ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เหตุที่เรียกชื่อคณะของผู้ก่อการฯ ว่า “คณะราษฎร”

24
มิถุนายน
2566

Focus

  • ชื่อ “คณะราษฎร” เป็นชื่อการรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองตามที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) และมีการใช้ชื่อนี้จริงในเวลาต่อมาดังที่ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
  • ในระบอบประชาธิปไตย นิยมการรวมตัวเป็นองค์การหรือสมาคมการเมืองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Political Party” หรือย่อว่า “Party” แต่ในประเทศไทยการใช้คำว่า “พรรค” เมื่อก่อน พ.ศ. 2475 นั้น หมายถึงเหล่าต่างๆ ของทหารเรือ ซึ่งแยกเป็น 3 เหล่าใหญ่คือ “พรรคกลิน” “พรรคนาวิกโยธิน” และ “พรรคนาวิน” และในบางโอกาสนักวิชาการก็แปลคำอังกฤษ “Party” ว่า “คณะ” เช่น “คณะคอนเซอร์เวทีฟ” (Conservative Party) “คณะโซเชียลิสต์” (Socialist Party) “คณะชาติจีน” หรือ “จีนคณะชาติ” (Chinese Nationalist Party) สมัย ร.ศ. 130 ก็ใช้คำว่า “คณะ” เรียกองค์การเมืองหรือสมาคมการเมืองหนึ่งว่า “คณะ ร.ศ. 130” แต่ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯ ขณะเป็น “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงแนะนำให้ใช้คำไทยว่า “คณะพรรค” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “Political Party” หรือที่ย่นย่อว่า “Party”
  • ชื่อของคณะราษฎรที่ตั้งขึ้นในสมัยที่ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการและรัฐธรรมนูญไทยยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อหมายเรียกองค์การหรือพรรคการเมืองนั้น จึงหมายถึงพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎร” ตามเอกสารภาษาอังกฤษสมัยนั้นเรียกคณะราษฎรว่า “People's Party” และเหตุที่ใช้คำว่า “ราษฎร” เป็นชื่อของคณะ ก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตน และความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ส่วนคำว่า “ผู้ก่อการฯ” ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอต่อที่ประชุมสมัยแรกเริ่มก่อตั้งคณะราษฎรและที่ประชุมเห็นชอบด้วยนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Promoters” ซึ่งประกอบเป็นกองหน้าของราษฎร

 

ก่อนที่ผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หลายคนหลายกลุ่มจะได้รวมเป็นคณะเดียวกันนั้น แต่ละกลุ่มก็มีชื่อของตนเองบ้าง และยังไม่มีชื่อกลุ่มของตนบ้าง แต่เมื่อผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รวมเป็นคณะเดียวกันแล้ว ก็ได้ใช้ชื่อคณะเดียวกันว่า “คณะราษฎร” ตามที่ผมได้เสนอในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ต่อจากนั้นมาผู้ที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อยู่ในต่างประเทศและที่อยู่ในประเทศไทยก็ใช้ชื่อคณะว่า “คณะราษฎร” ดังที่ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งผู้สำเร็จราชการพระนครแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ประมุขของปวงราษฎรไทยและราษฎรไทยได้รับรองชื่อของคณะราษฎร ส่วนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีตั้งแต่ชุดแรกและต่อๆ มาอีกหลายชุดนั้นก็ได้แถลงยืนยันต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ถือเอาหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรเป็นนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ ด้วย (ท่านผู้สนใจอาจศึกษาจากเอกสารหลักฐานของทางราชการได้)

 

เหตุที่ผมใช้ชื่อ “คณะราษฎร” นั้นคือ

ความเป็นมาของศัพท์ไทย “คณะ” และ “พรรค”

การร่วมกันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น ผู้ร่วมคิดกระทำการก็ต้องจัดตั้งองค์การหรือสมาคมการเมืองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Political Party” หรือที่เรียกโดยย่อว่า “Party”

(1) เมื่อก่อน พ.ศ. 2475 นั้น ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการก็ดีและทางราชการก็ดี ยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือพรรคการเมือง หากทางราชการทหารเรือได้ใช้คำว่า “พรรค”เพื่อหมายถึงเหล่าต่างๆ ของทหารเรือ ซึ่งแยกเป็น 3 เหล่าใหญ่คือ (1) “พรรคกลิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่เป็นช่างกลประจำท้องเรือ (2) “พรรคนาวิกโยธิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่ประจำการพลรบฝ่ายบก (3) “พรรคนาวิน” หมายถึงเหล่าทหารเรือที่ประจำการพลรบ

สมัยนั้นนักวิชาการใช้คำไทยว่า “คณะ” แปลคำอังกฤษ “Party” ที่ย่นย่อมาจากคำเดิม “Political Party” เช่นแปลคำว่า “Conservative Party” ว่า “คณะคอนเซอร์เวทีฟ” แปลคำ “Socialist Party” ว่า “คณะโซเชียลิสต์” และแปลคำ “Chinese Nationalist Party” หรือคำจีน “ก๊กมินตั๋ง” เป็นภาษาไทยว่า “คณะชาติจีน” หรือ “จีนคณะชาติ” ซึ่งนิยมเรียกจีนก๊กมินตั๋งว่าจีนคณะชาติติดสืบมาจนทุกวันนี้ มิใช่เรียกว่า “พรรคชาติจีน”, “จีนพรรคชาติ”

ฝ่ายองค์การหรือสมาคมการเมืองที่ประกอบขึ้นเมื่อ ร.ศ. 130 เพื่อล้มระบบสมบูรณาฯ ในประเทศไทยก็ได้ใช้คำว่า “คณะ” เรียกองค์การเมืองหรือสมาคมการเมืองนั้นว่า “คณะ ร.ศ. 130”

ผมขอให้ท่านที่สนใจประวัติภาษาไทยโปรดสังเกตหลักฐานเอกสารแท้จริงก็จะพบได้โดยไม่ยากว่า ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การหรือสมาคมการเมือง อันมีวัตถุประสงค์จารีตนิยม (Conservatism) โดยใช้ชื่อว่า “คณะชาติ” ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการ ท่านผู้นี้เป็นเปรียญมีความรู้ภาษาบาลีและภาษาไทย อีกทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เมื่อปทานุกรมหรือพจนานุกรมไทยยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมือง หลวงวิจิตรฯ จึงใช้คำว่า “คณะ” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมืองของตน

(2) เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯ ครั้งดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงแนะนำให้ใช้คำไทยว่า “คณะพรรค” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “Political Party” หรือที่ย่นย่อว่า “Party”

ส่วนทางราชการได้รับรองใช้คำว่า “คณะพรรค” เพื่อเรียกองค์การหรือสมาคมการเมืองตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ดังปรากฏในมาตรา 14 มีความว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพ… การตั้งคณะพรรคการเมือง...”

ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ 24 มีนาคม 2492 มาตรา 39 ได้เปลี่ยนคำว่า “คณะพรรคการเมือง” ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 เป็น “พรรคการเมือง” คือตัดคำว่า “คณะ” ที่นำหน้าคำว่า “พรรค” ออกไป จึงเป็นอันว่าคำว่า “พรรคการเมือง” เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2492 

 

ข้อสังเกต

(ก) ตามประวัติคำไทย “คณะ”, “พรรค” ดังกล่าวมาแล้วนั้น ชื่อของคณะราษฎรที่ตั้งขึ้นในสมัยที่ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการและรัฐธรรมนูญไทยยังมิได้ใช้คำว่า “พรรค” เพื่อหมายเรียกองค์การหรือพรรคการเมืองนั้น จึงหมายถึงพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎร” เอกสารภาษาอังกฤษสมัยนั้นเรียกคณะราษฎรว่า “People's Party”

(ข) สารานุกรมจีนชื่อ “ซือเจี่ยจือซือเหนียนเจี้ยน” ที่แปลว่า “ความรู้แห่งโลกประจำปี” และสารานุกรมจีนชื่อ “ซือเจี่ยจือซื่อ” ที่แปลว่า “ความรู้แห่งโลก” พิมพ์ที่ปักกิ่งติดต่อกันมาหลายปีนั้น ได้เรียกองค์การหรือพรรคการเมืองเป็นภาษาจีนว่า “ตั่ง” เช่น “เสียนโหสก้งฉานตั่ง”, “ไท้กั๊วะก้งฉานตั่ง” ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้แปล “เสียนโหลก้งฉานดั่ง” ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยาม” ที่อ้างว่าตั้งขึ้นในสยามตั้งแต่ ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) และแปล “ไท้กั๊วะก้งฉานตั่ง” ที่อ้างว่าตั้งขึ้น เมื่อ ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) นั้นว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” จึงมีปัญหาว่า โดยเหตุที่คำไทย “พรรค” เพิ่งมีผู้นำเอามาใช้เรียกคณะหรือพรรคการเมืองดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้นซึ่งเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่องค์การทั้งสองนั้นอ้างว่าได้ตั้งขึ้นในสยามหรือประเทศไทยแล้ว ดังนั้นองค์การทั้งสองจะแปลชื่อองค์การของตนเป็นภาษาไทยโดยวิธีทับศัพท์จีน “ตั๋ง” หรือใช้คำไทยว่าอะไร

 

เหตุที่ใช้คำว่า “ราษฎร” เป็นชื่อของคณะ

ในการที่ผมเสนอให้คณะใช้ชื่อของคณะว่า “คณะราษฎร” นั้นก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตน และความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”

 

คำว่า “ผู้ก่อการฯ”

ผมได้เสนอที่ประชุมก่อตั้งซึ่งเห็นชอบด้วยว่า ในการก่อตั้ง “คณะ” หรือ “สมาคมการเมือง” นั้นจะต้องมี “ผู้ก่อการ” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Promoters” ซึ่งประกอบเป็นกองหน้าของราษฎร เราจึงตกลงกันจำแนกสมาชิกคณะราษฎรออกเป็น 3 ประเภท คือ

ดี 1 ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ

ดี 2 ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจรัฐแล้ว

ดี 3 ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้น ภายหลังที่การยึดอำนาจรัฐได้มีท่าทีแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าเป็นความไม่สำเร็จ

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฏรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,” ใน สุนทรพจน์ (บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์) (กรุงเทพมหานคร: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2545), น. 31-37.