ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : เหวียนอ๋ายก๊วก (NGUYEN AI QUOC) (ตอนที่ 3)

11
กุมภาพันธ์
2566

เหวียนอ๋ายก๊วก เป็นใครมาจากไหน จู่ๆ ก็มาปรากฏตัวที่ปารีส ในขณะที่ฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา ได้มีการประชุมกันที่พระราชวังแวร์ซายส์ ชานกรุงปารีส เพื่อหาทางให้ฝ่ายที่แพ้สงครามยอมทำตามเงื่อนไข จึงมีการทำสัญญาที่เรียกว่า สนธิสัญญาแวร์ซายส์ ซึ่งในขณะนั้นชื่อของ เหวียนอ๋ายก๊วก ได้ปรากฏขึ้นในข้อเรียกร้องของชาว ‘อานาม’ (เวียดนาม) ต่อทางการฝรั่งเศสข้อเรียกตตตสรุปได้ดังต่อไปนี้

 

“ให้นิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองชาวเวียดนามทั้งปวงโดยสิ้นเชิง

“ให้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายของอินโดจีนเสียใหม่ เพื่อให้ชาวเวียดนามได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเทียบเท่ากับชาวยุโรป ยกเลิกคำสั่งพิเศษ และเครื่องมือในทางกดขี่ โดยทางคำสั่งพิเศษต่อชาวเวียดนาม โดยเฉพาะให้มีการออกกฎหมายตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเป็นธรรม

“ให้เสรีภาพทางการพิมพ์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“ให้เสรีกาพในการจัดตั้งสมาคมและเสรีภาพในการร่วมชุมนุม

“ให้เสรีกาพในการอพยพถิ่นที่อยู่และพำนักอาศัยในต่างประเทศ

“ให้สิทธิในการศึกษา มีการเปิดโรงเรียนทางวิชาเทคนิคและอาชีวศึกษาแก่ประชาชนทุกมณฑล 

และข้อสุดท้าย “ในสภาฝรั่งเศสจะต้องมีผู้แทนชาวเวียดนามที่ได้รับความเห็นชอบจากชาวเวียดนามมาร่วมอยู่ในสภา เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นความประสงค์ที่แสดงออกของชาวเวียดนามทั้งหลาย”

 

ดังทราบกันดีว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงปี ค.ศ. 1914 - ค.ศ. 1918 นั้น ประเทศต่างๆ มีวัตถุประสงค์แก่งแย่งเอาเมืองขึ้นมาเป็นอาณานิคมของตน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นจักรวรรดินิยมเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ ฝ่ายหนึ่ง กับเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอาณาจักรออตโตมานน์ อีกฝ่ายหนึ่ง ถือได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามอธรรมทั้งสองฝ่าย ฉะนั้น การเจรจาในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ส่วนใหญ่จึงเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ผู้ชนะสงคราม หาได้มีการเหลียวแลไปสู่ประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมไม่ ด้วยเหตุนี้เอง เหวียนอ๋ายก๊วกจึงได้ทำข้อเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นขึ้น

ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องของเหวียนอ๋ายก๊วกไม่ได้รับการตอบสนองจากประเทศที่ชนะสงคราม คือ อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกอย่างใหญ่หลวงให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อดูตามชื่อ เหวียนอ๋ายก๊วก ทางฝ่ายฝรั่งเศสย่อมทราบดีว่าเป็นชาวเวียดนาม

คำว่า ‘เหวียนอ๋ายก๊วก’ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยมีความหมายว่า นายเหวียนผู้รักชาติ คำว่า ‘เหวียน’ เป็นคำขึ้นต้นหรือนามสกุลของชาวเวียดนาม ซึ่งประมาณร้อยละ 70-80 จะมีชื่อนำหน้าว่า ‘เหวียน’ ส่วนคำว่า ‘อ๋ายก๊วก’ แปลว่า ความรักชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นนาม ผู้รักชาติที่แสดงถึงความมุ่งต่อสู้เพื่อเอกราช-อิสรภาพ

ข้อเรียกร้องของเหวียนอ๋ายก๊วกได้แพร่กระจายออกไป แม้กระทั่งอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนก็ทราบข่าวนี้ นับตั้งแต่ฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนในกลางศตวรรษที่ 19 ทางการฝรั่งเศสได้สั่งให้หน่วยสืบราชการลับในอินโดจีนค้นคว้าประวัติของเหวียนอ๋ายก๊วก ซึ่งก็ได้ความว่า ‘เหวียนอ๋ายก๊วก’ นั้นคือ ‘เหวียนทัตทันห์’ ผู้เกิดที่เมืองเหงะอาน และศึกษาอยู่โรงเรียนมัธยมเมืองเว้ จนกระทั่งถึงอายุ 21 ปี เป็นผู้ช่วยคนครัวในนาม ‘เหวียนวันบา’ หรือ ‘บา’ และต่อมาเดินทางมากับเรือที่ทำงานอยู่ถึงฝรั่งเศส แล้วได้ไปถึงอเมริกา และพำนักทำงานที่นิวยอร์กระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นไปทำงานที่อังกฤษ

ทางการฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสไม่อาจจับกุมคุมขังเหวียนอ๋ายก๊วกได้ เนื่องจากสภาพลักษณะกฎหมายของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเมืองแม่แตกต่างจากอาณานิคมอินโดจีนที่ตนปกครอง ขณะที่อาณานิคมสามารถจับคุมกุมขัง ตั้งศาลประหารชีวิตผู้รักชาติตามอำเภอใจ แต่ทางการฝรั่งเศสไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้

อีกประการหนึ่ง เมื่อเหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางกลับมาจากอังกฤษถึงฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1917 นั้น ท่านได้พบปะและสนใจขบวนการของพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ซึ่งในหมู่ชาวพรรคฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจขบวนการกอบกู้เอกราชของชาวอาณานิคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนาม จึงสามารถให้ความคุ้มกันท่านได้ระดับหนึ่ง แต่มีความลำบากในด้านการครองชีพ เพราะต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตน และดำเนินการออกหนังสือพิมพ์สำหรับชาวอาณานิคมเวียดนาม

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มีชาวเวียดนามถูกเกณฑ์มาฝรั่งเศส เพื่อให้ทำหน้าที่เก็บกวาดทุ่นระเบิดในสนามรบต่างๆ และได้เสียชีวิตไปมากมาย เช่นเดียวกับชาวจีนที่ถูกเกณฑ์แรงงานมาเพื่อทำหน้าที่นี้ ห้วงสมัยนั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็มาอยู่ที่ฝรั่งเศสเพื่อศึกษาและทำงานด้วย ส่วนชาวเวียดนามนั้นจะมีจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีน ชาวเวียดนามจึงเดินทางมารับจ้างทำงานชั้นต่ำซึ่งชาวฝรั่งเศสปฏิเสธงานเช่นนั้น และเป็นอันแน่ชัดว่า ฝรั่งเศสโดยกระทรวงอาณานิคมผู้ปกครองอินโดจีน ได้เอาปูนหมายหัวเหวียนอ๋ายก๊วกไว้แล้ว ถ้าเหวียนอ๋ายก๊วกถูกจับกุมและส่งไปอินโดจีน ต้องถูกประหารชีวิตอย่างแน่นอน แต่ขณะนั้นการกระทำดังกล่าวไม่อาจทำได้

ในนามของเหวียนอ๋ายก๊วก ท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีความใกล้ชิดกับชาวสังคมนิยม และเห็นว่าหนทางไปสู่การกอบกู้เอกราช การปลดปล่อยชาตินั้นต้องดำเนินไปตามแนวทางสังคมนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มๆ นี้มีการแตกแยกทางความคิดเป็นฝักเป็นฝ่าย

เพราะฉะนั้น การประชุมสมัชชาของพรรคฯ ที่เมืองตูร์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ห่างจากกรุงปารีสประมาณ 200 กิโลเมตร ชาวสังคมนิยมปีกซ้ายไม่เห็นด้วยกับอีกปีกหนึ่งที่ต้องการดำเนินงานในลักษณะค่อนข้างประนีประนอม รักษาสถานะเดิมในระบบทุนนิยม เหวียนอ๋ายก๊วกเห็นว่า ควรดำเนินตามแนวทางที่เลนินได้รับความสำเร็จในการอภิวัฒน์ใหญ่เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1917 ฉะนั้น หลังการประชุมที่เมืองตูร์ สมาชิกพรรคสังคมนิยมปีกซ้ายซึ่งเป็นส่วนใหญ่จึงแยกตัวออกมาก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เหวียนอ๋ายก๊วกก็ได้สมัครเข้าพรรคฯ และถือได้ว่าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งคนหนึ่ง

การอภิวัฒน์ใหญ่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ที่นำโดยเลนินประสบผลสำเร็จ ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ชัยชนะครั้งนี้ก่อให้เกิดประเทศสหภาพโซเวียต จุดประกายความหวังแด่มนุษยชาติที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และเป็นกำลังใจแก่นักต่อสู้กู้เอกราชของประเทศอาณานิคม ผู้ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายทารุณ ด้วยแนวทางและข้อเขียนทางทฤษฎีหลายชิ้นของเลนิน ทำให้ เหวียนอ๋ายก๊วกมุ่งมั่นศึกษา และมองเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การต่อสู้ปลดปล่อยชาติและต่อสู้เพื่อชาวอาณานิคมทั้งหลาย

มีข้อสังเกตบางประการสำหรับประเทศอาณานิคม นั่นก็คือ ประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม เช่น เวียดนาม เขมร ลาว พม่า อินเดีย หรืออีกหลายประเทศซึ่งระบบสังคมได้พัฒนามาระยะหนึ่ง มาตรฐานการศึกษาของผู้คนในประเทศนั้น มีความเข้าใจและมีจิตสำนึกตื่นตัวสูง ส่วนประเทศอาณานิคมจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศในแอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก สภาพสังคมยังมีลักษณะของชุมชนบุพกาล หรือปฐมกาล การเข้าครอบครองอาณานิคมในประเทศเหล่านั้นจึงสุดแต่ผู้ปกครองจะชักนำไปตามอำเภอใจ

 

ในที่ประชุมพรรคสังคมนิยม เมืองตูร์ ฝรั่งเศส ค.ศ. 1926
ในที่ประชุมพรรคสังคมนิยม เมืองตูร์ ฝรั่งเศส ค.ศ. 1926

 

เหวียนอ๋ายก๊วกศึกษาความเป็นมาต่างๆ ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะทำงานด้วยความยากลำบากเพื่อหาเลี้ยงชีพ ก็ยังสนใจและหาโอกาสค้นคว้าทฤษฎีตามที่ห้องสมุด รวมทั้งการพบปะเพื่อนฝูง มิตรสหายผู้รักความเป็นธรรมชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่จำนวนมาก

ภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ เหวียนอ๋ายก๊วกได้ใช้เวลาไปอย่างคุ้มค่า ท่านตื่นแต่เช้าเพื่อทำงานตามอาชีพที่ถนัดในขณะนั้น ระยะหนึ่งทำงานช่างภาพ ผู้ตกแต่งภาพ หลังจากนั้นก็ออกหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสที่เรียก ‘เลอ-ปาเรีย’ ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนผู้ถูกกดขี่ และยังเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวันที่ชื่อ ‘ลูมานิเต้’ กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังดำเนินการพิมพ์จำหน่ายอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าความคิดและทฤษฎีทางการเมืองหลายแขนงหลายสำนัก แม้กระทั่งคาร์ล มาร์กซ์ ก็เคยพำนักอยู่ปารีส และได้สัมผัสกับขบวนการต่างๆ

ในสมัยนั้นคาร์ล มาร์กซ์ และเองเกลส์ พยายามก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศของชาวคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 1 ขึ้นแต่องค์กรนี้สลายตัวไปภายหลังชาวปารีสคอมมูนถูกปราบปรามจากพวกพลังเก่า

ต่อมากลุ่มสังคมนิยมฝรั่งเศสจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศครั้งที่ 2 ขึ้น และดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการประชุมสมัชชาที่เมืองตูร์ ฝ่ายปีกขวายังคงดำเนินการในองค์กรนั้น เพราะถือว่าเข้ากับแนวทางความคิดประชาธิปไตยเจ้าสมบัติของฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ของชาวสังคมนิยมฝรั่งเศสได้แตกตัวออกมา และก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสขึ้น พรรคฯ นี้มีส่วนในองค์กรใหม่ซึ่งถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ 3

เมื่อเลนินทำการอภิวัฒน์สำเร็จก็ให้การสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศหรือบางแห่งเรียกว่า ‘สากลที่ 3’ เลนินจัดให้มีองค์กรคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศที่ใช้ชื่อว่า ‘โคมินเติร์น’ และขณะพำนักอยู่ฝรั่งเศส เหวียนอ๋ายก๊วก ได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงานกับโคมินเติร์น ก็นับเป็นโอกาสดีที่ท่านได้ศึกษาทฤษฎีต่างๆ ทำความเข้าใจต่อศัพท์แสงทางทฤษฎี เช่น กลุ่มพวกอนาธิปไตย พวกสังคมนิยมยูโธเปีย จากความคิดต่างๆ ของหลายสำนักนี้ ในที่สุดท่านจึงแน่วแน่เข้าสู่แนวทางสังคมนิยมที่เสนอโดยเลนิน

สำหรับชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดย โจวเอินไหล, เติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้มายังประเทศฝรั่งเศสในโครงการที่เรียกว่า ‘ศึกษาและทำงาน’ แต่เนื้อแท้แล้วก็เป็นการใช้แรงงานระดับล่างของชาวจีน เพื่อมาทำหน้าที่แทนชาวฝรั่งเศสที่เสียชีวิตจำนวนมากในสงครามโลกครั้งที่ 1 แรงงานจีนและเวียดนามถูกให้เป็นกรรมกรในโรงงาน เช่น โรงงานรถยนต์เรโนลต์ ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้เข้าเป็นกรรมกรในโรงงานนั้น งานเก็บกวาดทุ่นระเบิดอันตรายที่สุด และมีการสูญเสียชีวิตไปไม่น้อย

เหวียนอ๋ายก๊วกคงติดต่อกับชาวคอมมิวนิสต์จีนอยู่บ้าง หากแต่ละคนก็ดำเนินงานไปตามส่วนของตน ทางจีนก็ไปสู่ชาวจีนในฝรั่งเศส ส่วนท่านก็เกี่ยวข้องกับชาวเวียดนาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานรวมกันในฐานะองค์กรโคมินเติร์นที่มีศูนย์กลางใหญ่อยู่กรุงมอสโก ก็ดำเนินไปตามสายงานของแต่ละกลุ่ม

สำหรับ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ตามเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นช่วงเวลาที่เหวียนอ๋ายก๊วกกำลังเคลื่อนไหวในระยะปลาย ก่อนเตรียมตัวเดินทางไปสหภาพโซเวียต เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและปฏิบัติการในสายงานแผนกอาณานิคมขององค์กรโคมินเติร์น บุคคลทั้งสองจึงยังมิได้พบปะและรู้จักกัน

เมื่อทางการฝรั่งเศสได้ค้นประวัติและทราบแล้วว่า เหวียนอ๋ายก๊วก คือ เหวียนทัตทันห์จากเวียดนาม และได้ทราบประวัติการต่อสู้ของครอบครัวที่พี่ชายและพี่สาวถูกจับกุมคุมขังในข้อหาให้การช่วยเหลือคณะกู้ชาติของ ท่านฟานโบ่ยเจอว ทางกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศสโดยข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน ได้ใช้ความพยายามให้ต้นสังกัดในประเทศบีบบังคับ เหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางกลับเวียดนาม แน่นอนว่าถ้าเดินทางกลับชะตากรรมจะเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าเครื่องประหาร ‘กิโยติน’ ตั้งคอยท่าอยู่แล้ว เคราะห์ดีที่ท่านอยู่ในองค์กรจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งมีสมาชิกและขอบข่ายงานกว้างขวางในแวดวงราชการและวงการทั่วไป สามารถปกป้องคุ้มครองจนไม่ต้องเดินทางกลับเวียดนาม

ภารกิจของเหวียนอ๋ายก๊วกในฝรั่งเศส นอกจากดูแลสร้างสัมพันธ์จัดตั้งชาวเวียดนามในฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังต้องเดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อเข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความคิดเกี่ยวกับแผนการต่อสู้ของชาวเวียดนาม ที่ประเทศต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ข่าวคราวการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้กระจายไปสู่ชาวเวียดนามในมาตุภูมิ ทำให้นักเคลื่อนไหวกอบกู้เอกราชของตนเกิดกำลังใจใหญ่หลวง เพราะประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวเวียดนามได้ผ่านมาทั้งขบวนการของฝ่ายนิยมกษัตริย์หว่างเด๋ ซึ่งถูกปราบลงไป หรือขบวนการของกลุ่มฟานโบ่ยเจอวที่ลักษณะขบวนการของชนชั้นกลางก็ไม่อาจต้านกับอำนาจปกครองของฝรั่งเศส แต่ในครั้งนี้นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ผู้นำชาวเวียดนามในนามเหวียนอ๋ายก๊วก ทำให้ผู้รักชาติทั้งหลายเกิดความเชื่อมั่นว่าหนทางสู่อนาคตแห่งความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว

ที่พำนักแหล่งสุดท้ายของเหวียนอ๋ายก๊วกในปารีส อยู่ ณ เลขที่ 9 วิลลาโกเบแลงส์ อดีตสถานที่ที่มีชื่อเสียงในการทอพรมรูปภาพ แต่ยุคเฟื่องฟูที่สุดคือสมัยหลุยส์ที่ 14 ในระบบของฝรั่งเศสนั้น ทุกอาคารหรือห้องชุดอพาร์ตเม้นท์จะมีผู้รักษาสถานที่ เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘กองเซียจ’ นอกจากทำหน้าที่ดูแลสถานที่และรายชื่อผู้พักแล้ว นับตั้งแต่สมัยจักรพรรดินโปเลียนเป็นต้นมา ก็ทำหน้าที่สายลับรายงานการเคลื่อนไหวของผู้มาพักแก่ตำรวจ ในฐานะที่ถูกติดตามจากทางเจ้าหน้าที่ตลอดมา ที่พักของท่านจึงถูกเฝ้ามองอย่างมิให้คลาดสายตา

 

ที่พักสุดท้ายฝรั่งเศส ค.ศ. 1923
ที่พักสุดท้ายฝรั่งเศส ค.ศ. 1923

 

ในปี ค.ศ. 1923 เหวียนอ๋ายก๊วกจำเป็นต้องจากฝรั่งเศสไป ทั้งนี้เพราะการติดตามของทางการฝรั่งเศสเริ่มกระชั้นชิดและมีความรุนแรง อันอาจเกิดอันตรายแก่ตัวท่านได้ จึงมีการวางแผนเดินทางออกจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศสหภาพโซเวียตอย่างปิดลับที่สุด โดยมิให้ทางฝ่ายตำรวจหรือสายลับฝรั่งเศสล่วงรู้ และก็สามารถทำได้สำเร็จโดยการหายตัวไปอย่างเงียบๆ จากบ้านพักเลขที่ 9 วิลลาโกเบแลงส์ หลังจากนั้นหลายวันกว่าทางการฝรั่งเศสจะทราบว่าท่านได้ออกจากประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว

เหวียนอ๋ายก๊วกเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เลอ-ปาเรีย ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเอง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ตกทุกข์ได้ยากเห็นถึงการรวมกำลังเพื่อต่อสู้กอบกู้เอกราช โดยมีทุนรอนจากการเก็บออมรายได้ในการทำงาน และรวบรวมคนละเล็กละน้อยจากมิตรสหายที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เลอ-ปาเรีย จึงเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสที่ได้การต้อนรับอย่างดียิ่งในประเทศอาณานิคมสำหรับบุคคลที่สามารถอ่านภาษาฝรั่งเศสได้ และได้ถ่ายทอดจากภาษาฝรั่งเศสไปสู่ภาษาของตน อาทิ ภาษาเวียดนาม

ลูมานิเต้ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเหวียนอ๋ายก๊วกมีบทความลงตีพิมพ์อยู่เสมอๆ หนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้เป็นของพรรคคอมมิวนิตส์ฝรั่งเศส ซึ่งแตกตัวออกจากกลุ่มสังคมนิยมสากลที่ 2 เป็นหนังสือพิมพ์ที่ชาวคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและผู้สนับสนุนอ่านกันอย่างกว้างขวาง

บทความของเหวียนอ๋ายก๊วกชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ยากของชาวอาณานิคมภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส และการเสนอแนวทางให้หลุดพ้นจากอาณานิคม โดยชี้ให้ชาวเวียดนามสร้างความสามัคคีกัน ปลุกเร้ามวลชนชาวฝรั่งเศสผู้รักความเป็นธรรมให้สนับสนุนภารกิจการต่อสู้ของชาวเวียดนาม

 

“ความศิวิไลซ์ของนายเหนือหัว” ภาพลายเส้นของโฮจิมินห์ ในนามเหวียนอ๋ายก๊วก ในหนังสือพิมพ์ เลอ-ปาเรีย
“ความศิวิไลซ์ของนายเหนือหัว”
ภาพลายเส้นของโฮจิมินห์ ในนามเหวียนอ๋ายก๊วก ในหนังสือพิมพ์ เลอ-ปาเรีย

 

“ลากเร็วๆ หน่อย…” ภาพลายเส้นของโฮจิมินห์ ในนามเหวียนอ๋ายก๊วก ในหนังสือพิมพ์ เลอ-ปาเรีย
“ลากเร็วๆ หน่อย…”
ภาพลายเส้นของโฮจิมินห์ ในนามเหวียนอ๋ายก๊วก ในหนังสือพิมพ์ เลอ-ปาเรีย

 

การปฏิบัติงานของเหวียนอ๋ายก๊วก ในฐานะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เป็นที่สนใจของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อาวุโสจากประเทศต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์การคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ มีการแนะนำให้เหวียนอ๋ายก๊วกได้เดินทางไปมอสโก เพื่อปฏิบัติงานและศึกษาเพิ่มเติมในทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน ด้วยท่วงทีเอาจริงเอาจังต่อการงานของพรรค ทำให้ท่านผูกมิตรเป็นอย่างดีกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่เป็นชาวฝรั่งเศส และได้รับการดูแลเกื้อหนุนส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นก็เป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ท่านเสนอความคิดเห็นอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นการใช้ศัพท์แสง โดยเฉพาะการเสนอความคิดทางปรัชญา ทฤษฎีสูงๆ ก็พยายามปรับปรุงให้คนทั่วไปที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาเข้าใจได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ทางการฝรั่งเศสเฝ้าสังเกตและติดตามการเคลื่อนไหวของเหวียนอ๋ายก๊วกในฝรั่งเศส ด้วยความตื่นกลัวเป็นอย่างยิ่งว่า อาณานิคมอินโดจีนในระยะต่อไปนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียอาณานิคมนี้ไป เพราะบัดนี้ได้ปรากฏผู้สามารถนำการต่อสู้ของชาวเวียดนามอย่างแท้จริงขึ้นแล้ว

การติดต่อระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสของเหวียนอ๋ายก๊วกดำเนินไปอย่างปิดลับ แต่ก็มีประสิทธิภาพยิ่ง เพราะทำให้ท่านทราบถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวเวียดนามอย่างใกล้ชิด ในขณะนั้น การลุกขึ้นสู้ฝรั่งเศสของชาวเวียดนามเกิดขึ้นหลายแห่งของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคกลางของประเทศและฝ่ายฝรั่งเศสก็ปราบปรามอย่างทารุณโหดร้าย ทั้งประหารชีวิต จับกุมคุมขัง แต่การณ์กลับส่งผลตรงกันข้าม เพราะชาวเวียดนามได้รวมพลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น และต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสอย่างเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น

แม้กระทั่งครอบครัวของเหวียนอ๋ายก๊วก คือพี่ชายและพี่สาว ก็ถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมคุมขังเป็นเวลานาน ข่าวคราวต่างๆ เหล่านี้ยิ่งทำให้ท่านเกิดความฮึกเหิมต้องต่อสู้ให้ไปสู่ความสำเร็จจนได้

ในการต่อสู้กับอาณานิคมฝรั่งเศสนั้น หนทางที่จะดำเนินการไปสู่ความสำเร็จก็คือ รวบรวมผู้คนให้สมัครสมานสามัคคีกันต่อสู้ โดยอาศัยความคิดทางด้านทฤษฎีของมาร์กซ์-เลนิน ชี้นำ และลงมือปฏิบัติอย่างมีจัดตั้งสู่พรรคการเมืองที่นำการอภิวัฒน์

เหวียนอ๋ายก๊วกใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสประมาณ 7 ปี มีความรู้แตกฉานในภาษาฝรั่งเศสโดยการศึกษาด้วยตนเอง สามารถเขียนรายงาน เขียนบทความ รวมทั้งการพูดการอภิปรายก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างดี และขณะที่อยู่ในอังกฤษกใช้ภาษาอังกฤษโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ

การหายตัวของเหวียนอ๋ายก๊วกจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำใหทางการฝรั่งเศสมึนงงมืดแปดด้าน พยายามติดตามอยู่หลายวันกว่าจะทราบว่าท่านจากฝรั่งเศสไปแล้ว และภารกิจของเหวียนอ๋ายก๊วกในประเทศฝรั่งเศสก็ได้เสร็จสิ้นแล้ว

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, เหวียนอ๋ายก๊วก, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 34 - 44.

บทความที่เกี่ยวข้อง :