ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

12 เมษายน 2476 : นายปรีดี พนมยงค์ ถูกเนรเทศ

12
เมษายน
2566

“ในการที่ข้าพเจ้าต้องไปต่างประเทศครั้งนี้ ไม่มีโอกาสที่จะลามิตรสหายได้ทั่วถึงกัน ขอให้หนังสือพิมพ์ช่วยลาต่อๆ ไปด้วย กับขอขอบคุณท่านที่มีหนังสือมาแสดงไมตรีจิตต์” [หลวงประดิษฐ์มนูธรรม - หนังสือพิมพ์ศรีกรุง]

จากการนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ร่างโดย ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ในวันที่ 10 มีนาคม 2476 แนวทางดังกล่าวต้องเผชิญกับการทัดทานอย่างหนักและถูกประโคมข่าวให้ร้ายจากฝั่งอนุรักษนิยมว่านายปรีดีเป็นผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์ จนนำมาซึ่งการรัฐประหารครั้งแรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 1 เมษายนปีเดียวกัน โดย ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันเป็นการละเมิดหลักอธิปไตย

10 เมษายน รัฐบาลออกหนังสือเพื่อรับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่อรัฐบาลทั่วโลก ความว่า “รัฐบาลขอรับรองว่า ผู้ถือเอกสารนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สัญชาติไทยเดิมเป็นข้าราชการของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองสามัญผู้หนึ่ง เพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับความเอื้อเฟื้อและความสะดวกทุกอย่างตามอัธยาศัย จะขอบคุณ” (ลงนาม) พระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ 10 เมษายน 2476

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ ฝรั่งเศสด้วยความจำเป็นอันเป็นกฎสูงสุดของมนุษย์” — พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับวันที่  11 เมษายน ก่อนต้องเนรเทศเพียง 1 วัน พร้อมเขียนเล่าอย่างละเอียดความว่า “...เดิมหลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะไปญี่ปุ่นแต่ทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไปฝรั่งเศสสมควรกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จึงยอมไปฝรั่งเศส เวลานี้ได้เตรียมการเดินทางไว้พร้อมมูล ภรรยาท่านก็ไปด้วย แต่บุตรน้อยๆ ยังไม่นำไปเพราะเกรงจะลำบาก ต่อเมื่อได้ไปอยู่ที่ไหนแน่นอนแล้วจึงค่อยไปรับภายหลัง ท่านตั้งใจจะไปอยู่นอกปารีสเพราะไม่ชอบความเริงรมย์อย่างปัจจุบัน ชอบแต่จะดูตำหรับตำราเท่านั้น…”

เมื่อย่ำเข้าสู่วันใหม่ 12 เมษายน ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวแต่ ณ ท่าเรือบี.ไอ. ที่มีเรือโกลาทอดสมออยู่ ต่างคลาคล่ำไปด้วยมวลราษฎรที่มารอส่งและร่ำลานายปรีดี อาทิ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้า คหบดี นักเรียน และประชาชนทั่วไป ฯลฯ สำหรับการไกลบ้านในครั้งนี้นายปรีดีมีจุดหมายมุ่งหน้ายังประเทศฝรั่งเศสพร้อมด้วย ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ ภริยาคู่ชีวิตและผู้ที่ติดตามไปส่งยังสิงคโปร์ ได้แก่ ‘หลวงทัศนัยนิยมศึก’, ‘ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ’ และ ‘นายจรูญ สืบแสง’ และแล้วเมื่อเวลา 16.30 น. โดยประมาณ เรือโกลาก็แล่นออกจากท่าเรือนำพามันสมองของคณะราษฎรสู่แดนไกล

หนึ่งวันให้หลังของการเนรเทศนายปรีดี “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ” หรือ “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นข้อเขียนที่ลดทอนหลักการในเค้าโครงการเศรษฐกิจและความชอบธรรมของนายปรีดี ได้ถูกนำออกแจกจ่ายโฆษณาเป็นจำนวนถึง 3,000 เล่มโดยทันที ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลยังจำกัดความรู้และความเข้าใจที่สาธารณชนมีต่อนายปรีดีและเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยสั่งห้ามมิให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ อันเป็นการโจมตีนายปรีดีอย่างต่อเนื่อง

การจากบ้านเกิดสู่แดนไกลในครั้งนี้ ถือเป็นวิบากกรรมทางการเมืองครั้งแรกของนายปรีดีที่ต้องประสบ ต่อมาภายหลังในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ได้ทำการยึดอำนาจคืนจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำอำนาจกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยและราษฎรไทย เพื่อให้การปกครองยังคงดำเนินไปตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :