ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เชียงรายเปิดโลกมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 : The Open World

9
ธันวาคม
2566

Focus

  • งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเชียงราย Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ระหว่างต้นปี 2565 - สิ้นปี 2566 ที่ประกอบด้วยหลากหลายกิจกรรมของวัฒนธรรมพื้นถิ่นของไทยและเชื่อมโยงศิลปินไทยกับศิลปินนานาชาติ ภายใต้แนวคิด ‘เปิดโลก’ เกิดจากความร่วมมือของหลายสถาบันการศึกษา ทั้งใน จ. เชียงราย และกรุงเทพฯ และสามารถเสริมกระแสศิลปกรรมท้องถิ่นให้เป็นงานสร้างชาติ นอกเหนือด้านเศรษฐกิจ
  • โซนแสดงงานจัดแบ่งเป็น 3 ส่วนในหลายพื้นที่ คือ 1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ จัดแสดงในเขตอำเภอเมืองและเชียงแสน 2) ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง และ 3) กิจกรรมพิเศษ เช่น ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่นๆ และการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆ
  • ท่ามกลางการจัดแสดงงานในหลายอำเภอ ผู้นำองค์การด้านศิลปกรรมหลายท่านได้แสดงความเห็นที่มีคุณค่า อาทิ การนำเอาชาวบ้านมาเป็นศิลปิน การสร้างแรงบันดาลใจจากงานศิลปินและวัฒนธรรมไทยให้เกิดกับชาวต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาของทุกสรรพสิ่ง ความแตกต่างของมุมมองเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานศิลปะ และศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่นเดียวกับที่ศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และธรรมชาติ งานศิลปะ และการระหนักรู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่

 

 

หลังจากเปิดตัว “โครงการมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เชียงราย” ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2565 จนถึงขณะนี้สิ้นปี 2566 Thailand Biennale,Chiang Rai 2023 สามารถเลี้ยงกระแสกระตุ้นการตื่นตัวของทุกฝ่ายได้ดีแบบข้ามปีไม่มีแผ่ว หัวใจของการทำงานครั้งนี้คือการนำศิลปินไทยและต่างชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมร้อยศิลปะและวัฒนธรรมไทยกับสากล โดยมี TBC เป็นสื่อกลาง นอกจากแผนการจัดแสดงงานที่น่าสนใจแล้ว จุดเด่นมีความเป็นพิเศษที่แตกต่าง คือการสร้างกระแสด้วยแผนงานให้การศึกษาวิชาศิลปะนอกตำรากับประชาชน โดยศิลปินต่างชาติเจ้าของผลงานหลายคน จัดกิจกรรม Workshop ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับผลงาน เป็นการเตรียมความพร้อมแบบชิมลางอย่างรื่นรมย์ก่อนชมผลงานจริง เพื่อประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเข้าถึงงานศิลปะในระดับที่รับได้ทุกกลุ่มโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากความร่วมมือของหลายสถาบันการศึกษาทั้งในเชียงรายและกรุงเทพฯ (มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ) และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายฝ่าย นับเป็นกำลังเสริมที่ช่วยเพิ่มให้งานสร้างชาติครั้งนี้มีพลังได้มากกว่าการคาดหวังด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

 


Press Conference : Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 


Chalermchai Kositpipat : Press Conference : Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 


Chiang Rai Art Carnival 2023 : Photo: ไทยบันเทิง - ไทยพีบีเอส

 

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการด้วยปณิธานประสานประโยชน์จากประวัติศาสตร์พื้นที่กับวัฒนธรรมพื้นถิ่นของไทย เชื่อมโยงสล่าเข้าหาศิลปินนานาชาติ คาดหวังการแข่งขันสร้างงานในสายศิลปินเพื่อพัฒนาเครือข่ายศิลปะไทยสู่ระดับสากลและคาดการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหัพภาคมากกว่าที่เคยมีมา ณ หอนาฬิกา Landmark ของเมืองเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 “Chiang Rai Art Carnival 2023” ในช่วงค่ำคืน ยืนยันความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน แสดงความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าบ้านด้วยอลังการขบวนบอกศักยภาพจาก 18 อำเภอ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง โชว์จุดเด่น Represent ความเป็นเมืองอารยะมหานครแห่งศิลปะและวัฒนธรรมของเชียงราย แต่ละขบวนสื่อสารได้กว้างและชัดเจนกว่าแค่การเฉลิมฉลอง ด้วยสองพิธีกรของงานที่สนานกับการอธิบายขยายความหมายของสัญลักษณ์ในแต่ละขบวนที่ตกแต่งแข่งกันอย่างวิจิตร ให้ข้อคิดและขยายความ “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ” ที่เปิดตัวภายใต้แนวคิด ‘The Open World’ หรือ ‘เปิดโลก’ … เพราะ “โลกเปิดมานานแล้ว เพียงเราต้องเข้าไปสมทบ” อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ประติมากร อดีตนายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าว

 

 

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้จัดงาน ให้ความหมายที่มาของแนวคิด ‘เปิดโลก’[1] หรือ ‘The Open World’ ในปี 2023 ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปปางเปิดโลก ที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจสื่อความถึงปัญญาและการตื่นรู้ รวมถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริงและนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ดีกว่าอีกครั้งได้หรือไม่ อีกทั้งคำว่า ‘เปิดโลก’ นี้ ยังสามารถเชื่อมโยงและร้อยเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายร้อยปีของเมืองเชียงรายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย

Thailand Biennale ให้ความหมายของสัญลักษณ์งานที่ได้รับการออกแบบจาก แมงสี่หูห้าตา สัตว์ในตำนานของชาวล้านนาที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะอย่างแพร่หลาย โดย ดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน เป็นชาวอเมริกันผู้ทำวิจัยเรื่องศาสนาพุทธในไทยและใช้ชีวิตอยู่ในเชียงราย โดยมี ‘แมงสี่หูห้าตา’ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจใช้เวลา 15 ปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตำนานพื้นบ้านและความเชื่อทางพุทธศาสนาในเชียงรายโดยเฉพาะ จำนวนสี่หูและห้าตานั้นแสดงถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาคือพรหมวิหาร 4และศีล 5 ตามลำดับ เป็นการให้คติแก่พุทธศาสนิกชนให้พึงรักษาและปฏิบัติหลักธรรมดังกล่าว

 


Chiang Rai Art Carnival 2023 : Photo : ไทยบันเทิง - ไทยพีบีเอส

 

โครงการมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เชียงราย ถูกวางแผนกระจายหลายชั้นจัดประชันผลงานศิลปะฝีมือศิลปินไทยและนานาชาติจาก 23 ประเทศทั่วโลกรวม 60 ชีวิต ทั่วพื้นที่ 4 อำเภอ (แผนแรกเริ่มต้องการกระจายให้ทั่วทั้ง 18 อำเภอ แต่ต้องปรับลดลงเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด) เฉพาะในอำเภอเมืองเชียงราย 10 แห่ง พื้นที่กิจกรรมพิเศษ 2 แห่ง, อีก 8 แห่งในอำเภอเชียงแสนและ 13 พาวิลเลียนศิลปะจากศิลปินทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 33 แห่ง เริ่มเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 โดยนายกคนที่ 30 เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานเปิดงานประวัติศาสตร์ศิลป์ถิ่นเชียงรายร่วมจารึกประวัติการณ์ครั้งสำคัญที่ไม่ใช่แค่ 143 วัน ของการจัดแสดงงาน แต่เป็นวาระเปิดบ้านหลังใหม่ของศิลปินและเปิดหอศิลป์ร่วมสมัย CIAM ของเมืองในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

โซนแสดงงานจัดแบ่งเป็น 3 ส่วน ล้วนน่าสนใจชวนไปเสพศิลป์ด้วยกัน ได้แก่

1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) จัดแสดงในเขตอำเภอเมืองและเชียงแสน

2) Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง

3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่นๆ และการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆ

 


Chiang Rai Art Carnival 2023 : Photo : ไทยบันเทิง - ไทยพีบีเอส

 

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 [2]เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. สรุปผลงานของกระทรวงวัฒนธรรมในการจัดงาน Thailand Biennale ตามลำดับคือครั้งที่ 1 ณ จังหวัดกระบี่ Thailand Biennale, Krabi 2018 มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2.6 ล้านคน สร้างรายได้ไปกว่า 864 ล้านบาทและครั้งที่ 2 ณ จังหวัดนครราชสีมา Thailand Biennale, Korat 2021 มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 2 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3 พันล้านบาท

และครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน ต่างคาดการณ์ตรงกันว่า[3] เชียงรายจะสามารถสร้างมูลค่าให้แก่งานศิลปะร่วมสมัยด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 5 ล้านคน เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 8,000 อัตราและสามารถกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (พะเยา แพร่ น่าน) ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท

ไม่ว่ารัฐจะคาดหวังอย่างไร เชียงรายก็สร้างปรากฏการณ์กระตุ้นให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมในอีกมิติที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการฯ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนทำงานศิลปะ เพราะที่ผ่านมาสองครั้งทั้งที่ จ.กระบี่ และจ. นครราชสีมาหน้าตาไม่ต่างจากการโชว์งานของศิลปินนานาชาติที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง แต่เชียงรายแตกต่างเพราะความเข้มแข็งของศิลปินกลุ่มใหญ่ที่รวมตัวกันในนาม “ขัวศิลปะ” และมีแกนนำคนสำคัญของจังหวัด ‘เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์’ คือฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนบทบาทการต่อสู้เพื่อให้คนทำงานศิลปะได้มีที่อยู่ที่ยืนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมานานหลายสิบปี

อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าวว่า “เราเอาจริงทำจริง เตรียมงานกันมาหลายเดือนแล้วครับ ทุ่มเททุกอย่าง ส่งพี่น้องศิลปินเราร่วมสามร้อยกว่าคนเข้าไปร่วมกับพี่น้องประชาชนแทรกซึมไปในทุกอำเภอตั้งแต่เมื่อสามปีที่ผ่านมาแล้วครับ เพราะว่าเราเห็นจากงานที่ กระบี่ โคราช มาเจอของจริงที่นี่เชียงรายแตกต่างแน่นอน เราทำทุกคนให้เป็นศิลปินเอาชาวบ้านทุกคนเป็นศิลปินร่วมกัน จะทำให้คนในอีกซีกโลกหนึ่งได้เห็นว่าเชียงรายเราทำอะไรกันอยู่”

 


Chiang Rai Art Carnival 2023 : Photo: Thailand Biennale

 

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จึงมีศิลปินไทยในสัดส่วนร้อยละ 10

แม้ดูว่ายังน้อยไป แต่ยังต่างจาก Thailand Biennale ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งศิลปินไทยได้เข้าร่วมไม่มากนัก แต่เพราะศักยภาพของภัณฑารักษ์และศิลปินชาวเชียงรายที่เข้มแข็ง ผนึกกำลังกันหลายร้อยคนกระจายตัวไปมีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลังศิลปินต่างชาติจากพาเหรดถึงพาวิลเลียนเปลี่ยนโลกทัศน์ ชูศักยภาพเจ้าถิ่นร่วมกับศิลปินอินเตอร์นำเสนอผลงานที่เป็นส่วนผสานของสองฝั่งดั่งคำ East Meet West ในแนวคิด “เปิดโลก” The Open World ช่วยกระตุ้นการตื่นตัวจากทุกภาคส่วน

งานนี้จัดว่ารัฐมาถูกทางตามที่ถูกถางไว้ให้แล้ว เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือต้องเริ่มจาก ‘ของ’ ที่มีอยู่เดิม (มากมาย) มาพัฒนาเพิ่มให้เป็นสิน (ศิลป์) ทรัพย์ซึ่งสามารถนับอนันต์ได้ไม่สิ้นสุดเพราะคือพลังบริสุทธิ์จากมวลชน  (Organic)

 


Chiang Rai Art Carnival 2023 : Photo: ขัวศิลปะ

 

การผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับศิลปินนานาชาติ

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แสดงความคิดเห็นในงานแถลงข่าว 19 พฤศจิกายน 2566 ว่า

“งานศิลปะของศิลปินโลกเหล่านี้จะเป็นที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนแก่ศิลปินไทย ให้ไปสู่ระดับโลก นั่นคือมูลค่าเพิ่มของงานศิลปะไทยก็จะดีขึ้น วงการศิลปะของเราจะเป็นธุรกิจที่ได้เงินเข้าประเทศมากมาย คือสิ่งที่เราคิดและเห็นว่ามันแน่นอนมาก

เพราะความมีศักยภาพสูง เป็นการแข่งขันกันในการสร้างงานศิลปะระหว่างกลุ่มศิลปินที่ไปอยู่ตามอำเภอต่างๆ ด้วย เป็นงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมดไม่ใช่อย่างที่เราเคยเห็น เป็นงานที่งดงามแปลกใหม่ ชาวต่างชาติก็จะมาได้แรงบันดาลใจจากเรา มันเป็นงานศิลปะที่งดงามและแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจแน่นอน ไม่ใช่งานกองอยู่ที่บ้านของเขาแล้วเอามา

เป็นการให้เขามาเรียนรู้ ณ เชียงรายมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม ทุกอย่างที่เห็นแล้วเอาความรู้สึกต่อประเทศไทยไปสร้างงานศิลปะ กลับประเทศเขาก็เอาไปเผยแพร่ว่านี่คืองานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นมาที่ประเทศไทย ก็จะมีกลิ่นไอความรู้สึกที่เป็นไทย นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราได้เผยแพร่ไปยังอีกซีกโลก โดยศิลปินเป็นผู้นำวัฒนธรรมของเราออกไป นำความรู้สึกต่อธรรมชาติ วัฒนธรรมออกไปเผยแพร่ต่อที่บ้านเขา ไปอยู่ในมิวเซียมระดับโลก จะทำให้เกิดการเผยแพร่ความเป็นชาติของเราในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นี่เป็นความสำคัญในทุกประเทศก็ทำกัน เชิญศิลปินไทยไปสร้างงานจะขายไปหรือมอบให้พิพิธภณฑ์ก็ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งนั้น

คนชอบศิลปะทุกคนจะต้องมาที่เชียงราย งานเบียนนาเล่มันถูกจัดขึ้นในประเทศที่เจริญๆ ทุกประเทศ ไทยเราก็ถือว่าเป็นประเทศที่เจริญเหมือนคนในทุกประเทศเดินทางไปดูงานนี้ในต่างประเทศ เราก็ต้องเดินทางไปดูของเขาในอิตาลีในญี่ปุ่นเราก็ไปดูกัน เขาก็จะมาดูเรา คนที่ชอบงานศิลปะก็จะมาดูกัน เพราะงานศิลปะมันเปลี่ยนตลอดเวลา งานศิลปะของโลกเป็นเหมือนแฟชั่นระดับโลก คือเป็นงานศิลปะที่ใหม่ที่สุดในโลก ดังนั้นศิลปินเหล่านี้ก็จะใหม่ก้าวหน้าตลอดเวลา เป็นการให้การศึกษาแก่เยาวชนแก่วงการศิลปะของเราด้วย ขณะเดียวกันเราก็มีคนที่เป็นศิลปินผู้ที่ชื่นชอบศิลปะจากทุกประเทศเมื่อก่อนต้องไปดูที่สิงคโปร์ ตอนนี้มาที่บ้านเราเงินก็จะเข้าประเทศไทย”

 


ผลงาน อาจารย์ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ : ภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

 

จากนโยบายเร่งสร้างการยอมรับปรับการเรียนรู้ สู่การพัฒนาเครือข่ายศิลปะร่วมสมัยไทยไปสู่สากล มีการนำสื่อมวลชนเข้าทำข่าวรายงานความคืบหน้าของการติดตั้งงานเมื่อ วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา หลายจุดอยู่ที่ขั้นตอนที่เกือบสมบูรณ์แล้ว (แต่ก็มีงานศิลป์บางส่วนที่ต้องการให้ผู้ชมเห็นขั้นตอนการทำงาน จึงยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์) อาทิ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (Chiang Rai International Art Museum : CIAM 2023), ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน, อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์คนเก่งของเชียงราย[4] เป็นไกด์ให้ข้อมูลที่แม่นยำ ลึกซึ้งและเข้าถึงได้ง่ายตลอดงาน

“เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากและเป็นหน้าที่ตรงของผมเลยก็คือการเชื่อมโยงศิลปินท้องถิ่นเข้ากับศิลปินนานาชาติของ Thailand Biennale นี่เป็นนโยบายหลักของทีมภัณฑารักษ์เชียงราย Inclusive คืออยากให้ชุมชนสังคมของเชียงรายมีส่วนร่วมกับงานเบียนนาเล่ให้มากที่สุด ในรายชื่อที่ผมดูแลมีศิลปินไทยตัวแทนชาวเชียงราย 6 คน สำหรับนิทรรศการหลักที่อยู่ใน Main Show (ชาตะ ใหม่วงศ์,บูสึ อาจอ, สมลักษณ์ ปันติบุญ, สมพงษ์ สารทรัพย์, ทรงเดช ทิพย์ทองและศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ) เรามี 5 พาวิลเลียนที่ประกอบด้วยศิลปินเชียงรายประมาณ 200 กว่าคนและอีก 62 บ้านศิลปิน การทำงานของศิลปินต่างชาติหลายคนเช่น ไมเคิล ลิน ศิลปินชาวไทเป คนที่เป็นมือเพนท์ทั้งหมดคือศิลปินรุ่นใหม่ของเชียงราย งานของ เรียวสุเกะ คิโดะ ชาวญี่ปุ่น ก็ทำงานร่วมกับสล่า คำจันทร์ ยาโน ศิลปินช่างไม้อาวุโสของเชียงราย ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ครับ”

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 

อุทยานศักดิ์สิทธิ์ประสาทศิลป์

หลากผลงานที่จัดแสดงในพื้นที่หลักหลายชิ้นเป็นงาน Wood Art ขนาดใหญ่ที่ประณีตงดงามถูกติดตั้งถาวรไว้ในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนา เช่น ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน, อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ ด้วยเจตนาแสดงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยจิตที่นอบน้อมต่อ ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นชื่นเย็น เป็นที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของบรรพชนคนเผ่าไทในอดีต ที่มีจารีตต่อต้นไม้ใหญ่ว่าเสมือนผู้อาวุโสในสรวงสวรรค์ที่ควรเคารพนบนอบตอบแทนคุณด้วยจิตคารวะยิ่ง ยังยืนยันให้ร่วมกันตระหนักในคุณค่าด้วย ‘คำขอขมาไม้’ ใต้บันไดทางขึ้น “หอคำแม่ฟ้าหลวง” ก่อนล่วงสู่ศักดิ์สิทธิ์สถานแหล่งรวมงานมรดกภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและปฏิมากรรม จากทุกจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งมีผู้ศรัทธานำมาบริจาครวมกันไว้ที่ “ไร่แม่ฟ้าหลวง” ท่ามกลางพันธุ์พฤกษ์ผนึกล้อม หลายต้นมีอายุร่วมร้อยปียืนเด่นสงบสง่าร่วมต้อนรับผู้มาเยือนเหมือนทิพยเนตรในเขตเทวสถานแห่งนี้…

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 

คำขอขมาไม้ใน หอคำแม่ฟ้าหลวง

ท่านเติบกล้าในป่าอันเอมอิ่มด้วยอุทกธาร
รุ้งตะวันทาบทาลำต้นสล้างเสลา
พุ่มเพราอันร่มเย็นของท่าน
ทำให้หมู่นกเผลอร้องเพลงโดยมิตั้งใจ
ให้อภัยเถิด
มิได้ชลอท่านมาสู่แห่งนี้
ด้วยล้อเลื่อนอันประดับพู่บุปผา
มิได้ห่อหุ้มท่านด้วยแพรไหมเนื้อเนียนนุ่ม
มิได้ชะโลมไล้ท่านด้วยคันธรสอันหอมหวาน
ขอท่านจงอยู่เย็นอยู่สุข ณ ที่นี้
ประกาศความงามมหัศจรรย์ของสีและเนื้อไม้
จรรโลงให้ผู้คนประจักษ์ในคุณค่าของป่าเขา
นับเนื่องจากท่านขอให้พฤกษ์แพร่ผงาดเป็นอสงไขย

 


อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (หอคำแม่ฟ้าหลวง)

 

หนึ่งในหลายผลงานล้ำค่าตัวแทนของงานทั้งหมดที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่าง คือยุ้งฉางข้าวเก่าที่ถูกสลักเสลาให้แลสล้างบนพื้นที่ว่างของเนื้อไม้ มองคล้ายร่องรอยการเดินทางของปลวก แต่เป็นงานศิลปะประณีตของศิลปินจากญี่ปุ่น เรียวสุเกะ คิโดะ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมงานกับสล่าคำจันทร์ ยาโน ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Thailand Biennale, Chiang Rai ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ต้องการให้ผู้มาชมงานได้เห็นกระบวนการทำงานของศิลปิน จึงพร้อมเปิดงานในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ขณะที่งานคืบหน้าไปถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีภัณฑารักษ์คนเก่ง อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ร่วมถ่ายทอดแนวคิดในการสร้างงาน

อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ : ในผลงานที่ผ่านมาของคิโดะแม้ Object มีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว แต่เขายังสนใจการสลักเสลาพื้นที่ว่างที่อยู่ใน Object ต่างๆ แต่เมื่อมางานนี้เขาต้องการจะทำชิ้นงานให้ใหญ่ขึ้น สนใจวัฒนธรรมชาวนา วัฒนธรรมพื้นถิ่น แล้วพบว่ายุ้งข้าวค่อยๆ หายไปจากวัฒนธรรมของชาวนา เพราะไม่มีการเอาข้าวเข้ายุ้งอีกแล้ว เกี่ยวด้วยรถเสร็จไปโรงสีเลย ขายตรงเลยไม่มีการเก็บข้าว แล้วยุ้งข้าวในทางภาคเหนือก็หมดหน้าที่ เขาจึงนำยุ้งข้าวมาเป็นแนวคิดในการสลักเสลาพื้นที่ว่าง เพราะสนใจหน้าที่ของยุ้งข้าวคือการเก็บรักษา เมื่อมันถูกเจาะถูกฉลุแล้วเขาตั้งคำถามว่า ยุ้งข้าวยังมีความหมายเหมือนเดิมไหมในวัฒนธรรมของไทย?

ขั้นตอนการทำงานของศิลปินยื่นขอมาแต่แรกแล้วว่าอยากจะทำงานกับศิลปินท้องถิ่น เราติดต่อ อาจารย์คำจันทร์ ยาโน ซึ่งเป็นศิลปินที่แกะสลักด้ามของกระบวย (วัตถุที่ใช้ตักน้ำขนาดเล็กของใช้พื้นถิ่นไทยทุกภาค) อาจารย์ก็อยากจะมาร่วมงานด้วย คิโดะ เอาภาพให้ดูว่าที่ผ่านมาเขาทำงานยังไงมีเศษไม้ตัวอย่างที่เขาเคยแกะสลักมาให้อาจารย์ดูและที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือการเปลี่ยนเครื่องมือ คือแต่ก่อนศิลปินเชียงรายใช้สิ่วใช้ฆ้อน แต่ศิลปินญี่ปุ่นใช้นากานิชิ เป็นเครื่องมือไฟฟ้าขนาดเล็กสามารถแกะสลักได้ละเอียดลออมากยิ่งขึ้นรถ อาจารย์คำจันทร์ก็ได้มาเรียนรู้การใช้เครื่องมือไฟฟ้าในการแกะสลัก เขาคุยกันผ่าน Applicationแปลภาษาสนุกมาก ทำให้เวลาที่อยู่ด้วยกันเกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง ทั้งเรื่องการทำงานการใช้เครื่องมือ แม้กระทั่งทานอาหารกลางวันร่วมกันก็เป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เป็นการผูกมิตรภาพที่ดีอย่างยิ่ง

ที่มาของลวดลายเขาพูดถึงเชื้อรา ไลเคน (lichen[5] พืชโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนพืชชั้นสูงหรือพืชมีดอก เกิดจากการรวมตัวของ “รา (Fungi)” และ “สาหร่าย (Algae)) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกาะตามต้นไม้ ขณะเดียวกันเขามองถึงเชื้อโรค โรคระบาด ไวรัส แบคทีเรียต่างๆ ที่เกาะกินทำลาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปลี่ยนหน้าที่ของยุ้งข้าวไปเป็นพื้นที่ใหม่

 


กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ

 

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และภัณฑารักษ์[6] ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

งานมีความหมายเฉพาะของเขาด้วยค่ะ ตัวศิลปินเปรียบยุ้งข้าวเหมือนร่างกายคนเรา ส่วนที่เขาแกะสลักเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือว่าเป็น Licovid เหมือนช่วงเวลานั้นร่างกายถูกแบคทีเรียถูกไวรัสกิน เหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่เข้ากับยุคสมัยด้วย สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะเน้นย้ำคือว่า ในงานเบียนนาเล่ทุกแห่งที่เราเอางานไปวางเป็น Site Specific (ศิลปะเฉพาะจุดศิลปินเจาะจงพื้นที่ในการสร้างงาน) พวกเราไปหลายแหล่ง 18 จุดที่เราเลือก ทำไมเราไม่เอาไปไว้ที่วัดหรือหอศิลป์ ทำไมเราให้งานชิ้นนี้มาพูดกับพื้นที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เพราะที่นี่มี Collection อยู่แล้ว ที่เป็นบ้านเก่ามีความเป็น Craftส่วนใหญ่งานที่อยู่ตรงนี้จะพูดถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างวัตถุโบราณเชื่อมโยง Tradition กับงานสถาปัตยกรรม องค์ความรู้เดิมกับความร่วมสมัย คนรุ่นใหม่มาตีความคุยกับอดีต ไม่งั้นมันไปต่อไม่ได้ ยุ้งข้าวเก่านี่เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วที่สำคัญงานชิ้นนี้จะอยู่ที่นี่อย่างถาวร (Permanant) ด้วยหลายครั้งที่เราไปดู Thailand Biennale งานส่วนใหญ่จะถูกรื้อถอนไปไม่เหลืออะไร พอเรามาทำไม่อยากใช้คำว่า Sustainability แต่อย่างน้อยมีอะไรที่เป็นอนุสรณ์ว่าตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Thalland Biennale แล้วมันคงอยู่กับเชียงราย

เราเลือกศิลปินที่สนใจเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ Ecology (นิเวศวิทยา, สาขาสังคมวิทยาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม) เอาเรื่อง อดีต ปัจจุบัน อนาคตมารวมกันได้ ใครที่ไม่สามารถคิดได้สามอย่างเวลานี้เราไม่เอามา (ได้ฮากันกับอารมณ์ขันของคุณเจี๊ยบ) คิดแค่อดีตก็คุยไม่รู้เรื่อง คิดแค่อนาคตก็บอกยูต้องย้อนกลับไปในอดีตด้วย เพราะหน้าที่ของงานศิลปะเป็นเหมือน Time Capsule (ที่เก็บรวบรวมสิ่งของหรือข้อมูลสำคัญในอดีตไว้ เพื่อให้คนในอนาคตได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา) ต้องสามารถพูดถึงสามเวลานี้มารวมกันให้ได้

ตอนนี้มัน Open World ทุกวัน (ฮากันอีกรอบกับการมอบ Theme ของงาน โจทย์ที่ขึ้นใจ) เราอยากให้ทุกคนได้ทำงานด้วยไม่ใช่ให้เขามาดูอย่างเดียว อย่างในงานเมื่อคืน (19 ธันวาคม 2566 งานแถลงข่าว ภาคกลางคืนมีการจัดขบวนศิลปะร่วมสมัย “เปิดโลก 18 อำเภอ” Chiang Rai Art Carnival 2023) คิดดูว่ามีเด็กกี่ร้อยคนในหลายแก๊งที่จะกลายมาเป็นศิลปินในอนาคต

 

 

อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ : เราอยากใช้ประโยชน์ของ Thailand Biennale ที่เดินทางมาอยู่ต่างจังหวัดคือความเป็นท้องถิ่นของเรา ไม่อยากให้งานศิลปะอยู่แต่ในห้องแสดง ไม่งั้นเราอยู่ที่ไหนก็ได้ เราจึงอยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เฉพาะ

ผมมีอีกสองประเด็นอยากชี้ชวนให้เห็นครับ ตอนแรกที่ยุ้งข้าวหลังนี้มาหลังคาเป็นกระเบื้องปูนแต่ อาจารย์นคร พงษ์น้อย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวงเห็นว่าทำยังไงให้กลมกลืนกับอาคารของหอคำแม่ฟ้าหลวง บังเอิญที่หอคำเปลี่ยนหลังคาพอดี เลยเอาไม้แป้นเกล็ดเก่าของหลังคาหอคำมาใส่ยุ้งข้าวหลังนี้ ถ้าเรามองไปที่ชิ้นงานต่างๆ ในบริเวณเดียวกันก็จะเห็นไม้สักแกะสลักลวดลายพญานาค ถ้าขึ้นไปดูบนหอคำที่เก็บผลงานจะเห็นไม้ลายฉลุ มันคือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่าศิลปินจากญี่ปุ่นเขามองเห็นแล้วเกิดการตีความใหม่อีกแบบที่ตรงกับยุคสมัยของเรา ประมวลออกมาเป็นผลงานร่วมสมัย งานชิ้นนี้ไปอยู่ที่อื่นจะไม่เหมาะเราตั้งใจให้อยู่ที่นี่ ปกตินักท่องเที่ยวจะเดินมาจากฝั่งตรงข้าม ศิลปินตั้งใจให้พุ่มไม้ตรงนี้บังยุ้งข้าว แต่พอเดินพ้นจากหอคำหันขวาจะเห็นทันที เราได้เลือกแล้วอย่างระมัดระวังถึงตำแหน่งที่ตั้งด้วย

เรื่องยุ้งข้าวผมทำลงติ๊กต็อกเฉพาะงานคิโดะยอดคนดูสามแสนสองหมื่นวิว ยอดไลค์ประมาณหนึ่งหมื่นกว่า ได้รับความสนใจสูงมาก วันแสดงงานจริงเราจะยังคงเห็นกระบวนการทำงานของศิลปินได้เห็นสล่านั่งแกะสลักได้คุยกัน จะได้เข้าใจเข้าถึงขั้นตอนของการสร้างงาน สิ่งนี้จะทำให้เกิดชีวิตในงานศิลปะ ไม่ใช่เห็นเพียงตัวบ้านตั้งไว้ให้ชมแบบเงียบๆ บางแห่งเช่นที่โกดังยาสูบ (สำนักงานยาสูบเชียงราย ศิลปิน : อาร์โต ลินด์เซย์, อัททา ความิ, มาเรีย เทเรซา อัลเวซ, ชิมาบุกุ มิชิฮิโร, โทมัส ซาราเซโน) กระบวนการจัดแสดงงานจะเปลี่ยนตลอดทุกวันครับ

 


Ryusuke Kido (ริวสุเกะ คิโดะ) ประติมากรชาวญี่ปุ่น

 

ยุ้งข้าว เงาดอย และร่องรอยของยุคสมัย

บทสัมภาษณ์ Ryusuke Kido เพิ่มเติมจาก Thailand Biennale,  Chiang Rai 2023 ประติมากรจากกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ผู้ฉลุยุ้งฉางเก่าเพื่อสื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาของทุกสรรพสิ่ง ยุ้งฉางคือตัวอย่างของยุคสมัยในบริบททางวัฒนธรรม โลกาภิวัฒน์ได้ขจัดหลายสิ่งให้หมดสภาพตามหน้าที่เมื่อถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ภายใต้วิธีคิดและการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างงานศิลปะไทยกับญี่ปุ่นและเป็นงานที่แสดงความเคารพต่อ ‘แม่โพสพ’ ผู้ประทานธัญญาหารแก่แผ่นดิน เพื่อการมีอยู่มีกินอย่างบริบูรณ์ของมวลมนุษย์

TBC : รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ThailandBiennale, Chiang Rai 2023

ริวสุเกะ คิโดะ : ผมมีความสุขมากครับ (ตอบทันที) ผมชอบประเทศไทยมากๆ อยู่แล้ว ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม สังคม หรือพูดง่ายๆ ว่าทุกอย่างเลย พอได้รับโอกาสมาสร้างงานที่เชียงรายในครั้งนี้ ผมรู้สึกชอบเมืองไทยมากขึ้นไปอีก บรรยากาศที่เชียงรายดีมาก แม้ตอนนี้จะร้อนไปหน่อยสำหรับผมก็เถอะ (หัวเราะ)

การสร้างงานครั้งนี้ผมได้รับการช่วยเหลืออย่างมากจากทีมงานของสล่า ‘คำจันทร์ ยาโน’ ช่างแกะสลักไม้ประจำจังหวัดเชียงราย ผมซาบซึ้งใจที่ได้ทำงานกับพวกเขา ทุกคนเก่งมาก ผมมีความสุขในทุกช่วงเวลาที่ได้ทำงานที่นี่ โดยเฉพาะช่วงพักกลางวันที่ทุกคนกินข้าวร่วมกัน อาหารไทยสุดยอดไปเลย (ยิ้ม)

 

 

TBC : ช่วยเล่าถึงงานชิ้นนี้ทีว่าทำไมถึงต้องเป็นยุ้งข้าวที่ฉลุและแกะสลักเป็นร่องรอย

เรียวสุเกะ คิโดะ : เล่าถึงงานในอดีตของผมสักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นภาพว่าในความเป็นจริงคือผมเคยทำงานในรูปแบบใกล้เคียงกันนี้มาก่อนแล้ว ครั้งนั้นผมเลือกฉลุและแกะสลัก ‘เก้าอี้’ ให้มีรูเต็มไปหมดจนไม่สามารถนั่งได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณมองจากภายนอก คุณจะยังเห็นว่ามันเป็นเก้าอี้เหมือนเดิมอยู่ดี งานในครั้งนั้น เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ผมอยากเปรียบมุมมองที่เห็นนี้เข้ากับพัฒนาการของเก้าอี้ ว่าในยุคสมัยก่อนคนที่จะนั่งเก้าอี้ได้มักเป็นคนใหญ่คนโตหรือเจ้าผู้ปกครองประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เก้าอี้ได้เปลี่ยนความหมายของมันไปหมดสิ้น ผู้คนไม่สามารถนั่งลงบนเก้าอี้แล้วรู้สึกเหนือกว่าคนอื่นได้เท่าเดิม แต่เก้าอี้ได้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กลายเป็นความหมายใหม่ โดยที่ยังคงมีรูปทรงเป็นเก้าอี้เหมือนเดิม

กับยุ้งข้าวในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องย้อนความไปถึงช่วงต้นปี 2566 ก่อนว่า ผมมีแผนจะทำงานศิลปะเกี่ยวกับยุ้งข้าวในประเทศไทยมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เราใช้เวลานานมากในการตามหายุ้งข้าวที่เหมาะสม จนเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมงานไปเจอยุ้งข้าวหลังนี้ริมแม่น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาทำการย้ายยุ้งข้าวมาทั้งหลังในเดือนกันยายนก่อนที่ผมจะเดินทางมาที่นี่ในต้นเดือนตุลาคม แล้วเริ่มสร้างงานศิลปะผ่านยุ้งข้าวหลังนี้จนถึงขณะนี้

“เพราะผมมองว่ายุ้งข้าวเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคม วัฒนธรรมและผู้คนในยุคปัจจุบัน ทุกคนต่างรู้ว่าข้าวเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่โลกาภิวัตน์ทำให้สังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันกลับ ดังนั้น ถึงแม้ข้าวจะเป็นอาหารที่คนทุกระดับชนชั้นกินเหมือนเดิม แต่ยุ้งข้าวกลับกลายเป็นวัตถุตกยุค เริ่มกลายเป็นร่องรอยของยุคสมัยที่เสื่อมไปตามกาลเวลา ผมสนใจในความเปลี่ยนแปลงนี้จึงเสนอทำงานศิลปะเกี่ยวกับยุ้งข้าวครับ”

 

 

TBC : แล้วลวดลายร่องรอยที่ถูกฉลุในยุ้งข้าวครั้งนี้มีความหมายอย่างไร

เรียวสุเกะ คิโดะ : (นิ่งคิด) ผมคิดว่าลายฉลุที่ผมได้สร้างขึ้นเป็นเพียงวิธีการที่จะบอกเล่าว่ายุ้งข้าวได้เสียโครงสร้างดั้งเดิมของมันไปแล้ว รวมถึงหน้าที่พื้นฐานของมันด้วย เพราะถ้าลองพิจารณาดู คุณจะเห็นว่าผมฉลุตรงพื้นของยุ้งข้าวด้วย แปลว่ายุ้งข้าวหลังนี้ไม่สามารถเก็บข้าวได้อีกต่อไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็จะเห็นด้วยว่า ที่บริเวณผนังและเพดานก็มีลวดลายฉลุที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน ช่องว่างระหว่างลวดลายเหล่านี้ได้กลายเป็นช่องที่แสงและลมสามารถพัดผ่าน ต่างกับยุ้งข้าวเดิมที่ต้องทำหน้าที่ทนแสงและลม เปรียบเสมือนความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและยุ้งข้าวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถต้านทานได้นั่นเอง

และสุดท้ายเมื่อลวดลายกับยุ้งข้าวรวมกัน ภาพที่ปรากฏออกไปยังทำงานกับมุมมองของผู้ชมที่แตกต่างกัน ตามภูมิหลังและประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย ถ้าเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้คุ้นชินกับวัฒนธรรมข้าว ก็อาจจะมองยุ้งข้าวของผมเป็นเพียงงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีรูเต็มไปหมด แต่ถ้าเป็นชาวเอเชียมามอง ก็อาจจะเห็นภาพเดียวกันกับที่ผมตั้งใจสื่อสาร หรือถ้าเป็นชาวนามาเห็น เขาอาจจะคิดว่านี่เป็นแค่ยุ้งข้าวที่พังแล้วก็ได้ ไม่มีอะไรถูกหรือผิดเลย เพราะความแตกต่างของมุมมองเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานศิลปะอยู่แล้วครับ

 

 

TBC : ทำไมคุณถึงนำเสนอประเด็นที่สื่อสารผ่านงานศิลปะแบบประติมากรรม

เรียวสุเกะ คิโดะ : อย่างแรก ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะครอบครัวผมทำงานศิลปะเกี่ยวกับประติมากรรมอยู่ก่อนแล้วด้วย ตั้งแต่เด็กผมจึงได้เห็นงานประติมากรรมจนเป็นเรื่องชินตา รวมถึงมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์มากมาย ประสบการณ์ทั้งหมดนั้นคงส่งผลถึงผมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่ถ้าจะลงลึกไปถึงเทคนิคฉลุและแกะสลักที่ผมมักใช้ ผมคิดว่าที่มาของความชอบนี้เกิดขึ้นจากมุมมองพื้นฐานของผมที่มีต่องานศิลปะ ผมคิดกับตัวเองมาเสมอว่า ศิลปะคือเครื่องมือหนึ่งในการทำความเข้าใจ ดังนั้นการแกะสลักบางสิ่งให้เกิดขึ้นมาเป็นผลงานจึงเหมาะสมกับผมมาก เพราะผมได้ใช้เวลา ได้สัมผัสทุกส่วน และได้พิจารณาสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าด้วยห้วงเวลาที่มีแค่ผมกับงาน ซึ่งในชั่วขณะนั้นเอง ที่ศิลปะส่งผลต่อความเข้าใจของผม

TBC : ศิลปะในความหมายของคุณคืออะไร

เรียวสุเกะ คิโดะ : (นิ่งคิดนาน) ผมคิดว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่นเดียวกับที่ศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พอๆ กับที่ชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมครับ อาจมีบางคนที่บอกว่าศิลปะเป็นเรื่องพิเศษ ศิลปินเป็นคนพิเศษ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้นเลย ศิลปะก็เป็นอีกเรื่องเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่องมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันในสังคมนี้ หน้าที่ของศิลปินก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ นั่นคือการทำหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองและพยายามตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่การชี้นำคำตอบที่คับแคบและมืดบอดเพียงอย่างเดียว อย่างในงาน Thailand Biennale ในครั้งนี้ก็เช่นกัน นี่เป็นเพียงการส่งต่อคำถามจากผม ส่วนคำตอบของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่ผมตื่นเต้นและเฝ้ารอดู ยินดีที่จะได้พบกับทุกคนที่เชียงรายครับ

 


ศิลปิน เรียวสุเกะ คิโดะกับสล่าคำจันทร์ ยาโน

 

คำจันทร์ ยาโน[7] สล่างานไม้แกะสลักฝีมือประณีตงามตามด้วยลูกเล่นเป็นเอกลักษณ์ สืบสานงานสลัก กระบวยหรือน้ำบวย สวยวิจิตรมาจากคุณตา (พ่ออุ๊ย แสง ลือสุวรรณ เป็นมรดกภูมิปัญญาที่บรมครู ถวัลย์ ดัชนี ได้ให้การสนับสนุนรับซื้อกระบวยและช่วยให้คำปรึกษาพัฒนางาน) ได้เลิกทำนาแล้วเริ่มคืนชีวิตให้เศษไม้มาตั้งแต่ปี 2529 ปัจจุบันเป็นผู้นำกลุ่มแกะสลักไม้ที่มีผลงานมากมาย ณ บ้านถ้ำผาตอง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงการทำงานกับ เรียวสุเกะ คิโดะ อย่างมีความสุขว่า

“ทำกับข้าวมาเองจากบ้านใส่ปิ่นโตมาเอาข้าวเหนียวมาเผื่อเขาเรากินข้าวรวมกันที่นี่ (ยุ้งข้าวฉลุ ไร่แม่ฟ้าหลวง) คิโดะไม่ชอบรสจัดกินไม่เผ็ด ชอบผัดบวบเหลี่ยม เนื้อทอด ทำงานด้วยกันตอนแรกผมใช้มีดเหลากับสิ่ว พอได้มาเจอกับเครื่องมือใหม่ก็ม่วนอยู่ครับ (โชว์ นากานิชิ เครื่องมือไฟฟ้าขนาดเล็กสามารถแกะสลักได้ละเอียดละออ) เข้าท่าดีเอาไว้ตกแต่งหลังจากเหลา เราสามารถแกะด้านในได้สะดวกแหย่เข้าไปมันทะลุหากันได้ ทำโค้งได้ไม้ไม่หัก ทำงานได้ละเอียดลึกทำให้งานมีมิติมากขึ้น เอาไว้เก็บรายละเอียด ถ้าใช้สิ่วจะลำบากครับ”

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว” Photo : Khwai Din Dak Art House

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว”  Photo : Khwai Din Dak Art House

 

“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว”

ศิลปะสื่อผสมที่เป็นประติมากรรมกลางแจ้งชิ้นนี้นาม “นิพพานเมืองแก้ว” ก่อเกิดจากต้นกระบกอายุกว่า 200 ปี ที่ยืนต้นตายในไร่เชิญตะวัน ผันมาเป็นผลงานเล่าเรื่องธรรมชาติกับธรรมะ โดยประติมากรไม้ชาวเชียงราย ชาตะ ใหม่วงศ์ ผู้ก่อตั้ง “ควายดินดาก อาร์ทเฮ้าส์” (Khwai Din Dak Art House) ใช้ศิลปะชุบชีวิตเนรมิตซากต้นไม้ใหญ่และเศษกิ่งไม้ ภายใต้การออกแบบจัดวางใหม่ กลับโคนต้นไม้ไปไว้ด้านบน จนรูปทรงของรากรวมร่างแผ่กระจายกลายเป็นแจกันประดับด้วยช่อดอกไม้คล้าย ‘ดาราจักร’ (Galaxy) สูงประมาณอาคาร 4 ชั้น กว้าง×ยาว×สูง 8.90 ม. × 8.90 ม. × 8.90 ม. ความสูงของฐาน 3.90 ม. อยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้ง 4 ชิ้นงาน เสมือนเสาแห่งวิหารสี่ต้นซึ่งดลความหมาย ‘อริยสัจสี่’ วิธีดับทุกข์อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ผงาดเด่นเป็นสง่าทำหน้าที่ศาลาแสดงธรรมยามค่ำคืน ณ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน หนึ่งในผลงานศิลปินเจ้าถิ่น 6 ท่าน ของนิทรรศการหลักของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว” Photo : ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

 

“ความเชี่ยวชาญในศิลปะ เป็นมงคลอันสูงสุด”
พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี

เมื่อประติมากรรม “นิพพานเมืองแก้ว” เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ ไร่เชิญตะวัน ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เปิดแสดงธรรมเป็นครั้งแรกในหัวข้อที่สอดคล้องระหว่างธรรมะกับธรรมชาติชื่อ “ความเชี่ยวชาญในศิลปะ เป็นมงคลอันสูงสุด”[8]  พระอาจารย์ได้อธิบายขยายความสรรพนิยามของคำว่า “นิพพานเมืองแก้ว” ไว้อย่างกระจ่างใสและน่าสนใจในธรรมะกับศิลปะตามหัวข้อ

“ ณ จุดที่อาจารย์นั่งอยู่เป็นจุดศูนย์กลางของงานศิลปะที่ชื่อว่า “นิพพานเมืองแก้ว” รังสรรค์โดย อาจารย์ชาตะ ใหม่วงศ์ “นิพพานเมืองแก้ว” สร้างสรรค์ขึ้นมาจากแนวคิดเรื่อง “พระนิพพานในพระพุทธศาสนา” คนโบราณท่านเปรียบพระนิพพานเสมือนเมืองเมืองหนึ่งที่แสนวิเศษ อุดมไปด้วยความสุขสำราญบานใจ ท่านจึงเรียกว่า “รัตนบุรี” แปลว่า ‘เมืองแก้ว’ อะไรอะไรที่มีค่าคนโบราณท่านยกให้เป็นแก้ว เช่น เมืองแก้ว นางแก้ว จักรแก้ว นายกแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว และ แก้วแห่งแก้ว หรือ มณีรัตน ตกลงว่าอะไรที่เลอค่าท่านยกให้เป็นแก้วทั้งนั้น แม้แต่พระนิพพานซึ่งเป็นสภาวะ ไม่ใช่นครไม่ใช่สถานที่อะไร ท่านก็เรียกว่าเป็นเสมือนหนึ่งเมืองแก้ว ไม่ได้หมายความว่ามีเมืองเมืองหนึ่งนะ แต่เป็นคำเปรียบเทียบให้เห็นกันในเชิงรูปธรรม

เพื่อให้คนเข้าใจกันง่ายๆ ท่านก็เลยเปรียบนิพพานว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่ง อย่าลืมว่าเป็นเพียงความเปรียบไม่ใช่ความจริง เพราะนิพพานจริงๆ นั้นเป็นสภาวะที่สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ อันเกิดขึ้นในใจของเราทั้งหลาย ไม่ใช่บ้านไม่ใช่เมืองแต่อย่างใด แต่ถ้าพูดในเชิงสภาวะมันยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ท่านก็เลยเปลี่ยนธรรมาธิษฐานให้เป็นบุคลาธิษฐาน ก็คือปรับภาษาพูดจากภาษาธรรมให้เป็นภาษาคนว่า นิพพานก็เหมือนเมืองเมืองหนึ่งนั่นแหละที่แสนวิเศษอุดมไปด้วยความร่มเย็นและเป็นสุข พูดอย่างนี้ใครใคร ก็อยากไปนิพพาน จึงเรียกนิพพานว่า “นิพพานเมืองแก้ว” นี่คือความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับคำว่า “พระนิพพาน”ฯ

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว”  Photo: ชาตะ ใหม่วงศ์
อาจารย์ชาตะ ใหม่วงศ์ ประติมากร “นิพพานเมืองแก้ว”

 

ด้วยความเสียดายไม้ยืนต้นตายที่ไร่เชิญตะวัน ท่าน ว. (พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี) ให้มาดูว่าทำอะไรได้บ้าง ง่ายสุดคือทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ผมอยากให้เพิ่มคุณค่าด้วยงานศิลปะก็ Sketchเสร็จภายในอาทิตย์นั้นเลย ประจวบเหมาะว่าเราอยากเล่าเรื่องธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ท่าน ว. ก็จะได้เล่าเรื่องธรรมะของท่านด้วย เพื่อให้สอดคล้องกัน เลยได้ผลงาน “นิพพานเมืองแก้ว” (The 4 Noble Truths)  เรื่องธรรมะให้ท่านพระอาจารย์เทศนาอีกครั้งหรือต่อๆ ไป  ส่วนผมก็เล่าเรื่องธรรมชาติเรื่องความเป็นมาเป็นไป เพราะเราอยู่กับธรรมชาติให้ตระหนักรู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนเรามันยิ่งใหญ่ ให้เราตระหนักเรื่องการใช้ทรัพยากร อยากให้เป็นหมุดหมายเล็กๆ ในจิตสำนึกของคนที่มาดูงานว่า เราเอาธรรมชาติมา Match กับงานศิลปะเพื่อให้ตระหนักรู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่ขนาดไหน

รูปแบบของงานจะเรียกว่า ศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art) หรือ Installation ก็ได้ เพราะเล่นกับพื้นที่กับบริบท วัสดุมีทั้งเหล็ก ไม้ คอนกรีต ไม้กระบก (หรือมะมืด ในภาษาเหนือ) มีผลขนาดใหญ่อายุยืนต้นนี้ประมาณ 200 กว่าปี นี่เขายืนต้นตายเองนะครับเราไม่ได้ไปตัดจากป่ามาเลย เศษกิ่งไม้กองนี้ก็เกิดจากการขยายถนนทางเข้าไร่เชิญตะวัน เริ่มจากลงฐานล่างใช้เวลาร่วมสองเดือน แต่ก่อนหน้านั้นเราใช้เวลาเตรียมงานวัตถุดิบพวกไม้แกะสลัก เป็นชิ้นงานที่ทำก่อนมาประกอบอีกทีครับ ฐานล่างเป็นปูนสามารถรองรับน้ำหนักตึกสามชั้นได้เลย ด้านบนโครงสร้างเป็นเหล็กที่ถักทอไว้ให้เชื่อมกัน ทางด้านวิศวกรรมผมให้น้องสถาปนิกออกแบบให้ ไม่มีปัญหาโยกคลอนแน่นอนรับรองความปลอดภัยครับ ตัวเนื้องานบางชิ้นเราก็ใช้แกะสลัก เพราะมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ลักษณะดอกบัว สื่อเรื่องอริยสัจ 4 ที่จะได้เล่าต่อไปในอนาคตครับ

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว” Photo : ชาตะ ใหม่วงศ์

 

ธรรมชาติรับใช้สังคมก็คือการสร้างบ้านแปลงเรือน (จากไม้) เศษไม้พวกนี้ก็เกิดจากการที่เราได้ใช้ประโยชน์ท่อนใหญ่ของเขาหมดแล้ว เหลือเพียงเศษสุดท้ายของท่อนไม้  อยากให้ตระหนักรู้ว่าเมื่อสิ้นอายุขัยของเขาแล้ว แม้เศษสุดท้ายของท่อนไม้ยังมีคุณค่าในความงาม เป็นการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้เขาอีกรอบหนึ่งด้วยงานศิลปะจะเป็นงานติดตั้งกึ่งถาวร ถ้ายังมีความแข็งแรงอยู่ประมาณ 3 ปี ตามอายุขัยของเขา การชมประติมากรรมชิ้นนี้แบบดีที่สุดคือเดินวนรอบชิ้นงานเห็นได้ทุกด้าน ไอเดียนำต้นไม้มากลับด้านล่างขึ้นข้างบน เหมือนวิธีคิดของคนแค่กลับทิศชีวิตก็เปลี่ยนได้แล้ว

 


“The 4 Noble Truths นิพพานเมืองแก้ว” Photo : Khwai Din Dak Art House

 

เชียงรายได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ทุกคนตื่นเต้นกับการทำงานมาก อยากให้ทุกท่านคอยติดตามปรากฏการณ์ เชียงรายเบียนนาเล่ (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) ครั้งนี้ถือว่าเป็นความตั้งใจอย่างสูงของศิลปินเชียงรายและท่านอื่นๆ ด้วยครับ แม้มีคาบเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองเรื่องงบประมาณ แม้กระทั่งการทำงานของเราก็ไม่ได้มองว่าต้องรองบอย่างเดียว ศิลปินก็ออกแรงกันอย่างมากเลยครับ ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนถ้าคนใดคนหนึ่งผมว่ามันยาก ศิลปินตัวเล็กๆ ทำไม่ได้ ต้องทั้งภาพรวมเลยถ้าอยากเห็นเชียงรายเติบโต มันเกิดขึ้นแน่นอนพวกเรามั่นใจในแนวคิดศิลปะนำพาชีวิตผู้คนได้ครับ ขอเชิญด้วยความจริงใจของคนทำงานมีหลาย Site ปรากฏความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละสถานที่ต่างกัน ล้วนน่าสนใจน่าค้นหามากครับ”

 


Chiang Rai International Art Museum : CIAM 2023

 


Chiang RaiInternational Art Museum : CIAM 2023

 


Chiang RaiInternational Art Museum : CIAM 2023

 

หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
Chiang RaiInternational Art Museum : CIAM 2023

ณ บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ปีนี้มีวาระสำคัญอันเป็นผลจากการต่อสู้อย่างหนักด้วยพลังความรักจากศิลปินและคนพื้นถิ่นของเชียงราย จนได้มาซึ่งหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งใหม่รองรับการเป็นเจ้าบ้าน Thailand Biennale ครั้งที่ 3 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนและคนที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันคือเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ทุ่มเทด้วยรักและศรัทธาบูชาศิลป์แผ่นดิน 40 ล้านบาท งานถูกออกแบบเป็น 2 อาคารหลัก ขาว - ดำ ยอดสามเหลี่ยมพีระมิด ผสานศิลปะบ้านดำกับวัดร่องขุ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ในงานศิลป์ของ 2 ศิลปินแห่งชาติผู้เป็นกำลังหลักในการต่อสู้มาหลายสิบปี ถวัลย์ ดัชนี กับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยได้รับการบริจาคที่ดินจาก ทวีชัย อร่ามรัศมีกุล เศรษฐีเจ้าของที่ดินเขตบ้านสันตาลเหลือง ใกล้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ที่ดินกว่า 6 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง และนายมงคล จงสุทธนามณี อดีตนักการเมืองชื่อดังของเชียงราย ได้บริจาคเพิ่มอีก 2-3 ไร่ ก่อสร้างโดย SCG (บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด) นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ แม้ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์แต่ภายในต้นปีหน้าคาดว่าสามารถรองรับงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ร่วมกับสถานที่ต่างๆ ในตัวเมืองเชียงรายได้เกือบเต็มร้อยอย่างแน่นอน

 


Chiang Rai International Art Museum : CIAM 2023 Photo: Suwit Jaipom

 

Chiang Rai International Art Museum : CIAM 2023
หอศิลป์ร่วมสมัย เชียงราย : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย[9]

ตัวอาคารสูงเทียบเท่าตึก 7 ชั้น รูปลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมดูเรียบง่ายร่วมสมัย รูปทรงเรขาคณิตวางซ้อน ชวนให้นึกถึงการวางหุ่นนิ่งในชั้นเรียนวิชาศิลปะที่เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของศิลปินร่วมสมัยทุกคน หากแต่แฝงนัยของความหมายที่เกี่ยวข้องกับ ‘การเดินทาง’ ของศิลปะในจังหวัดเชียงราย

สถาปัตยกรรมลักษณะเหมือนหอคอย ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 อาคารหลัก เป็นการผสมผสานศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของ 2 ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย 2 ท่านได้แก่ บ้านดำ ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และ วัดร่องขุ่น ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์  บริเวณพีระมิดกระจกของ CIAM จะเป็นจุดที่เรียกว่า ‘หอชมเมืองเชียงราย’ ซึ่งสามารถชมทัศนียภาพของเมืองรวมถึงภูมิประเทศของเมืองเชียงรายได้แบบ 360 องศา ชวนให้นึกถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลก เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ในประเทศฝรั่งเศส

 


Chiang Rai International Art Museum : CIAM 2023 Photo : Suwit Jaipom

 

Skywalk สะพานเชื่อม วัดขาว-บ้านดำ เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของ CIAM ก่อสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงมั่นคงความยาวกว่า 20 เมตร แฝงความหมายของคำว่าสะพาน ซึ่งภาษาเหนือที่เรียกว่า “ขัว” เพื่อระลึกถึงการก่อตั้งสมาคมขัวศิลปะ และการเดินทางแห่งความภาคภูมิใจของศิลปินเชียงราย สู่การเป็นสมาคมขัวศิลปะที่มั่นคงความเข้มแข็ง และนำความภาคภูมิใจสู่จังหวัดเชียงรายและประเทศไทย ด้านหน้าอาคารรูปทรงแท่งสี่เหลี่ยมจากฐานอาคารสลับกระจกใสทั้งเก้าต้น คือเสาหลักแห่งศิลปะ เปรียบเสมือนความเจริญก้าวหน้าของศิลปวัฒนธรรมในแผ่นดินเชียงราย เป็นดินแดนที่หลอมรวมศิลปวิทยาการมาตั้งแต่อดีต ความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิประเทศที่หลากหลาย จึงทำให้เชียงรายเป็นดินแดนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการสร้างสรรค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 


Chiang RaiInternational Art Museum : CIAM 2023 : Photo: Suwit Jaipom

 

หลังแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยงบ 60 ล้านบาท ภายในอาคารจะประกอบด้วย ห้องเกียรติยศ ถวัล ดัชนีย์/ห้องเกียรติยศ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์/ห้องแสดงนิทรรศการ/ห้องจัดจำหน่ายผลงานศิลปะและสินค้าของที่ระลึก/ห้องประชุม/ห้องโถงขนาดใหญ่เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ /Art Café Art Lab/ศูนย์เรียนรู้ และปฏิบัติการด้านศิลปะ/ห้องฉายภาพยนตร์ 40 ที่นั่ง/ห้องจัดแสดงผลงานหมุนเวียน อีกทั้ง ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ลานประติมากรรมร่วมสมัย ซึ่งพร้อมเปิดบ้านต้อนรับศิลปินและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่จะมาร่วมพิธีเปิดงาน Thailand Biennale, Chiang Rai2023 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 นี้

 


“ศาลาสวนประติมากรรม” หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

 

“ศาลาสวนประติมากรรม”

ปณิธานของการสร้างพื้นที่ให้พี่น้องศิลปินและประชาชนทุกคน เป็นแนวคิดเดียวกับการสร้างศาลาจากไม้เก่ากลางเกาะใกล้กับหอศิลป์ CIAM  โดย อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ[10] ประติมากรเซรามิกและจิตรกรดินดี แห่งบ้านดอยดินแดง อดีตนายกสมาคมขัวศิลปะ  เล่าว่าศาลากลางน้ำเกิดจากการรวบรวมไม้เก่าที่มีขนาดไม่เท่ากัน จากหลายแหล่งมาก่อร่างสร้างศาลาศิลป์ เพราะไม่ต้องการให้เสียเนื้อไม้ ด้วยเทคนิคศิลปะการก่อสร้างแบบโบราณในการต่อไม้ จัดวางทุกท่อนไว้ในตำแหน่งที่รองรับน้ำหนักได้อย่างแข็งแรงตั้งแต่ต้นเสาจนถึงหลังคา ภายในออกแบบไว้สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ เป็นพาวิลเลียนของพี่น้องประติมากรชาวเชียงรายได้แสดงงานร่วมกัน

ศิลปินเราเยอะไม่มีที่แสดงงาน ตอนนี้ได้หอศิลป์ได้ความร่วมมือ อาจจะไม่เท่าที่ควรแต่ว่าก็ดีที่สุดแล้วเท่าที่จะเป็นไปได้ การได้สร้างงานนี่มันตื่นเต้นนะ ได้ไปติดเกาะ เขาเอาผมมาติดเกาะเพราะไม่รู้จะเอาผมไปอยู่ตรงไหน ว่าจะปลูกมะพร้าวซักต้นล้อต่วยตูนส์ติดเกาะ (หัวเราะร่วนมีความสุข หมายถึงการสร้างศาลาบนเกาะกลางน้ำที่จัดแสดงงาน ณ CIAM) เราเรียกว่า “ศาลาสวนประติมากรรม” เป็นโจทย์ที่ดีคือได้รับใช้มวลชนพี่น้องประติมากร (SCULPTOR) ของผมด้วย ในจินตนาการที่วาดไว้ประกอบเสร็จจะทาสีให้สวยงาม แล้วนำงาน 25 ชิ้น ของพี่น้องศิลปินมาจัดแสดง มีทั้ง Wood Craft, Stone Craft ฯลฯ ที่เป็นงานของชาวเชียงรายท้องถิ่นและระดับโลกเวียนกันมา เป็น Art Space ทำหน้าที่ sculpture รับใช้ Sculptorให้ผู้คนได้ข้ามสะพานไปนั่งผิงแดดตอนหน้าหนาว

 


อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ  ประติมากรอดีตนายกสมาคม ขัวศิลปะ [11]

 

ผมเริ่มจาก Sketch คร่าวๆ แล้วไปเสาะหาไม้เก่าเอาที่มันถูกๆ แล้วมาด้นสด ประกอบสร้างขึ้นจากไม้เก่าทั้งหมดควรเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วมันสวยนะไม้ที่เราทิ้งน่ะ ผมชอบร่องรอยเก่าๆ เพราะเป็นคนเก่าหรือเปล่าไม่รู้ แต่มาจากโจทย์ที่อยากให้เป็นศาลา เลยออกมามีหลังคาชี้โด่เด่เพราะเสียดายไม่อยากตัดไม้ทิ้ง แรงบันดาลใจก็มาจากไม้ที่ไม่เท่ากันนี่ล่ะ แรกคิดจะตัดทิ้งทั้งหมดนะ แต่ก็เกิดความคิดว่าในความไม่สมบูรณ์คือความงาม วิศวกรเป็นห่วงแต่เราทำศาลาไม้มาเยอะแล้วเรารู้ เมื่อสองวันก่อนมีแผ่นดินไหวก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ไปไหน ด้านบนจะเป็นอะคริลิคใสๆ กลางคืนพอเปิดไฟจะสว่างไสวเห็นทั้งหมด (Clear Acrylic) ตอนกลางวันจะเห็นเงาของไม้เป็นลายเส้นทิ้งลงมาเกิดร่องรอยทับซ้อน นั่นคือการสร้างศิลปะ งานศิลปะไม่มีขีดจำกัด มันต้องใช้ความรู้สึกด้วย การด้นสด (Improvise) มีอยู่ในทุกสิ่งโดยเฉพาะชีวิตประจำวันการอยู่การกินล้วน Improvise หมดเลย

 

ต่อไปจะลงต้นไม้ให้เป็นสวนสาธารณะกลางน้ำ เพราะต้นไม้ร่มรื่นเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ผมอยากให้เขาปลูกป่าทั้งหมดนี่เลย (ชี้กราดไปบนพื้นที่รวม 17 ไร่ ส่วนที่ยังโล่งโปร่ง) การสร้างป่านี่มันมหัศจรรย์นะ แต่ไม่ใช่ที่ของเรา…(หัวเราะ) ผมดีใจมากที่เป็นศิลปินได้ทำงานศิลปะรับใช้ชุมชน ประเทศชาติด้วย ศิลปะเป็นของโลก ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มเดียว นักดนตรีที่ดีๆ เก่งๆ Music Hall ไม่ดี เขาก็ไม่มาแสดงนะ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีต้องมีองค์ประกอบที่ดีด้วย ไม่งั้นเด็กจะได้อะไรไม่นานเราก็ไปแล้ว รุ่นหลังจะอยู่ยังไง เราต้องสร้างสรรค์เตรียมพร้อมไว้ให้เขา เพราะสังคมที่ดีจะสร้างบุคลากรที่ดีผมคิดยังงั้น โลกเปิดมานานแล้วเพียงเราไปสมทบ จะดีมากถ้าทำต่อไปไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง พี่เฉลิมชัยมาสร้างเราก็ช่วยกันรักษาให้มันดีมันเกิดถ้าไม่มีใครมาใช้ก็จะแย่ มาผิงแดดมาดูศิลปะที่มาจากทั่วโลก คงจะมีที่นี่ครั้งเดียวเท่านี้แหละไม่รู้ว่าจะเวียนมาอีกเมื่อไหร่ ผมก็จะไปดูให้ครบทุกที่เลย”

 

 

จังหวัดเชียงรายมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่องจุดมุ่งหมายที่จะให้เชียงรายเป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมและจังหวัดหัวเมืองแห่งการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างโครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์[12]  เพื่อความสวยงามของเมือง ล่าสุดทุกภาคส่วนตอบรับการมาถึงของ “เชียงรายเบียนนาเล่” อย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวและผู้ไปชมงานได้รับความสุขจากการเสพศิลป์ โดยเฉพาะการเดินทางไปในแต่ละจุดของการจัดแสดงงานที่ไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในตัวเมืองเท่านั้น ขนส่งจังหวัดจัดรถประจำทางสายพิเศษที่เคยหยุดบริการไปเพิ่มเข้ามาใหม่อีกครั้งในราคา ราคา 28 บาท[13] ( ตลอดสาย ) บริการเดินรถประจำทางสาธารณะ จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย - ปลายทางสถานีขนส่งเชียงรายแห่งที่ 2 เริ่มให้บริการวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 05.20 - 22.30 น.

ส่วนสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการโยงยอดเดิมที่มีอยู่อย่างรู้ค่า ก่อนสรรหาสิ่งใหม่ไปพร้อมกัน เชียงรายอุดมไปด้วย ‘ศักยภาพ’ ในทุกด้านไม่ต่างจากอีกหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะความเป็น ‘The Land of Golden Culture’ ทั้งศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งมีความเป็น Soft Power แท้จริงในตัวเองอย่างมีอัตลักษณ์มาตลอดกว่าเจ็ดร้อยปี (พญามังราย สร้างเมืองเมื่อ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 จนถึงปัจจุบันเชียงรายมีอายุครบ 761 ปี) วันนี้ ‘มหานครแห่งศิลปะ’ ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วด้วย Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมี Chiangrai International Art Museum : CIAM 2023 เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของศิลปิน ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของรัฐร่วมจัดความเข้มแข็งรองรับในระดับมหัพภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มการส่งออกศิลปะและวัฒนธรรมอย่างถูกทิศทาง ด้วยความเข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพเดิมที่มีอยู่ และร่วมสู้สู่การเป็น ‘เมืองศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยนานาชาติของโลก’ สำหรับประเทศไทยในอนาคต.

 


แผนที่รวมพื้นที่จัดงานทั้งหมดใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

ดาวน์โหลดได้ที่นี่ : https://drive.google.com/.../1-MvCIG0g3m9AaZP3WvCtvqgQUbL

 

สถานที่จัดงานและ Pavillion ทั้งหมดในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ : Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 16:00 น.
ศิลปิน : โบดี วิดจายา, อุบัติสัตย์, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์
.
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ
บ้านแม่ปูคา ต.นางแล
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : บู้ซือ อาจอ, ชาไคอา บุคเคอร์, กมลลักษณ์ สุขชัย, โซ ยุ นแว
.
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ระหว่าง ถนนพหลโยธิน กับ ถนนเวียงบูรพา ใกล้สนามบินแม่ฟ้าหลวง
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น. (ปิดวันหยุดราชการ)
ศิลปิน : ออล (โซน), อัลมากุล เมนลิบาเยวา, แฮกู ยาง, มาเรีย ฮาซซาบิ, โมวานา เฉิน, ปังร็อค ซุลาป, ปิแอร์ ฮุยจ์, พรีเชียส โอโคโยมอน, ซาราห์ เซ, สมลักษณ์ ปันติบุญ, โทเบียส เรห์แบร์เกอร์, โทกูดูร์ ยอนดอนแจมตส์, หวัง เหวิน จื้อ, ซิน หลิว
.
ห้องสมุดรถไฟเชียงราย
ในโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ถนนหน้าสนามกีฬา
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 16:30 น. วันเสาร์ เวลา 9:00 - 16:00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
ศิลปิน : โปกล็อง อะนาดิง
.
ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า
ถนนสิงหไคล ต.เวียง
เปิดวันอังคาร - อาทิตย์ (ปิดจันวันทร์) เวลา 9:00 - 17:30 น.
ศิลปิน : ไมเคิล ลิน
.
โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย
ถนนธนาลัย ต.เวียง
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 18:00 น.
ศิลปิน: อาร์โต ลินด์เซย์, อัททา ความิ, มาเรีย เทเรซา อัลเวซ, ชิมาบุกุ มิชิฮิโร, โทมัส ซาราเซโน
.
อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง)
ถนนป่างิ้ว ต.รอบเวียง
เปิดวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 8:30 - 16:30 น.
ศิลปิน: อริญชย์ รุ่งแจ้ง, จิตรา ซาสมิตา, เอิร์นเนสโต เนโต, แฮกู ยาง, เหงียน ตรินห์ ตี, ริวสุเกะ คิโดะ, ทาเร็ก อาทุย, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ตาเยบา เบกัม ลิปี, วุธ ลีโน
.
วัดร่องขุ่น
ทางหลวงหมายเลข 1208 ต.ป่าอ้อดอนชัย
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.
ศิลปิน: กรกฤต อรุณานนท์ชัย, เชอริน เชอร์ปา
.
บ้านสวนสมพงษ์
ถนนพหลโยธิน (ปากทางแม่สรวย) ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 18:00 น.
ศิลปิน: สมพงษ์ สารทรัพย์
.
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.
ศิลปิน: ชาตะ ใหม่วงค์, กรกต อารมย์ดี, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ทรงเดช ทิพย์ทอง, เซน เท

 

พื้นที่กิจกรรมพิเศษในอำเภอเมืองเชียงราย
.
มโนรมย์
บ้านร่องเสือเต้น ซอย 5 ต.ริมกก
เปิดทุกวัน เวลา 11:00 - 20:00 น.
.
สิงห์ปาร์ค เชียงราย
ถนนเด่นห้า-ดงมะดะ ต.แม่กรณ์
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 -18:00 น.
8 สถานที่จัดงานในอำเภอเมืองเชียงแสน

 

สถานที่จัดแสดงงานหลักในอำเภอเชียงแสน
.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
สี่แยกทางหลวงหมายเลข 1016 ตัดกับถนนรอบเวียง ต.เวียง
เปิดวันพุธ - อาทิตย์ เวลา 9:00 - 16:00 น. (ปิดวันหยุดราชการ)
ศิลปิน : จิตติ เกษมกิจวัฒนา, คาแดร์ อัทเทีย, รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์
.
วัดป่าสัก
ถนนรอบเวียง ต.เวียง
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : จิตติ เกษมกิจวัฒนา, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์
.
โบราณสถานหมายเลข 16 (ในเมือง)
ถนนรอบเวียง ต.เวียง
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม
.
โกดังคลังสินค้าห้วยเกี๋ยง
ทางหลวงหมายเลข 1290 (เชียงแสน - สามเหลี่ยมทองคำ)
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 18:00 น.
ศิลปิน: เฉิง ซินเฮ่า, โฮ ซู เงียน, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, พาโบล บาร์โธโลมิว, สว่างวงศ์ ยองห้วย, เชียว ซ่ง, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร
.
ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลเวียง เชียงแสน
สามเหลี่ยมทองคำ ต.เวียง
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9:00 - 16:30 น. (ปิดวันหยุดราชการ)
ศิลปิน : สวี่ เจีย เหว่ย, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

 

ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ
.
สามเหลี่ยมทองคำ ต.เวียง
ศิลปิน : นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
.
ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ
หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ
.
โรงเรียนบ้านแม่มะ
ทางหลวงหมายเลข 4001 บ้านแม่มะ ต.ศรีดอนมูล
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 18:00 น.
ศิลปิน : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

 

13 Pavillion (ห้องทดลองทางศิลปะ) ในจังหวัดเชียงราย
.
พุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ปฐมาคารนุสรณ์ 2542 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9:00 - 16:00 น.
ศิลปิน : ทรงเดช ทิพย์ทอง, วาทิตย์ เสมบุตร, ขจรเดช หนิ้วหยิ่น, วัชระ กว้างไชย์, กาญจนา ชลศิริ, มุกดารัศมิ์ คําปา, ณัฐพงศ์ อินทร์กลิ่น, พระณัฐวัฒน์ อุปนันท์, เอกณัฏฐ์ เธียรเศรษฐกุล, พรรษิษฐ์ เวชยฆเณศวร์, ณัฐพงษ์ หาญสุข, กฤษฎา รักษาศิลป์, ปฐมพงศ์ บูชาบุตร, ภัทรเศวต ภัทรจุมพต, ณัฐวัฒนบุญตัน, นิลรวี บัวอินทร์, สุทธิดา เลาย้าง, ชรินทร์ อินตา, ชลนาถ วงศ์เวศารัช, จักรพงษ์ วงษมัย, ยี่ ดวงติ๊บ, ธนากร แซ่ลี , พระผล คูเวียงหวาย, นพพล คัตสงค์, สมัชชา คําเมทา, นิธิพร เอกยศสาร, เอกลักษณ์ ปรวกพรมมา, ณัฐพร สาธร, ธนิต จินดาธรรม, อภิสิทธิ์ สุทาคํา, อภิสิทธิ์ สิงหสุริยะ, นพดล เหมืองหม้อ, ศุภณัฐ วาโน

ศาลาสล่าขิ่น เปิดโลก จ. พรหมมินทร์
.
หอนิทรรศการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9:00 - 16:00 น.
ภัณฑารักษ์: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ศิลปิน : จำรัส พรหมมินทร์ (สล่าขิ่น)
.
กลุ่มศิลปินสีน้ำนานาชาติ (ขัวศิลปะ)
ขัวศิลปะ ถนนพหลโยธิน ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 9:00 - 18:00 น.
ศิลปิน : ศิลปิน 80 คนทั้งไทยและต่างประเทศ
.
เดอะ คาโนปี้ โปรเจกต์
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ระหว่าง ถนนพหลโยธิน กับ ถนนเวียงบูรพา ใกล้สนามบินแม่ฟ้าหลวง ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น. (ปิดวันหยุดราชการ)
ภัณฑารักษ์: เดอะ คาโนปี้ โปรเจกต์
ออกแบบ: มานิตา ส่งเสริม
ผลิต : พาราฟอร์ม สตูดิโอ
.
PLUVIOPHILE | สายฝนและสถานะของผู้กำหนด

 

สวรรค์บนดินทีเฮ้าส์ บ้านสันตาลเหลือง ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น.
ภัณฑารักษ์: เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์
ผู้ช่วยภัณฑารักษ์: สร้อยฟ้า แสนคำก้อน
ศิลปิน : คีต์ตา อิสรั่น, รอซี ฮารี, ปรัชญ์ พิมานแมน, อนีส นาคเสวี, อับดุลฮากีม ยูโซ๊ะ
จัดทำ: ร้าย.ดี คอลเล็คทีฟ
.
โปรดักชันโซเมีย
บ้านสิงหไคล - มูลนิธิมดชนะภัย ถนนสิงหไคล ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 10:00 - 17:00 น.
ศิลปินที่แสดงที่บ้านสิงหไคลฯ : Shwe Wutt Hmon, Ri, Aung Myat Htay, Maeda Kohei, Tith Kanitha
.
ศิลปินที่แสดงในนิทรรศการคลาวด์ : Irwan Ahmett & Tita Salina, Aung Myat Htay, Mech Choulay, Montika Kham-on, Hirose Satoshi, Be Takerng Pattanopas, Piyarat Piyapongwiwat, Quynh Dong, Kano Tetsuro, AWAYA, Khvay Samnang, Ngoc Nau, Souliya Phoumivong, Lyno Vuth, Lim Sokchanlina, Som Supaparinya, Maung Day
.
พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ วอร์ซอ

เชียงราย ครีเอทีฟ ซิตี้ เซ็นเตอร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.) หน้าศาลากลางหลังเก่า ถ.สิงหไคล
เปิดวันพุธ - จันทร์ เวลา 9:00 - 18:00 น.
ภัณฑารักษ์ : เซบาสติอัน ชิคอตซกี และ เฮเลนา เชอร์เนตซกา
ศิลปิน : มากซิมเลี่ยน บัมการ์ตเตอร์, ดอร่า การ์เซีย, อลิเซีย เบียลอวสกา, คาสเปอร์ บอสแมน, กาตารซึนา ปแชแชฟสกา, ชารอน ล็อคฮาร์ท, มิกอลาย มอสกาล , อเดรียโน คอสตา, อีดิท คาร์ลสัน, อาเอ็มค์ เออกุต, ลอเรอ ปรูโวสต์, เวโรนิกา แฮปเชนโก

 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม

ร้านหนังสือเวียงทองเก่า (ตรงข้ามกาดหลวงฝั่งร้านขายผ้า) ถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันพฤหัสบดี - อังคาร เวลา 10:00 - 11:30 น. และ 12:30 - 19:00 น.
ภัณฑารักษ์ : อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต และอธิคม มุกดาประกร
ศิลปิน : สหพล ชูตินันท์, กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ภูวมินทร์ อินดี, นนทนันทร์ อินทรจักร์, ลลิตา สิงห์คําปุก, เหล้ากบฏเงี้ยว, อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต
.
รูบาน่า
ตึก RJJ (อดีตห้างเยาวชนการค้า) ข้างธนาคารกสิกรไทย ถนนบรรพปราการ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย
เปิดวันพุธ - อาทิตย์ เวลา 10:00 - 18:00 น.
ภัณฑารักษ์ : อมาเลีย ริซกีต้า และเกรซ ซัมโบฮ์
ศิลปิน : อัย ตโจ คริสตีน, เซซิล มาเรียนี, ฮานดิวีร์มาน ศาปุตรา, อิมมาร์ทียาส, (กลุ่มศิลปิน) จาลันปุลัง, โกโกก เป. ซานโจโก และนูนง แวเอส
.
กลุ่มศิลปินแม่ลาว
ทุ่งนา เรียวกัง และเรียวกังอาร์ตเซนเตอร์ ซอยโยธาธิการ หมู่ 4 ต.บัวสลี อ.แม่ลาว
เปิดทุกวัน เวลา 10:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : จรูญ ไชยจิตต์, สาตรา วรรธนะหทัย, สมพงษ์ สารทรัพย์, โอฬาร เนตรหาญ, ทนงศักดิ์ ปากหวาน, วรวิทย์ แสงทอง, ผณิศวร ไชยรัตน์, เสกสรร มะโนวัง, อภิสิทธิ์ มณีธร, เยาวพา ปงรังษี, ผูกพันธ์ ไชยรัตน์, นฤมล มะโนวัง
.
แม่ญิงอาร์ตติสคอลเลคทีฟ
ศูนย์ข้อมูล ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.

Korean Pavilion
สิริวัฒน์ภัตตาคาร ในศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย

เปิดทุกวัน เวลา 8:00 - 17:00 น.
ภัณฑารักษ์: Seonmi Kim
ศิลปิน : Kim Young Joo, Kim Gyu, Son Bunam, Son Sol Nip, Lee Seung Hee, Yoo Jung Hye, Kim Dong Jin, Son Kyung Hee, Kim Jang Eui, Kim Hyun Sook
.
กลุ่มสล่าเมืองพาน
ตลอดถนนพหลโยธินสายเก่าในเมืองพาน ตั้งแต่สามแยกชัยมงคล ถึง ตลาดหกแยก อ.พาน และ หอศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอพาน ถนนเทศบาล ซอย 2 ต.เมืองพาน อ.พาน
เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 17:00 น.
ศิลปิน : พานทอง แสนจันทร์, นพดล ปูธิปิน, บรรจบ ปูธิปิน, พลาธิป ทองอินทร์, สมบูรณ์ สูงขาว, สุทัศน์ พิสุทธิ์สิริไพศาล, ธัญพิสิษฐ์ แสนจันทร์, วีรศักดิ์ เชื้อข้าวซ้อน, ประดิษฐ์ ตั้งสมาธิกุล, วินัด ถิ่นศรี,ขวัญ กันทะบุตร, ผ่องภพ ปวนคำ, ชญานิศ ยอดบุญลือ, นันทกา อ้ายด้วง, ปรเมศวร์ ปาวรรณา, ศุภรดา สุวรรณ์, วิรัลพัชษ์ เต๊อะเริ่ม, อนุชา คำล้น, อนุชา ตาเมืองมูล, อภิชาติ กึมรัมย์

รายการอ้างอิง


[1] สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, “แนวคิด ‘เปิดโลก’,” สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566.

[2] กรมประชาสัมพันธ์, (29 พ.ค. 2566), “วธ. เร่งสร้างการรับรู้ประเทศไทยจัดงานงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ตลอด 5 เดือน มุ่ง “เปิดโลก” สร้างการรับรู้ทางศิลปะ ผ่านผลงานของศิลปินทั่วโลก ,” สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566

[3] ส่องงานศิลป์, (21 พ.ย.2566), “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023,” สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566.

[4] Thailand Biennale, (28 พ.ย.2566),“แนะนำภัณฑารักษ์ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023: อังกฤษ อัจฉริยโสภณ,” สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566.

[5] มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, (26 พ.ย.2561), ไลเคน, สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566

[6] Thailand Biennale, (25 พ.ย.2566), “แนะนำ Artistic Director: เจี๊ยบ–กฤติยา กาวีวงศ์,” สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566

[7] ดร.แพง ชินพงศ์, (27 ส.ค.2552), “สล่าคำจันทร์ ยาโน” ผู้บันทึกวิถีชีวิตบนแผ่นไม้,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566.

[8] พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี, (6 ธันวาคม 2566), “ความเชี่ยวชาญในศิลปะ เป็นมงคลอันสูงสุด”, สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566.

[9] สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, (29 พ.ย.2566), “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย,” สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566

[10] ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย), “สมลักษณ์ ปันติบุญ 47 ปีแห่งวิถีศิลปิน,” phayaobiz, สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566.

[11] Thailand Biennale, (31 ม.ค.2566), “จากฝุ่นดินสู่งานศิลป์คุยกับสมลักษณ์ ปันติบุญ,”  สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566

[12] วันนี้ที่ เชียงราย, (6 ธ.ค.2566), “โครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดิน,” สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566.

[13] วันนี้ที่ เชียงราย, (5 ธ.ค.2566), “บริการเดินรถประจำทางสาธารณะ,” สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566