ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ระบอบศักดินา” “อำนาจ” และ “การปฏิวัติ” ในต่างโลก

31
กรกฎาคม
2566

Focus

  • การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงบริบทส่วนใดๆ ในสังคม ล้วนต้องการการสื่อสารที่ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงนำเสนออันสาระอันมีคุณค่าและแรงบันดาลใจต่อผู้คนในสังคม และการสื่อสารนั้น อาจกระทำในบริบทที่ย้อนกลับในต่างโลกระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
  • วรรณกรรมประกอบจินตนาการในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะของญี่ปุ่น หรือไทย ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้การสื่อสารด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าวรรณกรรมที่ถูกดัดแปลงในหลายรูปแบบจะมีอิทธิพลมากกว่าวรรณกรรมที่ดัดแปลงในรูปแบบที่จำกัด ดัง เช่น “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อันเป็นวรรณกรรมโต้อภิวัฒน์ มีการเผยแพร่ที่กว้างขวางในรูปแบบต่างๆ มากกว่างาน “ปีศาจ” อันเป็นวรรณกรรมที่สนับสนุนการอภิวัฒน์ของเสนีย์ เสาวพงศ์
  • ความขัดแย้งอย่างเป็นปัญหาหนักหน่วงในสังคมและจุดยืนแบบต่างโลก ระหว่างผู้ที่ศรัทธาอดีตกับผู้ที่ศรัทธาสิ่งที่มาใหม่ในปัจจุบันและในอนาคต เกิดขึ้นได้เพราะความรู้เพื่อสังคมส่วนรวมที่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้โดยทุกผู้คนในสังคม ถูกจำกัดการครอบครองไว้สำหรับบุคคลผู้เป็นใหญ่ที่มีอำนาจในสังคมและมีความเชื่อแบบดั้งเดิม รวมทั้งผู้คนทั้งหลายไม่สามารถมองเห็นหรืออธิบายการเชื่อมต่อระหว่างภูติ (จิตวิญญาณหรือภูมิปัญญาหรือธรรมชาติ) ดั้งเดิมและใหม่ที่ต่อยอดกันได้

 

“..ฉันจะเปลี่ยนจินตนาการที่หลงใหลอยู่ ให้กลายเป็นความจริง พาเธอออกมาข้างนอก แล้วโบยบินบนท้องฟ้าไปด้วยกัน พอเมฆอันมืดมัวหายไปพร้อมกับสายฝน เธอช่วยบอกฉันทีสิ ว่าสีที่สะท้อนอยู่บนผิวน้ำคือสีอะไร...”

เพลง Arc en ciel ฉบับแปลภาษาไทย โดย Muse Thailand

 

ข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นี้ สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ประกาศยกย่องให้ โยอิจิ ทากาฮาชิ (Yoichi Takahashi) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังให้บรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของสมาคมจากผลงานการ์ตูนเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” ของเขา[1]

การ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของ “โอโซระ ซึบาสะ” เจ้าหนูนักฟุตบอลทีมโรงเรียนนันคัตสึในจังหวัดชิซึโอกะ ซึ่งต่อมาก็คว้าแชมป์ฟุตบอลระดับประถม มัธยม และฟันฝ่าจนก้าวไปติดทีมชาติ คว้าแชมป์เยาวชนโลก และดำเนินเรื่องต่อเนื่องยาวนานถึงการเล่นฟุตบอลอาชีพกับทีมบาร์เซโลน่า

ความพิเศษของการ์ตูนเรื่องนี้ คือได้มีการเริ่มตีพิมพ์ในปี 1981 (พ.ศ. 2524) ซึ่งในขณะนั้น กีฬาฟุตบอลยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น โดยกีฬาตะวันออกที่เป็นกระแสหลักในญี่ปุ่นขณะนั้นคือ “ยากิว” หรือ “เบสบอล” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้วัยรุ่นยุคโชวะ คงจำได้ว่าโนบิตะและเพื่อนพ้องในการ์ตูนโดราเอมอน จะเล่นเบสบอลกันเป็นกีฬายืนพื้น นานๆ ทีหรอกถึงจะมาเตะฟุตบอลกันบ้าง

แต่ “กัปตันซึบาสะ” หรือชื่อแปลไทยในยุคนั้นคือ “เจ้าหนูสิงห์นักเตะ” กลับ “ฝันไกล” ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นที่มุ่งจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งที่ในขณะนั้นทีมชาติญี่ปุ่นยังไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลกแม้แต่ครั้งเดียว

หากความนิยมของ “กัปตันซึบาสะ” ทำให้เกิดกระแสความนิยมกีฬาฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น นำมาซึ่งการก่อตั้งการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ เจ ลีก ขึ้นในปี 1993 มีนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นหลายคนไปแสวงโชค ฝึกฝนฟุตบอลที่ต่างประเทศ ทั้งในบราซิลและอิตาลี ตามอย่างตัวละครเอกในเรื่องกัปตันซึบาสะ จนกระทั่งทีมชาติญี่ปุ่นได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกได้สำเร็จในปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะมาเป็นทีมชาติชั้นนำที่ใครก็ประมาทไม่ได้ในทุกวันนี้

นอกจากนี้ การ์ตูนเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” ได้รับการจัดพิมพ์ รวมถึงสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน (อนิเมะ) แปลไปจำหน่ายและฉายในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรปและละตินอเมริกา ส่งผลให้นักฟุตบอลชื่อดังหลายคนที่เติบโตมาในยุคสมัยดังกล่าว เช่น ซีเนดีน ซีดาน ชาวฝรั่งเศส เฟอร์นันโด ตอร์เรสและอันเดรียส อิเนียสตา จากสเปน และอเลสซานโดร เดล ปิเอโร ชาวอิตาลี ต่างก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้แรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลจาก “กัปตันซึบาสะ”

จึงอาจกล่าวได้ว่า “กัปตันซึบาสะ” ทำหน้าที่ของมันในฐานะของ “วรรณกรรม” ในโลกยุคใหม่ที่มีลักษณะเป็นสื่อผสม

เป็น “วรรณกรรม” ที่ในสาระสำคัญนั้นไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ เคยให้ทัศนะไว้ว่า เป็น “กระจกเงา” ที่สะท้อนภาพทางสังคมและเป็นดัชนีชี้แนวของกระบวนการทางวัฒนธรรม ตลอดจนเสนอให้เห็นการยึดถือคุณค่าต่างๆ ของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา ดังนั้นท่าทีและแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนย่อมมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกัน และย่อมขึ้นอยู่ว่าบรรดาผู้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมทั้งหลาย จะพยายามเพียงใดที่จะยกวรรณกรรมขึ้นไว้เป็นสื่อของการรับใช้สังคมหรือเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง[2]

 

“ปีศาจ” และ “สี่แผ่นดิน” วรรณกรรมแห่งการอภิวัฒน์และโต้อภิวัฒน์

หากให้ยกตัวอย่างในบริบทประสบการณ์ของไทยที่เด่นชัดถึงอิทธิพลของงานวรรณกรรมที่มีผลต่อสังคมและการเมือง หลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองคงต้องกล่าวถึงงานระดับขึ้นหิ้งสองเรื่องที่มีน้ำหนักทางอิทธิพลสูสีกัน และชิงกันมีบทบาทในแต่ละยุคสมัย

ปีศาจ” เป็นอมตะนิยายจากปลายปากกาของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” (ศักดิชัย บำรุงพงศ์) ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2496 บอกเล่าเรื่องราวของราษฎรธรรมดา ผู้เป็นเสมือน “ปีศาจ” ที่หลอกหลอนชนชั้นนำที่ทำใจยอมรับไม่ได้กับยุคสมัย และค่านิยมแห่งความเสมอภาคและประชาธิปไตย พยายามที่จะเหนี่ยวรั้งรักษาโลกใบเก่าของพวกเขาไว้ ฉากคำประกาศบนโต๊ะอาหารต่อหน้าบรรดาท่านผู้ดีของ “สาย สีมา” ตัวเอกในเรื่องด้วยถ้อยคำสำคัญว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที…” จนถึง “…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป…” เป็นประโยคและฉากในวรรณกรรมไทยที่ถูกนำมากล่าวซ้ำและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด

นอกจากนวนิยาย “ปีศาจ” แล้ว “ความรักของวัลยา” ก็เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมที่เชิดชูคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอ่านและกล่าวขวัญถึงในทุกช่วงเวลาที่มีการต่อสู้ของผู้คนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เรื่อยมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในปี 2563 – 2564

ในบรรยากาศของสังคมซึ่งให้กำเนิดวรรณกรรม “ปีศาจ” แห่งกาลเวลานั้น ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการบ่มเพาะให้วรรณกรรมอีกเรื่องได้ถือกำเนิดขึ้น “วรรณกรรม” ที่เป็นเหมือนปฏิปักษ์หรือปฏิกิริยาตอบโต้ “ปีศาจ” ซึ่งแม้ว่าหากนับตามช่วงเวลาจริงแล้ว นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นก่อน “ปีศาจ” ราว 2 ปี คือ “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “สี่แผ่นดิน” เป็นวิธีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สร้าง “ฐานอำนาจ” ของตนด้วยการสร้าง “ความเป็นไทย” ที่เน้นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของเมตตาบารมี ทรงพระกรุณาแก่พสกนิกรทั่วไป โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก และการสร้างภาพของฝ่ายอภิวัฒน์ให้มีภาพเป็นเรื่องของคนรุ่นหนุ่มสาวร้อนวิชาที่พยายามเล่น “ทดลอง” กับอำนาจรัฐและการปกครองจัดการบ้านเมือง ซึ่งในที่สุดก็นำมาซึ่งการทรยศหักหลังล้างผลาญกันเอง

ถ้า “ปีศาจ” เป็นวรรณกรรมแห่งการ “อภิวัฒน์” แล้ว “สี่แผ่นดิน” ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรม “โต้อภิวัฒน์”

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ในรูปของวรรณกรรมเท่านั้น แต่ “สี่แผ่นดิน” ยังถูกนำไปดัดแปลงให้อยู่ในสื่อบันเทิงอื่นๆ ทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวทีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และในบางครั้งจังหวะเวลาแห่งการสร้าง ก็ราวกับจัดวางไว้ให้เป็นเวลาอันเหมาะที่สังคมควรได้รับการกระตุ้นเตือนให้สำนึกถึง “พระมหากรุณาธิคุณ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ รูปแบบก่อนหน้าและเป็นที่กล่าวถึงที่สุด คือละครเวที “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ของผู้กำกับ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็ได้เริ่มจัดแสดงในช่วง พ.ศ. 2555 และมีการกลับมาแสดงซ้ำอีกครั้งใน พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้จัดเปิดเผยเองอย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะเข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง ในขณะนั้น ซึ่งช่วงเวลาที่ละครเรื่องนี้กลับมาเปิดแสดงนั้นอยู่ระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม ถึง 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พอดีกันคือ ประมาณ 2 เดือน หลังจากการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมปีเดียวกัน และได้กลับมาเปิดแสดงครั้งหลังสุดคือ ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อแสดงความอาลัยในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

การได้แปรรูปลายลักษณ์ไปสู่สื่อบันเทิงรูปแบบอื่น ทำให้ “สี่แผ่นดิน” นั้นสามารถทำงานในแง่ของการประกอบสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยมซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า “ความเป็นไทย” ที่ออกแบบโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้อย่างเต็มที่และหนักแน่นยิ่ง

อิทธิพลของ “สี่แผ่นดิน” ส่งผลต่อวรรณกรรมไทยแนวย้อนยุค ทั้งแบบสมจริงอิงประวัติศาสตร์และแบบแฟนตาซีประเภทที่ตัวเอกย้อนเวลากลับไปในโลกยุคอดีต ในแง่ของการที่สร้างภาพลักษณ์การปกครองระบอบราชาธิปไตยว่าเป็นการปกครองโดยผู้ที่มีสติปัญญา ความสามารถ และความเมตตา ซึ่งหากจะมีเรื่องไม่ดีอยู่บ้าง เช่นการข่มเหงหรือรีดนาทาเร้นผู้คน ก็จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “คนไม่ดี” อย่างเช่นขุนนางนอกคอกหรือแม้แต่เจ้าชั้นปลายแถว หรือไม่ก็พวกฝรั่งดั้งขอจากต่างชาติ ไม่ใช่ปัญหาของระบอบการปกครองในยุคสมัยที่ว่านั้น

 

หากแต่ “ต่างโลก” “ต่างแผ่นดิน” นั้น …

ย้อนกลับไปสู่โลกของการ์ตูนญี่ปุ่น แผ่นพิภพเดียวกับ “กัปตันซึบาสะ” ที่ได้กล่าวถึงไว้ตอนต้นบ้าง อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ : Light Novel วรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เล่าเรื่องการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วว่า ในปัจจุบัน ความนิยมเสพสื่อบันเทิงแนวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนมังงะ หรือนวนิยายแบบง่าย หรือไลต์โนเวล (Light Novel) ในปัจจุบันทั้งที่ญี่ปุ่นหรือแม้แต่ในประเทศไทย แนวเรื่องที่ได้รับความนิยมที่สุดจะเป็นแนว “ต่างโลก” (Isekai) ได้แก่เรื่องราวที่ตัวเอกนั้นต้องถึงแก่ความตายหรือมีภาวะบางอย่างที่หลุดไปจากโลกที่เราอยู่อาศัยกันนี้ แล้วไปเกิดใหม่หรือบางครั้งเป็นการย้ายจิตไปอยู่ในโลกอื่นหรือยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นในเกมออนไลน์ หรือย้อนอดีต แต่ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจะเป็นการไปอยู่ในโลกจินตนาการย้อนยุคแบบในนิยายหรือเกมแฟนตาซีที่ใช้ดาบและเวทมนตร์ มีผู้กล้า อัศวิน นักผจญภัย นักเวท มังกร และสัตว์ในจินตนาการ

ในโลกแฟนตาซีเช่นว่านั้นจะมีระบอบการปกครองที่มักจะจำลองจากรูปแบบการปกครองของยุโรปในยุคกลาง (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15) ที่เป็นระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ซึ่งมีกษัตริย์ครอบครองพื้นที่ปกครองใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า “ประเทศ” (หรือในบางเรื่องอาจจะมีพื้นที่ปกครองระดับจักรวรรดิที่ปกครองโดยจักรพรรดิที่ใหญ่ครอบลงไปอีกชั้น) และแบ่งพื้นที่ศักดินาลงไปให้ขุนนางตามแต่ลำดับชั้น ซึ่งจะมีศักดิ์และสิทธิที่แตกต่างกัน

ดังที่กล่าวแล้ว ถ้า “สี่แผ่นดิน” และวรรณกรรมยุคหลังที่ได้อิทธิพลสืบทอดมานั้นพยายามฉายภาพระบอบราชาธิปไตยและศักดินาแบบไทยๆ ให้เป็นระบอบที่มีความเมตตา ไพร่ฟ้าหน้าใส ผู้คนอยู่ดีมีความสุขเพราะผู้ปกครองล้วนมีศีลมีธรรมมีความเมตตาต่อผู้น้อย ปกครองโดยปัญญาและความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง หากจะมีใครนอกคอกก็จะเป็นขุนนางหรือเจ้าที่เลวร้ายรีดนาทาเร้นขู่เข็ญราษฎรซึ่งเป็นตัวร้ายแล้ว โลกของไลต์โนเวลแนวเกิดใหม่ในโลกแฟนตาซีหลายเรื่องนั้นก็ให้ภาพที่กลับกันราวกับหน้ามือกับกีบเท้า

ในไลต์โนเวลหรือการ์ตูนแนวต่างโลก จะมีประเด็นข้อขัดแย้งอย่างหนึ่งที่จะปูไว้ในเนื้อเรื่องคือ ระบอบการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์นั้นเป็นระบอบการปกครองที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำนั้นคือ “ชาติกำเนิด” โดยการกีดกันหวงห้ามไม่ให้สามัญชนหรือขุนนางชั้นล่างเข้าถึงองค์ความรู้ สิทธิ อำนาจ หรือทรัพยากรบางอย่าง โดยอ้างว่า สิทธิที่จะเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้รับการกำหนดมาตั้งแต่ต้นให้แก่ผู้ปกครองโดยการเกิดแล้ว ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่ผู้อื่นซึ่งเกิดมาโดยขาดคุณสมบัติโดยกำเนิด จะได้เข้าถึงอำนาจ ทรัพยากร หรือสิทธิประโยชน์นั้น

ข้อขัดแย้งนี้ปรากฏในไลต์โนเวลและแอนิเมชันหลายเรื่อง เพียงแต่จะใส่ประเด็นดังกล่าวมามากหรือน้อยก็เท่านั้น เช่น “เภสัชกรเทพสองโลก” (Isekai Yakkyoku หรือ Parallel World Pharmacy ) ก็มีประเด็นเล็กๆ เรื่องที่หัวหน้าสมาคมวิชาชีพ (กิลด์ – Guild) เภสัชกรในเมืองที่คอยกลั่นแกล้งขัดขวางตัวเอกนั้น ไม่ได้ทำไปเพราะสนุกหรือขัดขวางผลประโยชน์ แต่เป็นเพราะตัวเขาเกลียดชังที่ตัวเอกมีเชื้อสายขุนนาง ซึ่งพวกขุนนางเคยกีดกันไม่ให้ตัวเขาซึ่งเป็นสามัญชนนั้นได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและยารักษาโรค จนทำให้เขาไต่เต้าขึ้นมาเรียนรู้วิชาการแพทย์และเภสัช จนเปิดเป็นกิลด์เภสัชกรซึ่งทรงอำนาจและอิทธิพลในเมืองได้ ดังนั้นความไม่ไว้วางใจในคนชั้นสูงนี่เองที่ทำให้เขาหาทางกีดกันตัวเอกและเพื่อนพ้อง

สำหรับเรื่องที่เอาประเด็นดังกล่าวมาเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวสำคัญที่เห็นว่าน่าสนใจกล่าวถึงกันในคราวนี้ ก็คือไลต์โนเวลที่ได้รับการดัดแปลงเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง “การปฏิวัติเวทมนตร์ขององค์หญิงเกิดใหม่กับยัยหนูยอดอัจฉริยะ” (Tensei Oujo to Tensai Reijou no Mahou Kakumei หรือ The Magical Revolution of the Reincarnated Princess and the Genius Young Lady)

 

เจ้าหญิงผู้รักในเวทมนตร์ แต่เวทมนตร์ไม่รักเธอ

“การปฏิวัติเวทมนตร์ขององค์หญิงเกิดใหม่” เป็นไลต์โนเวลแนวแฟนตาซีและยูริ หรือแนวหญิงรักหญิง ดำเนินเรื่องราวในอาณาจักร “พาเลตเทีย” ที่มีการปกครองแบบราชาธิปไตยและศักดินาสวามิภักดิ์ ซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของราชวงศ์และเหล่าขุนนาง

อาณาจักรพาเลตเทีย เป็นประเทศที่พัฒนามาพร้อมกับเวทมนตร์ โดยกษัตริย์รุ่นแรกทำสัญญากับภูตและอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาก็สถาปนาประเทศขึ้นด้วยเวทมนตร์ที่ภูตมอบให้ จากนั้นเหล่าขุนนางจึงมาอยู่ร่วมกับราชาในฐานะข้าราชบริพาร จนกลายมาเป็นอาณาจักร เพราะฉะนั้นการใช้เวทมนตร์ได้จึงถือเป็นคุณลักษณะสำคัญในฐานะเชื้อพระวงศ์ ซึ่งแม้แต่ในหมู่ขุนนาง ขุนนางระดับล่างอย่างบารอน ก็จะมาจากคนธรรมดาที่ไต่เต้าทำผลงานเลื่อนชั้นขึ้นมา แต่ก็จะไม่มีความสามารถในการใช้เวทมนตร์เช่นกัน

ความสามารถในการใช้เวทมนตร์จึงเป็นเครื่องแบ่งแยกระหว่าง “คนชั้นสูง” ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง กับผู้ใต้ปกครองในอาณาจักรพาเลตเทีย

อย่างไรก็ตาม ในอาณาจักรนี้ก็มีเจ้าหญิงอยู่องค์หนึ่ง ผู้เป็น “...องค์หญิงผู้ถูกเรียกขานด้วยสมญานามต่างๆ นานา เช่น สุดยอดเด็กมีปัญหาในประวัติศาสตร์อาณาจักรพาเลตเทีย คนพิลึกพิลั่นที่หนึ่งของอาณาจักร กากส่วนเกินของเชื้อพระวงศ์...” ชื่อขององค์หญิงคนนั้นคือ อานิสเฟีย วินน์ พาเลตเทีย ผู้แม้เป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งแต่กลับไม่มีคุณสมบัติในการใช้เวทมนตร์ได้

นอกจากนี้ อานิสเฟียยังประกาศตัวว่าไม่ประสงค์จะแต่งงานกับผู้ชายที่ไหน เนื่องจากเธอไม่อยากท้อง ไม่อยากมีลูก และยอมรับตรงไปตรงมาว่า เธอมีความรักกับผู้หญิงด้วยกัน

ทั้งความที่ไม่สามารถใช้เวทมนตร์ได้ ประกอบกับประกาศว่าจะไม่ประสงค์จะสมรสกับชายใด ซึ่งก็จะส่งผลให้ไม่มีรัชทายาทไปด้วย ทำให้เหมือนกับว่า เธอนั้นได้สละสิทธิการสืบราชบัลลังก์ให้น้องชายอย่างเจ้าชายอัลการ์ดไป

เหตุที่อานิสเฟียไม่สามารถใช้เวทมนตร์ได้ เนื่องจากเธอเป็นคนจาก “โลกอื่น” ที่ไปเกิดในโลกอันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรพาเลตเทียนั้น ซึ่ง “โลกอื่น” ที่ว่า ก็คือโลกที่พวกเราอยู่อาศัยนั่นเอง ซึ่งเธอรู้เรื่องนี้กระจ่างชัดขึ้น เมื่ออายุได้ห้าขวบ ที่เป็นช่วงที่เธอเริ่ม “ระลึกชาติ” ได้ว่าตัวเองจุติมาจากโลกที่มีเครื่องบินบนท้องฟ้า มีรถยนต์แล่นไปมาบนถนน ซึ่ง “...นั่นเป็นสิ่งที่ฉันไม่รู้จักในโลกที่ฉันใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้ ไม่มีทั้งเครื่องบินและรถยนต์ สิ่งที่บินบนฟ้าคือนกกับปีศาจ และสิ่งที่แล่นบนถนนคือรถม้าไม่ใช่รถยนต์ ถนนก็ไม่ได้ลาดยางมะตอย...

ช่วงเวลาห้าขวบนั้นเอง ที่เธอไปกราบทูลขอเสด็จพ่อ พระราชาเพื่อขอเรียนเวทมนตร์ และพบว่า เธอนั้นขาดคุณสมบัติที่จะเรียนหรือใช้เวทมนตร์ได้

เพราะระบบของเวทมนตร์ในโลกนั้นเชื่อว่าเป็นความกรุณาจากภูตซึ่งมีหลากหลายประเภท เริ่มจากภูตแห่งแสงและภูตแห่งความมืด ภูตแรกเริ่มซึ่งว่ากันว่าดำรงอยู่มาตั้งแต่ยุคสร้างโลก ถัดมาเป็นสี่มหาภูตแห่ง ไฟ น้ำ ดิน ลม ซึ่งว่ากันว่าเกิดขึ้นมาตอนที่พระเจ้าผู้สร้างให้กำเนิดโลก อีกทั้งภูตกลุ่มย่อยซึ่งคาดว่าแตกแขนงมาจากสี่มหาภูติ ภูตจึงมีมากมายหลายประเภท และภูตที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเหล่านี้ คือตัวตนอันเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจและความภาคภูมิใจของชนชั้นสูงแห่งอาณาจักรพาเลตเทียนั่นเอง

การใช้เวทมนตร์นั้นอาศัยการวิงวอนจากภูต จากนั้นก็สร้างภาพของเวทมนตร์ที่ต้องการจะใช้ให้ชัดเจนในจินตนาการ แล้วภูตก็จะเปลี่ยนพลังเวทนั้นให้เกิดผลเป็นเวทมนตร์ เป็นสายน้ำ ลูกไฟ หรือประกายอัสนี หรือเป็นสายลมที่อุ้มพยุงให้บินขึ้นไปบนท้องฟ้าก็ได้

เช่นนี้ ผู้ใดที่ไม่รู้ถึงตัวตนของ “ภูต” ก็จะใช้เวทมนตร์ไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า “ภูต” ในที่นี้เป็นสิ่งมีชีวิต หรือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่าง เพราะ “ภูต” มีมาแล้วแต่อดีต จนเป็นเรื่องธรรมดาโดยอาจจะไม่มีใครนึกสงสัย แต่เป็นตัวตนที่เต็มไปด้วยปริศนา

แต่อานิสเฟียนั้นไม่สามารถสื่อสารหรือสัมผัสตัวตนของ “ภูต” ได้ ทำให้ใช้เวทมนตร์ไม่ได้ หากเป็นคนปกติที่เกิดในโลกนั้น เมื่อใช้เวทมนตร์ไม่ได้ก็คงจะยอมรับสภาพอยู่เพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะเธอยังมีความทรงจำหลงเหลือจากชาติที่แล้ว โลกที่มนุษย์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้ องค์หญิงจึงเริ่มวิเคราะห์ค้นคว้าที่มาของเวทมนตร์ในโลกนั้นว่ามาจากไหน มีหลักการอย่างไร เพื่อจะหาทางนำเวทมนตร์มาใช้ประโยชน์ได้ แม้จะเป็นผู้ที่ไม่อาจสื่อสารกับภูตได้ก็ตาม สิ่งที่อานิสเฟียทำ คือการคิดค้น “ศาสตร์เวท” ซึ่งเป็นความพยายามเข้าใจถึงระบบและเงื่อนไขของภูตซึ่งเป็นที่มาของเวทมนตร์ และ “อุปกรณ์เวท” ที่ได้จากการนำความรู้เกี่ยวกับพลังเวทมาแปลงให้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้สำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะสัมผัสถึงตัวตนของภูตหรือใช้เวทมนตร์ได้หรือไม่

เรื่องราวของไลต์โนเวลเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในครั้งที่อานิสเฟียทดลองนำไม้กวาดที่เป็นอุปกรณ์เวทของเธอไปทดลองใช้บินไปบนท้องฟ้า แต่ยังไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ จึงบินพุ่งชนเข้าไปในโรงเรียนชนชั้นสูงที่ในขณะนั้นกำลังเกิดเรื่องวุ่นวาย เมื่ออัลการ์ด เจ้าชายรัชทายาท หรือน้องชายของอานิสเฟีย กำลังประกาศถอนหมั้นกับ ยูฟีเลีย มาเจนต้า พระคู่หมั้นซึ่งเป็นธิดาของดยุกต์แกรนด์ ผู้มีอำนาจและอิทธิพลรองจากเพียงกษัตริย์แห่งพาเลตเทียเท่านั้น ซึ่งจริงๆ ตัวของยูฟีเลียเอง ก็ได้รับสมญานามว่า เป็น “คุณหนูยอดอัจฉริยะ” เนื่องจากสามารถสื่อสารกับภูตได้ทุกธาตุ จึงใช้เวทมนตร์ได้ทุกสาย

เช่นนี้การหมั้นหมายระหว่างเจ้าชายอัลการ์ดและยูฟีเลีย จึงเป็น “ทางเลือก” ที่ดีที่สุดสำหรับราชวงศ์ในการที่จะรักษาอำนาจไว้ จึงพอจะเดาได้ว่า การที่เจ้าชายจะถอนหมั้นกับคู่หมั้น จึงจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อดุลแห่งอำนาจทางการเมืองในพาเลตเทีย

แต่อานิสเฟียไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าความรู้สึกที่ว่า ยูฟีเลียช่างน่าสงสาร และเธอควรจะช่วยเด็กสาว เธอจึงประกาศว่าจะลักพาตัวอดีตคู่หมั้นของน้องชายไปจากที่นั่น เพื่อให้พ้นจากสายตาเหยียดหยามและนินทาว่าร้าย แล้วพาไปขอกับพ่อของเธอซึ่งเป็นพระราชา และดยุกต์ซึ่งเป็นบิดาของยูฟีเลีย เพื่อขอให้เธอมาเป็น “ผู้ช่วยวิจัยศาสตร์เวท” ร่วมกัน

 

ราษฎรพาเลตเทียทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า...

ถ้าเรื่องราวเป็นเพียงแค่นี้ ก็เป็นแค่เรื่องแนวผจญภัยต่างโลกและชิงรักหักสวาทในราชสำนักกับเรื่องราวแนวหญิงรักหญิงธรรมดา แต่ทำไมผู้เขียนจึงตั้งชื่อเรื่องนี้ด้วยคำว่า “การปฏิวัติ” เวทมนตร์ด้วย

นั่นเพราะในเรื่องนี้ “เวทมนตร์” นั้นเป็นทั้ง “พลังงาน” และเป็นทั้ง “อำนาจรัฐ” ในตัวนั่นเอง

การศึกษาของอานิสเฟียเกี่ยวกับภูตผู้ทำให้รู้ว่า ภูตเป็นเหมือนจิตวิญญาณของธาตุที่ล่องลอยอยู่ในอากาศโดยไม่มีร่างกายภาพ เป็นเหมือนวิญญาณแห่งธรรมชาติที่เกิดจากธรรมชาติรอบตัวเรา ปราศจากเจตจำนงอย่างสิ่งมีชีวิต มีเพียงสัญชาตญาณและดูดซับพลังเวทไว้เพื่อหล่อเลี้ยงเท่านั้น โดยพื้นฐานแล้วภูตจะไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง หรือไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดที่จะเลือกรับใช้ใคร เพียงใครที่สามารถดึงเอาพลังเวทในตัวภูตไปใช้ประโยชน์ได้ จะใช้เวทมนตร์ได้ ก็เท่านั้นเอง

การค้นพบ “ศาสตร์เวท” และสร้าง “อุปกรณ์เวท” ของอานิสเฟีย จึงเป็นสิ่งที่สั่นคลอนอำนาจของราชวงศ์และขุนนางในพาเลตเทียเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่า ความเชื่อ หรือสิ่งที่ชนชั้นนำพยายามสร้างให้ราษฎรทั่วไปได้เชื่อ ว่ามีเฉพาะพวก “เจ้า” และ “ขุนนางชั้นสูง” เท่านั้นที่จะใช้เวทมนตร์ได้ และเหตุนั้นมาจากที่พวกเขาได้รับการยอมรับจากมหาภูตผู้เป็นที่มาของพลังเวทนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะภูตนั้นไม่มีเจตจำนง และที่สำคัญคือ ใครๆ ก็ใช้ประโยชน์ได้ มิได้ผูกขาดไว้แต่กับชนชั้นสูงเท่านั้น

อานิสเฟียอาจจะได้รับความเข้าใจจากองค์ราชาพ่อของเธอ และได้รับความยอมรับนับถือจากบรรดาราษฎร ที่เธอลงไปคลุกคลีใช้ชีวิตและผจญภัยด้วยอย่างไม่ถือพระองค์จนได้รับสมญานามว่า “เจ้าหญิงจอมขโมย” แต่ถึงอย่างนั้นในสายตาของชนชั้นสูงในราชสำนัก ก็ยังมองอานิสเฟียเป็นคนนอกคอก ไม่ได้รับความรักจากเวทมนตร์ ทั้งที่เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงต่างใช้เวทมนตร์ได้ทุกคน อาจจะถนัดมากน้อยไม่เท่ากันเป็นธรรมดา แต่เธอกลับใช้ไม่ได้เลยสักนิด จึงถูกรุมดูแคลน นินทาและเยาะเย้ย แต่ถึงกระนั้นเธอก็รักเวทมนตร์และคิดจะสร้าง “อุปกรณ์เวทมนตร์” ซึ่งให้ผลแบบเดียวกันหรือเหนือกว่าเวทมนตร์ ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ นี่คือฉากหนึ่งในตำนานขององค์หญิงผู้ฝากผลงานอันยิ่งใหญ่และการกระทำพิสดารจำนวนมากไว้ในประวัติศาสตร์ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ไลต์โนเวล และการ์ตูนแอนิเมชันเรื่องนี้ ผู้เขียนก็มีเจตนาเขียนเพื่อความบันเทิง ดังนั้นจึงอาจจะไม่ได้เต็มล้นไปด้วยแนวความคิดทางการเมืองและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือความเท่าเทียมขนาดนั้น แต่แนวคิดเหล่านั้น มันก็ยังวนเวียนอยู่ในบรรยากาศของเรื่องอย่างแนบเนียน ไม่ผิดกับที่ “สี่แผ่นดิน” ได้แฝงแนวคิดธรรมราชาธิปไตยไว้ แต่ถ้าใครจะอ่านไลต์โนเวลหรือดูการ์ตูนเรื่องนี้แบบเอาสนุกสนานเฉยๆ แบบเรื่องแนวความรักของหญิงสาวกับหญิงสาว ผสมกับการผจญภัยแบบโลกจินตนาการและแฟนตาซี สู้กับมังกรและเผยความลับของแวมไพร์อะไรไปตามแนวของเรื่องนี้ ก็ไปได้อยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ ด้วยความทรงจำของชาติที่แล้ว ซึ่งเป็นคนในโลกของเราซึ่งอยู่ในแนวคิดสมัยใหม่ว่าคนเท่ากัน การมีชนชั้นสูงเป็นเรื่องเพ้อฝัน การแบ่งชนชั้นคือการกดขี่ ทำให้อานิสเฟียมีความคิดแบบคนยุคใหม่ที่ราชวงศ์และขุนนางในสมัยนั้นไม่มี คือ การใช้พลังอำนาจใดๆ ก็ตามของผู้ปกครอง หรือผู้ที่อยู่ในฐานะราชวงศ์ คือการจะต้องปกป้องช่วยเหลือราษฎร ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากแนวคิดที่ว่า อาณาจักรคือสมบัติของผู้ปกครอง ราษฎรนั้นเป็นเพียงทรัพย์สินติดที่ เป็นข้าแผ่นดินที่ตกติดมาพร้อมกับที่ดินอาณาจักรนั้น ดังนั้นการตัดสินใจหรือใช้อำนาจใดของชนชั้นนำ จึงเป็นไปเพียงการรักษา “ทรัพย์สิน” และ “อำนาจ” ของตนไว้ก่อนเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจของอานิสเฟียในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความพยายามจะคิดอุปกรณ์เวทเพื่อให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากเวทมนตร์ได้เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการออกไปสู้กับ “มังกร” ที่มาบุกอาณาจักร เพื่อปกป้องราษฎรโดยพลการ โดยไม่รอรับคำสั่งหรือคำอนุญาตจากพวกขุนนาง

ทั้งนี้ เรื่องราวส่วนที่กินใจ และกระทบใจจนอยากนำเอาไลต์โนเวลและการ์ตูนแอนิเมชันเรื่องนี้มานำเสนอต่อผู้สนใจทางการเมืองและประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของหนังสือและการ์ตูนแนวนี้สักเท่าไร อยู่ที่ฉากหนึ่ง ซึ่งน่าจะอยู่ในนิยายฉบับภาษาไทยเล่มที่สองและยังไม่ได้ตีพิมพ์ออกมา แต่อาจหาชมได้ในแอนิเมชันได้แล้วในตอนที่ 7

คือเรื่องราวหลังจากที่ปราบมังกรที่มาบุกเข้าโจมตีอาณาจักรได้ ซึ่งในตัวของมังกรซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงนั้น มีวัตถุเวทซึ่งเป็นทรัพยากรอันสำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้ว ในฐานะที่เป็นคนจัดการกับมังกรได้ ชิ้นส่วนเหล่านั้นจึงควรเป็นสิทธิของอานิสเฟีย

แต่เพราะเธอออกไปต่อสู้กับมังกรโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากบรรดาขุนนาง ทำให้จริงๆ แล้ว เจ้าหญิงควรจะถูกลงโทษด้วยซ้ำ หากเพราะวีรกรรมการปราบมังกรที่อยู่ในโลกแฟนตาซีทำได้ แต่ผู้ปราบมังกรถือเป็นสมญานามชั้นสูง และการไปสู้กับมังกรนี้ ก็เป็นการปกป้องราษฎรในอำเภอที่มังกรกำลังจะเข้าโจมตี เรื่องเช่นนี้ก็กลายเป็นภาวะเขาควายให้บรรดาขุนนางที่ไม่อาจลงโทษอานิสเฟียได้ เพราะอาจจะก่อให้เกิดการกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ราษฎรโดยไม่จำเป็น

ฝ่ายขุนนางและราชอาณาจักรจึง “ริบ” เอาชิ้นส่วนมังกรที่ควรเป็นของอานิสเฟียโดยชอบธรรมตามหลักคิดธรรมดาไว้ก่อน จนกว่าที่ทางอานิสเฟียจะอธิบายได้ว่า ทำไมเธอจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนมังกรนั้น

เป็นเหตุให้เธอต้องไปนำเสนอเรื่อง “ศาสตร์เวท” และ “อุปกรณ์เวท” ที่เธอคิดค้นได้ต่อที่ประชุมของขุนนางในกระทรวงเวทมนตร์

แต่ต่อให้เป็นถึงเจ้าหญิงของอาณาจักร แต่อานิสเฟียกลับถูกกีดกันไม่ให้พูด เพียงเพราะเธอใช้เวทมนตร์ไม่ได้ ไม่มีใครในสถานที่นั้นซึ่งเป็นขุนนางชั้นสูงที่ล้วนแต่ใช้เวทมนตร์ได้ มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง ยินดีฟังคำพูดของสมาชิกราชวงศ์ผู้ไม่มีความสามารถในการใช้เวทมนตร์ใดๆ ซึ่งการขาดคุณสมบัตินี้ทำให้เธอไม่ต่างไปจากสามัญชนที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทางแท้ๆ

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยของเธอ คือ คุณหนูยอดอัจฉริยะ ยูฟีเลีย ผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าใช้เวทมนตร์ได้เก่งที่สุดแล้วในพาเลตเทีย เป็นผู้นำเสนอผลงานของอานิสเฟีย

ยูฟีเลียนำเสนอผลงานของอานิสเฟีย และหักล้างข้อกล่าวหาว่าการคิดค้นศาสตร์เวท ไม่ใช่การลบหลู่หรือล้มล้างอำนาจมหาภูต แต่เป็นการต่อยอดความเชื่อ ความเคารพที่มีต่อมหาภูตเพื่อส่งต่อองค์ความรู้นี้ไปสู่ยุคใหม่ เป็นการประกาศว่าต่อจากนี้ “ใครๆ ก็ใช้ประโยชน์จากเวทมนตร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หรือสามัญชน” ซึ่งจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอาณาจักรที่ราษฎรทั้งหลายก็จะมีส่วนร่วมด้วย

ก่อนที่เสียงปรบมือจะดังกึกก้อง ในหมู่ขุนนางส่วนใหญ่ที่ยอมรับทั้งในตัวของยูฟีเลีย และผลงานของอานิสเฟีย

เช่นนี้ สิ่งที่อานิสเฟียทำ และยูฟีเลียได้ประกาศในที่ประชุมขุนนาง จึงไม่ต่างอะไรกับการประกาศว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เวทมนตร์นั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการ ไม่ได้เป็นคุณสมบัติเฉพาะของพวกเชื้อพระวงศ์และขุนนางอย่างที่พวกเขาหลอกลวง”.

 

หมายเหตุ :

  • บทความนี้เป็นแนวคิดทางสังคมและการเมืองที่สอดแทรกอยู่ในไลต์โนเวลและการ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง “การปฏิวัติเวทมนตร์ขององค์หญิงเกิดใหม่กับยัยหนูยอดอัจฉริยะ”
  •  

บรรณานุกรม

สื่อออนไลน์

หนังสือ

  • พิเอโระ คาราซุ. การปฏิวัติเวทมนตร์ขององค์หญิงเกิดใหม่กับยัยหนูยอดอัจฉริยะ, สุทธิศักดิ์ อังคะสุวพลา แปล จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยโดย Kadokawa Amarin โดยสำนักพิมพ์ Phoenix (2566).

[1] ข่าวสดออนไลน์, สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น บรรจุชื่อ ทากาฮาชิ ผู้วาด กัปตันซึบาสะ เข้าหอเกียรติยศ. [ออนไลน์]

[2] พงษ์ศักดิ์ สังขภิญโญ, อิทธิพลและผลกระทบของวรรณกรรมต่อสังคม. [ออนไลน์]