ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?”

26
มิถุนายน
2566

ในวาระ 91 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนา PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากนักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ร่วมเป็นผู้เสวนาในครั้งนี้ อาทิ พล.ท. ดร.พงศกร รอดชมภู, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, จาตุรนต์ ฉายแสง, รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และดำเนินรายการโดยกล้า สมุทวณิช 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำในหัวข้อ “บทเรียนจากอดีตสู่อนาคต : ว่าด้วยการปกป้องประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชน” โดยย้อนรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สำเร็จโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์แนวร่วมเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ในปี 2553 การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในปี 2563 และก้าวต่อไปของระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้เสนอ 5 ก้าวเพื่อรักษาชัยชนะของประชาชน ได้แก่

  • ก้าวแรก จัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อยุติระบอบสืบทอดอำนาจจาก คสช. 
  • ก้าวที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
  • ก้าวที่สาม รัฐบาลใหม่ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใสปลอดทุจริต
  • ก้าวที่สี่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน 
  • ก้าวที่ห้า สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมกันสร้างสังคมสันติธรรม

พร้อมด้วยข้อเสนอความร่วมมือในการปกป้องประชาธิปไตย 5 ประการ ได้แก่

  • ประการแรก ร่วมกันรับมือกับ “นิติสงคราม” และ การตัดสิทธิ การยุบพรรคขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ด้วยความรัดกุมรอบคอบ ไม่ตกหลุมพรางที่เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยขุดล่อเอาไว้โดยเฉพาะการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
  • ประการที่สอง ร่วมกันลดความเสี่ยง ลดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง
  • ประการที่สาม ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ ทั้งรัฐประหารโดยกระบอกปืน รัฐประหารโดยกฎหมาย อันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
  • ประการที่สี่ ร่วมมือในการปฏิรูประบบความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย และ
  • ประการสุดท้าย ร่วมมือในการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของทหารอาชีพ กองทัพของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

 

ถอดรหัสการต่อสู้ของคณะราษฎร : กระจกสะท้อนอดีตถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล

เพื่อทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล วิพากษ์ต่อฐานะประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้ง 3 ประเด็น ได้แก่

หนึ่ง กลุ่มอำนาจเก่า กล่าวคือ การเปรียบเทียบระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันหมายถึงอำนาจของระบอบเก่ายังคงอยู่และไม่ได้หายไป หากอำนาจของประชาธิปไตยเข้มแข็งและเติบโตเพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มิได้ทำให้อำนาจของระบอบเก่าหายไปทันที เจ้า ขุนนาง อำนาจทางการเงิน และอำนาจทางความคิดยังคงดำเนินต่อไป แต่ในปัจจุบันอำนาจของระบอบประชาธิปไตยแม้จะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้แผ่ขยายไปกว้างขวางมาก 

สอง ผลประโยชน์ร่วม กล่าวคือ เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 จากกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เกิดการต่อต้านจากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการลงมาเล่นการเมืองด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบในสภาพการเมืองปัจจุบันจะพบว่า สถาบันกษัตริย์อาจไม่ได้เข้าปะทะกับการเมืองโดยตรง แต่จำเป็นต้องอาศัย monarchy network 

การอภิวัฒน์สยาม 2475 เข้าไปเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่า ผลประโยชน์ที่เคยได้ถูกลดลง เช่น การลดงบประมาณค่าใช้จ่าย การลดกำลังพล ที่อยู่อาศัย ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน นโยบายทางการเมืองของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย กระทบผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เติบโตนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหาร สวัสดิการรัฐ การกระจายอำนาจ การจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ 

และ สาม กล่าวคือ คณะราษฎรดำเนินการด้วยความลับ บทเรียนจากประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นถูกนำมาปรับใช้เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปโดยสำเร็จใน 91 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยเติบโตในสังคมไทย ความพยายามที่จะแทรกแซงทางการเมืองในอนาคตอาจเกิดขึ้น แต่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่โดดเดี่ยวเหมือนที่แล้วมา พลังประชาธิปไตยในปัจจุบันรับไม้ผลัดจากการต่อสู้ทางประชาธิปไตยในอดีต เพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

 

รัฐประหารซ้อน : รัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ระบุถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่นอกเหนือไปจากความขัดแย้งภายใน นั่นคือปัจจัยภายนอกได้แก่จากการรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นวงจรอุบาทว์ในทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในบริบทการเมืองสมัยเก่าและสมัยใหม่มีความแตกต่างกัน

ชุดคำอธิบายการรัฐประหารในการเมืองยุคเก่า คือ การใช้กำลังเข้าไปล้มล้างเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลเดิม พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญ ทว่าการรัฐหารในสมัยใหม่ ได้ให้มีชุดคำอธิบายที่ซับซ้อนไปมากกว่าเดิม คือการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (constitutional coup) โดยในขั้นแรกเมื่อรัฐประหารจากกองกำลังหรือกองทัพ ขั้นต่อไปคือการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะรัฐประหาร

ผศ.ดร.พรสันต์ แบ่งวัตถุประสงค์ของการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญออกเป็น 4 ประการได้แก่

  1. การลดทอนให้ความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง
  2. การครอบงำทางการเมือง
  3. การใช้รัฐธรรมนูญเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง และ
  4. การอาศัยอ้างอิงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาการสืบทอดอำนาจ

การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายประชาธิปไตย โดย ผศ.ดร.พรสันต์ ตั้งธงพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ฉายภาพให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงการเมือง ปฏิรูปการเมือง กระจายอำนาจ และเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากประชาชน

การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เป็นการรัฐประหารด้วยกองทัพ และรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ มีความพยายามเข้าไปปรับเปลี่ยนขององค์กรและกลไกต่างๆ จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เช่น วุฒิสภา (สว.) ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา การเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ หรือตุลาการให้มีอำนาจมากขึ้น ฯลฯ

การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ที่นำมาสู่การรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สำหรับ ผศ.ดร.พรสันต์ การรัฐประหารในครั้งนี้ถือเป็นการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญที่รุนแรงมาก เนื่องจากเกิดการผสมผสานระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 และฉบับ 2534 รวมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทว่ามีกลไกที่เป็นฐานถูกถอดแบบมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยกล่าวได้เป็น 2 ประเด็นดังต่อไปนี้

หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นฐานของการก่อตั้งองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ กลไกการฟ้องร้องต่างๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิ์

สอง องค์กรต่างๆ ที่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในเวลาต่อองค์เหล่านี้ถูกใช้เพื่อลดทอนระบอบประชาธิปไตย

 

รักษาชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยด้วยความเข้าใจ 

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึงประวัติศาสตร์เส้นทางการก่อกำเนิดของประชาธิปไตย นับตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรื่อยไปจนถึงการเมืองหลังศตวรรษ 2500 อาทิ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519, ยุคสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ, เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 

กระทั่งการปฏิรูปการเมืองจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือทศวรรษที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย ประชาชนได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญผ่านการเลือกตั้ง พัฒนาการทางการเมืองในครั้งนั้นได้ขยายแนวคิดทางการเมืองและประชาธิปไตยในสังคมไทยให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ทว่าก็ต้องประสบกับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 และสืบเนื่องมาสู่รัฐประหารในปี พ.ศ. 2557

จาตุรนต์ ให้ความเห็นว่า ความเชื่อมโยงต่อจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรกับการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว คือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ แต่การรัฐประหารได้ล้มล้างหลักการดังกล่าวของคณะราษฎร อีกทั้งการเมืองในยุคสมัยใหม่ที่อิงอยู่กับการรัฐประหารบ่อยครั้ง กลับแยบยลมากขึ้นโดยอาศัยกลไกประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ประชามติ และการเลือกตั้ง จนเกิดเป็นกติกาหลักเกณฑ์ที่พิกลพิการและระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

จาตุรนต์ได้กล่าวถึงการรักษาชัยชนะของประชาธิปไตย โดยระบุว่า อย่างน้อยในระยะ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ประชาชนได้เรียนรู้ต่อประโยชน์ของระบบรัฐสภา โดยเฉพาะล่าสุดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมองชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่คือชัยชนะที่อยู่ภายใต้กติกา

สำหรับคำถามว่าจะรักษาชัยชนะอย่างไรนั้น จาตุรนต์ให้คำตอบที่ว่า คือ หนึ่ง ต้องจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ และหาแนวทางป้องกันการสลับขั้วของพรรคการเมืองในอนาคต 

สอง การรักษาความเข้าใจและความหวังของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตนเองมีความหวังที่จะเห็นรัฐบาลประชาธิปไตย หากรัฐบาลประชาธิปไตยมีความเป็นเอกภาพ ก็สามารถก้าวไปสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

 

รัฐบาลกับการสร้างและการรักษาระบอบประชาธิปไตยในอนาคต

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ระบุว่าในฐานะพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งผ่านการศึกษาบทเรียนทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองมา จนเกิดการตกผลึกว่า ในสนามการเมืองเช่นนี้จะทำอย่างไรให้พรรคไปสู่ชัยชนะ สิ่งที่เห็นที่เห็นตรงกันได้แก่ 

หนึ่ง demilitarization คือ การนำกองทัพแยกออกจากการเมือง

สอง decentralization คือ กระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง และ

สาม demonopolization คือ การยุติเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและการผูกขาด

ปดิพัทธ์ ระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขข้างต้นเป็นปัญหาที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยผูกขาดกับชนชั้นนำที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนรัชสมัย เช่น องคมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และองค์อิสระอื่นๆ ฯลฯ ทั้งนี้ ปดิพัทธ์ ได้อ้างอิงถึง เกษียร เตชะพีระ ที่ได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง”

นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ยังระบุถึงแนวทางการดำเนินงานของพรรคก้าวไกลที่ตั้งไว้ในระยะ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่

หนึ่ง ประชาชนต้องกลับมาศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา และระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยการสร้างอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ด้วยการมีตัวแทนของประชาชนอยู่ในรัฐสภา

สอง สร้างชัยชนะด้วยความโปร่งใส ปราศจากการซื้อเสียง เพื่อป้องกันวาทกรรม “ความไม่พร้อมของประชาธิปไตย”

สาม ผู้แทนราษฎรต้องยืนหยัดอภิปรายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และ

สี่ ต้องมีชัยชนะทางความคิด สร้างบทสนทนาทางการเมือง

 

เอกภาพของรัฐบาลประชาธิปไตย 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ให้ความเห็นว่า การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร การต่อสู้ในยุคสมัยนี้มีความรุนแรง ความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถถูกแบ่งแยกให้เป็นศัตรูได้โดยง่าย เช่น นักเคลื่อนไหว นักสิทธิ หรือประชาชน ฯลฯ สิ่งที่ควรเริ่มต้นเพื่อไปสู่ชัยชนะ คือ การมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้มาจากฝ่ายประชาธิปไตย เส้นทางที่จะไปถึงชัยชนะคือสิ่งนี้คือโจทย์ใหญ่ 

รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนบันทึกการปกครองประเทศ โดยมุมมองของ พ.ต.อ.ทวีต่อในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง รัฐอิสระ กล่าวคือ องค์กรอิสระไม่ได้มีความยึดโยงต่อประชาชน

ประเด็นที่สาม รัฐราชการ กล่าวคือ กองทัพเป็นสถาบันการเมือง ซึ่งในบางครั้งรวมไปถึงตำรวจ ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ และ

ประเด็นสุดท้าย รัฐประหารเงียบ กล่าวคือ บทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ สว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

วันนี้สังคมแสดงให้เห็นความตื่นตัวทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 8 พรรค อีกทั้งจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อประชาชนเป็นหลัก

 

ทหารนอกสนามการเมือง : ชัยชนะของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นไปได้

พล.ท. ดร.พงศกร รอดชมภู

พล.ท. ดร.พงศกร รอดชมภู ให้ความเห็นว่ากองทัพเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านในระบอบประชาธิปไตย ด้านหนึ่งทหารอภิวัฒน์ประชาธิปไตย นำชาติไปสู่ประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งทหารก็ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นการแยกทหารออกจากการเมืองเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จะส่งผลให้เครือข่ายองคาพยพขยับตามแล้วจะสามารถทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบได้ 

นอกจากนี้ พล.ท. ดร.พงศกร ยังชี้ให้ไปเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและประชาชน โดยระบุว่าในส่วนของประชาชน วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชน สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องพร้อมเป็นประชาธิปไตยโดยมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น พล.ท. ดร.พงศกรกล่าวว่าขณะนี้สำนึกของความเป็นพลเมืองได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว เมื่อกองทัพอยู่ฝั่งประชาชน ระบอบประชาธิปไตยจึงจะเกิดขึ้นได้ 

การปฏิรูปกองทัพ จะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของกองทัพ เช่น การควบคุมการจัดซื้ออาวุธ การตรวจสอบงบประมาณ การจัดให้มีระบบส่วนกลางเพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและสร้างสวัสดิการที่เป็นธรรม ฯลฯ 

รวมไปถึงการยกเลิกระบบอุปถัมภ์ของกองทัพเพื่อลดการสะสมอำนาจ อีกทั้งยังจำเป็นจะต้องสร้างความคิดแบบประชาธิปไตยให้แก่กองทัพ และยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ โดยเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจเพื่อทำให้เกิดอาชีพอย่างเต็มภาคภูมิ

 

“จงเป็นแผนที่ของสังคม” : บทบาทของสื่อมวลชนกับการเมือง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ระบุว่าสื่อมวลชนมีบทบาทต่อสังคมอย่างยิ่งในทางการเมือง พัฒนาการนับตั้งแต่ยุค 2500 ถึง 2516 เรามีชีวิตอยู่ได้เพียงสักครู่เดียวจึงเกิดการรัฐประหารจากกองทัพ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่มักถูกกล่าวว่าเป็นชัยชนะ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะสังคมไม่ได้เข้าใจอย่างชัดเจน ในเวลานั้นเราไม่ได้นึกถึงประชาธิปไตยเสรีนิยมเพียงเท่านั้น แต่เรานึกถึงความยากจนของประชาชนกระทั่งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ถือเป็นระยะที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ในท้ายที่สุดก็ถูกฝ่ายอำนาจจารีตสกัดกั้นด้วยการรัฐประหาร

นอกจากนี้ นิธินันท์ยังระบุถึงสิ่งที่สื่อมวลชนในยุคปัจจุบันจะต้องเรียนรู้ คือการไม่สร้างความขัดแย้งแก่สังคม กล่าวคือ สื่อในสมัยหลัง 2500 เป็นต้นมา มีความอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐหาร ในขณะเดียวกันหากสื่อที่ตั้งอยู่บนหลักการก็ถูกจับกุม ฉะนั้นเมื่อสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ให้ทำความรู้ ความคิด หรือบางครั้งแห่แหนตามผู้มีอำนาจ จนทำให้เกิดความขัดแย้ง

สิ่งที่ทำให้สังคมไทยมาถึงทุกวันนี้คือสื่อมวลชน การเมืองสีเสื้อระหว่างเหลือง-แดง เกิดจากสื่อมวลชนทำให้สังคมนี้เชื่อว่าคนต้องฆ่าฟันกัน โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจก นิธินันท์กล่าวว่า สำหรับตนนั้นหน้าที่ของคนทำสื่อ ควรจะดำรงตนเป็น “แผนที่” ให้กับสังคม เพื่อพาสังคมให้เดินไปข้างหน้า มิใช่นำเสนอเพียงแต่การทะเลาะหรือการใส่ร้าย

ในช่วงท้าย นิธินันธ์ระบุว่าหากจะรักษาชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้ไว้ได้ สื่อมวลชนจะต้องเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเพื่อทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย โดยจะต้องนำเสนอความสร้างสรรค์เพื่อสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในสังคม ยุติการนำเสนอข่าวโจมตี และสิ่งที่สำคัญคือสื่อมวลชนต้องยอมรับความเป็นพหุนิยมทางความคิดของสังคมไทยที่ประกอบขึ้นด้วยความคิดที่หลากหลาย

 

บทเรียนการต่อสู้ทางการเมืองและความสำคัญของชัยชนะทางอุดมการณ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ให้ความเห็นว่าสำหรับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 หัวใจสำคัญคือชนชั้นกลางจำนวนมากที่รวมตัวกันอย่างไม่แตกแถว ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือการต่อสู้กับเผด็จการ ต่อมาเมื่อเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 บรรยากาศในเวลานั้นคล้ายๆ กับการเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ผ่านมา สังคมดีใจกันมากเพราะนี่คือชัยชนะของประชาชน

เมื่อรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ความนิยมในหมู่ประชาชนทำให้ชนชั้นนำเริ่มสั่นคลอน สิ่งที่ต่างกับในเวลานี้คือ สังคมไทยถูกปกครองด้วยความเชื่อและเรื่องเล่าโดยขาดการตั้งคำถามใด กล่าวคือ เชื่อฟังผู้มีอำนาจแต่ไม่ตั้งคำถาม สังคมไทยแตกต่างจากสังคมตะวันตก เพราะในสังคมตะวันตกนั้นจะรับฟังทุกฝ่าย แต่มีความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว

นอกจากนี้ วันชัยชี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมมีความพยายามในการสร้างเรื่องเล่าเพื่อให้คนจำนวนมากในสังคมเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม อีกด้านฝ่ายก้าวหน้าก็ละเลยเรื่องการเอาชนะทางความคิด จนนำไปสู่ความแตกแยกการเมืองสีเสื้อเหลือ-แดง ในอดีต โดยที่กว่าฝ่ายก้าวหน้าจะรู้ตัวนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองก็บานปลายในสังคม 

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเป็นโลกที่ไร้พรมแดน การรับรู้ข่าวสารเข้าถึงได้เสมอ อำนาจการผูกขาดความรู้ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ฉะนั้นการเอาชนะในทางความคิดจึงเป็นวาระสำคัญด้วยการเร่งติดอาวุธทางความคิด

 

ส่งผ่านอุดมการณ์ประชาธิปไตย : จากคณะราษฎร 2475 ถึงคณะราษฎร 2563

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงต้นแบบของคณะราษฎรที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เหตุการณ์ ร.ศ. 103 และ คณะ ร.ศ. 130 จนนำไปสู่การอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งคล้ายกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่ได้รับการจุดประกายมาจาก คณะราษฎร 2475, วีรชน 14 ตุลาฯ 2516, กลุ่มนักศึกษา 6 ตุลาฯ 2519

ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในหลายครั้งหลายสมัย ทั้งเหตุการณ์ ร.ศ. 103 อาทิ การเปลี่ยนแปลงมาระบอบราชาธิปไตย การจัดให้มีระบบกฎหมายที่เสมอภาคแก่ราษฎรทั้งมวล ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมที่กีดขวางความก้าวหน้าของประเทศ รวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ซึ่งต่อเนื่องไปถึงคณะ ร.ศ. 130 แต่ท้ายที่สุดการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ล้มเหลว

ภัสราวลี อธิบายถึงสิ่งที่เป็นฐานความคิดของทุกๆ การเคลื่อนไหวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นสร้างความอยุติธรรมในสังคม ประชาชนไม่นิ่งเฉยแต่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และเหตุที่ตั้งชื่อว่า “คณะราษฎร 2563” เกิดจากการยึดโยงกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ว่า “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญประชาชน

บทเรียนที่คณะราษฎร 2563 เรียนรู้นั้น คือการประนีประนอมเกิดช่องว่าง ฉะนั้นในขั้นแรกจึงพยายามเสนอลู่ทางในการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองที่ละมุนละม่อมก่อน หากเสียงของราษฎรถูกเมินเฉย การเคลื่อนไหวของประชาชนจึงจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนมีสิทธิส่งเสียงเรียกร้องถึงความเท่าเทียม ประชาชนต้องต่อสู้และให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

ช่วงตอบคำถาม

สำหรับรัฐบาลในอนาคต ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน หรือผู้ทุพพลภาพด้านอื่นๆ เพราะคนกลุ่มเหล่านี้เข้าถึงเนื้อหาทางการเมืองได้ยากเนื่องจากมีสื่อที่อำนวยความสะดวกน้อย

ปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวว่าในส่วนของพรรคก้าวไกลส่ง ส.ส. ที่บกพร่องทางร่างกายเข้าสู่สภาได้ถึง 2 คน ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง คือ การกำหนดการจ้างงานผู้พิการในภาคเอกชน แต่รัฐสภากลับไม่มีผู้พิการทำงานเลย สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะต้องผลักดันคือการทำให้ผู้พิการออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนเช่นคนอื่นๆ

 

การเอาผิดผู้ที่เคยทำรัฐประหารจำเป็นต้องใช้กฎหมายมาตราใดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

พล.ท. ดร.พงศกร รอดชมภู อธิบายโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ฝ่ายประชาธิปไตยที่กำลังจะเข้าเป็นรัฐบาล จะต้องแก้ไขผลพวงของรัฐบาล คสช. โดยการยกเลิกและสถาปนาอำนาจใหม่ และ ประเด็นที่สอง คือ การป้องกันการรัฐประหาร ประชาชนจะต้องให้มีส่วนร่วมทางการเมือง สร้างบรรยากาศที่หวงแหนประชาธิปไตย รักษาความเป็นประชาธิปไตย การรัฐประการจึงจะไม่เกิดขึ้น 

 

ในฐานะอนุชนรุ่นหลังจะพิทักษ์ประชาธิปไตยและป้องกันรัฐประหารได้อย่างไร

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ระบุว่าควรแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ ทางการ ในทางกฎหมาย ผู้แทนราษฎรควรเข้าไปดูว่ารัฐธรรมนูญมีกลไกอย่างไรที่ปิดกั้นการรัฐประหารได้บ้าง และ แนวทางที่สอง คือในเชิงวัฒนธรรม ประชาชนต้องเชื่อว่าตนเองมีอำนาจ จะต้องรู้เท่าทันการแทรกแซงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การออกมาพูด ชุมนุม และส่งเสียงว่าประชาชนไม่พอใจต่อผู้ปกครอง

 

บรรยากาศงาน PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆไป) ไว้ได้อย่างไร? :

 

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ :

 

 

ที่มา : PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.