ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : สู่โลกกว้าง (ตอนที่ 2)

4
กุมภาพันธ์
2566

เมื่อถูกให้ออกจากโรงเรียนมัธยมเมืองเว้ หนุ่มน้อย เหวียนทัตทันห์ ก็มุ่งหน้าลงสู่ภาคใต้ของประเทศ ผ่านเมืองท่าคานังที่ทางฝรั่งเศสใช้เรือปืนเข้าถล่มยิงเมื่อ ค.ศ. 1858 เป็นการเปิดฉากการยึดครองเวียดนาม

ระยะทางจากเมืองเว้ - คานัง - ไซ่ง่อน มีความยาวร่วม 1,000 กิโลเมตร ในขณะนั้นฝรั่งเศสยังดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายฮานอย - ไซ่ง่อนไม่เสร็จสมบูรณ์ การเดินทางจากเว้ไปไซ่ง่อนจึงมีความทุรกันดารและต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึงที่หมาย

เมื่อถึงไซ่ง่อน เมืองท่าสำคัญที่สุดทางภาคใต้ของประเทศ ท่านต้องใช้เวลาหาช่องทางที่จะไปยังประเทศฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม เพื่อศึกษาหาความรู้ที่จะใช้ต่อต้านฝรั่งเศสให้เกิดประสิทธิผลดียิ่งขึ้น เรียกได้ว่าไป ‘รู้เขา’ กลับมาประยุกต์ให้เข้ากับ ‘รู้เรา’

ขณะทำงานจิปาถะอยู่ในไซ่ง่อนเพื่อการยังชีพ พร้อมๆ กับหาทางไปให้ถึงฝรั่งเศส ก็พอดีที่ท่าเรือ ‘หย่าโหรง’ (บ้านมังกร) อันเป็นท่าเทียบเรือสินค้าเดินสมุทรซึ่งอยู่บริเวณหน้าเมืองไซ่ง่อน มีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่เดินทางระหว่างไซ่ง่อน - เมืองท่ามาร์เซย์ เมืองเลออาฟร์ ประเทศฝรั่งเศส เรือลำนี้มีชื่อว่า แอดมิราล ลาตูช เตรวิลล์ ของบริษัท ชาเชอร์ รี ยูนิ อันเป็นบริษัทเรือที่ใหญ่มากของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนและถือหุ้นในบริษัทรับสัมปทานในการขุดคลองสุเอซ แม้กระทั่งในปัจจุบันหุ้นของบริษัทชาร์เชอร์ รี ยูนิ ก็ยังมีการซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นนครปารีส

เรือแอดมิราล ลาตูช เตรวิลล์ ที่นำโฮจิมินท์สู่โลกกว้าง
เรือแอดมิราล ลาตูช เตรวิลล์ ที่นำโฮจิมินท์สู่โลกกว้าง

เหวียนทัตทันห์ได้รวบรวมความกล้าหาญขึ้นไปที่เรือเดินสมุทรเพื่อของานทำ พวกลูกเรือเมื่อเห็นรูปร่างอันบอบบางต่างก็พากันแนะนำว่า อย่ามาทำงานในเรือเลยเพราะลำบากมาก ร่างกายจะสู้ไม่ไหว แต่คนอย่างท่านไม่ยอมถอย ขออนุญาตพบกัปตันเรือทันที

“หนุ่ม เจ้าชื่ออะไร” กัปตันเรือถาม

“ผมชื่อ บา ครับ เหวี่ยนวันบา” เป็นคำตอบ

คำว่า ‘บา’ ภาษาเวียดนาม แปลว่า ‘สาม’ หมายถึง ตัวท่านเป็นบุตรคนที่สามของครอบครัว

“อยากทำงานในเรือหรือ เคยทำอะไรมา แล้วจะทำอะไรได้บ้าง” กัปตันถามด้วยน้ำเสียงปรานี ชะรอยจะต้องชะตากับเด็กหนุ่ม และเห็นแววตาที่มีความมุ่งมั่น แฝงด้วยความจริงใจ ซื่อตรง

“ผมขอทำทุกอย่าง ไม่เลือกงาน ผ่านงานหนักเบามาแล้ว” เป็นคำตอบ

สุดท้ายกัปตันเรือก็รับเข้าเป็นลูกเรือ และสั่งว่า “ไปทำงานเป็นลูกมือคนทำครัว ถ้าทำได้ดีก็จะสนับสนุนต่อไป”

เป็นอันว่าหนุ่มน้อยเหวียนวันบาได้เริ่มเรียนรู้และหาประสบการณ์เพื่อจะได้นำมากอบกู้เอกราชของชาติ

ในขณะนั้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1911 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ท่านก็ได้จากเวียดนามไปกับเรือเดินสมุทร ในฐานะผู้ช่วยหรือลูกมือคนครัวประจำเรือนั่นเอง

งานในตำแหน่งผู้ช่วยคนครัวหนักหนาสาหัส แต่ ‘บา’ หนุ่มน้อยมิได้ย่อท้อสู้ฟันฝ่าความยากลำบาก กล่าวกันว่า ขณะขนวัตถุดิบมาประกอบอาหารในห้องครัว คลื่นขนาดใหญ่ลูกหนึ่งซัดขึ้นมาบนเรือ ท่านเกือบถูกคลื่นซัดตกทะเล แม้งานหนักแทบไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ท่านก็หาเวลาศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะด้านภาษาฝรั่งเศส และเรื่องราวของประเทศต่างๆ จากที่ได้ประสบด้วยสายตาตนเอง เมื่อเรือผ่านไปเข้าท่าเทียบเรือในเมืองต่างๆ ตั้งแต่สิงคไปร์ โคลอมโบ จิบูติ ปอร์ตซาอิด คลองสุเอซ จวบจนกระทั่งเรือเข้าเทียบท่าเมืองมาร์เซย์ในประเทศฝรั่งเศส

ชีวิตในฐานะลูกมือคนครัวบนเรือ ทำให้ประสบพบเห็นการดูถูกเหยียดผิวของชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยังมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง เช่น ทหารชั้นประทวนผู้หนึ่งที่เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส ได้ความเอ็นดูช่วยเหลือ ‘บา’ คอยช่วยเอาใจใส่ให้การศึกษา และมีความสนิทสนมกันอย่างดี

ที่จิบูติ อันเป็นเมืองท่าปากทะเลแดงก่อนเข้าสู่คลองสุเอซ เมืองนี้อยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส สิ่งที่ท่านพบเห็นคือ ชาวแอฟริกาหรือนิโกรผิวดำก็มีสภาพชีวิตไม่ต่างจากชาวเวียดนามที่ถูกกดขี่ทารุณกรรมอย่างไม่ปรานีเช่นกัน

ก้าวแรกที่ท่านเหยียบย่างเข้าประเทศฝรั่งเศส คือ เมืองท่ามาร์เซย์ ทางตอนใต้บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังจากนั้นเรือก็เดินทางไปมาระหว่างฝรั่งเศส - เวียดนามเป็นปกติวิสัย ซึ่งเหวียนวันบายังทำหน้าที่เดิมบนเรือ จนกระทั่งเรือต้องเข้าอู่ซ่อมที่เมืองท่าเลออาฟร์ บนฝั่งแอตแลนติกของฝรั่งเศส

ที่เลออาฟร์ ‘บา’ ได้ทำงานเป็นคนสวนบ้าง หรือแม้แต่งานทุกอย่างที่ต้องใช้แรงกายเข้าแลก และในที่สุดก็สมัครงานบนเรือเดินสมุทรอีกครั้งหนึ่งด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้งานและได้รับอัตราค่าจ้างที่ดีขึ้น การทำงานในครั้งนี้ทำให้พบเห็นโลกกว้างมากขึ้น เพราะเรือได้จอดแวะเมืองท่าต่างๆ ทั้งในแอฟริกาเหนือ แอลจีเรีย โมร็อกโก ตูนิเซีย และแอฟริกาที่ตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส เรือได้ผ่านลงไปทางอเมริกาใต้ อเมริกาละติน ริโอเดอจาเนโร และอาร์เจนตินา เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 1913 เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่นิวยอร์ก เหวียนวันบาขึ้นฝั่งที่นั่นเพราะมีความคิดเดิมที่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ หวังว่าประเทศนี้จะช่วยเวียดนามให้หลุดพ้นจากแอกการปกครองของฝรั่งเศส ‘บา’ หางานทำตามเคย และพำนักอยู่นิวยอร์กเป็นเวลาหลายเดือน ท่านได้พบเห็นสภาพอีกด้านหนึ่งของอเมริกา คือการดูถูกเหยียดผิวของคนขาวต่อชาวนิโกร

โรงแรมในบอสตัน อเมริกา
โรงแรมในบอสตัน อเมริกา 

โรงแรมคาร์ลตัน ลอนดอน อังกฤษ
โรงแรมคาร์ลตัน ลอนดอน อังกฤษ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1914 เหวียนวันบาเดินทางออกจากอเมริกามายังประเทศอังกฤษ เพราะหลังจากลอยลำอยู่กลางมหาสมุทรได้พบเห็นเมืองและประเทศต่างๆ มาเกือบทั่วโลก จักรวรรดิอังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีอาณาจักรแผ่ขยายไพศาล จนกระทั่งมีคำเปรียบเปรยที่ว่า ดวงอาทิตย์จะไม่มีวันตกดินในจักรวรรดิอังกฤษ”

หลังจากได้งานเป็นคนกวาดถนน โกยหิมะ ในที่สุดหนุ่ม ‘บา’ ก็ได้งานในครัวแห่งโรงแรมคาร์ลตัน โรงแรมที่มีชื่อเสียงระดับห้าดาว ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพ่อครัวใหญ่ หรือเชฟที่มีชื่อเสียงของนครลอนดอน

ด้วยความมานะพยายาม ซื่อตรงต่อหน้าที่ มีประสบการณ์ด้านงานครัวมาแล้วบนเรือเดินสมุทร ทำให้พ่อครัวใหญ่พึงพอใจ ถ่ายทอดวิทยายุทธ์การครัวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าในด้านอาหารหลัก อาหารเรียกน้ำย่อย ของหวาน ขนม ต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวของเครื่องดื่ม แชมเปญและไวน์ที่ใช้ดื่มกินกับอาหาร จนถือว่าฝีมือการทำอาหารของท่านพัฒนาเข้าขั้นเป็นหนึ่งไม่รองใคร ในด้านรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ท่านไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านั้น ความมุ่งหวังสูงสุดอยู่ที่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติ

ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1918 เหวียนวันบาจึงเดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไป

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, สู่โลกกว้าง, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 29-33.

บทความที่เกี่ยวข้อง :