ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การแก้ไขปัญหาความยากจนในวิสัยทัศน์และแนวปฏิบัติของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

25
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ปัญหาความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นปัญหาสำคัญตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยนโยบายของคณะราษฎรภายใต้หลัก 6 ประการ
  • เค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองของนายปรีดี พนมยงค์ ถูกเสนอต่อรัฐบาลในฐานะของโครงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ หากในบริบทการเมืองช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้สมุดปกเหลืองถูกการเมืองบดบังอรรถประโยชน์ และไม่ได้รับการยอมรับ หากต่อมาหลักการสำคัญทางเศรษฐกิจหลายประการได้นำมาประยุกต์ใช้ อาทิ การเปิดธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

ปัญหาความยากจนของราษฎรเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ราษฎรยากจนมีจำนวนมากประเทศก็จะได้ชื่อว่ายากจนไปด้วย ปัญหาความยากจนของราษฎรเป็นสาเหตุหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากหลัก ๖ ประการ ที่คณะราษฎรกำหนดเป็นหลักการบริหารประเทศ คือ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

 


การอภิวัฒน์สยาม 2475

 

เมื่อคณะราษฎรได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือเป็นมันสมองของคณะราษฎร ก็ได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาล

 

 

เค้าโครงการเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

เค้าโครงการเศรษฐกิจ นับว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์และเป็นสาเหตุให้ ดร.ปรีดีฯ ถูกรัฐบาลขณะนั้นกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และ ดร.ปรีดีฯ ถูกบีบบังคับให้ไปอยู่ต่างประเทศ อีกนัยหนึ่งก็ว่าเป็นแผนกำจัดคณะราษฎร ดร.ปรีดีฯ เป็นมันสมองของคณะราษฎร ถ้ากำจัด ดร.ปรีดีฯ ไปเสียได้ก็กำจัดคณะราษฎรได้

 


นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งออกเดินทางไปฝรั่งเศสในปี ๒๔๗๖ ภายหลังวิกฤตในการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ

 

เมื่อดร.ปรีดีฯ ถูกรัฐบาลขณะนั้นส่งตัวให้ไปอยู่ฝรั่งเศส พูดง่าย ๆ คือส่งตัวไปให้พ้นจากประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมารัฐบาลใช้อำนาจไปในทางไม่เป็นประชาธิปไตย มีการปิดสภาผู้แทนราษฎร ไม่เปิดประชุมและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ต่อมาเช้าตรู่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๖ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมนายทหารคณะราษฎรเดิมเข้ายึดอำนาจอีก (ขณะนั้น) แล้วจึงได้ปรับปรุงเป็นโครงสร้างครั้งบีบบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกแต่โดยดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี

พันเอกพระยาพหลฯ ขอพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญดร.ปรีดีฯ กลับประเทศไทย ได้รับพระบรมราชานุญาตและแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ดร.ปรีดีฯ ไม่ยอมรับตำแหน่งจนกว่าจะได้มีการสอบสวนว่าตนมีความผิดหรือไม่ในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวน ผลการสอบสวนดร.ปรีดีฯ ไม่มีความผิดในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แต่ประการใด และได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็ได้ผลักดันให้ใช้เค้าโครงเศรษฐกิจในการบริหารเศรษฐกิจ

ดร.ปรีดีฯ ได้ทุนรัฐบาลไปศึกษากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้รับปริญญาเอกทางด้านนิติศาสตร์และได้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วยจนได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีส ดร.ปรีดีฯศึกษาอยู่ในยุโรป ๗ ปี ย่อมได้ศึกษาการบริหารประเทศในทวีปยุโรป ทั้งในทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทวีปยุโรป ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี

 


คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีครั้งแรก จำนวน ๒๐๐ ฉบับ

 

คราวนี้มาดูเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ ดร.ปรีดีฯร่างมีหลักการในสาระสำคัญดังนี้

๑. ดร.ปรีดีฯ ยอมรับว่าได้หยิบเอาส่วนดีของลัทธิต่างๆ ที่เหมาะสมแก่ประเทศสยาม (ขณะนั้น) แล้วจึงได้ปรับปรุงเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ

๒. รัฐบาลต้องไม่ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีประชาชนที่มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพของตนได้ก็ประกอบอาชีพของตนไป ราษฎรที่ไม่มีงานทำรัฐบาลก็จะจัดหางานให้

๓. เค้าโครงเศรษฐกิจเป็นเพียงร่างปรับปรุงแก้ไขได้

๔. รายละเอียดในเค้าโครงเศรษฐกิจ มีดังนี้

๔.๑ ใช้หลักการสหกรณ์ประกอบการเศรษฐกิจตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

๔.๒ รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองในรูปสหกรณ์ (ไม่ตัดสิทธิราษฎรประกอบธุรกิจตามความสามารถ)

๔.๓ รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

๔.๔ รัฐบาลจัดตั้งโรงงานให้ราษฎรมีงานทำ

๔.๕ วางแนวทางการจัดหา ที่ดิน แรงงาน และเงินทุน

๔.๖ จัดให้มีแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

๔.๗ การจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ ทำหน้าที่ธนาคารกลาง

 


นายปรีดี พนมยงค์ เปิดธนาคารแห่งชาติ

 

โดยที่ในเบื้องต้น ดร.ปรีดีฯ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คงเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลพันเอกพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ดร.ปรีดีฯ ก็ได้ผลักดันกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ เค้าโครงเศรษฐกิจบางอย่างออกไปใช้ได้ ที่สำคัญคือ ช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีงานทำ โดยการจัดตั้งสหกรณ์นิคมสร้างตนเองขึ้นทั่วประเทศ คัดเลือกราษฎรที่ยากจนเข้าเป็นสมาชิกของนิคม

หลักการดำเนินการของนิคมสร้างตนเองพอสรุปได้ว่า รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในที่ว่างเปล่าของทางราชการ แล้วรับสมัครคัดเลือกราษฎรที่ยากจนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เข้าอยู่ในนิคมโดยจัดสรรที่ดินให้ทำกินอยู่ในนิคม ช่วยสร้างบ้านเรือนที่อาศัยให้จัดทำถนนในนิคม น้ำ ไฟฟ้า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและคุ้มครองความปลอดภัยให้ จัดหาสถานที่เรียนให้บุตรหลาน และช่วยหาตลาดและจัดจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกนิคม เป็นการอำนวยประโยชน์และความสะดวกแก่สมาชิกฯ ราษฎรที่เป็นสมาชิกนิคม มีความผาสุขและมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

สหกรณ์นิคมสร้างตนเอง เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ องค์การสหประชาชาติมีมติก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นซึ่งเป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบันนี้ ใช้หลักการสหกรณ์นี้พัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศและประชาชน โดยจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นทั่วประเทศและให้ชาวยิวซึ่งกระจัดกระจายทั่วโลกเข้าไปอยู่ในประเทศและสมาชิกสหกรณ์ได้ดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นผลดีอำนวยประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศและการป้องกันประเทศด้วย เพราะราษฎรอยู่กันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนง่ายต่อการฝึกอบรมประชาชนเป็นกำลังป้องกันประเทศ สหกรณ์ของประเทศอิสราเอลได้ดำเนินการอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

การดำเนินการตามแผนในเค้าโครงเศรษฐกิจของ ดร.ปรีดีฯ อีกประการหนึ่งก็คือ การจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ ทำหน้าที่ออกธนบัตรหรือเป็น “ถุงเงินแห่งชาติ” และทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ ธนาคารแห่งชาติ คือธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

เนื่องจากเวลาในการบริหารงานของดร.ปรีดีฯ มีน้อย จึงยังยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนในเค้าโครงเศรษฐกิจอีกหลายประการ เช่น การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรหรือการประกันสังคมนั่นเอง และการจัดตั้งโรงงานให้ราษฎรมีงานทำ แต่รัฐบาลต่อ ๆ มาก็ได้จัดทำขึ้น เช่น การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ส่วนการประกันสังคมรัฐบาลต่อมา ก็ได้นำมาใช้เมื่อประมาณ ๒๐ ปีเศษที่ผ่านมานี้ สหรัฐอเมริกาได้เป็นแบบอย่างในการใช้ก่อน โดยประกาศใช้เป็นกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หลังจากที่ ดร. ปรีดีฯ ได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจได้เพียง ๓ ปี การจัดตั้งโรงงานให้ราษฎรมีงานทำก็ได้จัดตั้งในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ

กล่าวโดยสรุปเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ดร.ปรีดีฯ ดังที่ได้วิเคราะห์มาแล้วเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจประเทศชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรในรูปแบบของสหกรณ์นิคมสร้างตนเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลต่อมาไม่ได้ดำเนินการขยายผลต่อเนื่องอย่างประเทศอิสราเอล อย่างไรก็ตามสหกรณ์นิคมสร้างตนเองที่ดำเนินการสมัย ดร.ปรีดีฯ ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ๔๔ แห่ง มีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน

รัฐบาลในสมัยต่อ ๆ มาส่วนใหญ่ก็ตระหนักดีว่าราษฎรโดยส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่และแทบทุกรัฐบาลก็มีนโยบายในการแก้ไขความยากจนด้วยมาตราการต่างๆ กัน แต่ผลจะออกมาเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ดีก็นับว่าเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลเห็นพ้องในหลักการกับหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยหางานให้ราษฎรมีงานทำ วางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

 

ผมขอแก้รัฐธรรมนูญด้วยคน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงแม้จะใช้มาเพียงไม่กี่ปีแต่ก็มีจุดบกพร่องในทางปฏิบัติ จึงมีผู้เสนอว่าควรแก้ไขในประเด็นบกพร่องดังกล่าว

ผมเคยวิเคราะห์ข้อเสนอดังกล่าวก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ประเด็นที่ผมจะเสนอแก้ตังต่อไปนี้มิไม่เห็นมีใครพูดกัน คือผมเห็นว่าจำนวน ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี และคณะกรรมการอิสระทั้งหลาย มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจทั้งด้านการเมืองและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เรามีจำนวนมากกว่าเขาเสียอีก

ผมจึงเสนอว่า ส.ส. ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อรวมกันไม่ควรเกิน 300 คน ส.ว. ไม่ควรเกิน 100 คน คณะรัฐมนตรีไม่ควรเกิน 30 คน ลองเทียบกับประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ดูซิครับ ข้อเสนอของผมน่าจะเหมาะสม นอกจากนี้คณะกรรมการอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะมีเพียง 7 หรือ 9 คน ก็น่าจะพอเพียง

ถ้าทำตามที่ผมเสนอ เราจะลดงบประมาณได้มาก เพราะนอกจากเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษของท่านเหล่านั้น ยังมีตำแหน่งข้างเคียงอีกจำนวนมากที่จะลดลงได้

ยิ่งกว่านั้น ถ้าสมาชิกสภาทั้งสองมีเพียง 400 คน ก็ไม่ต้องเสียงบประมาณสร้างสภาแห่งใหม่ เพราะสภาปัจจุบันก็เพียงพอแก่การปฏิบัติงานและสถานที่ตั้งก็เหมาะสมกับประวัติศาสตร์เพราะอยู่ใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคมครับ

ใครเห็นด้วยกับผม ช่วยลอบบี้นักการเมืองให้เสนอแก้ให้ด้วย

เสนอโดย นายกล้า รักความจริง

 

 

 

หมายเหตุ :

  • สอาด พิมพ์สวัสดิ์ ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๘ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • คงอักขร การสะกดคำ และเลขไทยตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • สอาด พิมพ์สวัสดิ์, “การแก้ไขปัญหาความยากจนในวิสัยทัศน์และแนวปฏิบัติของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์”, ใน ปรีดีสาร ฉบับพิเศษ, (มิ.ย. 2547): 105-108.