ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ตั้งธนาคารชาติ

10
ธันวาคม
2565

การตั้งธนาคารชาตินี้ ได้ริเริ่มโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ให้สภาพิจารณา เมื่อวันที่ 29 กันยายน โดยมีเหตุผลดังนี้

 

“รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482 โดยมีหลักการว่า เพื่อจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นในกระทรวงการคลัง และให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง เพื่อมีอำนาจหน้าที่ประกอบการอันเป็นกิจธุระของธนาคารกลาง และเตรียมการที่จะจัดตั้งธนาคารชาติไทย เพื่อจัดระเบียบการเงินตรา และรักษาทุนสำรองไว้ให้เป็นหลักแห่งความมั่งคงในการเงิน และดำเนินวิธีเงินตราและเครดิตของประเทศ

ในการที่จะดำริให้มีธนาคารชาติไทยนั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ในทุกประเทศ เพื่อจะให้เครดิตของประเทศนั้นได้หมุนเวียนขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีธนาคารชนิดนี้เป็นองค์การอันหนึ่งที่จะช่วยให้เครดิตของประเทศหมุนเวียน แต่ว่าในการที่เราจะจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้น เป็นกิจการอันใหญ่โตและจะต้องกระทำไปด้วยความระมัดระวัง และดำเนินการไปทีละขั้น เหตุฉะนั้นทางรัฐบาลจึงได้มีความประสงค์ในขั้นแรกนี้ บางทีจะจัดตั้งองค์การขึ้นให้เป็นทบวงการเมืองขึ้นอยู่ในกระทรวงการคลังเท่านั้น กิจการยังหาใช่เป็นธนาคารชาติซึ่งเป็นรูปบริษัทเหมือนดังกับในต่างประเทศไม่

ในขั้นแรกที่จะให้มีสำนักงานธนาคารไปชั่วคราวก่อน และไม่ใช่ว่าจะให้กระทำกิจการหน้าที่ของธนาคารทั้งหมดนั้นก็หามิได้ จะต้องค่อยทำค่อยไป ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะได้กำหนด และในระยะนี้เองจะได้เป็นระยะที่ตระเตรียมการ ขึ้นไปสู่ธนาคารชาติไทยสมบูรณ์ในภายหน้า ในเวลานี้ก็ประจวบกับที่ทางรัฐบาลได้ซื้อทองมา และในประเทศอังกฤษก็ได้มีการกำหนดราคาทองกับเงินปอนด์ไว้แล้ว ก็เป็นที่หวังได้ว่าในการที่เราได้ซื้อทองและซื้อเหรียญดอลล่าห์ที่อเมริกา และต่อไปได้ซื้อทองที่อเมริกาก็ตาม ก็จะทำให้หลักทรัพย์ของรัฐบาลในการนี้มีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ถือว่าเป็นผลกำไรส่วนหนึ่ง ซึ่งเราอาจนำมาใช้จ่ายเป็นทุนของสำนักงานนี้ได้ รัฐบาลจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันสมควรแล้ว ที่เราได้เริ่มเรื่องธนาคารไทยนี้เสียทีหนึ่ง และในเรื่องทุนที่เอามาก็ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า ทุนนั้นเราจะกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลจะได้กำหนดและทุนนี้ก็จะได้จากผลกำไรแห่งเงินทุนสำรองเงินตรา และจากผลดอกเบี้ยอันเกิดแต่ทุนสำรองเงินตรา และจากเงินคงคลัง ซึ่งไม่ใช่จะเอามาจากภาษีอากร หมายความว่า เป็นเรื่องที่เอามาจากผลกำไร มาทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นจึงขอให้ท่านสมาชิกสภาฯ นี้ ได้โปรดรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ (ร้อยเอ็ด) ได้อภิปรายว่าสภาฯ ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับเป็นทุนเริ่มแรกของธนาคารนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรที่เราจะไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่เนื่องจากท่านรัฐมนตรีได้แถลงไว้แล้วว่า การจัดตั้งธนาคารชาตินี้ถึงแม้จะเป็นการเริ่มแรก คือจัดตั้งสำนักงานขึ้นก่อนก็ตามเป็นการที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดและเป็นการยากมาก เพราะฉะนั้นเพื่อให้หายความข้องใจ ข้าพเจ้าขอประทานถามว่าในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ก็มีการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะกำหนดทุนของธนาคารนี้ในระยะเริ่มแรกไม่เกิน 10 ล้านบาท จากผลกำไรแห่งเงินทุนสำรองเงินตราและผลดอกเบี้ยอันเกิดแต่ทุนสำรองเงินตรา และจากเงินคงคลังนี้ คล้ายๆ กับว่าเป็นการให้อำนาจและว่าเป็นการตั้งงบประมาณอีกอันหนึ่ง โดยเฉพาะสำนักงานธนาคารชาติในการเริ่มแรกนี้ เท่ากับเป็นงบประมาณอันหนึ่งใช่หรือไม่ คือถ้าใช่แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่ามันจะไปทำให้งบประมาณที่เราอนุมัติสำหรับปี 2482 - 2483 ผิดไปบ้างกระมัง และอีกประการหนึ่งการตั้งธนาคารนี้เป็นการคล้ายๆ กับการค้าขายโดยตรง ถึงแม้ไม่เป็นธนาคารชาติในบัดนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นการเริ่มต้นการค้าไปในตัว ข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อรัฐบาลได้เคยเสนอพระราชบัญญัติกู้เงินต่างๆ เป็นจำนวนมากมาย ก็ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายออกพระราชบัญญัติกู้เงินจากประชาชนหรือใครๆ ก็ตาม มาจัดเป็นทุนของธนาคารชาติเสียตั้งแต่บัดนี้ ดีกว่าที่จะเอาเงินคงคลังที่เป็นหลักประกันของกระทรวงการคลังให้มั่นคง ดีกว่าจะเอาเงินคงคลังมาทำตามพระราชบัญญัตินี้”

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตอบว่า

 

“ถูกแล้ว คือความตั้งใจนั้นในเรื่องนี้ ก็เป็นการเอากำไรแห่งเงินทุนสำรองเงินตราและดอกเบี้ยมาเป็นทุนของธนาคารนี้ ส่วนในข้อที่ว่าจะให้ไปกู้เงินจากเอกชน เห็นว่าในขณะนี้การที่เราจะตั้งสำนักงานธนาคารนั้น เราก็ควรที่จะใช้เงินของรัฐบาลที่เรามีอยู่ หรือเงินที่เราใช้นี้ จะพยายามหาจากผลกำไรที่เราหามาได้ ไม่ใช่เอาจากเลือดเนื้อหรือภาษีอากรจากราษฎร หมายความว่าผลกำไรมีอยู่แล้ว เราก็เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ขึ้น และงบประมาณนั้นก็ได้ชี้แจงแล้วว่าเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าง มันไม่ใช่เป็นทุนหมุนเวียน มันเป็นเงินที่ให้ไป เราจะต้องอบรมคน และส่งคนไปดูการต่างๆ เหล่านี้ในเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องเป็นทุน จึ่งได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมา”

 

นับว่าเป็นการเริ่มต้นจัดตั้งธนาคารชาติ โดยมีต้องใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน ที่ประชุมอนุมัติใช้เป็นกฎหมายได้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม

 

หมายเหตุ : 

  • รายงานฯ สภาผู้แทนราษฎร ปี 2482 (สามัญ) ครั้งที่ 18 หน้า 1052
  • ป.ช.ศ. ปี 2482 เล่ม 52 หน้า 1033

 

ที่มา : ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, ตั้งธนาคารชาติ, ใน รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 - 2517), (กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง, 2517), หน้า 306-308.