ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

3 คุณลักษณะของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่พึงเอาเป็นแบบอย่าง

21
พฤษภาคม
2568

Focus

  • เมื่อประเทศเกิดปัญหา ลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้นำเสนอคุณสมบัติ และคุณูปการ 3 ประการของผู้เป็นอาจารย์ที่ประจักษ์ชัด ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศสามารถผ่านวิกฤตได้

 

 

ในขณะที่สังคมไทยกําลังประสบภาวะวิกฤตจากการแตกสามัคคี และส่วนใหญ่ก็เรียกหาความสมานฉันท์ โดยบางท่านก็เสนอทางออกให้ เช่น ต้องหาทางพูดจากัน รวมทั้งพระสงฆ์ท่านก็มีเมตตา ให้คติต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ สําหรับผมก็เช่นกับราษฎรทั่วไป มีความห่วงกังวลถึงอนาคตของประเทศชาติว่าจะมีทางออกกันอย่างไร และยังนึกเสียดายโอกาสที่เมืองไทยเรามีสิ่งดี ๆ มากมาย มีคนดี ๆ มากมายก็น่าจะเป็นประเทศที่อยู่กันอย่างสุขสบายได้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมคิดว่าการจะแสวงหาความสมานฉันท์คงเป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ หากเราไม่แก้ด้วยธรรมะ และธรรมะจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องนึกถึงพระเดชพระคุณท่านพุทธทาสที่เน้นสั่งสอนเรื่องหลักไตรลักษณ์ โดยเฉพาะอนัตตา ฉะนั้นถ้าเรานําคําสอนของท่านพุทธทาสมาใช้ ก็จะทําให้ทุกคนลดอัตตาลง และความเห็นแก่ตัวก็ลดลงน้อยลงไป การเห็นประโยชน์แก่ประเทศชาติจะเป็นที่ตั้งต้นของการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น

การจะเดินรอยตามคําสอนของท่านพุทธทาส ก็ต้องให้บุคคลผู้มีบทบาทสําคัญในปัญหาทําตนเป็นแบบอย่าง โดยลดอัตตาลง และเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นประโยชน์ที่สูงสุดและปฏิบัติตามอุดมการณ์ดังกล่าว บุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นพรรคพวกก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเขามีแบบอย่างที่ดีและก็จะปฏิบัติตามกันไปเอง

เมื่อเราได้สูตรการแก้ปัญหาได้แล้ว เราก็ต้องหาบุคคลที่จะเป็นแบบอย่างได้ เพราะผมเชื่อว่าคนไทยมีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ไม่น้อย และในประวัติศาสตร์ประเทศไทยก็เคยมีบุคคลชั้นนําที่มีความเสียสละและทําประโยชน์ไว้ให้แก่ลูกหลานไว้มากมาย เราก็ต้องเชิดชูท่านดังกล่าวและนําคุณูปการมาเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเป็นสัจธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ท่านผู้อ่านคงมีบุคคลดังกล่าวอยู่ในใจของท่าน แต่สําหรับผมมีบุคคลอยู่ในหัวใจแล้ว ท่านผู้นั้นคือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การของ ม.ธ.ก. สถาบันอันเป็นที่รักของชาวเหลืองแดงและลูกแม่โดมนั่นเอง ที่ผมกล้าพูดเช่นนั้น ผมมีข้อเท็จจริงสนับสนุนดังที่จะกล่าวสรุปคุณสมบัติและคุณูปการของท่านดังต่อไปนี้

๑. ท่านเป็นแบบอย่างของคนซื่อสัตย์สุจริตจริง ๆ เริ่มด้วยซื่อสัตย์สุจริตในเรื่องส่วนตัวและครอบครัว สุจริตในอาชีพและการปฏิบัติของท่านไม่ว่าจะอยู่ในฐานะข้าราชการ อาจารย์ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งในตําแหน่งที่สูงสุดคือ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ สุดท้ายในฐานะพลเมือง จนอวสานแห่งชีวิตของท่านประจักษ์พยานที่แน่ชัดคือ ผลงานของท่านล้วนสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล แต่ในฐานะส่วนตัวแทนที่จะร่ํารวยขึ้น แต่กลับจนลง ๆ

ตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้เข้าถึงธรรมะและนํามาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการลดอัตตา และการเห็นผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสําคัญ และในความคิดและการกระทําของท่านมุ่งไปที่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรและเพื่อความเจริญของประเทศชาติ และทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยบวชเรียนตามประเพณี แต่ท่าน ได้เลือกเสวนากับพระสงฆ์ที่มีปฏิปทาที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุหนุ่มองค์หนึ่ง คือท่านพุทธทาส ท่านได้เรียนและปฏิบัติธรรมะโดยถูกต้อง โดยตั้งต้นที่หลักไตรลักษณ์ และท่านก็ได้ยึดถือหลักธรรมมาตลอดชีวิต หลักธรรมนี่แหละ ที่ท่านได้สร้างคุณูปการอย่างมหาศาลให้แก่ประเทศชาติและราษฎรไทยทั้งมวล

 


พุทธทาสภิกขุ
ที่มา: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

 

๒. ท่านอาจารย์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ท่านอาจารย์ไม่เพียงแต่เป็นคนเรียนเก่งที่สามารถนําวิชามาใช้ในทางปฏิบัติ เป็นพหูสูต ความรู้ความสามารถของท่านเพียบพร้อมในเกือบทุกด้าน เป็นนักกฎหมาย นักเศรษฐกิจ และการคลัง นักปกครอง นักสังคม ฯลฯ ที่ดีเยี่ยม และยังนําวิชาการวิทยาศาสตร์มาใช้ประกอบการปฏิบัติงาน ผลงานของท่านไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ใด ตําแหน่งใด ล้วนเห็นได้ชัดและโดดเด่น คุณูปการอันมหาศาลของท่านมุ่งโดยตรงต่อผลประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ มีคนพูดกันว่าจะหาคนเก่งและคนซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในคน ๆ เดียวกัน มักจะหาได้ยากมาก คําพูดนี้อาจจะเป็นจริงอยู่บ้าง แต่สําหรับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ น่าจะเป็นข้อยกเว้น เพราะท่านทั้งเก่งและซื่อสัตย์โดยยึดธรรมะเป็นหลักในการทําหน้าที่และเสียสละประโยชน์ส่วนตัวได้จริง ๆ

๓. ท่านอาจารย์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง คําว่าวิสัยทัศน์ หรือ VISION เป็นคําพูดที่ใช้กันแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่นักการเมือง ทั้งนี้เพราะความเชื่อว่า ผู้นําหรือนักการเมือง ผู้รับผิดชอบการบริหารบ้านเมืองจะต้องมองการณ์ไกล ไม่ใช่มองว่าวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้าจะทําอะไรแต่เท่าที่ผมติดตามการเมืองของเรามามากกว่า ๖๐ ปี ผมคิดว่า เกือบจะหานักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ตามความหมายที่แท้จริงในบ้านเราไม่ได้เลย เพราะเกือบทุกท่านจะคิดและกระทําการใดก็เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเสียเวลาจากการโต้ตอบกันไปกันมาเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ผมยังภูมิใจว่า โชคดีที่เมืองไทยได้เคยมีนักการเมืองผู้มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง ท่านผู้นั้นคือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

ที่ผมกล้ากล่าวเช่นนี้ เพราะผมได้ติดตามแนวความคิดและผลงานของท่านอาจารย์ปรีดีมาโดยตลอด ผมเห็นว่าแนวความคิดและการปฏิบัติงานของท่านในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการเป็นรัฐบุรุษและผู้นําที่มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริง ผมจะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่สําคัญและเห็นได้ชัดเจนเพื่อประกอบคํากล่าวข้างต้น ดังต่อไปนี้

๓.๑ วิสัยทัศน์ในการสร้างประชาธิปไตย ท่านได้ให้ความสําคัญแก่การสร้างความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรเป็นอย่างมาก เพราะหากราษฎรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวิถีทางปกครองตนเองซึ่งเป็นของใหม่ของคนไทย ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสร้างรากฐานความเข้าใจเริ่มจากชุมชน โดยได้เสนอกฎหมายให้มีเทศบาลทุกตําบล ในการปกครองระบบเทศบาล ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตําบลและคณะมนตรีตําบล จําลองแบบมาจากระดับชาติ เจตนารมณ์ก็เพื่อจะให้ราษฎรได้ศึกษาด้วยการปฏิบัติจริง ๆ และเข้าใจพื้นฐานของการปกครองตนเองและรักษาประโยชน์ของตนเอง เมื่อราษฎรได้ค่อย ๆ เข้าใจและชินกับการดูแลตนเองในสังคมใกล้ตัวแล้ว ต่อไปเมื่อไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติ เขาก็จะซึมซาบโดยอัตโนมัติ น่าเสียดายที่ผู้รับผิดชอบรุ่นต่อ ๆ มาไม่ได้สานต่อแนวความคิดนี้ เพราะหากได้ทําต่อเนื่องมากว่า ๖๐ ปี ป่านนี้เราคงไม่ต้องห่วงใยและหาทางขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของคนไทย และเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการเดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย

นอกจากนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ท่านให้สิทธิเสรีภาพแก่สตรีเท่ากับบุรุษ และได้ให้สิทธินี้มาก่อน ประเทศพัฒนาบางประเทศเสียอีก

๓.๒ วิสัยทัศน์ในทางเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ได้ให้ความสําคัญแก่เรื่องเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าเรื่องการเมือง ท่านจึงมีนโยบายแน่วแน่ที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของราษฎร และยกฐานะให้ราษฎรอยู่ดีกินดี แต่เศรษฐกิจต้องวางรากฐานไปข้างหน้าอีก ๒๐-๓๐ ปี แต่น่าเสียดายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นตามความคิดท่านไม่ทัน เป็นผลให้ท่านถูกกล่าวหาและต้องออกเดินทางไปต่างประเทศชั่วคราว

อย่างไรก็ดี เมื่อท่านกลับจากต่างประเทศและพ้นข้อกล่าวหา และกลับเข้ามารับหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็เริ่มอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง ที่สําคัญก็คือยกเลิกภาษีรัชชูปการและให้ใช้ประมวลรัษฎากรซึ่งให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร คือใครมีรายได้มากก็เสียมากรายได้น้อยก็เสียน้อย นอกจากนี้ท่านยังได้จัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อเป็นสถาบันที่จะรักษาเสถียรภาพของการเงิน เสนอให้ออก พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อให้มีการควบคุมการใช้ภาษีอากรที่เก็บจากราษฎรอย่างรัดกุมและสมประโยชน์ กล่าวได้ว่า ในสมัยที่ท่านอาจารย์เป็นรัฐมนตรีคลัง เสถียรภาพทางการเงินของประเทศมีความมั่นคงมาก

 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในสมัยท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศไทยมีทุนสํารองเงินตราทั้งหมดเป็นเงินปอนด์สเตอริงก์ แต่ท่านได้คาดการณ์ได้แม่นยําว่า เงินอังกฤษจะเสื่อมราคาลง ท่านจึงสั่งให้นําเงินทุนสํารองส่วนหนึ่งไปซื้อทองคําประมาณ ๓๕ ล้านกรัม แล้วนํามาเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง ต่อมาเงินปอนด์เสื่อมราคาลงตามคาด รัฐบาลอังกฤษได้ลดค่าเงินปอนด์ลงปอนด์ละ ๒๐ เซนต์สหรัฐ จึงทําให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์มหาศาล ที่น่าประหลาดใจคือก่อนที่อังกฤษจะลดค่าเงินอีกครั้งหนึ่งเพียงวันเดียว ท่านได้โอนเงินเป็นครั้งที่สองโดยโทรเลขสั่งโอนเงินปอนด์อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินเหรียญสหรัฐ โดยสั่งการให้โอนไปเพียง ๖ ชั่วโมง ก่อนอังกฤษลดค่า

การนําเงินปอนด์ไปซื้อทองคําและการโอนเงินปอนด์ไปซื้อดอลลาร์สหรัฐนี้ ตัวท่านเองไม่เคยใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเลย

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อญี่ปุ่นขอยืมเงินบาทเพื่อใช้ในระหว่างยึดครองไทย และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยินยอม แต่ท่านปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีคลังคัดค้าน จนเป็นผลให้ท่านพ้นตําแหน่งไปเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาไทยก็ยอมให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาทได้ รัฐมนตรีคลังคนต่อมาหาทางออกที่จะทําให้เราไม่เสียเปรียบไม่ได้ จึงได้ปรึกษาท่านปรีดี ท่านแนะนําว่าให้กําหนดเงื่อนไขให้ญี่ปุ่นใช้เงินคืนด้วยทองคําโดยทําการผูกหูทองคําไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจําต้องยอม ด้วยเหตุนี้เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงไม่สามารถยึดทองคํานี้ได้ เพราะได้ผูกหูไว้ว่าเป็นของไทย จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของชนชาติศัตรู คําแนะนําของท่านปรีดี ทําให้ไทยได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องเสี่ยง และได้หลักประกันที่มีแต่ราคาสูงขึ้น

ในด้านเกษตร ท่านอาจารย์มีความห่วงใยในฐานะและความยากลําบากของเกษตรกรเป็นพิเศษตัวท่านก็เคยช่วยบิดาทํานาด้วยตนเอง นอกจากจะเสนอตั้งสหกรณ์อเนกประสงค์เพื่อตัดปัญหาคนกลาง (ดําเนินไม่ได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเค้าโครงการเศรษฐกิจ) ท่านอาจารย์ยังได้ยกเลิกอากรค่านา และมีแผนการที่จะให้ชาวนามีที่ดินทํากินเป็นของตนเองด้วย

ในเรื่องวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้ ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องการส่งออกข้าว หลังจากท่านกลับจากเยือนสหรัฐอเมริกา ท่านได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่าจากการสังเกตการณ์ท่านคิดว่า ในอีกประมาณ ๒๐ ปี ข้างหน้า สหรัฐจะเป็นคู่แข่งการค้าข้าวกับไทย เพราะในสหรัฐมีพื้นที่จํานวนมากที่อากาศอํานวยให้ปลูกข้าวได้ และถ้าเขาเริ่มปลูกข้าวเขาจะมีข้าวที่มีคุณภาพดีเท่าเราหรือดีกว่าเรา ข้อคิดของท่านไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีประเทศใดผลิตข้าวดีเท่ากับของเราและมาแข่งขันกับเราได้โดยเฉพาะสหรัฐในขณะนั้นไม่มีวี่แววว่าจะเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้ดี

เรื่องที่สองคือ เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ท่านอาจารย์ได้เล็งเห็นภยันตรายจากการลักลอบตัดไม้ทําลายป่า ท่านจึงเสนอว่าหากไม่หามาตราการป้องกันอย่างจริงจัง ต่อไปอีก ๓๐ ปี ข้างหน้า ประเทศเราจะเปลี่ยนจากการส่งออกไม้สักมาเป็นการสั่งไม้เข้าประเทศแทน ปรากฏว่าในคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีใครสนใจต่อข้อสังเกตของท่านมีรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ยังกล่าวว่าถึงตอนนนั้นพวกเราก็ตายกันหมดแล้ว

จะเห็นได้ว่าเมื่อเวลาผ่านมา ข้อสังเกตและข้อเสนอของท่านทั้งสองเรื่องก็เป็นจริงทุกประการ

๓.๓ วิสัยทัศน์ในการศึกษา ท่านอาจารย์ได้ให้ความสําคัญแก่การศึกษาเป็นพิเศษ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานสําคัญในการพัฒนาประเทศและประชาธิปไตย ท่านจึงได้กําหนดเรื่องการศึกษาไว้ในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร

ท่านได้เริ่มปฏิบัติจริงจังในสองระดับ ในระดับอุดมศึกษา ในขณะนั้นมีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว ไม่เพียงพอที่จะผลิตคนที่มีความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศได้ทันการณ์ ท่านจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเป็นครั้งแรก สอนเน้นหนักไปในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถึงแม้ มธก. จะมีเพียง ๒ คณะ คือ คณะธรรมศาสตร์และคณะการบัญชี แต่ในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต แม้จะเน้นการสอนกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็ได้สอนวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูตด้วย ทั้งนี้เพื่อจะผลิตบัณฑิตมารับใช้ประเทศในแขนงสําคัญ ๆ ได้ครบถ้วน ซึ่งก็ได้ผลตามที่ท่านมุ่งหมายไว้ เพราะธรรมศาสตร์บัณฑิตและผู้จบประกาศนียบัตรทางบัญชีได้ออกมารับใช้ประเทศ และเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาเป็นจํานวนมากมาย

นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านยังได้ตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญาเพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาใน มธก. โดยเฉพาะเรียกชื่อย่อว่า ตมธก. มีอยู่ 4 รุ่น หลักสูตร ตมธก. น่าสนใจมาก วิชาที่เรียนในขณะนั้นมีเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี วรรณคดี ประวัติศาสตร์สากล พุทธประวัติ ปรัชญา เทคโนโลยี ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย และการบัญชี ชวเลข พิมพ์ดีด และดนตรี เป็นต้น วิชาบางวิชาสอนและสอบเป็นภาษาต่างประเทศครูของโรงเรียนเตรียมจํานวนมากจบจากต่างประเทศ (หลายคนจบปริญญาเอก) และทางธรรมะก็ได้ครูที่จบเปรียญ ๙ ประโยคหลายท่านมาสอนจากหลักสูตรนี้สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของท่านที่จะตระเตรียมบุคคลให้พร้อมที่จะศึกษาระดับสูงทั้งในด้านฐานความรู้ทางวิชาการและจริยธรรม

อย่างไรก็ดี การศึกษาจะมีผลตามเป้าหมาย จะต้องใช้เวลานานและกระทําอย่างต่อเนื่อง และต้องทําไปในทิศทางที่ถูกต้อง ฉะนั้นผู้ที่จะรับลูกต่อจากท่าน ก็ต้องสานแนวความคิดของท่านอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

 

 

๓.๔ วิสัยทัศน์ในด้านการต่างประเทศและสันติภาพ ในระยะสั้น ๆ ที่ท่านอาจารย์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ท่านได้ใช้ความกล้าหาญในการเข้าไปแก้ไขสนธิสัญญากับสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปรวม ๑๒ ประเทศ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนภาษีร้อยชัก ๓ และทําสนธิสัญญาใหม่บนรากฐานแห่งความเสมอภาค และถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ และเป็นผลให้ประเทศไทยมีเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์ ผลงานนี้ต้องนับว่าเป็นประวัติศาสตร์สําคัญของกระทรวงการต่างประเทศ

วิสัยทัศน์ที่โดดเด่นของท่านอาจารย์และได้ให้คุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และประชาชนคนไทยก็คือ การเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ท่านได้มองการณ์ไกลว่าสงครามคราวนี้ ประเทศเราคงถูกกระทบแน่ ท่านจึงผลักดันให้มีพระบรมราชโองการการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. ๒๔๘๒ ขึ้น และเมื่อต่อมาญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ท่านก็ได้แสดงจุดยืนให้ปรากฏว่า ไทยไม่เห็นด้วย จึงได้รวบรวมจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น ในการวิเคราะห์การสงครามท่านแน่ใจว่าด้วยทรัพยากรอันมหาศาลของฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องเป็นฝ่ายชนะ

ท่านได้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และบัญชาการในสภาพที่ประเทศถูกยึดครองโดยต่างชาติความเสียสละ และลักษณะการเป็นผู้นําที่ดีทําให้เป็นผลให้ประเทศได้รอดพ้นจากภยันตรายที่ร้ายแรงและไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ที่ผมเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพียงบางส่วนและโดยย่อก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่านอาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดี บุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาควรจะนํามาถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ประเทศชาติก็จะพ้นวิกฤต และราษฎรก็จะอยู่ดีมีสุขโดยทั่วหน้ากัน ผมขอจบบทความด้วยพระพุทธวัจนะที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

 

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “บุคคลผู้เป็นแบบอย่าง” เป็น “3 คุณลักษณะของ อ.ปรีดี พนมยงค์ที่พึงเอาเป็นแบบอย่าง” โดยตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • สุโข สุวรรณศิริ, เรื่อง “บุคคลผู้เป็นแบบอย่าง”, วัน “ปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), น. 9-11.