ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การงานแห่งชีวิต การทำงานด้านการคลัง และการธนาคาร

5
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนออัตชีวประวัติในวาระชาตกาล 5 กันยายน พ.ศ. 2443 หรือรำลึก 124 ปี ของนายเล้ง ศรีสมวงศ์ ในการทำงานด้านการคลัง และการธนาคาร โดยเฉพาะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาตารแห่งประเทศไทย กับการดำเนินงานด้านธนาคารพาณิชย์ของเอกชน และความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์
  • ภาคผนวกของบทความนี้ได้นำหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในช่วงสุดท้ายของนายเล้งคือ จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงนายเล้ง ศรีสมวงศ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เมื่อนายปรีดีทราบว่านายเล้งป่วยจึงได้เขียนจดหมายระบุว่า นายเล้งคือ 'เพื่อนรัก' และ 'ขออโหสิกรรม' เรื่องที่แล้วมาทั้งหมด

 


นายเล้ง ศรีสมวงศ์

การงานแห่งชีวิตภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ 

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าถูกย้ายมาประจํากองเดินรถ และมีการปรับปรุงการบริหารของกรมรถไฟหลวงขนานใหญ่ โดยกระจายอํานาจให้ภาคมากขึ้น และรวมกองช่างกลกับกองเดินรถเข้าด้วยกันเป็นฝ่ายลากเลื่อน ในแผนปรับปรุงใหม่นี้ ย่อมมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกออกและถูกโยกย้ายหลายท่าน เริ่มต้นด้วยผู้บัญชาการกรมรถไฟเปลี่ยนเป็นพระยาสฤษดิการบรรจง ผู้อํานวยการเดินรถเป็นพระวิศการดุลย์รถกิจ ฯลฯ

ส่วนข้าพเจ้าถูกบรรจุตําแหน่งผู้จัดการพาณิชย์ เป็นตําแหน่งใหม่รับผิดชอบเรื่องรายได้ของกรมรถไฟทั้งหมด กิจการที่ดําเนินมาด้วยดี ในหน้าที่ของข้าพเจ้าได้ ดําเนินการปรับปรุงทั้งด้านสินค้าและคนโดยสาร เพราะข้าพเจ้ามีคู่หูที่สําคัญคือคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ได้ทดลองเดินรถพิเศษท่องเที่ยวกรุงเทพ-เชียงใหม่ ไปกลับค่าโดยสาร ๑๐ บาท เป็นครั้งแรก นับว่าเป็นความสําเร็จอย่างงดงาม จนกระทั่งเกิดการกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ หรือที่ถูกควรเรียกว่า เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น พวกรถไฟโดยเฉพาะสายกรุงเทพ-โคราช เดือดร้อนที่สุดเพราะต้องทําหน้าที่ขนทหารทั้งสองฝ่าย และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกบฏไปด้วย

ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการพาณิชย์และรักษาการแทนผู้อํานวยการเดินรถ เพราะผู้อํานวยและการเดินรถไปเป็นผู้รักษาการแทนผู้บัญชาการรถไฟ ข้าพเจ้าจึงคุมการเดินรถทั้งหมด ทราบการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ เพราะขณะนั้นการคมนาคมและการสื่อสารต้องอาศัยรถไฟเกือบทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงต้องรับผิดชอบในการติดต่อกับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเจ้าคุณพหลฯ กับผู้บัญชาการกองผสมปราบกบฏ คือ หลวงพิบูลสงคราม ในการขนย้ายทหาร และการเคลื่อนไหวของทหารประจําแม่ทัพภาคต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้วกิจการรถไฟถูกกระทบกระเทือนทั้งทางทรัพย์สินและจิตใจพนักงานเป็นอันมาก เพราะหลายท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกบฏ

การสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นผู้ก่อการปี ๒๔๗๕ ทํางานรถไฟทุกคน คือ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ นายสพรั่ง เทพหัสดินฯ และข้าพเจ้า เขาให้ฉายาว่า ๔ เสือ เพราะคุมกิจการรถไฟทุกสาขา สอบสวนอยู่ ๒-๓ เดือน โดยมีพระยาอภัยสงคราม เป็นประธาน ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ผู้แทนผู้ถูกกล่าวหา และขุนสมาหารหิตคดี ผู้แทนผู้กล่าวหา เป็นกรรมการ สําหรับข้าพเจ้ามีข้อกล่าวหาอยู่หลายข้อ แต่ก็ไม่มีข้อผิดจะทําโทษได้ต้องเปลี่ยนกรรมการในที่สุดพระสารสาสน์พลขันธ์ เป็นประธานกรรมการ แล้วสั่งกรรมการว่าต้องเอาผิดให้ได้ จึงลงมติให้ตําหนิโทษที่ให้บ๋อยโรงแรมราชธานีออก และบรรจุเป็นพนักงานเก็บเงินในวันเดียวกัน ข้าพเจ้าสั่งอนุมัติตามข้อเสนอของผู้จัดการโรงแรมและรถสะเบียง หน้าที่เป็นพนักงานเก็บเงินอยู่ก่อนนานแล้วเพราะพนักงานคนนั้นทําแต่ทางราชการไม่

เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอลาออกจากราชการ อนุมัติแจ้งว่าข้าพเจ้ายังจะทําประโยชน์ให้แผ่นดินได้อีกมาก แต่เห็นใจที่จะอยู่กรมรถไฟจึงย้าย ข้าพเจ้าไปอยู่กรมพาณิชย์ ส่วนอีกสามท่านก็ถูกย้ายจากกรมรถไฟไปอยู่กรมโยธาเทศบาล ข้าพเจ้าออกจากรถไฟคราวนี้ ได้คติอย่างหนึ่งคือ ความยุติธรรมไม่มีในโลกนี้ เมื่อทราบดังนี้แล้วว่าไม่มีความยุติธรรมจะไปหลงหาความยุติธรรมและไปหลงกล่าวหาว่าตนไม่ได้ ความยุติธรรมทําไมเพราะตั้งต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว จะไปให้มีได้อย่างไร

 

กรมพาณิชย์

ข้าพเจ้าถูกย้ายมาอยู่กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการในฐานะผู้แพ้ พระสารสาสน์ฯ ถูกออกจากรัฐมนตรีเรื่องโควต้ายาง และคุณพระบริภัณฑ์ฯ มาเป็นรัฐมนตรีแทน ข้าพเจ้าทําหน้าที่เลขานุการของกรมฯ มีคุณพระประมาณปัญญา รักษาการแทนอธิบดี และท่านเจ้าคุณศรยุทธเสนี เป็นปลัดกระทรวงฯ ข้าพเจ้าจึงอยู่อย่างสบายใจ ไม่ต้องทํางานอะไรมาก แต่กลับได้เงินเดือนขึ้น และในที่สุดถูกย้ายไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจําสิงคโปร์

เพื่อนฝูงแสดงความยินดีเพราะเห็นว่าข้าพเจ้าถูกมรสุมมามาก ทั้งทางหน้าที่การงาน และชีวิตครอบครัว จะได้เป็นการเปลี่ยนสถานที่ ทําให้จิตใจดีขึ้น ข้าราชการกรมพาณิชย์ถึงกับปิดกรมมาส่งที่สถานีรถไฟแสดงนํ้าใจที่ได้รับความร่มเย็นจากข้าพเจ้า

แต่ความจริงการส่งข้าพเจ้าไปอยู่สิงคโปร์นั้น เพื่อกักบริเวณให้อยู่ห่างไกลจากพรรคพวกเพื่อนฝูง สมุทรหน้าที่ข้าหลวงพาณิชย์สมัยนั้นไม่ต้องทําอะไร และแม้อยากจะทําก็ทําอะไรไม่ได้ เพราะฝ่ายผลิตและฝ่ายขายคือเกษตรและเศรษฐการ ไม่รู้นโยบายของกันและกันหรือยังไม่มี นโยบายสินค้าสําคัญก็คือข้าวสาร ซึ่งบริโภคที่นั่นและส่งต่อไปขายที่ชะวาและหมู่เกาะต่าง ๆ ผู้ขายล้วนเป็นพ่อค้าจีน และมีสายสัมพันธ์กันอย่างสนิท คือพ่อเป็นเจ้าสัว ทําโรงสีที่กรุงเทพฯ ลูกชายขายข้าวที่สิงคโปร์และชะวา เขารู้ตลาดและความเป็นไปดีกว่าเรามากมาย แก้ไขอุปสรรคได้รวดเร็ว ยางพาราก็มาคัดเลือกและบรรจุที่นี่ หรือที่ปีนัง เช่นเดียวกับดีบุก ถลุงที่สิงคโปร์ หรือปีนัง แต่เขามีข้อผูกพันกันข้าหลวงพาณิชยไม่มีอํานาจหรือความรู้ แม้จะรายงานมาทางกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ ก็จนปัญญา หรืออย่างน้อยข้าพเจ้าก็ไม่ได้รับคําสั่งให้ปฏิบัติอย่างไร

ข้าพเจ้าประจําอยู่สิงคโปร์ประมาณ ๓ ปี แล้วถูกย้ายมาอยู่กองประมวลบัญชีกรมบัญชีกลาง ภายใต้ท่านเจ้าคุณชัยสุรินทร เป็นอธิบดี แต่ท่านต้องมารักษาการแทนปลัดกระทรวงและ ท่านเจ้าคุณทรงสุรรัชต์รักษาการแทน

 

กรมบัญชีกลาง

ตําแหน่งหัวหน้ากองประมวลบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นกองสําคัญในกรมบัญชีกลางเพราะคล้ายกับเป็นกองเสนาธิการของกระทรวงการคลัง หัวหน้ากองนี้มีเอกสิทธิติดต่อโดยตรงกับท่านรัฐมนตรีแล้วเป็นธรรมเนียมมาเช่นนั้น เพราะครั้งแรกรัฐมนตรีว่าการเรียกข้าพเจ้าไปพบโดยไม่ผ่านอธิบดี ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเป็นการข้ามหน้าจึงรายงานให้ท่านอธิบดีสั่ง ท่านจึงแจ้งธรรมเนียมให้ทราบ

กองประมวลบัญชีส่วนหนึ่งทําหน้าที่คล้ายธนาคาร คือรับโอนเงินระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ และสั่งจ่ายเงินไปต่างประเทศโดยผ่านธนาคารพาณิชย์ กองประมวลบัญชีจึงมีธุระกิจ ติดต่อกับธนาคารแม้การจ่ายเงินในกรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านกองนี้แล้วจึงไปเบิกเงินจากกรมคลังได้ แต่ใช้ฎีกาเบิกเงินแทนเช็คสั่งจ่ายเงินเท่านั้น งานกองนี้มากทั้งปริมาณและคุณภาพ และลักษณะงานก็ต่างกันมาก และงานก็ยิ่งมากขึ้นอย่างผิดปกติธรรมดา จึงได้พิจารณาแยกงานออกเป็น ๓ กอง แผนกสํารวจรายได้เป็นกอง เดิมเป็นเพียงรวบรวมรายได้ของกระทรวงทะบวงกรมแล้ว เสนอรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ใหม่ให้มีหน้าที่เร่งรัดและสอบสวนพิจารณารายได้ด้วย กองประมวล บัญชีคงทําหน้าที่เดิมคือตรวจสอบบัญชีของคลังจังหวัดและแยกงานเงินฝาก เงินโอน เงินกู้ ออกเป็นกองใหม่ ตั้งชื่อว่ากองธนาธิการ ทําหน้าที่เป็นเสนาธิการให้รัฐมนตรีว่าการคลังด้วย ทั้ง ๓ กองนี้ คงขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าไม่ได้นึกฝันมาก่อนเลยว่าจะถูกย้ายมาอยู่กระทรวงการคลังและการฝึกฝน อบรมในทางนี้ก็ไม่มี แม้การศึกษา B. Com. ก็เพียงศึกษาเบื้องต้นของการเงินการคลังเท่านั้น แต่เมื่อได้มาทํางานที่กรมบัญชีกลางแล้ว รู้สึกสนุก เห็นจะเป็นเพราะระหว่างที่ไปสงบอารมณ์ที่สิงคโปร์นั้น ได้คติมาอย่างหนึ่งว่า งานที่สําเร็จ ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว สําคัญที่รู้จักใช้คนเป็น ใครเป็นคนใหม่ อย่าอวดรู้กับคนเก่า ให้คนเก่าเขาเห็นความสําคัญของเราเอง ข้าพเจ้าใช้หลักอันนี้ปฏิบัติงาน ถ้ามีอะไรบกพร่องหรือผิดพลาดเรารับเสียเอง ไม่นานก็ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคน

กองนี้ประกอบด้วยข้าราชการเก่าแก่เป็นขุนหลวงหลายท่าน และมีคนใหม่สําเร็จปริญญามาจากต่างประเทศหลายคน เช่น คุณศิริ ฮุนตระกูล คุณประยูร วิญญรัตน์ และ คุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเก่ากับใหม่ใช้คนเก่าเป็นรากฐาน และใช้คนใหม่เสริมสร้าง รวมทั้งข้าพเจ้าเป็นผู้มีอิทธิพล และที่สําคัญยิ่งก็คือท่าน อธิบดีขณะนั้น พระยาทรงสุรรัชต์ ท่านรู้จักปกครองคน หรือจะเรียกว่ารู้จักใช้คนการงานจึงเจริญก้าวหน้าและทํางานกัน แม้เหน็ดเหนื่อยแต่ก็สนุกสนานในงานที่ทํา

ในระหว่างนี้ รัฐบาลได้ออก พรบ. กู้เงิน ๓ ฉบับคือ พรบ. กู้เงินเพื่อเทศบาล พรบ. กู้เงินเพื่อสหกรณ์ และ พรบ. กู้เงินเพื่ออุตสาหกรรม เงื่อนไขในการกู้เงินให้กําหนดโดยพระราชกฤษฎีกาในการจัดการกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ ตกเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางคือกองธนาธิการ

 

การจัดตั้งธนาคารกลาง

 

การก่อตั้งธนาคารชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันเป็นผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในทศวรรษ 2480 (กลาง)ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 และ(ด้านซ้ายของภาพ) พระยาทรงสุรรัชฎ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารชาติไทย
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

พวกเราจึงต้องเริ่มศึกษาเรื่องพันธบัตร เพราะเป็นงานชิ้นใหม่ และรัฐมนตรีมอบให้ที่ปรึกษาการคลังคือ Mr. W.M. Doll เป็นที่ปรึกษาแนะนํา จึงได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันขึ้น ท่านรัฐมนตรีคลังหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นการพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งเพราะหลายยุคหลายสมัยมาแล้วได้ดําริที่จะตั้ง แต่ไม่สําเร็จ เพราะที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นชาวต่างประเทศไม่เห็นชอบด้วย โดยอ้างว่ายังไม่มีธนาคารพาณิชย์มากพอที่จะมีธนาคารกลางทําหน้าที่เป็นแม่ธนาคาร แต่คราวนี้ Mr. Doll กลับสนับสนุนความดําริที่จะตั้งธนาคารกลาง แต่ในขั้นแรกให้ทําในขอบเขตจํากัด โดยเฉพาะให้ดําเนินการเรื่องพันธบัตรเงินกู้ในประเทศ ๓ รายนี้ก่อนจึงได้มีการออก พ.ร.บ. สํานักงานธนาคารชาติไทยขึ้น เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Thai National Banking Bureau (T. N. B. B.) ร่าง พรบ. ฉบับนี้ ได้อาศัยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยและเป็นหัวแรงสําคัญผู้หนึ่ง

สํานักงานธนาคารชาติไทยได้เปิดสํานักงานเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ ที่ตึกซ้ายมือประตูวิเศษไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง พระยาทรงสุรรัชฎ์ เป็นผู้อํานวยการ และข้าพเจ้าเป็นรองผู้อํานวยการเจ้าหน้าที่ก็อาศัยคนของกรมบัญชีกลางคัดเลือกมาช่วยทํางานเป็นส่วนมาก มีคุณประยูร วิญญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวแรงสําคัญรวมอยู่ด้วย สํานักงานได้เริ่มงานรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์และของราชการ เริ่มต้นด้วยธนาคารฮ่องกงแบงค์และจัดการเรื่องการกู้เงินในประเทศ

งานสําคัญของสํานักงานในขณะนั้นก็คือจัดการกู้เงินช่วยชาติ ซึ่งเป็นเรื่องจรพิเศษ เพราะเมื่อสงครามโลกได้เริ่มจนมีคนรักชาติประสงค์จะช่วยชาติโดยให้เงินกู้ ให้จัดให้เสร็จทันที กับเรื่องการรับจ่ายและโอนเงินของบริษัทจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการรับเงินขึ้นของตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจังหวัด ณ คลังจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เป็นกิจการที่จะต้องวางระเบียบและต้องตรวจสอบโดยรัดกุมและรวดเร็วที่สุด กิจการที่ดําเนินมาด้วยดีตลอดจนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้ว หลวงประดิษฐมนูธรรมถูกไปเป็นผู้สําเร็จราชการ คุณพระบริภัณฑ์ฯ มาเป็นรัฐมนตรีคลัง

 

ธนาคารพาณิชย์

เมื่อประเทศไทยประกาศร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นแล้ว เพื่อคุ้มกันชาวอังกฤษและอเมริกัน จึงได้ให้ชาวต่างประเทศทั้งสองชาตินั้นอยู่ในที่กักขังที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาคารของชาติทั้งสองก็ถูกปิดและรัฐเข้าชําระบัญชี ชาวอเมริกันและอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้จัดการและสมุหบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องถูกออกจากงาน คุณหลวงกาจสงครามขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและเป็นผู้อํานวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเสนอชื่อข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ข้าพเจ้ารับโดยมีเงื่อนไข ๓ ประการ

(๑) เป็นสิทธิที่ข้าพเจ้าจะลาออกเมื่อใดก็ได้

และ

(๒) จะทํางานให้เต็มสติปัญญา

(๓) ไม่มีการโกงด้วยประการทั้งปวง

ที่เสนอเงื่อนไขเช่นนี้ ใจจริงขณะนั้นจะลาออกเพราะคิดว่าทางการไม่ประสงค์จะให้อยู่สํานักงาน เพราะคุมงานกว้างใหญ่มาก แต่เมื่อได้รับคํายืนยันจากท่านรัฐมนตรีถึงเจตนาบริสุทธิ์ เพราะธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยเก่าแก่และเป็นธนาคารใหญ่แห่งเดียวเท่านั้น

ข้าพเจ้าจึงได้มาทํางานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องนี้ไว้ต่างหากแล้ว

 

รัฐมนตรีคลัง

เช้าวันหนึ่ง ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ ได้มาหาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอร้องให้ร่วมรัฐบาลด้วยเพราะนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ลาออก และหลบไปอยู่ลพบุรี เมืองทหารของท่าน คุณควง อภัยวงศ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีเศรษฐการหรือคลังแล้วแต่ จะตกลงกันภายหลัง การเป็นรัฐบาลชุดนี้เพียงปะทะหน้าจอมพล ป. ไว้เท่านั้น เพราะไม่ทราบ ว่าจะมีการประหัตประหารกันแค่ไหน เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เรียบร้อยประมาณสัก ๕-๖ เดือน จึงค่อยลาออกให้ท่านผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ม.ล.อุดม แจ้งว่ารายละเอียดต่าง ๆ คุณทวี บุณยเกตุ จะมาพบและหารือกันภายหลัง ขณะนี้กําลังติดต่อบุคคลที่ จะมาเป็นรัฐบาลกันอยู่

ข้าพเจ้าไม่ทันรับหรือปฏิเสธ ม.ล. อุดม ก็รีบลากลับไป จึงมาคิดดูว่า ถ้าไม่รับก็จะเป็นการเห็นแก่ตัว เพราะได้เคยบ่นกับเพื่อนฝูงจนบางท่านรู้สึกรําคาญว่า เป็นนายธนาคารดีกว่า เป็นอธิบดีด้วยประการทั้งปวง เช่นความหนักใจในการงานก็น้อยกว่ากัน เพราะไม่มีนายมาก และอีกประการหนึ่งบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นคนขลาด เมื่อมีภัยอันตรายก็หลบ ไม่กล้าต่อสู้ เป็นการเอาตัวรอด แม้จะสํานึกว่าการเป็นรัฐมนตรีนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศ เหลือกําลังความสามารถก็ตาม ก็จําเป็นจะต้องรับเป็นรัฐมนตรีไปพลางก่อน

รุ่งขึ้นก็ถูกเชิญตัวให้รับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการคลังอีกตําแหน่งหนึ่ง และไปร่วมเขียนคําแถลงนโยบายที่บ้านท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ซึ่งท่านรับเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ข้าพเจ้าก็ได้เป็นรัฐบาลด้วยประการฉะนี้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ลาออกไม่ได้ ไม่ใช่เพราะหวงอํานาจ แต่เพราะเหตุการณ์ติดพันกันอยู่ กล่าวคือ ในตอนแรกจะต้องปรับความเห็นกับจอมพล ป. เพราะท่านคุมทหารอยู่มาก และตั้งพระยาพหลฯ เป็นแม่ทัพใหญ่แทนจอมพล ป. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยุบเลิกไปด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์และความเด็ดเดี่ยวของนายควงเดินทางไปเจรจาที่ลพบุรีก็เป็นอันเรียบร้อย

ขณะนั้นทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง บางขณะเกิดความระแวงซึ่งกันและกัน

คือแม่ทัพญี่ปุ่นบางคนอยากจะยึดครองเมืองไทยถึงกับตั้งป้อมขุดสนามเพลาะคุมเชิงกัน รัฐบาลจึงแบ่งเป็น ๒ พวก คือพวกเข้ากับญี่ปุ่นและพวกเสรีไทย เพื่อให้การปฏิบัติงานกับฝ่ายญี่ปุ่นได้สนิทสนม ไม่กระทบกระเทือนใจ

หลักการของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ รักษาเอกราชของชาติให้จงได้ จะด้วยวิธีใดก็ตามยอม ในชั้นแรกได้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนักโทษการเมืองทั้งสิ้น ขออย่าให้เสียเอกราช เพราะมีเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏอยู่หลายท่าน และยกเลิกรัฐนิยมบางบท ซึ่งทรมานจิตใจประชาชน เช่น ห้ามกินหมาก นั่ง นุ่งผ้าถุง สวมหมวก ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสามัคคีในชาติ และร่วมมือกับรัฐบาล เพราะทหารก็คือราษฎร มีพ่อแม่พี่น้องเป็นพลเรือน และทหารก็รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน ทหารแท้ย่อมไม่เห็นแก่ตัว นึกถึงบ้านเมือง และครอบครัวเป็นใหญ่ เหตุการณ์ก็เรียบร้อย สมาชิกสภาผู้แทนทั้งประเภท ๑ และประเภท ๒ ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี แม้จะมีบางท่านไม่เห็นชอบด้วยกับรัฐบาลก็เป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเห็นเจตนาบริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่ถึงกับลําหักโค่นกัน เสียงประชาชนทางหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนเป็นส่วนมาก

ข้อหนักใจของรัฐบาลก็คือ เมืองไทยถูกล้อมรอบด้าน ติดต่อได้แต่ญี่ปุ่นประเทศเดียว แต่ถึงกระนั้นการติดต่อก็ยิ่งลําบากยิ่งขึ้นเป็นลําดับ สินค้าก็ส่งไปขายต่างประเทศไม่ได้ส่งไปญี่ปุ่นก็ให้แต่เงินเยนขึ้นบัญชีไว้ เพราะญี่ปุ่นก็ไม่มีของมาแลกเปลี่ยน แม้อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลก่อนเปลี่ยนจากหนึ่งเป็นครึ่งมาเป็นหนึ่งเป็นต่อหนึ่งบาทก็ตาม ของภายในประเทศเริ่มขาดแคลนและแพงสูงขึ้นทุกวัน เคราะห์ดีที่อาหารการกินของเราสมบูรณ์ บ้านเมืองถูกระเบิดแทบทุกวัน ผู้คนบาดเจ็บล้มตายโดยรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร เพราะไม่มีอะไรจะช่วยเหลือได้ เป็นเพียงให้ความเห็นอกเห็นใจ ทุกข์ยากก็ไปอยู่กับราษฎร เช่น ใส่เสื้อเชิร์ทไปทํางานเท่านั้น

ของใช้ต่าง ๆ มีจํานวนจํากัด และจํานวนเงินในขณะนั้นเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของญี่ปุ่นทางฝ่าย Lord Louis Mountbattan ก็ขอร้องให้ผ่อนผัน อย่าเพิ่งรุนแรงเพราะเขายังไม่พร้อมจะยกทหารมาช่วยเหลือได้ ทางฝ่ายเราก็ต้องหวานอมขมกลืนและพยายามช่วยตัวเองเท่าที่สามารถจะช่วยได้

ในชั้นแรกได้ขอให้ญี่ปุ่นส่งทองคํามาให้เพื่อแลกธนบัตร เพราะการออกธนบัตรเพิ่มเรื่อยไปก็จะกลายเป็นเศษกระดาษ ไร้ค่า ในที่สุดญี่ปุ่นเห็นด้วย แต่เกิดปัญหาการขนส่ง เพราะทั้งทางเรือและทางบกคือ เรือบินไม่ปลอดภัยทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้หลบหลีกขนมาได้รวมทั้งหมด ๒ ตัน พวกที่ค้าขายกับญี่ปุ่นทํามาค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีศัพท์ไทยในขณะนั้นว่า “เซ็ง” เกิดมีพวกเซ็งกันขึ้นมากมาย เพราะญี่ปุ่นไม่มีอํานาจรับของ หรือแข่งขันกันซื้อจากราษฎร ญี่ปุ่นใช้วิธีซื้อ และซื้อโดยไม่คํานึงถึงราคา ขอให้ได้ของมาได้เท่านั้น และจ่ายธนบัตรใบละ ๑๐๐ ใบละ ๑๐๐๐ ให้ พวกสมัยใหม่คือนักเซ็งลี จึงมีใบละพันพกกระเป๋ากันเกร่อ ข้าพเจ้าจึงได้เสนอพระราชกําหนดให้ธนบัตรราคา ๑๐๐๐ บาทเป็น พันธบัตรออมทรัพย์มีกําหนดไถ่ถอน ๑ ปี ดอกเบี้ยร้อยละ ๑ โดยยับยั้งราคาสินค้า และชะลอการออกธนบัตรใหม่ วัตถุประสงค์ข้อแรกได้ผลดี แต่ข้อหลังด้วยความจําเป็นต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็ไปลบล้างข้อแรกเกือบหมด

รัฐมนตรีคลังเป็นคนเหนื่อยที่สุด และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นรัฐมนตรีทุกคนก็ไม่มีใครถูกกล่าวหา และต่างเห็นใจกัน เพราะการกระทําครั้งนั้นแม้ไม่ได้ผลนัก แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีรัฐมนตรีคนใดเห็นแก่ได้แพร่งพรายเรื่องนี้ ถึงใครจะด่าว่าด้วยความโมโหโทโษ ซึ่งเป็นของธรรมดา แต่ในที่สุดก็เห็นใจรัฐบาล เมื่อสินค้าขยับจะขึ้นราคาจึงใช้วิธีควบคุมธนบัตรด้วยการนําพระราชบัญญัติกาสิโนมาใช้ แต่ได้ตกลงกันว่าการพนันเป็นอบายมุข ไม่ใช่ของดี จึงกําหนดให้เปิดกาสิโนเป็นการชั่วคราว ระหว่างสงครามรุนแรงชั่ว ๑-๒ เดือนเท่านั้น

ในการเปิดกาสิโนนี้ ข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งถ้าไม่ได้ ๒ ท่านนี้ แล้วการเปิดกาสิโนจะเป็นผลอย่างไร ก็ยากจะกล่าวได้ ๒ ท่านนี้คือ ท่านเจ้าคุณพิพัฒนธนากร ได้อาสาเป็นที่ปรึกษาแนะนําเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ของการเป็นเจ้ามือ และการเก็บค่าตั้ง เพราะคนที่จะเป็นนายบ่อน ไม่ใช่เสียค่าประมูลให้รัฐบาล แต่ให้นายบ่อนแบ่งค่าตั้งให้รัฐบาลได้มากหรือน้อยตามเงินที่แทง และท่านเจ้าคุณชัยสุรินทร์เป็นผู้รับผิดชอบเด็ดขาดในการอนุญาตให้ใครเปิดบ่อนที่ไหนแบ่งค่าถึงกันอย่างไร และจัดเจ้าพนักงานเก็บเงินประจําบ่อน กิจการได้ดําเนินมาเรียบร้อย แต่ย่อมเป็นที่ทราบว่าในการพนันนั้น คนที่ได้ในที่สุดก็เสีย ถ้าไม่รู้จักเล่น และคนที่รู้จักเล่นคือ นักพนันนั้นน้อย

ในที่สุดการค้าขายก็หยุดชะงัก และมีข่าวการฆ่าตัวตาย เพราะเสียการพนัน เสียงหนังสือพิมพ์ก็หยุดสนับสนุน ข้าพเจ้าเองก็ร้อนใจในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ในที่สุดก็ประกาศยกเลิกโดยเด็ดขาดเป็นที่น่าดีใจว่า การปฏิบัติงานนี้ในความรับผิดชอบของท่านเจ้าคุณชัยสุรินทร์นี้ไม่มีพนักงานคนใดถูกกล่าวหาว่าหาประโยชน์มิชอบเลยสักคนเดียว และพวกที่ไปทํางานก็ได้เพียงเบี้ยอาหารและค่าพาหนะเท่านั้น สําหรับท่านเจ้าคุณเมื่อเสร็จงานแล้วได้รับเลี้ยงขอบใจ

ในหน้าที่รัฐมนตรีคลัง ใคร่จะบันทึกงานอีกชิ้นหนึ่งคือ การทํางบประมาณประจําปี เราถึงกับต้องจุดเทียนไขทํางานกัน และเป็นครั้งแรกที่ออกพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมและงบประมาณประจําปีพร้อมกันในการทํางบประมาณสมัยนั้น จะต้องให้งบประมาณสู่ดุลย์คือ งบประมาณรายจ่ายต้องไม่เกินงบประมาณรายรับ ในการพิจารณางบประมาณปีนั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายเป็นจํานวนมากเป็นเงินตั้งใช้หนี้ติดค้างมาแต่ปีก่อน ๆ หลายปี จึงกันงบรายจ่ายค้างมาแต่ปีก่อน ๆ เป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมล้างหนี้ที่ค้างมาให้หมดสิ้นเสียที โดยจ่ายเงินจากเงินคงคลัง เพราะหลักเดิมของคลังนั้นมักตั้งงบรายรับไว้ต่ำกว่ารับจริง และงบรายจ่ายตามปกติก็จ่ายต่ำกว่างบประมาณ จึงมีเงินเหลือสมทบเป็นเงินคงคลังสำรองไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน หรือเศรษฐกิจตกต่ำ

เมื่อแยกงบประมาณเป็น ๒ ฉบับเช่นนี้ งบประมาณประจําปีก็ดุลย์ได้ และยังมีเงินเหลือตั้งเป็นงบพิเศษเงินช่วยเหลือชาวนา ๑๐ ล้านบาท สมัยนั้นถือว่าเป็นจํานวนมากช่วยให้การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรผ่านไปได้ด้วยดี

เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเพราะบอมบ์ปรมาณูแล้ว รัฐบาลเห็นว่าเพื่อการเจรจากับฝ่ายผู้ชนะสงครามควรจะเป็นรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยเสรีไทย จึงได้กราบถวายบังคมลาออกทั้งคณะ เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๘ ข้าพเจ้าก็ได้มอบงานในตําแหน่งรัฐมนตรีคลังให้คุณดิเรก ชัยนาม

เดิม เมื่อแรกเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรี ก็ได้ไปกราบพระแก้วมรกต และเมื่อออกจากรัฐมนตรี ก็ได้ไปกราบลา และนึกปฏิญาณในใจว่า จะไม่ยอมรับตําแหน่งรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะการรับใช้ชาตินั้น ไม่จําเป็นจะต้องรับตําแหน่งการเมืองเสมอไป การลงเรือในลําเดียวกันแล้วจะต้องพึ่งนายเรือคนเดียว แม้เรือจะชนฝั่งก็ตามนั้น ลําบากใจอย่างยิ่ง แม้ตอนหลัง ๆ จะมีท่านนายกรัฐมนตรีหลายท่านจะมาขอร้องให้ร่วมรัฐบาล ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธเด็ดขาดทุกราย

 

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
 

 

วันหนึ่ง ม.ล.อุดม สนิทวงศ์มาพบที่บ้าน บอกว่าคุณควง อภัยวงศ์ให้มาติดต่อขอร้องให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถามว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีคลัง เขาแจ้งว่า ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ และเห็นชอบด้วยทั้ง ๒ คน ได้ตอบตงลงโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการออกทั้งหมดและให้คณะกรรมการชุดที่ลาออกเพราะขัดนโยบายเรื่องขาย ทองคํากลับมาใหม่ และให้ ม.ร.ว.ขจิต เกษมศรี เป็นรองผู้ว่าการ และข้าพเจ้าจะรับเป็นผู้ว่าการตลอดเวลาที่ ม.จ.วิวัฒนไชยเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นอันตกลงกันตามเงื่อนไขนี้

ข้าพเจ้าเป็นผู้ว่าการคนแรกที่ทํางานตลอดเวลาจึงมีเวลาอุทิศให้ได้เต็มที่ แต่การดํารงตําแหน่งนี้ ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในเพื่อนสนิทหลายคนโดยเฉพาะในสายเสรีไทย โดยถือว่าถ้าข้าพเจ้าไม่รับเป็นผู้ว่าการแล้ว ก็จะไม่มีใครสามารถเป็นได้ แต่ข้าพเจ้าถือหลักว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี การทํางานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าถือว่ารับผิดชอบเงินของชาติ ไม่ใช่เงินของรัฐบาล ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ แต่เป็นธรรมดาที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในเรื่องการเงิน เพราะกระทบกระเทือนกับคนทั้งประเทศเหมือนกัน พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยจึงใช้คํา “กํากับ” ไม่ใช่ควบคุม ข้าพเจ้าถือว่ารัฐบาลนั้น คือรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการคือแขนขวาและแขนซ้ายต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในการทำงานหากแขนขวาย่อมชนะผู้ว่าการรวมทั้งคณะกรรมการซึ่งรับผิดชอบในนโยบายร่วมกันก็ต้องลาออก

ตลอดเวลาที่ข้าพเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเป็นอย่างดี ถือเสมือนหนึ่งเป็นงานอันเดียวกัน เมื่อมีโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศ เราก็พบปะหารือกันเพราะเพิ่งเสร็จสงครามใหม่ ๆ และตกลงกันเสร็จในวันเดียว หนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศถึงคลัง ๆ ถึงธนาคาร และธนาคารย้อนกลับอย่างเร็วที่สุดก็กินเวลาหลายวัน งานที่ทําจึงหนักแต่งานแต่ไม่ต้องหนักใจในด้านการเมือง

เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยต้องออกจากรัฐมนตรีคลัง เพราะเปลี่ยนรัฐบาล ข้าพเจ้าก็ได้ขอลาออกเพื่อให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยกลับมาดํารงตําแหน่งผู้ว่าการ ซึ่งท่านเคยดํารงตําแหน่งเป็นคนแรก และต้องลาออกเพราะนโยบายขัดกับรัฐบาลสมัยนั้น ทั้งนี้ นอกจากเพื่อเทอดทูนผู้ที่เหมาะสมและปรีชาสามารถ แล้วยังเพื่อปฏิบัติตามคําพูดที่ได้ตกลงกันไว้

 

 

ภาคผนวก

 

จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงนายเล้ง ศรีสมวงศ์

 

 

หมายเหตุ : 

  • คงอักขระ การสะกดคำ และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

  • เล้ง ศรีสมวงศ์, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2524)