ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คณะ ร.ศ. 130 แนวคิด ข้อเรียกร้อง และการถูกจับกุม

1
มีนาคม
2567

Focus

  • เมื่อ 139 ปีที่แล้ว ใน ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2428) กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสถานฑูตสยาม ณ กรุงลอนดอน กรุงปารีส กรุงวอชิงตัน และในยุโรปอื่นๆ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 (หนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน) ขอให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ประเทศไทยเจริญแบบอารยประเทศ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ (โดยทำการปฏิรูประบบราชการแทน)
  • วันนี้ (1 มี.ค. 2567) เมื่อ 112 ปี ที่แล้ว ใน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ในสมัยรัชกาลที่ 6 คณะบุคคลที่ประกอบด้วยนายทหารรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง และข้าราชการรุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 50 คน ได้วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย เพื่อหวังให้สยามเป็นหนึ่งในประเทศศิวิไลซ์ แต่ความลับรั่วไหล รัชกาลที่ 6 ทรงทราบแผนการ จึงทรงให้จับกุมกลุ่มก่อการนี้ก่อนกระทำการได้สำเร็จ แต่ทรงไม่ประหารชีวิต
  • คณะราษฎรรุ่นน้องผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสมัย รัชกาลที่ 7 ได้ออกพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 เพื่อรำลึกถึงความตั้งใจดีของคณะกบฏ รศ. 130 รุ่นพี่ และมิให้คณะ รศ. 130 และลูกหลาน ต้องมีมลทินใดๆ จากที่เคยถูกวางโทษและเสียสิทธิใดๆ ในคราวนั้น

 


คณะ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปราบกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ที่มาของภาพ: ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ https://www.silpa-mag.com/history/article_63104

 

ในวาระ 112 ปี คณะ ร.ศ. 130 คณะผู้ก่อการประกอบด้วยทหารและพลเรือนที่มีการเรียกร้องให้สยามมีการปกครองภายใต้แบบตะวันตกที่มีรัฐธรรมนูญและมีการชี้ให้เห็นแนวคิดการปกครองสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศยุคนั้น ได้แก่ absolute monarchy, limited monarchy และ republic เป็นคณะแรกๆ[1] รวมถึงในคณะ ร.ศ. 130 ได้มีการอภิปรายและถกเถียงถึงแนวทางการปกครองดังกล่าวกันอย่างเข้มข้น

ขณะที่การถูกจับกุมอยู่ในช่วงวางแผนก่อการราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงราวต้นเดือนมีนาคม ซึ่งในปัจจุบันยังมิได้มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุวันเข้าจับกุมแน่ชัดดังนั้นจึงมักแสดงการรำลึกถึงคณะ ร.ศ. 130 ตามที่นิยมกันคือในวันที่ 1 มีนาคม โดยบทความนี้จะนำเสนอสาเหตุ แนวคิด ข้อเรียกร้องผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญของคณะ ร.ศ. 130 ปฏิกิริยาของรัฐในการจับกุมคุมขัง และการส่งต่ออุดมการณ์ทางรัฐธรรมนูญถึงคณะราษฎรในเวลาต่อมา

 

ความเป็นมาและสาเหตุสำคัญของการก่อการคณะ ร.ศ. 130

ก่อนหน้าที่คณะ ร.ศ. 130 จะเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปในแนวทางที่มีรัฐธรรมนูญนั้น ใน ร.ศ. 103 ได้มีคณะบุคคลทั้งชนชั้นสูง และข้าราชการรุ่นใหม่ได้ร่วมกันทำหนังสือกราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและทำงานอยู่ในต่างประเทศจึงมีทัศนะว่าสยามควรเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการปกครองให้มีความเจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศ

เจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏพระนามในหนังสือกราบบังคมทูลก็คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ อัครราชทูตสยามประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ และอัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน และท่านอื่นอาทิ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ตำแหน่งที่ปรึกษาสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ที่ทรงศึกษาวิชากฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นต้น

คณะ ร.ศ. 103 มีข้อเรียกร้อง 7 ประการสำคัญได้แก่

  1. ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวินิจฉัยราชการแผ่นดินไปทุกเรื่อง เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ แต่มิต้องทรงงานราชการด้วยพระองค์เอง
  2. ให้มีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำหน้าที่การบริหารประเทศโดยพระบรมราชานุมัติ, อีกทั้งมีกฎหมายการสืบราชสมบัติที่ชัดเจน
  3. ขจัดการติดสินบนข้าราชการ โดยให้เงินเดือนแก่ข้าราชการตามตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
  4. ให้มีระบบกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวล
  5. ปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบรรดากฎหมายและขนบธรรมเนียมที่เป็นข้อกีดขวางการพัฒนาประเทศ หรือที่ไม่เป็นประโยชน์โดยแท้ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมมาแต่โบราณกาลก็ตาม
  6. ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะสำหรับราษฎรทั้งปวง
  7. ให้มีระบบการแต่งตั้งข้าราชการให้ได้บุคคลที่เหมาะสม อีกทั้งการลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด[2]

27 ปี ถัดมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษทางคณะ ร.ศ. 130 ได้วางแผนก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง อันมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยจากหลักฐานชั้นต้นพบว่าจากกรณีที่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการกราบบังคมทูลให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายโดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น แล้วชี้ว่า

 

“...การค้าขายและการเพาะปลูกในเมืองไทยนั้นตกต่ำทรุดโทรมมาตั้งแต่ในปลายๆ รัชกาลก่อนแล้ว ราษฎรได้ความคับแค้นอับจนต่างๆ ครั้งมาเปลี่ยนรัชกาลเขาก็มุ่งหมายกันว่า จะได้ทรงจัดการทำนุบำรุงแก้ไขความร้อนทั้งนั้นขึ้น มาจนบัดนี้ก็หาเห็นได้ทรงจัดแก้ไขประการใดไม่ มีแต่การเล่นตลอดมา”[3]

 


ทรัพยศาสตร์ชั้นต้น ของพระยาสุริยานุวัตร ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2454
ที่มาของภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/ทรัพยศาสตร์ และ https://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra60_0096/mobile/index.html

 

จากทัศนะของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ จึงสรุปได้ในแง่หนึ่งหลักว่าการไม่เปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจได้กระตุ้นให้เกิดความคิดปฏิวัติของคณะ ร.ศ. 130 ขึ้น[4] ทั้งนี้ ในพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 เรื่องเศรษฐกิจนั้นแตกต่างจากพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ โดยทรงสะท้อนผ่านพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือทรัพยศาสตร์ของพระยาสุริยานุวัตร[5] ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์คงเห็นว่าภัยสงคราม[6] และการปกป้องบ้านเมืองจากการรุกราน หรือการสร้างความมั่นคงนั้นจะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศได้กล่าวคือ ถ้าไม่มีสงครามก็จะมีทรัพย์สินคงเหลือ[7]

สาเหตุอื่นๆ อาทิ การมีเสรีภาพทางความคิดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสามารถมีหนังสือพิมพ์ที่สามารถวิจารณ์ระบอบการปกครองได้จึงทำให้เกิดข้อวิจารณ์และชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของระบอบการปกครองมากขึ้น อาทิ หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์[8] หนังสือของเทียนวรรณ และหนังสือของ กศร. กุหลาบ เป็นต้น

ประกอบกับกรณีเกิดความไม่พอใจของทหารที่มีการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น และกรณีการวิวาทระหว่างทหารกับมหาดเล็ก ทำให้ทหารที่รับการลงโทษเกิดความไม่พอใจ ผนวกเข้ากับความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญตามแนวคิดแบบประชาธิปไตยและระบอบการปกครองที่การจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์เริ่มแพร่หลายในหมู่คนที่มีการศึกษาจากต่างประเทศ สาเหตุต่างๆ ข้างต้นจึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์หรือคณะ ร.ศ. 130 ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

ส่วนสมาชิกของ คณะ ร.ศ.130[9] คาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง และข้าราชการรุ่นใหม่ในยุคนั้น อาทิ นายร้อยหนุ่มจบใหม่, มีอาชีพหมอ หรือมีอาชีพนักกฎหมาย หรือนักหนังสือพิมพ์ แม้จะไม่มีชนชั้นสูงเข้าร่วมดังเช่นคณะ ร.ศ. 103 แต่คณะ ร.ศ. 130 ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำในระบบรัฐไทยที่ได้รับการศึกษาดีทั้งจากการศึกษาให้อ่านออกเขียนได้ในสยามหรือมีโอกาสได้ศึกษาแนวคิดทางการเมืองของประเทศในตะวันตกผ่านเอกสารภาษาต่างประเทศ อาทิ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ นพ.เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ, ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ, ร.ท.จือ ควกุล เสนาธิการคณะ, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เลขานุการคณะ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.วาส วาสนา, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.สอน วงษ์โต, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธุ์, พันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์เวทย์ หรือ นพ.อัทย์ หะสิทตะเวช และเปลี่ยน ไชยมังคละ เป็นต้น

 

ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ : หลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญในการสะท้อนแนวคิดของการปฏิวัติ ร.ศ. 130

ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ[10] คือ เอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองของคณะ ร.ศ. 130 ซึ่งชี้ให้เห็นความคิดและวิธีดำเนินการปฏิวัติ 3 ประการ

  1. กระแสความคิดทางการเมืองการปกครองเปรียบเทียบจากในตะวันตกและเอเชียโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นทั้งการปกครองโดยแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรูปแบบอื่น
  2. วิธีปกครองประเทศเปรียบเทียบ 3 รูปแบบ ได้แก่ absolute monarchy, limited monarchy และ republic
  3. การประชุมเพื่อถกเถียงทางความคิดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองใหม่โดยคณะผู้ก่อการ ที่แสดงถึงการแสวงหาข้อตกลงตามแนวทางประชาธิปไตยเรื่อ

งความเหมาะสมในการปกครองรูปแบบต่างๆ และมีการลงคะแนนเลือกรูปแบบการปกครองระหว่างสมาชิกฯ อีกด้วย

 


ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ
ที่มาของภาพ: คณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th/article/progressive/special/6655/

 

ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ

“บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป ไม่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใด ซึ่งจะมีความรุ่งเรือง หรือเกีดความเสื่อมทรามลงนั้น ย่อมเป็นไปโดยความปกครองของประเทศซึ่งเป็นเหตุที่จะกระทําให้ประเทศนั้นเกีดความเจรีญ หรือเกีดความซุดโซมด้วยประการต่างๆ

ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดรู้จักจัดการปกครองดี โดยใช้กฎหมาย แลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรม ซึ่งไม่กดขี่แต่เบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้น ก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแต่ศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกที เพราะราษฎรได้รับความอิศรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสําหรับกดคอกันเล่น ดังเช่นประเทศซึ่งอยู่ในยู่โหรป แลอาเมริกา เป็นต้น ประเทศเหล่านี้แต่เดิมก็เคยมีกระษัตร์ปกครองอยู่เหนือกฎหมาย ใช้อํานาจแอ็บโซลู๊ตเต็มที่สําหรับกดขี่ราษฎรได้ตามความพอใจ ครั้นต่อมาเมื่อราษฎรเกิดความรู้แต่ความฉลาดมากขึ้นแล้ว จึงได้ช่วยกันลบล้างประเพณีอันชั่วร้ายของกระษัตริย์เสียหมด คิดจัดตั้งประเพณีการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่ บางประเทศก็บังคับให้กระษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย บางประเทศก็ยกเลีกไม่ให้กระษัตริย์ปกครอง คือจัดตั้งการปกครองเป็นรีปับบลิ๊ก เพราะฉนั้นในเวลานี้จึงมีการปกครองสําหรับประเทศหลายวิธีด้วยกัน

ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ให้เลอียด

ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศ โดยมีกระษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย (แอ็บโซลู๊ตมอนนากี่)

การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอํานาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์จะทําการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทําได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง กระษัตริย์จะกดขี่ แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหนึ่งประการใดทุกอย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟัน แต่จองจําได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น

กระษัตริย์จะเบียดเบียนเอามาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขึ้น เช่นอย่างไล่ที่ทําวังเป็นต้น เงินผลประโยชน์สําหรับแผ่นดินที่เก็บได้มานั้น กระษัตริย์จะรวบรวมเอามาบํารุงความสุขแลความรื่นเริงในส่วนตัว ส่วนพระญาติพระวงษ์ หรือกอบโกยให้ค่าทาษ เบ่าไหล่ แลเอามาบําเรอพวกประจบประแจงสอพลอมากน้อยเท่าใดก็ได้โดยไม่มีขีดขั้น เพราะฉนั้น เงินที่จะใช้ในการบํารุงบ้านเมืองจึงไม่มีเหลือ เพราะกระษัตร์เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวส่วนครอบครัว แลเอาไปบําเรอพวกสอพลอเสียหมด

ธรรมดากระษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมายนั้นจะทําการสิ่งใดก็ทําไปตามภาระตนเองโดยไม่มีที่ขัดขวาง เมื่อเห็นว่าการสิ่งใดซึ่งจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวแลครอบหรือกระทําให้เกิดความสุขสนุกสบายได้เพียงใดที่กระทําเอาตามความพอใจ ราษฎรจะได้รับความเดือดร้อนหรือบ้านเมืองจะซุดโซมก็ไม่ต้องนึกถึง ขอแต่ให้ส่วนตัวแลครอบครัวมีความศุข สนุกสบายก็แล้วกัน

เพราะเหตุนี้เองประเทศที่มีกระษัตริย์ปกครองเป็นแอ๊บโซลู๊ตจึงต้องล่มจมถึงกับความวินาศ ต้องเป็นค่าเป็นชะเลยของประเทศที่มีแบบธรรมเนียมปกครองดี ดังที่ได้มีตัวอย่างมามากแล้ว

วิธีปกครองซึ่งให้กระษัตริย์มีอํานาจเป็นแอ๊บโซลู๊ตนี้ในอยู่โหรป แลอาเมริกา หมดสิ้นไปแล้ว เพราะตั้งแต่ราษฎรมีความฉลาดมากขึ้น ก็ได้ช่วยกันคิดกําจัดประเพณีที่ชั่วร้ายอย่างป่าเถื่อนนั้นให้หมดสิ้นไป ประเทศเหล่านั้นจึงได้มีความศรีวิลัยยิ่งขึ้นเป็นลําดับมา

ส่วนประเทศที่ยังใช้อํานาจอันร้ายแรงอย่างป่าเถื่อนอยู่นั้นก็มีแต่จะซุดโซมจนต้องเป็นค่าแลเป็นชะเลยเขาเกือบหมดแล้ว เว้นแต่ประเทศใดซึ่งได้คิดจัดการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองอย่างชั่วร้ายนั้นเสียทัน ประเทศนั้นจึงจะรอดตัวไปได้ ดังเช่นประเทศยี่ปุ่น เป็นต้น ยี่ปุ่นเป็นประเทศเล็กน้อยอยู่ในเอเชียก็จริง แต่ยี่ปุ่นมีอํานาจเท่าเทียมกับมหาประเทศก็เพราะได้จัดการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองได้เร็ว จึงทําให้โลกย์มีความพิศวงกันหมด จนถึงกับเมืองจีน ซึ่งเกิดรบราฆ่าฟันกันอยู่ในเวลานี้ ก็เพราะคิดจะเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองเสียใหม่ เพราะหยากจะให้ประเทศของตนมีอํานาจเท่าเทียมกับมหาประเทศตามความนิยมของโลกย์

บ้านเมืองซึ่งกระษัตร์มีอํานาจอยู่เหนือกฎหมายนั้น จะซุดโซมลงก็เพราะกระษัตริย์มีอํานาจมาก กระษัตริย์จะทําการผิดถูกอย่างใด ก็ไม่มีใครขัดขวาง ส่วนข้าราชการที่มีความกระตัญญูต่อบ้านเมืองนั้น ก็ไม่มีใครกล้าห้ามปรามแลขัดขวาง เพราะกลัวไภย์อันตรายจะมาถึงตัว ส่วนพวกที่เห็นแก่ความศุข ความสบายส่วนตัวโดยปราศจากความกตัญญูต่อชาตินั้น ก็ได้โอกาศอันดีที่จะสอพลอช่วยกันยกย่องส่งเสีม ให้ถูกอกถูกใจกระษัตริย์ ช่วยกันบํารุงบําเรอให้กระษัตริย์มีความสุข สนุกสําราญอยู่เป็นนิจ แม้กระษัตริย์จะทําผิดก็ช่วยกันหนุนว่าดี ชะนี้ กระษัตร์จะไม่โปรดปรานพวกสอพลออย่างไร ขอให้ดูพงษาวะดาลของโลกย์ตั้งแต่โบราณมาจนบัดนี้ บรรดากระษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมายต้องโปรดปรานพวกสอพลอมากกว่าพวกอื่น เพราะฉนั้นจึงชักนําให้มีคนชอบในการประจบประแจง สอพลอมาก เพราะมีช่องทางที่จะได้ดีเร็วกว่าพวกที่ไม่สอพลอ

เมื่อกล่าวมาถึงเพียงนี้แล้วก็จำต้องกล่าวให้เลอียดว่าคนที่สอพลอแลคนที่ไม่สอพลอนั้นผิดกันอย่างไร

คนสอพลอนั้นมีอยู่ ๒ จําพวก จําพวกหนึ่งทําการให้กระษัตริย์โดยตรง ดังเช่นค่าทาษแลพวกบริวานของกระษัตริย์ เป็นต้น

อีกจําพวกหนึ่งนั้นถึงแม้ว่ามีหน้าที่ตั้งแต่งให้ทํางานสําหรับรัฐบาลก็จริง แต่เอาเวลาไปใช้ในทางสอพลอเสียหมด ส่วนการที่ออฟฟิซ นั้นถึงแม้ว่าจะบกพร่องแลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องคิด ขอแต่ให้ได้ใกล้ชิด กลิ้งเกลือกอยู่กับฝ่าบาทก็แล้วกัน ความดีความชอบจะไปข้างไหนเสีย ประเดี๋ยวได้ลาภประเดี๋ยวได้ยศ ฝ่ายพวกที่มัวหลงทําการอยู่ยังออฟฟิซก็ต้องอดโซไปตามกัน บางคนก็ติเตียนว่าคนเหล่านี้โง่ไม่รู้ จักหาความดีความชอบใส่ตัว มัวนั่งมุดหัวอยู่แต่ที่ออฟฟิซ แลยังซ้ำติเตียนว่าเป็นคนเกียจคร้าน ไม่รู้จักเข้าเฝ้าเจ้าเฝ้านาย การสอพลอ หรือการประจบเจ้านี้ใครๆ ก็ต้องทําได้ทุกคน เว้นแต่คนที่เห็นแก่ชาตแลบ้านเมืองเป็นใหญ่กว่าที่จะเห็นแก่คนๆ เดียว การที่ทําให้คนๆ เดียว มีความสุข ความสบายจนเหลือล้นนั้น หาได้เป็นประโยชน์ต่อชาติแลบ้านเมืองไม่ แต่ถ้าทําให้ชาตแลบ้านเมืองมีความเจรีญ ฝูงคนทั้งหมด ซึ่งเป็นชาติเดียวกันก็จะได้รับความสุขความสบายทั่วทุกคน เพราะฉนั้นผู้ที่มีความกะตัญญูต่อชาต จึงคิดหลีกเลี่ยงไม่หยากหาความดีในทางประจบประแจงต่อเจ้านาย คิดอยู่อย่างเดียวแต่จะทําการให้เป็นคุณ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองก็พอแล้ว ถ้าจะคิดหาประโยชน์ในทางสอพลอ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเสียเวลาโดยไม่ใช่กิจอันจําเป็น แต่เป็นธรรมดาแห่งประเทศซึ่งกระษัตร์อยู่เหนือกฎหมายมักจะชักจุงให้คนเป็นพวกสอพลอมาก ให้ดูพงษาวะดาลฝรั่งเศษ เมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าหลุยซ์เวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินมีอํานาจมากแลทั้งเป็นโอกาศของพวกสอพลอ เที่ยวข่มขี่ราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ จนเป็นเหตุให้เกีดกูรียุคอันใหญ่โตขึ้น จนถึงกระษัตริย์แลเชื้อพระวงษ์ของเจ้าต้องถูกฆ่าหมดทุกคน ตลอดจนถึงพวกสอพลอก็ถูกฆ่าด้วยเหมือนกัน ให้ดูพงษาวะดาลจีนทุกเล่ม ถ้าแผ่นดินไหนมีพวกสอพลอมาก ความทุกข์ยากของราษฎรก็ยิ่งทวีมากขึ้น ลงท้ายก็ต้องเกีดกูรียุคใหญ่โตที่เดียว ถ้าเหตุนั้นไม่เกีดจากภายในก็คงเกีดจากภายนอก เพราะประเทศที่ใกล้เคียงเห็นช่วงโอกาศอันเหมาะที่จะแผ่อํานาจมาย่ํายีอาณาเขตร์ได้โดยสดวก เพราะกระษัตริย์มัวเพลิดเพลินสนุกสนานโดยพวกสอพลอช่วยกันบำเรอมิให้มีเวลาที่จะจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย เมื่อครั้งกรุงเก่าของประเทศสยามเสียแก่พม่านั้นก็เพราะอะไรไม่ใช่เพราะเหตุนี้หรือ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ประเทศสยามหมดอำนาจลงทุกทีเพราะไม่มีเงินทองพอสำหรับส้างเครื่องมือไว้ป้องกันตัว จึงเป็นเหตุให้ต่างประเทศเข้ามาแบ่งปันเอาอาณาเขตร์ไปเสียเป็นก่ายเป็นกอง ให้คิดดูถึงประเทศยี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่าสยาม เหตุใดยี่ปุ่นจึงมีเงินพอสําหรับบํารุงเครื่องมือจนยี่ปุ่นมีอํานาจเท่ากับมหาประเทศ

เพราะกระษัตริย์ยี่ปุ่นอยู่ใต้กฎหมายมาช้านานแล้ว เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้มาก็ไม่มีใครจะล้างผลาน นอกจากใช้ในการแผ่นดินฝ่ายเดียว

ส่วนประเทศสยามนั้นถึงแม้ว่าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าแลเก็บผลประโยชน์ นอกจากกระษัตริย์แล้วยังมีพระญาติ พระวง แลค่าทาษ บริวานเกือบนับไม่ถ้วน ยังแถมพวกสอพลออีกเป็นอันมาก ต่างคนก็ต่างกัดกินเลือดเนื้อของประเทศจนยุบยับ ราษฎรก็ไม่เป็นอันจะทํามาหาเลี้ยงชีพย์ เพราะทําได้มาก็ถูกบีบคั้นเอาไปเสียหมด ต่างคนก็ต่างหมดความมานะที่จะหากิน จึงต้องประพฤติตัวเป็นโจรผู้ร้ายสําหรับทําความเดือดร้อนให้กับประเทศ เพราะฉนั้นการปกครองบ้านเมืองตามวิธี (แอ๊บโซลู๊ตมอน นากี้) จึงทําให้ประเทศซุดโซมลงโดยเร็วถึงกับความวินาศอันใหญ่โต

ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศตามแบบลีมิตเต็ดมอนากี้

การปกครองประเทศตามวิธีนี้กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย เพราะฉนั้นกระษัตริย์จึงไม่มีอํานาจที่จะทําการได้ตามภาระตนเอง การงานของบ้านเมืองที่จะจัดทําขึ้นนั้นต้องแล้วแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร ผู้ใดที่ทําคุณทําประโยชน์ให้แก่ชาตแลบ้านเมืองจริงๆ ที่ประชุมจึงจะยกย่องให้มีลาภมียศตามสมควร

ส่วนพวกสอพลอที่ไม่ได้ทําประโยชน์ให้แก่ชาตนั้น แม้จะได้ทําความดีความชอบให้จําเพาะส่วนตัวบุกคน มากสักเท่าใดก็จะไม่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เลยเป็นอันขาด เช่นพวกเต้นเขน แลพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาศได้เป็นขุนนางเลย

เมื่อการหากินทางสอพลอใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่างคนก็ต่างมีมานะที่จะคิดช่วยชาตแลบ้านเมืองให้เจริญต่อไป เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินก็จะมีเหลือพอสําหรับบํารุงบ้านเมือง เพราะที่ประชุมไม่ยอมให้ ผู้ใดเอาไปล้างผลานอีกต่อไป

ฝ่ายราษฎรก็อยู่เย็นเป็นศุข เพราะได้รับความอิศรภาพทั่วหน้ากันโดยปราศจากความกดขี่แต่เบียดเบียนต่างๆ

การปกครองประเทศ

โดยบังคับให้กระษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนี้เป็นวิธีที่ดีมาก ประเทศอังกฤษเป็นผู้เริ่มใช้ขึ้นก่อน ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้ายอนเป็นต้นมา เพราะเวลานั้นกระษัตริย์ในเมืองอังกฤษประพฤตการชั่วร้ายมาก จึงต้องถูกบังคับให้อยู่ใต้กฎหมาย เมื่อได้เปลี่ยนแปลงวิธีปกครองใหม่เรียบร้อยแล้ว ประเทศอังกฤษก็มีความเจรีญยิ่งขึ้นทุกที ประกอบด้วยมหาอํานาจอันสูงสุดจนได้อาณาเขตร์ไว้เป็นประเทศราษเกือบทั่วโลกย์ เพราะอังกฤษได้คิดจัดการเปลี่ยนแปลงแบบธรรมเนียมการปกครองก่อนเพื่อน เพราะฉนั้นประเทศทั่วไปจึงต้องทําตามแบบอย่าง บางประเทศก็เลยเป็นรีปับบลิกไปทีเดียว ส่วนประเทศที่อยู่ในเอเชียก็ได้คิดจัดการเปลี่ยนแปลง ประเพณีการปกครองตามแบบใหม่หมดแล้ว เช่นประเทศเตอร์กี ยี่ปุ่น แลจีน เป็นต้น ยังแต่ประเทศสยามแห่งเดียวที่ยังคงใช้แบบธรรมเนียมการปกครองอย่างป่าเถื่อน ซึ่งทําให้พวกกระษัตริย์ได้รับความศุข์สนุกสบายมากเกินไปจนไม่มีเงินจะบํารุงประเทศ

ว่าด้วยวิธีปกครองประเทศตามแบบรีปับบลิ๊ก

การปกครองประเทศตามวิธีนี้ยกเลิกไม่ให้มีกระษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีที่ประชุมสําหรับจัดการบ้านเมืองอย่างแขงแรง แลมีประธานาธิบดีเป็นประธานสําหรับปกครองประเทศ ส่วนราษฎรหรือผู้คน พลเมืองนั้นก็เหยียดให้เป็นตระกูลเดียวกันหมด ไม่ยอมให้ใครต่ําใครสูงกว่ากันเหมือนอย่างประเทศที่ปกครองตามวิธีอื่น ซึ่งต้องแบ่งคนออกเป็นหลายตระกูลด้วยกัน ที่เหยียดให้เป็นเจ้ามีตระกูลอันสูงสุดอย่าง ๑ ถัดลงไปก็คือตระกูลขุนนางซึ่งกระษัตริย์ตั้งแต่งให้เป็น นอกจากนี้ก็คือ ตระกูลคนสามัญแลตระกูลคนต่ําช้าชั้นค่าทาษทาษาเป็นต้น ถ้าจะพูดอย่างสั้นๆ นั้นคือ กระษัตริย์ได้ยกย่องพวกของตนให้มีตระกูลสูงสุด เป็นเทวดา แลเหยียดราษฎรพวกหนึ่งให้เป็นตระกูลต่ําช้าคร้ายกับสัตว์ แม้ว่าผู้ใดที่ได้ยกย่องให้เป็นขุนนางขึ้นแล้วก็คงไม่พ้นจากค่าทาษของกระษัตริย์อยู่นั้นเอง การที่แบ่งตระกูลของมนุษย์ให้เป็นชั้นต่ําแลชั้นสูงนี้ย่อมทําให้คนทั้งหมดไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน ฝ่ายพวกที่เป็นตระกูลสูงก็เกีดความเย่อหยิ่งแลดูถูกคนชั้นต่ําหรือมิฉนั้นก็

เที่ยวเบียดเบียนคุมเหงเล่นตามสบาย

การแบ่งคนออกเป็นตระกูลสูงแลตระกูลต่ําเช่นนี้ประเทศที่เป็นรีปับบลิ๊กได้ยกเลิกเสียหมด เหยียดคนทั่วไปให้เป็นตระกูลเดียวกัน ให้มีความอิศรภาพเท่าๆ กัน ไม่มีใครเป็นตระกูลต่ําแลเป็นตระกูลสูงกว่ากัน เพราะฉนั้นการดูถูกแลการคุมเหงซึ่งกันก็หมดไป ไม่มีใครเป็นค่าเจ้าเบ่านายเหมือนการปกครองวิธีอื่น เพราะฉนั้นราษฎรทุกประเทศจึงหยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปับบลิกทั้งหมด เวลานี้ ประเทศใหญ่น้อยต่างๆ เป็นรีปับบลิกกันเกือบทั่วโลกย์แล้ว เช่นทวีปอาเมริกาเป็นหมดทั้งทวีป ส่วนในทวีปยู่โหรปนั่นคือประเทศฝรั่งเศษ โปดูเกษ เป็นต้น ฝรั่งเศษได้เริ่มใช้การปกครองวิธีนี้ก่อนเพื่อน ส่วนโปดูเกษนั้นพึ่งเป็นขึ้นเมื่อศกก่อนนี้เอง เวลานี้ในเมืองจีนกำรังรบราฆ่าฟันกันอย่างร้ายแรงก็เพื่อประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นรีปับบลิก”

 

การจับกุมคุมขัง

หากการก่อการครั้งนี้ยังมิทันได้เสนอต่อชนชั้นสูงหรือลงมือปฏิบัติการก็มาถูกจับกุมเสียก่อนในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงต้นมีนาคม ร.ศ. 130 โดยผู้ที่ถูกจับกุมชุดแรกๆ มีจำนวนสองคนคือ ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ กับร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ ซึ่งเป็นนายทหารกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์และได้จับกุมตัว ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนนายร้อยทหารบก หัวหน้าผู้ก่อการ รวมทั้งนายทหารหนุ่มรุ่นใหม่ เช่น ร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ สังกัดกองปืนกลที่ 1 และร้อยตรีเจือ ศิลาอาสน์ สังกัดกรมทหาร ปืนใหญ่ที่ 2 เป็นต้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยและพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษโดยละเว้นโทษประหารชีวิตแก่ผู้ก่อการ และทรงเห็นว่าปัจจัยที่เป็นเหตุให้นายทหารกลุ่มนี้คิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาจากการเกิดปัญหาหลักในมุมมองของพระองค์ว่ามาจากปัญหาในระบบราชการของกองทัพและปัญหาทางการศึกษา กล่าวคือเรื่องตำแหน่งที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในกองทัพ และทรงทองว่าชนชั้นสูงและพระราชวงศ์มีข้อได้เปรียบในการเข้ารับราชการในกองทัพจึงทำให้สามัญชนที่ได้รับการศึกษาและเป็นข้าราชการรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกว่าถูกปิดกั้นอย่างไม่เป็นธรรมอันแตกต่างจากมุมมองของผู้ก่อการและคณะ ร.ศ. 130

 


คณะ ร.ศ.130 ในคุก
ที่มาของภาพ: the101.world https://www.the101.world/thamsuk-numnon-kasidit-interview/

 

คณะ ร.ศ. 130 ในสมัยคณะราษฎร

หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อทางรัฐบาลของคณะราษฎรได้ปกครองประเทศภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม[11] ได้นึกถึงการล้างมลทินแก่คณะ ร.ศ. 130 ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคณะราษฎรหรือถือเป็นอิฐก้อนแรกในการเสนอแนวทางการปกครองแบบระบอบรัฐธรรมนูญอย่างมีระบบเชิงปฏิวัติและเป็นรูปธรรมโดยการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทางความคิดเป็นคณะแรกๆ จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ขึ้น

ประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เรียกประชุมและกล่าวเสนอญัตติด่วน ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติยกความผิดให้แก่ผู้กระทําผิดทางการเมือง พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับรองญัตติ

สาเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินให้คณะ ร.ศ. 130 นี้เนื่องด้วยนักโทษการเมืองคณะ ร.ศ. 130 ที่แม้จะพ้นพระราชอาชญามาแล้วดังหัวข้อก่อนหน้านี้แต่ตามกฎหมายยังไม่ได้รับสิทธิบริบูรณ์ เพราะมีชื่อว่าติดคุกต้องพระราชอาชญามาแล้วและเป็นนักโทษการเมือง

ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรจึงเห็นสมควรว่า คณะ ร.ศ. 130 ควร “จะได้รับพระราชทานยกเว้นโทษให้เกลี้ยงเกลา” โดยให้คืนสิทธิที่เสียไปและขอให้ยกเว้นเสีย เพราะขณะปัจจุบันลูกหลานของคณะ ร.ศ. 130 จะไปเข้าโรงเรียนใดก็ไม่ได้ หรือจะเป็นเนติบัณฑิตก็ไม่ได้ ดังนั้นทางสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอว่าเป็นลักษณะโทษการเมืองและควรได้รับความยกเว้นและขอแก้ไขเป็นดังนี้

 

“ร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคําปรึกษาว่าสมควร ประกาศล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมืองเมื่อ ร.ศ. 130

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ด้วยคําแนะนําและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรว่า บรรดาผู้ที่ถูกวางโทษสถานใดๆ โดยพระบรมราชวินิจฉัย ลงวันที่ 5 พฤษภาคม ร.ศ. 131 นั้น ให้ได้รับพระราชทานล้างมลทินอันพึงเกิดแต่การที่ถูกวางโทษและการเสียไปซึ่งสิทธิใดๆ อันเนื่องแต่การนั้นเสียสิ้น”

 


พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475[12]

 

การล้างมลทินคณะ ร.ศ. 130 ในช่วงต้นของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรนี้แสดงถึงเจตนารมณ์เพื่อเคารพต่ออุดมคติและความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบใหม่โดยมีการถกเถียงตามแนวทางประชาธิปไตยเรื่องรูปแบบการปกครองภายในกลุ่มผู้ก่อการอย่างเข้มข้น จากการประชุมก่อการ พื้นฐานแนวคิดและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่คณะ ร.ศ. 130 จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความคิดภายในคณะผู้ก่อการและทางสิ่งพิมพ์ต่างๆ ชี้ให้เห็นไปในทิศทางหนึ่งว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ[13] และคณะ ร.ศ. 130 คือกลุ่มบุคคลที่นายปรีดี พนมยงค์ นับถือเสมือนเป็น “พี่”[14] ในทางอุดมการณ์แห่งการอภิวัฒน์สยาม

 

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 525-526.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ). วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 654-657.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร, ขุนทวยหาญ, ร.ต. ชลอ (16 ตุลาคม-1 มีนาคม 2454).“ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ”, [เอกสารลายมือ]. 
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 ต12.1/5 ประชุมสุขาภิบาลที่กรุงปารีส ร.ศ. 130 และ พ.ศ. 2462 เนื่องด้วยสงคราม (5 เมษายน 2454-21 พฤษภาคม 2462).  [รหัสไมโครฟิล์ม มร.6 ต/20].
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 บ. 17/11 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 มีนาคม ร.ศ. 130.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร. 6 บ.1/1 ช/4 พระราชวิจารณ์หนังสือ "ทรัพยศาสตร์" 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2457.

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • “เพื่อนตาย ชาวคณะ ร.ศ. 130.”,  รวบรวมโดย นายร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์ ใน พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2480. (พระนคร, 2480).
  • “หมอเหล็งรำลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130”, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอังคารที่ 19 เมษายน 2503.  (ม.ป.ท.: บริษัท กิมกลีหงวน จำกัด; 2503.
  • เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และ เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต., “เรื่อง ปฏิวัติครั้งแรกของไทย โดยสังเขป ร.ศ. 130 ตรงกับ พ.ศ. 2454.”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514. (กรุงเทพฯ: อักษรไทย, 2514).

หนังสือและวารสารภาษาไทย :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หนึ่งศตวรรษ : รัฐธรรมนูญและรัฐประหารกับการเมืองสยามประเทศไทยจากกบฏ ร.ศ. 130 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552).
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
  • แถมสุข นุ่มนนท์, ขบวนการ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522).
  • แถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130 พิมพ์ครั้งที่ 4 แก้ไขและเพิ่มเติม (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565).
  • ณัฐพล ใจจริง, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556).
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รัฐธรรมนูญของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” กับมหากวี “ชิต บุรทัต”, ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2565, หน้า 64-91.
  • ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515).
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552).
  • มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระฯ, พระราชวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์” พระราชวิจารณ์ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 (ศรีสะเกษ: ชาวอักษร, 2542).
  • มูราซิมา, เออิจิ, การเมืองจีนสยาม :การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเล ในประเทศไทย ค.ศ. 1926-1941 แปลและบรรณาธิการ วรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539).
  • สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และทิพย์พาพร ตันติสุนทร บรรณาธิการ, จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ :สถาบันนโยบายศึกษา, 2556).
  • เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และเนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต. ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564).
  • อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2540).

วิทยานิพนธ์ :

  • พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. “การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2568)”, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 


[1] โปรดดูเพิ่มเติม “เพื่อนตาย ชาวคณะ ร.ศ. 130.”,  รวบรวมโดย นายร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์ ใน พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2480. (พระนคร, 2480), “หมอเหล็งรำลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130”, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันอังคารที่ 19 เมษายน 2503.  (ม.ป.ท.: บริษัท กิมกลีหงวน จำกัด; 2503., เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และ เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต., “เรื่อง ปฏิวัติครั้งแรกของไทย โดยสังเขป ร.ศ. 130 ตรงกับ พ.ศ. 2454.”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514. (กรุงเทพฯ: อักษรไทย, 2514) และเหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และเนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต. ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)

[2] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (11 พฤศจิกายน พ.ศ.2566). ข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปแผ่นดิน” จาก “นักปฏิรูป” ยุคแรกของสยามสมัยใหม่เมื่อ ร.ศ. 103, https://www.silpa-mag.com/history/article_11362, สืบค้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567.

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 บ. 17/11 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 มีนาคม ร.ศ. 130

[4] โปรดดูเพิ่มเติม พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. “การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2568)”, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.

[5] มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระฯ, พระราชวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์” พระราชวิจารณ์ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 (ศรีสะเกษ: ชาวอักษร, 2542)

[6] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 ต12.1/5 ประชุมสุขาภิบาลที่กรุงปารีส ร.ศ. 130 และ พ.ศ. 2462 เนื่องด้วยสงคราม (5 เมษายน 2454-21 พฤษภาคม 2462).  [รหัสไมโครฟิล์ม มร.6 ต/20]

[7] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร. 6 บ.1/1 ช/4 พระราชวิจารณ์หนังสือ "ทรัพยศาสตร์" 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2457

[8] โปรดดูเพิ่มเติมการเคลื่อนไหวของคนจีนในไทยและการก่อตั้งจีนโนสยามวารศัพท์ ที่ มูราซิมา, เออิจิ, การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1926-1941 แปลและบรรณาธิการ วรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539)

[9] โปรดดูรายชื่อสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 เพิ่มเติมที่ นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (15 กุมภาพันธ์ 2566). 110 ปี ปฏิวัติครั้งแรกของประเทศไทย, สืบค้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567.

[10] “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ”, [เอกสารลายมือ] ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร, ขุนทวยหาญ, ร.ต. ชลอ (16 ตุลาคม-1 มีนาคม 2454).

[11] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ). วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 654-657.

[12] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 525-526.

[13] ในการประชุมฯ ครั้งหลังๆ ของคณะ ร.ศ. 130 เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนว่าต้องการให้มีการปกครองรูปแบบใดนั้นมีข้อสรุปว่า สมาชิกฯ ลงคะแนนให้มีเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบ republic มากกว่าแบบ limited monarchy

[14] กษิดิศ อนันทนาธร. (1 มีนาคม 2565). ปรีดี พนมยงค์ กับพวกพี่ ๆ คณะ “ร.ศ.130”, สืบค้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567.