ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความสัมพันธ์ของเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง

21
กันยายน
2564

ปฏิสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและการเมือง

‘ลิขิต ธีรเวคิน’ นักวิชาการรัฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทยได้เคยอธิบายว่า การเมืองและเศรษฐกิจมีปฏิสัมพันธ์ไขว้ไปไขว้มา (intertwine) อย่างแยกกันไม่ออก การเมืองอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และกลับกันเศรษฐกิจก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเมืองหรือเศรษฐกิจนั้น โครงสร้างใดจะส่งผลต่ออีกโครงสร้างหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับในยุคสมัยใด ตัวแปรใดเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง[1] ซึ่งในกรณีนี้หากเราลองย้อนเวลากลับไปพิจารณาสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วเราอาจจะเห็นความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างชัดเจนผ่านบทเรียนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ 3 ประเทศ

 

กรณีประเทศอังกฤษ

กรณีของประเทศอังกฤษนั้น เริ่มต้นจากการบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในมหากฎบัตรแมคนาคาตา (Magna Carta) เพื่อจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าจอห์นในการจัดเก็บภาษี บริบทนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้เองทำให้อังกฤษก้าวไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย ผลของการเป็นประเทศประชาธิปไตยนี้เองได้เกิดการประกันสิทธิของประชาชนในทรัพย์สินจากการใช้อำนาจรัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและใช้ทรัพย์สินแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้กับตนเอง เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การเกิดขึ้นของลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

 

กรณีประเทศฝรั่งเศส

กรณีของประเทศฝรั่งเศส การปฏิวัติใหญ่ในปี 1789 (คริสตศักราช) นั้นมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจความเป็นอยู่ในทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างทางสังคมเนื่องมาจากระบอบศักดินาเดิมของฝรั่งเศส สภาพเศรษฐกิจ

 

ในเวลานั้นชาวนาซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ที่ 3 กลายเป็นผู้ต้องรับผิดชอบภาระภาษีทั้งหมดของประเทศ ทั้งๆ ที่ฐานันดรศักดิ์ที่ 3 นั้นยากจนเพราะถูกเอาเปรียบด้วยระบบศักดินาและมีรายได้จำกัดจากการทำการเกษตร แต่ฐานันดรศักดิ์ที่ 2 และที่ 1 กลับไม่ต้องรับภาระภาษีและโดยหลักการแล้วฐานันดรทั้งสองนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมากแท้ๆ

 

เมื่อเกิดภัยพิบัติและความอดอยากเกิดขึ้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความโกรธเกรี้ยวต่อการบริหารงานของรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ในปี 1789 นั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศในที่สุด

 

กรณีประเทศรัสเซีย

ในประเทศรัสเซียนั้นจากการบริหารประเทศของพระเจ้าซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟนั้นมีสภาพที่เศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับชนชั้นสูง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นทาสติดที่ดิน (serf) ตามระบอบการปกครองแบบศักดินาเดิมไม่ได้มีทรัพย์สินเพียงพอในการดำรงชีวิต จึงนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซียโดยพรรคบอลเชวิกโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสในที่สุด

 

เมื่อพิจารณากรณีศึกษาข้างต้นหลายกรณีจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายประการนั้นมีความสัมพันธ์ไขว้ไปไขว้มาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายกรณีนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นไม่เสมอไปที่จะต้องนำไปสู่ระบอบการปกครองประชาธิปไตย บางกรณีนั้นอาจนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการก็ได้เช่นกัน เช่น กรณีของประเทศรัสเซีย ซึ่งเมื่อมีการปฏิวัติและโค่นล้มระบอบการปกครองโดยพระเจ้าซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

ฉะนั้น แม้ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสมอ สิ่งที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มาสนับสนุนทางเลือกของสังคมที่จะกำหนดว่าจะใช้ระบอบการเมืองแบบใดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองในเวลานั้นๆ สนใจ เช่น ในช่วงของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศรัสเซียนั้น ‘วลาดิเมียร์ เลนิน’ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นมีความเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเชื่อมั่นในการจัดการทรัพยากรโดยร่วมกันของประชาคมโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลางของประชาคม

ด้วยเหตุประการนี้เอง ‘วลาดิเมียร์ เลนิน’ จึงเชื่อว่าควรจะปกครองประเทศโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ตัดสินใจหลักในทางการเมืองและเป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมือง เป็นต้น

การใช้ระบอบเผด็จการนำมาสู่ปัญหา เพราะการที่รัฐเข้ามาผูกขาดการดำเนินการทางเศรษฐกิจเองก็ทำให้เกิดการไม่กระจายตัวของรายได้อย่างเพียงพอ และรัฐไม่มีข้อมูลสมบูรณ์พอที่จะดำเนินการทางเศรษฐกิจได้ การเข้าผูกขาดทางเศรษฐกิจของรัฐเองจึงทำให้บ่อยครั้งที่รัฐดำเนินแผนการทางเศรษฐกิจผิดพลาด ลักษณะข้อนี้เองก็เป็นผลที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซียและจีนในเวลาต่อมาที่รัฐเซียต้องทลายม่านเหล็กลงและเริ่มใช้นโยบายใหม่ในยุคของ ‘มิคาอิล กอบอชอฟ’ ซึ่งใช้กลัสนอสต์และเปเรสตรอยก้า หรือประเทศจีนที่เมื่อ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ เข้ามาบริหารประเทศก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมากขึ้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจในบริบทโลก

ในบริบทโลกนั้นความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเหตุได้ชัดจากกรณีศึกษาต่างๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตยโดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นประเทศที่มี GDP เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ของประชาชนในประเทศค่อนข้างสูง[2] เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการหรือระบอบผสมแล้วจะเห็นได้ว่าปัจจัยทางการเมืองอาจมีผลต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2)

 

ภาพที่ 1 แสดงดัชนีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ที่มา:  The 2020 Economist Intelligence Unit Democracy Index map, Improved by Wikipedia.
ที่มา:  The 2020 Economist Intelligence Unit Democracy Index map, Improved by Wikipedia.

 

ภาพที่ 2 แสดง GDP เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita)

ที่มา:  Wikipedia.
ที่มา:  Wikipedia.

 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแต่ GDP แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียแม้จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ประเทศอินเดียก็เป็นประเทศหนึ่งที่ GPD เฉลี่ยต่อหัวต่ำ และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและความยากจนสูง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่เป็นระบอบการปกครองค่อนไปทางเผด็จการแต่มี GDP ต่อหัวสูงกว่า 

นอกจากนี้ ในบางประเทศที่แม้จะปกครองโดยระบอบเผด็จการแต่หากเกิดเหตุการณ์เฉพาะบางอย่างขึ้นมาก็สามารถทำให้รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP เฉลี่ยต่อหัว) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา แม้จะปกครองโดยระบอบเผด็จการ โดยในกลางทศวรรษ 1990 (นับตามแบบคริสตศักราช) จนถึงปี 2010 (2553) นั้นมีรายได้ต่อหัวมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการค้นพบแหล่งแร่มีค่าที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีมากขึ้น[3]

หรือในบริบทของประเทศจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจเศรษฐกิจของประเทศจีนมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ส่วนหนึ่งประเทศจีนก็มีบริบทเฉพาะของตัวเองทั้งในแง่ของการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่และเป็นฐานการบริโภคขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็เป็นบริบทพิเศษเฉพาะของประเทศจีน เป็นต้น

แม้ว่า GDP ต่อหัวจะไม่สามารถนำมาใช้ในแง่ของการแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศประชาธิปไตยจะมีเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศเผด็จการ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าโดยส่วนใหญ่ประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นค่อนข้างจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า

ในขณะเดียวกันด้วยระบอบการปกครองที่ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยสูงสุดแล้ว แนวโน้มที่นโยบายทางเศรษฐกิจจะให้ความสำคัญกับประชาชนต้องมาที่หนึ่งน่าจะมากกว่าประเทศเผด็จการที่อาจจะไม่สนใจประชาชนจะเป็นอย่างไร เพียงแต่คิดว่าได้ทำเพื่อประชาชนแล้วโดยไม่สนใจว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นดีจริงหรือไม่

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่มีพื้นหลังมาจากเรื่องทางเศรษฐกิจ

ในลักษณะเดียวกันกับบริบทของต่างประเทศที่เศรษฐกิจและการเมืองนั้นมีปฏิสัมพันธ์ไขว้ไปไขว้มา ในบริบทของสังคมไทยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ที่มีผลสำคัญให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงตัวแปรที่มีปฏิสัมพันธ์ไขว้กันอย่างแยกไม่ออกของเศรษฐกิจและการเมือง[4]

เมื่อพิจารณาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้น ‘ปรีดี พนมยงค์’ สมาชิกคนสำคัญและเปรียบเป็นมันสมองของคณะราษฎรนั้น ได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามทฤษฎีสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไว้ว่า

สังคมมนุษย์ทุกสังคมประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ประการแรก คือ เศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐาน (โครงสร้างเบื้องล่าง) ของสังคม ประการที่สอง คือ การเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม โดยทั้งสององค์ประกอบนี้สามารถสะท้อนและมีผลกระทบแก่กันและกัน  และ ประการที่สาม คือ ทรรศนะทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดจิตใจอย่างหนึ่งของคนในสังคม และเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม”[5]

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายของปรีดีว่า

“…ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำสาระสำคัญ คือ ความฝืดเคืองของราษฎร…รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ Coup d’ Etat แต่เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางการปกครองซึ่งเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์เท่านั้น…”[6]

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคมไทย (ภาพที่ 3) และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีความยากลำบากจากโครงสร้างทางสังคมในช่วงก่อนหน้านี้

 

ภาพที่ 3 เปรียบเทียบโครงสร้างทางสังคมก่อนและหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ที่มา:  ลิขิต ธีรเวคิน, 8.
ที่มา:  ลิขิต ธีรเวคิน, 8.

 

เมื่อคณะราษฎรเข้ามาบริหารประเทศก็ได้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจสำคัญตามหลัก 6 ประการ ที่ได้ประกาศไว้ ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ก็เกิดชนชั้นกลางในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนนี้ก็คือเศรษฐกิจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

นอกจากนี้ ในทางสังคมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยทำให้เกิดอัตราผู้รู้หนังสือมากขึ้นตามนโยบายของคณะราษฎร ซึ่งการเพิ่มจำนวนของผู้รู้หนังสือนั้นมีความสำคัญต่อการเมืองของประเทศไทย ผลผลิตของการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่ และนโยบายทางการศึกษาที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ทำให้เกิดกลุ่มนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการต่อต้านระบบเผด็จการทหาร[7]

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจและการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์ไขว้ไปไขว้มาอย่างใกล้ชิด และบ่อยครั้งความสัมพันธ์ทั้งสองนั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งดังปรากฏให้เห็นมาแล้วในบทเรียนทางประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งระบอบการเมืองในบางเวลาก็มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ และระบบเศรษฐกิจก็มีผลต่อระบอบการเมือง

 

[1] ลิขิต ธีรเวคิน, ‘ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ’ 1 (1) วารสารวิทยาการจัดการ <https://so03.tci-thaijo.org/index.php/msj/article/view/113874/88457> สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564

[2] แม้ว่า GDP จะไม่ได้เป็นดัชนีที่ไม่ได้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนภายในประเทศนั้นๆ แต่ในด้านหนึ่งการนำตัวเลขจีดีพีนี่แหละมาหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นตัวเลขกลางๆ ที่จะบอกว่าคนในชาตินั้นโดยเฉลี่ยแล้วผลิตสินค้าหรือบริการมูลค่าเท่าไหร่ต่อปี ซื่งสามารถอธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่ง โปรดดู รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, จีดีพี ดัชนีที่ไม่ได้วัดความเป็นอยู่ที่ดี, https://themomentum.co/beyond-gdp/

[3] วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต (บริษัท บุ๊คสเคป จำกัด 2563) 45 – 46

[4] ลิขิต ธีรเวคิน, (อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1)

[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) <https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304> สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564

[6] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 2552) 150

[7] ลิขิต ธีรเวคิน, (อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1)