ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้ไหมนะ : Light Novel วรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เล่าเรื่องการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

28
ธันวาคม
2565

“การทำลายของเธอไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ขุนนางพวกนี้ตายไป ขุนนางใหม่ก็ขึ้นมาแทน การกดขี่ก็ยังคงอยู่ ทาสก็ยังมีอยู่ ทุกสิ่งที่เธอเกลียดก็ยังมีชีวิตต่อไป โดยที่เธอทำอะไรไม่ได้... ทางเดียวที่จะกำจัดสิ่งเลวร้าย ไม่ใช่การทำลายล้างสิ่งเก่าหรอก การทำลายสิ่งเก่าที่เลวร้ายมีแต่ทำให้สิ่งที่เลวร้ายกว่าเกิดขึ้นแทนที่ วิธีที่กำจัดสิ่งที่เลวร้าย คือการสร้างสิ่งใหม่ต่างหากล่ะ... ถ้าเธอเกลียดโลกที่ไม่เท่าเทียม ทางเดียวที่จะทำลายมันได้คือสร้างโลกที่ทุกคนเท่าเทียมและไม่ถูกกดขี่ขึ้นมา... การสร้างสิ่งใหม่เป็นทางเดียวที่จะทำลายโลกใบเดิมที่เธอเกลียดชัง และการมีชีวิตอยู่เป็นทางเดียวที่จะสร้างสิ่งใหม่ได้...”

นาวิน จากเรื่อง เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ เล่ม 1
โดย StarlessNight (หฤษฎ์ มหาทน)

 

รู้จัก Light Novel กันไหมครับ

Light Novel เป็นวรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมการอ่านของญี่ปุ่น อธิบายง่ายๆ คือ วรรณกรรมประเภทนี้เป็นลูกผสมระหว่างหนังสือการ์ตูนกับนวนิยาย เขียนด้วยภาษาที่อ่านง่าย การบรรยายที่ตรงไปตรงมา เนื่องจากผู้อ่านจะมี “ภาพประกอบ” เป็นภาพการ์ตูนในลักษณะของการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะ แทรกในเรื่องเพื่อช่วยประกอบจินตนาการอยู่แล้ว เช่น ภาพของตัวละคร สถานที่ หรือฉากสำคัญในเรื่อง

Light Novel บางเรื่องนั้นเขียนเป็นเรื่องราวข้างเคียง (Side Story) ของการ์ตูนหรือแอนิเมชันที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ดังนั้นด้วยข้อได้เปรียบตรงนี้ ทำให้ Light Novel ไม่จำเป็นต้องบรรยายหรือพรรณาเพื่อให้เกิดภาพพจน์ในหัวผู้อ่านอย่างชัดเจนเหมือนนวนิยายในรูปแบบเดิม

สำหรับในประเทศไทย Light Novel ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นได้รับการต้อนรับไม่ต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่วางรากฐานเป็นปึกแผ่นอยู่แล้วด้วยเป็นวัฒนธรรมข้างเคียงกัน ครึ่งหนึ่งของหนังสือที่มีขายในมุมหนังสือการ์ตูนในร้านหนังสือทั่วไป จะเป็นหนังสือประเภท Light Novel นอกจากนี้ ยังมี Light Novel ที่คนไทยเขียนเองอยู่ด้วยหลายเรื่อง ซึ่งวงการนี้ครึกครื้นถึงขนาดบริษัทการ์ตูนยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Kadokawa ก็เข้ามาจับมือกับสำนักพิมพ์ใหญ่ในประเทศไทยอย่างเครืออัมรินทร์ พร้อมทั้งเปิดโรงเรียนสอนเขียน Light Novel ในประเทศไทยด้วย

ความที่ Light Novel นี้เป็นเหมือนประเภทหนึ่งของ “สื่อ” ดังนั้นในเรื่องของ “เนื้อหา” ภายในนั้นจะบรรจุอะไรไว้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวผจญภัยแฟนตาซีที่มีเยอะที่สุด เรื่องรักตลก รักโรแมนติก ไปจนถึงเรื่องติดเรทอีโรติก ไปจนกระทั่งเรื่องที่พูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และอำนาจทางการเมือง และนี่จึงเป็นสาเหตุที่มีบทความแนะนำหรือรีวิว Light Novel ในเว็บไซต์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ชิ้นนี้

“เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” เป็น Light Novel ที่เขียนโดยนักเขียนชาวไทย StarlessNight ซึ่งเป็นนามปากกาของ หฤษฎ์ มหาทน

 

เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ เล่ม 1 ผลงานโดย StarlessNight – หฤษฎ์ มหาทน
เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ เล่ม 1 ผลงานโดย StarlessNight – หฤษฎ์ มหาทน

 

เรื่องราวของ Light Novel เรื่องนี้ เป็นแนว “ต่างโลก” (Isekai) คือการที่ตัวเอกนั้นตายหรือมีภาวะบางอย่างที่หลุดไปจากโลกที่เราอยู่อาศัยกันนี้ แล้วไปเกิดใหม่หรือบางครั้งเป็นการย้ายจิตไปอยู่ในโลกอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโลกจินตนาการแบบย้อนยุคแฟนตาซีที่ใช้ดาบและเวทย์มนต์ อันเป็นแนวเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยใหม่

“เกิดใหม่ครั้งนี้ฯ” จึงเป็นเรื่องของ “นาวิน” เลขานุการรัฐมนตรีชาวไทย ผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีชีวิตที่ต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองรัฐมนตรีผู้เป็นนายซึ่งกำลังจวนตัวจะถูกเปิดโปงด้วยหลักฐานที่มัดตัว และตัดสินใจสังเวยชีวิตของเขาเพื่อให้เป็นแพะรับบาปแทน

หากดวงวิญญาณของเขาถูกดูดดึงมาโดยพิธีกรรมลึกลับโบราณ มาสู่ “เวียงแก้ว” เมืองในต่างโลกที่ใช้ดาบและเวทย์มนต์ มีผู้คนครึ่งสัตว์ที่มีหูมีหางแบบหมาและแมว แต่ก็มีวัฒนธรรมแบบอุษาคเนย์ใกล้เคียงภาคเหนือและอีสานของไทย โดยเป็นสังคมที่ยังปกครองในระบอบศักดินาที่คนส่วนใหญ่ยังยอมรับกันง่ายๆ ว่าคนเราเกิดมาต่างกัน มีหน้าที่ต่างกัน ไม่มีกระบวนการยุติธรรมอะไรจะต้องการไปมากกว่าการล้างแค้นตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่มีการเกษตรอย่างจริงจัง ไม่มีอุตสาหกรรม ไม่มีวิทยาศาสตร์ พลังอำนาจที่ปกครองคนส่วนใหญ่คือเวทย์มนต์ที่จำกัดแต่เฉพาะผู้มีเชื้อสายขุนนางเท่านั้นที่จะใช้ได้ ส่วนไพร่ก็เป็นชนชั้นที่ใช้เวทย์มนต์ไม่ได้ ส่วนทาสนั้นก็เป็นชนชาวป่าเผ่าหูแมวที่ถูกจับมาใช้งาน

นาวินมาเกิดใหม่ในร่างของ “จันทร์” หนุ่มน้อยหน้าหวานเหมือนเด็กสาว และได้รับคำอธิบายว่า ดวงวิญญาณของเขาถูกเรียกมาโดยพิธีกรรม “อัญเชิญเทวดา” มาเพื่อให้รักษา “ขุนหลวง” หรือ “กษัตริย์” แห่งเวียงที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกลอบโจมตีโดยพวกกบฏส่วย หรือพวกทาสที่หลบหนี

นาวิน ในฐานะของ “ท่านเทวดา” ต้องพยายามใช้องค์ความรู้เท่าที่ติดตัวไปจากโลกในยุคสมัยของพวกเราในการรักษาให้ขุนหลวงอย่างเต็มกำลัง แต่เรื่องราวที่เต็มไปด้วยลับลมคมในและการทรยศหักหลังก็หาจบลงได้ง่าย ๆ ซึ่งทำให้ Light Novel เรื่องนี้สนุกจนวางไม่ลง

เพราะผู้เขียน หฤษฎ์ นั้นเป็นทั้งบัณฑิตรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นอดีตประธานชุมนุมวรรณศิลป์ อีกทั้งเป็นอาจารย์สอนเขียน Light Novel ของโรงเรียน Kadokawa ทำให้งานเขียนของเขานั้นสอดแทรกไปด้วยความรู้ทางรัฐศาสตร์ เริ่มจากฉากของเรื่องที่ใช้สังคมศักดินาแบบสยามมาดัดแปลงลงไปในโลกแฟนตาซีของดาบและเวทย์มนตร์อย่างแนบเนียนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ผู้เขียนยังนำเอาแนวคิด ทฤษฎี และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายเรื่องมาสอดแทรกลงไป ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ถ้าคุณไม่ชอบระบอบหรือระบบของประเทศที่คุณบังเอิญต้องมาเกิดใหม่ครั้งนี้ ด้วยความรู้ทางการเมืองการปกครองที่มีนั้น คุณจะสร้างประเทศที่ดีได้อย่างไร

“ประเทศที่ดี” ในความหมายของหฤษฎ์ผ่านปากนาวินที่กล่าวตอบพระยาเขี้ยวเงินที่เป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดในทางความเป็นจริงของเวียงแก้วในขณะนั้น คือ

 

“โลกที่เรามีสิทธิในชีวิตของตัวเอง โลกที่เราจะใช้ชีวิตตามใจของเราโดยไม่มีใครกำหนดบทบาทที่ต้องทำไว้ตั้งแต่เกิด ไม่มีทาส ไม่มีไพร่ ไม่มีขุนนาง โลกที่ทุกคนจะเริ่มชีวิตได้จากจุดเริ่มต้นที่เท่ากัน โลกที่ทุกคนเลือกอาชีพที่อยากทำได้ตามความสามารถของตัวเอง โลกที่ไม่มีใครต้องกังวลว่าจะถูกสังหาร ไม่มีใครกลัวว่าจะถูกปล้นและลักขโมย... โลกที่ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีอันตราย ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีกิน ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเจ็บป่วยโดยไม่มีทางรักษา ไม่ต้องกลัวว่าลูกหลานของพวกเขาจะไม่มีอนาคต...” (เล่ม 1 หน้า 264)

 

ฟังดูไม่ต่างจากสุนทรพจน์ “I have a dream” ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)

ส่วน “บทเรียนในประวัติศาสตร์” ที่นาวินนำมาใช้ในการต่อสู้เมื่อตกเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบสุดๆ นั้น ก็เป็นวิธีการที่เลียนแบบมาจากแผนดำเนินการอภิวัฒน์ของพระยาทรงสุรเดช ที่สามารถควบคุมกองกำลังทางทหารของเกือบทั้งประเทศไว้ได้อย่างละมุนละม่อมด้วยคนจำนวนไม่มาก

 

“แผนที่สวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดของการยึดอำนาจของไทย คือแผนของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในนักกลยุทธ์ประเภทฉลาดแต่ขี้โอ่ ที่ฝากผลงานอันโด่งดังที่สุดไว้ในเมืองไทย... ผมใช้แผนนั้นเป็นต้นแบบ...” (เล่ม 1 หน้า 260)

 

ซึ่งแผนนี้ก็สำเร็จลงได้จริงๆ ด้วยการดึงกำลังพล และควบคุมตัวขุนนางทั้งเวียงแก้วมาไว้ได้ทั้งหมดโดยละม่อม แม้ว่าเป้าหมายจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็เป็นไปเพื่อยึดอำนาจคืนมาจากกบฏสู่เจ้าของอำนาจที่แท้จริงนั่นเอง

การสร้างประเทศที่ดีของนาวินยังนำเอาบทเรียนในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของโลกอีกหลายเรื่องมาใช้ในการปรับเปลี่ยนจากดินแดนที่ปกครองกันในระบอบศักดินาที่สิทธิขาดในการปกครองทั้งหลายเป็นของ “ขุนหลวง” แต่เพียงผู้เดียว และดินแดนทั้งหลายเป็นเสมือนสมบัติส่วนตนของผู้ปกครองแต่ละแคว้น ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์หรือผนวกกันได้ผ่านการแต่งงานระหว่างผู้ปกครองหรือลูกหลาน ให้เริ่มมีความเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ใน “เกิดใหม่ครั้งนี้ฯ” เล่ม 2 เราจะได้สิ่งที่คล้ายกับ Magna Carta หรือกฎมหาบัตรของอังกฤษ ที่กษัตริย์ (ในเรื่องนี้คือขุนหลวง) ยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมายที่ออกโดยที่ประชุมร่วมของสภาขุนนาง และขุนนางเองก็ต้องยอมรับอยู่ภายใต้กฎหมายนั้น เช่นเดียวกับเนื้อหาอย่างหลักการที่ว่า “ไม่มีการเก็บภาษีเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา” ก็ด้วยเช่นกัน

และในช่วงท้ายของเล่ม 2 เราจะได้เห็นการประกาศว่า ที่แท้แล้วประเทศเป็นของประชาชน ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ดังนั้นรัฐประเทศเวียงแก้ว จะไม่ถูกผนวกเข้ากับรัฐอื่น เพียงเพราะเจ้าหญิงของประเทศไปแต่งงานกับขุนหลวงของอีกประเทศ เพราะประเทศนั้นเป็นของประชาชน ที่จะมีตัวแทนมาปกครองตัวเองผ่านการเลือกตั้ง ตำแหน่งขุนหลวงแม้จะมี ก็จะเป็นเพียงตำแหน่ง “ขุนหลวงพิธีการ” ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามประเพณีแต่ไม่ได้มีอำนาจอะไร แม้แต่การแถลงสุนทรพจน์ใดๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (เล่ม 4 หน้า 373) ดังนั้นแม้แต่เด็กหญิงหูแมวอายุสิบขวบก็ดำรงตำแหน่งที่ต่อไปจะเรียกว่า “ราชินี” ก็ได้ (เล่ม 2 หน้า 323 - 328)

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ถ้า Light Novel เรื่องนี้ ที่แท้แล้วคือแนวคิดที่ผู้เขียนแสดงออกมาว่า “ประเทศที่ดี” ในความเห็นของเขานั้นเป็นอย่างไร มีจุดที่น่าสนใจอยู่ว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการก่อตั้ง “รัฐธรรมนูญ” นี้ หฤษฎ์สมาทานแนวทางของรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษมากกว่า ที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับเดียว แต่จะประกอบไปด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องมารวมกันหลายๆ ฉบับ เช่นกฎหมายที่ว่าด้วยรัฐสภา กฎหมายว่าด้วยสิทธิ

นาวิน นั้นเชื่อใน “การวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไปของรัฐ ขณะที่เหล่าคนบนโลกนี้ค่อยๆ เรียนรู้คอนเซปต์ต่างๆ ของประชาธิปไตย ดีกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญทั้งหมดทีเดียวแล้วโยนไปทั้งเล่ม” (เล่ม 3 หน้า 79)

ซึ่งการ “วิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป” นี้ก็ปรากฏชัดเจนในการดำเนินเรื่องด้วย เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่า แม้ว่าในเรื่อง นาวินจะประกาศยอมรับอำนาจประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินไปตั้งแต่ท้ายเล่ม 2 และมีตำแหน่งราชินีพิธีการแล้วก็ตาม แต่กว่าการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ก็ปาเข้าไปตอนท้ายเล่ม 3 โดยระหว่างนั้นตัวนาวินเองก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้ความเห็นชอบของสภาขุนนางไปในระหว่างการวิวัฒนาการค่อยเป็นค่อยไปนี้

อนึ่ง นอกจากรูปแบบของ Light Novel แล้ว “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” ยังมีนำเสนอในรูปแบบของหนังสือการ์ตูนแบบเป็นการ์ตูนภาพทั้งเล่ม หรือมังงะด้วย ซึ่งปัจจุบันออกมา 3 เล่มแล้ว มีเนื้อหาประมาณครึ่งหนึ่งของฉบับ Light Novel เล่ม 1 แต่ก็อ่านง่ายกว่า และท้ายเล่มยังมีเนื้อหาสาระความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบศักดินาไทยสมัยอยุธยาที่เป็นเนื้อหาอ้างอิงจากในเรื่องสำหรับเยาวชนด้วย

“วรรณกรรม” นั้นเคยได้รับการยอมรับ และถูกใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ความคิด ทัศนคติ และอุดมการณ์ในทางการเมืองมาแล้วนับแต่ในอดีต เช่นเดียวกับที่นวนิยายเรื่อง “ปิศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นั้นก่อให้เกิดความตระหนักรู้และฮึกเหิมในการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคที่คนทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นปิศาจแห่งกาลเวลาหลอกหลอนคนรุ่นเก่าที่ยังพยายามเหนี่ยวรั้งโลกเดิมสังคมเดิม นวนิยายเรื่อง “ปิศาจ” ถือเป็นวรรณกรรมสำคัญที่ช่วยเชิดชูแนวทางอภิวัฒน์ของคณะราษฎรไม่ให้สูญหายไป และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516

ในปัจจุบัน วงการ “วรรณกรรม” ของไทยเรากลับกลายเป็นความล้าหลังที่หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ ของคนบางถิ่นบางกลุ่มมีลักษณะเป็นการช่วยกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม นิยมและแจกรางวัลกันเองในแวดวง เห็นได้จากที่รางวัลวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้น ตกอยู่กับสำนักพิมพ์เดิมสำนักพิมพ์เดียวมาถึง 4 ปีแล้ว

ทำให้ไม่แปลกใจที่ “วรรณกรรมไทย” จะถูกทิ้งถูกลืมไปจากความสนใจของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ไปเสียทุกที (เว้นก็เสียแต่คนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าไปในแวดวงช่วยกันเขียนเวียนกันอ่านที่ว่านั้น)

ดังนั้น บางที บางครั้ง การปลูกฝังอุดมการณ์และคุณค่าของประชาธิปไตย อุดมการณ์แห่งความเสมอภาค และอำนาจสูงสุดของประชาชนในรูปแบบของ Light Novel ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากกว่านี้ อาจจะเป็นแนวทางที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้มากกว่าก็ได้

เรื่องสำคัญที่ผู้อ่านควรทราบเกี่ยวกับตัวผู้เขียน คือ StarlessNight — หฤษฎ์ มหาทน นั้น เขาคือ “เหยื่อ” รายหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมในระบอบ คสช.

โดยในเดือนเมษายน 2559 หฤษฎ์กับจำเลยอีก 7 คน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักร และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีทำเพจล้อเลียน “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” หัวหน้าคณะรัฐประหาร และตัวเขากับจำเลยอีกคนหนึ่งยังถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ซึ่งในครั้งแรกเป็นการดำเนินคดีในศาลทหารในระบอบ คสช. ก่อนจะโอนคดีมาสู่ศาลอาญา

และด้วยข้อหาหลังนี้ ทำให้หฤษฎ์ต้องถูกกักขังไว้ระหว่างรอการพิจารณาถึง 70 วัน ซึ่งต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งได้พยานหลักฐานมาจากการดำเนินการซักถามในค่ายทหารที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าสามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความโดยได้รับรหัสจากจำเลยทั้ง 2 คน ขณะที่จำเลยทั้ง 2 คน ยืนยันตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้ให้รหัส จึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อความแชตที่ถูกนำมาใช้ในชั้นศาลที่ไม่ใช่ข้อความไฟล์ดิจิทัล แต่เป็นรูปแบบเอกสารที่เป็นรูปภาพ ฝ่ายจำเลยและพยานฝ่ายจำเลยจึงพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า มีการตัดต่อเรียบเรียงข้อความใหม่

หลังจากที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดีดังกล่าว หฤษฎ์ ก็เริ่มต้นเขียน Light Novel เรื่องนี้

ไม่แน่เหมือนกันว่า ความคิดที่ทำให้เขาเริ่มต้นเขียนอาจจะเป็นเรื่องเดียวกับที่นาวิน กล่าวกับตัวละครสำคัญตัวหนึ่ง ที่ตั้งใจจะล้างแค้นกลุ่มผู้กดขี่ ผู้คนที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมและต่อประเทศ และทำร้ายผู้คนเผ่าพันธุ์พวกเขาให้สิ้นซากไป หลังจากการยึดอำนาจสำเร็จแล้ว

แต่นาวินได้กล่าวว่า

 

“การทำลายของเธอไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ขุนนางพวกนี้ตายไป ขุนนางใหม่ก็ขึ้นมาแทน การกดขี่ก็ยังคงอยู่ ทาสก็ยังมีอยู่ ทุกสิ่งที่เธอเกลียดก็ยังมีชีวิตต่อไป โดยที่เธอทำอะไรไม่ได้ ...

ทางเดียวที่จะกำจัดสิ่งเลวร้าย ไม่ใช่การทำลายล้างสิ่งเก่าหรอก การทำลายสิ่งเก่าที่เลวร้ายมีแต่ทำให้สิ่งที่เลวร้ายกว่าเกิดขึ้นแทนที่ วิธีที่กำจัดสิ่งที่เลวร้าย คือการสร้างสิ่งใหม่ต่างหากล่ะ...

ถ้าเธอเกลียดโลกที่ไม่เท่าเทียม ทางเดียวที่จะทำลายมันได้คือสร้างโลกที่ทุกคนเท่าเทียมและไม่ถูกกดขี่ขึ้นมา...

การสร้างสิ่งใหม่เป็นทางเดียวที่จะทำลายโลกใบเดิมที่เธอเกลียดชัง และการมีชีวิตอยู่เป็นทางเดียวที่จะสร้างสิ่งใหม่ได้...”

 

คำพูดของนาวินข้างต้นนี้ ก็เป็นเหมือนครั้งหนึ่งที่หฤษฎ์เคยฝากคำสัมภาษณ์ผ่านมิตรสหายของเขาออกมาจากเรือนจำ ในช่วงเวลาที่เขายังถูกควบคุมตัวอยู่ว่า

 

“กฎสำคัญที่สุดข้อแรกคือ อย่าตาย และข้อสอง อย่าทิ้งความหวัง”

 

อย่าทิ้งความหวังแม้จะเป็นคืนที่ฟ้าไร้ดาว.

 

หมายเหตุ :

เนื่องจากสำนักพิมพ์ไม่ส่งสายส่ง จึงไม่มีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป จึงหาซื้อตัวเล่มหนังสือ Light Novel “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” ได้โดยตรงที่ พะโล้สำนักพิมพ์ https://www.palonovel.com/ ร้าน animate Bangkok MBK , ร้าน บากะตูน MRT ลาดพร้าว หรือซื้อทาง eBook ได้ทางช่องทางร้านขาย eBook ชั้นนำทุก Platform

 

บรรณานุกรม :

  • StarlessNight (หฤษฎ์ มหาทน) . เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ (เล่ม 1 – 4) (พะโล้สำนักพิมพ์ : กรุงเทพฯ, 2561 - 2565)
  • The101World. เมื่อ 112 ไม่อนุญาตให้คุณมีทั้งงานและความสัมพันธ์: 6 ปีแห่งการสูญเสียโอกาสของ หฤษฎ์ มหาทน . สืบค้นจาก : https://www.the101.world/harit-mahaton-interview/
  • The Standard. ยกฟ้อง ‘หฤษฎ์ มหาทน’ นักเขียนไลต์โนเวล คดี ม.112 หลังต่อสู้ยาวนาน 6 ปี ศาลชี้พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ . สืบค้นจาก : https://thestandard.co/dismissal-of-harit-mahathon/
  • ประชาไท. รายงาน: ‘หฤษฎ์ มหาทน’ วรรณกรรมคือเสรีภาพ. สืบค้นจาก : https://prachatai.com/journal/2016/05/65687