Focus
- ความแตกต่างของระบบบำนาญในสังคมไทย เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ ประชาชนในประเทศยังคงไม่ได้ความเท่าเทียมของสวัสดิการที่ควรจะได้รับ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม

ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ตอนที่ 2: ปัญหาระบบบำนาญไทยในปัจจุบัน - ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่ยังรอการแก้ไข
หากปรีดี พนมยงค์ ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ท่านคงจะรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับระบบบำนาญของไทยที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรง แม้เวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษจากยุคที่ท่านเสนอแนวคิดบำนาญถ้วนหน้า แต่ปัญหาพื้นฐานหลายประการยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ประเทศไทยในปัจจุบันมีระบบบำนาญที่แบ่งแยกและไม่เท่าเทียม ระบบนี้แบ่งประชาชนออกเป็นหลายกลุ่มที่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างที่ลึกซึ้งในการจัดสวัสดิการของรัฐไทย และเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการความครอบคลุม ความเพียงพอ และความยั่งยืนที่ปรีดีเคยเสนอไว้
ความเหลื่อมล้ำในระบบบำนาญไทย
หากพิจารณาระบบบำนาญไทยในปัจจุบัน เราจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม:
1. ข้าราชการ: ได้รับบำนาญตามระบบ Defined Benefit ซึ่งคำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่รัฐเป็นผู้รับภาระหลัก ทำให้ข้าราชการระดับสูงบางรายได้รับบำนาญสูงถึงเกือบแสนบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นภาระงบประมาณมหาศาลในระยะยาว
2. ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม: ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตลอดอายุการทำงาน แต่ระบบการคำนวณบำนาญกลับใช้วิธี Final Average Earnings (FAE) ที่คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งอาจไม่สะท้อนการสมทบตลอดช่วงชีวิตการทำงาน และทำให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับเงินที่สมทบเข้าไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับบำนาญเพียง 1,000-2,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นแม้สมทบมานานเกิน 20 ปี
3. ผู้สูงอายุทั่วไป: ผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการหรือประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด กลับได้รับเพียง "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ซึ่งมีอัตราแบบขั้นบันได เริ่มต้นที่เพียง 600 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี และสูงสุดเพียง 1,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนที่แทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีในปัจจุบัน
ความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบบำนาญของไทยยังห่างไกลจากหลักการ "บำนาญถ้วนหน้า" ที่ปรีดีเคยเสนอไว้ ประชาชนได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาทำงานในภาคส่วนใด โดยผู้ที่ทำงานในภาครัฐซึ่งเป็นคนส่วนน้อยได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุดกลับได้รับการดูแลน้อยที่สุด
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ: สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ที่ไม่เพียงพอ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเริ่มมีการจัดสรรอย่างถ้วนหน้าใน พ.ศ. 2552 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่จัดสรรยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยเริ่มต้นที่ 500 บาทต่อเดือน และแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุในปัจจุบัน แต่อัตรา 600-1,000 บาทต่อเดือนก็ยังคงต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศอย่างมาก
หากพิจารณาค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำรงชีวิตปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ระบบประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เงินจำนวน 600 บาทต่อเดือนไม่เพียงพออย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ผู้สูงอายุจำนวนมากจึงยังคงต้องพึ่งพาลูกหลานหรือทำงานต่อไปแม้จะมีอายุมากแล้ว หรือไม่ก็ต้องประสบกับความยากลำบากในบั้นปลายชีวิต
สิ่งที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่าคือ ทัศนคติของสังคมและผู้กำหนดนโยบายที่มองว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเพียง "การสงเคราะห์" หรือ "การช่วยเหลือ" จากรัฐ มากกว่าจะเป็น "สิทธิ" ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับในฐานะที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งขัดกับแนวคิดของปรีดีที่มองว่าบำนาญควรเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับเพื่อรับรองความมั่นคงในชีวิตยามชรา
บำนาญข้าราชการ: ความมั่นคงที่มาพร้อมกับภาระทางการคลัง

ในขณะที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตด้วยเบี้ยยังชีพเพียงไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน ข้าราชการกลับได้รับบำนาญที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ระบบบำนาญข้าราชการแบบ Defined Benefit ที่คำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้าย ทำให้ข้าราชการบางรายโดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้รับบำนาญสูงถึงหลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งมากกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถึงกว่า 100 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้น ข้าราชการยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งตนเองและครอบครัว เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และเงินบำเหน็จดำรงชีพ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับ
ความแตกต่างนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ยังสร้างภาระทางการคลังมหาศาลให้กับประเทศในระยะยาว เนื่องจากรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบำนาญข้าราชการทั้งหมดโดยที่ข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ งบประมาณด้านบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากประมาณ 80,000 ล้านบาทใน พ.ศ. 2550 เป็นกว่า 300,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เนื่องจากจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุมีมากขึ้น และอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้น
ประกันสังคมและปัญหาของระบบ FAE
ในส่วนของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แม้จะมีการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการทำงาน แต่ระบบการคำนวณบำนาญกลับใช้วิธี Final Average Earnings (FAE) ที่คำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งอาจไม่สะท้อนการจ่ายเงินสมทบตลอดช่วงชีวิตการทำงาน
ระบบ FAE มีปัญหาหลายประการ
ไม่สะท้อนประวัติการจ่ายเงินสมทบทั้งหมด: ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาตลอดชีวิตการทำงาน แต่มีรายได้ลดลงในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ จะได้รับบำนาญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เปิดช่องให้เกิดการบิดเบือน: บางคนอาจพยายามแจ้งรายได้สูงเฉพาะในช่วง 5 ปีสุดท้ายเพื่อให้ได้รับบำนาญสูงขึ้น โดยที่จ่ายเงินสมทบน้อยในช่วงก่อนหน้า
ไม่เป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อย: ผู้มีรายได้น้อยมักมีรายได้คงที่หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงท้ายของอาชีพ ทำให้ระบบ FAE เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูงมากกว่า

ที่มา: ประกันสังคมก้าวหน้า
ในทางกลับกัน ระบบ CARE (Career Average Revalued Earnings) ที่คำนวณบำนาญจากรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตการทำงาน โดยมีการปรับมูลค่าตามอัตราเงินเฟ้อหรือการเติบโตของค่าจ้าง จะมีความเป็นธรรมมากกว่า เนื่องจาก:
สะท้อนประวัติการจ่ายเงินสมทบทั้งหมด: ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญที่สะท้อนการจ่ายเงินสมทบตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ไม่ใช่เพียงช่วงสุดท้าย
ลดโอกาสในการบิดเบือน: เนื่องจากคำนวณจากรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน จึงยากที่จะบิดเบือนเพื่อให้ได้รับบำนาญสูงขึ้น
เป็นธรรมกับผู้มีรายได้ทุกระดับ: ผู้ประกันตนทุกคนจะได้รับบำนาญที่สอดคล้องกับเงินสมทบที่จ่ายเข้าระบบ ไม่ว่าจะมีรูปแบบการเติบโตของรายได้แบบใด
หลายประเทศทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนจากระบบ FAE มาเป็นระบบ CARE เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และเพื่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว แต่ประเทศไทยยังคงใช้ระบบ FAE ในการคำนวณบำนาญประกันสังคม ซึ่งอาจไม่สะท้อนหลักการของความเป็นธรรมและความยั่งยืนที่ปรีดีเคยเสนอไว้
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญ กระบวนการเหล่านี้มักจำกัดอยู่ในวงแคบ โดยมีเพียงข้าราชการระดับสูง นักวิชาการบางกลุ่ม และผู้นำแรงงานที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้นที่มีส่วนร่วม ในขณะที่ประชาชนทั่วไปและผู้รับบำนาญไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ทำให้การปฏิรูปไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
แนวทางเหล่านี้ตรงกันข้ามกับหลักการของปรีดี พนมยงค์ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ปรีดีเชื่อว่าระบบที่เป็นธรรมต้องเกิดจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนทุกกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา
การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง เริ่มผลักดันแนวคิดการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคมโดยการนำสูตร CARE มาใช้แทนระบบ FAE ที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มนี้ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบำนาญสมัยใหม่และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตน พวกเขาได้ศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศและนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้กับสังคมไทย
เราจะเห็นได้ว่าความจำเป็นในการปรับสูตรบำนาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประกันสังคมมีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะเป็นกลุ่มสำคัญที่ชะเบี้ยประกันตนด้วยตัวเอง และไม่มีหลังพิงระบบอื่น แต่กลับเผชิญเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมมากที่สุด การปฏิรูปสูตรคำนวณนี้จึงไม่ใชเพียงแค่หลักการทางคณิตศาสตร์แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองอย่างมากที่เราจะนำเสนอในตอนสุดท้ายของชุดบทความนี้ต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: