ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์

7
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ปรีดี พนมยงค์ มองว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงทัศนคติและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยของคนในสังคมด้วย
  • ทัศนคติที่เป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง การเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และนิติธรรม เป็นรากฐานของทัศนคตินี้
  • การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยต้องอาศัยการปลูกฝังปัญญาญาณ ความเข้าใจในหลักการ และจริยธรรมประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือในกฎหมาย

 

ในบรรดาผลงานของปรีดี พนมยงค์นั้นภูมิปัญญา หรือความคิดที่ว่าด้วย“ประชาธิปไตยสมบูรณ์” นับว่ามีลักษณะโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้น หากเราจะลองสรุปภาพรวมทางความคิดในเรื่องนี้แล้วก็อาจให้คําอธิบายได้ดังนี้

ปรีดีฯ ได้เสนอแนวคิด “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ไว้ในข้อเขียนและบทสัมภาษณ์หลายชิ้นต่างกรรมต่างวาระกัน แต่อาจสรุปสาระสําคัญได้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ในทัศนะของปรีดีฯ นั้นเป็นการให้ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นองค์รวม โดยไม่แยกแยะแบ่งส่วน อีกนัยหนึ่ง ปรีดีฯ มิได้มุ่งหรือระบุถึง แต่ประชาธิปไตยเฉพาะในมิติด้านการเมืองการปกครองแต่เพียงด้านเดียวอย่างเช่นที่วิญญูชนโดยทั่วไปพูดถึงและเข้าใจกันอยู่ และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ปรีดีฯ ได้ กําหนดเอาลักษณะความเป็นไปในทางเศรษฐกิจของสังคม หรือการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้นว่า เป็นรากฐานความสัมพันธ์ทางสังคมที่สําคัญซึ่งจะกําหนดโครงร่างความสัมพันธ์เบื้องบนของสังคม กล่าวคือ โครงสร้างทางการเมืองหรือสัมพันธภาพทางอํานาจไปด้วยในขณะเดียวกัน อีกนัยหนึ่ง การมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจย่อมปูทางไปสู่การมีระบอบการเมืองการปกครองและกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย กรณีที่ปรากฏชัดก็ได้แก่บทบัญญัติในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะบทกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทของกฎหมายทั้งปวง

และที่น่าสนใจเป็นพิเศษอย่างยิ่งในที่นี้ ได้แก่การกําหนดให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นยังหมายความ รวมไปถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” อีกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ปรีดีฯ เคยขยายความเชิงถ้อยคําโดยใช้ คําภาษาลาตินว่า Animi Cultura ให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีระบบประชาธิปไตยนั้นย่อมหมายความรวมไปถึง “ประชาธิปไตยในทางวัฒนธรรม” อีกนัยหนึ่ง พลเมืองในสังคมการเมืองประชาธิปไตยจะต้องมีทัศนคติวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับระบอบการเมืองประชาธิปไตยด้วย จึงจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากจะแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น เรา อาจจะลองใช้แผนภาพแสดงได้ในลักษณะดังต่อไปนี้

 

 

ดังนั้น ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีฯ จึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบบูรณาการที่มีส่วนในการเชื่อมโยงวิถีชีวิตทางสังคมในมิติที่สําคัญ 3 ด้านเข้าเป็นองค์รวมเดียวกันอยู่ในตัว กล่าวคือ ให้ความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจว่าเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งสัมพันธภาพทางอํานาจที่พึงต้องยอมรับอํานาจของประชาชนว่า เป็นบ่อเกิดสูงสุดของความชอบธรรมทั้งปวงในระบบการเมือง อีกทั้งพลเมืองหรือราษฎรเองนั้นยังจะต้องมีทัศนคติหรือวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยกล่าวคือ มีลักษณะเป็นองค์ประกอบทางนามธรรมของสังคมเพื่อช่วยสนับสนุนกลไกทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจของสังคมไปด้วยพร้อม ๆ กัน

ด้วยการสร้างความเข้าใจต่อประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นองค์รวมหรือมีลักษณะบูรณาการมิติทางสังคมเข้าด้วยกันเช่นนี้เอง ที่ปรีดีฯ จะได้ใช้เป็นฐานในการทําความเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์พัฒนาการทั้งในอดีตและปัจจุบันของระบบการเมืองในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาการทางการเมืองของไทยเองด้วย ซึ่งหากจะกล่าวลงในรายละเอียดแล้วก็มีประเด็นปลีกย่อยให้ศึกษาได้มิใช่น้อยเลยทีเดียว แต่ประเด็นที่น่าสนใจในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประกอบกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่า เราควรให้ความใส่ใจ ในประเด็น “ทัศนะทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย” เป็นพิเศษในบทความชิ้นนี้

อย่างไรก็ดี การมุ่งเน้นความสําคัญของมิติทางวัฒนธรรมในแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีฯ ใน บทความนี้ หาได้เป็นการปฏิเสธมิติทางสังคมที่สําคัญอีก 2 ด้าน กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองการปกครองและกฎหมายแต่อย่างใด

ในด้านเศรษฐกิจนั้น เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ําในโอกาส ที่พลเมืองแต่ละกลุ่มจะเข้าถึงแหล่งและสามารถใช้ทรัพยากรอันมีจํากัดได้นั้น นับเป็นปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มแนวทางการพัฒนาประเทศในราวปี 2500 เป็นต้นมา หรืออาจจะก่อตัวก่อนหน้านั้นขึ้นไปด้วยซ้ําการแก้ปัญหาที่หมักหมมเช่นนี้จําต้องอาศัยแนวทางการพัฒนาและนโยบายของรัฐที่มีเป้าหมายชัดเจนและมุ่งมั่นในอันที่จะสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะต้องอาศัยระยะเวลา พอสมควรเลยทีเดียว ส่วนในด้านการเมืองการปกครอง และกฎหมายที่ปรีดีฯ ถือว่าเป็นโครงสร้างเบื้องบนนั้น เราแม้ก็คงจะได้ประจักษ์ชัดแก่สายตาในเวลานี้แล้วว่าประเทศไทยจะติดหล่มทางการเมือง (ที่นักรัฐศาสตร์มัก เรียกกันว่า วงจรอุบาทว์) มายาวนาน แต่คงเห็นได้ชัดและเป็นที่รับรู้ร่วมกันว่า เราตกลงใจร่วมกันที่จะเดินไปบนเส้นทางสายนี้ กล่าวคือ การผลักดันและยอมรับนับถือในท้ายที่สุดว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการสถาปนาให้เป็นบทกฎหมายอันสูงสุดที่ใช้ในการปกครอง การผลักดันให้หลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้สถาปนาขึ้นอย่างมั่งคงและสถาพรในโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่แม้จะยังมีอุปสรรคซึ่งได้แก่ กระแสโต้อุดมการณ์อภิวัฒน์ 2475 ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม

แต่ในประเด็น “ทัศนะทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย” นั้น ดูเหมือนว่าจะยังมิได้มีการกล่าวถึงหรือให้ความสําคัญกันสักเท่าใดนัก ทั้ง ๆ ที่น่าจะเห็นได้ ไม่มากก็น้อยในขณะนี้ว่า เป็นกรณีที่น่าจะทําความเข้าใจในช่วงความเคลื่อนไหวทางความคิดทางการเมืองของประชาชนอย่างขนานใหญ่ และมีแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สําคัญในระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่ง ควรที่จะเน้นย้ําในเรื่องทัศนคติหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งไม่เพียงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมต่าง ๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงหลักคิดและข้อพิจารณาที่จะนําเราไปสู่ “อนาคตที่มั่นคงของประชาธิปไตย” ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยอีกประการหนึ่ง

เนื่องจากมีข้อจํากัดด้านเวลาเพื่อเตรียมต้นฉบับข้อเขียนของปรีดีฯ ที่ผู้เขียนใช้เป็นหลักพิจารณาในเรื่องนี้ (เรียงตามลําดับปีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก) จึงได้แก่

(ก) ความเป็นอนิจจังของสังคม (ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ 1(2500), พิมพ์ครั้งที่ 10, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2443-2553, กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สายธาร, 2552)

(ข) อนาคตของประเทศไทยควรดําเนินไปในรูปใด ซึ่งเป็นปาฐกถาในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทย) ประเทศอังกฤษ วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2516 (ที่มา : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย : รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์,พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526 : 71-79) และ

(ค) จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร อมธ. ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2516 (ที่มา : แหล่งเดียวกับ (ข) : 413-448)

(ง) เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร จัดพิมพ์ครั้งแรก โดยองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตุลาคม 2517) (ที่มา : แหล่งเดียวกันกับ (ข) : 449-491) เนื่องจากเห็นว่า บทความข้างต้นนี้อาจเป็นตัวอย่างเพื่ออธิบายเชื่อมโยงความคิดระหว่างกันโดยเฉพาะในประเด็น“ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ของปรีดีฯ

 

แนวคิดว่าด้วยทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์

 

1. คํานิยาม

ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น คําว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ในทัศนะของปรีดีฯ นั้นไม่เพียงหมายความถึง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” และ “ประชาธิปไตยทางการเมือง” เท่านั้น ปรีดีฯ ยังหมายรวมถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิไตย” อีกด้วย ซึ่งต้องนับว่าเป็นลักษณะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการอธิบายให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบหรือเต็มทุกมิติทางสังคมนั่นเอง

ทั้งนี้ โดยปรีดีฯ ให้ค่าอธิบายโดยเริ่มจากลักษณะทางธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปสังคมมนุษย์จะต้องประกอบด้วย ๓ ส่วนที่สําคัญคือ

(ก) ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุดของสังคมมนุษย์ ถ้าเทียบสังคมมนุษย์ว่าเสมือนองคาพยพแห่งชีวิตซึ่งประกอบกันเข้าเป็นร่างกาย (รูปธรรมหรือส่วนวัตถุ) และจิตใจ(นามธรรมหรือส่วนจิต) ระบบเศรษฐกิจก็เป็นเสมือนเป็นรูปธรรมพื้นฐานที่สุดของชีวิตทางสังคม กล่าวคือ เป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะทางวัตถุในองคาพยพของชีวิตสังคมนั่นเอง

(ข) ระบบการเมือง ซึ่งเป็นโครงร่างเบื้องบนของระบบสังคม มีอิทธิพลกํากับความเป็นไปทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยหนึ่ง ระบบการเมืองก็คือ สัมพันธภาพทางอํานาจที่ถักทอขึ้นมาจากระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและที่สําคัญที่สุดก็คือ จะต้องสอดคล้องกับลักษณะทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมนั้น ๆ เองด้วย สําหรับผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเทียบกับองคาพยพของชีวิตทางสังคม ระบบการเมืองเสมือนเป็นสมองที่มีหน้าที่กํากับ การทํางานขององคาพยพต่าง ๆ ของสังคมนั่นเอง

(ค) ทัศนะสังคม หรือที่อาจเข้าใจได้โดยนัยว่า คือระบบความคิดหรือระบบวัฒนธรรมและวิถีชีวิตใน สังคม ซึ่งเป็นหลักนําทางจิตใจแก่สมาชิกทั้งหลายทั้งปวง ในสังคมนั้น ซึ่งแน่นอนว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่กล่าวแล้วอย่างแน่นแฟ้น เพราะเป็นทั้งมูลเหตุและผลลัพธ์ของระบบทั้งสองนั้น กล่าวคือ เป็น “มูลเหตุ” เพราะทัศนะสังคมมีส่วนกํากับทิศทางทั้งในระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่เป็นอยู่และที่จะเป็นต่อไปในอนาคต และยังเป็น “ผลลัพธ์” ด้วย ทั้งนี้ เพราะมีรากฐานมาจากระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองของสังคมนั้นเอง และจะแยกขาดจากระบบทั้งสองนั้นมิได้เลย องค์ประกอบของสังคมทั้ง 3 ส่วนจึงส่งอิทธิพลต่อกันเป็นวงกลมเป็นวัฏจักรเวียนวนไปไม่มีที่สิ้นสุด

สําหรับผู้เขียนเห็นว่า ทัศนะสังคมในแนวคิดของปรีดีฯ นั้น อาจเปรียบได้กับจิตใจหรือส่วนที่เป็นนามธรรมฯของชีวิตทางสังคม ซึ่งจะมีลักษณะประการสําคัญคือ ซับซ้อน หยั่งลึก และมักเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ก็มิใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงมิได้เลย เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงทัศนะสังคมจําต้องใช้เวลานานพอสมควร นอกจากนี้ ทัศนะสังคมไม่เพียงเป็นสิ่งบ่งชี้ “ลักษณะร่วมกันของสมาชิกในสังคม (People's Common Character)” หนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ปัจจัยเฉพาะตัวหรือส่วนบุคคลแต่ละคนยังเข้าผสม ผสานกับทัศนะสังคมที่ตนยึดถืออยู่อีกด้วย โดยเหตุที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นความเคยชินหรือนิสัยทางสังคมที่สังเกตเห็นได้ชัด อีกทั้งยังรวมถึงวิธีคิด วิธีการ แสดงออกต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมาในทางวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนกํากับวิถีชีวิตในตัวเองด้วย

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ปรีดีฯ จึงใช้คําว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” นั่นหมายความว่า สังคมหนึ่ง ๆ จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็จะต้องเป็นแบบบูรณาการ กล่าวคือ เป็นประชาธิปไตย ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และสมาชิกในสังคมนั้นมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยนัยนี้ ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” นั่นเอง

เนื่องด้วยปรีดีฯ ได้เคยอธิบายไว้หลายครั้งเช่นกันว่า ในทัศนะทางปรัชญาของตนนั้นถือหลักการว่า “สภาพความเป็นอยู่ย่อมกําหนดจิตสํานึกของบุคคล” แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับด้วยว่า ลักษณะในทางกลับกัน (กล่าวคือ จิตสํานึกอาจกําหนดสภาพความเป็นอยู่ด้วยก็ได้) ก็มิใช่ว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อบุคคลมีจิตสํานึก แบบใดแบบหนึ่งแล้ว ย่อมนํามาซึ่งการกระทําอันมีผลย้อนไปสู่การเข้าจัดการกับสภาพความเป็นอยู่ของตน ดังนั้น แท้จริงแล้ว หลักการข้างต้นจึงมีลักษณะสะท้อน กลับไปมาอยู่ในตัวบุคคลคนหนึ่งๆ อยู่เสมอ ทั้งปรีดีฯ เองก็ได้นําแนวคําอธิบายในเรื่องนี้มาใช้กับการประเมินจิตสํานึกของตนด้วย เมื่อต้องให้สัมภาษณ์ในประเด็น ต่างๆ แก่ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ ดังนั้น เมื่อสรุปได้ในทํานองนี้จึงเห็นได้ว่า ในทัศนะของปรีดีฯ นั้น แม้ปัจจัยทางวัตถุภายนอกจะมีส่วนกําหนดอยู่พอสมควร มนุษย์ก็ยังมีอิสระในระดับหนึ่งทั้งในแง่ความคิดและเจตจํานงในอันที่จะเลือกวิถีทางของตนเองได้เสมอ ซึ่งกรณีนี้ย่อมขึ้นอยู่กับตัวบุคคลคนนั้นเองเป็นสําคัญว่าจะเลือกคิดและตัดสินใจในเรื่องหนึ่ง ๆ อย่างไร

 

2. บ่อเกิดแห่งทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อทัศนะสังคมเป็นผลที่เกิดขึ้นจากระบบความ สัมพันธ์พื้นฐานทางเศรษฐกิจอันยึดโยงกับสัมพันธภาพทางอํานาจในระบบการเมืองซึ่งเป็นโครงร่างเบื้องบน เช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและการเมืองย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนะสังคมตามไปด้วยในที่สุด

ดังนั้น ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงอุบัติขึ้นพร้อม ๆ กับหลักการพื้นฐานแห่งประชาธิปไตย ประสบการณ์การเรียกร้องและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยในโลกนั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และการอธิบายความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลต่อทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของปรีดีฯ นั้น จะกล่าว ถึงรูปแบบและลําดับขั้นพัฒนาการของสังคมที่สืบเนื่องกันเป็นลําดับ โดยอิงจากประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก ได้แก่ 1. ระบบปฐมสหการ 2. ระบบทาส 3. ระบบศักดินา 4. ระบบทุนนิยม และ 5. ระบบสังคมกิจ ซึ่งผู้เขียนขอละเว้นที่จะอธิบายรายละเอียดในที่นี้

ข้อที่น่าสังเกตได้แก่ การที่ปรีดีฯ ยืนยันว่า ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้นเคยปรากฏขึ้นในสังคมมนุษย์ยุคเริ่มแรก (ที่ปรีดีฯ เรียกว่า ระบบปฐมสหการ) มาแต่ดั้งเดิมแล้ว ซึ่งมีลักษณะที่ควรเรียกได้ว่า เป็นทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบปฐมสหการ แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาการเข้าสู่สังคมในขั้นหรือระยะต่อ ๆ มาทัศนะประชาธิปไตยดั้งเดิมจึงค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบความสัมพันธ์และทัศนะสังคมในรูปแบบอื่น (กล่าวคือ ทัศนะสังคมในระบบทาสในระบบศักดินา ก่อนการเกิดขึ้นของ ระบบทุนนิยม) จนกระทั่งปลายยุคกลางของยุโรป

(ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา) อีกนัยหนึ่งในระยะ 2 ศตวรรษสุดท้ายของระบบศักดินาในยุโรปพลวัตแห่งพลังการผลิตทางเศรษฐกิจได้กลับฟื้นตัวขึ้น มาอีกครั้ง และได้นําโลกตะวันตกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของความเป็นประชาธิปไตยแผนใหม่ ซึ่งทิศทางการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้เองที่โลกตะวันตกค่อย ๆ

ก่อร่างทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นจากหลักการพื้นฐานที่สําคัญต่าง ๆ เช่น การเคารพสิทธิของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มานับเป็นเวลา ยาวนานหลายศตวรรษดังที่ปรากฏในประเทศต่าง ๆ เช่นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นต้น

และที่สําคัญ ก็คือ พัฒนาการของสังคมในรูปแบบทุนนิยมนั่นเอง ซึ่งเกื้อกูลให้เกิดทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และระบบสังคมกิจอันเป็นระยะสุดท้ายแห่งพัฒนาการทางสังคม ก็เป็นรูปแบบที่จะเข้ามาแก้ไขและปรับสัมพันธภาพของ ระบบทุนนิยมให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมยิ่งขึ้น

 

3. ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยสมบูรณ์

ในกรณีนี้ ปรีดีฯ อธิบายว่า “สังคมมนุษย์จะดำเนินไปสู่รูปใดนั้นก็โดยความเคลื่อนไหวของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ มนุษย์จะสามารถผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้นั้น ก็จําต้องมีทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนําในการดําเนินกิจกรรมทางสังคม ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนําแล้ว ก็ย่อมดําเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้

อะไรคือทัศนะประชาธิปไตยทางสังคมก็เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งย่อมพิสูจน์จากผลแห่งการดําเนินทัศนะที่ยึดถือนั้น คือถ้าทัศนะนั้นนําไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลให้สังคมมีระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นเบื้องต้นแล้ว ทัศนะนั้นก็อยู่ในจำพวกประชาธิปไตย ถ้าไม่บังเกิดผลดังกล่าว ก็สมควรวิเคราะห์พิจารณาว่า ทัศนะนั้นขัดต่อความเป็ประชาธิปไตยและเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่มิใช่ประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้ ตราบเท่าที่ทัศนะนั้นยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม...”

จะเห็นว่า ปรีดีฯ ยกปัญหาขึ้นพิจารณาข้างต้น ว่า ทัศนะสังคมอย่างใดบ้างจึงจะถือว่าเป็นประชาธิปไตยก็จะต้องพิจารณาพิสูจน์และทดสอบจากผลของการปฏิบัติเป็นสําคัญ กล่าวคือ ต้องตรวจสอบความเป็นภาวะวิสัย (Objective) ของผลการปฏิบัติได้ในตัว และแม้ปรีดีฯ เองจะยังมิได้มีคําอธิบายให้เห็นเด่นชัดให้ประเด็นนี้โดยตรง และผู้เขียนบทความก็ไม่ประสงค์จะอธิบายประเด็นให้ยืดยาวในที่นี้ แต่เราจะเห็นได้ในหัวข้อต่อไปว่าปรีดีฯ ได้อธิบายในข้อเขียนของตนโดยตัวอย่าง “ในทางตรงกันข้าม” อยู่เสมอว่าทัศนะสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะได้ พิจารณากันในหัวข้อต่อไป แต่ในที่นี้ ผู้เขียนขอจําแนกอธิบายข้อความที่ยกมาข้างต้นก่อนโดยพิจารณาประเด็นเป็นลำดับดังนี้

 

ภารกิจที่จะต้องเข้าถึง “ปัญญาญาณ ประชาธิปไตย” ด้วยตนเอง

ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า สิ่งนี้หาใช่เรื่องราวอันสลับซับซ้อนแต่อย่างใดเลย กล่าวคือ เป็นภารกิจในการทําความเข้าใจใน “เป้าหมาย” “หลักการ” หรือ “เหตุผล ที่ถูกต้อง” และสอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานประการต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับกันในระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้นับเป็นภารกิจทางปัญญาของพลเมืองทุกคนในระบอบประชาธิปไตยตัวอย่างเช่น การทําความเข้าใจหลักอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอํานาจ ฯลฯ

ซึ่งล้วนแต่เป็นหลักการผดุงรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรม ทางการเมืองและทางกฎหมาย ซึ่งเป็นโครงร่างเบื้องบนของสังคม ด้วยความเข้าใจและการตระหนักรู้ในคุณค่าของหลักการพื้นฐานทั้งหลายเหล่านี้จนประจักษ์แก่ใจตนเองจะนํามาซึ่งการเคารพและยึดมั่นในระบบการเมืองลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ระบบกฎหมายจะประกันความเป็นธรรม ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างและระบบกฎหมาย และด้วยจิตสํานึกของพลเมืองในแท้จริง อีกนัยหนึ่ง การทําให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์หาใช่อยู่ที่การเขียนบทบัญญัติของกฎหมายขึ้นและสามารถบังคับใช้ได้เท่านั้น แต่อยู่ที่การตระหนักรู้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนขึ้นนั้น เขียนขึ้นเพื่อปกป้องและพิทักษ์คุณค่าหลายอย่างหลายประการในการอยู่ร่วมกันในสังคมจึงบังคับให้เป็นไปตามนั้น

 

ภารกิจที่จะต้องตรวจสอบ “จริยธรรมประชาธิปไตย” ของตนเอง

เมื่อทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงเริ่มจากการเข้าถึงปัญญาญาณประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกทาง หนึ่งก็คือ มองเห็นจุดหมายปลายทางที่จะเดินไปแล้ว ก็ นับได้ว่า เป็นทัศนะสังคมหรือหลักชักนําจิตใจให้เกิดพฤติกรรมของสมาชิกหรือวิถีชีวิตทางสังคมที่สอดคล้อง กับวิถีชีวิตหรือวิธีคิดแบบประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละคนจะต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่า การกระทําที่เราท่านแต่ละคนแสดงออกนั้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องหรือส่งเสริม ระบอบประชาธิปไตยตามหลักการและคุณค่าพื้นฐาน ต่าง ๆ หรือไม่ กล่าวโดยย่อก็คือ เมื่อรู้แล้วว่าประชาธิปไตยมีหลักการเช่นไร ก็ต้องลงมือกระทําการหรือปฏิบัติตน ตามหลักการเช่นว่านั้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หาก นาย ก. ยอมรับหรืออ้าง ว่าการรัฐประหารซึ่งเป็นไปเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถกระทําได้ นี่คงเป็นตัวอย่างที่สําคัญที่แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของนาย ก. ที่ไม่สอดคล้องกับทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เพราะทัศนะที่เห็นชอบด้วยกับการทําลายล้างระบบการเมืองโดยใช้วิธีการอื่นนอกกฎหมายเช่นนี้ กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ การไม่เชื่อมั่นใน ศักยภาพและสิทธิการมีส่วนร่วมของนาย ก. เองที่จะตัดสินใจร่วมกับเพื่อนร่วมชาติคนอื่น ๆ ในทางการเมืองนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้า นาย ก. ยอมรับการรัฐประหารก็ถือได้ว่า นาย ก. ยอมรับและอนุญาตให้เกิดการปล้นสิทธิทางการเมืองของตนเองไปต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว จึงถือว่า นาย ก. ขาดปัญญาญาณประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงนอกจากนี้แล้ว ถ้าการแสดงออกของนาย ก. นั้นเป็นไป เพื่อสนับสนุนรัฐประหารไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมเป็นการล่วงละเมิดจริยธรรมประชาธิปไตยทั้งสิ้นอีกนัยหนึ่ง นาย ก. ไม่เพียงการขาดปัญญาญาณประชาธิปไตยเท่านั้น นาย ก. ยังล่วงละเมิดจริยธรรมประชาธิปไตยด้วยการลงมือกระทําการสนับสนุนและทําลายล้างหลักการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องด้วย

การล่วงละเมิดจริยธรรมประชาธิปไตยเช่นนี้อาจจะยากอยู่บ้างในการประเมินผลกระทบโดยตรงต่อนาย ก. หรือบุคคลเป็นราย ๆ ไป แต่เราจะประเมินผลกระทบโดยตรงได้เป็นอย่างดี เมื่อพิจารณาผลที่เกิดขึ้นในระดับสังคมโดยรวมทั้งหมด เช่น การประเมินจากคําถามที่ว่าการยอมรับการรัฐประหารของนาย ก. ได้ทําลายคุณค่าในเรื่องอะไรบ้างสําหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ กรณีนี้ หากอธิบายในทัศนะของปรีดีฯ ก็คือ นาย ก. นั้นถือทัศนะ ที่ “ขัดต่อความเป็นประชาธิปไตยและเป็นทัศนะที่สนับสนุนให้ระบบที่มิใช่ประชาธิปไตยดํารงคงอยู่ได้...” นั่นเอง

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ผู้เขียนมีข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เหตุใดสุนทรพจน์ของนักการเมืองของประเทศนั้น (ทั้งที่ได้กล่าวในและนอกรัฐสภา) จึงเน้นย้ําอยู่เสมอในทํานองว่า “ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในระบอบประชาธิปไตย” เพราะสิ่งที่กล่าวทุกคนเห็นได้ชัดอยู่แล้ว มีความจําเป็นอย่างไรเล่าจึงต้องย้ำกันในเรื่องนี้อีก

เมื่อผู้เขียนตั้งคําถามเช่นนี้กับตัวเองและพยายามขบคิดแสวงหาคําตอบอยู่ระยะหนึ่งจึงทําให้ตระหนักถึงคําตอบที่น่าจะเป็นว่า ถ้าไม่พิจารณาประโยชน์เฉพาะหน้าทางการเมืองอื่นใดของนักการเมืองผู้กล่าวถ้อยคําเหล่านี้แล้ว ด้วยการเคารพต่อหลักการ เคารพต่อเหตุผลที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่ค้ําจุนความเป็นธรรมของระบอบนั้น ๆ เช่น เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกฎหมายของรัฐที่ออกมาโดยชอบนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เพียงนักการเมืองและประชาชนจะกล่าวด้วยลมปากเท่านั้น

แต่พลเมืองแต่ละคนกลับจะต้องตระหนักด้วยตนเองอยู่เสมอ อีกทั้งจะต้องปฏิบัติ บังคับใจตนให้แสดงออกทั้งทางกาย วาจา และความคิดให้สอดคล้องกับหลักการและคุณค่าพื้นฐานของระบอบนั้นด้วย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ทัศนะสังคมอื่นที่เป็นการทําลายล้างหลักการและคุณค่าของประชาธิปไตยสามารถเบียดแทรกเข้ามาสู่ความคิดและจิตใจของพลเมืองได้ เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในประเทศที่ถือกันว่าเป็นแม่แบบนั้น หาใช่ประชาธิปไตยในกระดาษหรือมีอยู่แต่ในหนังสือตําราเท่านั้น แต่ประชาธิปไตยนั้นเป็น “วิถีชีวิต” ที่แสดงออกและเห็นได้ชัดเจนอยู่ในท้องถนน ในร้านขาย สินค้า ในสถานที่ทํางาน ในรัฐสภาแล้วจึงมีลายลักษณ์อักษรเขียนยืนยันอีกครั้งอยู่ในบทกฎหมาย

ดังนั้น ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นพลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากการที่สมาชิกของสังคมตระหนักรู้เข้าใจถึงคุณค่าของหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจังและแท้จริง กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ มีทั้งปัญญาญาณประชาธิปไตยและประพฤติตนตรงต่อจริยธรรมประชาธิปไตยด้วยนั่นเอง

 

4. ลักษณะที่เรียกได้ว่า เป็น “ทัศนะสังคม ที่เป็นประชาธิปไตย” ที่ปรากฏในข้อเขียนของปรีดีฯ

ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะพยายามเก็บความ สรุปสาระและชี้ให้เห็นว่า แม้ปรีดีฯ จะมิได้ระบุโดยตรงว่า “อะไรคือทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” แต่ปรีดีฯ มักยกตัวอย่างอยู่เสมอว่า อะไรบ้างคือทัศนะสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ก่อนอื่นคงจะต้องขอทบทวนก่อนว่า ในความคิดของปรีดีฯ นั้น ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นในสังคมหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับขั้นตอน พัฒนาการของสังคมนั้น ๆ เอง ซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสัมพันธภาพทางการเมืองในสังคมจะเป็นตัวกําหนดหรือกํากับทิศทางอยู่มิใช่น้อย และดังที่กล่าวมาในหัวข้อที่ 2 แล้วว่า ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย กําเนิดขึ้นในสังคมมนุษย์ในยุคปฐมสหการ (ขั้นที่ 1) มาแต่เดิม และเลือนหายไปในสังคมทาส (ขั้นที่ 2) และสังคมศักดินา (ขั้นที่ 3) และกลับฟื้นตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในสังคม =ทุนนิยม (ขั้นที่ 4) แม้แต่ในระบบทุนนิยมเองก็อาจเกิดทัศนะสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน

จะเห็นได้ชัดว่าระบบสังคมทาสและศักดินา (และทุนนิยมด้วยในบางกรณี) จึงก่อกําเนิดความสัมพันธ์ในสังคมที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์และก่อให้เกิดชนชั้นทางสังคมขึ้น กล่าวคือ เป็นสังคมที่คนส่วนน้อยเบียดเบียนคนส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมทาสและศักดินาย่อมมีทัศนะสังคมที่ลดความสําคัญของคนส่วนใหญ่ลงและการลดความสำคัญของคนส่วนใหญ่ลงนี่เองจึงเป็นการลดความสําคัญของทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยลงไปด้วยในตัว

ทัศนะสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น ทัศนะสังคมในระบบทาส ระบบศักดินา และในระบบทุนนิยม มีลักษณะสําคัญและอาจส่งผลกระทบได้ในหลายประการ ซึ่งผู้เขียนจะลองวิเคราะห์เป็นลําดับในกรณีดังต่อไปนี้

(1) การหล่อหลอมทางความคิดและปัญญา การหล่อหลอมความคิดหรือการหล่อหลอมใน ทางปัญญาหรือความเคยชินซึ่งสนับสนุนการเบียดเบียนของคนกลุ่มน้อยต่อคนกลุ่มใหญ่ กล่าวคือ ความเคยชินของคนส่วนใหญ่ต่อการถูกเบียดเบียนมาช้านานจึงทําให้ดูเสมือนการเบียดเบียนเป็นเรื่องปกติ เพราะมีทัศนะสังคมเช่นนี้กํากับวิธีคิดอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ก็อาจเกิดจิตสํานึกหรือทัศนะสังคมใหม่ขึ้นได้เช่นกัน

ในประเด็นนี้ หากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยเฉพาะในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทยเราซึ่งมักจะไม่ส่งเสริมให้เกิด “กระบวนการคิดที่แท้จริงและการวิเคราะห์ความคิดอย่างลึกซึ้ง” แล้วก็อาจกล่าวได้ว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่อาจพอใจแต่เพียงได้รับการ “ป้อนให้จําและเข้าใจ” เท่าที่ผู้มีอํานาจในสังคมต้องการเท่านั้น อีกนัยหนึ่ง คนส่วนใหญ่ไม่จําเป็นต้องรู้และคิดให้มากไปกว่าที่สังคมได้บอกไว้แล้วโดยตนเองก็ไม่ปรารถนาที่จะนําสิ่งนั้นมา “คิดและวิเคราะห์” ให้แตกย่อยและกว้างขวางออกไปแต่อย่างใด

เมื่อสิ่งที่รับรู้ปราศจาก “การขัดเกลา” ผ่านกระบวนการคิดของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังคมมีกระบวนการกล่อมเกลาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เป็นเวลานาน สิ่งนั้นย่อมอาจกลายเป็น “สรณะที่มั่นคง” เป็นกําแพงที่ปิดกั้นศักยภาพทางปัญญาไปได้ในที่สุด แม้แต่ตนเองก็ไม่อาจตระหนักหรือสํานึกรู้ได้เลยก็เป็นได้ ในกรณีนี้เช่นนี้ หากนําหลักการและฐานความคิดของปรีดีฯ ข้างต้นมาวิเคราะห์ก็น่าจะเป็นว่า คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ถูกกําหนดให้รู้และคิดเท่าที่ผู้มีอํานาจในสังคมต้องการโดยปราศจากการทบทวนตรวจสอบและเลือกสรรด้วยตนเองอย่างสิ้นเชิงว่า สิ่งซึ่งรับรู้และเข้าใจนั้น แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ และหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดตามทัศนะของปรีดีฯ ก็คือ การตั้งคําถามที่ว่าสิ่งที่แต่ละคนรับรู้และเข้าใจอยู่แล้วนั้นเป็นทัศนะที่สอดคล้อง กับวัฒนธรรมประชาธิปไตยหรือไม่นั่นเอง

ดังนั้น หากยอมรับว่าการสร้างทัศนะคติย่อมเกิดจากกระบวนการคิดและวิเคราะห์ เพื่อสร้างความเข้าใจผ่านความหมายและการใช้ภาษาของมนุษย์ในเรื่องต่าง ๆ แล้ว การย้าคิดทบทวนการตรวจสอบซ้ําแล้วซ้ําเล่าถึงความเป็นไปได้และมุ่งกะเทาะไปยังแก่นสาระที่แท้จริงของสิ่งที่รับรู้และเข้าใจอยู่เดิมนั้น ย่อมเสมือนการชําระสิ่งสกปรกคราบไคลที่เคลือบผิวนอกออกไปจากแก่นสาระและนี่เองทีอาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้เสรีภาพทางความคิดอย่างเต็มตามความหมาย ซึ่งควรจะกล่าวในที่นี้ด้วย

ว่าการสร้างให้เกิดจิตใจวิเคราะห์วิจารณ์อย่างที่ปรีดีฯอธิบายถึงจิตใจวิทยาศาสตร์ (Scientific Spirit) รวมถึงการสร้างทัศนะคติและเจตจํานงของบุคคล อีกทั้งการ ตัดสินใจของบุคคลแล้วลงมือกระทําการในเรื่องต่าง ๆ นั้น ในที่สุดแล้วล้วนมีพื้นฐานจากกระบวนการพื้นฐานด้านความคิดเช่นที่กล่าวมานี้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่ว่าการใช้ความคิดเช่นนี้ก็คือ การใช้เสรีภาพเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อปลดเปลื้องตนเองออกจากมายาคติ ความหลงงมงาย และซากทัศนะต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งปวง เพื่อเข้าถึงสิ่งจริง แท้ที่เป็นแก่นและสาระที่แท้จริงอันทรงคุณค่าของสิ่งนั้น

ดังนั้น เราจึงควรเน้นย้ําในที่นี้อีกครั้งด้วยว่า การเข้าถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ตามแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีจึงมิได้หมายความถึงความเข้าใจของบุคคลที่มีต่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาจากคําอธิบายอย่างละเอียดลออและรัดกุมรอบคอบของนักปราชญ์ในตําราหรือจากชั้นเรียน หรือแม้แต่การลงมือกระทําการใดที่สังคมยกย่องว่า ช่วยสนับสนุนประชาธิปไตยแต่เพียงอย่างเดียวก็หาใช่ว่าจะมีประชาธิปไตยสําเร็จเสร็จลงแล้วก็หาไม่

การเข้าถึง “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ยังหมายความลึกลงไปถึงการสร้างความตระหนักรู้และสํานึกในคุณค่าของประชาธิปไตยที่มีต่อบุคคลและสังคมขึ้นจากภายในตนเองโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างแท้จริงและการวิเคราะห์ความคิดอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน (เช่นทีปรีดีฯ เองก็ได้ให้นิยามประชาธิปไตยไว้อย่างรอบด้านดังที่กล่าวแล้ว) ถึงขนาดเรียกได้ว่า ความคิดและการกระทําได้บรรจบเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพในตัวบุคคลนั้น ๆ นับเป็นการใช้เสรีภาพของความคิดและเสรีภาพในทํานองนี้ย่อมยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มตามความหมาย และนี่เองที่อธิบายได้ว่า เหตุใดปรีดีฯ จึงได้ใช้ภาษาลาติน Animi Cultura อธิบายถึงทัศนะทางสังคมที่มีลักษณะเป็น “จิตใจที่เกิดขึ้นหรือเพาะขึ้น” จากปัจจัยภายนอก และบุคคลได้ใช้เป็นหลักนําในการปฏิบัติหรือตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อีกนัยหนึ่งเป็นกระบวนการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้นในทางสังคมให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยในทางการเมืองด้วยอีกโสดหนึ่ง

ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ปรีดีฯ ได้หยิบยกมาอธิบายหรือได้แสดงให้เห็นจากการกระทําของ ปรีดีเองนั้น ยังต้องถือว่าเป็นเพียงตัวอย่างในบางกรณี ซึ่งปรีดีฯ ก็ได้ฝากประเด็นในการศีกษาทําความเข้าใจไว้แล้ว(ด้วยอาจเล็งเห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งมีอยู่เป็นนิจนั้นย่อมก่อให้เกิดสภาพการณ์ใหม่ขึ้นเสมอในการที่จะต้องวินิจฉัยโดยรอบคอบว่า อะไรคือทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย) โดยเน้นย้ําทั้งในทางการแสวงหาความเข้าใจเชิงทฤษฎีและต้องพิสูจน์ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ

(2) ระบบหรือแนวคิดทางวัฒนธรรมบางประการที่ฝังรากลึกในสังคม

ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แม้ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองในสังคมเก่าจะสิ้นสูญไปแล้วก็ดี แต่ทัศนะสังคมในระบบเก่าอาจยังแฝงตัวหรือยังมิได้สิ้นสุดตามระบบสังคมเก่านั้นไปด้วยก็อาจเป็นได้ กล่าวคือ ทัศนะสังคมเก่าอาจสืบทอดมายังชนรุ่นใหม่ของสังคมใหม่ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมและความคิดของชนรุ่นใหม่นั้นไม่มากก็น้อย

ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบัน เราก็อาจหยิบยกค่านิยมหรือวัฒนธรรมของสังคมไทยบางประการมาพินิจพิจารณาได้เช่นกันว่า สอดคล้องกับทัศนะทางสังคมที่เป็น ประชาธิปไตยหรือไม่ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมไทยที่ถือว่า “ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่” นั้นก็น่าจะพึงตั้งคําถามกันได้แล้วว่า เป็นคําสอนทางวัฒนธรรมที่มีความเหมาะสมและถูกต้องในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้นเลยหรือไม่ เช่น กรณีปกติที่อาจเกิดขึ้นในห้องประชุม อาทิ ผู้น้อยได้แสดงความ คิดเห็นที่มีเหตุมีผลเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับกันได้ แต่ อาจขัดหรือแย้งกับความคิดของผู้ใหญ่บางท่าน ในกรณีนี้ผู้น้อยและผู้ใหญ่พึงกระทําเช่นไรเพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมทางสังคมแบบประชาธิปไตย หรือการที่ผู้เข้า ประชุมถกเถียงกันเกี่ยวกับ “งาน” ในบางประเด็นและไม่อาจตกลงกันได้เลย กรณีนี้จึงถือได้ด้วยหรือไม่ว่า คู่กรณีมีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน “เป็นการส่วนตัว” อยู่ด้วยเป็นต้น

(3) ความยึดมั่นในผลประโยชน์ของตนและความพยายามฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลที่ยึดถือทัศนะที่ตกค้างมากจากระบบเดิม (เช่น ระบบทาส เป็นต้น) โดยไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและถือเอาประโยชน์ของตนเป็นสําคัญก็มักมีพฤติกรรมหรือดําเนินการฟื้นฟูทิศทางที่เอื้อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมระบบเก่านั้นขึ้นมาอีก(เช่น ความสัมพันธ์เยี่ยงนายและทาสซึ่งมีลักษณะเผด็จการอยู่ในตัว)

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่า “ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” ของปรีดีฯ นั้น ปัจจุบันได้กลายมาเป็นประเด็นการต่อสู้ในท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมอีกครั้ง นับแต่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม2519 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์ในทัศนะของปรีดีฯ นั้นย่อมไม่อาจบรรลุได้หากปราศจากทัศนะหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยในหมู่ราษฎรไปพร้อม ๆ กัน กรณีนี้เราย่อมจะเห็นได้ชัดว่าองค์ ประกอบของประชาธิปไตยอันมีลักษณะที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ย่อมมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยในทางการเมืองการปกครองและกฎหมายแต่อย่างใดเลย

และในท้ายที่สุด ผู้เขียนจึงหวังด้วยว่า บทความนี้น่าจะฉุกใจให้มวลราษฎร เห็นถึงความสําคัญของ “การอภิวัฒน์วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ในบ้านเมืองนี้ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

ที่มา: (1)-(3) จาก อนาคตของประเทศควรดำเนินไปในรูปใด ; จาก พิเคราะห์ศัพท์ "สังคม" "มนุษยสังคม" "ชาติ" "ประชาชาติ" "ปิตุภูมิ" "มาตุภูมิ" "รัฐ"
 

 

บรรณานุกรม

  • ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “แนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์”, ในงานเสวนาเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2556, ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)