Focus
- จิตสำนึกและแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์ ได้รับการหล่อหลอมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเริ่มจากสมัยเยาว์วัย เมื่อสังคมสยามกำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าที่ระบบการเมืองแบบศักดินาล้าหลังและราษฎรทุกข์ยาก กับระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบทุนนิยม ผนวกกับเหตุการณ์ก่อนหน้าของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัชกาลที่ 5 ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการในร.ศ. 103 (พ.ศ. 2428) เหตุการณ์ “กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455)” และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เป็นระบอบสาธารณรัฐ) ในประเทศจีน
- การหล่อมหลอมดังกล่าว ยังสืบเนื่องจากการศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 ในวิชากฎหมายที่มีเนื้อหาหลากหลาย และการตั้ง “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยเพื่อทำกิจกรรม ให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ความคิดในทางรัฐธรรมนูญยังเข้ากันได้กับปรัชญา “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” และข้อเสนอ “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” อันสอดคล้องกับหลัก “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ใน “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ที่ปรีดียกร่างในพ.ศ. 2475
- ความต้องการของปรีดีในทางรัฐธรรมนูญยังมีในเรื่อง สยามเป็นรัฐที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและปิตุภูมิของราษฎร รัฐที่ปกครองโดยรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในแบบราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นประมุข รัฐสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรทั้งหมด หากมีวุฒิสภาก็ให้มาจากการเลือกตั้งของราษฎรเช่นกัน เป็นต้น
- ปรีดียังได้ให้คุณค่าต่อหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้เป็น “ปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม” อันมีผลบังคับเสมอด้วยบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ
บทนำ
ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำในการก่อตั้ง “คณะราษฎร” โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองในสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และต้องการให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ[1] อันมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การรับรองสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และสร้างความกินดีอยู่ดีให้ราษฎร กระทั่งปรีดีได้เป็นหนึ่งในผู้นำในการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยปรีดีเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกในสยาม แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดีจึงน่าสนใจสำหรับการศึกษาอย่างยิ่ง
1. การหล่อหลอมจิตสำนึกและแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443[2] ในตระกูลสามัญชนซึ่งมีอาชีพทำนา ยุคสมัยที่ปรีดีถือกำเนิดมาเป็นช่วงที่สังคมสยามกำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าที่มีระบบการเมืองแบบศักดินาสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันล้าหลัง กับระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบทุนนิยมใหม่ที่กำลังแตกหน่ออ่อน ทั้งนี้ ก่อนที่ปรีดีจะถือกำเนิดเกิดขึ้นมาในสังคมสยามนั้น มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคมเก่าให้เป็นสังคมที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาก่อนแล้ว นั่นคือ เหตุการณ์ที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัชกาลที่ 5 ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการในปี ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2428) ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายมาเป็นปฐมบทแห่งจิตสำนึกในแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดีในเวลาต่อมาจากการที่ปรีดีได้ยินคำสนทนาของบิดากับเพื่อนชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากินในเวลานั้นถึงคำว่า “สภาผู้แทนราษฎร” ในความหมายว่า “เป็นตัวแทนของราษฎรในการที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎร”[3] ในขณะที่ปรีดีอายุได้เพียง 5 ขวบ
การหล่อหลอมจิตสำนึกและแนวความคิดของปรีดีมีพัฒนาการมาตามลำดับ การศึกษาเรื่องทฤษฎีรูปแบบการปกครองในห้องเรียนชั้นมัธยมได้ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง 2 เหตุการณ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือ เหตุการณ์ที่นายทหารและพลเรือนเตรียมการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยามใน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ที่เรียกว่า “กบฏ ร.ศ. 130” และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน[4] สองเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการของราษฎรในความต้องการเปลี่ยนสภาพสังคมเก่าอันล้าหลังดังที่เป็นอยู่มาสู่สังคมใหม่ที่ก้าวหน้าและศรีวิลัยกว่า จิตสำนึกของปรีดีเกี่ยวกับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมเก่าที่เป็นอยู่นั้น น่าจะเกิดขึ้นจากจุดนี้นี่เอง
ปรีดีได้ประสบและสัมผัสด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งถึงความทุกข์ยาก ความอัตคัดขัดสนของบิดามารดาและชาวนาทั่วไป[5] ซึ่งความล้าหลังของระบอบเก่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ การรับรู้ถึง “สภาผู้แทนราษฎร” ในวัยเด็กของปรีดีได้พัฒนามาเป็นความต้องการให้สยามมี “สภาผู้แทนราษฎร” เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร ครั้นเมื่อปรีดีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายปรีดี คงได้รับอิทธิพลแนวความคิดใหม่ๆ จากอาจารย์ที่เป็นชาวต่างประเทศประกอบกับช่วงที่เป็นนักเรียนกฎหมายนั้น ปรีดีได้เห็นถึงความไม่เสมอภาคระหว่างบุคคลในระบบกฎหมายของระบอบเก่ารวมถึงสถานะที่สยามไม่มีเอกราชในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม จากการที่ปรีดีได้เรียนวิชากฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการยกเว้นให้บุคคลบางจำพวกมีสิทธิพิเศษนอกอำนาจศาลยุติธรรม เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปคนสัญชาติในบังคับต่างประเทศ เป็นต้น[6]
ปรีดีไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงเกือบๆ ปลายสมัยสาธารณรัฐที่ 3 ที่ยังมีความสับสน วุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างหนัก ปรีดีศึกษาวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศสภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สังคมใหม่ที่ดีขึ้นตลอดเวลา ปรีดีได้รับความรู้วิชากฎหมายที่มีเนื้อหาหลากหลาย อันประกอบด้วยวิชาสำคัญๆ คือ วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง รวมถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ปรีดีให้ความสนใจศึกษา และได้รับอิทธิพลแนวความคิดในทางเศรษฐกิจมาจากการไปศึกษาที่นั่นโดยตรง[7] จนได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากดุษฎีบัณฑิตกฎหมายอีกด้วย ปรีดีได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยตั้งสมาคมที่เรียกว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” เพื่อทำกิจกรรมและให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้ปรีดีคงได้รับความรู้เพื่อใช้ในการอภิวัฒน์ก่อตั้งรัฐธรรมนูญในสยามจากกิจกรรมนี้เอง เห็นได้จาก “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ที่ปรีดีได้ร่างขึ้นนั้น มาจากการพิจารณาสภาพการณ์ของสยาม และอาศัยแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของหลากหลายประเทศประกอบกัน ไม่ใช่ของฝรั่งเศสหรือของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่อย่างใด กระทั่งในที่สุดปรีดีและกลุ่มเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้ร่วมกันจัดตั้ง “คณะราษฎร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุถึงซึ่งหลัก 6 ประการ[8]
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและกลับมารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในสยามแล้ว ในปี พ.ศ. 2474 ปรีดียังได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้บรรยายวิชา “กฎหมายปกครอง” (Droit Administrative) ในโรงเรียนกฎหมายอีกด้วย ปรีดีได้สอดแทรกเนื้อหาวิชาที่ว่าด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญเข้าไปในคำบรรยาย เพื่อปลุกจิตสำนึกของนักศึกษาให้สนใจถึงความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด รวมถึงให้สนใจถึงเรื่องในทางเศรษฐกิจอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมด้วย คำอธิบายกฎหมายปกครองของปรีดีถือเป็นคำสอนที่มีความก้าวหน้าล้ำยุคสมัย เพราะเป็นคำสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะที่ประเทศยังปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่[9]
2. รากฐานแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี
แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบาททางการเมืองของปรีดีต่างมีแรงผลักดันมาจากความต้องการในการบรรลุถึงซึ่งปรัชญา “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” เป็นพื้นฐาน ปรัชญานี้ประกอบด้วยหลักห้าประการ ได้แก่ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน[10] ปรัชญานี้มองสังคมในลักษณะที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบระหว่างระบบเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานทางสังคม ระบบการเมืองที่เป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม ซึ่งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบระหว่างกันไปมาในลักษณะที่จะต้องสมานกันหาไม่แล้วธรรมชาติของระบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้น ก็จะต้องบังคับให้สองส่วนนี้จำต้องสมานกันอยู่นั่นเอง ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และในที่สุดจะส่งผลสะท้อนไปยังส่วนสุดท้าย คือ ทัศนะทางสังคม อันเป็นหลักนำจิตใจของสังคมหรือคนในสังคม ซึ่งทัศนะทางสังคมนี้ก็อาจส่งผลสะท้อนกลับไปยังสองส่วนก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน
ระบอบประชาธิปไตยในปรัชญา “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ของปรีดีนั้นต้องเป็น “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” คือ ต้องประกอบด้วยระบบประชาธิปไตย ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย[11] ซึ่ง “ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” นั้น เป็นระบบที่ราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจของสังคมและราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้องออกแรงกายแรงสมองตามกำลังความสามารถ แล้วราษฎรนั้นๆ จะได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม คือ ผู้ใดออกแรงมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงน้อยก็ได้น้อย อย่างไรก็ตาม ปรีดีเองก็ได้ยืนยันอยู่เสมอว่าปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ของตนเองนั้น ไม่ใช่สังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ในแบบของคาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดริค เองเกลส์[12]
สำหรับ “ระบบประชาธิปไตยทางการเมือง” นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบอำนาจรัฐที่ราษฎรมีสิทธิในการใช้อำนาจรัฐมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทและกฎหมายเลือกตั้ง ส่วน “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” นั้น เป็นสังคมที่มนุษย์หรือราษฎรในสังคมมีจิตสำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนว่าจะต้องมีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน กับเพื่อนมนุษย์ในสังคม[13] อันเป็นสังคมที่ราษฎรนั้นมีทัศนะในทางช่วยเหลือร่วมมือกันฉันพี่น้องโดยมิได้มีความคิดกดขี่หรือเบียดเบียนระหว่างกัน
3. การปรับใช้แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์
3.1 อภิวัฒน์ ก่อตั้งรัฐธรรมนูญ
การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นำมาซึ่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในฐานะที่เป็น “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ที่ปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้นด้วยตนเอง[14] เป็นการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ดังความในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” กษัตริย์ในระบอบใหม่เป็นเพียงองค์กรทางรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจแทนราษฎรดุจเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาลภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้สำหรับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อโดยสภาผู้แทนราษฎรจะประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกันไป จนกระทั่งสิ้นสุดบทเฉพาะกาล สภาจึงจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยขั้นที่ 1 ที่ได้สืบต่อมาสู่ขั้นที่ 2 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่ปรีดีเป็นหนึ่งในอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการประนีประนอมทางอำนาจระหว่างปรีดีและคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเก่า ปรากฏให้เห็นบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปจากปฐมรัฐธรรมนูญอย่างมาก แนวความคิดของปรีดีหลายประการในปฐมรัฐธรรมนูญจึงหายไปด้วยเหตุนี้ กระทั่งนำมาสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามทัศนะของปรีดี
ทั้งนี้ แม้รัฐธรรมนูญสองฉบับแรกจะยังไม่เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่ก็เพียงพอที่จะเป็นฐานนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมต่อไป ดังนั้น ปรีดีจึงได้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2476 ที่มีลักษณะเป็นแผนในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอ่อนๆ หรือสังคมนิยมเบื้องต้น[15] แต่ถูกขัดขวางโต้อภิวัฒน์โดยกลุ่มอำนาจเก่าที่มีทัศนะล้าหลัง และกล่าวหาว่าเป็นแผนการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมแบบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อปรีดีได้กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบอบ รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ปรีดีได้อาศัยตำแหน่งเหล่านั้นดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในทางการเมืองของตนอย่างเต็มที่
3.2 ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์
ขณะที่ปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรีดีได้ดำเนินการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกวดขันให้มีการเลือกตั้ง ดำเนินการเพื่อให้ราษฎรมีการศึกษาอย่างเต็มที่ และได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย รวมถึงแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ให้ราษฎรในลักษณะของมหาวิทยาลัยเปิด ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปรีดีได้เจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับจักรวรรดินิยมทั้งหลาย ทำให้สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ และเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปรีดีได้ใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อสร้างความมั่นคงทางการคลังให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎรโดยปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมและบรรลุภารกิจในการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญๆ หลายประการ รวมถึงการบุกเบิกวางรากฐานในการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย
เมื่อตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดีได้ดำเนินการหลายประการในฐานะผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านผู้ใช้อำนาจเผด็จการอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลายครั้งหลายคราว จัดตั้งขบวนการเสรีไทยและปฏิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมา รวมถึงการปรารภให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์จนเมื่อปรีดีพ้นจากตำแหน่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ปรีดีเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” และเมื่อปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมาปรีดีก็ได้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 อันเป็นฉบับที่ปรีดีได้ให้ความชื่นชอบเป็นพิเศษ และเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สามารถใช้แก้ไขความทุกข์ยากให้ราษฎรได้
4. ข้อความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์[16]
4.1 รัฐ
ปรีดีเห็นว่าสยามควรเป็นรัฐเดี่ยวแบบราชอาณาจักรที่คำนึงถึงความหลากหลายเชื้อชาติและปิตุภูมิของราษฎรที่ประกอบอยู่ในรัฐ[17] หากเมื่อใดที่ความหลากหลายเหล่านั้นได้กลายเป็นปัญหาต่อความเป็นเอกภาพของชาติเสียแล้ว ปรีดีเสนอว่าอาจใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการให้ชนชาติในพื้นที่นั้นๆ แบ่งออกเป็นอีกรัฐหนึ่งและมีสิทธิปกครองตนเองแต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญสยามในลักษณะของสหพันธรัฐสยามก็ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะกำหนดรูปแบบของรัฐให้เป็นไปในรูปแบบใดก็ตามนั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตย นั้นคือ ต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของราษฎรในรัฐสยามเองด้วย โดยปรีดีไม่นิยมให้ใช้ความรุนแรงใดๆ ในทุกรูปแบบ
4.2 กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ปรีดีเห็นว่าที่มาของผู้แทนราษฎรนั้นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นไม่ใช่การแต่งตั้ง และต้องใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ใช่การรวมเขตเลือกตั้ง วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่จะนำมาสู่ความเสมอภาคและความสะดวกในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของราษฎร ซึ่งอาจใช้วิธีการเลือกตั้งทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ได้ ปรีดีนำเสนอวิธีการป้องกันผู้แทนขายตัวโดยไม่ต้องกำหนดให้ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยใช้การ “การถอดถอนผู้แทน” คือ เมื่อราษฎรในเขตเลือกตั้งผู้แทนคนใดเห็นว่าผู้แทนของตนมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตน ก็มีสิทธิในการรวบรวมกันทำหนังสือยื่นต่อรัฐสภา เรียกตัวผู้นั้นกลับคืนให้หมดสมาชิกภาพไป ปรีดีต้องการให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศชายหรือหญิงที่มีความรู้ความสามารถสมัครเข้ารับเลือกตั้งและได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ แนวความคิดเหล่านี้ปรีดีได้เขียนไว้ในปฐมรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475
4.3 พระมหากษัตริย์
อุดมการณ์ของคณะราษฎรและปรีดี คือ ต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ในปฐมรัฐธรรมนูญที่ปรีดีร่างขึ้นด้วยตนเองนั้นมีบทบัญญัติที่จัดวางสถานะ อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้อย่างเหมาะสมตามหลัก “The king can do no wrong” อันเป็นหลักที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ แต่ในเวลาต่อมาพบว่าปรีดีมีแนวความคิดที่โน้มเอียงไปในทางการยอมรับให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางความเป็นจริงในหลายๆ เรื่องมากขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 โดยปรากฏแนวความคิดของปรีดีที่น่าสนใจ ดังเช่นเมื่อครั้งที่ปรีดีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กระทำการแทนพระมหากษัตริย์รวมถึงการที่ปรีดีให้ความเห็นชอบและยอมรับในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนจากคำว่า “กษัตริย์” มาเป็นคำว่า “พระมหากษัตริย์” ประเด็นเรื่อง การบัญญัติเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นพระประมุขสูงสุดของชาติและเป็นจอมทัพไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นเพราะเหตุและปัจจัยในทางการเมืองในเวลาต่อมานั้นเอง อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจที่สุดและเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในแนวความคิดของปรีดีนั่นคือ ปรีดีเห็นว่าแม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับหน้าที่ก็ตาม แต่ปรีดีได้ให้คุณค่าเรื่องนี้เป็น “ธรรมเนียมประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ที่พระมหากษัตริย์นั้นต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภา “ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[18]
4.4 สภาผู้แทนราษฎร
แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดีที่สำคัญและน่าสนใจที่สุด คือแนวความคิดว่าด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” เพราะเป็นแนวความคิดเรื่องแรกที่ได้เข้ามาในห้วงสำนึกเกี่ยวกับแนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดีที่ได้รับรู้ซึมซับและปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก มีความต่อเนื่องและมีพัฒนาการสืบต่อมาตลอดช่วงชีวิตของปรีดีแนวความคิดของปรีดีในส่วนนี้นับว่ามีความหนักแน่นมั่นคงสืบเนื่องตลอดมาไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักเท่าใด ปรีดียังยืนยันในสาระสำคัญที่ว่า “สภาผู้แทนราษฎร” ต้องเป็นสภาที่มีความเป็นประชาธิปไตย คือ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม การกำหนดโครงสร้างการปกครองใหม่ในปฐมรัฐธรรมนูญ ปรีดีกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีลักษณะเป็นดัง “สภาสูงสุดแห่งชาติ” คือ มีอำนาจสูงสุดในบรรดาองค์กรทางรัฐธรรมนูญทั้งหลาย มีอำนาจดูแลควบคุม กิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด เป็นเพียง “สภาการบริหารราชการแผ่นดิน” ทำหน้าที่วางโครงการและนโยบายแห่งชาติเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้แทนของราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในปฐมรัฐธรรมนูญนี้ มีอำนาจในการพิจารณาคดีซึ่งกษัตริย์ต้องหาในคดีอาญาได้อีกด้วย อนึ่ง กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายเพียง 7 วัน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุผลเกี่ยวกับการประนีประนอมทางการเมือง สภาผู้แทนราษฎรตามแนวความคิดของปรีดีในปฐมรัฐธรรมนูญ จึงเปลี่ยนแปลงไปและสวนทางกับอำนาจของกษัตริย์ที่มีมากขึ้น ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา อนึ่ง ปรีดีไม่เห็นด้วยสักเท่าใดนักกับการที่รัฐธรรมนูญใดจะกำหนดให้รัฐสภานั้นมี 2 สภา คือ มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่หากต้องมีสภาสูงหรือวุฒิสภาแล้วปรีดีเห็นว่าสมาชิกของสภาสูงอย่างน้อยก็ควรมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของราษฎรและมีหน้าที่เพียง “ยับยั้ง” ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ ประดุจห้ามล้อไม่ใช่เป็นการ “ถ่วง” ทั้งนี้ โดยคำนึงถึง “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” ของระบบรัฐสภานั้นเอง
4.5 คณะกรรมการราษฎร
แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดีเกี่ยวกับองค์กรฝ่ายบริหารนั้น ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในปฐมรัฐธรรมนูญ โดยปรีดีใช้คำเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” ในความหมายว่าเป็น “บุคคลกลุ่มหนึ่งที่มอบหมายมาให้ทำหน้าที่บริหารเป็นกรรมการของราษฎร” ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ปรีดีมีแนวความคิดที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารเป็นคณะบุคคลที่ต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง ดังนั้นในปฐมรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ คณะกรรมการราษฎรนั้นมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรและทำหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะของคณะกรรมการราษฎรปรากฏให้เห็นตลอดมาโดยมีการนำคณะกรรมการราษฎรไปเปรียบเทียบกับรูปแบบของ “คณะกรรมการกลาง” ของประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า “โปลิตบูโร” (Politburo) ไม่เพียงเท่านั้นคณะกรรมการราษฎรยังถูกไปเปรียบเทียบกับคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้ว เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างขององค์กรในบทบัญญัติของปฐมรัฐธรรมนูญแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคณะกรรมการราษฎรมาจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี สมาชิกจะต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎรทั้งหมดและที่สำคัญที่สุดปฐมรัฐธรรมนูญได้คงสถานะของสถาบันกษัตริย์เอาไว้ โดยให้กษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ไม่อาจเป็นไปได้เลย
4.6 ศาล
แนวความคิดของปรีดีที่เกี่ยวกับองค์กรศาลนั้น ปรากฏให้เห็นน้อยที่สุดในบรรดาแนวความคิดในเรื่องอื่นๆ ก็ว่าได้ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพการณ์ของสยามที่ตกอยู่ภายใต้ “สภาพนอกอาณาเขต” จึงต้องระมัดระวังการแทรกแซงของต่างชาติเจ้าอาณานิคม อันจะกระทบต่อความเป็นเอกราชทางการศาลของสยามในขณะนั้น ทั้งนี้ ปรีดีได้กล่าวถึงองค์กรตุลาการในอุดมคติไว้ว่า จะต้องเป็นองค์กรที่มีอิสระและดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม ซึ่งอาจยังมีข้อวิจารณ์ได้อยู่ว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐ ที่นอกจากจะต้องประกอบด้วยความเป็นอิสระซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิติรัฐแล้ว จะต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วย แม้กระนั้นก็ตาม ปรีดีก็ได้เป็นผู้ริเริ่มที่จะให้มีการตั้ง “ศาลปกครอง” ขึ้นในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนโดยให้มีสภาพเช่นเดียวกับ “สภาแห่งรัฐ” (Conseil d'État) ของประเทศฝรั่งเศส โดยเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476
4.7 สิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญ
จิตสำนึกแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่าด้วยความเสมอภาคนั้นได้เริ่มต้นขึ้นนับแต่ปรีดีเรียนอยู่ ณ โรงเรียนกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อปรีดีร่วมกับเพื่อนก่อตั้งคณะราษฎรนั้นก็กำหนด วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือ ต้องดำเนินการให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ อันมีสาระสำคัญว่า 1. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง 2. รักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 3. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 5. ให้ราษฎรได้มีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร หลักการเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นหลัก 6 ประการ ในประกาศคณะราษฎรที่ปรีดีได้แจกจ่ายให้ราษฎรได้อ่านในเช้าตรู่ของการอภิวัฒน์ คือ วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นการประกาศรับรองสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญของราษฎรในระบบกฎหมายไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ปรีดีเห็นว่าประกาศคณะราษฎรที่ปรากฏหลัก 6 ประการดังกล่าว ตรงกับหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน (Human rights) ที่ปรีดีได้ยกเป็น “ปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม” อันมีผลบังคับเสมอด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้รับการบัญญัติแทรกไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 และบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ซึ่งเป็นฉบับที่ปรีดีเห็นว่า “ได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์” หลัก 6 ประการ นี้ได้เป็นหลักหรือกรอบแนวนโยบายหลักของรัฐบาล ในการบริหารประเทศตลอดมานับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ต่อมาได้ถูกตัดตอนและทำลายลงโดยการรัฐประหารที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ปรีดีเห็นว่า ทำให้ระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักลงและการดึงประเทศไทยให้เดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญเรื่อยมา
เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็มักมีการใช้อำนาจละเมิดสิทธิทางรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ มากมาย แม้รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ จะได้รับรองสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญไว้ ก็หมดความหมายในทางกฎหมาย ขาดการบังคับใช้อย่างศักดิ์สิทธิ์และต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ปรีดีพยายามนำประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยเป็นผู้นำ “ขบวนการฟื้นฟูระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ 26 กุมภาพันธ์ 2492” แต่ประสบความล้มเหลว ในเวลาต่อมาปรีดีจึงได้เสนอแนวความคิดในการลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ปรีดีนำเสนอเพื่อต้องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารครั้งนั้นและครั้งต่อๆ มาด้วย ทั้งนี้ เพื่อย้อนกลับไปสู่อุดมการณ์ของคณะราษฎรและระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ 2489 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายที่ได้สืบทอดเจตนารมณ์การอภิวัฒน์ของคณะราษฎรมา นับแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั่นเอง
บทสรุป
แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี ก่อกำเนิดและหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ชีวิตของปรีดีในแต่ละช่วงชีวิต แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแสดงบทบาททางการเมืองของปรีดี มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การกินดีอยู่ดีของราษฎร ปรีดีพยายามใช้ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเบื้องต้นอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ เพื่อนำพาสยามไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์และเมื่อปรีดีได้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญปรีดีได้ใช้โอกาสนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ ปรีดีต้องการให้สยามเป็นรัฐที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและปิตุภูมิของราษฎรภายในรัฐ เป็นรัฐที่ปกครองโดยรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบราชอาณาจักร มีกษัตริย์เป็นประมุขโดยที่พระองค์ไม่ได้ดำรงตนเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ของระบอบเท่านั้น หากแต่ยังทรงมีพระราชอำนาจในทางความเป็นจริงในบางเรื่องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชอำนาจในการปกป้องและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีรัฐสภาแบบสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎรและมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรทั้งหมด หากจะต้องมีสองสภาคือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสมาชิกของทั้งสองสภาก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎรเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น วุฒิสภา ต้องมีเพียงอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองร่างกฎหมายเท่านั้น มีฝ่ายบริหารที่ปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง และมีฝ่ายตุลาการที่มีอิสระและดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม อนึ่ง นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญแล้ว ปรีดีได้ให้คุณค่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้เป็น “ปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม” อันมีผลบังคับเสมอ ด้วยบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญอีกด้วย
บรรณานุกรม
หนังสือ
- ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบรุษอาวุโส ภาคเอกชน. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กังหัน, 2542) น. 37-38.
- _________________. "บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย." ในแนวความคิดประชาธิปไตย ของ ปรีดี พนมยงค์. จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจบริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : สุขภาพใจ, 2552) น. 22-24.
- _________________. เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). (กรุงเทพมหานคร : เรือนแก้วการพิมพ์, 2542).
- _________________. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์.พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพมหานคร : แม่คำผาง, 2553).
- _________________."ความเป็นมาของชื่อ " ประเทศสยาม" กับ "ประเทศไทย"." ใน สุพจน์ ด่านตระกูล. ไทย หรือ สยาม. (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2545).
- _________________. "ทรรศนะ ดร. ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยปัจจุบัน." ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดีพนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย. (กรุงเทพมหานคร : มิตรสยาม, 2524) น. 61-62, 76-77.
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) "คำอธิบายกฎหมายปกครอง" ใน ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล. ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดีพนมยงค์ (ฉบับขยายความ). (กรุงเทพมหานคร : ชนนิยม, 2558).
เว็บไซต์
- "ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ. 2443-2526." สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559, http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-life-and-works-1900-1983/.
วารสาร
- ปรีดี พนมยงค์. "ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง "อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปใน รูปใด," ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารสาร อ.มธ. ฉบับ 10 ธันวาคมรวมปาฐกถา บทความ และข้อสังเกต ของ นายปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพมหานคร : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516) น. 145.
[1] https://www.scribd.com/document/50200043/ ประกาศคณะราษฎรฉบับที่-1
[2] “ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ. 2443-2526,” สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559, http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-life-and-works-1900-1983/
[3] ปรีดี พนมยงค์, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์นาถสุภา, จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการด าเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, พิมพ์ครั้งที่2 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กังหัน, 2542), น. 37-38.
[4] เพิ่งอ้าง, น. 38-39.
[5] เพิ่งอ้าง, น. 22.
[6] เพิ่งอ้าง, น. 43-44
[7] โปรดดูรายละเอียดใน ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ภราดร ภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดีพนมยงค์ (ฉบับขยายความ), (กรุงเทพมหานคร : ชนนิยม, 2558)
[8] ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย,” ใน แนวความคิดประชาธิปไตย ของ ปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : สุขภาพใจ, 2552), น. 22-24.
[9] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), “คำอธิบายกฎหมายปกครอง,” ใน ประชุมกฎหมายมหาชน และเอกชนของปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
[10] ปรีดี พนมยงค์, “ทรรศนะ ดร. ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยปัจจุบัน,” ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย, (กรุงเทพมหานคร : มิตรสยาม, 2524), น. 61-62.
[11] ปรีดี พนมยงค์, “ปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “อนาคตของประเทศไทยควร ดำเนินไปในรูปใด,” ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม รวม ปาฐกถา บทความ และข้อสังเกต ของ นายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพมหานคร : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516), น. 145.
[12] ปรีดี พนมยงค์, “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร,”ใน อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 9, น. 399-400.
[13] ปรีดี พนมยงค์, “บันทึกฉบับ 6 มีนาคม 2526 ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง ตอบคำถามบางประการของนิสิตนักศึกษา,” ใน อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 9, น. 103.
[14] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), (กรุงเทพมหานคร : เรือนแก้วการพิมพ์, 2542)
[15] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพมหานคร : แม่คำผาง, 2553)
[16] สาระสำคัญในข้อความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี ส่วนใหญ่ปรากฎให้เห็นในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกของสยาม ที่ปรีดีมีส่วนในการก่อกำเนิดขึ้น
[17] ปรีดี พนมยงค์, “ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”,” ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ไทย หรือ สยาม, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2545)
[18] ปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้น กับการร่างรัฐธรรมนูญ,” ใน อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 9, น. 253-256