ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

สื่อศิลป์ ส่งเสียง สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

8
กันยายน
2565

 

การต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองกับอำนาจรัฐมีอยู่แทบทุกแห่งหนบนโลกนี้ ในประเทศที่เจริญแล้วก่อนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ล้วนถูกรุกรานผ่านการสังเวยชีวิตอย่างยาวนานมาหลายชั่วอายุคน ประเทศไทยก็เช่นกัน ในภาพรวมชาวเมืองอาจคุ้นเคยกับคำว่า “คนชนเผ่า” หรือ “ชุมชนชาติพันธุ์” ที่มีชาวเขาหลายเผ่าเป็นตัวแทนกลุ่มคนบนป่าเขาในภาคเหนือ และมีชาวมอร์แกนเป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยของชาวเลในภาคใต้ แต่ในความจริงไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 76 จังหวัด ทั้งที่ราบ ที่สูง ชายฝั่ง และเกาะกลางทะเล แม้มีเพียง 42 กลุ่มที่แสดงตัวตนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยรวมจำนวนประชากรประมาณ 4,284,702 คน มีรายละเอียดการแบ่งเผ่า-พันธุ์ ที่จำแนกด้วยหลายหลักเกณฑ์ แต่สิ่งที่ทุกชนเผ่ามีไม่ต่างกันเลย คือ ปัญหาจากการปกครองของรัฐที่ขัดกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการต่อสู้ที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ตำนานการอุทิศตนของผู้คนเพื่อปกป้องสิทธิที่ทำกินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ “คนชายขอบ” ยาวนานไม่ต่างกับประวัติการสร้างบ้านแปลงเมืองของชาวเราที่เข้าข้างตัวเองว่า ศิวิไลซ์ (Civilized) นับวันขบวนการยืนยันเพื่อทวงความยุติธรรมของฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำยิ่งตอกย้ำความโหดเหี้ยมของ “อำนาจรัฐ” อย่างชัดเจน เป็นที่มาของการรวมตัวคนชนเผ่าทั่วประเทศ และจัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ตรงกับ “วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก” (International Day of the World’s Indigenous People)[1] รวมเผ่าครั้งล่าสุด 6-9 สิงหาคม 2565

สิ่งที่เรียกร้องความสนใจจากคนเมืองกลับไม่ใช่เนื้อหาที่เรียกร้อง แต่คือวิธีคิดเพื่อปรับกระบวนทัศน์ บอกพัฒนาการและยุทธศาสตร์การต่อสู้ “เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้และยอมรับการมีตัวตน สนับสนุนสภาพปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความเคารพส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” คือคำตอบที่ควรค่าต่อการค้นหา

 

 

 

ปีนี้แนวร่วมคนชนเผ่าที่พวกเขาผนึกกำลังกันมาประกอบด้วยชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ และสภาในภาคพื้นที่ ร่วมกับภาคีและเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกับเวทีสาธารณะชนเผ่าพื้นเมืองรักกรุงเทพมหานครฯ ภายใต้ธีมงาน “สานส่งเสริมวิถีชีวิตและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” มีขบวนการที่น่าสนใจในอีกระดับ คือ การนำเอาศิลปะและวัฒนธรรมเข้ามาเป็นประเด็นเด่นในการเชื่อมโยงเพื่อร่วมแก้ปัญหา ทั้งคีตศิลป์ นาฏศิลป์ ศิลปะภาพยนตร์ และศิลปะในการประกอบอาหารผ่านสารคดี “สำรับชาติพันธุ์” โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ภาพความงามตามธรรมชาติของข้าวและพืชอาหารกว่า 120 สายพันธุ์ จากการทำไร่หมุนเวียนเป็นกระบอกเสียงสำคัญยืนยันความมั่นคงทางอาหารที่ถูกเผาผลาญไปพร้อมกับการรุกรานจากภาครัฐ ด้วยนโยบายประกาศเขตพื้นที่อุทยานและมาตรการป้องกันไฟป่า โดยกล่าวหาคนชนเผ่าว่าเป็นผู้เผาทำลายทรัพยากรจากการทำไร่หมุนเวียน เป็นเหตุให้สภาพอากาศเสียและควันพิษคลุมเมือง ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าที่เล่าเหตุผลบนฐานความจริงว่า การเผาป่าในฤดูร้อนตรงกับเดือนเมษาที่ถูกสั่งห้าม คือ ช่วงของการให้ปุ๋ยดินตามธรรมชาติวิถีของเกษตรอินทรีย์ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และอยู่บนแนวทางการป้องกันไฟลุกลามป่าซึ่งตรงข้ามกับที่ถูกกล่าวหาทุกประการ เพราะควันไฟจะลอยขึ้นเบื้องบนไม่ปะปนกับอากาศพิษจากโรงงานขนาดใหญ่ในตัวเมืองแต่อย่างใด

นี่คือปัญหาเก่าที่พวกเขาถูกตีตราว่าเป็นคนผิด ผู้ผลิตอาหารป้อนโลกกลายเป็นจำเลยของสังคมถูกทับถมด้วยปัญหาพื้นที่ทำกิน เมื่อดิ้นรนมาเลี้ยงชีพในเมืองกลับพบปัญหาเรื่องกฎหมายพลเมืองจากรัฐที่ไม่รับรองการมีอยู่ของคนชายขอบ พวกเขาจึงปรับกลยุทธ์การยืนยันตัวตนด้วย Soft Power

สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมส่งเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ยืนยันว่า “สิ่งที่เครือข่ายฯ สภาชนเผ่า ได้วางกรอบยุทธศาสตร์ ในเรื่องของการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการพึ่งพาตนเอง และสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม อย่างมีความสุขและยั่งยืนภายใต้สังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ล้วนเป็นประเด็นเรื่องของความมั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่แค่กินอิ่มนอนอุ่นเท่านั้น แต่มันบอกถึงความเกื้อกูล การแบ่งปัน สายสัมพันธ์ที่เราถูกจารึกว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ก็เพราะอาหาร ขอบคุณไทยพีบีเอสที่ทำให้ผมได้ใช้มิติทางอาหาร และวิถีชีวิตที่ประณีตทั้งภาษา พิธีกรรม และการดำรงอยู่เป็น Soft Power เพื่อสื่อสารกับสังคมเมืองและสังคมโลก”[2]

 

 

 

7 สิงหาคม 2565 อีกวันของการสร้างสรรค์กิจกรรมที่สวนลุมพินี มี “ดนตรีในสวน” สนับสนุนโดย กทม. ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์” งานถูกออกแบบให้เป็นปาร์ตี้รวมเผ่าเคล้าดนตรี มีเวทีกลางสวนชวนชมการแสดงของชนเผ่าชาติพันธุ์จากทุกภาคของประเทศ และการออกร้านชวนชิมอาหารชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเรื่องเอมโอฐของชาวเรายิ่งนัก ได้ลองลิ้มหลากหลายเมนูสุขภาพตามวิถีออร์แกนิกแท้ ชวนนั่งแช่ชื่นชมการแสดงและฟังเพลงจากดนตรีผสานเสียงร้องที่เราไม่เข้าใจและได้ตระหนักว่าการร้อง เล่น เต้นรำ ที่ดูสนุกในท่าเรียบง่าย แท้จริงมีลวดลายที่เป็น “ท่าแม่แบบ” แนบไว้ได้น่าสนใจมาก

การบรรเลงดนตรีผสมผสานออร์เคสตรากับ 4 วงชาติพันธุ์ มีนักดนตรีชาติพันธุ์จาก ลีซู ดาราอาง ชาวเล และ ปกาเกอะญอ อีกทั้งการแสดงดนตรีร่วมสมัยจากวงคลีโพ เสียงสาละวิน Backup โดย นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา (Nimman Street Orchestra เป็นวงขวัญใจคนเชียงใหม่ ที่มีทั้งเครื่องดนตรีล้านนาและสากล) มาร่วมเพิ่มสุนทรียรสให้ชาวเราอีกแรงด้วย ช่วยให้เกิดกระแสของความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก

ช่วงท้ายก่อนปิดงานมีประเพณี “ข้าวแลกปลา” ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ สนุกสนานเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน สังสรรค์-เสพศิลป์-กินอร่อย เราชื่นมื่นกลืนเป็นมนุษย์พันธุ์เดียวกัน ก่อนลาได้รับเมนูหรูอร่อยห้อยติดมือถือกลับบ้าน ทั้งน้ำปลา อาหาร ทานอิ่มท้อง อิ่มใจในมิตรภาพคนชนเผ่า เฝ้ารอปีต่อไป

 

 

 

9 สิงหาคม 2565 สภาชนเผ่าแห่งประเทศไทยและภาคีองค์กรเครือข่าย ร่วมจัดงานประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันด้วยแถลงการณ์ ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภาใหม่ มีใจความสำคัญดังนี้

 

พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพ มีความรู้ในการจัดการ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีการพัฒนาและสืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น พวกเรายอมรับว่าสตรีและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนของเรา ทั้งการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร การอนุรักษ์ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

พวกเรายังมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และการใช้ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงพวกเราสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นสิทธิตามจารีตประเพณี และสิทธินี้ไม่เคยได้รับการยอมรับ นโยบายรัฐและกฎหมายการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ต่อมามุ่งจะกำจัดสิทธิและไล่เราออกจากที่ทำกิน ผู้นำออกมาต่อสู้ถูกดำเนินคดีและรวมไปถึงถูกบังคับให้สูญหายไป

นอกจากนี้พวกเรายังต้องผจญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งการทำเหมืองแร่ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ของเรา เช่น โครงการผันน้ำยวม, การทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ที่บ้านห้วยมะกอ จ.แม่ฮ่องสอน, การทำเหมืองแร่ถ่านหิน อ.กะเบอะดิน จ.เชียงใหม่ และการเตรียมประกาศเขตพื้นที่มรดกโลกทางทะเล

โครงการเหล่านี้นอกจากจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของพวกเรา ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งทำให้พวกเราและชุมชนของเราประสบปัญหาหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า ฯลฯ ทำให้พวกเราต้องประสบปัญหาความยากลำบากในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ทั้งด้านแหล่งอาหารและด้านสุขภาพ หากว่าสภาพการณ์เหล่านี้ยังดำรงอยู่ต่อไป ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศไทยเหมือนเดิม พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองขอประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่า เราจะสืบสานปณิธานและสืบทอดวิถีชีวิต บนฐานขององค์ความรู้ภูมิปัญญาของเรา และขอเรียกร้องให้รัฐบาล คือ[3]

  1. ยุติโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของพวกเรา
  2. แก้นโยบายและกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเรา เช่น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
  3. ให้รัฐบาลสนับสนุนและออกกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตของพวกเรา โดยเฉพาะรับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย รวมทั้งร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอีก 4 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับของรัฐบาลที่อำนวยการโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้เข้าสู่ที่ประชุมสภาบรรจุอยู่ในระเบียบวาระที่ 5 แต่เรื่องค้างการพิจารณา คณะรัฐมนตรีต้องรับพิจารณาเพื่อเข้าสู่วาระภายในเดือนนี้ (สิงหาคม 2565) เพื่อเป็นการเร่งรัดให้เกิดการพิจารณาออกไป เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้พวกเรามีตัวตนและสามารถจัดการตนเองได้ มีชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดี มีศักดิ์ศรี และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างเป็นสุข

 

 

 

นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารักษาการณ์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2562 มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ จำนวน 16 ฉบับ ซึ่ง 1 ใน 16 ฉบับนั้น คือ “กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”[4]

การให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังได้ถูกกำหนดไว้เป็นนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาล จนถึงปี 2565 ปัจจุบัน 12 นโยบายหลักเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ชนเผ่าชาติพันธุ์ทั่วประเทศไม่ได้รับการคุ้มครอง แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทุกด้าน เช่น แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตประชาชน คือ ลดข้อจำกัดด้านอาชีพ, ปรับปรุงระบบที่ทำกินเกษตรกร, ลดอุปสรรคประมง พาณิชย์ชายฝั่งพื้นบ้าน, จัดพื้นที่การเกษตรตาม Agri-Map เป็นต้น ไปจนถึงข้อ 12 คือ การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ [5]

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ภาคีองค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันยื่นเสนอ พ.ร.บ. 5 ฉบับ เพื่อการพิจารณาเร่งด่วนภายในเดือนสิงหาคม 2565 ประกอบด้วย

  1. ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดย สภาชนเผ่าพื้นเมือง
  2. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย พรรคก้าวไกล
  3. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลาย เสนอโดย สภาผู้แทนราษฎร
  4. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  5. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า เสนอโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) และเครือข่ายชาติพันธุ์ [6]

ขบวนการเด่นที่เน้นให้ชัดขึ้น คือ ศักยภาพของสตรีและเยาวชน ผ่านกิจกรรมทางสังคมที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครทั้งชาวเมืองที่เข้าร่วมวิจัยในโครงการต่างๆ สตรีและเยาวชนชาติพันธุ์ที่ผ่านการศึกษา อบรม ได้เผยแพร่ผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจในพื้นที่ วิถีชีวิต และประสบการณ์จากหลายภูมิภาคของคนชนเผ่า บอกเล่าผ่านนิทรรศการในรูปแบบของงาน เช่น หัตถศิลป์ ภาพถ่าย, การฉายภาพยนตร์สารคดี เวทีเสวนาและอาหาร ฯลฯ ล้วนเพื่อร่วมยืนยันอัตลักษณ์ และศักยภาพของคนชนเผ่าผ่านงานศิลป์ ทุกชิ้นล้วนสื่อความหมายได้ทั้งเชิงลึกและกว้างตามแนวทางของคนรุ่นใหม่ มีนัยของสารเพื่อสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เราได้ตระหนักชัดว่า พวกเขาคือทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า สมควรได้รับการส่งเสริมเพิ่มทักษะให้เป็นบุคลากร พัฒนากรที่มีคุณภาพของบ้านเมืองในสาขาอาชีพที่ถนัด เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและประเทศชาติต่อไป

 

 

 

พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ส่งเสียงแทนพี่น้องชาติพันธุ์ว่า “การมีกฎหมายส่งเสริมสิทธิและศักยภาพของชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นฐานทางนโยบายขั้นแรก ที่จะทำให้ชุมชนของพวกเรามีเครื่องมือในการจัดการพื้นที่ รวมกลุ่มพัฒนาวิถีวัฒนธรรม สร้างความร่วมมือกับภาคีทางสังคม หน่วยงานรัฐ พี่น้องคนเมือง กฎหมายไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น เพราะว่าภายในรัฐและชาติรวมศูนย์มันยากเหลือเกินท่ามกลางสิ่งที่เราสะท้อนกันออกมา

ฉะนั้น ขบวนการในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้ตื่นตัว กลับมานึกถึงทบทวนสิทธิ์ของ ตัวเอง แล้วกล้าที่จะแสดงความเป็นชาติพันธุ์ ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง รวมทั้งเราจะได้ใช้โอกาสนี้สื่อสารกับคนในสังคมเพื่อทลายมายาคติต่างๆ ไม่มีกฎหมายไหนที่จะได้มาโดยที่พวกเราไม่เคลื่อนไหวอีกแล้ว”

และพูดในฐานะตัวแทนของคนเมืองว่า “ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ความไม่มั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามสิ่งนี้สะท้อนชัดว่า สังคมและประเทศจะมีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันที่ดี จะไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมเท่านั้นที่จะพาพวกเรา พาสังคม พาคนทั้งประเทศรอดพ้นจากวิกฤตสามอย่างนี้ได้ ซึ่งการมีพี่น้องชาติพันธุ์ตอบโจทย์ทุกอย่าง ภายใต้แรงเสียดทานทั้งหมดที่ได้รับโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยซ้ำไป เราออกมายืนยันความคิดกันได้หรือยัง การแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรอย่างเป็นระบบ ทำให้พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่โศกนาฏกรรม การตีตรากล่าวหาว่าพวกเขาเป็นคนอื่น การกลืนกินทางวัฒนธรรม การทำให้พวกเขาต้องเป็นแบบพวกเรา ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กฎหมายทุกฉบับจะได้รับเสียงตอบรับ พี่น้องชาติพันธุ์จะได้มีศักดิ์ศรีอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้อย่างเต็มภาคภูมิเทียบเท่าพวกเราทุกคน”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 มีรายงานข่าวจากรัฐสภาว่า ได้มีการผ่านกฎหมายต่อต้านการอุ้มหายซึ่งเป็นกฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชน อันจะนำไปสู่การกำจัดอำนาจของทหารตำรวจที่จะคุกคามประชาชนซึ่งถือว่าเป็นวาระสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ความสำเร็จจึงไม่ใช่เพียงผลงานการผลักดันของ ส.ส. ฝ่ายค้าน พรรคประชาชาติ (ส่วนมากมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพทหารตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ มีคดีอุ้มหายทำร้ายประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตลอด) ที่ช่วยกันปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงเป็นผลจากการเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องมากว่า 60 ปี ของภาคีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศไทยด้วยเป็นสำคัญ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข [7]

 

 


[1] สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่างโครงการจัดงาน 2564  สืนค้น 5 ส.ค. 2565 https://drive.google.com/file/d/1qDmV2Pl56EIKZC7UrWe9GmMi8WoGf9bX/view.

[2] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, "จากสำรับชาติพันธุ์ สู่ความมั่งคงอาหารคนเมือง", (วิดีโอ, 6 สิงหาคม 2565), สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565, https://www.facebook.com/imnvoices/videos/1032808470753995

[3] เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, “การผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิต และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง", (วิดีโอ, 9 สิงหาคม 2565), สืบค้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565, https://www.facebook.com/nipt.secretariat/videos/1516179588837607.

[4] สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), “กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: งานวิจัยและความท้าทาย” (กรุงเทพฯ: สกสว., 2564), 8.

[5] กองบรรณาธิการวารสารไทยคู่ฟ้า, "12 นโยบายเร่งด่วน มุ่งบรรเทาปัญหาให้ประชาชน", 12 นโยบายเร่งด่วน, ฉ. กรกฎาคม - กันยายน (2562): 21-31.

[6] IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, “จากสำรับชาติพันธุ์ สู่ความมั่งคงอาหารคนเมือง”, (วิดีโอ, 6 สิงหาคม 2565), สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565, https://www.facebook.com/imnvoices/videos/1032808470753995.

[7] Voice TV Overview, “คนไทยเซ็งตู่ไปได้ป้อมสุดซวย นายกป้อมยึดทำเนียบพร้อมขีดสุด”, (วิดีโอ, 24 สิงหาคม 2565), สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565, https://www.facebook.com/VoiceTVOverview/videos/371888224978588.