ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

กว่าจะมาเป็น “สวนเสรีไทย”

1
กันยายน
2566

Focus

  • ความต้องการจัดการแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนและถ่ายเทออกไปเมื่อน้ำในแม่น้ำลำคลองต่ำลง ได้นำไปสู่การปรับปรุงบึงน้ำที่มีอยู่เดิม คือ บึงตาทอง และสวนน้ำบึงกุ่ม ให้กลายเป็นสวนน้ำเสรีไทย โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของคณะเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีศูนย์เรียนรู้กิจกรรมเสรีไทยอยู่ภายใน (อาคารเสรีไทยอนุสรณ์)  และมีกรุงเทพมหานครรับผิดชอบดูแล
  • ขบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องการรวมหัวใจของชาวไทยในชาติทั้งปวงที่รักเสรีภาพ ตอบสนองความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องสันติภาพอย่างเดียว แต่คิดถึงเรื่องภราดรภาพด้วย ชาวไทยจึงสมควรสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และช่วยกันรักษาเจตนารมณ์ที่สำคัญของ 2475 เอาไว้ให้ได้เท่าที่จะทำได้

 

 

ความเป็นมาเป็นไปของ “สวนเสรีไทย” เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2526 ตอนนั้นเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ขึ้น บริเวณที่ถูกกระทบมากที่สุด คือบริเวณตั้งแต่สุขาภิบาล 1-3 รามคำแหง บึงกุ่ม และในส่วนหนึ่งของบางกะปิด้วยเช่นเดียวกัน ตอนนั้นน้ำขังที่บริเวณตรงนี้ ไม่รู้จะเอาออกอย่างไรนั้นเป็นหัวใจที่สำคัญ

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะหาทางในการที่จะมีบึงใหญ่ๆ เอาไว้สักที่หนึ่ง ที่สามารถจะเชื่อมโยงกับคลองใหญ่ได้ คือคลองแสนแสบ บึงดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นที่รอรับน้ำ ในขณะที่ฝนตกลงมามาก และถ่ายออกไปเมื่อน้ำในแม่น้ำลำคลองต่ำลง ก็จะทำให้น้ำจากถนนมาอยู่ในบึงนี้แทน

จากตรงนั้นให้ กทม. โดยท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้น อาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หาสถานที่ในการที่จะเป็นที่เก็บน้ำดังกล่าว ก็ไปเจอสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘บึงตาทอง’

‘บึงตาทอง’ มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ในพื้นที่ประมาณสัก 80-90 ไร่ด้วยกัน ที่บึงตาทองมีวัชพืชอยู่เต็มไปหมด มีการตื้นเขิน มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในบึง สภาพเหมือนกับไม่เป็นบึง สภาพเหมือนเป็น Swamp (หนองน้ำ) ที่มีแต่น้ำที่เน่าเหม็นด้วยซ้ำไป และเป็นบึงที่ไม่มีทางออกไปสู่ลำคลองใหญ่ หรือคลองแสนแสบได้ เป็นบึงที่ตายอยู่ตรงนี้

ท่านผู้ว่ากฤษฎา ได้ใช้ความพยายามในการที่จะให้ทางกทม. ได้ทำการบูรณะบึงดังกล่าว กำจัดวัชพืชออก หาทางในการที่จะขุดลอกบึงให้สามารถที่จะรับน้ำได้เพิ่มมากขึ้น แต่ตอนนั้นยังไม่สามารถที่จะทะลุออกไปที่คลองแสนแสบได้ เอาเฉพาะในส่วนนี้ก่อน เช่นเดียวกัน อ.กฤษฎาบอกว่า ถ้าอย่างนี้มีพื้นที่ของโรงเรียนตรงนี้อยู่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งสำนักการศึกษาดูแลอยู่ บอกว่าจะขอแบ่งส่วนหนึ่งได้ไหม เอามาทำเป็นสถานที่ที่เป็นหน่วยงานที่กำกับการในเรื่องของการบริหารงานน้ำ หรือว่าในวันหลังอาจจะทำเป็นห้องสมุดขึ้นมา ก็ได้งบประมาณส่วนหนึ่งมาทำเป็นอาคารกำกับน้ำเล็กๆ ในบริเวณ 5 ไร่ บนพื้นที่ของโรงเรียน

 

 

หลังจากนั้น อ.กฤษฎายังได้ทำคุณูปการอีกอย่างที่สลักสำคัญมาก คือล้อมรั้วในบริเวณพื้นที่รอบบึงตาทอง และสามารถที่จะหางบประมาณส่วนหนึ่งมาบูรณะพื้นที่ landscape (ภูมิทัศน์) ข้างล่าง และให้สำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช่สำนักสิ่งแวดล้อม เป็นสำนักเรียกว่าสวัสดิการสังคม ช่วยดูแลในพื้นที่ที่เป็น landscape

อย่างไรก็ตาม พอตอนที่อ.กฤษฎาไปแล้ว ผมก็เข้ามาช่วยงานต่อของกทม. ก็เอางบประมาณซึ่งได้รับเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ครั้งแรกสำหรับสวนแห่งนี้คือ ได้มาประมาณ 14 ล้านบาทจากสภากทม. เอามาทำโรงเรียนข้างหลัง และเอามาสร้างอาคารบ้านพัก ห้องสมุด อาคารกำกับน้ำเพิ่มเติมขึ้นอีก ก็พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ขอให้ทางสำนักระบายน้ำ หาทางในการเจาะเชื่อมบึงออกไปยังคลองแสนแสบ สำนักระบายน้ำก็สามารถทำได้ สามารถที่จะรับน้ำเข้าออกจากคลองแสนแสบได้ตลอดเวลา

มีอยู่ครั้งหนึ่งอ.ดุษฎีมาหารือกับผมที่กทม. บอกว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะมันมีสวนอีกแห่งหนึ่งที่เรียกว่า สวนน้ำบึงกุ่ม ใกล้ๆ กัน หรือบางทีก็มีเชื่อมโยงด้วยกันด้วยซ้ำไป เอามารวมกัน แล้วให้ชื่อว่า สวนน้ำเสรีไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของคณะเสรีไทย ซึ่งมีกำลังพลไม่ถึงหมื่นคนในช่วงนั้น แต่ว่าได้ต่อสู้กับกองกำลังมหาศาลของญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ด้วยความที่วิริยะอุตสาหะในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ

ผมเชื่อเหลือเกินว่า คณะเสรีไทย ในวันนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่า ในที่สุด หลังจากวันที่ 15 สิงหาคม คือเมื่อวานนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม วันที่ 16 เดือนนี้ หรือ 78 ปีที่แล้ว ท่านอ.ปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศเป็นวันเสรีภาพของประเทศไทยขึ้นมา

อยากจะเรียนอย่างนี้ว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมาอีก 1 เดือน อ.ปรีดีก็ได้ให้คำแนะนำว่า เหล่าคนที่เป็นอาสาสมัครทางด้านเสรีไทยที่ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาตลอด ให้สลายตัวลงไป อย่าไปพูด อย่าไปกล่าวถึงเรื่องของเสรีไทยว่าตนเองเป็นนั่นเป็นนี่มาในอดีตเป็นอันขาด ให้ลืมเลย เพราะอ.ปรีดีเชื่อว่าจริงๆ แล้ว งานหรือหัวใจของเสรีไทย ไม่ใช่เฉพาะคนหมื่นคนหรือในกระบวนการเท่านั้น มันเป็นเรื่องของหัวจิตหัวใจของคนในชาติทั้งหมดที่รักความเสรีภาพ รักอิสระเสรีภาพ แล้วก็ได้ร่วมต่อสู้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงโดยตรงในการที่จะเสี่ยงภัย เสี่ยงอันตรายโดยตรง แต่คนที่เป็นเจ้าของเสรีภาพอันนี้นั้น คือคนที่เราจะเรียกรวมกันว่า เสรีไทยทั้งปวง นี่คือความที่อ.ดุษฎี เล่าให้ฟังวันนั้น

เป็นการตกลงว่า เราจะมี “สวนเสรีไทย” ขึ้น มีการสร้างศูนย์เรียนรู้กิจกรรมของเสรีไทย ซึ่งปีที่แล้วฝนยังรั่วอยู่ ในปีนี้ หลังจากอ.ชัชชาติได้ให้งบประมาณมา 8 แสน แต่ใช้ไปเพียง 5 แสนบาท ในการทาสี ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของน้ำรั่ว ของหลังคา จนเป็นผลสำเร็จออกมาได้ถึงขนาดนี้ ซึ่งจริงๆ อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ เสร็จสิ้นขึ้นมาจริงๆ ตอนแรกตั้งแต่ปี 2544 ด้วยซ้ำไป มีนายกรัฐมนตรีมาเปิด สมัยนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มาเปิดในปี 2546

 

 

เมื่อครู่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่า หวังเหลือเกินว่าวันหนึ่งงานของเสรีไทยจะเป็นงานระดับชาติ ไม่ใช่ระดับท้องถิ่นอย่างเช่นกทม. เท่านั้น ซึ่งผมว่าในอดีตเราเคยผ่านมาแล้ว ที่มีระดับนายกรัฐมนตรีมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่รู้นายกฯ จะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ยังมีอภิสิทธิชน 250 คนอยู่ ไม่รู้เราจะได้ตัวแทนของเราที่มีความเดือดความร้อนแต่ประชาชนเหมือนอย่างเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ตั้งขึ้นมาไว้ได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามจะใช้ความพยายามในการผลักดันให้ระดับชาติได้เข้ามามีส่วนร่วม ในเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่ และเป็นการเฉลิมฉลองวันเสรีไทยในวันนี้

ในที่สุดนี้ ผมอยากจะเรียนว่า ในช่วงที่ผมช่วยงานเขาอยู่ที่กทม. นอกจากจะมีสวนเสรีไทยเกิดขึ้นแล้ว มีสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันอีก 2 เรื่องด้วยกัน คือ การตั้งชื่อตรงถนนใต้เลียบทางด่วนว่า ถนนปรีดี และในซอยคลองตัน 71 ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าสุขุมวิท 71 ก็ชื่อว่า ถนนปรีดี ในโอกาสนั้นด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบุคลากรที่สำคัญของชาติที่ช่วยให้เรามีผืนแผ่นดินยืนอยู่ได้จนทุกวันนี้

บัดนี้ ผมก็อยากจะขอจบลงตรงจุดที่ว่าที่อ.ปรีดีเน้นในเรื่องสันติภาพนั้น ท่านไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องสันติภาพอย่างเดียว ท่านคิดถึงเรื่องภราดรภาพด้วย เพราะฉะนั้น ลูก หลาน เหลน คนไทยทั้งปวงที่สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในเบื้องโน้น จงช่วยกันรักษาเจตนารมณ์ที่สำคัญของ 2475 เอาไว้ให้ได้เท่าที่จะทำได้ดีที่สุด

ขอกราบขอบคุณท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่านที่อยู่ในวันนี้ ที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ คือ สำนักรักษาความสะอาด สำนักระบายน้ำ สำนักวัฒนธรรม 3 สำนักช่วยกันดูแลสถานที่แห่งนี้ ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/100064881360154/videos/1003049954308779

ที่มา : ดร.พิจิตต รัตตกุล “กว่าจะมาเป็น “สวนเสรีไทย” กิจกรรมวันครบรอบ 78 ปี วันสันติภาพไทย วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ณ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย กรุงเทพมหานคร.