ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

18
ธันวาคม
2566

 

Focus

  • สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเกี่ยวกับการแก้ไขและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาติดต่อกันแล้ว 4 ปี ประกอบกับผลการเลือกตั้งทั่วไปปีนี้ ทำให้สองพรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งร่วมกับพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาล
  • รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อ้างถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่เคยพูดถึงความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 และอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต ที่แสดงความเห็นถึงความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญปี 2560 
  • ในเชิงหลักการ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย (แม้ว่าจะจัดทำขึ้นมาโดยการศึกษารัฐธรรมนูญของหลายประเทศ และสะท้อนความเป็นนวัตกรรมของรัฐธรรมนูญก็ตาม) อาทิ ให้วุฒิสมาชิกเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และให้อำนาจองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมหาศาลวินิจฉัยการกระทำ ในทางกฎหมายเพื่อให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ รวมทั้งการทำประชามติที่ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

สวัสดีทุกท่าน ขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่จัดงานอย่างต่อเนื่อง และให้เกียรติผมมาก ถ้าหลายท่านที่มาตรงเวลาก็จะเห็นวิดิทัศน์ตอนเริ่มงาน จะเห็นว่าเราพูดเรื่องนี้มาหลายครั้ง เรื่องว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ”

 

 

ผมมีโอกาสได้มาร่วมแทบทุกปี จำได้ว่ามาพูดที่นี่ในงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ 4 ครั้ง แต่ทุกท่านครับ ผมคิดว่า วันนี้เราไม่ได้พูดเรื่องเดิมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังอยู่ที่เดิม เราจะไม่ได้กำลังพูดเรื่องเดิมเหมือน 4 ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เรามาพูดกันเรื่อง ‘แก้รัฐธรรมนูญแก้ไหม แก้ไม่แก้ แก้ทำไม แก้ยังไง’ สุดท้ายผ่านมา 4 ปีภายใต้รัฐบาลที่แล้ว ประยุทธ์ 2 วาระ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 26 ฉบับ เป็นฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อการเสนอ 4 ฉบับ ผ่านอันเดียว ทำมาได้เท่านั้น แต่วันนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่ นี่คือรัฐบาลใหม่แล้วทุกท่าน นายกคนใหม่แล้ว เราไม่พูดแล้วแก้รัฐธรรมนูญ ขออนุญาตหลังจากนี้น่าจะใช้คำว่าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ (ทั้งฉบับ) คือ เราไม่พูดว่าเราจะแก้อะไร มาตราไหน ทีละเรื่อง 2 เรื่อง แต่เราพูดว่าจะต้องมีฉบับใหม่ที่เป็นฉบับประชาชน

ปีนี้มีเลือกตั้ง เราเลือกตั้งกันไปแล้ว เป็นการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่สนุกสนานและสำคัญมาก ก่อนการเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายชัดเจนที่จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน แต่ไม่ใช่แค่ 2 พรรค พรรคอย่างชาติไทยพัฒนาของคุณนิกร พรรคอย่างประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย แนวทางเดียวกันตรงกันหมด

เพราะฉะนั้นเสียงในสภา ถ้ายึดมั่นตามที่เลือกตั้งกันมา 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ชัดเจนแล้วว่าต้องเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเราก็เป็นประชาชน เราจึงเชื่อมั่นมากว่า คนที่เลือกไปแล้วเขาจะทำอย่างนั้น

แต่ยังมีสิ่งที่ตอกย้ำเพิ่มเติมเพราะว่า ทันทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศตัวว่าจะเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลไม่เอาแล้ว เขาก็ยืนยันว่าสิ่งแรกที่จะต้องรีบทำให้ได้ คือจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพราะฉะนั้นทุกท่าน เราเดินมาไกลขึ้นบ้าง เรามีคำมั่นสัญญา เรามี Road Map (แนวทางหรือกลยุทธ์) เรามีอะไรอยู่บ้าง มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

 

 

แล้วพอจะจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ รวมพรรคเพื่อไทย รวมพรรคภูมิใจไทย ต่อให้รวมพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติแล้ว สิ่งนี้ก็ยังอยู่ในแถลงการณ์ของการจัดตั้งรัฐบาล ปี 62 ประชาธิปัตย์ดิ้นแทบตาย พรรคที่เพิ่งได้หัวหน้าไปเมื่อวาน ตอนนั้นเขาดิ้นแทบตาย เพื่อจะใส่คำว่าแก้รัฐธรรมนูญ 1 คำ ไปเป็นนโยบายรัฐบาลชุดที่แล้ว 1 บรรทัด ซึ่งก็ได้มาแล้วสุดท้ายก็เลยแก้ได้ 1 เรื่อง ส่วนเรื่องอื่นแก้ไม่ได้

แต่ปีนี้มันอยู่ในแถลงการณ์ของการจัดตั้งรัฐบาลของทุกพรรคไปแล้วว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น ผมขออนุญาตวันนี้ เราจะใช้คำว่าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือเราจะมุ่งหน้าสู่รัฐธรรมนูญประชาชน เราจะไม่วนอยู่ที่ว่า ต้องแก้อะไร ก็ขอบคุณทั้ง 5 ท่านที่มาคุยกัน

เราก็มีโอกาสได้ฟังหลายท่าน และได้คุยกับหลายท่านตลอดช่วงปีที่ผ่านมา วันนี้วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมพอดี ผมก็คิดว่าเรามาขมวดร่วมกันปักธง เพื่อจะเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญประชาชนด้วยกัน และส่วนตัวผมก็เชื่อว่า ปีหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย อาจจะมีประชามติหรืออาจจะมีไม่มีประชาติ หรืออาจจะมีเลือกตั้ง สสร.หรืออาจจะไม่มีเลือกตั้ง สสร. เดี๋ยวเรามาฟังกัน

ในกระบวนการที่จะเกิดขึ้นก่อนเกิดรัฐธรรมนูญประชาชนจริงๆ จะมีอะไรต้องทำอีกเยอะเลย ปีหน้าเหนื่อยแน่นอน หวังว่าทุกท่านพร้อมเหนื่อยไปด้วยกัน แต่ว่าปีนี้ท้ายปีเรามาคำนวณร่วมกันก่อน ว่าตกลงเป็นยังไงกันบ้างแล้วปีหน้าจะเป็นยังไงกันบ้าง อาจจะมีประชามติหรืออาจจะมีไม่มีประชามติหรืออาจจะมีเลือกตั้ง สสร.หรืออาจจะไม่มีเลือกตั้ง สว.

แต่อยากจะขอเริ่มจากท่านนักวิชาการทั้ง 2 ท่านทั้งอาจารย์มุนินทร์ และอาจารย์พรสันต์ อยากให้อาจารย์ทั้ง 2 ท่าน เริ่มเกริ่นถึงสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญปัจจุบันปี 60 ทำไมมันต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ จะแค่แก้บางเรื่องไม่ได้จริงๆ หรือ จะไม่เป็นประชาธิปไตยขนาดนั้นเลยไหมเพราะมีบางคนบอกว่าไม่ชอบตรงไหนก็แก้มันเป็นเรื่องๆ ขอไม่ต้องเขียนใหม่ได้ไหม มันเสียเวลา มันสิ้นเปลืองงบประมาณอะไรอย่างนี้ ก็จะเชิญอาจารย์มุนินทร์ก่อน 

 

มุนินทร์ พงศาปาน :

สวัสดีครับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้ว เรามีกิจกรรมเสวนา โดยมีผมกับวิทยากรบางท่านที่อยู่บนเวทีแห่งนี้ เรื่องที่เราได้คุยกันก็เป็นเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเส้นทางที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

 

ในวันนี้หลังจาก 1 ปีผ่านไป ก็ได้กลับมาพูดประเด็นคล้ายๆ เดิม คือ ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเรียนได้ว่าเรื่องที่ผมพูดอาจจะเป็นเรื่องที่ท่านได้ยินอยู่บ่อยๆ ได้ยินอยู่ซ้ำๆ แต่เรียนว่า ไม่ว่าจะต้องพูดกี่ครั้ง หลักการที่ถูกต้องหรือว่าความเป็นจริงก็ยังคงเป็นความจริงเสมอ

หลักการที่ถูกต้องเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป คนจะสนใจหรือไม่สนใจ แต่ก็ยังคงเป็นหลักการที่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก็ยังเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสมอ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และเส้นทางที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริงซ้ำๆ จนกว่าจะได้รับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

ผมขออนุญาตพูดภายใต้ธีม ซึ่งจริงๆ เคยมีคนพูดอยู่ไว้บ้างแล้ว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดถึงความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ เคยมีคนพูดถึงความเป็นโมฆะไว้เมื่อปี 2562 คือ ท่านอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต ท่านได้เขียนบทความสั้น เรื่องว่าด้วยความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญปี 2560

ซึ่งกระผมจะขออนุญาตพูดซ้ำอีกครั้งว่า ทำไม? รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรจะเป็นโมฆะ ขออนุญาตเท้าความก่อนว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาเป็นผลผลิตของการศึกษารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เรียกว่าเรามีโอกาสที่จะได้ศึกษารัฐธรรมนูญของหลากหลายประเทศ หลักการต่างๆ มากมาย น่าจะเป็นประเทศที่ได้มีโอกาสศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญบ่อยครั้งมากที่สุดจนกระทั่งผมได้สังเกตว่า มีเรื่องประหลาด 2 เรื่อง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

เรื่องแรก เราใช้กฎหมายเปรียบเทียบในทางรัฐธรรมนูญ คือ ไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญของต่างประเทศหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศในยุโรป ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี รัฐธรรมนูญของอังกฤษ รัฐธรรมนูญของชาติในเอเชีย แม้กระทั่งชาติอื่นๆ ของโลก

 

 

ได้มีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนกระทั่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เราสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ในทางรัฐธรรมนูญ คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้ไม่ใช่ตัวผมและวิทยากรท่านอื่นๆ แต่เป็นคณะร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกท่านทราบ สามารถจะสร้างนวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ และเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษาหลักการรัฐธรรมนูญของหลายประเทศเป็นอย่างดี

ศึกษาบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า จนกระทั่งสามารถ Design (ออกแบบ) ระบบที่เขาคิดว่าสามารถใช้การเพื่อบรรลุเป้าหมาย อย่างที่ต้องการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้

ผมยกตัวอย่างเช่น เรื่องนี้ทุกท่านทราบดีคือ เรื่องของการให้ สว. (สมาชิกวุฒิสภา) มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องที่พยายามที่จะทำให้องค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมหาศาล ที่เรียกว่าสามารถที่จะวินิจฉัยทุกสรรพสิ่งทุกการกระทำในทางกฎหมาย เพื่อให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจริงๆ ถามว่า หลักการนี้ เป็นหลักการใหม่หรือไม่? เรื่องของการวินิจฉัยการกระทำในทางกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จะบอกว่ามันอาจจะไม่ใช่หลักการอะไรใหม่มากนัก เพราะว่าในระบบของเยอรมนีเองก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกัน แต่ว่ามันถูกเอามาใช้และมีการดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในสังคมเรา ในขณะที่หลักการแบบเดียวกันคล้ายๆ กัน มีอีกฟังก์ชั่นอีกแบบหนึ่งในสภาพแวดล้อมแบบเยอรมัน การเอาหลักการของต่างประเทศเอามาใช้ มีการหยิบยกหลักการที่คิดว่าน่าจะใช้ แล้วเกิดผลอย่างที่ต้องการได้ในระบบบ้านเรามีการดัดแปลง จนกลายเป็นนวัตกรรมใหม่

ฉะนั้นเราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี่ก็คือเรื่องแรก ผมคิดว่า เราอยู่ในจุดที่สามารถเป็นตัวอย่างและเเรงบันดาลใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ว่า ดูสิประเทศไทยมีสว. (สมาชิกวุฒิสภา) ที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ในขณะที่มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ว่าเรามีสว. ที่เลือกนายกรัฐมนตรี เรามีศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถวินิจฉัยแม้กระทั่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนอนาคตจะเป็นการพิพากษาของศาลฎีกาว่า ไม่ชอบรัฐธรรมนูญได้ หรือทุกการกระทำองค์กรของรัฐ ที่อาจจะอยู่ในข่ายถูกวินิจฉัยให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เราเจอนวัตกรรมพวกนี้มากมายภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พิสดารอย่างมาก

เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่พิสดาร ที่แปลกประหลาดใจ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือเรามีกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเราได้คุยกับชาวต่างชาติว่า บ้านเรามีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า จะมีสักกี่ประเทศที่มีกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญบ่อยมาก เรียกว่ามีความเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับประเทศของคุณโดยที่เราไม่เคยพบว่า ปรากฏในประเทศไหนในโลกที่มีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศเรา เรามีกลุ่มคนที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาสูงสุดของประเทศ และเป็นคนสร้างมาตรฐานในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

 

 

ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ คือสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างมาก ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พูดในภาพรวม จริงๆ ได้ถูกขอให้พูดถึงรัฐธรรมนูญต่างประเทศ จริงๆ แล้วเป็นความเชี่ยวชาญของอาจารย์พรสันต์ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบที่จะช่วยเสริมตรงนี้ แต่ผมจะขออนุญาตพูดในภาพรวม ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญทั่วโลก ก็จะมีรัฐธรรมนูญเพียง 2 รูปแบบด้วยกัน

รัฐธรรมนูญรูปแบบแรก เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องและส่งเสริมประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้น จะเป็นการช่วยโปรโมท ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพที่พึงมีภายใต้หลักสากล

ส่วนรัฐธรรมนูญรูปแบบที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการจำกัดบทบาทของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นหมายความว่า รัฐธรรมนูญอาจจะเขียนไว้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐธรรมนูญก็ได้วางกลไกไว้มากมาย เพื่อไม่ให้ประชาชนสามารถที่จะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างแท้จริง

ถ้าเราลองมองย้อนกลับมาดูรัฐธรรมนูญของไทย ต้องบอกได้เลยว่า รัฐธรรมนูญของไทยก็เป็นรัฐธรรมนูญในแบบที่ 2 ซึ่งน่าสนใจมากที่เรามีมาตราเยอะแยะ หลักการมากมาย ในส่วนต้นที่เขียนไว้รับรองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะในมาตรา 3 ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ประชาชนเป็นเจ้าอำนาจอธิปไตย

แต่ในความเป็นอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เรามีการเลือกตั้ง สดๆ ร้อนๆ มีเหตุการณ์เยอะแยะ ก็พบว่า ที่จริงแล้ว อำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทย เราไม่สามารถที่จะใช้ได้อย่างสมบูรณ์ เรามีอำนาจอธิปไตยที่จำกัดมาก

หลายคนก็พูดกันว่า อำนาจอธิปไตยของเรา คือ อำนาจในการไปออกเสียงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น คือวันเดียวเท่านั้นที่เราเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หลังจากการเลือกตั้งแล้ว อำนาจอธิปไตยของเราถูกพรากไปจากเราและจากผู้แทนของเราด้วย นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมากที่เกิดขึ้นในเมืองไทยของเรา

 

 

รัฐธรรมนูญของบ้านเราที่จริงก็มี 2 แบบ อย่างที่ทุกทราบที่ผ่านมารัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดบทบาทของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างบริบูรณ์ ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่ตามมา จะยึดโยงคณะรัฐประหาร คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นรูปแบบที่ 2 ทั้งนั้น รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

ถ้าเราลองมองดูหลักการคิดของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ผมพยายามเอาหลักการกฎหมายทั่วไปมาจับว่า หลักคิดของการสร้างรัฐธรรมนูญของคณะผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญของบ้านเรา เขามีหลักคิดอะไรบ้างในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมคิดอย่างนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รับรองความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

แต่ว่ารัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกขึ้นมา บนสิ่งที่เขาบอกกันว่า เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการโกหกหลอกลวงของนักการเมือง ซึ่งมองว่า ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเพียงผู้ไร้ความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตย ถ้าพูดเจาะจง ก็มองว่า ประชาชน เป็นเพียงผู้เยาว์ ซึ่งมีความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตยที่จำกัด

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้เยาว์เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ ก็จะต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมที่คอยชี้แนะว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้คุณตัดสินใจได้หรือไม่ และคอยมายกเลิกการตัดสินใจของของผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งก็คือประชาชน ประชาชนเลือก สส.ไป (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) พวกนี้ก็บอกว่าเลือกไม่ถูกต้อง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้พรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้แทนประชาชน เป็นตัวแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็จะมีกลไกหรือองค์กรที่มาทำหน้าที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้อนุบาล คอยมายกเลิกเพิกถอน การแสดงเจตนาของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถ มองว่ากลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือองค์กรอิสระต่างๆ เปรียบเสมือนกลไกในการคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอกโดยนักการเมือง การแสดงเจตนาซึ่งมีผลกระทบต่อความสงบสุขหรือความมั่นคงต่อส่วนรวม

 

 

ถ้าถามทุกท่านว่า หลักการคิดแบบนี้ มันถูกต้องแล้วก็สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่? หลักที่ผมกล่าวไม่ว่า ความเป็นผู้เยาว์ก็ดี หรือหลักความเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ดี ใช้ได้ผลกับระบบกฎหมายเอกชนคือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์เท่านั้น ที่เราคุ้มครองบุคคลเป็นรายคนไป แต่ว่าในทางรัฐธรรมนูญ ระบบกฎหมายมหาชนในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค เราทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเสมอกัน เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้แทนของเราออกไปทำหน้าที่แสดงเจตจำนง

ไม่ควรจะมีใครนำมาคอยชี้ว่า การแสดงเจตนาของเรา Sure (แน่ใจ) หรือเปล่า มีวุฒิภาวะหรือเปล่า เป็นตามมาตรฐานของศีลธรรมหรือเปล่า เป็นไปตามมาตรฐานของความถูกต้องหรือเปล่า ความสงบเรียบร้อยหรือเปล่า นี่คือปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 คือชุดความคิดนี้มันคือ ‘ชุดความคิดที่ครอบงำหรืออยู่เบื้องหลังของรัฐธรรมนูญทั้งหมด’

เมื่อสักครู่พูดว่า คนที่พยายามที่จะสร้างระบบนี้ขึ้นมาดูเหมือนว่า ไม่เชื่อว่าประชาชนมีวุฒิภาวะมากพอที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน แต่ว่าในอีกทางหนึ่งมีหลายคนบอกว่า ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไปจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องของความพยายามในการปกป้องประชาชนหรอกแต่เป็นความพยายามในการปกป้องหรือรักษาอำนาจรักษาผลประโยชน์ ทำอย่างไรให้อำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง ดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ปัญหาของหลักการซึ่งไม่เป็นไปเป็นประชาธิปไตย เพียงพอที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม หรือรัฐธรรมนูญที่ตกเป็นโมฆะในเชิงหลักการในความเห็นผม แต่ว่าถ้าเกิดเราพูดในภาพรวม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันมีเรื่องอื่นๆ อีกไหม ที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมหรือเรียกว่าเป็นโมฆะก็ได้ อย่างที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์ได้เกริ่นนำไปตอนต้น ว่าจริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีปัญหาที่ร้ายแรงมาก ไม่ใช่เฉพาะหลักการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการในทางประชาธิปไตยหรือหลักการทางนิติศาสตร์ แต่ปัญหาของกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหามากมายอย่างที่ทุกท่านทราบ รัฐธรรมนูญนี้ขาดความชอบธรรม ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการลงประชามติ เมื่อปี 59 ปี 60 มีการทำประชามติและประชาชนก็ให้ความเห็นชอบไปแล้ว

แต่ว่านักกฎหมายทุกคนทราบดีว่า การแสดงเจตนาของคน ต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นอิสระในการแสดงเจตนานั่นคือว่า เราต้องสามารถที่เข้าถึงข้อมูลทั้งของฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเรามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่เราได้รับอย่างครบถ้วน

 

 

เราทุกท่านทราบดีว่าข้อมูลของฝั่งที่ต่อต้านก็ถูกจำกัดใช่ไหม คนที่พยายามแคมเปญคนที่พยายามรณรงค์ก็ถูกจับกุมดำเนินคดี เราอยู่ภายใต้สภาวะที่เขาอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการถกเถียง ไม่มีการพูดคุยกัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลฝ่ายเดียว เข้าถึงข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งที่จำกัดมาก

นี่คือเป็นปัญหาซึ่งผมอาจจะไม่พูดซ้ำ แต่ว่าทั้งหลายทั้งปวงต้องบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ทั้งในแง่ของกระบวนการ และในแง่ของเนื้อหา อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความร้ายแรงของปัญหาทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ในทางรัฐธรรมนูญในกฎหมายมหาชนไม่มี Concept (แนวคิด) เรื่องความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเปรียบเสมือนเป็นสัญญาประชาคม ซึ่งการเกิดขึ้นของเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ แต่ว่าก็ไม่มีช่องที่จะประกาศว่าเป็นโมฆะ

ขออนุญาตทิ้งท้ายว่า ผมคิดว่าปัญหาที่ร้ายแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ตระหนักรู้กันดีในหมู่ประชาชนและในพรรคการเมือง ซึ่งก็ได้ประกาศนโยบายไว้อย่างชัดเจน

ผมคิดว่า วันนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมาย้ำเตือนกันอีกครั้งหนึ่งว่า เรากำลังอยู่ภายใต้บังคับใช้ของรัฐธรรมนูญที่ตกเป็นโมฆะ เป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรม ที่มีปัญหาอย่างร้ายแรงในแง่ของกระบวนการของการได้มา และในแง่ของเนื้อหา

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo

 

ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.