ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ก้าวต่อไปของการสร้างรัฐสวัสดิการหลังการเลือกตั้ง

25
พฤษภาคม
2566

Focus

  • พรรคการเมืองหลายพรรคได้ชูนโยบายรัฐสวัสดิการในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมาในบรรดาพรรคดังกล่าวนี้ พรรคก้าวไกลพูดถึงเรื่องสวัสดิการอย่างจริงจัง และกลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. และคะแนนเสียงของประชาชนสูงสุด และพรรคประชาชาติก็พูดถึงเรื่องสวัสดิการก้าวหน้า
  • นโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น ได้แก่ (1) นโยบายบำนาญถ้วนหน้า (รูปธรรมคือการให้เงินบำนาญขั้นต่ำประมาณ 3,000 บาท แก่ทุกคนที่มีอายุเกิน 60 ปี) (2) นโยบายการยกระดับการศึกษาระดับสูงให้เป็นการสนับสนุนโดยรัฐ (แก้ปัญหาหนี้กู้ยืมยิมเพื่อการศึกษาและโอกาสในการยกระดับฐานะของชนชั้นกลางในพื้นที่ต่างจังหวัด การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสิทธิพื้นฐาน) (3) นโยบายด้านคนทำงานที่เพิ่มอำนาจของคนวัยทำงาน (ค่าแรง การเลือกปฏิบัติ สวัสดิการและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่ทำงาน การประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะดึงผู้คนให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน) และ (4) นโยบายด้านการรวมตัว (การส่งเสริมการรวมตัวตั้งแต่ในสถานประกอบการ รวมถึงปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ที่กีดขวางการรวมตัว จะเป็นประตูสำคัญสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ)
  • การป้องกันการ “ดีล” ใต้โต๊ะ ของชนชั้นนำที่มักเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุด โดยลดประเด็น (นโยบาย) แหลมคมที่ประชาชนคาดหวังด้วยโยบายอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมการประนีประนอมของชนชั้นนำอย่างเข้มงวดเพื่อการสร้างสถานภาพอย่างเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม

 

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพสะท้อนความคาดหวังสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ และอุดมการณ์ทางการเมือง และสังคม 

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม คือ การที่พรรคการเมืองหลายพรรคได้ชูนโยบายรัฐสวัสดิการ ให้เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้รณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. และคะแนนเสียงของประชาชนสูงสุด พร้อมกับการเป็นพรรคการเมืองที่พูดถึงนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติที่พูดถึงนโยบายรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า เช่น สวัสดิการการเรียนฟรีและการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนั้นในฐานะประชาชนเราจะสามารถกดดันและผลักดันให้นโยบายเกิดความก้าวหน้าในทางใดได้บ้าง ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทาง 5 ประการเพื่อการกดดันต่อพรรคการเมือง ดังนี้

ประการแรก นโยบายบำนาญถ้วนหน้า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการผลักดันต้องอาศัยทรัพยากรในการผลักดัน นโยบายแรก คือ การยกระดับบำนาญถ้วนหน้าที่จะครอบคลุมผู้คนกว่า 11 ล้านคน และลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้มากกว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนส่วนใหญ่

หลักการบำนาญถ้วนหน้ามีรูปธรรม คือ การให้เงินบำนาญขั้นต่ำประมาณ 3,000 บาท แก่ทุกคนที่มีอายุเกิน 60 ปี นโยบายนี้จะเป็นการพลิกชีวิตครัวเรือนไทยขนานใหญ่ แน่นอนว่าการใช้งบประมาณมหาศาลถึงประมาณ 12% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากความคิดของรัฐราชการแบบเดิม รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมใหม่ที่ผูกขาดการกำหนดนโยบายมาหลายทศวรรษ แต่การจะขยายนโยบายบำนาญถ้วนหน้าได้ จำเป็นต้อง “ล้างมายาคติ” วินัยทางการคลัง และกระจายทรัพยากรสู่คนส่วนใหญ่ของสังคมในรูปแบบของสวัสดิการถ้วนหน้า ดังนั้นนโยบายบำนาญจึงไม่ใช่นโยบายที่จะหล่นจากฟากฟ้าหรือเกิดโดยอัตโนมัติหลังจากการเลือกตั้ง แต่สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการกดดันอย่างต่อเนื่องและทลายมายาคติแบบเดิม

ประการที่สอง นโยบายการยกระดับการศึกษาระดับสูง ให้เป็นการสนับสนุนโดยรัฐ พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายนี้อย่างชัดแจ้ง และน่าจะเป็นเหตุผลให้พรรคการเมืองนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปัญหาหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และโอกาสในการยกระดับฐานะของชนชั้นกลางในพื้นที่ต่างจังหวัด การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสิทธิพื้นฐาน ใช้งบประมาณเพียง 40,000 ล้านบาทต่อปี ใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 1.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษากว่า 2 ล้านคน

หนี้สินจากการศึกษาที่กำลังกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่สำหรับทุกครัวเรือน แม้จะไม่ใช่งบประมาณที่สูงมาก แต่ก็ยากที่จะผลักดันเพราะชุดความคิดที่ล้าหลังที่พยายามบอกว่า “การศึกษา” เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าสิทธิพื้นฐาน โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นกุญแจสำคัญของฝ่ายปฏิกิริยา ในการกีดขวางให้สังคมไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

ดังนั้นแม้การศึกษาระดับสูงจะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องของทุกคน แต่ก็เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนจะสามารถผลักดันนโยบายที่โอบอุ้มคนที่เราไม่รู้จัก ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนหลายคนไม่ได้ประโยชน์โดยตรง หรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ โดยสำนึกในความสมานฉันท์ (Solidarity) จะเป็นกุญแจสำคัญ

ประการที่สาม นโยบายด้านแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเพิ่มอำนาจของแรงงานที่มากกว่าแค่เรื่องค่าแรง แต่ต้องครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติ สวัสดิการ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่ทำงาน

นโยบายสำคัญที่มีการหาเสียงอย่างมาก คือ นโยบายประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งการยกระดับครั้งนี้แม้จะไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายนัก แต่ก็เป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงความคิดเดิมที่ว่าสวัสดิการต้องแบ่งตามกลุ่มอาชีพ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ นโยบายประกันสังคมถ้วนหน้าจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะดึงผู้คนให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน ได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมกัน

ประการที่สี่ นโยบายด้านการรวมตัว การรวมตัวคือจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ การรวมตัวเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอทางเศรษฐกิจและข้อเสนอทางการเมืองกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ประเทศไทยมีสัดส่วนสมาชิกสหภาพอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อคนไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้ ส่งผลให้ผู้คนกระจัดกระจายแยกขาดออกจากกันจนไม่สามารถเกิดการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยเรื่องค่าแรงและสวัสดิการได้ ฉะนั้นการรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐย่อมยากขึ้น 

นอกจากนี้ การรวมตัวที่ยืนระยะยาวนั้น ย่อมมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าการประท้วงในระยะสั้น ดังนั้นหากจะทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องผลักดันให้การรวมตัวสามารถเกิดขึ้นโดยง่าย การแก้ไข กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 117 ให้เอื้อต่อการรวมตัวมากขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการนัดหยุดงานของประชาชน อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการต่อรองและต่อต้านเผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย และทำให้การรวมตัวของคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการส่งเสริมการรวมตัวตั้งแต่ในสถานประกอบการ รวมถึงปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ที่กีดขวางการรวมตัว จะเป็นประตูสำคัญสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ 

ประการสุดท้าย การป้องกันการ “ดีล” ใต้โต๊ะ ที่มักเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุด บ่อยครั้งที่การเลือกตั้งที่คาดหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ถูกยุติลงด้วยการดีลใต้โต๊ะ ด้วยนโยบายที่ไม่เคยหาเสียงมาก่อน เช่น ไม่มีพรรคการเมืองใดเคยหาเสียงว่าจะเพิ่มกำลังพล ไม่มีพรรคการเมืองใดสัญญาว่าจะเพิ่มอำนาจให้กลุ่มทุนผูกขาด แต่พวกเขาอาจผลักดันนโยบายเหล่านี้ก่อนนโยบายสวัสดิการทั้งหลายที่พวกเขาเคยให้สัญญาไว้ นอกจากนี้ การประนีประนอมของชนชั้นนำสามารถสร้างผลเสียต่อสังคมได้ในหลายประการ ดังนี้

  • ความเหลื่อมล้ำ : อาจทำให้ชนชั้นอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มที่ขาดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสิทธิทางการเมือง ซึ่งอาจเพิ่มความไม่เสมอภาคและความขัดแย้งในสังคม
  • ความไม่เท่าเทียมที่ถูกส่งต่อข้ามรุ่น : ชนชั้นนำมักมีโอกาสที่จะสืบทอดทรัพย์สมบัติและทรัพย์สินมากกว่าชนชั้นอื่น การส่งต่อทรัพย์สินและอภิสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยง่ายมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมข้ามรุ่นนี้ ท้ายที่สุดจะถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนและกลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้น
  • การบังคับอำนาจทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม : ชนชั้นนำมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าชนชั้นอื่น การใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสมหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ
  • การเสื่อมถอยความเชื่อมั่นในระบบ : การประนีประนอมที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เท่าเทียมสามารถเสื่อมถอยความเชื่อมั่นในระบบและสถาบันทางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง สถาบันทางกฎหมาย หรือวิธีการแก้ไขผ่านกลไกการเลือกตั้ง การประนีประนอมของชนชั้นปกครองจะทำให้ประชาชนเสื่อมถอยความมั่นใจในระบบการเมืองแบบปกติ และทำให้ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ในอนาคต

การประนีประนอมของชนชั้นนำสามารถมีผลกระทบในสังคมอย่างกว้างขวาง การสร้างความเป็นเลิศและขั้นบันไดทางเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค การสืบทอดทรัพย์สมบัติที่ไม่เท่าเทียม การบังคับอำนาจทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และการเสื่อมถอยความเชื่อมั่นในระบบ เป็นต้น เพื่อให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมการประนีประนอมของชนชั้นนำอย่างเข้มงวด รวมถึงการสร้างสถานภาพอย่างเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม

เมื่อพิจารณาประเด็นทั้งห้าประการข้างต้น ทั้งในแง่ความเร่งด่วนของนโยบายที่จำเป็นต้องผลักดัน รวมถึงองค์ประกอบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวของประชาชนพร้อมกับการป้องกันการดีลลับหลังของชนชั้นนำที่จะลดประเด็นแหลมคมที่ประชาชนคาดหวัง หลักห้าประการนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การผลักดันรัฐสวัสดิการหลังการเลือกตั้ง สามารถเดินหน้าได้ในท้ายสุด และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ต่อไปที่เราอาจประสบชัยในอนาคตอันใกล้