ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

แซนซิบาร์ อับดุลราซัค กูร์นาห์ และ ปรีดี พนมยงค์

24
ตุลาคม
2565

ต้นเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีการประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม อย่างของปี ค.ศ. 2022 ก็เพิ่งประกาศไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม ซึ่งผู้ได้รับรางวัลเป็นนักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสนาม อานนี แอร์โนซ์ (Annie Ernaux)

ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว ผมพลันหวนนึกถึงนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมของปีก่อน (ค.ศ. 2021) คือ อับดุลราซัค กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) นักเขียนผู้ถือกำเนิดบนเกาะแซนซิบาร์ (Zanzibar) กลางมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา

 

อับดุลราซัค กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) ที่มา : British Council Literature
อับดุลราซัค กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah)
ที่มา : British Council Literature

 

แทนซาเนียประกอบด้วยสองอาณาเขต ได้แก่ สาธารณรัฐแทนกานยิกา (Tanganyika) อยู่บนภาคพื้นดิน และ สาธารณรัฐแซนซิบาร์ ซึ่งมีเกาะอันกูจา (Unguja) และเกาะเพมบา (Pemba) แต่ตอนที่ กูร์นาห์ ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อปี ค.ศ. 1948 (ตรงกับ พ.ศ. 2491) แซนซิบาร์ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ครั้นได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1963 (ตรงกับ พ.ศ. 2506)

พอขึ้นปีใหม่ล่วงเข้าเดือนมกราคม ค.ศ. 1964 (ตรงกับ พ.ศ. 2507) เพียงสิบกว่าวัน การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจรัฐบาลสุลต่านโดยชาวพื้นเมืองแอฟริกันก็อุบัติขึ้นบนเกาะ กลายเป็นเหตุจลาจลนองเลือด มีการขับไล่นักการทูตและนักหนังสือพิมพ์ชาวตะวันตกออกไป ยึดฟาร์มต่างๆ มาเป็นของรัฐ และมีการสังหารหมู่ชาวอาหรับหลายพันคนในช่วงเวลาไม่กี่วัน 

สภาปฏิวัติของแซนซิบาร์ภายใต้การนำของ อาเบด การูเม (Abeid Karume) แห่งพรรคอาโฟรซีราซี (Afro Shirazi) ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และร้องขอให้ทางแทนกานยิกาเข้ามาช่วยรักษาความสงบ ครอบครัวของ กูร์นาห์ ที่เป็นมุสลิมต้องลี้ภัยไปพำนักอยู่ในอังกฤษยาวนานกว่า 20 ปี จึงสบโอกาสหวนคืนบ้านเกิดเมืองนอน ถึงแม้หลายเดือนถัดมาจะมีการรวมแทนกานยิกาและแซนซิบาร์ขึ้นเป็นเป็นสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย 

งานเขียนหลายชิ้นของ อับดุลราซัค กูร์นาห์ มักสะท้อนอารมณ์ถวิลหาแซนซิบาร์ ไม่เพียงถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเมืองที่เขาเคยเผชิญเท่านั้น หากยังสืบสาวไปอธิบายประวัติศาสตร์อันโลดแล่นบนเกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ ซึ่งดั้งเดิมเป็นดินแดนของชาวแอฟริกันพื้นเมือง ก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของหลากหลายเชื้อชาติทั้งพวกฝรั่งและพวกอาหรับ เฉกเช่นนวนิยาย By the Sea ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2001 กูร์นาห์ ได้บรรยายฉายชัดภาพประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านเสียงเล่าของผู้ลี้ภัยจากแซนซิบาร์ที่เดินทางไปยังอังกฤษ แต่กลับถูกจับเข้าศูนย์กักกัน เป็นต้น

 

เกาะแซนซิบาร์
เกาะแซนซิบาร์

 

พอว่ากันเรื่องเกาะที่เป็นถิ่นกำเนิดของ กูร์นาห์ จู่ๆ ผมก็ระลึกถึง นายปรีดี พนมยงค์

คุณผู้อ่านคงขมวดคิ้วสงสัย เอ๊ะ! นายปรีดี ไปเกี่ยวข้องอะไรกับแซนซิบาร์?

ย้อนกาลเวลาไปช่วงปี ค.ศ. 1937 สิบเอ็ดปีก่อนหน้า อับดุลราซัค กูร์นาห์ ถือกำเนิด ขณะ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลสหราชอาณาจักรอันมี สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) ทรงเป็นพระประมุข ได้มีคำสั่งมายังอัครราชทูตอังกฤษประจำสยาม คือ เซอร์ โจซาย ครอสบี (Sir Josiah Crosby) ให้เจรจากับรัฐบาลคณะราษฎรเรื่องหนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ ซึ่งเคยทำกันมาแล้วในยุครัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปี ค.ศ. 1911 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือในชื่อ “สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ. 129” โดยทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะขอขยายเนื้อความในหนังสือสัญญาฉบับข้างต้นให้บังคับใช้ตลอดถึงอาณาเขตแซนซีบาร์ในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands) ในมหาสมุทรแปซิฟิก (อยู่ในหมู่เกาะเมลานีเซีย ใกล้ๆ กับปาปัวนิวกินี อังกฤษเข้ามาคุ้มกันช่วงทศวรรษ 1880 และได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1978) เพราะเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ ครอสบี จึงส่งหนังสือจากสถานทูตมาติดต่อกับ นายปรีดี

ควรแจกแจงให้ทราบว่า ก่อนที่แซนซิบาร์จะตกอยู่ในอารักขาของอังกฤษ เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทาสแห่งโลกอาหรับมายาวนาน แล้วโปรตุเกสเขามายึดครองเป็นอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อมา โอมานเข้ามายึดครองและขับไล่พวกโปรตุเกส เกาะแห่งนี้จึงกลายเป็นรัฐปกครองโดยสุลต่าน ถือเป็นเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งของสุลต่านโอมาน ตอนหลังประกาศแยกตัวออกจากโอมาน สถาปนารัฐสุลต่านแซนซิบาร์ขึ้นมาเอง รุ่งเรืองจนกลายเป็นแหล่งค้าทาสและงาช้าง สร้างความมั่งคั่งให้กับพ่อค้าชาวอาหรับ 

กระทั่งศตวรรษที่ 19 พวกเยอรมันได้เริ่มเข้ามาสำรวจทวีปแอฟริกาและยึดครองเป็นอาณานิคม โดยจัดตั้งแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1885 ส่วนใหญ่คือดินแดนแทนกานยิกา แต่แซนซิบาร์ก็ถูกควบคุมด้วย พวกเยอรมันมีเป้าหมายจะเร่งรีบขยายอาณานิคมในแอฟริกาแข่งกับมหาอำนาจชาติอื่นๆ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส 

ปี ค.ศ. 1886 แซนซิบาร์กลายรัฐที่มีการบังคับใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ครั้นปี ค.ศ. 1890 เยอรมนีทำข้อตกลงกับอังกฤษเกี่ยวกับอาณาเขตผลประโยชน์ในทวีปแอฟริกา โดยฝ่ายเยอรมันยอมสละสิทธิ์ในอาณานิคมแซนซิบาร์แล้วยกให้อังกฤษ เพื่อแลกกับเกาะเฮลโกลันด์ (Heligoland) ในทะเลเหนือใกล้กับเยอรมันมากกว่า ทั้งสองทำสนธิสัญญาชื่อ “เฮลโกลันด์-แซนซิบาร์” (Heligoland–Zanzibar Treaty) เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ต้องสูญเสียดินแดนอาณานิคมในทวีปแอฟริกาไปหมดสิ้น

การตกเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษแทนอาณานิคมของเยอรมนี ทำให้แซนซิบาร์สามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ แต่รัฐบาลสุลต่านแซนซิบาร์มิวายส่งสัญญาณกระด้างกระเดื่อง จนก่อให้เกิดสงครามอังกฤษ-แซนซิบาร์ (Anglo-Zanzibar War) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1896 หากสู้รบกันเพียง 38 นาทีก็ยุติลงโดยเจรจาทางการทูต นับเป็นสงครามที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

5 มีนาคม ค.ศ. 1937 ซึ่งในเมืองไทยยุคนั้นยังถือเป็นวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2480) เซอร์ โจซาย ครอสบี อัครราชทูตทำตามบัญชาของรัฐบาลอังกฤษ จึงส่งหนังสือไปยัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มีเนื้อความตามที่แปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ใน ราชกิจจานุเบกษา ว่า

 

ท่านรัฐมนตรี

ตามคำสั่งซึ่งข้าพเจ้าได้รับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสมเด็จพระราชาธิบดี ข้าพเจ้าขอเรียนว่า รัฐบาลราชอาณาจักรรวมของสมเด็จพระราชาธิบดี เห็นเป็นการสมควรที่จะให้บทบัญญัติในบรรดาหนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทำไว้นั้น เป็นอันใช้แก่แซนซีบาร์ และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ 

๒. ข้าพเจ้าจึ่งขอทราบว่ารัฐบาลสยามจะตกลงยอมให้ถือว่า บทบัญญัติในหนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ได้ลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ นั้น เป็นอันใช้แก่ประเทศในอารักขาที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ ถ้าตกลงยอมเช่นนั้นแล้ว ก็จะได้ถือว่าหนังสือฉบับนี้ และคำตอบตกลงของท่านเป็นหลักฐานทางราชการแสดงความเข้าใจ ซึ่งได้ตกลงกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองว่า บทบัญญัติแห่งหนังสือสัญญานั้น เป็นอันใช้แก่ประเทศในอารักขาที่กล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ลงในหนังสือของท่านเป็นต้นไป 

การขอให้ส่งผู้รับคะแนนจากและไปยังประเทศในอารักขาที่ว่านั้น ย่อมเป็นไปตามหนังสือสัญญานั้น เสมือนหนึ่งว่าประเทศในอารักขาที่กล่าวแล้ว เป็นอาณาเขตต์ของสมเด็จพระราชาธิบดี และเสมือนหนึ่งว่าคนชาติหรือคนพื้นเมืองของประเทศในอารักขาที่กล่าวนั้น เป็นคนในบังคับอังกฤษ

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านรัฐมนตรี

(ลงนาม) จ.ครอสบี
อัครราชทูตของสมเด็จพระราชาธิบดี

 

ที่นายครอสบี อ้างถึง “หนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ได้ลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑” ก็คือสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ. 129 ซึ่งได้กำหนดหลักการว่า เป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดก่อนเหตุขึ้นในดินแดนของรัฐหนึ่ง แต่อาจหลบหนีออกจากดินแดนของรัฐนั้นเข้าไปอาศัยหรือหลบในดินแดนของอีกรัฐหนึ่ง โดยระบุองค์ประกอบ เงื่อนไข และข้อหาของความผิดไว้ตามหนังสือสัญญา

ช่วงทศวรรษ 2470 บุคคลหนึ่งที่สันทัดเนื้อหากฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเห็นจะมิพ้น ขุนวรกิจโกศล หรือ ร.ท.ถวิล ระวังภัย เพราะได้เรียบเรียงหนังสือออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2477 โดยเฉพาะฉบับพิมพ์ครั้งหลังได้รับคำชื่นชมจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังมีหนังสือเขียนด้วยลายมือมาถึงท่านขุนลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ. 2478) ว่า

 

หนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

“แจ้งความมายัง ขุนวรกิจโกศล

ด้วยตามที่ท่านได้รวบรวมหลักกฎหมายและวิธีปฏิบัติในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้นพิมพ์ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอชมเชยในความอุตสาหะของท่าน และหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะเปนประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาชญา” 

 

อีกทั้งขณะ ขุนวรกิจโกศล เป็นหัวหน้าแผนกในกองการต่างประเทศ กรมมหาดไทย เมื่อมีการจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกสุดของไทยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 จนสิ้นสุดลงวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480) ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านขุนก็เป็นผู้บรรยายเรื่อง “สัญชาติและเชื้อชาติ”

ภายหลังจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือจากอัครราชทูตอังกฤษ ก็รายงานไปยังรัฐบาลคณะราษฎรและนำเสนอเป็นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในการประชุมสภาครั้งที่ 5 สมัยวิสามัญ สมัยที่ 2 เมื่อวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 

เริ่มที่ หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวขอความเห็นชอบของสภา จากนั้น หลวงนรินทร์ประสาทเวช (เจน สุนทโรทัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี แสดงความเห็นว่าสภาควรรับหลักการ เพราะเราเคยทำสัญญากับอังกฤษระหว่างอินเดียและพม่า ซึ่งมีพลเมืองอยู่ในสยามจำนวนมาก ส่วนแซนซิบาร์และหมู่เกาะโซโลมอนถึงจะมีพลเมืองเข้ามาอยู่น้อยก็ควรทำไปด้วย แต่ก่อนจะตกลงกันขอทราบว่าเรามีทางได้ทางเสียหรือไม่

 

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบ 

 

“ไม่มีทั้งทางได้แลทางเสียที่จะเห็นเป็นตัวเลขแน่นอน แต่ว่าความเกี่ยวพันระหว่างสยามกับอาณาจักรอังกฤษนั้นได้มีอยู่มาก และการค้าขายหรือการติดต่ออาจจะมีเพิ่มขึ้นก็ได้ ด้วยเหตุฉะนี้รัฐบาลอังกฤษ และด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลสยาม จึงเห็นว่าสมควรแล้วที่เราจะขยายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอาณาเขตทั้งสองนั้นด้วย แต่ตัวเลขนั้น เราไม่สามารถจะชี้แจงให้ทราบได้ว่าเท่าไร ของเขาได้มาอยู่เท่าไร แต่ว่าการผ่านไปมานั้นได้มีอยู่”

 

ร.ต.สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท ลุกขึ้นกล่าวว่า เห็นชอบด้วย ควรรับหลักการ

นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ แสดงความเห็น 

 

“...ข้าพเจ้ายังมีความข้องใจอยู่ว่าเวลานี้ได้ปรากฏว่ารัฐบาลสยามได้พยายามที่จะเลิกสัญญาเก่าแก่ทั้งมวลที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้ปฏิบัติคือทำสัญญากันใหม่ๆ ต่อนานาประเทศทั่วทั้งโลก เพราะฉะนั้น สัญญาเล็กๆ น้อยๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบข้อความละเอียดลออว่าได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร อยากจะขอเอาไว้รวมกันเสียทีเดียวในครั้งหลังจะดีกว่าเอามาพิจารณากัน”

 

หลวงประดิษฐ์ฯ ชี้แจงต่อ 

 

“สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนคนละเรื่องกับสัญญาราชไมตรี สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นสัญญาเสมอภาคทุกประการ เป็นปัญหาปฏิบัติในเรื่องที่ว่าคนไทยนี้ไปอยู่แซนซิบาร์ เราจะเรียกตัวไปชำระของเราหรือว่าของเขามาทำผิดเขาจะเรียกตัวไปชำระที่โน่น เป็นสัญญาที่มีความยุติธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีการเสียเปรียบกัน”

 

หลวงนรินทร์ประสาทเวช ขอให้สภาลงมติ มีสมาชิกยกมือรับรอง

พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงขอให้สมาชิกผู้เห็นควรและไม่เห็นควรจะให้สภาลงมติให้ความเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอ ขอได้โปรดยกมือ เป็นอันว่า สมาชิกยกมือพร้อมเพรียงกันว่าเห็นควร วาระต่อไปประธานสภาจึงขอให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับแซนซิบาร์และหมู่เกาะโซโลมอนตามที่ หลวงประดิษฐ์ฯ ในฐานะรัฐบาลเสนอให้สภาลงมติรับหลักการ

หลวงนรินทร์ประสาทเวช ขอเสนอให้ลงมติรับ นายดาบยูเกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี และ นายมิ่ง เลาห์เรณู ผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับรอง

ประธานสภาขอให้สมาชิกโปรดยกมือ ถ้าเห็นควรว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งสมาชิกยกมือพร้อมเพรียงกัน เมื่อเห็นว่าที่ประชุมรับหลักการ ก็ถามว่าจะแปรญัตติภายในกี่วัน

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบว่า 3 วัน

ท้ายที่สุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นควรให้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับแซนซีบาร์และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ พุทธศักราช 2480” ขึ้น โดยตราไว้ ณ วันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกัน กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับแซนซีบาร์ และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับแซนซีบาร์ และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ

 

ถัดมาวันที่ 6 กันยายน นายปรีดี จึงได้มีหนังสือตอบกลับไปยังอุปทูตอังกฤษ ซึ่งแปลถอดความเป็นภาษาไทยเผยแพร่ใน ราชกิจจานุเบกษา ว่า

 

ท่านอุปทูต

ข้าพเจ้าขอตอบรับหนังสือสถานทูตของท่านที่ ๑๒๙/๒/๓๗ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ซึ่งแจ้งมายังข้าพเจ้าตามคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสมเด็จพระราชาธิบดีอังกฤษว่า รัฐบาลราชอาณาจักรรวมของสมเด็จพระราชาธิบดีอังกฤษ เห็นเป็นการสมควรให้บทบัญญัติในบรรดาหนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สมเด็จพระราชาธิบดีอังกฤษได้ทำไว้นั้นเป็นอันใช้แก่แซนซีบาร์และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ และขอทราบว่ารัฐบาลสยามจะตกลงยอมให้ถือว่าบทบัญญัติในหนังสือสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ได้ลงนามกันที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ นั้น เป็นอันใช้แก่ประเทศในอารักขาที่กล่าวข้างต้น หรือไม่

ข้าพเจ้าขอตอบว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมตกลงตามนั้น และให้ถือว่าหนังสือสถานทูตของท่านที่กล่าวมาข้างต้น กับคำตอบของข้าพเจ้าฉบับนี้ เป็นหลักฐานทางราชการแสดงความเข้าใจซึ่งได้ตกลงกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองว่า บทบัญญัติแห่งหนังสือสัญญานั้น เป็นอันใช้แก่ประเทศในอารักขาที่กล่าวแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากและไปยังประเทศในอารักขาที่ว่านั้น ย่อมเป็นไปตามหนังสือสัญญานั้น เสมือนหนึ่งว่าประเทศในอารักขาที่กล่าวแล้วเป็นอาณาเขตต์ของสมเด็จพระราชาธิบดีอังกฤษ และเสมือนหนึ่งว่า คนชาติ หรือคนพื้นเมืองของประเทศในอารักขาดังกล่าวนั้น เป็นคนในบังคับอังกฤษ

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านอุปทูต

(ลงนาม) หลวงประดิษฐมนูธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

 

หมายความว่า ถ้ามีผู้ร้ายหรือผู้กระทำผิดจากแซนซิบาร์หรือหมู่เกาะโซโลมอนหลบหนีเข้ามาในประเทศสยาม ทางการก็จะต้องจับกุมควบคุมตัวแล้วส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้รัฐบาลอังกฤษ

น่าเสียดายเหลือเกิน จนเดี๋ยวนี้ ผมยังค้นหลักฐานไม่พบกรณีที่ผู้ร้ายชาวแซนซิบาร์ลอบเข้ามาในเมืองไทย แต่จะยังคอยสืบเสาะไม่ลดละ เผื่อทีอาจจะบังเอิญเจอเรื่องอะไรๆ ชวนสนุกตื่นเต้น

แทบไม่น่าเชื่อเลย จะมีเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไปเกี่ยวข้องกับแซนซีบาร์ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง นั่นจึงเป็นเหตุให้พอผมนึกถึงนักเขียนรางวัลโนเบลนาม อับดุลราซัค กูร์นาห์ ภาพ นายปรีดี ก็จะแจ่มจรัสเคียงคู่ขึ้นมาเช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง

  • กฎหมายระวางประเทศแผนกคดีบุคคล, แผนกคดีอาญา, พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, ปาฐกถาระเบียบราชการบริหาร, และ หลักกฎหมายประทุษฐร้ายส่วนแพ่ง. หลวงวิเทตยนตรกิจ (รวบรวม). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2474.
  • ธนู แก้วโอภาส. ประวัติศาสตร์โอเชียเนีย. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2550.
  • ไนยเรเร, จูเลียต เค. สังคมนิยมแบบพึ่งตัวเองของแทนซาเนีย. เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ (แปล). กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2522.
  • “ประกาศสัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 28 (13 สิงหาคม 130). หน้า 157-171. 
  • “พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับแซนซีบาร์และเกาะซอลอมอนในอารักขาของอังกฤษ พุทธศักราช ๒๔๘๐.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 (6 กันยายน 2480). หน้า 1014-1020. 
  • รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภา, 2480.
  • วรกิจโกศล, ขุน. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาชญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน. พระนคร: โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2477.
  • Gurnah, Abdulrazak. By the Sea. London: Bloomsbury, 2002.
  • Sheriff, Abdul. Zanzibar Under Colonial Rule. London: James Currey, 1991.