ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จิตวิญญาณของระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรีโดยอาศัยกลไกตลาด” ที่หายไปในรัฐธรรมนูญไทย

25
ตุลาคม
2565

“รัฐธรรมนูญ” มีความสำคัญในทางการเมือง ในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และรัฐธรรมนูญยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอุดมคติที่ต้องการให้เกิดขึ้นภายในประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เคยรับรองไว้ก็คือ การต้องรับรองระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ทว่า

 

รัฐธรรมนูญในฐานะตราสารทางเศรษฐกิจ

บทบาทของรัฐธรรมนูญนั้น นอกเหนือจากจะมีความสำคัญในทางการเมือง ในฐานะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศไทย โดยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการใช้อำนาจระหว่างองค์กรของรัฐ และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิและเสรีภาพกับประชาชน[1] แต่ในทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญได้กำหนดกฎกติกาทางเศรษฐกิจระหว่างนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และราษฎรทั้งที่มีและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง[2] ซึ่งรวมถึงการกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นภายในรัฐนั้นๆ

บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติ 2 ส่วน ได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิในการจัดการทรัพยากรต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจะปรากฏอยู่ในบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญของรัฐธรรมนูญก็คือ การกำหนดระบบเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยนั้นรับรองระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยกลไกตลาด

 

เศรษฐกิจแบบเสรีโดยกลไกตลาด

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยกลไกตลาด หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)[3] เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของเอกชนในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ โดยรัฐจะทำหน้าที่สำคัญ 5 ประการ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถดำเนินไปได้ ได้แก่[4]

  1. การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล
  2. การประกันสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพของประชาชน และการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม
  3. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐกําหนดให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยอาศัยกลไกตลาด
  4. การห้ามเกณฑ์แรงงาน
  5. การห้ามเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

การรับรองระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยกลไกตลาดของประเทศไทยไว้ในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างภายใต้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 โดยในเวลานั้นใช้วิธีการอธิบายเรียกว่า “รัฐพึงสนับสนุนให้เอกชนได้มีการริเริ่มในทางเศรษฐกิจ”[5] ซึ่งเป็นคำที่ใช้รัฐธรรมนูญโดยสื่อถึงระบบเศรษฐกิจที่รัฐปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิดำเนินการทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง โดยรัฐวางตัวเป็นผู้คุมกฎและคอยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยการไม่แทรกแซงทางเศรษฐกิจใดๆ เว้นแต่การกระทำของเอกชนรายใดจะทำลายการแข่งขันแล้วรัฐจึงจะเข้ามาแทรกแซง

ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญจึงเปลี่ยนถ้อยคำที่ใช้จากเดิมจากที่ใช้คำว่า “รัฐพึงสนับสนุนให้เอกชนได้มีการริเริ่มในทางเศรษฐกิจ” มาเป็น “รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด” โดยเริ่มต้นปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[6] และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[7]

 

การหายไปของเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด

ระบบเศรษฐกิจในอุดมคติที่ถูกกำหนดไว้รัฐธรรมนูญหายไปเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร และประกาศสิ้นสุดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2550 ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์[8]

ภายใต้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ คุณค่าของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด การขาดหายไปของอุดมการณ์ดังกล่าวทำให้ความพยายามที่ต้องการจะให้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยอาศัยกลไกตลาดที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจในอุดมคติเปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือหน้าที่ของรัฐในทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ไว้ ก็กลายว่าเป็นหลักการที่ขาดอุดมการณ์เบื้องหลัง

ในท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไร้จุดหมายและท่าทีของรัฐต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจทั้งหลายจึงขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเราเริ่มจะเห็นทิศทางของรัฐในลักษณะดังกล่าว ผ่านการตัดสินใจทางกฎหมายขององคาพยพของรัฐทั้งหลายไปในทิศทางที่จะทำลายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องการอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดการผูกขาด

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ในระยะเวลาที่ผ่านมายังทำให้เห็นกันอีกว่าความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อปลดล็อคกฎหมายที่สร้างอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชนโดยส่วนใหญ่นั้นทำได้ยากมากขึ้น อาทิ การปลดล็อคกฎหมายเพื่อผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตลดลงจากกฎหมายเดิม หรือ การแก้ไขกฎหมายโรงแรมเพื่อรองรับโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งการปล่อยให้กฎหมายที่ล้าสมัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการของประชาชนนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด

อย่างไรก็ดี ในประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับการจำกัดการแข่งขันโดยเสรีในเวลานี้คงหนีไม่พ้น เรื่องการควบรวมธุรกิจ โดยบทความหน้าจะได้มาเจาะลึกปัญหาการผูกขาดการแข่งขันในประเทศไทยต่อไป

 

[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 9, สำนักพิมพ์วิญญูชน 2539) น. 39.

[2] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ‘เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540’ (รายงานวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2545) น. 4.

[3] เพิ่งอ้าง 125.

[4] เพิ่งอ้าง 125.

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 68.

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 87.

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 84.

[8] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.