ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ภาพยนตร์แนวมนุษยนิยมกับสังคมร่วมสมัย

20
มกราคม
2566

 

“เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15  (World Film Festival of Bangkok 2022 : Return to Cinema) หนังกว่าครึ่งที่ถูกคัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล นำเสนอเรื่องราวของแม่กับลูกและความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างตั้งใจจะสื่อว่า หน้าที่ของผู้ให้กำเนิดและความเป็นครอบครัวคือฐาน ด่านแรก และฟันเฟืองที่สำคัญของสังคม โดยเฉพาะหนังบางเรื่องจะชัดเจนตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย เช่น Mother and Son, Tora’s Husband, Tchaikovsky’s Wife ฯลฯ

แม้บางเรื่องจะมีชื่อเป็นนามธรรมก็ล้วนลึกล้ำในความหมายของความเป็นครอบครัว เช่น A Hundred Flowers, The Cord of Life, Love Life ฯลฯ โดยเน้น content ที่สามารถแบ่งหนังออกได้เป็นสองกลุ่มตามลำดับพัฒนาการของมนุษย์ กลุ่มหนึ่ง การให้กำเนิด ความรักความผูกพันสายเลือด และสายใย เป็นฐานสำคัญที่ส่งผลถึงทุกสายสัมพันธ์ เพราะมันคือแหล่งบ่มคมปัจเจกเอกอัตลักษณ์ ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเรียนรู้และต่อสู้เพื่อจะอยู่ในสังคม ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มสองคือ วิถีที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อชุดความคิดและพฤติกรรม เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระหว่างคนกับสังคม ประเพณี วัฒนธรรม หนังมีรูปแบบและจังหวะของการเล่าเรื่องที่นิ่งเรียบเฉียบลึก ตกผลึกด้วยรายละเอียดของงานสร้างที่ประณีต จนรู้สึกเหมือนจะสัมผัสได้ถึงเสียงหายใจของทารกน้อยในครรภ์ของแม่ แม้หนังไม่ได้สรรภาพให้ปรากฏหรือบทไม่ได้เอ่ยถึงเลยก็ตาม

 

The Cord of Life สายใยแห่งชีวิต (China)

เขียนบท กำกับ : QAO Sixue  

 


โปสเตอร์จากภาพยนตร์ เรื่อง “The Cord of Life” สายใยแห่งชีวิต
ที่มา : Tokyo International Film Festival

 

หนังให้ความสำคัญระหว่างคนกับธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียว ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยแปลกตาบรรยากาศสงบงามตามวิถีวัฒนธรรม

อาลุสมีเพื่อนสาวที่เข้ามาช่วยดูแลความเป็นอยู่อย่างผู้นำชุมชน ช่วยให้คนสับสนอบอุ่นใจ พัฒนาความสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป มีแม่เป็นความห่วงใยร่วมกัน

 

 

หนังบอกเล่าประเด็นละเอียดอ่อนของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ให้ความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนมากเมื่อคนเป็นลูก คือ ชายหนุ่มปรนนิบัติแม่ แม้กระทั่งฉากการตายก็ฉายภาพอุดมคติด้วยภาษาภาพยนตร์บนพุทธปรัชญาได้ประณีต เตือนให้เตรียมใจด้วยอุบัติเหตุรถชนบ้านผนังแตกทะลุ คนชนซ่อมแล้วได้ประตูเพิ่มอีกด้านเป็นอีกทางออกที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอกดีงาม ได้เห็นชีวิตอีกด้านที่จะต่างออกไป ให้ฑูตสวรรค์บรรพบุรุษมาปรากฏกายก่อนแม่ตาย โปรยปรายเสียงเพลงไพเราะด้วยดนตรีพื้นเมือง ในวาระพิเศษทางวัฒนธรรมขณะทุกคนกำลังเต้นรำรอบกองไฟ ฑูตสวรรค์บรรพบุรุษปรากฏกายอีกครั้งมารับคุณยายขณะกำลังกรีดกรายร่ายรำ เสมือนคำปลอบใจว่าแม่จากไปสู่ความสุข

หลังการตายของแม่อาลุสออกเดินทางค้นหาต้นไม้ครึ่งเป็นครึ่งตายที่แม่รอวันจะได้เห็นนักหนา พบว่ายืนต้นอยู่อย่างสงบสง่างามท่ามกลางทะเลทราย เหมือนจะฝากไว้ให้ลูกคิด ทุกสิ่งในโลกในชีวิตล้วนมีสองด้าน การดำรงอยู่ของทุกชีวิตก็เช่นกัน ที่สำคัญทุกวันเราต่างอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย “ไม่มีดอกไม้ใดบานในท้องทุ่งได้ตลอดไป” ไม่มีอะไรอยู่กับเรานานไม่ว่าสุขหรือทุกข์ คือคำอธิบายที่มากความหมายแทนสัจธรรม ที่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ตามพุทธธรรม

 

 

Stonewalling 2565 (Japan)

ผู้กำกับ : Huang Ji, Ryuji Otsuka

 


โปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่อง “Stonewalling”
ที่มา : IMDb

 

Stonewalling เรื่องจริงของคนหนุ่มสาวยุคทุนนิยม บริโภคนิยมครองโลก ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักศึกษาสาวที่สมัครใจใช้ประโยชน์จากวัยและเรือนร่างแลกรายได้ มีความเป็นภาพยนตร์สารคดีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้อยู่กับภาวะแวดล้อมที่หลอมให้พวกเขาเป็นนักล่าฝัน ซึ่งปั้นจากกลลวงของธุกิจที่กลืนกินชีวิตด้วยยอดขาย เพื่อแลกกับความสุขสบาย หรูหรา ฟุ่มเฟือย และฉาบฉวย ในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Gig Economy[1] ซึ่งมีที่มาจากสถานการณ์วิกกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แล้วพัฒนามาเป็น Gig Worker หลังโรคระบาดโควิด-19 บิดชีวิตคนให้เปลี่ยนไปพอใจจะทำงานอิสระมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

ภาพยนตร์เล่าเรื่องแบบ Semi-Documentary ผ่านการวางแผนชีวิตของคู่รักหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นอยู่ร่วมกัน “ลินน์” เด็กสาววัยต้น 20 กับสามีที่พยายามจัดการให้เธอพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนภาษาอังกฤษและรับงานดีๆ ที่เขาแนะนำให้ในแวดวงแฟชั่นหรู แต่เธอต้องการเรียนเพื่อเป็นแอร์โฮสเตส แล้วพบว่าเส้นทางนี้ไม่ง่ายเลย

บทฉลาดส่งตัวเลือกที่ท้าทายเข้ามาซึ่งเหมาะมากกับธีม ของเรื่องนั่นคือการ “ขายไข่” ให้กับผู้หญิงที่มีลูกยากและต้องการไข่จากรังไข่ในมดลูกของหญิงอื่นไปผสมเทียมเพื่อตัวเองให้กำเนิดลูกได้ แล้วการพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็กลายเป็นอุปสรรค์ให้ลินน์ต้องเลือกระหว่างอาชีพที่คิดว่าก้าวหน้าสามารถทำเงินมาก กับความเป็นแม่ในวัยที่ควรแสวงหาเรียนรู้ โลกมอบประสบการณ์ใหม่หลังตั้งครรภ์เป็นบทเรียนสำคัญแก่ลินน์เมื่อสามีไม่เห็นด้วยกับการมีลูก เพราะจะขัดขวางแผนสร้างอนาคตของเขา

ลินน์ตัดสินใจกลับบ้านด้วยความสับสน แต่กลับพบปัญหาหนักเพิ่มขึ้นเมื่อแม่ของเธอผู้เป็นเจ้าของคลินิกสูตินรีทำให้คนป่วยต้องยุติการการตั้งครรภ์ ลินน์ตัดสินใจมอบลูกในครรภ์ให้กับคนไข้เพื่อชดเชยแทนค่าเสียหายที่แม่ต้องจ่ายเดือนละหนึ่งหมื่นห้าเป็นเวลาสองปี คู่กรณีใส่ใจให้คุณภาพชีวิตที่ดีขณะลินน์อุ้มท้อง แต่ต้องเสี่ยงที่อาจถูกเบี้ยวต่อข้อตกลงได้ หากเขาเปลี่ยนไปเพราะไม่ไว้ใจความปลอดภัยจาก โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักในจีน ไม่ใช่เพียงภาพสะท้อนสังคมจีนยุคใหม่ แต่เป็นปัญหาทั่วไปของมนุษยชาติที่กำลังเผชิญร่วมกันทั้งโลกไม่แตกต่างเลย ทั้งเรื่องครอบครัวและสังคม

 


ที่มา : Giornate Degli Autori.com

 

ลินน์ตัดสินใจบอกความจริงกับคู่รัก เขาไม่คัดค้านทั้งเรื่องลูกและการแยกทางของสองคน หนังให้รายละเอียดเร้าคนดูได้ลุ้นอยู่ตลอด ต่อการตัดสินใจสะสางปัญหาที่ตัวละครพบเจอ ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวเราและรับรู้กันอยู่ทุกวัน

ลินน์ถูกวางบทบาทให้เป็นวัยรุ่นที่ไม่ฉาบฉวย ด้วยบุคลิกที่สุขุมลุ่มลึกของเธอบอกความมีวุฒิภาวะ พยายามจะแก้ปัญหาทั้งของตัวเองและครอบครัว โดยมีแม่สุดยอดนักขายคอยประคองอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำซ้ำเติมเพิ่มความกดดันด้วยภาพการดำรงชีพของคนยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการตลาดที่ขาดจริยธรรมนำนโยบาย

บทให้รายละเอียดอย่างชัดเจนเรื่องสุขภาวะของความเป็นแม่กับการรับมืออย่างยากลำบากในช่วงตั้งครรภ์และขณะคลอด แต่จบอย่างจงใจที่จะไม่กล่าวถึงภาวะหลังคลอด กับชะตากรรมที่ตัวละครต้องเผชิญในวันส่งมอบทารก เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับกับปัญหาของการเลี้ยงดู ระหว่างรอคู่กรณีมารับลูก เพียงภาพที่ลินน์พยายามตะกายออกจากรถพร้อมทุบอกเหมือนหายใจไม่ออก กับเสียงร้องของลูก คนดูก็ถูกกดให้หดหู่บีบหัวใจจนไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายใดๆ อีกเลย

 


ที่มา : Giornate Degli Autori.com

 

RETURN TO SEOUL (France-South Korea-Cambodia-Germany-Belgium) 

เขียนบทและกำกับ : Davy Chou

 


โปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่อง RETURN TO SEOUL
ที่มา : IMDb

 

ภาพยนตร์เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาล Cannes Film Festival (2022) ในหมวด Un Certain Regard และเป็นตัวแทนชิงรางวัลออสการ์จากประเทศกัมพูชา เล่าเรื่องราวของ Freddie หญิงสาววัยเบญจเพศเชื้อชาติเกาหลีสัญชาติฝรั่งเศส เพราะได้รับการอุปการะโดยคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ยังเด็กก่อนที่ทั้งคู่จะให้กำเนิดทายาท

เธอหาทางกลับไปยังเกาหลีใต้แผ่นดินแม่เพื่อตามหาบุพการีที่แท้จริงถึงสามครั้ง ในแต่ละคราวบอกช่วงเวลาและพัฒนาการที่เปลี่ยนไป บทบอกถึงบาดแผลลึกในใจให้เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน เหมือนแผลเป็นที่ไม่มีวันลบเลือนแม้ปีเคลื่อนเดือนคล้อย ด้วยการร้อยรายละเอียดของการกลับมาแต่ละครั้งเหมือนต้องการทั้งขุดและฝังตัวตนที่ไม่มีใครต้องการอย่างหาญกล้า แม้ว่าการเผชิญความจริงแต่ละครั้งคือความเจ็บปวด

ครั้งแรกเธอเป็นคนแปลกของสังคมเอเชีย เพราะไม่ยอมรับและเข้าใจขนบธรรมเนียมดีงามตามที่ควรศึกษาก่อนกลับบ้านเกิด การทำเรื่องขอพบพ่อแม่ทางการอนุมัติคำร้องขอได้เพียงสามครั้งต่อปีหากยังไม่มีคำตอบ แต่หากคำตอบที่ได้คือการปฏิเสธที่จะให้พบในครั้งแรกคือจบปิดเคส พ่อยินดีให้พบพร้อมกับการต้อนรับของครอบครัวใหม่ที่ดูเหมือนจะใส่ใจเป็นพิเศษ แต่เธอยังรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน และไม่เห็นความสำคัญของน้ำใจพ่อ

Freddie ได้รับทราบเหตุผลที่เธอถูกทิ้งไว้กับสถานรับอุปถัมภ์ทารกเพื่อส่งต่อให้ผู้ยินดีอุปการะ พ่อพาไปดูบ้านย่านอาศัยพร้อมคำบอกเล่าว่าทำไมเขาต้องอยู่ที่นั่น แต่แม่ของเธอต้องการใช้ชีวิตในเมืองเพื่อความรุ่งเรืองก้าวหน้า ลูกจึงเป็นอุปสรรคหลังการแยกทาง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยิ่งต้องการพบแม่มากขึ้น เหมือนต้องการคำตอบที่ฝังลึก “ทำไมถึงใจร้ายกับลูกได้ขนาดนี้”

ในขณะที่พ่อพยายามติดต่อเธอเป็นระยะ ด้วยการส่งข้อความที่น่ารำคาญแทนความห่วงใยจากหัวใจที่สำนึกผิด ทั้งร้องเท้าบัลเลต์ที่พ่อเลือกซื้อให้เป็นที่ระลึกในวันแรกที่พบกัน แต่เธอไม่ได้ใส่ใจกับมันเพราะไม่ชอบ และคลิปเสียงที่บอกความพยายามในการฝึกเรียนด้วยตัวเอง ส่งไปให้พร้อมความรู้สึกห่วงใยที่เธอรำคาญ คือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนจากใจพ่อ ผู้พยายามทำความเข้าใจลูกผู้เติบโตมาในฝรั่งเศส แต่เขาใช้ชีวิตในขอบเขตเพียงแค่นี้ มีศิลป์ชั้นสูงเป็นสื่อ ตามมาตรฐานสังคมที่นิยมตะวันตก และรู้สึกผิดบาปต่อการกระทำที่ไม่รับผิดชอบชีวิตที่ให้กำเนิดในอดีต ภาพยนตร์กรีดความเจ็บช้ำผ่านการกระทำที่สำมะเลเทเมาของสองชีวิตที่ต่างคิดต่างอยู่ ขณะที่ทั้งคู่เฝ้าคอยคำตอบจากผู้เป็นแม่

 


ที่มา : Yorck Kinos 

 

ครั้งที่สองของการพบพ่อ มีญาติกับล่ามมาเพิ่มด้วยช่วยสานสัมพันธ์ Freddie ให้เวลากับเพื่อนและสังคมวัยรุ่นเกาหลีอย่างช่ำชองใช้ชีวิตโชกโชนอยู่กับผับบาร์ เลือกคู่เดตเป็นนายหน้าค้าอาวุธ จุดประกายให้เธอใช้เป็นอาชีพด้วยความภูมิใจโดยไม่แคร์เงื่อนไข “คนที่จะทำอาชีพนี้ ต้องสามารถลบอดีตตัวเองได้” เหมือนจะยึดอาวุธไว้เข่นฆ่าความเศร้ารุนแรงที่แฝงอยู่ทุกอณูเนื้อในให้ราบคาบ พร้อมปราบสิ่งนี้ด้วยวิธีประชดชีวิตทั้งยาเสพติดและผู้ชาย ยื่นจดหมายถึงแม่อีกครั้งแต่ยังไร้คำตอบ ชีวิตมอบบทเรียนร้าวลึกมากขึ้น

ครั้งที่สามของการกลับมา Freddie มีลุครวยหรูพร้อมคู่รักที่ดูเหมือนจะเป็นครอบครัวลงตัวตามวัย แม้ไม่ใช่อย่างที่ควรจะเป็น แต่ยังไม่ทิ้งความตั้งใจอันเป็นที่สุดของปรารถนาคือการตามหาแม่ เมื่อถึงวันนัดพบภาพยนตร์ดึงจังหวะให้เนิบช้าในฉากเผชิญหน้ากับแม่ แทนความรู้สึกทัดทานทุกวินาทีให้ยาวนาน สมานแผล ปลดปล่อยปมในใจ แท้จริงแล้วลูกต้องการเพียงรับรู้การมีอยู่ ต่อสู้เพื่อไออุ่นจากอ้อมกอดแม่แค่ครั้งเดียวก็ช่วยเยียวยาให้ก้าวต่อไปเป็น “คนเต็มคน” มีตัวตนที่รู้จักโลกและเข้าใจชีวิตอย่างที่เป็นได้ ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น

ภาพยนตร์ปิดเรื่องด้วย Look สุดท้ายที่บอกพัฒนาการของ Freddie เธอกลับบ้านเกิดอีกครัง แบบนักเดินทางที่พร้อมจะท่องทั้งโลกภายนอกและโลกภายในที่ไม่ใช่อบายภูมิเหมือนที่ผ่านมา วันกลับก่อนออกจากที่พักในชนบท เธอกดโน้ตเล่นเปียโนด้วยความรู้สึกส่งถึงคลิปฝึกเล่นเปียโนด้วยตัวเองของพ่อ ทุกเส้นเสียงที่สัมผัสแทนสายใยความความรู้สึกผูกพันโดยไม่ต้องใช้ความพยายามที่จะทำความเข้าใจ พร้อมก้าวออกไปเผชิญโลกตามความเป็นจริงอย่างคนที่ “สุกแล้ว” หลังชีวิตถูกบ่มผ่านการอบรมด้วยประสบการณ์

 


ที่มา : The New York Times 

 

How is Katia (Ukraine) 

กำกับ : Christina Tynkevych
เขียนบท : Christina Tynkevych, Serhii Kastornykh, Julia Gonchar

 


โปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่อง How Is Katia
ที่มา : IMDb

 

Christina Tynkevych ผู้กำกับหนังสั้นมีความสนใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นที่ว่า “มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีชีวิตรอดจากความโทมนัส” หลังจากการตายของลูกคนเดียวที่เป็นทั้งชีวิตและจิตใจของแม่ ผลักดันให้เธอสร้างหนังยาวเรื่องนี้ขึ้นมา ตัวเอกของเรื่อง “อันนา” (Anastasia Karpenko) แม่เลี้ยงเดี่ยวอาชีพผู้ช่วยแพทย์หน่วยกู้ภัยกับลูกสาววัยรุ่นตอนต้น “คาเทีย” (Kateryna Kozlova) เริ่มมีความฝันมีไอดอลเป็นนักร้องเพลง pop 

สาวน้อยร่าเริงอยากมีห้องส่วนตัว แม่ตัดสินใจกู้จำนองเพื่อซื้อบ้านใหม่ให้ลูก หวังปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ยอมสู้ให้ดีขึ้น เธอเป็นกำลังหลักของครอบครัวดูแลแม่ป่วยอัลไซเมอร์ กับพี่ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันนัก ความรักระหว่างอันนากับลูกเหมือนมีใจเดียวกัน เด็กดีถูกฝึกให้มีวินัยใส่ใจการเรียน

วันหนึ่งคาเทียถูกรถชนขณะไปโรงเรียน อุบัติเหตุเปลี่ยนชีวิตแอนนาด้วยการก้าวเข้ามาของผู้มีอันจะกินที่พยายามประนีประนอมให้ยอมความด้วยอำนาจเงิน ที่พวกเขาคิดว่าใช้แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ทั้งที่บ้านมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลของลูกก็เรื่องใหญ่ที่เร่งรอชำระ คู่รักที่มีครอบครัวทำตัวห่างเหินไม่สามารถพึ่งเขาได้ คู่กรณีส่งทนายมาเจรจาแต่เธอไม่เซ็นยินยอม แม่ของเด็กสาวตีนผีวัย 18 ปี ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมาพบอันนาเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ไม่เอาผิดตามกฎหมาย แต่เธอไม่ยอมแลกเงินกับชีวิตลูก และอยากให้บทเรียนคนคะนองต้องสอนคุณธรรมให้สำนึก พี่สาวตัวแสบแอบส่งแม่เข้าสถานพยาบาลผู้สูงวัยทั้งที่เธอไม่เห็นด้วย ยื้อกับชีวิตลูกได้ไม่นานคาเทียก็สิ้นใจ

ภารกิจที่ต้องช่วยชีวิตคนอื่นคือความขมขื่นที่ต้องฝืนทำงานอย่างคนไร้วิญญาณ เมื่อขึ้นศาลจึงพบว่าคดีถูกยกฟ้องให้ต้องอุทธรณ์ถ้าต้องการความยุติธรรม เพราะเอกสารยอมความถูกเซ็นด้วยลายมือปลอมของพี่สาว การต่อสู้กับจริยธรรมแพ้อำนาจเงิน การเยียวยาไม่สามารถชดเชยชีวิตคนได้

การหลบเลี่ยงกฎหมายในคดีร้ายแรงในเรื่องนี้ คือเหตุการณ์จริงทั้งในยูเครนและทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อชนชั้นนำผู้มีอำนาจต้องการปิดคดี ความยุติธรรมจึงมีไว้สำหรับคนรวย ที่ใช้เงินช่วยให้พ้นผิดอย่างไร้คุณธรรมและสำนึก ภาพยนตร์ให้ภาพความผูกพันในวันหัวใจสลายของแม่กับการแก้ปัญหาอย่างน่าชื่นชม เตือนเรื่องอุดมคติกับโลกและความจริง คือสิ่งที่ขนานกันต้องปันใจให้เป็น ไม่ประมาทกับชีวิตที่ทุกวินาทีคือความเปลี่ยนแปลง 

 


ที่มา : Cineuropa

 

SAINT OMER (France) 

ผู้กำกับ : Alice Diop

 


โปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่อง Saint Omer
ที่มา : Rotten Tomatoes

 

“Saint Omer” ผลงานภาพยนตร์ Fiction ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Alice Diop หญิงผิวสีชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่เชื้อสายเซเนกัล ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ (Grand Jury Prize) “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซประจำปี 2022”

ภาพยนตร์เล่าเรื่องจากพื้นฐานประสบการณ์จริงเชิงจิตวิเคราะห์ของฆาตกร “ลอรองซ์ โคลี” (Laurence Coly) (รับบทโดย Guslagie Malanda) หญิงสาวเชื้อสายแอฟริกัน ที่กำลังได้รับการพิจารณาไต่สวน ณ ศาลแห่งแซงต์โอแมร์ ผ่านสายตาของนักเขียนนิยายฝีมือดีคนผิวสี รามา (Rama) (รับบทโดย Kayije Kagame) มีครอบครัวอบอุ่นกับชาวผิวขาว

เธอมาเฝ้าสังเกตการณ์ รับฟัง คิดวิเคราะห์ ติดตามการพิจารณาไต่สวนในศาลเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของคดีแม่ฆ่าลูกวัย 15 เดือน เพราะเธอกำลังค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำงานเขียนแล้วพบปมปัญหาว่า ผู้พิพากษาและคณะลูกขุนไม่สามารถช่วยจำเลยได้ ทั้งที่เธอให้ความร่วมมือดีมาก ยอมรับผิดแบบสารภาพบาปอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่เพราะเธอไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลว่า ทำไมเธอจึงวางลูกทิ้งไว้ที่ริมตลิ่ง เมื่อน้ำขึ้นมาพัดทารกน้อยลอยไปสู่ความตาย

บทส่งความหมายไปถึงฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ รามาอุ้มท้องกลับบ้านไปหาแม่ จบลงที่ภาพแทนสายตารามามองมารดาขณะกำลังหลับอย่างอ่อนล้าโรยแรง แฝงความความรู้สึกรักและซาบซึ้งถึงความลำบาก จากการอุ้มท้องประคองชีวิตของคนผิวสีที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในชาติพันธุ์ยังไม่เคยหมดไป แม้สังคมใหม่จะประกาศยอมรับก็เป็นเพียงวาทกรรมการเมือง เรื่องจริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมใต้พรมกฎหมาย

 


ที่มา : The New Yorker

 

“Saint Omer” เป็นหนังที่มีรูปแบบคล้ายละครพูด เดินเรื่องด้วยบทพูดขณะไต่สวนมากกว่าการตัดสลับเหตุการณ์ โดยมีฉากสำคัญเป็นการพิจารณาคดีในศาลเป็นหลัก (Courtroom drama) เร้าใจให้ติดตามด้วยเหตุผลบนความขัดแย้งของคู่กรณี โดยมีทนายและลูกขุนเป็นผู้ช่วยชูประเด็นเฟ้นรายละเอียดมาหักล้างกัน คือสีสันของหนังศาล งานนี้มีลูกขุนเป็นนักบวชมาทำหน้าที่ช่วยประชาชนสู้คดี เพื่อไม่ให้เกิดการชี้เป็นชี้ตายด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเหมาะมากกับคดีนี้ที่ต้องใช้ความเป็นมนุษย์เข้ามาขุดเหตุผลของความผิด เพราะความคิดที่มีศรัทธาต่อศาสนาเข้ามาเป็นเหตุผลของการกระทำ “เพื่อให้พระเจ้าได้มารับลูกสู่สวรรค์อันพ้นทุกข์ทั้งปวง”

หนังคลี่คลายคำตอบของโคลีในพาร์ตสุดท้ายที่ทำให้ทุกฝ่ายงงงวยและช่วยเธอไม่ได้ ด้วยการขยายเหตุที่มาอาการของคนถูกกดดันจนขาดสติ เพราะภูมิหลังที่เป็นผู้อพยพ เก็บซ่อนเธอจากการให้เกียรติต่อสังคม ทับถมด้วยความเป็นอยู่เหมือนถูกกักขังจากสามีที่ไร้การเหลียวแลเธอกับลูกซึ่งยากแค้นขาดแคลน จนเธอต้องหนีจากคุกครอบครัว แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ชั่วแต่เพราะเจ้าตัวเองก็เต็มใจอยู่ในสภาพนั้น ฯลฯ

รายละเอียดของคำให้การบอกภาวะของคนที่ต่างสถานะ เหมือนจะให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายว่าไม่มีใครผิด ถ้าเธอไม่ฆ่าลูกตัวเอง แม้เธอรับสารภาพผิดแต่ยังยืนอย่างมั่นใจว่าไม่เข้าใจในการกระทำของตัวเอง แปลความว่าไม่เจตนา แต่ในที่สุดก็ต้องแพ้กติกากฎหมาย

“Saint Omer” ลูกขุนคนสำคัญสรุปชัดเจนว่า ศาลพิพากษาถูกต้องตามหลักการแล้ว แต่ขาดความยุติธรรม (ในมุมของมนุษยธรรม)

 


ที่มา : Film at Lincoln Center

 

คำให้การของโคลีทำให้รามาอ่อนไหวสะเทือนใจเพราะเธอกำลังตั้งท้อง นิยายเรื่องใหม่ของเธอมีบทละครดังของกรีกโบราณเป็นโครงในการเขียนด้วยบริบทปัจจุบันคือ “MEDEA” (เมเดีย ละครแนวโศกนาฏกรรมยุคแรกของกรีก) โดย Euripides (ยูริพีดิส นักละครสมัยใหม่หัวก้าวหน้าคนแรกของโลกยุคก่อนคริสต์กาล) คือมิติที่บทหนังใช้ขยายภาวะเจ็บป่วยทางจิต โดยส่งความผิดผ่านผู้คนด้วยอาการพิกลจริต

อธิบายขยายความด้วยเนื้อหาของบทละคร Medea ธิดากษัตริย์ Aeëtes พระองค์ช่วย Jason ค้นหาขนแกะทองคำโดยใช้เวทมนต์ช่วยชีวิตเขาด้วยความรัก เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็ทิ้งบ้านเกิดแล้วหนีไปกับ “Jason” จนตั้งถิ่นฐานและแต่งงานครองเรือนกันมานานถึง 10 ปี Jason ทอดทิ้งไปแต่งงานกับ “Creusa” ทำให้องค์ทรงแค้นมากและต้องการแก้แค้น จึงวางแผนฆ่าเจ้าสาวด้วยยาพิษ และแทงลูกชายทั้งสองตายเพราะหวังจะให้ Jason เจ็บปวด

แต่สุดท้ายคนที่เจ็บปวดและทุกข์ทรมานที่สุดก็คือพระองค์ผู้สร้างตราบาปให้ตัวเอง ในทางวิทยาศาสตร์คืออาการสูญเสียการควบคุมตัวเอง ทั้งจากจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก จนกลายเป็นภาวะจิตไร้สำนึก คือชะตากรรมที่มีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่เข้าใจในเหตุผลของการกระทำที่เหมือนขาดสติ แต่ถูกต้องตามครรลองของศรัทธา ซึ่งเป็นอาวุธเดียวที่โคลีมีไว้ต่อสู้กับโชคชะตาก่อนอุทิศลูกให้เป็นบุตรแห่งพระเจ้า เพื่อบอกกล่าวแก่พระองค์ตามนัยของบทที่ทรงพลังว่า โปรดปลดทุกข์แก่มวลมนุษย์ด้วยการหยุดความเหลื่มล้ำ ให้ความเป็นธรรม ด้วยทัศนคติและการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมแก่พวกเขา เพื่อธำรงสันติสุขของทุกชีวิตบนโลก และหยุดโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อนทั้งปวง

 


ที่มา : Viennale

 

ต้นทุนชีวิตของคนนอกจากมี “ตัวตน” เป็นรากแก้วแล้วครอบครัวคือกำลังเสริมสำคัญที่สุด

ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ปมปัญหารูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนมีลักษณะเด่นเป็นความแตกต่างที่สร้างเสน่ห์น่าค้นหา สาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชุดความคิดนี้เป็นแนวคิดหลักที่ยึดโยงกับการคัดเลือก Art Movies ซึ่งทำหน้าที่เป็นฑูตทางวัฒนธรรมให้กับผู้ชมทุกชาติ หัวใจสำคัญของเทศกาล คือ งานคัดสรรภาพยนตร์

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา ผู้อำนวยการสร้างที่มีศักยภาพสูงเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ คือกำลังสำคัญที่สานต่องานนี้จาก เกรียงศักดิ์ ศิลากอง อดีตผู้อำนวยการร่วมก่อตั้ง ในบทบาทของ Festival Director โดยเป็นผู้คัดเลือกผลงานทั้งหมดด้วยตัวเอง ภาพรวมของงานจึงยังคงเป็นเทศกาลที่คัดคุณภาพของภาพยนตร์ได้โดดเด่น ทั้งผลงานร่วมสมัยหรือคลาสสิกที่หาดูยาก ซึ่งส่วนมากจะชัดเจนในแนวมนุษยนิยม น่าชื่นชมกับเนื้อหาที่ทำให้คนไทยได้เสพศิลปะแขนงที่ 7 ผ่าน Art Movies โดยไม่มีกรอบของภาพยนตร์ในกระแสหลักมากำหนดเป็นกฏเกณฑ์ ความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ไม่มีดัชนีชี้วัดใดๆ ได้ชัดเท่าความสุขของผู้ชม ที่ไม่ใช่เพียงสุนทรียภาพจากภาพยนตร์ แต่ “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” คืออีกหนึ่งความหวังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเวทีโลก

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” ครั้งที่ 15

 


[1] Gig Economy คือ ระบบเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายตัวของ ‘ผู้ประกอบอาชีพอิสระ’ ไม่มีสังกัด รับงานเป็นชิ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์เฉพาะทางตลอดจนถึงอาชีพอื่นๆ โดยเป็นงานในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งในท้ายที่สุดกลไกทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ทำให้เกิดเป็น Gig Worker