ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ไปให้พ้น “เลือกตั้งสกปรก” ข้อคิดจาก 25 กุมภาพันธ์ 2500 ถึงปัจจุบัน

10
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ข้อเขียนชิ้นนี้ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้ง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งครั้งที่ 7 ของประเทศไทย ซึ่งถูกจารึกไว้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกมากที่สุด เนื่องมากจากกลโกงทางการเมืองซึ่งเห็นอย่างได้ชัดเจน เช่น ไพ่ไฟ เวียนเทียน หรือพลร่ม ฯลฯ
  • กลวิธีทุจริตในอดีตได้กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งผ่านมายังการเมืองในปัจจุบัน มรดกของการโกงเลือกตั้งได้ให้ข้อคิดและถอดบทเรียน 2 ประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง คือ การแทรกแซงทางการเมืองโดยใช้อำนาจรัฐในการบิดเบือน และประการที่สอง คือ ตัวแสดงทางการเมืองของชนชั้นนำเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 

“เลือกตั้งสกปรก” เป็นคำนิยามที่ใช้เรียกเหตุการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2500 หรือ 66 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งครั้งนั้นได้รับการอธิบายว่าเป็นเหตุการณ์เลือกตั้งที่พบปัญหาทุจริตและเทคนิคการโกงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเลือกตั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2500 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่สังคมไทยห่างเหินการเลือกตั้งมาเป็นเวลายาวนานกว่า 5 ปี ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งก้าวขึ้นมามีอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 หลังจากจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และกลุ่มนายทหารนอกราชการได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในช่วงเวลาอันยาวนานนับทศวรรษนั้น มีการใช้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแตกต่างกันอย่างมากอยู่ถึง 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มแดง” ซึ่งมาจากการรัฐประหารในปี 2490 อันรวบอำนาจไปไว้ในมือกลุ่มผู้ก่อการ ก่อนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งในบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 แต่ที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ถูกยกเลิกและทดแทนด้วยการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 มาใช้อีกครั้ง อันเป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในปี 2495 โดยมีประเด็นสำคัญคือ กลับไปใช้เนื้อหาหลักตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แต่เปลี่ยนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง ที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 10 ปี มากกว่าสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง

ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะมีการรัฐประหารในปี 2490 และมีการจัดสรรอำนาจใหม่ถึง สามครั้ง ครั้งแรก คือคณะรัฐประหาร 2490 ครั้งที่สอง เปิดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2492 และ ครั้งที่สาม การกระชับอำนาจ จอมพล ป. อีกครั้ง ในปี 2495 แต่การเลือกตั้งทั่วไปยังคงดำเนินต่อไปได้ถึง 3 ครั้ง หากแต่ดำเนินไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะอำนาจนิยม นั่นคือให้อำนาจผู้แทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2489 โดยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ระบบเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด และแบ่งเขตหลายเบอร์ โดยเกิดขึ้นในปี 2491, 2492 และ 2495

สำหรับระบบการเลือกตั้งแบบนี้ มีลักษณะไม่เป็นสัดส่วน เนื่องจากเป็นเขตใหญ่ซึ่งการเลือกตั้งจะได้ผู้แทนมากกว่าหนึ่งคนต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง อันสะท้อนลักษณะของรูปแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (plurality election)[1] โดยผู้ชนะการเลือกตั้งตามระบบนี้ จะได้รับการเลือกเข้ามาได้พร้อมกันหลายคน ทำให้เอื้อต่อพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงในเขตเลือกตั้งนั้นๆ จนกระทั่งหลังปี 2495 การเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500

ด้วยความที่สังคมไทยร้างราการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังต่อการเลือกตั้งในปี 2500 เป็นอย่างมาก จากการค้นคว้าของชาญวิทย์ เกษตรศิริ[2] เสนอว่า หลังจากที่สหรัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลไทยต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ได้มีการเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเยือนสหรัฐ และเมื่อกลับมายังประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีการคลี่คลายบรรยากาศทางการเมืองให้มีการเปิดกว้างมากขึ้น โดยเปิดให้มีการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกว่า “ไฮด์ปาร์ก” มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 เป็นพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2498

บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นต่างออกไปจากต้นทศวรรษ 2490 ด้านหนึ่งส่งผลบวกต่อรัฐบาลจอมพล ป. ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ใช้เวทีเดียวกันเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล โดยเฉพาะในหมู่คนสนิทของ จอมพล ป. ที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตและใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบอย่าง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่สุดการเปิดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในปี 2498 และการจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ก็มาถึง มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง ดังนี้

  • การเลือกตั้งในปี 2491 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 29.50
  • การเลือกตั้งในปี 2492 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 24.27
  • การเลือกตั้งในปี 2495 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 38.92

ทว่าการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่าร้อยละ 57.50 หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 5,600,000 คน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากึ่งพุทธศตวรรษ

ความสำคัญมาเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะคือพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาลจอมพล ป. โดยได้รับเลือกตั้งมาถึง 86 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 160 ที่นั่ง ซึ่งถูกกล่าวหาจากสื่อมวลชน นักศึกษาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งในหลากหลายรูปแบบ โดยปรากฏเป็นศัพท์แสงใหม่ๆ ทางการเมือง อาทิ “พลร่ม” “เวียนเทียน” และ “ไพ่ไฟ” อันหมายถึงการใช้สิทธิซ้ำของผู้มีสิทธิลงคะแนนในบางหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาในการใช้อำนาจและซื้อเสียงด้วยการข่มขู่ผู้ใช้สิทธิ์

สำหรับเขตเลือกตั้งที่อื้อฉาวที่สุด ข้อมูลของชาญวิทย์ เกษตรศิริ พบว่าคือเขตดุสิต ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มทหาร ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจต่อการทุจริตที่เกิดขึ้น ในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง มีประชาชนที่คับข้องใจจำนวนมากเริ่มชุมนุมและเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลและขว้างปาสิ่งของใส่สถานที่ราชการ[3]

ราวกับเป็นบทที่เขียนเอาไว้ ในเวลาต่อมา นั่นคือข้อกล่าวหาจากฝั่งรัฐบาลต่อประชาชนที่ไม่พอใจ คือการแทรกแซงทางการเมืองของต่างชาติ ในกรณีนี้คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยอ้างว่าจะมีการก่อเหตุร้ายในประเทศ

เมื่อพิจารณาบทเรียนของการทุจริตการเลือกตั้งครั้งนั้น จากภาพกว้างกว่าแค่รูปแบบและวิธีการบิดเบือนเสียงของประชาชน โดยวางเข้ากับตัวแสดงอื่นทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับการลดทอนเสียงการเลือกตั้งของประชาชน จะพบว่า มีความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำ นอกจากจอมพล ป. แล้ว ยังมีกลุ่มจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่หันมาเล่นบทบาทเคียงข้างประชาชนที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้ง จนในที่สุดนำไปสู่การปกครองของระบอบเผด็จการทหารกินเวลายาวนานล่วงทศวรรษ ด้วยการรัฐประหารในปี 2500 หลังการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

คำถามต่อมาคือ มรดกของการโกงเลือกตั้งครั้งนั้น ให้ข้อคิดอย่างไรบ้างต่อยุคสมัยปัจจุบัน คำตอบเบื้องต้นมี 2 ประการ ประการที่หนึ่ง รูปแบบและวิธีการโกงที่ยังตกค้างมาจากสงครามเย็น นั่นคือ การใช้อำนาจของรัฐเพื่อบิดเบือนคะแนนเสียงของประชาชน อำนาจเช่นนี้แสดงผ่านกลไกรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้ง การตรวจสอบการเลือกตั้ง และการตัดสินการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่พยายามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เอื้อต่อผลการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการ

ในปัจจุบัน เราจะพบว่าวิธีการ เช่น ไพ่ไฟ เวียนเทียน หรือพลร่ม ถูกอธิบายในแง่มุมทางรัฐศาสตร์ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น การเลือกตั้งที่ไม่ได้สัดส่วนจำนวนประชากร การเพิ่มขึ้นของบัตรลงคะแนน และการสวมสิทธิ์ประชาชนเพื่อใช้สิทธิ์ เป็นต้น

ประการที่สอง ตัวแสดงทางการเมืองของชนชั้นนำเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราจะพบว่าทุกวิกฤติ พ้นไปจากข้อกล่าวหาเลื่อนลอย เช่น ต่างชาติแทรกแซง การก่อการร้าย ไปจนกระทั่งการแบ่งแยกดินแดน ล้วนเป็นเรื่องเก่าที่ใช้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ในจังหวะที่ฉันทามติของประชาชนถูกบิดเบือน มักจะมีชนชั้นนำเล่นเกมแตกแยกนี้ กรณีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นผ่านการขึ้นสู่อำนาจของเขา ทั้งที่เป็นปีกสำคัญในการค้ำยันอำนาจจอมพล ป. ยาวนานกว่า ทศวรรษ

ฉะนั้น การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ด้วยการอาศัยกิจกรรมทางการเมืองเช่นการเลือกตั้ง ด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีการตรวจสอบอย่างกว้างขวางและเท่าทันผู้มีอำนาจ อีกด้านคือจะรักษาไว้ซึ่งหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างไร ภายใต้การเลือกตั้งอันเป็นเครื่องมือไม่กี่ชนิดของประชาชน

 

[1] Donald G. Saari. 2002. Adopting a Plurality Vote Perspective. Mathematics of Operations Research, Vol. 27, No. 1 (February), pp. 45-64.

[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2544. ประวัติการเมืองไทย: 2475-2500. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, บทที่ 8 การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

[3] เพิ่งอ้าง, น. 494.