ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ท่าฉาง ปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และนายเล้ง ศรีสมวงศ์

21
ธันวาคม
2567

 

ท่าฉางเป็นอำเภอหนึ่งของสุราษฎร์ธานีที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยขั้นวิกฤตในช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 สืบเนื่องจากฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงน้ำในคลองล้นตลิ่งจนทะลักเข้าท่วมทั้งถนนหนทาง ที่ดินทำกิน และบ้านเรือนของประชาชน ทางจังหวัดจึงประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ  กระทั่งวันอังคารที่ 17 ธันวาคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ก็ยังเดินทางมาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจประชาชน ณ อำเภอแห่งนี้ด้วย

ย้อนกาลเวลาไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ท่าฉางถือเป็นดินแดนที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างลือลั่น เพราะกลุ่มชาวบ้านที่นั่นก่อวีรกรรมอันแสดงออกถึงการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นซึ่งทยอยบุกเข้ามายึดครองประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยปฏิบัติการกันบนขบวนรถไฟสายใต้ที่พวกทหารญี่ปุ่นใช้บรรทุกหีบธนบัตรเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร

กรณีดังกล่าวเป็นที่รับรู้และถูกเรียกขานเคลือบริมฝีปากคนไทยยุคนั้นว่า “เล้งท่าฉาง”

ก่อนจะพาคุณผู้อ่านทั้งหลายไปตื่นเต้นกับปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในพื้นที่ท่าฉาง ผมปรารถนาอธิบายถึงความเป็นมาของอำเภอแห่งนี้เพื่อให้ทุกๆท่านสามารถลองหลับตาแล้วนึกเห็นภาพอย่างแจ่มชัด  

ท่าฉางเป็นเมืองโบราณมาแต่ครั้งสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เดิมทีมีชื่อเรียกว่า “เมืองโฉลก” หรือ “เมืองโละ” ขึ้นกับเมืองไชยา ครั้นอาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงและอาณาจักรสุโขทัยแผ่อำนาจเข้ามาครอบคลุมคาบสมุทรภาคใต้ เมืองโฉลกก็เปลี่ยนมาขึ้นกับสุโขทัย จวบจนอาณาจักรอยุธยาเรืองอำนาจขึ้นมาแทนที่สุโขทัยแล้ว เมืองโฉลกก็กลับไปขึ้นต่อเมืองไชยาอีก 

ช่วงต้นทศวรรษ 2450 พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาได้เปลี่ยนชื่อ “เมืองโฉลก” หรือ “เมืองโละ” มาเป็น “ท่าฉาง” เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาและจะส่งข้าวเปลือกให้เจ้าเมืองแทน “ส่วย” หรือ “อากร” พื้นที่นี้จึงเต็มไปด้วยยุ้งฉางโดยเฉพาะบริเวณริมคลอง ท่านเจ้าคุณขำก็เคยมาตั้งยุ้งฉางเพื่อกักเก็บข้าวไว้ที่นี่ ก่อนจะใช้เรือขนส่งลำเลียงไปยังเมืองต่างๆผ่านทางคลองโละ ห้วงเวลาเดียวกันนี้เอง ทางรัฐบาลสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ยกฐานะให้ “ท่าฉาง” เป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอพุมเรียงหรือที่ต่อมาก็คืออำเภอไชยา ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เมืองต่างๆอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลชุมพร ดังปรากฏ “แจ้งความกระทรวงมหาดไทย” ลงวันที่ 31 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 127 (ตรงกับ พ.ศ. 2451) ความว่า

ด้วยได้รับใบบอกข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรว่า ตำบลถ่าน ตำบลปากฉลุย ตำบลเสวียด ท้องที่อำเภอพุมเรียง ตำบลท่าเคย ตำบลท่าฉาง ตำบลคลองไซร ท้องที่อำเภอพูนพินเมืองชุมพร  เปนที่ติดต่อกันแลมีท้องที่กว้างขวางมาก ทั้งเปนที่ห่างไกลกับอำเภอพุมเรียง และอำเภอพูนพิน เกินกำลังที่กรมการอำเภอจะตรวจตราให้ทั่วถึงได้ จึงขอรวมตำบลทั้ง ๖ นี้ตั้งเปนกิ่งอำเภอ  เรียกว่ากิ่งท่าฉาง ขึ้นอำเภอพุมเรียง เพื่อสดวกแก่การปกครองต่อไป

กระทรวงมหาดไทยได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกิ่งท่าฉางขึ้นอำเภอพุมเรียง ตามที่ข้าหลวงเทศาภิบาลขอมานั้นแล้ว

ล่วงถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2481 ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการยกฐานะกิ่งอำเภอท่าฉางให้ขึ้นเป็นอำเภอเพื่อความสะดวกแก่งานราชการและประชาชน มีเขตปกครอง 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าฉาง ตำบลท่าเคย ตำบลคลองไทร ตำบลเขาถ่าน ตำบลเสวียด และตำบลปากฉลุย

แม้กระทั่งในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อำเภอท่าฉางยังได้รับความสนใจจากทางการอีกครั้ง กล่าวคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาโดยคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 โดยเห็นสมควรให้กำหนดพื้นที่ป่าชายเลนน้ำเค็มในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลท่าฉาง และตำบลเขาถ่านให้เป็นป่าคุ้มครอง 

พอเล่ามาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านก็คงจะอยากทราบว่า แล้วท่าฉางไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นได้อย่างไร

ครับ ณ บัดนี้ ขอเชิญทุกท่านลองอ่านอย่างไม่ละสายตา

เป็นที่ทราบกันดีว่า สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดหนึ่งทางชายฝั่งภาคใต้ที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และเกิดการปะทะสู้รบกับคนไทย

สำหรับในตัวจังหวัดนั้น พวกทหารญี่ปุ่นยกพลมากับเรือท้องแบนล่องแม่น้ำตาปีแล้วบุกเข้ายึดตลาดบ้านดอน เบื้องต้นมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยกับฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายไทยนำโดย หลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ (เปรม ลางคุลเสน) ผู้ว่าราชการจังหวัด, พ.ต.ต. หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสุราษฎร์ธานี และ ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อัตถศาสตร์ ผู้บัญชาการหน่วยตำรวจ ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นนำโดย ร้อยโทโดอิ ผู้บังคับกองร้อยส่วนหน้าที่ยกพลขึ้นบก และ พันโทนาคาคา วาโยโก ซึ่งชาวสุราษฎร์คุ้นเคยดี เพราะเขามาเปิดร้านขายถ้วยชามที่ตลาดบ้านดอนนานแล้ว อีกทั้งแต่งงานกับสาวอำเภอไชยาจนมีลูก 2 คน หากกลับไม่มีใครระแคะระคายว่าเขาคือนายทหารแห่งกองทัพญี่ปุ่น

ทว่าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดการปะทะสู้รบกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้านดอนมิเว้นกระทั่งผู้หญิงร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตนโดยมิยอมให้ชาวต่างชาติเข้ารุกราน ทั้งนี้เนื่องจากที่สุราษฎร์ธานีตอนนั้นยังไม่มีกองกำลังทหาร หลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ ยังตัดสินใจออกคำสั่งให้เผาอาคารศาลากลางจังหวัดซึ่งขณะนั้นถูกยิงด้วยลูกระสุนพรุนไปหมดเพื่อที่กองทหารญี่ปุ่นจะไม่สามารถเข้ายึดครองเอกสารสำคัญต่างๆของจังหวัดไปได้ ยังมีเครื่องบินของฝ่ายทหารญี่ปุ่นที่บินเลียบแม่น้ำตาปีโฉบลงมากราดยิงบริเวณแถวศาลากลางด้วย ต่อมาในตอนบ่าย ทางรัฐบาลไทยประกาศให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงปะทะกันและอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านดินแดนเข้ามาได้

หลังจากนั้น กองทหารญี่ปุ่นก็กระจายกำลังเข้ายึดสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะการควบคุมเส้นทางรถไฟนับตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะทางตอนเหนือของจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปถึงเขตอำเภอทุ่งสงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแน่นอนว่าสถานีรถไฟในเขตอำเภอท่าฉางก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกทหารญี่ปุ่น

ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. 2484-2488 ได้มีชาวสุราษฎร์ธานีหลายรายเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยที่นำโดย “รู้ธ” หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นแบบลับ ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีชาวบ้านสามัญชนของจังหวัดนี้อีกมากมายที่รวมกลุ่มกันแสดงออกถึงการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นแบบใต้ดิน แม้จะมิได้ถูกนับเข้ากับขบวนการเสรีไทยด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้คอยดักปล้นทรัพย์สินและยุทธปัจจัยต่างๆของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงที่ขบวนรถไฟต้องชะลอความเร็ว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะลอบเข้าไปบนตู้บรรทุกหีบสิ่งของต่างๆแล้วถีบหีบทั้งหลายลงจากรถไฟตามจุดที่นัดหมายไว้ ก่อนที่จะมีคนที่ร่วมปฏิบัติการมาคอยแบกขนหีบสิ่งของเข้าไปในป่าข้างทางรถไฟ หรือที่ได้รับการเรียกขานว่า “ขบวนการไทยถีบ”

กล่าวกันว่า พวกทหารญี่ปุ่นเกลียดชัง “ขบวนการไทยถีบ” ยิ่งนัก หากสามารถจับตัวได้ก็จะลงโทษอย่างรุนแรง เช่น เอาน้ำมันกรอกปากแล้วจุดไฟเผา หรือใช้ดาบซามูไรฟันซ้ำๆ ตัดแขนตัดขา แล้วจึงลากร่างไปตามทางรถไฟจนตายคาไม้หมอน

อำเภอท่าฉางก็เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งปรากฏความเคลื่อนไหวของ “ขบวนการไทยถีบ” และกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วประเทศในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลไทยไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท โทมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) ในประเทศอังกฤษได้ ทั้งๆที่เคยสั่งพิมพ์กับบริษัทนี้มาตลอดนับแต่ปี พ.ศ. 2445 เรื่อยมา เหตุผลก็คืออังกฤษเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะที่ทางเมืองไทยถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ นั่นทำให้ไทยประสบปัญหาขาดแคลนธนบัตร รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงขอให้ทางประเทศญี่ปุ่นผลิตธนบัตรแทน โดยขอให้ทางบริษัทมิตซุย บุซซัน ไกซา (Mitsui Bussan Kaisha, Ltd.) ช่วยติดต่อกับโรงพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่โรงพิมพ์ธนบัตรของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นก็ติดพันกับการจัดพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้กองทหารญี่ปุ่นนำไปใช้ในดินแดนที่บุกเข้ายึดครอง เช่น มลายูและพม่า บริษัทมิตซุย บุซซัน ไกซาจึงรับไปดำเนินการพิมพ์โดยโรงพิมพ์ของฮอลันดาบนเกาะชวา

เมื่อจัดพิมพ์ธนบัตรเสร็จแล้ว ทางบริษัทมิตซุย บุซซัน ไกซาก็ขนส่งธนบัตรมายังเมืองไทยทั้งรูปแบบการขนส่งทางอากาศและการขนส่งทางทะเล

อย่างไรก็ดี เคยมีอุบัติเหตุในการขนส่งธนบัตรมายังเมืองไทยทางอากาศ กล่าวคือในคราวหนึ่งเครื่องบินขนส่งเกิดความขัดข้องจนต้องร่อนลงจอดบนเกาะไหหลำ ส่งผลให้หีบธนบัตรแตกออก ทั้งถูกไฟไหม้และสูญหายไปเป็นหมื่นกว่าฉบับ

ส่วนการขนส่งธนบัตรมาทางทะเลนั้น  เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้โจมตีเรือขนส่งของฝ่ายญี่ปุ่นอย่างทบทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงเปลี่ยนการขนส่งธนบัตรจากเดิมที่เคยบรรทุกเรือมาเทียบท่าที่กรุงเทพมหานครไปเทียบท่าที่สิงคโปร์แทนแล้วค่อยลำเลียงมายังกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟสายใต้ที่กองทัพญี่ปุ่นควบคุมอยู่

ถึงแม้รัฐบาลไทยจะได้ประกาศสันติภาพไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แต่ปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นโดยชาวบ้านสามัญชนก็ใช่ว่าจะยุติลงในทันทีทันใด โดยเฉพาะก่อนหน้าที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้ในวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายนปีเดียวกัน

ดังในวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ขณะที่ขบวนรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งบรรทุกหีบธนบัตรที่ขนส่งมาจากสิงคโปร์แล่นเข้าในเขตอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีกลุ่มคนลักลอบถีบหีบธนบัตรลงจากขบวนรถไฟเป็นจำนวนหลายหีบ ครั้นต่อมาเมื่อพิจารณาตามเอกสารแสดงรายละเอียดและหมายเลขบนธนบัตรแล้วพบว่า ธนบัตรที่ถูกปล้นไปนั้น ประกอบด้วยใบละ 5 บาท จำนวน 74,000 ฉบับ ใบละ 10 บาท จำนวน 224,000 ฉบับ ใบละ 20 บาท จำนวน 72,000 ฉบับ และใบละ 100 บาท จำนวน 40,968 ฉบับ รวมเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 8,146,800 บาท นับเป็นความเสียหายอย่างสูง

ธนบัตรทั้งหมดที่ถูกถีบลงจากขบวนรถไฟในเขตอำเภอท่าฉางขาดความสมบูรณ์ตรงที่ยังมิได้ลงนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นคือ นายเล้ง ศรีสมวงศ์  ต่อมาปรากฏว่ามีชาวบ้านนำไปใช้จ่ายกันแพร่หลายโดยบนธนบัตรลงนามรัฐมนตรีแล้วซึ่งก็ย่อมเป็นลายเซ็นปลอมที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง ทั้งโดยใช้หมึกจีนฝนกับน้ำส้มเขียนเพื่อให้ติดทนนาน หรือแกะลายเซ็นของรัฐมนตรีบนมันเทศแล้วทำเป็นแม่พิมพ์ประทับลงไป

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาผู้ช่างสังเกตแล้วพบว่าธนบัตรเหล่านี้ย่อมเป็นของปลอม เพราะลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เด่นอยู่บนธนบัตรหลายฉบับคือ

เล้ง อภัยวงศ์

นั่นเกิดจากความเข้าใจผิดของชาวบ้าน เนื่องด้วย นายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นรัฐมนตรีในสมัยที่ นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามปลอมบนธนบัตรคงสับสนระหว่างนามสกุลของ นายเล้ง และ นายควง

 

 

ธนบัตรในลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้รับการเรียกขานกันในเมืองไทยสมัยนั้นว่า “ธนบัตรเล้งท่าฉาง”

เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองชุมพร ทั้งยังเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นแบบลับๆในเขตจังหวัดชุมพร ได้บันทึกถึงเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับกรณี “เล้งท่าฉาง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ในตอนเช้าวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ณ สถานีตำรวจนั้น นายสิบเวรก็เข้ามาชิดเท้ารายงานข้าพเจ้าว่า

"นายร้อยเอกมอลี่ หัวหน้าแคมเป้ขอพบครับ เวลานี้เขายื่นรออยู่ที่โต๊ะเสมียนประจำวันครับ"

พอเอ่ยชื่อนายร้อยเอกมอลี่  ข้าพเจ้าติดจะมีความรู้สึกหนาว ๆ ขึ้นมานิด ๆ ความคิดวิ่งไปมาอย่างสับสน ตั้งคำถามตนเองว่ามันมาทำไม ราชการอะไร   ทำไมไม่ไปติดต่อกับ ร.ต.ต. สุพร ณ ระนอง เจ้าหน้าที่ติดต่อโดยตรง หรือมันจะมาหาเรื่อง ? คำถามเหล่านี้ข้าพเจ้าไม่สามารถตอบให้กระจ่างได้ จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้อง "ตีหน้า" ทำ "ใจดีสู้เสือ" สักครั้ง หากข้าพเจ้าปฏิเสธไม่ให้พบก็จะส่ออาการพิรุธ  ดั่งนั้นข้าพเจ้าจึงออกคำสั่งแก่นายสิบเวรอย่างห้วน ๆ ว่า

"ให้เขาเข้ามา"

นายสิบเวรถอยหลังออกไปไม่ถึงอึดใจ ร้อยเอกมอลี่ หัวหน้าแคมเป้พร้อมด้วยล่ามก็โผล่ประตูห้องทำงานมาหาข้าพเจ้า เขาหยุดที่ประตูห้องด้านใน โค้งให้ข้าพเจ้าอย่างงามที่สุดจนหัวเกือบจะจดพื้น มือขวากุมฝักดาบซามูไร สวมเครื่องแบบเป็นสักหลาดทั้งชุด รีดเรียบมองดูเป็นสง่าอย่างยิ่ง ใบหน้าของเขารูปไข่ ผิวขาวละเอียด ทรวดทรงก็กะทัดรัด ท่าทางเป็นผู้ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างสูง อาการของผู้ดีโผล่ให้เราเห็นอย่างชัดเจน ข้าพเจ้าลุกขึ้นแบมือขวาออกไปที่เก้าอี้ตัวหน้าโต๊ะทำงานของข้าพเจ้าเป็นการแสดงว่าเชิญให้เขานั่งที่นั่น เขาตรงมาที่เก้าอี้ตัวที่ข้าพเจ้าชี้ตามคำเชิญและคำนับน้อยๆอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนั่ง นายสิบเวรยกเก้าอี้เพิ่มเติมมาให้อีกตัวหนึ่งเพื่อให้ล่ามนั่งเคียงกัน ข้าพเจ้าก็เป็นฝ่ายเริ่มปราศรัยขึ้นก่อนว่า

"ขอโทษ, ท่านมีธุระอะไรไม่ทราบ?"

เจ้าล่ามตอบแทนโดยไม่มีการแปลว่า

"ท่านนายร้อยเอกมอลี่จะมาแจ้งความครับ..."

ข้าพเจ้าใจมาขึ้นถนัด รีบถามว่า "เรื่องอะไร ?" หัวหน้าสารวัตรทหารญี่ปุ่นเอามือล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบเอากระดาษแผ่นหนึ่งออกมาคลี่ เมื่อข้าพเจ้าเหลือบไปดูก็เห็นตัวเลขเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งจัดไว้เป็นพวก ๆ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้างงยิ่งขึ้น เขากล่าวขึ้นว่า

"ธนบัตรของกองทัพญี่ปุ่นหายไปบนรถไฟหลายสิบหีบ รวมเป็นเงินหลายสิบล้าน"

ข้าพเจ้ายังไม่หายจากอาการงง นอกจากจะเดาความเอาว่า ตัวเลขในแผ่นกระดาษที่เขาคลี่ออกมานั้นคือเลขบนธนบัตรที่หาย จึงถามขึ้นเบา ๆ ว่า

"หายเมื่อไหร่?"

"เมื่อคนนี้เอง"

"ที่ไหน?"

"สถานีท่าฉางและรายทางมาตามเขตติดต่อระหว่างสุราษฎร์และชุมพร"

เขานิ่งไปชั่วเวลาเล็กน้อย ล้วงเอาซองบุหรี่โลหะอันสวยสดออกจากกระเป๋าเสื้อนอก เปิดมันออกแล้วก็แบซองบุหรี่นั้นส่งมาให้ข้าพเจ้าหยิบเอาเอง ทำให้ข้าพเจ้าต้องบรรจงยิ้ม กล่าวขอบคุณเขาเบา ๆ และขอโทษอย่างสุภาพที่ข้าพเจ้าสูบบุหรี่ไม่เป็น ฟังเขาเล่าเรื่องต่อไป

"มีคนร้ายปีนเข้าไปในรถตู้ที่บรรจุหีบธนบัดร แล้วก็ถีบหีบธนบัตรนั้นตกเรี่ยราดตามรายทางรถไฟเป็นจำนวนหลายสิบหีบ มีบัญชีหมายเลขธนบัตรดั่งนี้..."

พร้อมกันเขาส่งกระดาษแผ่นนั้นให้ข้าพเจ้า ซึ่งแสดงตัวเลขรายละเอียดว่าเป็นธนบัตรฉบับละเท่าใด มีตัวเลขและตัวอักษรของหมวดตลอดจนหมายเลขประจ๋าธนบัตรนั้น ข้าพเจ้าพิจารณากระดาษแผ่นนั้นด้วยดวงตาอันเหม่อลอย เพราะข้าพเจ้าไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลย แต่คิดอยู่ว่าจะหาคำตอบเขาไปอย่างไรจึงจะเหมาะสม ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้ตอบไปตามระเบียบของตำรวจว่า

"ข้าพเจ้าจะได้พยายามสืบสวนหาตัวคนร้ายและเอาธนบัตรของกลางคืนให้ท่านให้จงได้ และโดยเร็วที่สุด"

เขายิ้มรับอย่างยิ้มย่องกล่าวขอบอกขอบใจข้าพเจ้ายกใหญ่ และยังได้อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า

"ธนบัตรทั้งหมดนั้นเป็นธนบัตรใหม่ทั้งสิ้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นกู้จากรัฐบาลไทย เมื่อพิมพ์เสร็จก็ส่งมาจากญี่ปุ่น ขึ้นจากเรือที่สิงคโปร์แล้วก็ลำเลียงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพ เมื่อบังเอิญหายไปเสียก่อนเช่นนี้ ทำให้กองทัพญี่ปุ่นต้องประสบอุปสรรคมากในเรื่องการซื้อของ...”

ข้าพเจ้ายิ้มเยาะอยู่ในใจ บัดนี้ญี่ปุ่นถูกนักเลงดีถีบหีบธนบัตรจำนวนมากมายลงจากตู้รถไฟซึ่งขบวนรถไฟนั้นกำลังแล่นอยู่ มันจะต้องเป็นกรณีหนึ่งที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเงินจำนวนนี้มากพอที่จะชะงักการใช้จ่ายของกองทัพลงได้ แต่การแสดงออกของข้าพเจ้าก็ได้ทำท่วงท่าว่าว่ามีความเห็นอกเห็นใจ และจะต้องเอาตัวคนร้ายมาลงโทษให้ได้ ซึ่งก็ทำให้หัวหน้าสารวัตรทหารผู้เรืองนามนั้นพอใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ความจริงใจของข้าพเจ้านั้นตรงกันข้าม รู้สึกว่าทำไมไม่ถีบให้ตกออกจากรถตู้ให้หมดเลย ข้าพเจ้าหาใส่ใจในเรื่องที่ได้รับแจ้งความนี้ไม่

การถูก “ขบวนการไทยถีบ” ลักลอบปล้นหีบบรรจุธนบัตรในเขตอำเภอท่าฉางถือเป็นเรื่องใหญ่และสร้างความกังวลอย่างมากให้กับกองทัพญี่ปุ่น ถึงขนาดที่หัวหน้าหน่วยบัญชาการในพื้นที่ต่างๆหรือ “หัวหน้าแคมเป้” ต้องมาติดตามสถานการณ์และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐของฝ่ายไทยด้วยตนเอง เพื่อต้องการที่จะจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ แต่ตามทัศนะของ เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันนท์ นายตำรวจผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยกลับมองการปฏิบัติการปล้นครั้งนี้อย่างชื่นชม เพราะถือเป็นการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นโดยชาวบ้านธรรมดาหรือที่เขาเรียกว่าเป็น “เสรีไทยสมัครเล่น” อีกทั้งไม่ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปจับกุมผู้ก่อเหตุเลย แต่ท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งก็ยอมรับว่าจงใจปล้นเพื่อตัดกำลังกองทัพญี่ปุ่นเสียมากกว่าการประพฤติตนเป็นโจรผู้ร้าย ดังเสียงเล่าของ เฉียบ ความว่า

เมื่อข้าพเจ้าทำการสืบสวนก็ทราบว่า หีบธนบัตรนั้นเกลื่อนไปตามทางรถไฟจนราษฎรตั้งชื่อธนบัตรรายนี้ว่า "แบงค์ท่าฉาง" เพราะมันถูกถีบลงที่สถานีท่าฉางมากกว่าแห่งอื่น เลขประจำธนบัตรก็มีอยู่พร้อมแล้วยังขาดอยู่ก็แต่ลายเซ็นของรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งมีเรื่องที่น่าขันเกิดขึ้นว่า ลายเซ็นในธนบัตรรุ่นนั้นจะต้องเป็นลายเซ็นของ "เล้ง ศรีสมวงศ์" แต่บังเอิญมีนักเลงดีคนหนึ่งไปแกะตรายางตอกชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบนธนบัตร "ท่าฉาง” ฉบับละหนึ่งร้อยบาทว่า "เล้ง อภัยวงศ์" ก็ทำให้เกิดความขบขันกันไม่ใช่น้อยแต่ก็ใช้กันได้ในท้องตลาด เพราะไม่มีใครเอาใจใส่ว่านามสกุลนั้นจะถูกต้องหรือไม่ สักแต่เป็น "วงศ์ๆ” แล้วก็อนุโลมว่าใช้กันได้ พ่อค้าก็นับธนบัตรที่เฟ้อกันในเวลานั้นเป็นหอบๆกันทีเดียว ไม่มีเวลาพอที่จะมาดูนามสกุลของรัฐมนตรี ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามสาวเรื่องจับตัวคนร้ายรายนี้ แต่ภายหลังก็ทราบว่าตำรวจสุราษฎร์สามารถจับตัวการได้ จากคำให้การของเขารับสารภาพและมีเหตุผลว่าเพื่อเป็นการตัดกำลังของญี่ปุ่น นี่แหละ "เสรีไทยสมัครเล่น" ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็น่าคิดถึงการกระทำของเขาว่า  หากเขาไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นนอกจากเจตนาอันบริสุทธิ์ดั่งที่เขาได้ให้การไว้กับเจ้าหน้าที่นั้น เขาจะเป็นวีรบุรุษของประชาชนได้หรือไม่?

แต่อย่างไรก็ดี การกระทำของเขาก็สอดคล้องกับความต้องการของเรา สารวัตรทหารญี่ปุ่นได้ทำการจับกุมคนไทยหลายคนที่มีของกลางไว้ในความครอบครอง โดยมากเป็นพนักงานรถไฟ เนื่องจากมีหน้าที่ตรวจทางด้วยรถโยก จึงได้ทำให้เขาไปพบสิ่งของเช่นนั้น แต่ดูเหมือน "แคมเป้" จะพอใจในการได้ของกลางคืนมากกว่าที่จะเอาตัวผู้ต้องหามากักขังไว้ให้เปลืองข้าวสุกเพราะพวกนี้ล้วนเป็นผู้ปลายเหตุทั้งนั้น

การค้าธนบัตร "ท่าฉาง" ในยุคนั้นเป็นที่เลืองลือมาก พวกนักเลงมีฝีมือและไม่มีฝีมือทั้งหลายก็กรูกันมาลงที่สถานีท่าฉาง ถามหาซื้อกันราวกับว่าหาซื้อเป็ดซื้อไก่ ต่อรองราคากันอย่างเปิดเผย ตำรวจของข้าพเจ้าก็ขึ้นล่องเอากับเขาด้วย ทำให้ร่ำรวยกันไปตามๆกัน นี่คือสภาพของสงคราม บางสิ่งถ้าเรากวดขันกันเข้าก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดขึ้น เช่นในกรณีนี้เป็นตัวอย่าง การจับผู้ต้องหาส่งให้ญี่ปุ่นหรือคืนของกลางให้ญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกิดผลดีอะไรให้แก่ประเทศชาติของเราเลย นอกจากว่า "มหามิตร" ของเราจะพอใจว่าเราเป็นสุนัขรับใช้ที่ซื่อสัตย์ต่อเขาเท่านั้นเอง

 


นายเล้ง ศรีสมวงศ์

 

เอ่ยนามของ เล้ง ศรีสมวงศ์ มาเสียตั้งหลายหนแล้ว ผมจึงใคร่ชวนคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเขาดูบ้าง

เล้ง ลืมตายลโลกหนแรกสุดเมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2443 เป็นบุตรชายของ นายประสิทธิ์ และ นางแก้ว หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2460 เขาก็สอบผ่านประโยคครูมัธยม แล้วไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นสอบได้เป็นนักเรียนทุนของกรมรถไฟหลวงรุ่นที่ 4 โดยเดินทางไปเรียนต่อด้านพาณิชยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ประเทศอังกฤษจนสำเร็จปริญญาตรีแล้วกลับมาเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวงช่วงปลายทศวรรษ 2460 เคยดำรงตำแหน่งประจำกองอำนวยการเดินรถ ต่อมาก็เป็นสารวัตรตรวจการเดินรถแขวงชุมพร

เล้ง ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน เพราะเขามีความคุ้นเคยกับ นายปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่ง นายปรีดี ก็ถือว่า เล้ง เป็น “เพื่อนที่รักคนหนึ่ง”

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว เล้ง ยังคงทำงานในกรมรถไฟหลวง แต่ก็มีบทบาทในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยเป็นตัวแทนอ่านคำแถลงการณ์ 18 ข้อว่าด้วยหลักการเลือกตั้งของ นายปรีดี ซึ่งขณะนั้นถูกเนรเทศให้ไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสจากกรณีที่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจหรือ “สมุดปกเหลือง”

เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เล้ง ก็มีอันต้องอำลากรมรถไฟหลวง ดังที่เจ้าตัวอธิบายว่า

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าถูกย้ายมาประจำกองเดินรถ และมีการปรับปรุงการบริหารของกรมรถไฟหลวงขนานใหญ่ โดยกระจายอำนาจให้ภาคมากขึ้น และรวมกองช่างกลกับกองเดินรถเข้าด้วยกันเป็นฝ่ายลากเลื่อน ในแผนปรับปรุงใหม่นี้ ย่อมมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกออกและถูกโยกย้ายหลายท่าน เริ่มต้นด้วยผู้บัญชาการกรมรถไฟเปลี่ยนเป็นพระยาสฤษดิการบรรจง ผู้อํานวยการเดินรถเป็นพระวิศการดุลย์รถกิจ ฯลฯ

ส่วนข้าพเจ้าถูกบรรจุตำแหน่งผู้จัดการพาณิชย์ เป็นตำแหน่งใหม่รับผิดชอบเรื่องรายได้ของกรมรถไฟทั้งหมด กิจการที่ดำเนินมาด้วยดี ในหน้าที่ของข้าพเจ้าได้ดำเนินการปรับปรุงทั้งด้านสินค้าและคนโดยสาร เพราะข้าพเจ้ามีคู่หูที่สำคัญคือคุณเกษม ศรีพยัคฆ์ ได้ทดลองเดินรถพิเศษท่องเที่ยวกรุงเทพ-เชียงใหม่ ไปกลับค่าโดยสาร ๑๐ บาท เป็นครั้งแรก นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม จนกระทั่งเกิดการกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ หรือที่ถูกควรเรียกว่า เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น พวกรถไฟโดยเฉพาะสายกรุงเทพ-โคราช เดือดร้อนที่สุดเพราะต้องทำหน้าที่ขนทหารทั้งสองฝ่าย และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกบฏไปด้วย

ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการพาณิชย์และรักษาการแทนผู้อํานวยการเดินรถ เพราะผู้อํานวยและการเดินรถไปเป็นผู้รักษาการแทนผู้บัญชาการรถไฟ ข้าพเจ้าจึงคุมการเดินรถทั้งหมด ทราบการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ เพราะขณะนั้นการคมนาคมและการสื่อสารต้องอาศัยรถไฟเกือบทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงต้องรับผิดชอบในการติดต่อกับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเจ้าคุณพหลฯ กับผู้บัญชาการกองผสมปราบกบฏ คือ หลวงพิบูลสงคราม ในการขนย้ายทหาร และการเคลื่อนไหวของทหารประจำแม่ทัพภาคต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้วกิจการรถไฟถูกกระทบกระเทือนทั้งทางทรัพย์สินและจิตใจพนักงานเป็นอันมาก เพราะหลายท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกบฏ

การสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นผู้ก่อการปี ๒๔๗๕ ทำงานรถไฟทุกคน คือ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ นายสพรั่ง เทพหัสดินฯ และข้าพเจ้า เขาให้ฉายาว่า ๔ เสือ เพราะคุมกิจการรถไฟทุกสาขา สอบสวนอยู่ ๒-๓ เดือน โดยมีพระยาอภัยสงคราม เป็นประธาน ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ผู้แทนผู้ถูกกล่าวหา และขุนสมาหารหิตคดี ผู้แทนผู้กล่าวหา เป็นกรรมการ สำหรับข้าพเจ้ามีข้อกล่าวหาอยู่หลายข้อ แต่ก็ไม่มีข้อผิดจะทำโทษได้ต้องเปลี่ยนกรรมการ ในที่สุดพระสารสาสน์พลขันธ์ เป็นประธานกรรมการ แล้วสั่งกรรมการว่าต้องเอาผิดให้ได้ จึงลงมติให้ตําหนิโทษที่ให้บ๋อยโรงแรมราชธานีออก และบรรจุเป็นพนักงานเก็บเงินในวันเดียวกัน ข้าพเจ้าสั่งอนุมัติตามข้อเสนอของผู้จัดการโรงแรมและรถสะเบียง หน้าที่เป็นพนักงานเก็บเงินอยู่ก่อนนานแล้วเพราะพนักงานคนนั้นทำแต่ทางราชการไม่

เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอลาออกจากราชการ อนุมัติแจ้งว่าข้าพเจ้ายังจะทำประโยชน์ให้แผ่นดินได้อีกมาก แต่เห็นใจที่จะอยู่กรมรถไฟจึงย้ายข้าพเจ้าไปอยู่กรมพาณิชย์ ส่วนอีกสามท่านก็ถูกย้ายจากกรมรถไฟไปอยู่กรมโยธาเทศบาล ข้าพเจ้าออกจากรถไฟคราวนี้ ได้คติอย่างหนึ่งคือ ความยุติธรรมไม่มีในโลกนี้ เมื่อทราบดังนี้แล้วว่าไม่มีความยุติธรรมจะไปหลงหาความยุติธรรมและไปหลงกล่าวหาว่าตนไม่ได้ ความยุติธรรมทําไมเพราะตั้งต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว จะไปให้มีได้อย่างไร

เล้ง ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2477 อีกสองปีถัดมาเขาไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์สิงคโปร์ พอปี พ.ศ. 2481 ก็ย้ายมาเป็นหัวหน้ากองประมวลบัญชี กรมบัญชีกลาง และในปี พ.ศ. 2484 เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง

ด้วยความที่สนิทสนมกับ นายปรีดี ซึ่งช่วงต้นทศวรรษ 2480 ครองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล้ง จึงเคยร่วมมีบทบาทในการก่อตั้งธนาคารกลางแห่งชาติด้วย ดังเขาเล่าว่า

พวกเราจึงต้องเริ่มศึกษาเรื่องพันธบัตร เพราะเป็นงานชิ้นใหม่ และรัฐมนตรีมอบให้ที่ปรึกษาการคลังคือ Mr. W.M. Doll เป็นที่ปรึกษาแนะนํา จึงได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันขึ้น ท่านรัฐมนตรีคลังหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นการพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งเพราะหลายยุคหลายสมัยมาแล้วได้ดําริที่จะตั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นชาวต่างประเทศไม่เห็นชอบด้วย โดยอ้างว่ายังไม่มีธนาคารพาณิชย์มากพอที่จะมีธนาคารกลางทำหน้าที่เป็นแม่ธนาคาร แต่คราวนี้ Mr. Doll กลับสนับสนุนความดําริที่จะตั้งธนาคารกลาง แต่ในขั้นแรกให้ทำในขอบเขตจํากัด โดยเฉพาะให้ดำเนินการเรื่องพันธบัตรเงินกู้ในประเทศ ๓ รายนี้ก่อนจึงได้มีการออก พ.ร.บ. สำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้น เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Thai National Banking Bureau (T. N. B. B.) ร่าง พรบ. ฉบับนี้ ได้อาศัยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยและเป็นหัวแรงสำคัญผู้หนึ่ง

สำนักงานธนาคารชาติไทยได้เปิดสำนักงานเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ ที่ตึกซ้ายมือประตูวิเศษไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง พระยาทรงสุรรัชฎ์ เป็นผู้อํานวยการ และข้าพเจ้าเป็นรองผู้อํานวยการเจ้าหน้าที่ก็อาศัยคนของกรมบัญชีกลางคัดเลือกมาช่วยทำงานเป็นส่วนมาก มีคุณประยูร วิญญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวแรงสำคัญรวมอยู่ด้วย สำนักงานได้เริ่มงานรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์และของราชการ เริ่มต้นด้วยธนาคารฮ่องกงแบงค์และจัดการเรื่องการกู้เงินในประเทศ

งานสำคัญของสำนักงานในขณะนั้นก็คือจัดการกู้เงินช่วยชาติ ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษ เพราะเมื่อสงครามโลกได้เริ่มจนมีคนรักชาติประสงค์จะช่วยชาติโดยให้เงินกู้ ให้จัดให้เสร็จทันที กับเรื่องการรับจ่ายและโอนเงินของบริษัทจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการรับเงินขึ้นของตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจังหวัด ณ คลังจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เป็นกิจการที่จะต้องวางระเบียบและต้องตรวจสอบโดยรัดกุมและรวดเร็วที่สุด กิจการที่ดำเนินมาด้วยดีตลอดจนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้ว หลวงประดิษฐมนูธรรมถูกไปเป็นผู้สำเร็จราชการ คุณพระบริภัณฑ์ฯ มาเป็นรัฐมนตรีคลัง

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารกลางแห่งชาติต้องถูกปิด แต่ในปี พ.ศ. 2487 เล้ง ก็ยังได้รับการเสนอชื่อจาก หลวงกาจสงคราม ซึ่งขณะนั้นรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด

ครั้น นายควง อภัยวงศ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 เล้ง ก็มีโอกาสก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

เช้าวันหนึ่ง ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ ได้มาหาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอร้องให้ร่วมรัฐบาลด้วยเพราะนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ลาออก และหลบไปอยู่ลพบุรี เมืองทหารของท่าน คุณควง อภัยวงศ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีเศรษฐการหรือคลังแล้วแต่จะตกลงกันภายหลัง การเป็นรัฐบาลชุดนี้เพียงปะทะหน้าจอมพล ป. ไว้เท่านั้น เพราะไม่ทราบว่าจะมีการประหัตประหารกันแค่ไหน เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เรียบร้อยประมาณสัก ๕-๖ เดือน จึงค่อยลาออกให้ท่านผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ม.ล.อุดม แจ้งว่ารายละเอียดต่าง ๆ คุณทวี บุณยเกตุ จะมาพบและหารือกันภายหลัง ขณะนี้กําลังติดต่อบุคคลที่จะมาเป็นรัฐบาลกันอยู่

ข้าพเจ้าไม่ทันรับหรือปฏิเสธ ม.ล. อุดม ก็รีบลากลับไป จึงมาคิดดูว่า ถ้าไม่รับก็จะเป็นการเห็นแก่ตัว เพราะได้เคยบ่นกับเพื่อนฝูงจนบางท่านรู้สึกรําคาญว่าเป็นนายธนาคารดีกว่าเป็นอธิบดีด้วยประการทั้งปวง เช่นความหนักใจในการงานก็น้อยกว่ากัน เพราะไม่มีนายมาก และอีกประการหนึ่งบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นคนขลาด เมื่อมีภัยอันตรายก็หลบ ไม่กล้าต่อสู้ เป็นการเอาตัวรอด แม้จะสํานึกว่าการเป็นรัฐมนตรีนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศ เหลือกําลังความสามารถก็ตาม ก็จําเป็นจะต้องรับเป็นรัฐมนตรีไปพลางก่อน

รุ่งขึ้นก็ถูกเชิญตัวให้รับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง และไปร่วมเขียนคําแถลงนโยบายที่บ้านท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ซึ่งท่านรับเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ข้าพเจ้าก็ได้เป็นรัฐบาลด้วยประการฉะนี้

พอเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 เล้ง ก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน นายควง

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในช่วงภาวะสงครามซึ่งทั้งประเทศเต็มไปด้วยกองทัพญี่ปุ่นนั้น เป็นสิ่งที่สร้างความหนักใจอย่างยิ่ง เพราะ “...แม่ทัพญี่ปุ่นบางคนอยากจะยึดครองเมืองไทยถึงกับตั้งป้อมขุดสนามเพลาะคุมเชิงกัน รัฐบาลจึงแบ่งเป็น ๒ พวก คือพวกเข้ากับญี่ปุ่นและพวกเสรีไทย เพื่อให้การปฏิบัติงานกับฝ่ายญี่ปุ่นได้สนิทสนม ไม่กระทบกระเทือนใจ

เล้ง ยังเปิดเผยความรู้สึกถึงการปฏิบัติงานในห้วงยามนั้นว่า

ข้อหนักใจของรัฐบาลก็คือ เมืองไทยถูกล้อมรอบด้าน ติดต่อได้แต่ญี่ปุ่นประเทศเดียว แต่ถึงกระนั้นการติดต่อก็ยิ่งลําบากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สินค้าก็ส่งไปขายต่างประเทศไม่ได้ส่งไปญี่ปุ่นก็ให้แต่เงินเยนขึ้นบัญชีไว้ เพราะญี่ปุ่นก็ไม่มีของมาแลกเปลี่ยน แม้อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลก่อนเปลี่ยนจากหนึ่งเป็นครึ่งมาเป็นหนึ่งเป็นต่อหนึ่งบาทก็ตาม ของภายในประเทศเริ่มขาดแคลนและแพงสูงขึ้นทุกวัน เคราะห์ดีที่อาหารการกินของเราสมบูรณ์ บ้านเมืองถูกระเบิดแทบทุกวัน ผู้คนบาดเจ็บล้มตายโดยรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร เพราะไม่มีอะไรจะช่วยเหลือได้ เป็นเพียงให้ความเห็นอกเห็นใจ ทุกข์ยากก็ไปอยู่กับราษฎร เช่น ใส่เสื้อเชิร์ทไปทำงานเท่านั้น

ของใช้ต่าง ๆ มีจำนวนจํากัด และจำนวนเงินในขณะนั้นเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของญี่ปุ่นทางฝ่าย Lord Louis Mountbatten ก็ขอร้องให้ผ่อนผัน อย่าเพิ่งรุนแรงเพราะเขายังไม่พร้อมจะยกทหารมาช่วยเหลือได้ ทางฝ่ายเราก็ต้องหวานอมขมกลืนและพยายามช่วยตัวเองเท่าที่สามารถจะช่วยได้

ในชั้นแรกได้ขอให้ญี่ปุ่นส่งทองคํามาให้เพื่อแลกธนบัตร เพราะการออกธนบัตรเพิ่มเรื่อยไปก็จะกลายเป็นเศษกระดาษ ไร้ค่า ในที่สุดญี่ปุ่นเห็นด้วย แต่เกิดปัญหาการขนส่ง เพราะทั้งทางเรือและทางบกคือเรือบินไม่ปลอดภัยทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้หลบหลีกขนมาได้รวมทั้งหมด ๒ ตัน พวกที่ค้าขายกับญี่ปุ่นทำมาค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีศัพท์ไทยในขณะนั้นว่า “เซ็ง” เกิดมีพวกเซ็งกันขึ้นมากมาย เพราะญี่ปุ่นไม่มีอำนาจรับของ หรือแข่งขันกันซื้อจากราษฎร ญี่ปุ่นใช้วิธีซื้อ และซื้อโดยไม่คำนึงถึงราคา ขอให้ได้ของมาได้เท่านั้น และจ่ายธนบัตรใบละ ๑๐๐ ใบละ ๑๐๐๐ ให้ พวกสมัยใหม่คือนักเซ็งลี้ จึงมีใบละพันพกกระเป๋ากันเกร่อ ข้าพเจ้าจึงได้เสนอพระราชกําหนดให้ธนบัตรราคา ๑๐๐๐ บาทเป็น พันธบัตรออมทรัพย์มีกำหนดไถ่ถอน ๑ ปี ดอกเบี้ยร้อยละ ๑ โดยยับยั้งราคาสินค้า และชะลอการออกธนบัตรใหม่ วัตถุประสงค์ข้อแรกได้ผลดี แต่ข้อหลังด้วยความจำเป็นต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็ไปลบล้างข้อแรกเกือบหมด

รัฐมนตรีคลังเป็นคนเหนื่อยที่สุด และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นรัฐมนตรีทุกคนก็ไม่มีใครถูกกล่าวหา และต่างเห็นใจกัน เพราะการกระทำครั้งนั้นแม้ไม่ได้ผลนัก แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีรัฐมนตรีคนใดเห็นแก่ได้แพร่งพรายเรื่องนี้ ถึงใครจะด่าว่าด้วยความโมโหโทโษ ซึ่งเป็นของธรรมดา แต่ในที่สุดก็เห็นใจรัฐบาล...

แท้จริงแล้ว ช่วงเวลาที่ เล้ง สวมบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือว่าไม่นานนัก เพราะพอสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ก็หลุดพ้นจากตำแหน่งนี้ ซึ่งคล้ายกับว่าเขาได้ปลดเปลื้องความหนักอกหนักใจออกไป

เดิมเมื่อแรกเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรี ก็ได้ไปกราบพระแก้วมรกต และเมื่อออกจากรัฐมนตรี ก็ได้ไปกราบลา และนึกปฏิญาณในใจว่า จะไม่ยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะการรับใช้ชาตินั้น ไม่จําเป็นจะต้องรับตำแหน่งการเมืองเสมอไป การลงเรือในลำเดียวกันแล้วจะต้องพึ่งนายเรือคนเดียว แม้เรือจะชนฝั่งก็ตามนั้น ลําบากใจอย่างยิ่ง แม้ตอนหลัง ๆ จะมีท่านนายกรัฐมนตรีหลายท่านจะมาขอร้องให้ร่วมรัฐบาล ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธเด็ดขาดทุกราย

กระนั้น มิอาจปฏิเสธได้เลยว่านามของ รัฐมนตรีเล้ง ได้กลายเป็นที่ลือลั่นไปทั่วประเทศและตราตรึงแนบแน่นความทรงจำของคนไทย ก็เนื่องมาจากกรณี “เล้งท่าฉาง” นั่นเอง

ช่วงต้นทศวรรษ 2490 เล้ง ยังได้รับบทบาทสำคัญคือการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ย่อมมิแคล้วพื้นที่สำคัญในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะยังไม่ค่อยเป็นที่รับทราบกันทั่วไปในวงกว้างสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนโดยชาวบ้านธรรมดา อันเป็นที่มาของธนบัตรที่ถูกเรียกขานว่า “เล้งท่าฉาง”

 

หมายเหตุ :

  • คงรูปแบบการสะกดและการอ้างอิงตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง :

  • “แจ้งความกระทรวงมหาดไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 (9 สิงหาคม 127). หน้า 569
  • เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์. มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า. พระนคร : รวมสาส์น, 2501
  • ชาย ไชยกาล.พันเอก. ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น. พิมพ์เป็นอภินันทนาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พณฯ พลเอกหลวงเสนาณรงค์ องคมนตรี 7 กันยายน 2498. พระนคร: โรงพิมพ์พานิชกิจ, 2498.
  • "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกฐานะกิ่งอำเภอท่าฉางเป็นอำเภอและยุบอำเภอพระแสงลงเป็นกิ่งอำเภอ.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 (1 สิงหาคม 2481). หน้า 1321–1322.
  • “พระราชกริสดีกา กำหนดป่าเลนน้ำเค็ม ในท้องที่ตำบนท่าเคย ตำบนท่าฉางและตำบนเขาถ่าน อำเพอท่าฉาง จังหวัดสุราสดร์ธานี ไห้เปนป่าคุ้มครอง พุทธสักราช 2486.” ราชกิจจานุเบกสา. เล่ม 60 ตอนที่ 16 (23 มีนาคม 2486). หน้า 579-581.
  • รวินทร์ คำโพธิ์ทอง. “การต่อสู้ในระบบรัฐสภาครั้งแรกของปรีดี พนมยงค์ เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475.” สถาบันปรีดี พนมยงค์  PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (19 เมษายน 2566)
  • ลาวัณย์ โชตามระ. ชีวิตชาวกรุงเมื่อค่อนศตวรรษมาแล้วและชีวิตชาวกรุงสมัยสงคราม. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2527
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 12 มีนาคม 2524. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2524.