ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๖

12
เมษายน
2564

นิราศ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖

 

 

บ่ายวันพุธ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ ท่าเรือ บี.ไอ. ถึงแม้เป็นคิมหันตฤดูอันร้อนผ่าว กระนั้นฝูงชนนับพันยังคงมารอส่ง “ดร.ปรีดี พนมยงค์” มันสมองคณะราษฎรในวัย ๓๓ ปี ผู้จำต้องนิราศออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีที่เจ้าตัวเลือกเฟ้นมากับมือชิงรัฐประหารปิดสภาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖  จากเหตุปัจจัยการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจสู่สภาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

“พอเขาก้าวลงจากรถก็ถูกห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและประชาชนผู้มาคอยส่งเขาอย่างหนาแน่น มาลัยมิรู้กี่พวงถูกสรวมคล้องคอ, แขนของเขาและภรรยาพวงหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นของมิตรอาวุโสผู้ซึ่งเขาเคารพ....พระยาพหลพลพยุหเสนา”[1] พระยาพหลฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ภายหลังปรีดีพ้นมลทินจากการสอบสวนเมื่อปลายปีนั้นว่า

“เมื่อวันที่หลวงประดิษฐ์ฯ ไปจากพระนครในเวลาที่ลงเรือข้าพเจ้าไปส่ง ข้าพเจ้าได้แสดงกริยาอะไร? หนังสือพิมพ์ก็ลงแล้ว ทำไมข้าพเจ้าจึงแสดงกริยาอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้เต็มใจว่าไม่เป็นไปดังนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้าทำถ้าจะมีใครมาฆ่าข้าพเจ้าตายข้าพเจ้าก็จะยอมตาย คือแสดงให้แลเห็นจริงใจว่าคนดีๆ แล้วก็เป็นไปเสียอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ข้าพเจ้าจึงกล้าทำ กล้ายอมให้พร่าชีวิตข้าพเจ้าแล้วก็ได้แสดงให้คนเห็นว่า ได้เข้าไปจูบ เข้าไปกอดอะไรกันในที่นั้น ทำไมจึงกล้าทำเช่นนั้น ที่ทำเช่นนั้นเขาจะหาว่าข้าพเจ้าเป็นพวกเสียอีกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ยอม ความยุติธรรมต้องมี ต้องแลเห็น เพราะฉะนั้นจึงกล้าทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านผู้เป็นประมุขรู้สึกว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งมีคนถามว่าที่ทำดังนั้นไม่กลัวหรือ? แต่เพราะเหตุที่ว่า คนไม่ผิดและคนดีๆ แท้ๆ”[2]

หลังร่ำลามิตรสหายมากหน้าหลายตา จนท้ายสุดมาสิ้นสุดที่ “พันโท หลวงพิบูลสงคราม หรือ แปลก ขีตตะสังคะ” มิตรร่วมตาย

“ใบหน้าของ ดร.ปรีดี แช่มชื่นขึ้น จนเห็นได้ถนัด ในขณะเดียวกันที่น้ำใสคลออยู่ในเบ้าตาของนักรบหนุ่ม มิตรผู้เป็นทหารยื่นมือออกมาเพื่อรับการสัมผัส แต่ด้วยความเต็มตื้นอาลัยที่จะต้องจากกัน ทำให้นักปฏิวัติหนุ่มทั้งสองโผเข้ากอดกันแน่น!

ภาพนั้น, ในบัดนี้ เราถือว่าเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งตรึงใจพลเมืองไทยยิ่งนัก”[3]

เวลา ๑๖.๐๐ น. สมอของเรือโกลาถูกถอนออก ดร.ปรีดี และภริยา พร้อมเพื่อนร่วมก่อการอีก ๓ ท่าน อันประกอบด้วยสองนายทหารม้า หลวงทัศนัยนิยมศึก[4], ทวน วิชัยขัทคะ และ นายจรูญ สืบแสง ได้ตามไปส่งถึงสิงคโปร์

หลังการเนรเทศปรีดีเพียง ๒ เดือนเศษ พระยาพหลฯ จับมือหลวงพิบูลฯ และ หลวงศุภฯ พร้อมคณะผู้ก่อการบางท่านรัฐประหารซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยขับพระยามโนฯ ออกจากตำแหน่งพร้อมชูหัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศแทน

ภายหลังสะสางปัญหาภายในเรียบร้อย รัฐบาลท่านเจ้าคุณพหลฯ ได้ส่งเทียบเชิญเพื่อนร่วมอุดการณ์คืนสู่มาตุภูมิเพื่อร่วมสานงานร่วมกันต่อในเดือนสิงหาคม

 

นิวัติ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖

ณ วันที่ ๑ กันยายน นั้นเอง ดร.ปรีดี พร้อมภริยาคู่ชีวิตได้อำลากรุงปารีส โดยสารเรืออาโคนี มารู ออกจากท่าเรือมาเซลย์ กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน ท่านเดินทางถึงสิงคโปร์ วันที่ ๒๓ กันยายน ที่นั้นหลวงเสรีเริงฤทธิ์ สมาชิกคณะราษฎรอีกท่านได้คอยรับเขาอยู่แล้ว คณะของปรีดีเดินทางจากสิงคโปร์เที่ยงวัน ๒๕ กันยายน เมื่อถึงอ่าวสยามได้ลงเรือเล็กขึ้นท่าน้ำวังบางขุนพรหมเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกันนั้นเวลา ๑๓.๓๐ น. หลวงธำรงนาวสวัสดิ์ได้คอยต้อนรับอยู่แล้ว พร้อมเชิญปรีดีสู่วังปารุสกวันในทันที “เจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความในใจที่ปีติต่อการกลับของนักปฏิวัติหนุ่ม และกอดจูบกันด้วยความรักอย่างจริงใจ เช่นเดียวกับเมื่อวันไปส่ง ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖”[5]

ระหว่างพำนักรอต่อเรือกลับพระนครที่สิงคโปร์ ดร.หนุ่มได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ “เสตรตสฺไทมส” ไว้และหนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ได้นำมาถ่ายทอดในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ไว้ดังนี้

 

 

หลวงประดิษฐ์ฯ เปิดโปงพระยามโนฯ [6]

“พระยามโนไม่เพียงแต่ปิดสภาเท่านั้น แต่ยังขับข้าพเจ้าออกจากประเทศโดยหาว่าเปนคอมมิวนิสต์”

หนังสือพิมพ์ข่าว “เสตรตสฺไทมส” (ข้อความไม่ชัด-ผู้เขียน) ลงเรื่องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไว้เรื่องหนึ่งมีความว่า

เมื่อเดือนเมษายนหลวงประดิษฐฯ เดินทางผ่านสิงคโปร์เพื่อไปยุโรป คุณหลวงผู้ที่กาลครั้งหนึ่งเคยเปนผู้นำของรัฐบาลใหม่ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญปกครอง ได้ถูกเชื้อเชิญให้ออกจากประเทศในฐานที่ต้องหาว่ามีวิธีการโน้มน้าวไปทางคอมมิวนิสต์ ครั้งนั้นคุณหลวงได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้แทน “สเตรตสฺไทมส์” ปฏิเสธว่ามิได้เปนคอมมิวนิสต์ แต่ความคิดเห็นของท่านนั้น ค่อนไปทางวิธีสหกรณ์ของโซเชียลิสต์ซึ่งแตกต่างจากวิธีปกครองในเวลานั้น

“ครั้งเมื่อวันเสาร์นี้ท่านได้เดินทางกลับมาถึงสิงคโปร์ และได้ให้สัมภาษณ์ไว้อีก คุณหลวงผู้นี้เปนทั้งนักกฎหมาย, ผู้พิพากษาและรัฐบุรุษหนุ่มซึ่งมีอายุเพียง ๓๓ ปี สังเกตว่าเปนผู้มีความสุขสมบูรณ์ดีภายหลังที่ได้มีการ “เดินทาง....ท่านได้พาทีถึงความเปนอยู่ในยุโรปซึ่งท่านไปพบเห็นนับแต่วันที่ออกจากโรงเรียนเปนต้นมา”

เมื่อกล่าวถึงการเมือง ท่านแถลงว่า “วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามที่ท่านได้รู้อยู่แล้วว่าได้มีรัฐประหารเปนครั้งแรกขึ้นในกรุงสยามและรัฐบาลได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ บรรดาผู้นำทั้งหลายนั้นข้าพเจ้าเปนผู้นำทางฝ่ายพลเรือน พ.อ. พระยาพหลฯ เปนผู้นำฝ่ายทหาร นอกจากนั้นยังมีผู้อื่นอีกหลายคน”

“เราได้แต่งตั้งให้รัฐบุรุษผู้ใหญ่หลายท่านเข้านั่งตำแหน่งหัวหน้ากระทรวง เพราะเรามั่นใจท่านเหล่านั้นจะได้นำชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในบรรดาท่านเหล่านั้น เราได้ตั้งให้พระยามโนฯ เปนเสนาบดีกระทรวงคลังและเปนนายกรัฐมนตรี”

“ต่อมาอีกไม่กี่เดือนนัก พระยามโนฯ ก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแบบรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้มานั้นเสีย มีการเว้นบทมาตราบางแห่ง เช่นปิดสภาของคณะราษฎรเสียเปนต้น อันการกระทำอย่างนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเปน การละเมิดรัฐธรรมนูญ พระยามโนฯ ไม่เพียงแต่ปิดสภาเสียเท่านั้น ท่านยังได้รับความสมปรารถนาจากการที่ขับข้าพเจ้าออกจากประเทศโดยกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าเปนคอมมิวนิสต์นั้นอีกด้วย

นับแต่นั้นมาจนถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายนปีนี้...คือก่อนครบวันรัฐประหารครั้งแรก ๔ วันและภายหลังที่ข้าพเจ้าไปยุโรปแล้วได้เดือนเดียว พระยาพหลฯ และบรรดาผู้นำฝ่ายทหารเห็นภัยอยู่เบื้องหน้าจึงได้พร้อมกันก่อรัฐประหารเปนครั้งที่ ๒ ขึ้น และพรรคพวกของพระยามโนฯลาออกหมด

‘เวลานี้ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวให้กลับ และเปนการกลับชนิดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วย’

นับแต่หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ขาดไปจากวงการเมืองของกรุงสยาม เงาของคอมมิวนิสต์ก็เริ่มปรากฏขึ้นที่ตัว รวมทั้งมีข่าวแปลกๆ เกี่ยวกับความเปนไปของท่านในยุโรปกระพือขึ้นอีกด้วย เมื่อได้ถามถึงมูลความจริงในข้อที่ถูกกล่าวหา ท่านได้ตอบว่า

‘ความคิดเห็นของข้าพเจ้าดังที่เคยเล่ามาก่อนแล้วนั้น เปนความคิดเห็นในวิธีสหกรณ์ของโซเชียลิสตฺ รัฐมนตรีชุดใหม่ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าวางโครงการแก้ไขเศรษฐกิจขึ้นซึ่งข้าพเจ้าก็ยอมรับวางให้ด้วยความเต็มใจ โครงการนี้มีบทสำคัญอยู่ ๒ บทที่กล่าวถึงว่าจะต้องไม่มีการบังคับแรงงานและจะต้องไม่มีการริบทรัพย์สมบัติใดๆ อย่างนี้แล้วเหตุไรข้าพเจ้าจึงจะกลายเปนคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกทัก?’

“ถามว่าเมื่อหลวงประดิษฐฯ อยู่ยุโรปนั้น ได้ทำอะไรบ้าง”

คุณหลวงตอบว่า “ข้อมุ่งแรกทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าต้องการพักผ่อน แต่ความจริงทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาเปนอันมากหมกอยู่ในหอสมุดแห่งปารีส เพื่อศึกษาประวัติการความเจริญในทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในยุโรปต่างๆ สมัยข้าพเจ้าได้ข้ามไปอยู่ลอนดอน ๒-๓ วัน เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูง การไปของข้าพเจ้าเปนอย่างเงียบๆ

“เท่าที่ข้าพเจ้าได้มาจากการค้นคว้าศึกษาครั้งนี้อาจจะใช้เปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้าและเพื่อนฝูง (น่าจะหมายถึงพระสารสาสน์พลขันธ์ด้วยผู้หนึ่งผู้ใช้นามปากกา๕๕๕-บ.ก.ว.) ได้ช่วยกันร่างโครงการแก้ไขและทำความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจสำหรับกรุงสยามขึ้น ไม่เปนความจริงเลยที่ยุโรปพูดกันว่าข้าพเจ้าศึกษาวิธีการของคอมมิวนิสตฺ หรือแม้เกี่ยวข้องกับราชการตำรวจฝรั่งเศสแต่อย่างใด”

“เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ไปจากสิงคโปร์แล้วไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้ทราบว่าได้มีนายทหารบกไทย ๒ นายโดยสานรถด่วนจากกรุงสยามมาถึงสิงคโปร์และเวลานี้พักอยู่บ้านของ กงศุลเยเนราลสยาม นายทหารทั้ง ๒ นั้นคือ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เจ้ากรมยุทธการทหารบก กับ พ.อ.พระประศาสน์พิทยายุทธ

“ความลับของการเมืองสยามยิ่งเร้นลงอีก จนถึงได้เอ่ยถามกันขึ้นว่า เพราะเหตุไรนายทหารทั้ง ๒ ผู้เปนตัวตั้งตัวตีในการรัฐประหารทั้ง ๒ คราวเพื่อจะสร้างประชาธิปตัยขึ้นในกรุงสยามจึงควรจะออกไปจากประเทศในขณะอาการแห่งอันตรภัยกำลังคุกคาม บ้านเมืองกำลังเลือกตั้งและหลวงประดิษฐ์ฯ กำลังเดินทางเกือบจะถึงกรุงเทพฯ อยู่รอมร่อแล้ว?” (หน้า ๓๒)

การเดินสวนทางกันระหว่างคณะของปรีดีและพระยาทรงสุรเดชกับพระประศาสน์พิทยายุทธครั้งนั้น คำตอบที่ไม่เป็นความลับในตอนจบของหนังสือพิมพ์สยามวารศัพท์ได้รับการเฉลยในเนื้อหาคำพิพากษาศาลกบฏ ๒๔๘๒  ดังปรากฏความในย่อหน้าต่อไปนี้

“ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประมาณ ๒๐ วันพระยาทรงสุรเดชกับพระประศาสน์พิทยายุทธได้เดินทางไปต่างประเทศ พระยาทรงสุรเดชได้พูดกับนายสงวน ตุลารักษ์ ว่า คณะพวกเจ้าเขาจะเล่นงานพวกผู้ก่อการ นายสงวนจึงตอบว่าเมื่อเขาจะเล่นงานแล้วก็ควรจะอยู่ช่วยกัน พระยาทรงสุรเดชจึงพูดว่า เมื่อใครเขาอยู่ก็ให้เขาทำไปก็แล้วกัน การที่พระยาทรงสุรเดชพูดเช่นนี้ก็เพื่อพูดกระทบพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงคราม เมื่อเกิดกบฏขึ้นพระยาทรงสุรเดชได้เดินทางไปถึงโคลัมโบ พระยาพหลพลพยุหเสนาได้โทรเลขเรียกให้กลับเพื่อมาช่วยเหลือทำการปราบกบฏ แต่พระยาทรงสุรเดชกลับตอบมาว่าเรื่องเล็กน้อยให้ทำกันไปเถอะ”[7]

 

 

บทสรุปการเดินทางของสองทหารเสือครั้งนั้นโดยมิได้อยู่ช่วยเหลือพรรคพวกในการ “ปราบกบฏ ๒๔๗๖” นี้ นับเป็นการเริ่มนับถอยหลังชีวิตการเมืองของพระยาทรงสุรเดช ในทางกลับกันชัยชนะของคณะราษฎรต่อการสู้รบเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ได้เชิดชูเกียรติคุณของหลวงพิบูลฯ ให้ลอยเด่นเหนือใครๆ ในกองทัพ ก่อนที่ทั้งสองจะเดินเข้าสู่จุดแตกหักในอีก ๖ ปีต่อมา!

ในแง่การนิวัติพระนครของปรีดีเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๗๖ นี้ ก็นับเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยเร่งเร้าไปสู่การก่อกบฏโดยคณะพระองค์เจ้าบวรเดชในเดือนถัดมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 



[1] นิร นิรันดร ( นามแฝง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ), ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.๒๔๙๒,(โรงพิมพ์จำลองศิลป), น.๘.

[2] รายงานฯ สภาผู้แทนราษฎร ปี  ๒๔๗๖ (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๒๔ หน้า ๑๕๓๔ และ ดู พลเอกไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๑, ( กรุงเทพฯ:สนพ.สุขภาพใจ, ๒๕๕๒ ) ,น.๔๘๗.

[3] นิร นิรันดร ( นามแฝง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ), ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.๒๔๙๒,(โรงพิมพ์จำลองศิลป), น.๑๑.

[4] “ยอดทหารม้าจากโซมูร์” ๑ ใน ๗ คณะราษฎร ณ กรุงปารีส หลังจากกลับจากการเดินทางครั้งนี้ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงกะทันหันเมื่อ ๑๐ พ.ค.๒๔๗๖ โดยถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจโดนยาพิษ

[5] นิร นิรันดร ( นามแฝง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ), ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.๒๔๙๒,(โรงพิมพ์จำลองศิลป), น.๑๘๙.

[6] กรุงเทพวารศัพท์ ปีที่ ๒ ฉะบับที่ ๒๙๘ กรุงเทพฯ วันพุธที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖

[7] คำพิพากษาศาลพิเศษ, พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, กรมโฆษณาการ, (โรงพิมพ์พานิชศุภผล), น.๒๘.