ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชีวิตนักการเมือง และวิบากของคณะ ร.ศ. 130

2
มีนาคม
2566

การที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ขึ้น จุดความมุ่งหมายของข้าพเจ้าเพื่อให้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายเกือบ 12 ล้านคน เห็นคุณของคณะราษฎรในครั้งนี้ที่ได้จัดการเปลี่ยนการปกครองได้สำเร็จสมประสงค์ อันเป็นข้อสำคัญในชั้นต้น ส่วนความเจริญของบ้านเมืองในภาคหน้านั้น เป็นหน้าที่ของราษฎรทั้งหลายจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำและต้องประกอบด้วยความสามัคคี กลมเกลียว เห็นแก่ชาติปิตุภูมิ ของตนเป็นประมาณ เพราะกิจการข้างหน้าคณะราษฎรและราษฎรทั้งหลาย ยังจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคและอันตรายอีกมาก อย่าประมาทว่าเราได้ทำการสำเร็จแล้วหลงละเลิงปล่อยอำนาจให้หลุดไปทีละน้อยๆ ภายหลังการยุ่งเหยิงก็จะบังเกิดขึ้น โดยเห็นแก่ตัวและลาภยศ ความกระท้อนก็จะกลับทำให้ยุ่งเหยิงโอละพ่อ ดาพเราเชือดคอเราเอง แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าเองหวังในความสามารถของคณะราษฎรเป็นที่สุด ว่าคงไม่เลินเล่อปล่อยคนที่เห็นแก่ตัวมีอำนาจขึ้นในวงของคณะหรือนอกคณะได้เป็นอันขาด คนที่เห็นแก่ตัวและลาภยศในประเทศเรายังมีอยู่เป็นส่วนมาก ความกระท้อนก็อาจจะเกิดขึ้นง่าย ถ้าไม่ระวัง อย่าให้เป็นดังคำบุราณว่า หมองูตาย เพราะงู โดยความประมาทเลย

เมื่อท่านได้อ่านแจ้งความของกระทรวงกระลาโหม ประกาศถอดนายทหาร 22 คนแล้ว ก็เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า นายทหาร 22 คน พร้อมด้วยนายอุทัย กองล่ามกระทรวงยุตติธรรมอีกคน 1 ได้เข้าไปนอนอยู่ในคุก มีเครื่องพันธนาการพร้อมสรรพแทนเพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) โดยพร้อมหน้ากัน

ฉากในเรือนจำ ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องมาจากคณะเก่าคนหนึ่งซึ่งเป็นปิยมิตร์ของข้าพเจ้าเล่าถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ประกอบกับที่ข้าพเจ้ารู้่ไว้แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยียน เมื่อระหว่างเขารับทุกข์ทรมานในเรือนจำอยู่เสมอ พอเป็นเค้ามาประติดประต่อเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง เหมือนเอาสีแดงมาเปรียบกับสีขาว คือคณะราษฎรปัตยุบันนี้ เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายเห็นคุณในความกล้าหาญตลอดทุกสิ่งซึ่งมีอยู่ในตัวหรือห้อมล้อมตัวช่วยประชาราษฎร ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของประเทศ มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนได้ส่วนเสียของตนได้อย่างบริบูรณ์ ไม่เหมือนเป็นหุ่นปากปิดเช่นแต่ก่อน การที่ข้าพเจ้าถือสิทธิเอามาเล่าครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องวัดคุณของคณะราษฎรและเพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นคณะเก่า ซึ่งเคยพลีชีวิตมาครั้งหนึ่งแล้ว คงจะไม่มีความรังเกียจที่ข้าพเจ้าขอยืมเหตุการณ์ของคณะเก่ามาเป็นตุ๊กกะตาเปรียบเทียบ หรือตอนใดที่ผิดพลาดไปบ้างข้าพเจ้าหวังในความทักท้วงหรือให้อภัยในสิ่งนั้น

คณะเก่าปิยมิตรของข้าพเจ้าเล่าว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ตอนบ่ายประมาณ 14 น. เศษ เจ้าหน้าที่นายทหารหลายนายได้มาเชิญตัวนายทหารซึ่งจะถูกจำคุกในครั้งนี้ ไปที่กรมบัญชาการกองพลที่ 1 ซึ่งอยู่ทางด้านเจ้าพ่อหลักเมือง พอโผล่เข้าไปที่กรมบัญชาการ มีนายทหารชั้นนายพัน 2-3 คน คอยกระชากอินทรธนูนายทหารผู้รักชาติ บังคับให้ถอดเสื้อ เอากุญแจมือสรวมใส่ทุกคนแล้ว ก็ยืนบ้าง, นั่งบ้างคอยกรรมการที่มาอ่านคำพิพากษา หัวใจขณะนั้นเป็นปกติ ไม่สะทกสะท้านประการใด เพื่อนของข้าพเจ้าเชื่อแน่วแน่ว่าต้องตายแน่นึกว่าชีวิตที่ยังเหลืออยู่เห็นดวงตะวันและชาติที่รักคงไม่ยืนยาวไปถึง 3 ชั่วโมง มีความยินดีตายเสียมากกว่าที่จะอยู่ได้รับทรมาน ได้พลีชีวิตแล้วแต่ครั้งแรก จึงยืนคอยอยู่ในอาการแต่งตัวครึ่งท่อนด้วยอารมณ์อันสงบ

จนคณะกรรมการ 7 นายเข้ามาที่ในกรมบัญชาการกองพล ไปนั่งยังโต๊ะยาวตัวหนึ่ง ซึ่งเขาได้จัดไว้รับรอง นายพลตรีพระยาพิชัยสงคราม (เดี๋ยวนี้เป็น พระยาวิชิตวงศวุฒิไกรสมุหราชองครักษ์) เป็นผู้อ่านคำพิพากษา และพระบรมราชโองการให้พวกนายทหาร 13 คนฟัง (10 คนล่วงหน้าเข้าไปอยู่ในคุก ตั้งแต่เมื่อวันเริ่มจับกุมแล้ว) โดยตลอด เพื่อนของข้าพเจ้าจึงรู้สึกตัวว่า ถูกทรมานเสียแล้วเป็นเวลาตั้ง 20 ปี หน้าจะสลดหรือไม่ๆ ทราบ แต่รู้สึกว่าคงสลด เพราะจะต้องถูกทรมานเป็นเวลานาน ทั้งรู้ว่าอย่างไรเดี๋ยวก็ต้องตายในคุก เพื่อนของข้าพเจ้าสังเกตหน้าเพื่อนอีก 12 คน มีสลดบ้างและเฉยๆ บ้างซึ่งเป็นไปตามปกติวิสัย

เพื่อนของข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนยากของเขาอีก 12 คน ก็ยืนคอยเวลาที่เขาจะนำเอาตัวไปสู่คุก อันเป็นแหล่งชั่วร้ายซึ่งยังไม่เคยเห็น ประมาณสัก 40 นาที ก็มีนายทหารคนหนึ่ง พลทหารสรวมดาพ 4-5 คน คุมพวกเพื่อนของข้าพเจ้าไม่ขึ้นรถตู้ของกองมหันตโทษ ซึ่งเขาจัดไปรับถูกขนอยู่ 2 เที่ยว เพื่อนของข้าพเจ้าก็เข้าไปอยู่ภายในคุก เจ้าพนักงานคุกหน้าตาหน้ากลัวคนหนึ่ง เป็นคนจ่ายเสื้อและกางเกงขาสั้นผ้าดิบให้คนละสำรับ เพื่อนของข้าพเจ้ากับเพื่อนของเขาอีก 12 คน ก็จัดปลดเครื่องแต่งกายครึ่งท่อนออก สรวมเครื่องแต่งกายแบบนักโทษ ถูกคุมไปตีตรวนและพวงคอ (วงแหวนคอ) ตามระเบียบของเรือนจำมานั่งเรียงแถวสรวมเครื่องยศอยู่ริมถนนข้างหน้าประตูคุก นายพันตำรวจโท หลวงสมัคใจราษฎร (เวลานี้เป็น พ.ต.อ.พระยาพัศดิกลาง) เจ้ากรมกองมหันตโทษขณะนั้น ยืนอยู่หน้าเพื่อนของข้าพเจ้ากับพวกด้วยอาการชิงชังสมตำแหน่ง ขานรายชื่อเรียงตัวไปทีละคนจนครบถ้วนแล้ว ก็สั่งให้เจ้าพนักงานคุมไปยังคุกนักโทษต่างประเทศด้วยอาการเดิรตรวนกะง่องกะแง่งเพราะเป็นของใหม่ ไม่คุ้นเคย

ครั้นโผล่เข้าไปในคุกต่างประเทศ เป็นสถานที่ยังไม่เคยรู้จักเห็นพวกเพื่อนโบกมือต้อนรับอยู่บนคุก เราได้พบกันด้วยความรักใคร่กอดจูบกันตามธรรมเนียม เจ้าพนักงานก็นำพวกเพื่อนของข้าพเจ้าเข้าสู่ห้องขังในคุกต่างประเทศห้องละคน ซึ่งพอตะโกนพูดกัน กับผู้ที่อยู่ห้องติดกันได้ยิน (ห้องกว้างประมาณเมตรครึ่ง ยาวประมาณ 2 เมตรครึ่งห้องทึบ ข้างหน้าเป็นประตูซี่กรงเหล็กโปร่ง ร้างหลังมีรูช่องลมขนาดเท่าสตางค์แดงอยู่สัก 10 รูเท่านั้น) ห้องนั้นมีกะป๋องอุจจาระ 1 กะป๋องมีไหน้ำ 1 ใบ กะป๋องนมเหล็กวิลาส 1 กะป๋อง นอกนั้นไม่มีอะไร อีกเพื่อนของข้าพเจ้าเล่าว่า ต้องนอนแกร่วอยู่ ในห้องขังเกือบ 2 เดือนเศษได้อาบน้ำวันละครั้ง ออกอาบได้ทีละคนบ้าง, 2 คนบ้าง

ในตอนเย็นวันแรก พอถึงเวลาอาหารเย็น ผู้คุมก็นำเข้าใส่กาลามัง มีแกงน้ำโจ๋งเจ๋งใส่ชามกะลา 1 ถ้วย วันนั้นเพื่อนของข้าพเจ้าว่าเป็นแกงเนื้อวัวกับมะเขือ มีเนื้อมะเขือกับเนื้อวัวสัก 3-4 ชิ้นได้ ผู้คุมเสือกโครมเข้าไว้ในห้องและลั่นกุญแจ และได้ไบไขห้องอื่นๆ เช่นเดียวกัน เพื่อนของข้าพเจ้ามองดูแกงแล้ว ก็ไม่อยากจะหยิบ คว้าเข้าสุกแดงๆ 1 ปั้นใส่ปากเคี้ยวพอแก้หิว รินน้ำประสมประเสเข้าพอตื้อๆ ท้องอยู่ในสภาพคุมขังแข็งแรงเช่นนี้ ประมาณ 2 เดือนเศษ ในระหว่างนี้เพื่อนของข้าพเจ้ากล่าวว่า จะลืมบุญคุณในการเอื้อเฟื้อของฝรั่งชาวอิตาลี ชื่อโซปาตีกับพวกอีก 2 คน ซึ่งไปถูกกุมขังอยู่ในครั้งนั้นเสียมิได้ เขากินอยู่อย่างสบายพวกนี้เวลาเย็นๆ อุตส่าห์ลักลอบแบ่งขนมปังกับบีฟสเต๊กแจกพวกเพื่อนของข้าพเจ้า ทุกๆ เวลาเย็นการนอนในระหว่าง 7 วันแรก นอนกับพื้นปูนซิเมนต์เปล่าๆ รู้สึกเย็นชื้น นอนไม่ค่อยหลับยุงก็ชุม หมอนหนุนศีร์ษะก็ไม่มี ต้องใช้เสื้อที่เขาจ่ายให้ออกหนุนและปัดยุงในเวลาตื่น ทรมานทรกรรมกายอยู่เช่นนั้น โดยจะพูดขอร้องกับใครไม่เป็นผลสำเร็จ จนเลย 7 วันไปแล้วย่างเข้าวันที่ 8 ผู้คุมจึงเอาเสื่อกะจูดมาจ่ายให้คนละหนึ่งผืน รู้สึกสบายหายจากความเย็นขึ้น

การเยี่ยมในครั้งแรก เยี่ยมไม่ได้เลย พวกญาติกับข้าพเจ้าพยายามไปเยี่ยมหลายครั้งไม่สำเร็จ ขออนุญาตเจ้ากรมก็ไม่สำเร็จ บอกปฏิเสธอย่างไม่ดูหน้าจนเลย 2 เดือนเศษแล้ว เหตุการณ์สงบงบเงียบจึงอนุญาตผ่อนผันให้เยี่ยมน้อยได้ เยี่ยมน้อยคือการเยี่ยม ส่งของกินไม่เห็นหน้าญาติ เป็นแต่บอกชื่อเข้าไปว่า คนนั้นคนนี้มาเยี่ยม ของที่ญาตินำมา 10 ส่วน เจ้าพนักงานก็ตัดออกเสียให้เข้าไปเพียง 1 ส่วน เดือนหนึ่งคนหนึ่งเยี่ยมน้อยได้ 2 ครั้ง ต่อเมื่อเลย 4 เดือนไปแล้ว จึงเยี่ยมใหญ่ได้ครั้งหนึ่ง เยี่ยมใหญ่คือเห็นหน้าญาติ และพูดสั่งเสียญาติต่อหน้าเจ้าพนักงานได้ 5 นาที ของที่ญาตินำมาเจ้าพนักงานให้หมด การกินค่อยยังชั่วหน่อยแต่นอนยังอยู่คงเดิม

การทำงานครั้งแรกไม่ได้ทำอะไร เพราะถูกขังแซ่วอยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน 2 เดือนล่วงแล้ว เขาใช้ให้ทุบกาบมะพร้าว, ทุบหินและกวาดท่อเสร็จงานเขาขังตามเดิม อยู่ในสภาพเช่นนี้หลายเดือน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) เขาใช้ปราบถนนในคุกต่างประเทศกระทุ้งสามเกลอและขนดินทำลาดถนนโดยไม่หยุดเลย เขาใช้เป็นเครื่องจักร ไม่ใช่แรงมนุสส์ กลางวันได้พักตอนเที่ยง 1 ชั่วโมง พอบ่ายโมงแล้ว ลงมือทำงานอีกไปจนบ่าย 4 โมง จึงเลิกอาบน้ำแล้วรับประทานอาหาร เข้าขังตามเดิม การปราบถนนและทำลาดถนนอยู่หลายวันจวนจะแล้วเสร็จ เขาใช้ให้ไปหามอิฐยังคุกไทยซึ่งไกลจากคุกต่างประเทศประมาณ 5 เส้น พวกเพื่อนของข้าพเจ้า ได้พูดขอร้องต่อเจ้าพนักงานผู้ควบคุมว่า พวกเรากำลังปราบถนนและทำลาดถนนเหน็ดเหนื่อยอยู่มากแล้ว ขอให้นักโทษคนอื่นไปขนบ้างเถิด เพราะนักโทษในคุกไทยก็ยังมีอยู่ตั้งพันๆ ซึ่งเหมาะแก่งานเช่นนั้นยังมีอยู่ เจ้าพนักงานก็สบัดหน้าเป็นเด็ดขาดว่าต้องไปขนโดยคำสั่งของเจ้ากรมกองมหันตโทษ

พวกเพื่อนของข้าพเจ้าได้ฟังคำสั่งอย่างเด็ดขาดเช่นนั้น เนื่องด้วยแดดกำลังร้อนจัดทำงานไม่มีเวลาหยุดและตรวนก็เกะกะ ติดขัดต่างๆ ในการขนอิฐ จึงพร้อมใจกันตอบว่า เมื่อไม่กรุณาก็ไม่ไป เป็นคำตอบที่ง่ายและเหมาะในเวลานั้น เขาสนองคำตอบโดยไล่พวกเพื่อนของข้าพเจ้าเข้าขังเลยทันที หาว่าสไตร๊ค์ไม่ทำงานตามคำสั่ง เขาทำโทษพวกเพื่อนของข้าพเจ้าเนื่องด้วยการทั้งนี้คือ ตีตรวนใหญ่ใส่พวงคอใหญ่ ยัดเข้าห้องมืดกลางสนามหญ้า แยกกันไว้ห้องละคน นอนกับ ปูนซิเมนต์เป็นหณุมานคลุกฝุ่นอยู่ 15 วัน ส่วนอีก 5 คนที่เขาทำงานเบาอยู่แล้ว เขาให้ทำงานหนักสูบน้ำ 15 วันเหมือนกัน ในระหว่าง 15 วัน พวกที่อยู่ในห้องขังน้ำท่าไม่ได้อาบ ข้าวก็ให้กินกับเกลือผอมโซ ขี้ใครท่วมบ้องหู พอพ้นกำหนดโทษ เขาไขออกมาจากห้องขัง ตอนนี้เพื่อนของข้าพเจ้าหัวเราะและพูดว่า เหมือนตัวอะไรขุดออกจากรู เพื่อนต่อเพื่อนก็เกือบจำหน้ากันไม่ได้แต่หัวใจเบิกบาน หน้าตายิ้มแย้มทุกคน เพราะเชื่อมั่นทุกคนว่า มนุสส์เราเกิดมา พระผู้เป็นเจ้าได้กะตัว มีพรหมลิขิตมาแต่กำเนิดแล้ว ว่าเราจะเป็นละครของโลกตัวอะไรบ้าง จึงไม่มีใครค่อยวิตกและห่วงใยต่อชีวิตนัก

ระหว่างที่พวกเพื่อนข้าพเจ้าถูกขังอยู่ในห้องมืด และอีก 5 คน ซึ่งไม่ทำการสไตร๊ค์ด้วย เพราะเจ็บป่วยและไปทำงานอย่างอื่นเสียต้องสูบน้ำ การสูบน้ำเขาแบ่งออกเป็นผลัดๆ หนึ่ง 2 คน สูบไม่หยุดมือครั้นแล้วคุมมาเก็บไว้ ที่แดนห้องขังคนอดยาฝิ่น แดนนั้นเป็นที่เก็บคนบ้า คนเป็นโรคเรื้อนกุดถังมะเร็งเก็งกอยและโรคติดต่ออันเป็นโรคน่ากลัวทั้งสิ้น มีเจ้าพนักงานชั้นนายร้อยตำรวจควบคุมประจำอยู่คน 1 กับนายสิบตำรวจอีก 3 คน

เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร เขาก็เอาข้าวใส่กาละมังไปวางให้พวกเพื่อนข้าพเจ้าขอร้องว่าการกินอาหารนั้น ขอให้ไปกินที่อื่นจะเป็นที่ไหนๆ ก็ได้เพราะที่นั่นสกปรกน่าสะอิดสะเอียนนัก และน่ากลัวเชื้อโรคจะติดต่อกันได้ ผู้ควบคุมไม่ฟังเสียง กลับกล่าวว่าที่อื่นไม่มีเมื่อกินไม่ได้ก็แล้วไป พวกเพื่อนของข้าพเจ้าอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีก แต่ก็หาได้รับความกรุณาไม่ พวกเพื่อนข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ถ้าจะให้กินที่นั่นจริงๆ จะไม่ยอมกินเป็นอันขาด

เจ้าพนักงานเขาก็ทำตามหน้าที่ไม่ย้ายให้จริงๆ พวกเพื่อนข้าพเจ้าทั้ง 5 คน ก็มีมานะเหมือนกัน คือไม่ยอมกินข้าวทั้งเวลาเช้า กลางวันและเย็น แต่คงกัดฟันทำงานสูบน้ำให้ได้ตามกะเสมอ

เนื่องจากพวกเพื่อนของข้าพเจ้าทำงานได้ แต่ไม่ยอมกินข้าวนั้น แหละทำให้เจ้าพนักงานสงสัยว่าเขาจะลักลอบกินจึงตรวจค้นตามตัว และในห้องนอนอย่างกวดขันทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น มิให้มีอาหารอย่างใดๆ เลยแล้วคอยคุมอยู่ตลอดเวลา ครั้ง 1 มีผู้สงสารให้น้ำตาลก้อนแก่พวกเพื่อนข้าพเจ้าเขาริบเอาขว้างเสีย

ในห้องนอนเป็นห้องทึบ มีรูเท่าสตางค์แดงอยู่ 10 กว่ารู ใครจะส่งอาหารใดๆ ไม่ได้เลย ซ้ำบางทีเจ้าพนักงานเข้าไปค้นกันในเวลากลางดึกก็ไม่ได้อะไร ตกลงว่าในระ หว่าง 15 วันนั้น แม้จะกวดขันอย่างไรก็ไม่ปรากฏว่าพวกทั้ง 5 ได้กินข้าวหรืออาหารใดๆ นอกจากน้ำเท่านั้น

เมื่อพวกขังออกจากห้องขังแล้ว เพื่อนกับพวกเพื่อนของข้าพจ้ากลับมาขนอิฐ และจองถนนในคุกต่างประเทศผะสมปูน และโบกปูนจนสำเร็จเรียบร้อย มีชื่อซึ่งนักโทษเรียกว่าถนนทหารเย็นอันว่าชักขยาดไม่กล้าจะขัดขวางเขาอีกกลัวความทรมาน เพราะเจ้าพนักงานเขาได้ประกาศไว้ว่าถ้าไม่ทำงานตามคำสั่งอีก ก็จะโปรยข้าวให้กินเป็นไก่ เพื่อนข้าพเจ้าว่าเพราะไม่อยากเป็นไก่ จึงกัดฟันทนเอาการทำงาน ในคราวสำคัญนี้มี 3 พวก พวกจองถนนพวกหนึ่ง พวกสูบน้ำและสีข้าวพวกหนึ่ง ชักสูบและตะไบบาตร์ (ถูบาตร์) อีกพวกหนึ่ง เจ็บป่วยก็ต้องไปที่ทำงานเพื่อน ข้าพเจ้าว่า ครั้งหนึ่ง นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ป่วยเป็นไข้ปรอดชื้นตั้ง 105 ดีกรี เดินไม่ไหวเพราะตรวนมันใหญ่ไข้ก็จับ ขอทุเลาพักนอนอยู่ยังห้องขังเขาก็ไม่ยอม พวกเพื่อนที่มีกำลังวังชาหน่อย ก็ต้องแบกขึ้นบ่าไปพลอยตากลมตากแดดอยู่ข้างกำแพง

เจ้างานสีข้าว เพื่อนข้าพเจ้าว่าเป็นงานที่หนักกว่าอย่างอื่น สีมือใช้กำลังคน 4 คน ช่วยกันสี แต่ไม่ใช่สีชะนิดที่เราเห็นราษฎรใช้กันอยู่ตามหัวเมือง เป็นสีขนาดใหญ่สร้างขึ้นไว้สำหรับนักโทษไม่ใช่แรงคนธรรมดา และกะให้สีวันละ 11 กะสอบ พวกเพื่อนข้าพเจ้าโดนเข้าหลายคน ถึงกับสลบและเป็นลมคาสีก็มี ทั้งนี้เพราะเหตุว่า เจ้าพนักงานเขาบังคับให้พวกเพื่อนของข้าพเจ้าสี - สีอย่างไม่มีหยุด ตั้งแต่ 8 ถึง 11 น. ระยะหนึ่ง  ตั้งแต่ 12 ถึง 15 น. อีกระยะหนึ่ง คนหนึ่งคนใดจะละออกจากสีได้ก็ชั่วเวลากินน้ำเท่านั้น อีก 3 คนที่เหลืออยู่ก็ต้องเพิ่มกำลังสีแทนแรงเพื่อนคนที่ไปกินน้ำ คนไปกินน้ำก็ต้องรีบดื่มอั้กๆ เพราะสงสารเพื่อนอีก 3 คนจะตาย

การสูบน้ำและชักสูบก็เช่นเดียวกับสีข้าว แต่เบาแรงกว่าข้าวพอสนองพระเดชพระคุณ เขาใช้เป็นเครื่องจักร์อยู่เช่นนี้ (เฉพาะพวกทหาร) เป็นเวลานาน แล้วค่อยกรุณาหย่อนลงทีละน้อยๆ

ภายหลังเมื่อ 2-3 ปีล่วงแล้วพวกๆ เพื่อนของข้าพเจ้า ก็ได้รับความผ่อนผันเหมือนนักโทษทั้งหลาย เรื่องนี้เพื่อนของข้าพเจ้าว่าไม่มีความโกรธแค้นหรือพยาบาท ต่อเจ้าพนักงานผู้ควบคุมทำงานครั้งกระนั้นเลย ถือว่าเป็นหน้าที่ของเขาต้องกระทำโทษเรา-เราและเขาเป็นตัวละครคนละตัวโลกจึงจะสนุก และอยู่เป็นโลกได้ เวลานี้บางคนก็เป็นเพื่อนชอบพอกันก็มี และพระยาพัสดี ก็ยังเป็นที่เคารพอยู่

ต่อมาภายหลัง เมื่อพวกเพื่อนของข้าพเจ้าได้เข้าประจำทำงานตามภูมิรู้ของเขาแล้ว เขาได้พยายามเล่าเรียนวิชาต่างๆ ในเวลาว่างจากงานการที่เขากำหนดให้ เช่น ภาษาอังกฤษ, กฎหมาย, แพทย์และประวัติศาสตร์ ฯลฯ ได้ลงทุนซื้อสระสมตำหรับตำราทั้งภาษาไทยและต่างประเทศลอบส่งเข้าไปทางลับ เพราะเรือนจำห้ามมิให้ อ่านหนังสือพิมพ์หรือตำหรับตำราใดๆ ทั้งนั้น ตัดเสรีภาพในทางนี้เสียอย่างเด็ดขาด แต่ถึงกระนั้นก็ดี มิใช่ว่าพวกเพื่อนของข้าพเจ้าจะมิได้อ่านหนังสือก็หาไม่ เขาพยายามแสวงหา ตั้งหน้าอุตส่าห์เล่าเรียนและสระสมตำราที่เป็นเล่มๆ ไว้ได้ราว 200 เล่ม ถ้าคิดเป็นราคาก็หลายหลายร้อยบาท

ภายหลังผู้ปกครองเรือนจำรู้ระแคะระคายว่า พวกเพื่อนของข้าพเจ้าได้พยายามแปลตำหรับตำราและเรื่องต่างๆ ออกไปพิมพ์ภายนอก ซึ่งเป็นการรั่วใหลออกไปจากสายตาของเขา จึงสั่งให้ค้นหนังสือต่างๆ ที่เป็นเล่มได้ประมาณ 200 เล่ม กับบันทึกและเรื่องต่างๆ ที่เขาอุตส่าห์จดอุตส่าห์เขียนสระสมไว้ หามออกไปนอกคุกตั้ง 10 กะบุงใหญ่จัดการเผาไฟเสียทั้งสิ้น เป็นอันว่าเจ้าพนักงานเขาได้กระทำหน้าที่ของเขาถูกต้องตามคำสั่งอีกวาระหนึ่ง แต่ครั้นแล้วพวกเพื่อนของข้าพเจ้าก็ได้พยายามสระสมขึ้นอีกใหม่ คงได้อ่านได้เรียนกันเรื่อยๆ มา แต่ทว่าต้องกระทำโดยปิดบังทั้งนั้น

ภายหลัง 3-4 ปีล่วงแล้ว ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเพื่อนที่รักของข้าพเจ้าอีก เห็นเพื่อนของข้าพเจ้ามีหน้าตาสดใสกว่าเมื่อก่อน การเยี่ยมก็สบายและนานเหมือนนักโทษทั้งหลาย พอที่เราจะคุยอะไรต่ออะไรกันไม่รีบเร่ง

ครั้งหนึ่งเพื่อนของข้าพเจ้า พอเห็นหน้าข้าพเจ้าในห้องเยี่ยม ก็แสดงหน้าเศร้าสลดร้องตะโกนก่อนพูดเรื่องอื่นว่า “เพื่อนเอ๋ย เพื่อนของเราได้ลาไปสู่ปรโลกเสียคนหนึ่งแล้ว” คือเจ้าวาศเพื่อนรักของเราเป็นวรรณโรค เราได้พยาบาลรักษากันโดยเต็มความสามารถ ที่เราจะช่วยเหลือกันได้ในเวลานี้ ก่อนที่เขาจะสิ้นใจสัก 2-3 นาที เขาได้กอดคอเพื่อนของข้าพเจ้าลงไปกระซิบพูดด้วยเสียงอันบอกมฤตยูว่า “เพื่อนเอ๋ย เขาต้องลาเพื่อนในเดี๋ยวนี้ ข้าขอฝากบุตรของข้าคนหนึ่ง และขอฝากไชโยไว้ ถ้าเองยังมีชีวิตได้เห็น-” พูดได้เท่านี้ ลมอัสสาสะก็สว้าน เสลศม์หางวัวตีขึ้นคลอกๆ อยู่ในลำคอ มือละจากคอเพื่อนของข้าพเจ้า ผงะหงายไปอีกทางหนึ่ง ก็ถึงแก่กรรมในบัดนั้น

ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกสอื้นตื้นตันในครั้งแรก แต่ข้าพเจ้าหักใจได้ง่าย เพราะระลึกถึงคำว่าอนิจจังและเพียงได้ยินไม่ได้เห็น จึงกล่าวปลอบใจเพื่อนของข้าพเจ้าพอสมควร ก็หมดเวลาของการเยี่ยมในวันนั้น

ต่อมาประมาณสัก 2 ปีเศษ ข้าพเจ้าก็ได้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่าหม่อมราชวงศ์แช่ได้ลาโลกเป็นสุขไปเสียอีกคนหนึ่งแล้ว โดยเป็นโรคลำไส้และได้ตายในวงแขนของเพื่อนๆ ข้าพเจ้าคนหนึ่ง เขาบอกว่า ก่อนที่หม่อมราชวงศ์แช่จะสิ้นใจ ได้พูดด้วยเสียงแหบแห้งว่า “ที่ตายของข้าอยู่ตรงนี้ พระเจ้ากะที่ให้ ข้าพึ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง” พอขาดคำสักประเดี๋ยวเพราะพูดไม่ได้เสียแล้ว ลมหายใจก็รวยระริกๆ ไปที่ละน้อยๆ ด้วยความสงบ ข้าพเจ้าก็พูดปลอบโยนกับเพื่อนครั้งก่อน แล้วข้าพเจ้าก็ลากลับเพราะกระดิ่งสั่นกริ๋ง-ว่าหมดเวลาเยี่ยม

การอาสาไปในงานพระราชสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2460 เพื่อนข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้ฟังเหมือนกันว่า พวกเพื่อนของข้าพเจ้า ได้ทำฎีกาพิเศษขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขออาสาไปงานพระราชสงครามทวีปยุโรปซึ่งเกิดเป็นสงครามโลกในครั้งกระนั้น ทั้งนี้เพื่อนของข้าพเจ้ากล่าวสั้นๆ ว่า อยู่ในนี้ก็เห็นจะต้องตาย อาสาสงครามไปตายในข้างหน้า ยังได้ขึ้นชื่อว่าสนองคุณชาติเสียอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในไม่ช้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาตอบลงมาเป็นใจความว่า “การส่งทหารไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ เป็นกองเล็กน้อย ยังไม่ส่งกองใหญ่โตอย่างใด จึงยังไม่ถึงเวลาที่พวกนี้จะต้องไป แต่การที่พวกนี้อาสาขึ้นมา ก็เป็นความดีความชอบส่วนหนึ่ง จึงลดโทษให้คือพวกตลอดชีวิต ลดลงเหลือกำหนดโทษ 20 ปี และพวก 20 ปี ลดลง 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ” พวกเพื่อนของข้าพเจ้าก็รู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเองก็พลอยโสมนัศยินดีด้วย

พอมาถึง พ.ศ. 2467 เนื่องในการเฉลิมฉัตรมงคล ประจวบด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์มาได้ 15 ปี จึงทรงกรุณาโปรดปล่อยนักโทษตามข่ายพระกรุณา พวกเพื่อนของข้าพเจ้าก็ได้หลุดพ้นพระราชอาญา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 เป็นเวลาที่ต้องโทษทนทุกข์ทรมานอยู่ 12 ปี 6 เดือน กับเศษ 6 วัน นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณส่วนหนึ่ง

เมื่อพ้นพระราชอาชญามาแล้ว ต่างคนก็ต่างแยกกันไป โดยการหาเลี้ยงชีพบังคับตามความรู้และความสามารถของเขา จนถึงข้าพเจ้าเขียนอยู่เวลานี้ ได้ยินจากเพื่อนของข้าพเจ้าว่าได้สิ้นชีพไปแล้วอีก 4 คน คือ นายเหรียญ ทิพยรัตน์, นายจันทร์ ปาณสีดำ, นายปลั่ง ปูรณโชติ, และนายทวน เธียรพิทักษ์ คงเหลือนับทั้งที่อยู่ในพระนครและตามจังหวัดเพียง 17 คนเท่านั้น

พวกที่เหลืออยู่ข้าพเจ้าได้ยินว่ารัฐบาลเก่าส่งคนคอยติดตามสอดแนมความประพฤติอยู่เสมอ ยิ่งเมื่อคราวลือกัน ในงานฉลองพระนครคราวต้นปีนี้ด้วยแล้ว รัฐบาลเก่าได้เพ่งเลงอยู่มาก จนถึงกับให้นักสืบมาลวงเพื่อเอาความก็มี แต่ก็เป็นเคราะห์ดีที่พวกเพื่อนของข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้าเสียก่อน จึงเป็นโอกาสให้กองทัพหลังคือคณะราษฎรผู้รักชาติจู่โจมตียึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของรัฐบาลเก่าได้สำเร็จสมประสงค์ นับว่าดวงชะตาของประเทศสยามที่รักของเรายังจะไม่ถึงอับจน และจะเฟื่องฟูต่อไปในกาลข้างหน้า

นี่! เป็นตุ๊กกะตาตัวสำคัญ ที่จะให้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายเห็นคุณของคณะราษฎรว่า อุตส่าห์เอาชีวิตของตนเข้าแลกระหว่างความสำเร็จกับไม่สำเร็จเท่านั้น มิได้มุ่งหมายไปอย่างอื่น และซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่คิดการเรื่องนี้และนิ่งดูดายเสีย ปล่อยให้เพื่อนร่วมชาติเป็นไปตามยถากรรม ตัวใครตัวมัน ถือภาษิตที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” พวกคณะราษฎรที่คิดการทั้งนี้ก็คงจะอยู่ด้วยความสุข ไม่ขาดแคลนทั้งลาภและยศ แต่นี่เป็นชะตาของเพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย พระเจ้าสร้างคณะราษฎรมากำเหนิด ให้คิดการช่วยประเทศในเคารพ 2 เป็นการสำเร็จอย่างเรียบร้อยแนบเนียนยากที่จะหาประวัติการณ์ของโลกเปรียบเทียบได้

ที่มา : สอน วงษ์โต, ชีวิตนักการเมือง และวิบากของคณะ ร.ศ. 130, ใน, “เพื่อนตาย”, (กรุงเทพฯ: ปอทง, 2477), น. 22 - 35.

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น