ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความพยายามสร้างรัฐประชาธิปไตย ของ “ปรีดี พนมยงค์”

7
กันยายน
2565

แม้ว่ารากของคำว่า “ประชาธิปไตย” จะมาจากภาษากรีก คำแรกคือคำว่า “Demos” แปลว่า “ประชาชน” และ “Kratos” อันมีความหมายถึง “การปกครอง” จนในยุคหลังมีคนนิยามไว้อย่างง่ายงามว่า ประชาธิปไตย หมายถึง “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

แต่หากกล่าวในเชิงรูปแบบและสาระสำคัญแล้ว ประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่ (Modern Democracy) นั้นมีความแตกต่างจากประชาธิปไตยยุคกรีกพอสมควร เนื่องจากในยุคสมัยใหม่ ประชาธิปไตยเป็นผลมาจากการเติบโตขึ้นมาของพวกกระฎุมพี (Bourgeoises) คนกลุ่มนี้ยกระดับขึ้นเป็นชนชั้นกลางอันเป็นสายธารจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 17-18 ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ตามมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism)

ทำให้ 2 คำสำคัญในการเมืองการปกครองนี้มาแต่งงานกัน คือ หนึ่ง ประชาธิปไตย และสอง คือ เสรีนิยม ภาพวาดของการทลายคุกบาสตีย์ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 จึงกลายเป็นภาพจำหลักของคนที่ใฝ่หาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม พร้อมๆ กับกระแสการปฏิวัติในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ทั้งในการทำสงครามปลดปล่อยอิสรภาพในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ 1776 และการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในอังกฤษ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1688 อันทำให้สถาบันรัฐสภาก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือเจ้าศักดินาเดิมคือสถาบันกษัตริย์

อนึ่ง มีข้อเสนอจำนวนไม่น้อยในการประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง 2475 โดยผู้นำคณะราษฎรว่าเป็นการปฏิวัติของกระฎุมพีมากน้อยแค่ไหน ด้านหนึ่งงานเขียนที่กลับมาเชิดชูคณะราษฎรในกลางทศวรรษ 2520 และได้กลายมาเป็นกระแสหลักของคำอธิบายในเวลาต่อมา ต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือสอดคล้องกับการขึ้นมาเป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ในระบบราชการ

จนเมื่อ 10 กว่าปีมานี้ มีคำที่น่าสนใจมากกว่าในการใช้ระบุความหมายของผู้กระทำการในปี พ.ศ. 2475 ว่า พวกเขาและเธอคือ “กระฎุมพีข้าราชการ” (Bureaucratic Bourgeoises) คือ งานชิ้นสำคัญของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง “The Rise and Decline of Thai Absolutism” ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 งานชิ้นนี้ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2417- พ.ศ. 2475) ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยชี้ให้เห็นว่าของนำเข้าที่เรียกว่า “Modern State” เพื่อเข้ามาใช้ในสยามนั้น ผลในท้ายที่สุดเปรียบเสมือนเรื่องราวการทดลองของ Dr.Frankenstein ที่ต้องการประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตจำลองขึ้นมา แล้วผลสุดท้ายกลับตาลปัตรความสัมพันธ์ใหม่

“กระฎุมพีข้าราชการ” เหล่านี้ ด้านหนึ่งอาจจะถูกโจมตีจากฝ่ายขวาต่างๆ นานา อาทิ “ชิงสุกก่อนห่าม” ไม่ก็เป็นเรื่องของพวก “นักเรียนนอกที่ใจร้อน” เป็นต้น ขณะที่พวกฝ่ายซ้าย บ้างก็โจมตีว่าเป็น “การรัฐประหารครึ่งๆ กลางๆ” หรือไม่ก็ร้ายแรงไปจนเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันกับฝ่ายขวา คือ เป็นการกระทำของชนชั้นนำเพียงหยิบมือ

เราคงไม่ต้องโต้เถียงถึงประเด็นนี้กันแล้ว โดยเฉพาะงานวิชาการตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ล้วนยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สำคัญเพียงใด มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนไม่น้อยและก่อดอกออกผลอย่างไร

หากจะยอมรับได้อยู่บ้าง คือ การเปลี่ยนแปลงนั้น มิได้ถอนรากถอนโคนทั้งหมด แต่คำถามที่ควรถามกลับ คือ มีการปฏิวัติใดบ้างที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

ฉะนั้น งานวิชาการยุคหลังจึงประเมินกันว่าก้าวแรกของประชาธิปไตย เริ่มขึ้นที่ตรงนี้ ใน 2 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรก คือ คณะราษฎรได้สถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ หรือ ระบบนิติรัฐ (The Rule of Law) ขึ้นมาในสังคมไทย หมายความว่าจะไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ตรงนี้เป็นจุดต่างที่สำคัญของระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ กับระบอบราชาธิปไตยที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นคำที่นายปรีดีเขียนไว้อย่างตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น

เรื่องที่สอง คือ การสร้างรัฐสมัยใหม่ (Modern State) นี่เป็นจุดแตกต่างที่สำคัญ ในการประเมินความเป็นรัฐสมัยใหม่ นั่นคือรัฐบาลคณะราษฎรยกสิทธิของราษฎรไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด เพศใด อาชีพใด เชื้อชาติใด ให้ได้รับสิทธิเดียวกันในฐานะพลเมือง หมายความว่า ราษฎรเหล่านั้นจะต้องร่วมพัฒนาชาติ ด้วยการส่งเสริมการศึกษา สุขภาพและการสาธารณสุข สิทธิในการทำมาหากิน และความปลอดภัยในชีวิต เราคงได้เห็นแล้วว่า ตลอด 15 ปี ภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร พวกเขาได้ทำตามคำสัญญาในชื่อหลัก 6 ประการ ไปมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางแรงเสียดทานของการปฏิปักษ์ปฏิวัติ ที่ยังไม่มอดดับ

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาทั้ง การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ และ การสร้างรัฐสมัยใหม่ เช่นนี้ จึงเป็นส่วนเริ่มต้นที่สำคัญในเวลาต่อมา เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งแรกๆ ที่ปรีดีให้ความสำคัญ คือ การสานต่อเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าครั้งใด

หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง สร้างความปรองดองใหม่ที่เกิดขึ้นจากซากสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สอง การสร้างรัฐธรรมนูญที่แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง อันเป็นหลักหมายสำคัญที่เรายอมรับกันว่า คือความพยายามที่จะสร้างรัฐประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น สาม การสร้างนโยบายการต่างประเทศแบบเป็นกลาง และ สี่ คือ การเพิ่มความเข้มข้นของระดับประชาธิปไตย ในกติกาสูงสุดของประเทศ เช่น การให้รัฐสภามี 2 สภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎรให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ขณะที่พฤฒิสภา หรือในเวลาต่อมาเราเรียกกันว่า “วุฒิสภา” ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

ในประการหลังนี้ ปรีดีระบุไว้ชัดว่า ไม่ต้องการให้ตำแหน่งนี้กลายเป็นที่นั่งของระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งหมายถึง “การปกครองโดยข้าราชการ, ข้าเฝ้า, ที่ปรึกษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เองหรือโดยคำเสนอของรัฐบาล หรือองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์”

เพื่อที่จะพิจารณาหลักคิดของปรีดีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (พ.ศ. 2489) เราจึงไม่สามารถแยกการพิจารณาตัวบทของการเขียนได้จากการพิจารณาพลังทางการเมืองในเวลานั้นด้วย เหตุผลเพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พยายามเพิ่มดีกรีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นแม่แบบให้แก่การร่างรัฐธรรมนูญอันมีลักษณะประชาธิปไตยในยุคหลัง ที่แม้จะมีจำนวนไม่กี่ฉบับ แต่ก็ทรงสาระสำคัญถึงปัจจุบัน