ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

Behind The Mount หลังเขา ใจแผ่นดิน

26
พฤษภาคม
2566

Focus

  • “Behind The Mount” เป็นผลงานละคอนที่สร้างจากการวิจัย (Research) ให้รายละเอียดถึงวิธีคิด และวิธีและกระบวนการที่นักวิจัยสองคนได้ศึกษาจากนั้นถ่ายทอดผ่านกระบวนศิลปะและสัญญะที่ซ่อนอยู่ในองค์ประกอบในฉากต่างๆ ของละคอน โลกจึงได้รับรู้ความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ในความลวงในพื้นที่ของการศึกษา “ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย” ณ หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
  • แนวการแสดงละคอนเรื่องนี้ในแบบ Devising Performance จัดให้ตัวละคอนเล่าถึงประเด็นสำคัญ และเหตุการณ์ในเรื่องแบบเหมือนจริงโดยไม่ได้ถูกแต่งเติมขึ้นมา แต่ตีความผ่านการแสดงที่การส่งสารถูกซุกซ่อนความหมายมากมาย พร้อมกับเทคนิคความงามท่ามกลางสื่อผสมหลายรูปแบบ (Multimedia) ทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ข้อความ เสียง แสง เสื้อผ้า ฯลฯ สำหรับการขยาย “ความจริง” ที่โหดร้ายให้ไม่ผิดความหมาย แต่สื่อสารอย่างเป็นสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)
  • ผู้เขียนนำเสนอสาระสำคัญของละคอนและการสะท้อนความเห็นของผู้ชมผ่านช่วงการนำเสนอตามลำดับเหล่านี้คือ (1) Pre Show (นักแสดงรวมกลุ่มวอร์มหน้าฉากโชว์ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น) (2) Open – เปิดเรื่อง (3) ใครคือคนไทย (4) Circus (ต่อจากคำถาม ใครคือคนไทย เกิดคำถามต่อมาว่าแล้วชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไรก่อนเกิดเหตุ) ... กระทั่ง (19) Feedback บางส่วนของความเห็นจากผู้ชมหลังจบการแสดง และมีความเห็นว่าศิลปะการละคอนและกลุ่มศิลปินเรื่องนี้ ได้ปลดปล่อยสัจจะไว้ในสัญญะอย่างเสรี ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและหน้าที่ต่อสังคมผ่านการแสดงในรูปแบบ devise ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ให้ความสำคัญกับการตีความของผู้ชมมากที่สุดที่สามารถทำได้มีความหมายไม่ต่างจากอิสรภาพที่ศิลปินผู้สร้างงานควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์

 

โปสเตอร์งานจัดฉายภาพยนตร์สารคดี “Behind the mount Documentary” ส่วนหนึ่งของละคอนนิพนธ์ ผลงานการสร้างโดย ธนัญรัตน์ เรืองศรีโชติช่วง
โปสเตอร์งานจัดฉายภาพยนตร์สารคดี “Behind the mount Documentary”
ส่วนหนึ่งของละคอนนิพนธ์ ผลงานการสร้างโดย ธนัญรัตน์ เรืองศรีโชติช่วง

 

เพื่อความสงบสุข

แล้วหันปลายกระบอกปืนมายังเรา
สั่งให้วาดรอยยิ้มบนใบหน้า
ยินดีกับการมาของพวกเขา
ไม่ง่ายดายเหมือนจับพู่กันแต้มตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์
เรามีความรู้สึก
คิดเป็นและแตกต่างกลมกลืนอยู่ในความขัดแย้ง
ปรารถนาที่จะเลือกด้วยมือของเราเอง
เราจะยิ้มให้หัวขโมยได้อย่างไร
นี่คือการปล้นแสงจันทร์ไปจากกลางคืน
โยนเรากลับสู่ยุคมืด
ผลักไสผู้แข็งขืนเป็นพ่อมดแม่มด
เผาทำลายหลักการอยู่ร่วมกัน

 

หนังสือ “จุดตัดบนฟากฟ้า” ผลงานบทกวีนิพนธ์ของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ที่มา : สำนักพิมพ์สมมติ
หนังสือ “จุดตัดบนฟากฟ้า” ผลงานบทกวีนิพนธ์ของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม
ที่มา : สำนักพิมพ์สมมติ

 

บางส่วนจากบทกวี “รอยยิ้ม” ในรวมเล่ม “จุดตัดบนฟากฟ้า” ผลงานของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม[1] คือจุดประกายแรกในการเริ่มสร้างทางละคอน ที่มีเบื้องหลังเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในสังคม จาก “ยุทธการตะนาวศรี” ที่สร้างวีรบุรุษสุดประเสริฐ ถึง “บิลลี่และการถูกอุ้มหาย” จนกลายเป็น “ฆาตกรรมบิลลี่” (บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ) นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทำให้หายตัวไปแบบไร้ร่องรอย เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงที่บ้านเกิด บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถูกทำร้ายและขับไล่จากที่ทำกินเก่า เพื่อเสนอพื้นที่เข้า UNESCO ให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก คือแรงผลักให้นักละคอนสองคนดั้นด้นลงพื้นที่บางกลอยล่างเพื่อตามรอยบิลลี่ และคลี่ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นที่ไม่เป็นธรรม ก่อนนำมาสร้างงานละคอนในรูปแบบ devising performance นำเสนอผ่านการใช้ร่างกายเป็นตัวสื่อสารในประเด็นศึกษา “ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย” ให้เกิดการตระหนักรู้และร่วมสู้ไปด้วยกันในวงกว้างอย่างท้าทาย ด้วยความหมายที่มากกว่าความเป็นละคอนนิพนธ์ (Thesis)

“Behind The Mount (หลังเขา)” 1 ในละคร 20 เรื่อง ของเทศกาลละคอนนิพนธ์ ครั้งที่ 24 Theme “Plays to gather” ของนักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นละคอนเต็มรูปงานสร้างจากการวิจัย (Research) ของ รัชชประภา เสน่ห์สังคม (บี) และ แก้วกัลยา ทัศนวิสุทธิ์ (ขิม) อาจารย์ที่ปรึกษาและกำกับการแสดงโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ศิลปินในพำนักของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงเมื่อวันที่ 5 และ 7 - 8 เมษายน 2566 นอกจากละคอนแล้วยังมีสารคดีเบื้องหลังการทำงานสร้างโดย ธนัญรัตน์ เรืองศรีโชติช่วง ท่ามกลางคำถามที่มีต่อต้นตอของเรื่องในหลายประเด็นที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชนแต่เชิดชูผู้กระทำผิด เจ้าของสิทธิในผืนดินที่อาศัยมานานกว่าร้อยปีกลายเป็นผู้บุกรุก ฯลฯ ล้วนรายละเอียดในวิธีคิดวิธีทำมากมายที่ศึกษาและถ่ายทอดผ่านกระบวนการศิลปศาสตร์ ที่ไม่อาจมองข้ามสัญญะที่ซ่อนอยู่ในทุกองค์ประกอบของทุกฉากได้เลย

 

โปสเตอร์ละคอนนิพนธ์ “Behind the Mount (หลังเขา)” ที่มา: Lakorn FATU Festival
โปสเตอร์ละคอนนิพนธ์ “Behind the Mount (หลังเขา)”
ที่มา: Lakorn FATU Festival

 

ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าถ่ายทอดกระบวนการทำงาน ไม่ต่างจากสองผู้วิจัย รัชชประภา และ แก้วกัลยา ซึ่งลงไปในพื้นที่แล้วได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านบางกลอยล่างอย่างบริสุทธิ์ใจมีไมตรี พร้อมที่จะเปิดรับผู้มาเยือนเสมือนคำของ มหาตมะ คานธี ที่เคยกล่าวไว้ว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” แม้อยู่บนความหวาดหวั่นพรั่นพรึงกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่มีอำนาจดึงความรู้สึกให้ระแวดระวังในทุกความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าต้องการสื่อสารให้โลกได้รับรู้ความจริงที่เร้นอยู่ในความลวง ณ หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินให้ทำกินช่วงตั้งต้นมาตั้งแต่ปี 2539 ประมาณครอบครัวละ 7 ไร่ และสำหรับที่อยู่อาศัย 1 ไร่ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน จนปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แออัด พื้นดินไม่เหมาะกับวิถีดั้งเดิมที่คุ้นชิน ทำให้ถวิลถึงถิ่นเกิดและต้องการคืนกลับไปที่ใจแผ่นดินบางกลอย แต่กลายเป็นการฝืนกฎระเบียบและข้อตกลง จึงยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังจากรุ่นสู่รุ่น ดังบทสรุปที่ร้อยเรียงไว้ในนิทรรศการ ด้านหน้าโรงละคอน Thammasat playhouse ก่อนเข้าชมการแสดง

 

TIMELINE ยุทธการตำนานบางกลอย

ก่อน 2455 “ใจแผ่นดิน” เป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง บางกลอยจนกระทั่ง...
2524 ประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
2553
  • คณะรัฐมนตรีผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก
  • ยุทธการตะนาวศรี นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
ก.ค. 2554 ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณและชาวบ้านฟ้องร้องขออำนาจศาล ให้กลับไปที่ใจแผ่นดินตามเดิม
พ.ค. 2562 DSI แถลงพบกระดูกบิลลี่ในถังน้ำมัน
ต้นปี 2564 เกิดปรากฏการณ์ #saveแก่งกระจาน และ #saveบางกลอย
20 ก.พ. - 5 มี.ค. 2564 เกิดปฏิบัติการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร
26 ก.ค. 2564 UNESCO ประกาศรับรองให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก

แนวทางการสื่อสารของละคอนเป็นการนำเสนอกระบวนการ (process) การทำงานของนักศึกษาผู้วิจัยลงไปในพื้นที่เพื่อศึกษาประเด็นที่ตั้งไว้คือ “ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย” ผู้ชมจะได้เห็นถึงรายละเอียดในการทำงาน จากประสบการณ์ที่ทั้งสองพบเห็น สัมภาษณ์ ก่อนนำมาตีความเป็นการแสดง devising performance ในระหว่างการแสดงตัวละคอนมีการพูดคุยกัน เล่าถึงประเด็นสำคัญ และเหตุการณ์ในเรื่องแบบเหมือนจริง โดยไม่ได้ถูกแต่งเติมขึ้นมา แต่ตีความผ่านการแสดง (ซึ่งการสื่อสารด้วยร่างกายไม่มีบทละคอนเป็นเครื่องมือคอยกำกับเหมือนละคอนพูด ละคอนเพลง ฯลฯ)

 

บางส่วนของนิทรรศการ “Behind the Mount หลังเขา
บางส่วนของนิทรรศการ “Behind the Mount หลังเขา

 

รัชชประภา หนึ่งในสองของผู้วิจัยให้ข้อมูลตามลำดับ “เริ่มที่มาของความคิดคือเราอยากทำเรื่องที่ใช้ร่างกายสื่อสาร ได้เรียน devise แล้วสนใจในกระบวนการของมันค่ะ อยากเรียนรู้ ทดลอง ค้นหาไปกับกระบวนการนี้ให้มากขึ้น เมื่อเลือกแนวทางการแสดงได้แล้วก็ต้องมีประเด็นที่อยากจะสื่อสาร ในแง่ของการเมือง สังคมไทย ตอนแรกยังไม่รู้จะเลือกเรื่องอะไร เราทำลิสต์เรื่องเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเด็นความรุนแรงของรัฐที่กระทำต่อพวกเขาขึ้นมาประมาณหนึ่ง เริ่มเลยเป็นแค่ความสนใจอยากนำเสนอเพราะต้องทำ thesis เท่านั้น จนได้พบกับ พี่น้ำ (อัญชลี อิสมันยี ทายาทนักเคลื่อนไหว นักร้อง วงคีตาญชลี ที่สืบทอดทุกบทบาทในการต่อสู้ภาคประชาชนจากครอบครัว) ได้เล่าถึงชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยให้ฟัง รู้สึกโชคดีที่ได้พบกับพี่น้ำ ทำให้รู้จักกับเรื่องนี้ เราค้นคว้าข้อมูลจากทุกสื่อ สัมภาษณ์พี่น้ำกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมากมาย ทำให้สนใจมากขึ้น แล้วก็ยังไม่เคยเห็นการสื่อสารในประเด็นชาติพันธุ์ที่ทำออกมาเป็นละคอนเต็มรูปแบบ คือเหตุผลหลักที่ทำให้เราต้องลงพื้นที่ เพื่อไปสัมผัสกับตัวตนของคนที่เราจะสื่อสารเรื่องของเขาอย่างละเอียดค่ะ”

“มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้คิดว่าต้องทำละคอนเรื่องนี้คือช่วงลงพื้นที่ คลุกคลีกับชาวบ้านได้เห็นสภาพแวดล้อม ได้ไปกินอยู่รับรู้ตัวตนของเขา ไม่รู้ว่ามันคือความรู้สึกอะไรกันแน่กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คิดว่าต้องทำประเด็นนี้ให้ได้ เพราะสิ่งที่มันยิ่งใหญ่คือความต้องการที่จะกลับบ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน) ทำให้เราอยากสื่อสารประเด็นนี้ เพราะเราเคยเป็นคนเมืองไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก ไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของเขา ไม่เข้าใจว่าการที่รัฐบาลไปช่วยแล้วมอบความเจริญให้ทำไมเขาถึงไม่อยากได้ แต่พอไปศึกษาถึงได้รู้ว่า “ความเจริญ” มันไม่เกี่ยวกันเลยกับเทคโนโลยี แต่คือการใช้ชีวิตของเขาตรงนั้น วิถีกินอยู่อาศัยทำไร่หมุนเวียน การทอผ้า เลยอยากให้ผู้ชมได้รับรู้ประเด็นปัญหา รวมทั้งความรู้สึกของชาวบ้านที่เขาต้องเผชิญ อยากพาผู้ชมไปพบกับบางกลอยในมุมของเราที่ถ่ายทอดผ่านศิลปะการละคอน เพราะการอ่านจากหนังสือหรือรับจากสื่อมากมาย ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านได้เหมือนเราลงพื้นที่”

 

 

“ตอนลงพื้นที่ไม่พบความประทับใจอื่นเลย นอกจากความใจดี ความสดใสของชาวบ้านที่เจอเรื่องหนักขนาดนี้แต่เขายังยิ้มยังหัวเราะ ยังคิดเรื่องที่ทำให้เขามีความสุขได้ เพราะรายละเอียดที่เราได้รับรู้มันมากกว่าเรื่องอุ้มหาย โดนไล่ที่ ฯลฯ ซึ่งให้ความรู้สึกที่ว่า “จะมาเอาอะไรกับเขานักหนา” รู้สึกเหมือนเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนไม่ใช่พลเมืองของประเทศทั้งที่ทุกคนมีบัตรประชาชน ประเด็นงานที่ลิสต์ไว้ว่าอยากทำก่อนลงพื้นที่หายไปเลย แล้วถูกลิสต์ขึ้นมาใหม่ว่ามีเรื่องอะไรที่เราอยากจะสื่อสารบ้าง ซึ่งมีอยู่เยอะมาก ทั้งในส่วนที่แข็งแรงและไม่แข็งแรง ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถดึงประเด็นเหล่านี้มาสื่อสารให้แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ละซีนที่เกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยอะไรอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเราทดลองกับอุปกรณ์ ดึงมาจากบทความ บทกวี ทำงานกับเพลง ลองผิดลองถูก ช่วยกันดูว่าจะให้อะไรกับคนดู คนดูรู้ไหมว่าเราต้องการจะสื่ออะไร ตรงไหนไม่แข็งแรงก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัว”

การออกแบบงานสร้างของ “หลังเขา” นอกจากการแสดงที่เป็นสื่อหลักแล้ว การส่งสารยังถูกซุกซ้อนความหมายมากมายรวมมากับเทคนิคความงามท่ามกลางสื่อผสมหลายรูปแบบ (Multimedia) ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ข้อความ เสียง แสง เสื้อผ้า ฯลฯ เกินกว่าจะมองข้ามได้ เพราะไม่ง่ายกับการขยาย “ความจริง” ที่โหดร้ายออกมาให้ไม่ผิดความหมาย แต่สื่อสารได้รื่นรมย์เหมาะสมกับความเป็นสุนทรียศาสตร์ (aesthetics) ละคอนเนื้อหาหนักจึงกลายเป็นเรื่องสนุกของผู้ชมที่ได้ช่วยกันแปลสัญญะที่ซ้อนอยู่ในงานศิลปะอย่างไม่ซ่อนเร้น แต่สามารถมองเห็นการสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงใจในมิติที่ไม่ซับซ้อน และคนดูจะรู้สึกสนุกมีความสุขกับการตีความตามใจเราไปด้วย ในขณะเดียวกันบางซีน (scene) อาจทำให้เราสงสัยตั้งคำถามต่อตัวเองว่า ฉันควรหัวเราะหรือร้องไห้ดี เพราะความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือการต่อสู้ที่รับรู้แล้วไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

 

 

สัญญะ กับ ศิลปะแห่งการปลดปล่อยความจริง

1. Pre Show นักแสดงรวมกลุ่มวอร์มหน้าฉากโชว์ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น เบื้องหลังเป็นจอฉายวิดีโอเบื้องหลังการลงพื้นที่ของผู้วิจัย สักพักมีผู้จัดการถามนักแสดงว่า “พร้อมหรือยัง?” เป็นการเกริ่นนำก่อนเข้าเรื่องให้คนดูรู้แนวละคร ก่อนเริ่มการแสดงที่แฝงความหมายมากมายจนกลายเป็น มหรสพจากความขมขื่น ชูชื่นใจผู้ชม

 

 

2. Open-เปิดเรื่อง ซีนแรกแทรกแผ่นดิน เป็นการออกแบบท่าเต้นก่อนแล้วเอามารวมกับเพลง นำถังมากลิ้งให้เป็นเหมือนฐานที่จะทำให้กลิ้งกลับไป มีท่าการปีนป่ายถังให้เห็นถึงความพยายามที่จะกลับขึ้นไป add on ลูกเล่นให้ถังอยู่ข้างนอกก่อน เพื่อให้เห็นภาพว่าช่วยกันขนเข้ามาในพื้นที่การแสดง เอามาตั้งตามจุดมาร์กแล้วทำท่าปีนป่าย พยายามตะกายป่ายปีน ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาใหม่วนไป สื่อความหมายว่ามีความต้องการอยากจะกลับบ้าน ข้ามไปที่ใจแผ่นดิน

ในระหว่างที่กำลังพยายามทำสิ่งนั้น (คือการพยายามกลับขึ้นไปแต่ไปไม่ได้) มีเหตุผลเพราะว่า เขาถูกบังคับไม่ให้กลับขึ้นไป พอกลับขึ้นไปก็โดนรวบตัวกลับลงมา เท่ากับว่าเขาถูกควบคุมอยู่ โดนจับจ้องอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอะไรบ้าง เป็นที่มาของภาพลูกตาขนาดใหญ่ ที่ปรากฏแทนสายตาของการจับจ้อง นักแสดงต้องทำท่าเพื่อหลอกว่า ไม่มีพิรุธ เป็นที่มาของท่าลุกลี้ลุกลนเลิ่กลั่กแล้วตะเบ๊ะ แทนคำทักทาย ทำความเคารพ จบลงตรงที่สุดท้ายแล้วก็กลับขึ้นไปไม่ได้อยู่ดี...

 

 

3. ใครคือคนไทย เปิดซีนด้วยคำถาม “เป็นคนไทยรึเปล่า” ตั้งต้นมาจากการศึกษาคำว่า “คนไทย” มันคืออะไรกันแน่ เพราะรัฐบาลบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย แต่เขาเกิดบนผืนแผ่นดินไทย มีหลักฐานว่าอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมานานก่อนที่จะถูกย้ายลงมาอีกด้วย แต่ทำไมบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย เพียงเพราะเขาไม่ได้มีลักษณะวิถีชีวิตเหมือนเราเหรอ? เพราะเขาไม่ได้พูดไทยเหมือนเราหรือ? ความจริงปัจจุบันในประเทศมีคนที่เชื้อชาติไทยแท้น้อยมากไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงเกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมต้องติดกับคำว่า “ไทยแท้” เป็นสาเหตุให้ถูกกล่าวอ้าง เพราะไม่ใช่คนไทยเลยไม่มีสิทธิบนพื้นที่ตรงนี้ พวกเขาเป็นคนป่า เป็นการตั้งคำถามกับผู้ชมว่า คนไทยคืออะไร คำว่าไทยแท้สำคัญมากแค่ไหนกับชีวิตเรา?

มีตัวละครออกมาจากหลังถังพูด key word กระแทกใจคนดู “และที่สำคัญก็คือ รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีบัตรประชาชน” เบื้องหลังคือการ workshop ครูคาเงะสั่งให้นั่งล้อมวงรำลึกภูมิหลัง ถามว่าเป็นคนที่ไหน ลองย้อนไปไกลกว่านั้นหมายถึงพ่อแม่เป็นคนที่ไหน บรรพบุรุษเป็นคนที่ไหน ทุกคนต่างย้อนคิดแล้วได้คำตอบว่า เราเป็นคนไทยแต่เชื้อสายไม่ใช่ไทยแท้ ครูย้อนถามว่า แล้วคนไทยแท้ต้องมีลักษณะแบบไหน คำตอบก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นแค่คนไทย แล้วอะไรที่ไม่ใช่คนไทย? ค่อนข้างตอบยากเพราะมีแค่ลักษณะภายนอก เช่น ผมทอง ตาฟ้า ก็อาจจะเป็นลูกครึ่งก็ได้ เกิดที่ไทยอาจเป็นคนไทยก็ได้ เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลบางอย่าง “มันเวิร์กตรงที่คนดูก็ได้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วคนไทยคืออะไรกันแน่

4. Circus ต่อจากคำถาม ใครคือคนไทย เกิดคำถามต่อมาว่า แล้วชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไรก่อนเกิดเหตุ เป้าหมายของซีนนี้ต้องการสื่อสารถึงความสนุกสุขสดใสของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ก่อนจะถูกไล่ลงมา ผู้วิจัยได้ไอเดียเรื่องการใช้ร่างกายอย่างเชี่ยวชาญจากเด็กตัวเล็กชาวเขาอายุ 5-6 ขวบ น้องอยู่บนเขาไม่เคยเรียนกายกรรมมาแต่ตีลังกาแบบ front walk รูปสะพานโค้ง ที่ยากมากแต่ใช้ร่างกายได้แบบยิ่งใหญ่ เก่งมาก เป็นซีนที่นักแสดงฝึกหนัก บี รัชชประภา แสดงเองในบทนักกายกรรม “เพราะเราคิดว่าถ้าทำกันเล่นๆ จะไม่ถึงคนดู มันต้องอลังการ ดูยิ่งใหญ่ มีห่วง ธง ตีลังกา เพื่อดึงกราฟอารมณ์คนดูให้พุ่งขึ้น”

 

 

5. Duo ความสัมพันธ์ของสองตัวละครหลัก บี-ขิม จากการลงพื้นที่ผู้วิจัยพบน้องสาวชาวกะเหรี่ยง (จันทร์ อายุ 17 ปี) บีเล่าว่า “เราคุยกับเขาแล้วเห็นภาพซ้อนของบิลลี่ น้องเขาไม่ได้รู้จักหรือสนิทกับบิลลี่ แต่อุดมการณ์ของบิลลี่ส่งต่อมาถึงน้อง เรารู้สึกเหมือนน้องเป็นผู้สานต่อสิ่งที่บิลลี่ทำเอาไว้ เลยให้เป็นซีนตัวแทนของสองคน เราเองก็ไม่รู้จักกับบิลลี่แต่รับรู้สัมผัสได้ถึงการต่อสู้แบบไม่ย่อท้อของบิลลี่ในตัวน้อง” เพราะน้องพูดไทยได้เหมือนบิลลี่ แล้วน้องก็ทำหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนที่บิลลี่ทำตอนมีชีวิตอยู่ เช่น ชาวบ้านโดนคดีน้องก็ไปเป็นล่ามให้อยู่เคียงข้างชาวบ้านทุกครั้งที่ต้องสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เป็นซีนสัมพันธ์ระหว่างบิลลี่กับชาวบ้าน ก่อนที่จะถูกอุ้มหายเขาสู้กับพวกอิทธิพล ชาวบ้านเล่า พวกเขาไม่รู้ว่าบิลลี่ทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร เขาไม่เข้าใจไม่ได้ช่วยด้วย พอบิลลี่หายไปถึงได้ realise ว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดเป็นแผลใจว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้ร่วมกับบิลลี่ เหมือนว่าการตายของบิลลี่ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เขาต่อสู้มามันจบไปด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าทำให้ชาวบ้านได้รู้ รับพันธกิจที่บิลลี่เคยสู้มาสานต่อ เป็นการส่งต่อเจตนารมณ์ อุดมการณ์ การส่งต่อพันธกิจ ท่าที่แสดงจึงเป็นสัญญะของความสัมพันธ์ระหว่างบิลลี่กับน้องจันทร์

“ตอนจบบีห้อยหัวตายอยู่บนห่วง เท่ากับเป็นวิญญาณ ขิมเป็นตัวน้องจันทร์มาสื่อสารกับบี บีลงจากห่วงเดินไปหากลุ่มคนที่รออยู่ 4 มุมของเวที ที่เป็นเหมือนบรรพบุรุษแล้วเดินออกไปพร้อมกัน เหลือเพียงขิมบนเวทีคนเดียว ให้ภาพของบรรพบุรุษที่เคยต่อสู้มา แล้วเขาแวะเวียนมาหา ยังอยู่ข้างๆ คอยเป็นกำลังใจให้เป็นภาพความสัมพันธ์ของนักแสดง แทนความสามัคคีของชาวบ้าน” ภาพการแสดงของสองผู้วิจัยจึงไม่ใช่ภาพที่เชื่อมโยงเฉพาะชาวบ้าน แต่เชื่อมร้อยได้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์จริงในปัจจุบันด้วย ระหว่างที่เราเรียกร้องประชาธิปไตย มีใครกี่คนที่ต้องล้มตายไปแล้ว และขณะนี้เราก็ยังต้องสู้กันต่อไป

 

 

6. ไล่ที่ ประเด็น ยุทธการตะนาวศรี (นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เผายุ้งฉางบ้านเรือนชาวบ้านเพื่อไล่จากบางกลอยบน ให้ลงมาอยู่บางกลอยล่าง) คือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก แรกเริ่มปฏิบัติเป็นการเจรจายื่นเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่เมื่อลงไปแล้วกลับไม่มีรัฐสวัสดิการ ชาวบ้านที่ไม่อยากย้ายจึงไม่ยอมลง นำไปสู่เหตุการณ์การเผาบ้านเพื่อยึดพื้นที่โดยไม่มีการเจรจาอีกต่อไป

 

 

บทกวี “รอยยิ้ม” ในเล่ม “จุดตัดบนฟากฟ้า” จุดประกายความคิด ทำหน้าที่มิตรร่วมสู้ ผลงานของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม (Long List รางวัลซีไรต์ S.E.A. Write ประจำปี 2562[2])

 

“เพื่อความสงบสุข แล้วหันปลายกระบอกปืนมายังเรา สั่งให้วาดรอยยิ้มบนใบหน้า ยินดีกับการมาของพวกเขา ไม่ง่ายดายเหมือนจับพู่กัน แต้มตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ เรามีความรู้สึก คิดเป็นและแตกต่างกลมกลืนอยู่ในความขัดแย้ง ปรารถนาที่จะเลือกด้วยมือของเราเอง เราจะยิ้มให้หัวขโมยได้อย่างไร นี่คือการปล้นแสงจันทร์ไปจากกลางคืน โยนเรากลับสู่ยุคมืด ผลักไสผู้แข็งขืนเป็นพ่อมดแม่มด เผาทำลายหลักการอยู่ร่วมกัน”

บางส่วนจาก “รอยยิ้ม”

 

บทกวีถูกตีความออกมาเป็นภาพ movement เล่นกับอุปกรณ์ แคร่ ที่ใช้เป็นเสลี่ยงในอีกฉาก นำมาแทนแท่นสังเวย มีคนตายอยู่บนนั้น เจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ขับไล่ชาวบ้าน ครูคาเงะให้โจทย์ทำงานกับแคร่ในฐานะสัญญะของอำนาจ ที่มากดทับชาวบ้านในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกความหมายของแคร่จึงเป็นเครื่องมือซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ขับไล่ชาวบ้าน มีทั้งปืนและอาวุธยุทโธปกรณ์ครบเหมือนรบกับศัตรู เป็นตัวแทนความรุนแรงที่เกิดขึ้น อุปกรณ์แคร่แม้ไม่ใช่สิ่งที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกกลัว แต่ว่าในซีนนี้ให้ความรู้สึกนั้นได้ เกิดความหมายตรงภาพซ้อนทับ ขณะชาวบ้านกำลังเผชิญเหตุการณ์เหมือนอยู่กลางสนามรบ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังล้อเลียนตลกสนุกกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

 

7. หนังสั้น propaganda จากภาครัฐ มีหนังสั้นเล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ในฐานะตัวแทนอำนาจรัฐแทรกเข้ามา เพราะต้องการสื่อถึงความหลอกลวงและความรุนแรงของภาครัฐ จากประเด็นนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเป็นคนตลบตะแลง โกหก และจากข้อมูลข่าวเก่า สื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม จึงสรรเสริญตัวแทนอำนาจรัฐเป็นวีรบุรุษสุดประเสริฐ (แม้ว่าก่อนหน้านี้คนพูดจะเคยถูกตัวแทนรัฐทำร้ายสารพัด ซีนนี้ต้องการสื่อถึงอำนาจกดทับที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้น) เพราะช่วยปราบพวกค้าอาวุธปกป้องชาวเมือง เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย ทั้งที่ความจริงคือการเผาบ้านไล่ชาวเขาลงมา สื่อถูกนำเสนอออกมาแบบตรงข้ามกับความเป็นจริงทั้งหมด ตัวแทนรัฐให้ข่าวว่า เหตุผลที่ต้องไล่คนพวกนี้ลงไปเพราะเขาไม่ใช่คนไทย เป็นพวกชายขอบ ค้าอาวุธ[3] แต่รัฐบาลเมตตาพาพวกเขาลงมา ช่วยเหลือให้ที่ทำกิน ให้การศึกษา เพื่อต้องการยึดพื้นที่บ้านเกิดของเขา ภาพทั้งหมดจึงสะท้อนความหลอกลวงของรัฐบาลด้วย

ภาพการแสดงถูกออกแบบให้เป็นคนใส่สูทออกมายิงปืน มีนักข่าวมารุมถ่ายรูป ท่ามกลางแสงแฟลชสาดประกายกล้า เขาทำหน้าร้องไห้เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น (การยิง การฆ่า) เมื่อนักข่าวกลับไป (ไมค์ออกไป ทิ้งทิชชูเช็ดน้ำตา) แล้วยิงต่อด้วยความสนุกสนาน คือความจริงที่เขากระทำต่อชาวบ้าน วิดีโอถูกถ่ายทำเป็นคลิปสั้นๆ ประมาณ 1 นาที เหมือนจำลองหนังสารคดีเสียดสีความจริง “อยากปรับอารมณ์ผู้ชมบ้างเลยลองนำเสนอ devising performance ในแง่ที่ไม่ใช่ภาพเกิดขึ้นบนละครเวทีบ้าง เพราะ devise ไม่ใช่ต้องทำอะไรแปลกๆ บนเวทีโดยใช้ร่างกายเสมอไป แต่คือกระบวนการสร้างงาน”

 

 

8. ความจริงในความลวง ออกแบบภาพสวย silhouette เล่นกับเงา เข้ากันดีกับไอเดียที่ผู้คนชื่นชมวีรบุรุษแห่งแก่งกระจาน ทำให้นึกถึงสุภาษิตไทย “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก” เบื้องหลังกระทำความรุนแรง ข้างหน้าเขาเป็นวีรบุรุษ เป็นแมวเก้าชีวิตฆ่าไม่ตาย ถึงแม้ว่ามีมารผจญเอาหลักฐานมาใส่ร้ายแต่คุณท่านก็แคล้วคลาด แม้มีหลักฐานยืนยันความจริงแต่คนชั่วยังลอยนวล เป็นที่มาของภาพการต่อสู้ด้วยพละกำลัง หลังต่อสู้มีซอมบี้ออกมายิงปืน เห็นความเชื่อมโยงกับคลิปวิดีโอ (ใส่สูทถือปืนเหมือนคนในคลิป) แต่ปรากฏออกมาเป็นคนจริง ทำให้เห็นมุมมองจากคนหลายกลุ่มที่มองชาวบ้าน ซอมบี้มองคนชนเผ่าว่าแปลกประหลาด ยิงปืนกราดชาวบ้านตายเกลื่อน ทำให้เห็นอำนาจเถื่อนที่ยากจะขัดขืนหรือต่อสู้ได้

ภาพการแสดง present ความจริงได้ชัดเจน ขณะที่ลิ่วล้อกำลังให้สัมภาษณ์อวยวีรบุรุษ มีนักข่าวส่งคำถามว่า “การหายตัวไปของบิลลี่คุณมีส่วนเกี่ยวข้องจริงไหม?” เพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาตอบปัดถามว่ารู้เรื่องนี้ได้อย่างไร นักข่าวสวน “รู้สิคะเพราะหนูมาจากบางกลอย” (แสดงให้รู้ว่าเป็นนักข่าวในพื้นที่ รู้ลึกในเหตุการณ์จริง ไม่ใช่นักข่าวนอกพื้นที่ธรรมดา) สิ้นคำ ก็ถูกวีรบุรุษสั่งรวบตัวออกไป เพื่อให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลของฝ่ายรัฐบาล ชาวบ้านต้องยอมก้มหัวพ่ายแพ้ต่ออิทธิพลความตลบตะแลงในตัวตนของคนที่เป็นตัวแทนรัฐบาล

ทำให้มุมมองของคนที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อ มองชาวบ้านเป็นผู้ร้าย เพราะข่าวเจาะมามุมเดียว อาจเป็นมุมมองของคนที่ไม่รู้เรื่องบางกลอยเลย แต่มองว่าคนชนเผ่าเป็นคนแปลกประหลาด เพราะไม่ได้มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบเดียวกับเรา สอดรับสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาล ที่ต้องการจะให้คนทั่วไปมองชาวบ้านแล้วคิดว่าพวกเขาเป็นคนแบบนั้น (เพราะจากการระดมออกสื่อว่าเป็นพวกชายขอบค้าอาวุธเถื่อน)

“จิ๊กโก๋แฟนคลับของวีรบุรุษคนของรัฐ เขามองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก ถ่อย จากคลิปที่สัมภาษณ์ในสื่อโซเชียลฯ มีคนให้ความเห็นเยินยอ แสดงถึงมุมมองของผู้คนที่มองชาวบ้านอย่างเข้าใจผิด” รัชชประภา ยืนยันความจริงที่โหดร้าย

 

 

9. บิลลี่ถูกอุ้มหาย ครูคาเงะให้โจทย์ รู้จักเพลงนี้ไหม Billie Jean[4] สมาชิกกลุ่มล้วนเกิดไม่ทันยุคนั้น มันมีท่อนฮุกว่า “Billie Jean is not my lover” ที่ให้ความรู้สึกตลกร้าย เพราะบิลลี่ไม่ใช่คนรัก แม้จะเป็นความสัมพันธ์คนละรูปแบบกับเพลง แต่พ้องกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง บิลลี่กับวีรบุรุษ จึงออกมาเป็นซีนล้อคอนเสิร์ตของ Michael Jackson “แต่เมื่อไม่อยากให้คนดูรู้สึกว่าแค่ไปก๊อบปี้ท่าเขามา เลยศึกษาวิธีการเต้นของไมเคิล แล้วนำมาออกแบบท่า เพิ่มเติมเหตุการณ์ของบิลลี่เข้าไปด้วย ขณะที่เรารู้สึกว่ารุนแรงมากๆ แต่ก็ไม่อยากสื่อด้วยภาพที่รุนแรง เลยตอบโจทย์ด้วยคอนเสิร์ตที่สนุกสนาน เติมหน้ากากบิลลี่เข้าไปให้กับแดนเซอร์ด้วย หยิบถังขึ้นมาไปครอบวีรบุรุษดิ้นรนต่อสู้กัน ต้องการสื่อว่าฆ่าอย่างไรก็ไม่ตายเหมือนเป็นแมวเก้าชีวิต”

ซีนนี้คนดูอาจรู้สึกโยงไปถึงศพบิลลี่ในถังถ่วงน้ำ แต่ภาพจำลองไม่ใช่ การใช้หน้ากากบิลลี่สำหรับหมู่มวลที่แสดงออกต่อวีรบุรุษ เหมือนอยากแก้แค้น จึงไม่ได้เป็นตัวแทนของบิลลี่คนเดียว เพราะผู้สร้างงานต้องการสื่อถึงชาวบ้านหรือทุกคนที่กำลังต่อสู้เรื่องนี้ด้วย แต่สุดท้ายก็แพ้อยู่ดี ทุกคนถอดหน้ากากใส่ถัง แทนบอกความจริงว่าบิลลี่ถูกเผาในถัง (แต่ไม่ได้แสดงภาพเผา แค่นี้ก็เข้าใจ สะเทือนใจ) การกระทำกับบิลลี่คือวิธีเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อบอกว่าถ้าคิดต่อต้านจะได้รับผลแบบนี้ ตอนแรกที่บิลลี่ถูกเก็บก็ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นคนทำ แต่บิลลี่เคยบอกกับภรรยาไว้ก่อนหายตัวไปว่า “ถ้าเขาหายไปหรือมีเหตุร้ายอะไรก็ตาม ไม่ต้องตามหาเพราะเขาตายแล้วแน่นอน ให้รู้เลยว่าเป็นฝีมือของ ชัยวัฒน์ วีรบุรุษจากยุทธการตะนาวศรีแน่นอน” และจากการสืบข้อมูลก็เป็นที่แน่ชัดว่าคนสุดท้ายที่อยู่กับบิลลี่คือเขา แม้จะมีหลักฐานว่าบิลลี่ถูกฆาตกรรมแน่นอน ก็ไม่ชัดว่าใครฆ่า

 

 

10. Talk 1 เรื่องที่พูดไม่ได้ ตอบโจทย์การทำงานของปี 4 โดยมีรุ่นน้องถาม พูดคุยกันข้ามม่านผ่านปีกเวทีสองฝั่งซ้ายขวา ให้ความรู้สึกเหมือนจริงไม่ใช่ละคร บทสนทนาจะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์หลังลงพื้นที่ “เรื่องนี้พูดไม่ได้ไม่ใช่เหรอ” คือคำถามที่เป็นบทสนทนาในซีนนี้ ซึ่งไม่ได้ถูกแต่งขึ้นมา แต่เกิดจากเหตุการณ์จริงที่สมาชิกกลุ่มได้กลั่นกรองกันว่ามันควรใส่หรือไม่ เพื่อให้เห็นถึงการบิดเบือนบางอย่างอยู่ เพียง present ให้เห็นความจริงกับสิ่งที่ขัดแย้ง ออกมาเป็นซีนตลกที่ไม่ใช่มุกตลกหรือเล่นให้ตลก แต่เป็นการนำความรู้สึกถ่ายทอดออกมาเป็นการเคลื่อนไหวที่สื่อสารด้วยร่างกาย (movement) เพื่อเชื่อมโยงซีนต่อไปคือ ล้างสมอง (ห้ามพูด ห้ามเล่า ห้าม ฯลฯ)

ผู้ชมเห็นการเปลี่ยนชุด เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานเหมือนกำลังซ้อมตามปกติทั่วไป แรกนักแสดงใส่ชุดจัดเต็ม แต่ตอนจบใส่ชุดกีฬาที่ได้รับบริจาคหลากสีสัน เพื่อสื่อความหมายเชื่อมโยงกับความจริงที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเคยมีเสื้อผ้าที่ทอใส่เอง ในพื้นที่มีโรงทอผ้าของหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันต้องใส่เสื้อผ้าบริจาค แสดงถึงการเอาเปรียบพยายามลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน ทำให้ไม่มีเสื้อผ้าที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า ไม่ต่างจากการถูกไล่ที่ ซึ่งมีจุดประสงค์แท้จริงคือสลายอัตลักษณ์อยู่เบื้องหลัง เป็นข้อสองรองจากการกำจัดเพื่อปัดให้ออกไปจากพื้นที่ อุทยานแก่งกระจาน

ผู้วิจัยออกแบบให้ในตอนต้นของเรื่องนักแสดงใส่เสื้อผ้าที่ถูกออกแบบโดยมีต้นแบบมาจากชุดกะเหรี่ยง หลังจากนั้นชุดการแสดงเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกถอดออกไปบางส่วนจนเป็นชุดธรรมดา ในช่วงกลางของเรื่องจะเห็นครึ่งหนึ่งใส่ชุดที่ออกแบบเป็นชนเผ่า และอีกครึ่งหนึ่งใส่ชุดธรรมดา จนในตอนท้ายของเรื่องนักแสดงจะใส่ชุดธรรมดาทั้งตัว ผู้วิจัยได้ไอเดียมาจากการที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยก่อนจะถูกขับไล่ลงมา พวกเขามีชุดเสื้อผ้าชนเผ่ากะเหรี่ยงใส่ แต่ในปัจจุบันพวกเขากลับต้องใส่เสื้อผ้าธรรมดาที่ได้มาจากการรับบริจาค ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีโรงทอผ้าที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาล (โครงการปิดทองหลังพระ) ในส่วนนี้สะท้อนถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กับวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย ตัวตนที่ถูกบังคับกลืนกลาย ให้ลืมความหมายของคนชนเผ่าไปสิ้น

 

 

11. ล้างสมอง ผู้วิจัยลุยพื้นที่มีน้องจันทร์นำไป โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่นี่จะมีเพลงประจำโรงเรียนชื่อ “เราคือคนไทย”[5] มีเนื้อร้องว่า “เราคือคนไทยไม่ใช่คนป่า เราคือคนไทย มิใช่คนป่า เราดูด้อยค่า เพราะไม่ได้เล่าเรียน เหมือนคนหลงทางในยามค่ำคืน จิตใจชื่นฉ่ำเมื่อได้เห็นแสงเทียน สมเด็จย่าทรงให้แสงแห่งความรู้ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเหมือนอรุณฉาย โรงเรียน ตชด. บ่มเพาะเด็กไทย ก่อเกิดประกายสว่างกว่าแสงเทียน เมื่อพระเสด็จสู่ยังชั้นฟ้า เราหลั่งน้ำตาด้วยแสนอาลัย โอ้ต่อแต่นี้จะเป็นฉันใด หวั่นหวานดวงใจ เหมือนลมพัดดับเทียน สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงสืบสาน ทรงบันดาลโครงการเกิดคุณหลากหลาย ความหวังฉายดังอาทิตย์อุทัย พวกเราน้อมใจถวายรักและภักดี”

เป็นซีนที่เชื่อมโยงกับปัญหาในสังคมไทยไม่ต่างจากที่ทำกับโรงเรียนทั่วไป เนื้อเพลงปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนไทยแต่เป็นคนป่า แต่ได้รับการให้ค่าจากสมเด็จย่าท่านทรงเมตตา เด็กต้องร้องทุกเช้าก่อนเข้าเรียน คือเครื่องมือสื่อโฆษณา ที่รัฐใช้ล้างสมองประชาชน ไม่ต่างจากข่าวราชสำนัก ข่าวของรัฐ ข่าวชัยวัฒน์วีรบุรุษสุดเท่ก็อยู่ในทีวี ที่คอยควบคุมการรับรู้ในสิ่งที่รัฐอยากให้ดูเท่านั้น (propaganda โฆษณาชวนเชื่อ) ก่อนนำไปสู่การล้างสมองด้วยการสะกดจิตถ้าควบคุมไม่ได้ “ในแต่ละซีนควรจะต้องมีเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นบ้างไม่ใช่เรียบ เลยดีไซน์ให้คนที่ถูกควบคุมรู้ตัวแล้ว แต่ยอมทำตามไปก่อนเพื่อเอาตัวรอด” เป็นมิติทางความคิดที่ตกผลึกตามขั้นตอนก่อนสรุปซีน

 

 

12. คลิปสัมภาษณ์ จอกาบู้ จากเหตุการณ์ชาวบ้านพยายามจะกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน (รูปขึ้นจอช่วงสัมภาษณ์) เพราะเขาปลูกอะไรไม่ได้ อากาศไม่ดีอยู่ลำบาก เขาต้องการกลับบ้านเกิด ทางการถือว่าฝ่าฝืน จอกาบู้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่โดนคดโดนจับ ชาวบ้านโดนคดีนี้ไม่น้อยเพราะพยายามกลับกันหลายครอบครัว บริเวณใจแผ่นดินจึงเป็นพื้นที่ต้องคดีไปด้วย ไม่มีใครสามารถขึ้นไปได้เลย ในคลิปสัมภาษณ์ชาวบ้านเป็นการนำเสนอกระบวนการทำงานของผู้วิจัย เพื่อให้คนดูได้สัมผัสแววตาน้ำเสียงที่เป็นตัวตนของชาวบ้าน พวกเขาพูดถึงเหตุผลของการอยากกลับขึ้นไป “มีความน่าสนใจหลายอย่างเกิดขึ้น น้องจันทร์กับจอกาบู้อยู่ในเหตุการณ์ขณะสัมภาษณ์ แต่จอกาบู้พูดไทยไม่ได้ น้องจันทร์พูดคล่องจะคอยเป็นล่ามให้ เราถามว่าชอบไหมที่นี่ จอกาบู้จะสวนขึ้นมาเลยว่าไม่ชอบที่นี่เลย เราเห็นความคับข้องในใจเขาเห็นความเศร้าของจอกาบู้ในคลิปนั้น” คุยกันยังไม่ทันจบ น้องเหลือบเห็นเจ้าหน้าที่ แค่นี้ก่อนนะ…

 

 

13. แพ้อำนาจ “เรารู้สึกว่าเขาสู้แต่ไม่สามารถจะชนะได้เลย ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม เพราะเขาเป็นเพียงชาวบ้านที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย” ตัวละครเล่าเรื่องในซีนนี้ด้วยการวิ่ง present ให้เห็นถึงเส้นทางที่ร่วมกันต่อสู้ที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มไล่ที่จนถึงปัจจุบัน ท่าเป็นการวิ่งถอยหลังสลับกับพุ่งไปข้างหน้า มีโกงกันด้วยการขัดขา คนที่เป็นตัวแทนชาวบ้านไม่ได้โกง แต่พยายามด้วยตัวเองที่จะผ่านไปได้ สุดท้ายผู้มีอำนาจใหญ่หลวงนั่งเสลี่ยงถือร่มผ่านมาโปรด แล้วก็ผ่านไป… พร้อมกับภาพของโครงการที่ไม่มีชื่อซ้อนขึ้นมาเต็มจอ ผู้ชมพอจะมองเห็นตัวเลขงบประมาณมหาศาลซ้อนทับทุกปี โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย…แต่ขยายความตามมาด้วยภาพทั้ง 4 ที่ชัดเจน

13.1 ภาพอุทยานแก่งกระจาน ที่ชาวบ้านต่อสู้เพื่อเอาพื้นที่คืนอย่างหนักหน่วง แต่สุดท้ายก็ถูกยึดที่ไป (เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บางกลอยบน จุดที่เรียก “ใจแผ่นดิน”)

13.2 ภาพเขื่อนรัชชประภา (มีตำนานการต่อสู้ของ สืบ นาคะเสถียร[6] หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2529) “เป็นเรื่องของการสร้างเขื่อนที่เราไม่รู้ว่าเบื้องลึก เบื้องหลังของการสร้างเขื่อนมันคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่คือมันสร้างผลเสียมากมายให้กับพื้นที่ ซึ่งมันมีสัตว์ป่าสูญพันธุ์ พืชพันธุ์ตายหมด” แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่รัฐครอบครองยิ่งใหญ่มาก ชนะทุกสิ่ง ต้านไม่ได้เลย ไม่รู้จะชนะได้อย่างไร แต่ทำไมถึงยังมีการสร้างเขื่อนชลประทาน หรือมันเป็นเพราะว่ามีงบให้ผลาญมหาศาลมาก ไม่ต่างอะไรกับโครงการต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่องาบงบด้วยพฤติกรรม “กินตามน้ำ” ที่กลายเป็นความชอบธรรมตามธรรมเนียม (ล้างผลาญ) ของข้าราชการ

13.3 ภาพ อนันตาริเวอร์ฮิลส์ รีสอร์ท บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน

13.4 โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำพาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี)[7] บอกปัญหาในอดีต จนถึงเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือ โครงการนี้เหมือนกันกับกรณีบางกลอย เพราะเขาจะเข้าไปสร้างอ่างเก็บน้ำนี้ในพื้นที่กะเหรี่ยงธุรกรรม ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยอยู่ 70 ครอบครัว ถ้าโครงการนี้ผ่าน หมู่บ้านจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ น้ำจะท่วมทั้งหมด ชาวบ้านจะไม่มีที่อยู่ มันคือการไล่ยึดพื้นที่ไม่ต่างจากบางกลอย และกำลังจะยื่นเสนอให้เป็นมรดกโลก อยู่ระหว่างดำเนินการ แสดงถึงการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเอาเปรียบเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม (อาจจะไม่ใช่แค่อำนาจรัฐ แต่คืออำนาจที่มาเอาเปรียบ) ถ้ารัฐทำสำเร็จแสดงว่าคนที่สู้อยู่แพ้กับอำนาจ ซีนนี้มีคนดูร้องไห้ สะเทือนใจ เพราะบางคนไม่รู้ว่าที่เคยไปเที่ยวเขื่อนหรืออุทยานแก่งกระจาน มีเบื้องหลังที่หดหู่แบบนี้อยู่นานแล้ว

 

 

14. สู้ไม่ถอย ทุกคนออกมาวิ่งด้วยกันทั้งหมดเพื่อให้เห็นการรวมพลังต่อสู้ ข้างหลังจะเป็นม็อบต่างๆ ที่พยายามเรียกร้อง ปิดซีนขณะกำลังวิ่งอยู่ดับไฟไป เพื่อให้คนดูเห็นภาพว่า ณ ขณะนี้เขาก็กำลังสู้กันอยู่ แม้ท่ามกลางความมืดมน มองไม่เห็นจุดจบเพราะเรื่องราวยังไม่จบ นอกจากเห็นถึงอำนาจแล้ว เรายังเห็นถึงความพยายามไม่สิ้นสุดของคนที่ต่อสู้ แม้แพ้แล้วแพ้อีกกี่รอบเขาก็ยังสู้ต่อไป

15. “โครงการปิดทองหลังพระ” มีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ “เราได้ประเด็นนี้จากการลงพื้นที่ ทำให้เราเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีอะไรเลยจริงๆ มีแค่ป้ายกับโครงสร้างคล้ายบ้านหรือเป็นสำนักงาน ก่อปูนทาสี ไม่มีคนไม่มีของ นโยบายของโครงการทำเรื่องเกษตรกรรม ช่วยเรื่องน้ำแล้งในหลายจังหวัด แต่ที่เพชรบุรีไม่มีคนทำงาน ไม่มีร่องรอยหลงเหลือให้เห็นว่าโครงการนี้คืออะไร เราได้คุยกับชาวบ้านก่อนคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่มาพรรณนาความดีของโครงการให้ฟังว่าดีอย่างไร แต่ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่ามันดีอย่างไร จุดเริ่มต้นควรเป็นเรื่องของการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราจะเข้ามาช่วยอะไร แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ได้เข้าใจ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเขาชมว่าโครงการฯ ดี ก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าดีเพราะอะไร เราถามว่าโครงการฯ เหมาะกับพื้นที่ตรงนี้ไหม พี่เขาถามกลับมาว่า ‘จะให้พี่ตอบในฐานะชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ล่ะ’ เราบอกว่าขอทั้งสองอย่างเลย พี่เงียบแล้วตอบว่า ‘พี่ว่าก็ดี’ มันมีคีย์อยู่ที่คำถาม-คำตอบ แสดงว่าในตัวพี่เขาเองก็มีอยู่สองมุม”

 

 

“เราคิดว่ามันเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่ของ โครงการปิดทองหลังพระ ในประเทศไทย ที่ใช้งบเยอะมาก แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านเลย เจ้าหน้าที่เล่าว่ามีการเอาเป็ดมาให้เลี้ยงแต่เป็ดก็ไหลไปกับน้ำ ทำให้เห็นแล้วว่าโครงการนี้ไม่ตั้งใจที่จะช่วยให้ชาวบ้านเป็นอยู่ดีขึ้นจริงๆ เราคิดว่าควรมีการศึกษาพื้นที่ด้วยว่าเหมาะกับการทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ การที่เป็ดลอยไปแสดงว่าไม่เหมาะกับที่นี่ โครงการฯ ไม่ตอบโจทย์กับพื้นที่ กับวิถีชีวิตของชาวบ้านเลย แล้วเขาก็ไม่ได้แคร์ว่ามันตอบโจทย์ไหม แค่ได้ทำแล้วก็ปล่อยเลยกลายเป็นโครงการร้าง เราไม่สามารถรู้ผลดำเนินการจริงๆ แต่เราเห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ นับแต่มีโครงการปิดทองหลังพระเข้ามาชาวบ้านเป็นอย่างไร”

ผู้วิจัยนำข้อมูลมาสร้างสรรค์โดยแยกประเด็นที่ต้องการสื่อ ก่อนนำมาเรียงเป็นเรื่องราว ครูคาเงะให้คำปรึกษาไกด์ให้เริ่มต้นด้วยการโยนเครื่องมือ ทำท่าทาง (gesture) จำลองให้เห็นเพื่อสื่อในสิ่งที่โครงการมี เช่น การทอผ้า การเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ จับปลา ปลูกข้าว รวมท่า รับ-ส่ง เพิ่มเข้ามา แล้วยึดโครงนี้เป็นหลักไปออกแบบท่าสื่อวิถีชีวิต พร้อมเพลงพระราชนิพนธ์ ซีนนี้จึงจบด้วยท่านอนตาย การออกแบบทุกท่าทางจะไม่เป็นการสื่อสารโดยตรง แต่สร้างสรรค์ใหม่ด้วยการค้นหาก่อนออกแบบท่าเหล่านี้ เล่นกับดนตรี เครื่องมือ เสียง การส่งแรงในแต่ละท่า ก่อนเลือกออกมาว่าภาพไหนชัดเจน แข็งแรง และใช้เพลงตรงชื่อคือ “ผู้ปิดทองหลังพระ”[8]

 

 

16. Talk 2 เป็นการคุยกันถึงปัจจุบันกับอนาคตที่เกิดขึ้นของบางกลอย เหตุการณ์ปัจจุบันจะมีเสียงน้องๆ ถาม ตอนนี้ชาวบ้านอยู่อย่างไร เป็นอย่างไรบ้าง และบอกข่าวว่ามีการจัดงาน “จะขอเป็นนกพิราบขาว” (ซึ่งจัดไปแล้วที่ หอศิลป์กรุงเทพ BACC) เป็นงานครบรอบ 9 ปีที่บิลลี่ถูกอุ้มหายไป และ 24 เมษายน 2566[9] เป็นวันที่แม่กับเมียของบิลลี่ขึ้นให้การในศาลเรื่องฆาตกรรมบิลลี่ เป็นกระบวนการที่ผู้วิจัยติดตามมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องค้นคว้าเสร็จงานแล้วจบ “เราให้ความหมายในแง่ที่ว่า งานละครเราไม่มีจุดจบ ขนานไปกับสถานการณ์ของบางกลอย เป็นเส้นเลือดเดียวกันกับพวกเรา” จบลงที่ key word ถามว่า ไปไหมงานนี้ เราไปกัน

 

 

17. เล่นกับถัง พลังแห่งความหมาย เป็นซีนที่ต้องการพูดตัวแทนอำนาจรัฐ และต้องการใช้ถังของสปอนเซอร์ให้สร้างสรรค์ที่สุด ครูคาเงะให้เวิร์กช็อปกับถัง ทำความรู้จักกับถัง รูปทรง ลักษณะ กลิ่น ร่างกายสัมผัสแล้วให้ความรู้สึกอย่างไร ให้นักแสดงยืนบนถัง กลิ้งตัวบนถัง ให้คิดดูว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้างเพื่อนำไปสู่ท่าทางต่างๆ ภาพออกมาทำให้เห็นถึงการกระทำความรุนแรง ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยที่ไม่มีการทุบ แทง ยิง ผู้วิจัยเห็นในเวย์เสียงของคนนอก “เราเห็น hashtag เซฟบางกลอย กับ เซฟแก่งกระจานขึ้นมาจากการ workshop ตอนกลิ้งบนถังห้าใบมันทรงตัวลำบากมาก ให้ภาพที่เห็นถึงความยากลำบากในสองมุมมอง ทั้งชาวบ้านและคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องราวนี้ที่กำลังต่อสู้กัน เห็นความสบาย ความเมินเฉย ยิ่งย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อมากขึ้น” ขิมยืนยัน

 

 

“การทำ devise ยากมากหากตั้งต้นจะทำสิ่งไหน แล้วไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องการทั้งหมดได้ตลอด การพบเวย์อื่นในระหว่างทางที่คิด ทำ เกิดขึ้นได้เสมอ ในซีนจะเห็นฉากทัศน์จำลองสนามการต่อสู้ในสื่อ social media ที่แบ่งเสียงออกเป็นสองฝ่าย ชาวบ้านสู้กับชาวบ้าน ภาพที่เกิดบนเวทีจะเห็นสองฝั่งดันถังกันไปมาแล้วมีคนมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ภาพการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีคนมาช่วยเพิ่มเสริมกองกำลังของแต่ละฝั่ง เหมือนคนในทวิตเตอร์ที่เลือกข้างสู้” ขิม แชร์ประสบการณ์ทรงตัวบนถังส่งพลังความหมายให้เห็นการแบ่งฝ่าย คนที่กำลังดันถังจะข้ามฝั่งอยู่ไปมา ให้ภาพการย้ายฝั่งชัดเจน present คนเราคล้อยตามกระแส แม้ไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือเท็จ แต่ยอมถูกชักจูงง่าย บางครั้งคล้าย “ไม้หลักปักเลน”

จบลงตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งศาลตรงกลางมี 4 มุมเสา ทุกคนช่วยกันก่อขึ้นมา บี ผู้วิจัย แสดงเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่เข้าไปช่วยให้ข้อเสนอกับชาวบ้าน ขิม อีกหนึ่งผู้วิจัย แสดงเป็นชาวบ้านส่งสาร “เราช่วยกันทำข้อตกลงร่วมกันนะ เราอยู่ด้วยกันได้” สุดท้ายแล้วถูกหักหลัง บีผลักขิมลงไป แล้วยืนเด่นอยู่คนเดียวบนอนุสาวรีย์นั้น ส่วนอีก 4 คน ที่เสา เห็นเหตุการณ์นั้นแต่หันหน้าหนี เป็นภาพสะท้อน “ไทยเฉย” ได้อย่างสะเทือนใจนัก “เหมือนสิ่งที่รัฐทำกับชาวบ้าน ไม่ต่างอะไรกับบุคคลทั่วไปที่เคยช่วยชาวบ้าน แต่พอมันไม่ใช่เรื่องของเราก็เหมือนคำที่ว่า คนไทยลืมง่าย พอมีเรื่องบูมใหญ่โตแต่ไม่นานก็หายไป คนอาจลืมไปแล้วว่าตัวเองเคยทวีตไว้ว่าอย่างไร เคยสนใจก็ไม่ได้สนใจอีกแล้ว คน 4 คน ใน 4 มุม สะท้อนถึงทุกคนได้เลย สามารถใส่อะไรก็ได้ในการตีความของเราแต่ละคน” บีกล่าวปิดท้ายฉากสำคัญ

 

 

18. เทียนชัย สุดท้ายเป็นเสียงชาวบ้านจุดเทียนชัย ระบุถึงทอล์กแรกที่หลังจากบิลลี่หายตัวไป ชาวบ้านได้มีการเรียกขวัญปลอบขวัญ จุดเทียนแล้วนั่งล้อมวงร้องเพลง เหมือนเป็นการย้ำเตือนให้เรารู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเจ็บปวดของชาวบ้านบางกลอย ที่ยังคอยความยุติธรรม และมนุษยธรรม เพื่อกลับสู่มาตุภูมิ “ใจแผ่นดิน”

19. Feedback บางส่วนของความเห็นจากผู้ชมหลังจบการแสดง

พี่สาว - ขอบคุณน้องๆ ที่มาเรียนคณะนี้ แล้วสะสมวิชาทั้ง 4 ปีเพื่อใช้ร่างกายเล่าแล้วทำให้พี่อยากจะรู้เรื่องราวนี้มากขึ้น เพิ่งได้รับรู้ว่าเวลาเราไปเที่ยวรีสอร์ตหรือธรรมชาติในเขตแก่งกระจานมีผู้คนถูกทำร้ายจากเบื้องหลังความสวยงามเหล่านั้น ประทับใจที่ได้ดูละคอนเรื่องนี้ค่ะ

พี่ชาย - สิ่งที่สะดุดใจคือการเลือกเรื่องนี้มานำเสนอ ทำไมสื่อหลักไม่ทำละคอนเนื้อหาแนวนี้บ้าง ที่สะเทือนใจมากคือทำไมคนทำผิดยังมีหน้ามีตาในสังคม อยากให้มีพื้นที่ได้แสดงภายนอกมหาวิทยาลัยเพิ่ม ให้คนทั่วไปได้ชมด้วยครับ

เพื่อนต่างมหาวิทยาลัย - เราเรียนด้านสังคมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ครับ เห็นชัดว่าละคอนพยายามบอกเล่าปัญหาที่ถูกซ่อนอยู่ แล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เคยรู้เลย ขอบคุณที่เขาไปในพื้นที่เพื่อถ่ายทอดมันออกมา รู้สึกหดหู่ว่าทำไมคนของรัฐถึงได้กระทำรุนแรงขนาดนี้ ถ้ามีการช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมเขาน่าจะได้รับความเป็นธรรมมากกว่านี้

เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย - ตอนแรกกลัวที่จะดูเรื่องราวที่รู้แล้วว่าหนักหน่วงแน่ แต่การแสดงที่เลือกจังหวะวิธีการสื่อสารด้วยร่างกาย ทำให้ไม่เห็นความรุนแรงขนาดจิตตก ขอบคุณที่การแสดงชัดในปัญหาแต่ว่าชมแล้วไม่เจ็บปวดค่ะ

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา, ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น “ในเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วมีเรื่องราวหลายคดี น้องเลือกประเด็นได้น่าสนใจมาก กล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวที่สังคมไม่กล้าพูด การลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลจริงอันนี้สำคัญมาก มีผลต่อการถ่ายทอด วิธีการแสดง ได้ดีกว่าการรับจากสื่ออย่างเดียว”

 

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา ฯลฯ
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา ฯลฯ

 

ความโกรธ คือสิ่งหล่อเลี้ยงงานไว้ให้ไปต่อ

ธีรวัฒน์ มุลวิไล ที่ปรึกษาและผู้กำกับ “Behind The Mount หลังเขา” ศิลปินในพำนักของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธีรวัฒน์ มุลวิไล หรือ ‘พี่คาเงะ’ ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง B-Floor กลุ่มละคอนที่เปี่ยมอุดมการณ์สื่อสารประเด็นการเมืองและสังคมอย่างเข้มข้นมาตลอดกว่า 30 ปี ธีรวัฒน์เป็นอาจารย์ที่ผ่านการโหวตเพื่อสอน devising วิชาที่พูดถึงเรื่องการสร้างละคอนจากอะไรก็ได้ (collective performance) ซึ่งเป็นการทำงานกลุ่มไม่ใช่แบบ directer center (การสรรหา เรื่อง บทประพันธ์ ผู้กำกับตีความ นักแสดงฝึกซ้อม รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมงาน) แต่เป็นการแชร์กันรวมมันสมองของกลุ่ม แต่ละฝ่ายทุ่มเท คิดซีน ออกแบบท่าเต้น ฯลฯ ลูกศิษย์กับครูจึงเรียนรู้คลุกคลีรักกันดีเหมือนพี่น้อง

“การทำงานของนักศึกษาจะมีการส่งให้ดูความคืบหน้าเป็นระยะ ต้อง defend หัวข้อให้ผ่าน ต้องเอา mood and tone มาขายก่อนส่ง audition ทุกเรื่องอาจารย์ต้องตรวจก่อนซักกันละเอียดยิบ เหมือน agency ต้อง pitch งาน ว่าจะให้ public หรือไม่ อย่างน้อยก็ดูความตั้งใจ ความมั่นใจของเขาด้วยว่าจะไปได้ไหม ไม่ผ่านก็มีแทนที่จะเป็นการแสดงก็ไปทำวิจัย (individal) ก็ยังเอาหัวข้อนั้นไปทำงานอยู่ เพียงเปลี่ยนรูปแบบ บางคนทำคอนเสิร์ตใช้ดนตรีเข้าไปจับ มีการแสดงด้วยเช่น หมอลำ หมอแคนมาร่วมด้วย เพียงแต่ไม่ได้ทำเป็นละคอน นี่คือขั้นตอนที่เขาต้องสู้ให้ได้ เรื่อง “หลังเขา” ผ่าน เพราะมีคุณภาพที่ดีพอ รอบแรกดีหลายจุดแล้วแต่การร้อยเรื่องจะแปลกๆ มีปัญหา เลยให้โจทย์ว่า เรื่องนี้ควรผสมเทคนิคระหว่าง documentary กับ devising เพราะจุดแข็งคือ documentary เรื่องแบบนี้ต้องโชว์นะ พอมาลงล็อกกับ gab ก็เริ่มมองเห็นโครงสร้างของเรื่องว่าจะไปอย่างไร เลยเจอทางสว่าง เราใช้เวลาปั้นงานทั้งกระบวนการประมาณเกือบปีก่อนเปิดแสดง”

 

ธีรวัฒน์ มุลวิไล ที่ปรึกษาและผู้กำกับ “Behind The Mount หลังเขา”
ธีรวัฒน์ มุลวิไล ที่ปรึกษาและผู้กำกับ “Behind The Mount หลังเขา”

 

“กลุ่มนี้มีตัวหลักที่ส่งเป็นงานละคอนนิพนธ์ 2 คน นักศึกษาปี 4 (รัชชประภา และ แก้วกัลยา) ที่เหลือเป็นฝ่ายจัดการมีน้องๆ ที่อยู่ในแต่ละสาขามาเล่นให้ ผู้สอนจะให้เครื่องมือ เป็นโจทย์ในการทำงาน เทคนิคการใช้ร่างกาย การด้นสด (improvise) การเคลื่อนไหว การจัดการเรื่องพากย์ ฯลฯ ส่วนของเราจะใช้ร่างกายเป็นฐาน (body base) เป็นเทคนิคจากประสบการณ์มาสอนเพราะเรามาจาก พระจันทร์เสี้ยว B-floor กลุ่มนักศึกษาที่ได้เรียนมาด้วยกันจะเป็นคนเลือกผู้สอนที่เหมาะสมตามแนวทาง เพราะเขารู้จักเราอยู่แล้ว (ในปี 2565 ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับอีกกลุ่ม สร้างผลงานเรื่อง “It’s Just a fiction [Not a mention anything]” เรื่องโครงสร้างของการเมืองการปกครอง) หลังเลือกเรื่องที่สนใจ และต้องการใช้เทคนิค devising ก็ต้องนำเสนอแนวทางการสร้างงานกับผู้สอนก่อน”

“เรื่องนี้จะค่อนข้างเฉพาะเจาะจงลงไปที่ประเด็นเรื่อง บางกลอย เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่ถูกขับไล่ลงมาจาก “ใจแผ่นดิน” ที่เคยอยู่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน (เริ่มสมัย ร.5) ทุกคนมีบัตรประชาชนตั้งนานแล้วนะ แต่ต่อมาถูกขีดเส้นให้เป็นเขตอุทยาน เหมือนเขตเทือกเขาบูโด (อุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด) ทุกบ้านมีโฉนดที่ถูกออกโดยทางราชการ มีตราครุฑ โครงการที่ออกมาในช่วงหลังจะมีคำว่า ทวงคืนผืนป่า ชาวเขาจะถูกเผาบ้านไล่ออกมาจากที่ดินเดิมซึ่งเคยอยู่ จากบางกลอยบนมาบางกลอยล่างเกือบสามสิบปีแล้ว ผ่านการพยายามปรับตัวแล้วแต่ที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น มีการพยายามเรียกร้องที่จะกลับไปที่อยู่เดิม ทุกคนที่อยู่ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร สรุปง่ายๆ คืออยากให้ไปอยู่ที่อื่น เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เรื่อง”

 

 

“บางกลอยบนตอนนี้คือขึ้นไปไม่ได้แล้ว คนชาวเขา “บ้าน” สำหรับเขามันไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย หรือที่ทำมาหากิน แต่เป็นที่ของจิตวิญญาณด้วย (spiritual) ตามความเชื่อของเขา มีต้นไม้ที่เรียกว่า “ต้นสะดือ” ใครเกิดมาจะเอาสะดือไปพันรอบต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ ทุกหมู่บ้านมีป่าช้าของบรรพบุรุษอยู่ตรงนั้น การต่อสู้ดำเนินมาตลอด จนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บิลลี่ พอละจี นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องนี้ สุดท้ายก็ถูกทำให้หายไป เจ้าหน้าที่อุทยานบอกไม่รู้เรื่อง เมื่อต้องการเสนอให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกแต่ถ้าติดคดีแบบนี้ยังสะสางไม่เสร็จ ไม่ปลดล็อกก็ขึ้นทะเบียนไม่ได้ ไม่ผ่าน หลังจากนั้นถึงได้เจอศพในถังแดงที่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน แล้วถูกเผาไหม้ พิสูจน์ดีเอ็นเอเป็นที่แน่ชัดว่าคือศพของบิลลี่”

"มีเรื่องแบบนี้กับโครงการต่างๆ ที่มีไว้เสมือนหนึ่งว่าได้ทำให้แล้วนะ ประหนึ่งจะเข้าไปช่วยชาวบ้าน เป็นจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพความจริง เช่น “โครงการปิดทองหลังพระ” “โครงการศิลปาชีพ” เพิ่งรู้ว่าโครงการทอผ้าให้วันละ 110-150 บาท/วัน เขาบอกว่าไม่ใช่ค่าจ้าง (ที่ขั้นต่ำต้อง 350 บาท) แต่เป็นเบี้ยเลี้ยง เรื่องนี้ในละครไม่ได้พูด ชาวบ้านกว่า 80% เป็นโรคขาดสารอาหาร ไกลโรงพยาบาล หนทางไม่สะดวก ท้องแล้วต้องแท้งหลายคนเพราะสภาพถนนหนทางไม่ดี นักศึกษาไปลงพื้นที่หาข้อมูลลึกๆ มา แน่นอนมีแรงเสียดทานจากกรมป่าไม้ แรกจะไปนอนกับชาวบ้านแต่ไม่อนุญาตต้องนอนในกรมป่าไม้ เวลาไปคุยก็เดินตามสังเกตการณ์”

“เรื่องนี้แม้นานมากแต่ยัง on going คนทั่วไปรู้เรื่องนี้น้อย นักเคลื่อนไหวมาดูก็ดีใจ อย่างน้อยเรื่องนี้ได้สื่อสารออกไปสู่สาธารณะให้คนอื่นรู้บ้าง ด้วยสไตล์แบบนี้กับเยาวรุ่นก็รู้สึก connect ได้ ไม่ใช่ละคอนรณรงค์แน่นอน ครบทุกรส เสียดสี แดกดัน มีสัญญะที่ชัดเจนในระดับหนึ่งนะ เรื่องนี้เป็นข้อมูล Insight ไปแล้ว จริงๆ เขาก็บอกเป็น hint ใบ้ไว้อยู่แล้ว เช่นจะพูดถึงใคร ทัศนคติของประชาชนชาวเน็ตเวลามองเรื่องนี้ก็แตกเป็นสองฝ่ายก็โชว์ชัดในละคอน คนที่ไม่เห็นด้วยเพราะ “เขาคือคนอื่น” มีเยอะแยะไปในคนไทย ไอ้นี่มันพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ก็ยังมีมายาคติแบบนี้อยู่ สมัยก่อนพวกนี้คือคนที่รักษ์ป่าด้วยซ้ำไป ถ้าจะด่าต้องโน่นพวกเกษตรพันธสัญญาสิ พวกซีพีที่ให้ชาวบ้านปลูกอ้อย ข้าวโพด แล้วมันกี่ล้านไร่ เยอะกว่าชาวบ้านแค่ 5-10 ไร่ แล้วก็ทำซ้ำๆ อยู่ที่เดิม เพราะใช้กำลังคน เครื่องจักรไม่มีด้วยซ้ำ ใครเป็นฝ่ายทำลายมากกว่าก็เอาหลักฐานมากางดูสิ จริงๆ ก่อนถูกไล่เขาก็อยู่กันมานานแล้ว”

 

 

Behind The Mount เป็นละครที่สร้างการรับรู้ (awareness) สไตล์ Deising ถ้าเป็นแนวรณรงค์จะไปอยู่กับพื้นที่ มักจะมุ่งไปหากลุ่มเป้าหมาย เป็นละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่นมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ก็เอาละคอนเนื้อหานี้ลงไปเล่นในพื้นที่นั้นเลย ถ้ามีความขัดแย้งอะไรอยู่ก็ให้ชาวบ้านแสดงความคิด ว่าเห็นอะไร รู้สึกอย่างไร แล้วอยากจะเปลี่ยนแปลงมันอย่างไรบ้าง เขารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เราก็มีกลุ่มเป้าหมายของแล้วนี่คือวิชาเรียน เป็นการส่งงานละคอนนิพนธ์ (thesis) ต้องขุดศักยภาพทุกอย่างออกมาโชว์เพราะมันคือกระบวนการศึกษา เพื่อจะโชว์ให้เห็นว่า นี่คือ the best

“อย่าง มะขามป้อม ก็ใช้ศิลปะของเขาเป็น ละครของผู้ถูกกดขี่ (theatre of the oppressed) ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal ก็จะใช้วิธีนี้)[10] อย่างยุคก่อนพระจันทร์เสี้ยวก็ใช้เบรคเทียนของ แบร์ทอลท์ เบรคชท์ (ฺBrechtian สไตล์ของ Bertolt Brecht[11] นักเคลื่อนไหวชาวเยอรมันผู้เป็นทั้ง กวี นักเขียนบทละคอน นักทฤษฎีการละคอนสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในแนวคิด ‘epic theatre’ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงละครรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า epic theatre brecht ) ที่จริงก็คือรูปแบบของละคอนรณรงค์ เบรคชท์บอกว่าผู้ชมคือ passive (ผู้รับสาร) แต่ต้องกระตุ้นให้ผู้ชมคิด ไม่ใช่การเสนอ illusion เป็นมายา สร้างภาพลวงตาให้เขา แต่ต้องเสนอปัญหาบางอย่างด้วย เพื่อทำให้เขาเห็น ฉุกคิด และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น นี่คือ brechtian ซึ่งมันไปได้หมด จะใช้ artistic แบบหนักๆ ก็ได้ หรือจะเป็นแบบกลางๆ หรือตรงไปตรงมามันได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมของเราคือใคร”

“วิธีไหนในการสื่อสารจะได้ผลขึ้นอยู่กับผู้ชม คนทำก็ประเมินได้ในระหว่างทำอยู่แล้ว ว่าตอนนี้เรากำลังนำเสนอปัญหาอะไรอยู่ ผู้ชมที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย ในรอบที่ผ่านมา feedback ออกมาค่อนข้างอยู่ในโซนบวก เขาเข้าใจปัญหาเรื่องนี้มากขึ้น บางคนเคยไปพักรีสอร์ตหรูที่เป็นปัญหาในพื้นที่ ก็ตกใจว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในชุมชนด้วยหรือ บางคนใหม่หมดเลยไม่เคยรู้เรื่องบางกลอยมาก่อน นี่คือ awareness ที่เราโยนเข้าไป อยู่ที่ใครจะโดนจุดไหน ในส่วนการออกแบบท่าเต้น การฝึกเต้น เราก็ปรึกษากันหลัง โยนแนวทางไปว่าจะเป็นไงได้บ้าง เรื่องเทคนิควิธีการจริงๆ ก็เรียนในคลาสแล้ว จากนั้นนักศึกษาก็ไปฝึกกันเอง เวลาเราพูดถึงชาวเขาก็นึกถึงความเป็นไทย ความเป็นคนอื่น ความเป็นชายขอบ มีหนังสือชาติ ความเป็นไทย เช่นหนังสือ “คนไทยคนอื่น” ของอาจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ หนังสือแปลก็หลายเล่ม เวลาทำละคอนเราจะอ่านหนังสือประเภทนี้ เผื่อจุดประกายให้เห็นวิธีคิดต่างๆ”

 

 

“หลังเขา วิธีการสร้างงานจะใช้ VIEW POINT TECHNIQUE เป็นเทคนิคของทางอเมริกา ที่พูดถึงเรื่อง time and space จะช่วยให้เราออกแบบงานได้ โดยแบ่งออกมาเป็นเรื่องการใช้ร่างกายต่างๆ เช่น ไทม์เป็นสปีด จังหวะ เท็มโป ช่วงระยะเวลายาวนานที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนเวที การทำเรื่อง space เช่น shape ในร่างกาย การใช้ การใช้อากัปกิริยาร่างกาย (gesture) เพื่อการสื่อสาร อาจนำเสนอเป็น expression ขึ้นมาก็ได้ หรือว่าเป็น abstract (เชิงนามธรรม) ก็ได้ เหล่านี้เด็กๆ จะได้เรียน เป็นเครื่องมือ เราจะฝึกให้เขาคิดงานโดยการโยนโจทย์ที่เรียกว่า composition เช่น โจทย์ 1-8 อยากให้มี 5 ภาพ อะไรก็ได้ ที่มีองค์ประกอบที่แข็งแรง อาจเป็นห้าภาพที่ไม่เกี่ยวกันก็ได้ สอง อยากให้มี set ของการเต้น(choreography) 1 ชุด อยากให้มี surprise มี moment ที่ทุกคนกระโดดพร้อมกัน คอมโพสจะแยกโดยไม่สนใจว่าส่วนของเรื่องจะเกิดอะไร ให้เป็นข้อหลังสุดเลย แต่เราสนใจวิธีการนำเสนอว่า body หรือว่าภาพพวกนี้จะนำไปหาอะไร เมื่อทำออกมาแล้วเป็นหนึ่งชุด performance ซีนสั้นๆ ผู้ชมดูแล้วคิดถึงอะไร เหมือนเรื่องมันมาทีหลัง มาทางนี้แล้วเราทำให้มันชัดขึ้นเลยนะ ขยี้ concept ให้ชัดขึ้นได้ไหม ไปทำเพิ่มมาอีก ดังนั้นละครแบบ devising จะเริ่มจากอะไรก็ได้ แต่ขอให้ภาพน่าสนใจก่อน เห็นแล้วสปาร์กเลย”

“การสอนของผมจะเป็น speed writing คือไม่ต้องคิดมากเหมือนทำสมาธิ พอมีจังหวะก็เขียน ตอนนี้อากาศเป็นอย่างไร เห็นอะไร รู้สึกอะไร เขียนออกมาให้หมดเลย หรือบางทีให้ฟังเพลงเสร็จปุ๊บแล้วเขียนเลย รู้สึกอะไรกับเพลงนี้ เหมือนแค่ reflection ให้ pure ที่สุด ไม่ต้องมาตั้งต้นว่าคิดแบบไหนเก๋ ให้พยายามใช้สัญชาตญาณให้มากที่สุด คิดให้น้อย รู้สึกให้เยอะ ให้เวลาทำงานกลุ่ม 20 นาที จับเวลาแล้วทำงานเลย ถ้าคุยเยอะจะคิดไม่ออกหรอกต้องทำเลย คิดเลย ทำเลย ใช้สัญชาตญาณให้มาก เพราะเขาต้องออกไปจากการคุ้นชิน ออกไปจากเซฟโซน เพราะอะไรใหม่ๆ มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราเผลอ ในจังหวะที่เราไม่คาดคิด เป็นอุบัติเหตุ ไม่คาดคิด แล้วมันก็ขึ้นมา ต้องมีอะไรที่ท้าทายเขาแบบนี้(challenge) ถ้าดูแล้วมันเฉยๆ จะไม่ชอบ ต้องกระตุ้นให้เขากระฉับกระเฉง (energetic) ก็เป็นวิธีการหนึ่ง ถ้าเป็นวิชาอื่นอาจจะเป็นคนละแบบก็ได้ เช่น จะเขียนบทก็ต้องมี concept มาก่อน ถึงจะออกมาเป็น dialogue บางทีให้ไปเอานิตยสารมาให้เวลา 10 นาที เปิดหน้าไหนชอบอะไรฉีกเลย แล้วแปะๆๆ ทำ composition ท้ายที่สุดคือทำแบบไม่ต้องคิด แล้วสุดท้ายก็มานั่งดูมันอีกที สิ่งที่แปะไปมันสะท้อนถึงอะไร รู้สึกว่ามวลตรงนี้มีคำจำกัดความไหม เป็นประโยคได้ไหม หรือเป็น wording หนึ่งได้ไหม conceptual ให้มันออกมา นี่คือการคิดแบบไม่มีกรอบ”

 

 

“ชุมชนคนทำละคอนเวทีช่วยเหลือดูแลตัวเองมานานแล้ว เรื่องพื้นที่ก็เป็นปัญหามานานแล้ว รัฐควรจัดที่ซ้อมที่แสดง อาจไม่ใช่แค่กลุ่มละคร กลุ่มดนตรีก็ไม่ต่างกัน เอาโรงงานยาสูบเก่ามาปรับใหม่ก็ได้ อาจมีเสียค่าไฟให้เพื่อได้ฝึกฝน นี่คือการฟูมฟัก รัฐต้องลงทุนให้แบบไม่มีเงื่อนไข ผมรู้สึกว่าหน่วยงานของรัฐควรมาดูแลเรื่องการส่งเสริมให้ทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยหน่วยรัฐไม่ควรที่จะทำงานเองเพราะศิลปินมีมากมาย เอาทุนไปลงให้เขาสิ ทุนที่มันตั้งต้นฟูมฟัก ทุนต้องเยอะให้ทำไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าเขาจะทำอะไร ไม่ต้องมีเงื่อนไขด้วย มันถึงจะเกิดงานเกิดคนทำงานขึ้นมาหลากหลาย ถึงตอนนั้นแล้วศิลปะจะแข็งแรงขึ้น ต้องให้อิสระ ไม่จำกัดการทำงานภายใต้หัวข้อที่กำหนด เอาข้อกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องศีลธรรมออกไปให้หมดเลย เขาจะทำงานด่ารัฐก็ได้ ฝากสองเรื่องคือทุนกับสถานที่”

“แน่นอนเราไม่ได้อยากให้มีการเซนเซอร์อะไรแบบนี้อยู่แล้ว ฝั่งละครยังโชคดี ไม่หนักเหมือนหนัง ยังจะมีเรตกำหนดคนดูอีก เพราะหนังเป็นอุตสาหกรรม คือเงินทุนลงไปก้อนใหญ่มากกว่าพวกเรา เราควักเงินกันเองทำกันเอง มันยังเป็นอาชีพไม่ได้ พูดกันมาสิบปีคือใจรักน่ะ เมื่อไหร่เราจะผ่านพ้นคำนี้ไปให้ได้ ที่อยู่มาได้อาจจะเป็นเพราะความโกรธความไม่พอใจ ที่หล่อเลี้ยงเราให้ยังต้องทำงานอยู่ ทั้งประเด็นเรื่องการเมืองและสังคม เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เรายังลุกขึ้นมาทำงานอยู่ตลอดเวลา ถ้าบ้านเมืองที่มันเป็นประชาธิปไตยทุกอย่างโอเค เราก็คงไม่ทำงานแล้วล่ะ”

 

 

แม้ความเคลื่อนไหวในสถานการณ์บางกลอยจะกลายเป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่อาจขัดขืน ผู้เขียนไม่อาจฝืนนำความจริงมาสื่อสารได้ทั้งหมด ไม่สามารถปลดคนผิดให้ติดคุกได้ด้วยบทความ[12] แต่ศิลปะการละคอนและกลุ่มศิลปินได้ปลดปล่อยสัจจะไว้ในสัญญะอย่างเสรี ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและหน้าที่ต่อสังคมแล้ว ไม่ว่าแต่ละซีนจะมีความหมายมากมายแค่ไหนในประเด็นที่ต้องการจะสื่อ แต่สุดท้ายแล้วการแสดงในรูปแบบ devise ผู้สร้างสรรค์ก็ได้ให้ความสำคัญกับการตีความของผู้ชมมากที่สุด แม้ไม่เข้าใจว่าท่าทางการเคลื่อนไหวทำมาจากประเด็นอะไร เพราะอะไร คนดูจะรู้สึกแบบไหน คิดอย่างไรก็ไม่ผิด ทุกคนมีสิทธิ์ตีความตามประสบการณ์ เพราะการเสพงานศิลปะสำคัญว่าผู้เสพรับได้อะไรกลับไป ไม่จำเป็นต้องตีความตามที่ผู้สร้างงานต้องการจะสื่อ เพราะการคิดแบบสร้างสรรค์สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกสรรพสิ่ง โดยไม่ต้องอิงกับเงื่อนไขของใครหรือสังคม ทุกปมเป็นเรื่องของปัจเจกเอกอัตตาที่สามารถทำได้ มีความหมายไม่ต่างจากอิสรภาพที่ศิลปินผู้สร้างงานควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์.

 

ขิม —แก้วกัลยา ทัศนวิสุทธิ์ (ซ้าย) และ บี — รัชชประภา เสน่ห์สังคม (ขวา)
ขิม — แก้วกัลยา ทัศนวิสุทธิ์ (ซ้าย) และ บี — รัชชประภา เสน่ห์สังคม (ขวา)

 

หมายเหตุ :

  • ภาพการแสดง “Behind The Mount หลังเขา” โดย Production Manager เบญจพร ทองนาค
  • ภาพ ธีรวัฒน์ มุลวิไล โดย Ka-ge Mulvilai
  • ภาพ โปสเตอร์ละคอนนิพนธ์ โดย Lakorn FATU Festival
 

[1] มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม, จุดตัดบนฟากฟ้า (An Intersection in the Sky).

[5] ดร.ศิลา สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะเด็กและเยาวชน, เราคือคนไทย.

[10] Augusto Boal (ออกัสโต บูอาล), แปลโดย ภินท์ ภารดาม, การละครของผู้ถูกกดขี่.

[11] StudySmarter, Bertolt Brecht.