก็ได้ไอเดียจากหนังสือ บางเรื่องเราคิดเองไม่ได้เพราะต้องใช้เวลานานในการไต่ตรอง ดูเทร็นด์แล้วคนกรุงเทพฯ อ่านมากขึ้นจากสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะอ่านจากสื่อไหนก็จะทำให้เราคุ้นเคยแล้วรักการอ่านมากขึ้น กทม. จะทำหน้าที่จัดหาหนังสือให้หลากหลายเพื่อทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก ได้อ่านทุกเรื่องที่ต้องการอ่าน ขอปวารณาตัวว่ากรุงเทพมหานคร จะต้องเป็นเมืองแห่งความรู้ เมืองแห่งการอ่าน” ผู้นำนักอ่านกล่าว

เดิมทีผู้คนจะคุ้นกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เป็นเหมือนบ้านเก่าซึ่งซอยเป็นล็อคกระจายแบ่งโซนบนพื้นที่แยกสเต็ป แต่คฤหาสน์ใหม่ถูกจัดรวบเข้ามาปะทะสังสรรค์กันทุกสำนักในโถงขนาดมหึมาเป็นเวลา 12 วัน พร้อมรวม 3 งานใหญ่ไว้ด้วยกันคือ งานมหกรรมหนังสือ วันที่ 12-23 ต.ค. 65 ชั้น LG Hall 5-7 / งาน HomePro Living Expro 13-23 ต.ค. 2565 ชั้น LG Hall 8 / งาน Thailand Game Show 2022 ชั้น G Hall 3-4 วันที่ 21-23 ต.ค. 2565 นับว่าแนวโน้มดีเพราะงานหนังสือเป็นตัวเอกที่ชนะเลิศผู้คนล้นโดยเฉพาะวันหยุด ภายในอาณาจักรใหม่ประกอบไปด้วย 306 สำนักพิมพ์ 788 บูธ (เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อ เมษายน 2565 ถึง 98 ราย ทั้งที่ค่าบูธปรับเพิ่มขึ้น) กว่า 100 กิจกรรม อบรม และเสวนาที่ล้วนเป็นหัวข้อที่น่าสนใจให้ความรู้

บูธจำหน่ายแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือทั่วไป, หนังสือเก่า, หนังสือประวัติศาสตร์และการเมือง, หนังสือนิยายและวรรณกรรม และหนังสือการ์ตูนวัยรุ่น Book Wonderland (การ์ตูน นวนิยาย แบบเรียน ยังคงรักษาแชมป์เช่นเคย) ส่วนของนิทรรศการที่ผ่านมามักจะเน้นเนื้อหาเฉพาะกลุ่มออกแบบหรูเข้มขรึมขลังอลังการเหมือนงานพิพิธภัณฑ์ แต่ปีนี้เพิ่มพื้นที่หลายเท่า ทั้งเนื้อหาและบรรยากาศถูกออกแบบให้มีความแมสมาก มีบรรยากาศลานกิจกรรมที่นำผู้คนเข้าถึงงานได้ง่าย (Activity Process) เน้นการเข้าร่วมสนุกปลุกความสนใจซ่อนนัยให้คิด มีจิตวิทยาส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ วัยรุ่นชอบผู้ใหญ่ชื่น รื่นเริงได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มเข้าประตูมามีเส้นสีนำสู่โซนที่สนใจ บริการขนส่ง 3 เจ้าเข้ามาให้บริการ (Line Man, Home Pro และไปรษณีย์ไทย) ของเอกชนเฉือนรัฐด้วยโพรโมชันลดแหลกแลกยอดสั่งส่งจี้ตรงจุด แต่ที่สะดุดเพราะไม่สะดวก

นิทรรศการ Booktopia เมืองในฝันของนักอ่าน (ด้านหน้าฮอลล์ 6-7) เปิดพื้นที่ให้ร่วมแชร์ไอเดีย เมืองในฝัน มากกว่าครึ่งของคนเขียนจะเป็นวัยรุ่นที่เข้ามาบ่นพ่นความนัย เหมือนไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของงานการออกแบบที่แนบมากับกิจกรรม ทำให้สนุกกับการค้นหา กว่าจะพบสารสร้างสรรค์สักแผ่น แต่แก่นคือการให้เสรีทางความคิด จึงต้องติดอย่างพร้อมเพรียงเรียงโชว์

มูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น บูธ A26 เชิญชวนนักอ่านร่วมบริจาคหนังสือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน ห้องสมุด ผู้สูงวัย และผู้พิการ ในพื้นที่ขาดแคลน บูธทำเลดีอยู่ที่ประตูทางเข้า 6 วัตถุประสงค์น่าส่งเสริม มีมอบทุนให้ผู้ชนะการประกวด ‘อ่านได้ เล่าสนุก ปลุกไอเดีย ครั้งที่ 2’ ด้วย

 

 

 

Landmark บูธ H26 จุดนัดพบมุมมอง Bird Eye View 360 องศา เพลินพิศเมืองจำลองของนักอ่าน สนานสนุกกับการถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

PUBAT (สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) ร่วมกับ ‘สมาคมป้ายยาหนังสือ’ จัด 3 กิจกรรมโรแมนติกให้นักอ่านได้ครึกครื้นรื่นรมย์กันตลอดงาน ด้วย ‘Envelope letters on the wall’ เขียนความในใจใส่ซองจดหมายติดไว้บนกำแพงในบูธ, ‘Book Blind Date’ กิจกรรมแลกเปลี่ยนหนังสือ โดยห่อหนังสือให้มิดชิดและเขียนแค่คำโปรยเพื่อบอกใบ้คนอื่น และสุดท้าย ‘Book Playlist’ จัดรายชื่อหนังสือตามความชอบส่งมอบให้นักอ่านคนอื่นๆ 

 

ถนนนักอ่าน Reader Road บูธ F27
ถนนนักอ่าน Reader Road บูธ F27

 

ห้องสมุด Green Read มีกิจกรรมวาดรูป จัดมุมสงบงามท่ามกลางภูเขาหนังสือ อยู่ใกล้กับ Drawing Story บูธนักวาดออกแบบปก ที่เป็นเหมือน Oasis กลางทะเลทราย มีก้าวอี้ที่ทำจากกระดาษถนอมสายตามาถนอมสุขภาพนักอ่าน Green Read เป็นงานนวัตกรรมล้ำยุคที่มีเนื้อเยื่อกระดาษสีเหลืองนวล ผิวหน้าออกแบบพิเศษช่วยลดแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตา น้ำหนักเบา เมื่อเก่าก็ไม่เปลี่ยนสี ดีทั้งคุณภาพและบริการ

ไม่ไกลกันนักมีนิทรรศการสายศิลปะศาสตร์ วิจิตรด้วยการจัดแสดงผลงานที่รังสรรค์โดยศิลปินชาวไทยระดับแถวหน้าของประเทศ ทั้งภาพวาดและลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นนักวาดหนังสือการ์ตูน นักเขียนนิยายภาพ นักวาดภาพปกและภาพประกอบ ได้รับการคัดเลือกมาไว้ใน “Hall of Fame” ในธีม ‘Drawing Story’ โชว์ตัวอย่างคอลเลกชันหนังสือที่ได้รับคัดเลือกเข้ากรุ ‘Thai Book Archive’ ในหมวดหมู่หนังสือที่ได้มีการต่อยอดไปยังสื่ออื่นๆ ทั้งละคร ภาพยนตร์ และเกม บรรยากาศบูธโอ่โถงโล่งสบายเหมือนได้ชมงานในหอศิลป์ สมชื่อ “หอแห่งเกียรติยศ” ชวนให้ร่วมส่งใจไปเชียร์ศิลปินไทยในงานประกวดภาพที่เยอรมันช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย

 

Drawing Story ให้ลายเส้นเล่าเรื่อง บูธ J39
Drawing Story ให้ลายเส้นเล่าเรื่อง บูธ J39  

 

Live-Brary เป็นบูธที่ออกแบบกิจกรรมได้คลาสสิคสุดแนวมนุษย์นิยม น่าชื่นชมกับการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก จาก 3 ความร่วมมือระหว่าง PUBAT (สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) กับกลุ่มนักกิจกรรม ธนาคารจิตอาสา และ กางใจ ในแนวคิดสุนทรีย์ “ชีวิต (ชีวา)” ของวงการหนังสือ สะท้อนถึงสายงานสื่อสิ่งพิมพ์ได้หลายมิติในหัวข้อ “ห้องสมุดมนุษย์ (Human Library)” ประกอบด้วย หนังสือมนุษย์ (Human Book) รวบรวมผู้มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจจากหลากหลายอาชีพกว่า 10 เล่ม (คน) มาให้นักอ่านหนังสือได้ฝึกอ่านมนุษย์ ผ่านการเล่าเรื่องราว ความรู้ ความคิด และประสบการณ์, Book Club ล้อมวงจับเข่าคุยกับนักเขียนคนโปรดแบบสบายๆ และ Workshop วาดภาพ-เรียนรู้การออกแบบปกหนังสือกับ Kanda Studio และ The Uni_form Studio

 

 

 

 

 

สมาคมป้ายยาหนังสือ บูธนี้วัดกึ๋นกันเห็นๆ ให้หารายชื่อหนังสือจากอักษรที่เรียงกันอยู่บนบอร์ด มีคนทำสถิติไว้ถึง 70 ชื่อ ด้วยประสบการณ์ในโลกของนักอ่านตัวยง

บูธพรรคเพื่อไทย ลุคหรูทันสมัยออกแบบได้ใจวัยรุ่น ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทั้งนิทรรศการ หนังสือ และกิจกรรม โดยเฉพาะช่วงสนทนากับนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประเด็นที่นิยมคือนโยบายทางการเมืองจากหลากรุ่นหลายวัย (ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า)

 

 

ห่างไปไม่กี่ก้าว คือ บูธพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า เปิดให้แสดงความคิดเห็นหลายประเด็นทางการเมือง และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ลอกสติกเกอร์ ได้รับความสนใจจากกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว และผู้มีวิสัยทัศน์ต่อโลกใหม่ให้การตอบรับสูง

 

 

 

 

“เบญจา แสงจันทร์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
“เบญจา แสงจันทร์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

 

การเมืองไทยกับยุทธศาสตร์ใหม่ ในยุทธภูมินักเขียน

อีกหนึ่งจุดเด่นที่เป็นไฮไลต์คือการให้พื้นที่ฝ่ายการเมืองเรื่องนโยบายและจำหน่ายหนังสือ โดยสองพันธมิตร พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล (มูลนิธิคณะก้าวหน้า) ทุกพรรคจัดเต็มบนพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4-6 บูธ ออกแบบสไตล์ Pop art ที่ทันสมัยซึ่งเอื้อต่อการปรับกระบวนทัศน์ให้ชัดต่อนโยบายพรรค สร้างสรรค์การมีส่วนร่วมและแสดงออกทางความคิดได้อย่างสนุกสนาน ส่งเสริมสังคมการอ่านหนังสือการเมืองของคนรุ่นใหม่ให้เติบโต กระตุ้นยอดขายด้วยเทคนิคทางการตลาดที่ฉลาดหลักแหลม ด้วยลูกเล่นเหลือร้ายที่ง่ายต่อการเข้าใจ

พรรคก้าวไกลขนหนังสือของนักการเมืองหลายคนมาออกร้าน ผู้เขียนเวียนมาพบปะประชาชนเหมือนอยู่บนเวทีหาเสียง สามารถส่งสารความความคิดต้องการถึงฝ่ายบริหารเพื่อสานนโยบาย ได้รับความสนใจอย่างสูง

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยมีเพียงเล่มเดียวแต่พิมพ์ไม่ทันขาย ผู้คนมากมายหลากหลายกลุ่มรุมต่อแถวยาวเหยียดเบียดซื้อยกเซต ที่ประกอบไปด้วย หนังสืออัตชีวประวัติ “THAKSIN SHINAWATRA Theory and Thought” ถุงผ้า และโปสการ์ด เพื่อจะได้ลายเซ็นและมีสิทธิ์คุยกับผู้เขียนผ่าน Video conference

สิ่งที่สองพรรคเหมือนกัน คือการให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก (โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มักเป็นกลุ่มใหญ่ในสินค้าทั่วไป เพราะวิสัยในการซื้อ ไวต่อสื่อ และให้ผลตอบรับรวดเร็ว) หลากลูกเล่นเป็นสัญลักษณ์ชวนขบคิดเพื่อทางเลือกชีวิตที่ดีกว่าทั้งวันนี้และวันหน้า ชวนตามล่าหาความฝันในวันที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้าย การให้ความหมายกับนโยบายจึงเป็นความหวังเดียวที่จับต้องได้ในวันนี้ โดยมีนิทรรศการของพรรคเพื่อไทย “ฝัน ปัง ดัง รวย : 1 ครอบครัว 1 Soft Power” (เพื่อยกระดับชีวิตสร้างโอกาสให้คนไทย) และของพรรคก้าวไกล “ประชาธิปไตยต้องก้าวไกล การเมืองไทยก้าวหน้า” (ปฏิรูปกองทัพ, แก้ไขมาตรา 112 และนิรโทษกรรมคดีการเมือง) หนุนเนื่องกำลังใจก่อนการเลือกตั้งในครั้งต่อไปเพื่อฝังกลบเผด็จการ

 

 

“MULTIVERSE โลกคู่ขนาน ใน กลืนกลาย แห่ง บรรณาธร” 

เวทีกลางเป็นพื้นที่แนะนำหนังสือซึ่งคนทั่วไปส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นจุดนั่งพักที่ไม่ได้มีความหมายมากมายนัก แต่วันนี้เป็นคิวของงานเสวนา “MULTIVERSE โลกคู่ขนาน ใน กลืนกลาย แห่ง บรรณาธร” โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในวาระ 50 ปี มีผู้คนมากมายหลายวงการมาร่วมยินดีกับการจัดประกวดเรื่องสั้นและบทกวีรางวัลบรรณาธร เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สายวรรณกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเวทีรองเตรียมส่งสู่รางวัลใหญ่ S.E.A. Write Award

จากผลงานทั้งหมด 1,667 ชิ้นงาน คัดเลือกเข้าสู่รอบตัดสินเพียง 10 ชิ้นงาน เป็นงานใหม่ที่ให้เสรีในการสร้างสรรค์งานสะท้อนแง่มุมต่างๆ ในโลกใบนี้โดยไม่มีโจทย์หัวข้อ พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ “กลืนกลาย” เล่มออกแบบพิเศษรวมผลงาน 48 บทกวี 48 เรื่องสั้น จากผลงานของผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ด้วยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย รายได้นำเข้ากองทุนเพื่อสวัสดิการนักเขียน

วันนี้มีนักเขียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาร่วมงาน 2 คน คือ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศบทกวี “แม้มิใช่คืนวันอันเคยคุ้น” และ รมณ กมลนาวิน ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเรื่องสั้น “นักจับวิญญาณ” โดยมี สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลงานในภาพรวมว่า “เราต้องการให้งานมาจากศักยภาพจากหัวใจของนักเขียนจริงๆ ได้ทำงานสะท้อนสังคมอย่างเต็มที่ทุกแง่มุมของโลกใบนี้อย่างแจ่มชัด มีการพยายามเขียนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เช่นโควิดเขียนกันมากเหลือเกิน แต่กลับไม่คมชัดไปไม่ถึงฝัน มันสะท้อนว่าบางทีสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนไทย เราคิดกันน้อย แต่เรื่องที่สะท้อนแง่มุมชีวิตด้านในกลับทำได้ดีกว่า ประสบการณ์ในการค้นหาเรื่องใกล้ตัวที่สุดเป็นเรื่องที่จะต้องทำกันต่อไปในอนาคต งานของสองนักเขียนที่ได้รับรางวัลมีแง่มุมที่ดี แม้เป็นประเภทงานเขียนแบบไร้ฉันทลักษณ์ก็งดงามและมีพลัง สะท้อนให้เห็นโลกกว้างแสดงภาวะของโลกได้ชัด เป็นภาพสะท้อนของภาพสะท้อนที่ต่างมองได้หลายมิติ”

 

 

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร บอกเล่าขยายที่มาของ 1 ใน 3 บทกวีสุดสะเทือนใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า ““แม้มิใช่คืนวันอันเคยคุ้น” (ยังรอคอยวันที่คุ้นเคย — ประโยคต่อท้ายที่หมายไว้ในใจ) ความหมายคือ ในท่ามกลางความสิ้นหวังของโลกอัปลักษณ์เหลือทน เมื่อเราไม่อาจต่อสู้ได้แล้ว การมีความหวังก็เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะต่อลมหายใจได้ หวังว่าโลกจะกลับมาเป็นปกติ บทนี้จึงจบลงด้วยความหวังและความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกที่เราเคยคุ้นเคย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะจินตนาการได้ นี่มันศตวรรษที่เท่าไหร่แล้ว เป็นจักรวาลที่เราไม่คุ้นเคย ชาวยูเครนก็ไม่คิดว่าจะต้องรับมือกับปีศาจซาตานอย่างนั้น ไม่มีใครคิดว่ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรักจะกลายเป็นความสูญเสีย ไม่มีบ้านให้กลับ ถนนที่ทอดสู่บ้านจะกองไปด้วยศพเพื่อนบ้านเรา ห้องเรียนก็เป็นห้องเรียนร้าง นักเรียนต้องไปจับอาวุธแทนปากกา เด็กหญิง หญิงชราถูกชำเรา สถานพยาบาลที่อยู่หลังกำแพงแห่งสันติถูกทำลาย ในโลกสงครามชีวิตหลังกำแพงควรได้รับการประกันความปลอดภัยและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ แต่นี่ละเมิดคำมั่นสัญญาในสนามรบ ผู้นำที่ใช้อำนาจเหมือนอยู่คนละจักรวาล ถือไวยากรณ์คนละฉบับ มีหัวใจคนละแบบกับเรา”

และ รมณ กมลนาวิน พูดถึงผลงานเรื่องสั้น “นักจับวิญญาณ” ของเธอว่า “เริ่มจากปักหมุดว่าจะเขียนเรื่องผี ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรที่น่ากลัวกว่าผี ตอบตัวเองว่าด้วยสถานการณ์อย่างนี้ โควิดทำให้เกิดผลกระทบทั้ง เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว สิ่งที่น่ากลัวกว่าผีคือความหิว ความอดอยาก เป็นที่มาของอาชีพนักจับวิญญาณ เรื่องเป็นเหมือนบันทึกที่เราร่วมอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน”

ชมัยภร บางคมบาง หนึ่งในกรรมการคัดเลือกสรุปภาพรวมว่า “ภาพแรกจะเป็นโลกสมัยใหม่ สถานการณ์ขณะนี้ที่เกิดอะไรขึ้นในสังคม ความเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น นักจับวิญญาณ ทำให้คนอ่านดิ่งลึกเข้าไปในเหตุการณ์ชีวิตที่มืดมน แต่เมื่ออ่านจบแล้วจะพบความใสสว่างได้ ซึ่งเขียนยากมาก และ สถานการณ์สงคราม เช่น บทกวี แม้มิใช่คืนวันอันเคยคุ้น เราไม่ควรพูดว่านี่คือสถานการณ์สงครามอย่างเดียว ไม่ได้คิดแค่สงครามยูเครน แม่ที่ท้องกับลูกที่จะต้องออกมาเผชิญความยากแค้นของสังคมเป็นความเจ็บปวดของมนุษยชาติ เป็นสากลมากๆ แล้วลงลึกไปถึงภูมิภาคของบ้านเมืองเราด้วย หรือบทกวี กลืนกลาย ที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน

กลุ่มที่สองสะท้อนสภาพสังคม บทกวี เช่น ลมหายใจบนซากเมืองแปลกหน้า, ดราม่า เถอะดราม่ากัน, แต่งแต้มตามสมัย, ธุรกรรมสันติภาพ, ประเทศที่คนไม่ยอมออกจากบ้าน และ สยบยอมต่ออำนาจใดเหนืออำนาจ

กลุ่มที่สามสะท้อนสภาวะภายใน วิสัยทัศน์ จุดยืน มุมมอง ล้วงลึกลงไปในภาวะความเป็นมนุษย์ในแบบปัจเจก เช่น ถ้าคุณมีสิบหน้าอย่างทศกัณฐ์, เมื่อวิญญาณของแกเริ่มอ่อนแรงลงนั่นล่ะ, เราจะมีชีวิตไปอีกนานเท่าไหร่, #ถูกเท, แม่น้ำ, กลายเป็นเด็ก, สิ้นสาละวัน, ระหว่างวัน, เกิดอะไรขึ้นตอนเก้าโมงเช้าวันพุธ, คลื่นวิทยุ และ จิ๊กซอว์

แต่ที่ดิฉันชอบมาก คือ ข้างคลอง ของ มนตรี ศรียง เป็นเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการก้าวข้ามภาวะความกลัวกับความกล้า เรียงติดกันเป็นอารมณ์ผ่านสัญลักษณ์ลึกซึ้งมากโดยไม่ต้องพูดถึงการสู้กับรัฐบาลหรือใคร แค่ฝั่งแม่น้ำฝั่งนี้กับฝั่งโน้น

และกลุ่มสุดท้ายสะท้อนโลกใบเก่าที่ต้องเผชิญหน้ากับโลกใบใหม่ หรือโลกที่แอบซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมเดิม มีสภาพบ้านเมืองในสภาพสังคม เช่น ความกังวลสุดท้าย, นักล่าเมฆ, บ้านร้องเพลงให้ฉันฟัง, เรือนกอแระ, กับข้าว และ จักรวาลนฤมิต สะท้อนการเผชิญกันของโลกคู่ขนานที่เข้ามาปะทะกัน อีกเรื่องเป็นสารคดีที่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกลุ่มวรรณกรรมคือ ครั้งหนึ่งเมื่อฉันเคยเข้าค่ายวิจารณ์วรรณกรรม ของ ภาณุพงศ์ เชยชื่น ถูกนำมารวมไว้ เพราะรางวัลบรรณาธรคือรางวัลของคนเขียนหนังสือ”

“ก้าวต่อไปต้องทำให้บรรณาธรเป็นรางวัลคลาสสิคที่ติดใจ ให้ผู้คนยอมรับเรา อย่างงานของอาจารย์ปาลิตาชิ้นแรกไม่ผ่าน ชิ้น 2 3 ต่อมาเหนือชั้นมาก รอบสองสาม เราเห็นการแข่งขันด้วยตัวของตัวเอง งานของนักเขียน S.E.A. Write ไม่ผ่านถึง 6 รอบก็มี กรรมการสมาคมล้วนๆ คัดเลือกแบบไม่มีใครเห็นชื่อ ปีต่อไปจะปรับให้มีการประกวด 2 เดือนครั้ง” นายกสามคมฯ ปิดท้ายให้ความหวังนักเขียน

 

 

งานหนังสือหรือการประกวดงานเขียน เป็นเทียนส่องทางในบางวาระ ที่เร้าให้เราได้รับแรงพลังเพื่อไปตั้งหลักปักฐานในจิตวิญญาณแห่งตัวตน ทั้งนักอ่านและนักเขียน ความเพียรเพื่อพัฒนาภูมิคือวินัยสูงสุด นักเขียนต้องจุดประกายด้วยตัวเอง รัฐคือผู้เร่งระบบสมทบทุนหนุนเสริม ช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของทุกฝ่ายได้ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำ ความล้ำรุดฉุดลากของโลกใหม่จะช่วยให้เรากล้าท้าฝันมากขึ้นโดยไม่ต้องฝืนทวนกระแส แต่เดินไปด้วยกันบนเส้นทางหลากหลายให้เลือก เพราะความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพคือการรับทราบทุก “นวัตกรรม” พร้อมนำสิ่งนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปชีวิต หากเราคิดจะให้โอกาสตัวเอง โดยไม่ต้องเกรงจะถูก “กลืน” หรือ “กลาย” แม้โลกโหดร้าย หากรากแก้วเราแก่นพอ และพร้อมน้อมรับการเปลี่ยนแปลงมาเสริมแรงใจให้แกร่งกว่าเดิม