ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทย ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมและความมั่นคง

20
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ประชาธิปไตยต้องการทั้งนิติรัฐและนิติธรรมที่เป็นเสมือนเสาหลักค้ำยันซึ่งกันและกัน เพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดอำนาจรัฐ และยึดถือประโยชน์มหาชนเป็นใหญ่
  • ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นิติรัฐนิติและนิติธรรมไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นรัฐชาติแบบสัญชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การล่าอาณานิคม และการปรับสังคมไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกภายใต้การนำของสถาบันกษัตริย์ แต่รัฐชาติ (Nation state) แบบใหม่ ดังเช่นแบบชาติตะวันตก กลับให้อำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือ กรุงเทพฯ ผิดจากอดีตที่กระจายอยู่รอบนอก
  • คำอธิบายของนักปราชญ์บางคน เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ส่วนคือ ทางโลกและทางธรรมหรือจิตใจ โดยความรู้แบบตะวันตกเป็นความรู้ทางโลก ความรู้แบบพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานของไทยเป็นความรู้ทางธรรมที่มีค่าสูงกว่าความรู้ทางโลกที่มาจากตะวันตก และให้โอกาสแก่แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติเหนือกว่าแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย
  • การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นำไปสู่การทำลายนิติรัฐและนิติธรรมที่เป็นสากล โดยชนชั้นปกครองยังคงให้อภิสิทธิ์แก่รัฐว่าอยู่เหนือประชาชน สภาพเช่นนี้ จึงสมควรได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยทำให้นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทยกลายเป็นแบบสากลที่กลับมาคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

นิติรัฐ (Legal state) และนิติธรรม (Rule of law)[1] เป็นถ้อยคำทางเทคนิค (Technical term)

ทางนิติศาสตร์ในฐานะหลักการหรือระบอบการปกครองซึ่งเรียกให้การใช้อำนาจของรัฐจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายและความยุติธรรม กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนบุคคลที่ได้รับมอบหมายอำนาจรัฐจะต้องผูกพันตนกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ภายใต้หลักประกันการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง[2]

ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถึงขนาดกล่าวได้ว่า “การไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีนิติรัฐนิติธรรม” ฉันใดฉันนั้น “การไม่มีนิติรัฐนิติธรรม ก็ไม่มีประชาธิปไตย” เพราะประชาธิปไตยและนิติรัฐนิติธรรมต่างเป็นเสมือนเสาหลักค้ำยันซึ่งกันและกันหากมีเสาต้นใดหักโค่นลงไป เสาอีกต้นหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะดำรงคงอยู่ด้วยตัวของมันเองได้ วัตถุประสงค์หลักที่ถูกต้องตรงกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนิติธรรมคือ การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการเข้าไปจำกัดอำนาจรัฐ ยึดถือประโยชน์มหาชนเป็นใหญ่[3]

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หลักนิติรัฐนิติธรรมถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทยโดยนักกฎหมาย นักการเมือง ตลอดจนนักวิชาการและผู้สนใจด้านรัฐธรรมนูญในฐานะอุดมคติของหลักการแห่งการปกครองที่ดีและพึงปรารถนา[4] ความสำคัญของนิติรัฐนิติธรรมได้รับการยอมรับถึงที่สุดเมื่อหลักการดังกล่าวถูกนำมาบัญญัติเอาไว้ถาวรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่า

“...การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม[5]

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หลักการนิติธรรมปรากฏในรัฐธรรมนูญไทย ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ได้มีการระบุถึงคำว่า “นิติธรรม (นิติรัฐ)” เอาไว้ในเช่นกันในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบันทึกเจตนารมณ์ของการยกร่างและสถานการณ์ของสังคมในเวลานั้นความว่า

“แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นเข้าปะทะกันซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน โดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อารัมภบทดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งบางประการที่น่าสนใจ กล่าวคือ นิติรัฐนิติธรรมในอารัมภบทดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุในการอธิบายถึงความจำเป็นของการรัฐประหารในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2549 และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาองค์กรที่ควรจะต้องทำหน้าที่พิทักษ์นิติรัฐนิติธรรมแบบศาลรัฐธรรมนูญ[6] กลับละเลยต่อการรักษานิติรัฐนิติธรรม แต่กลับมุ่งใช้อำนาจที่ได้รับตามรัฐธรรมนูญในการเป็นปรปักษ์กับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงตีความกฎหมายอำเภอใจและทำให้ผลทางกฎหมายคาดเคลื่อนไป

ดังนี้ การที่นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติในไทยถูกใช้เป็นเหตุอ้างในการรัฐประหาร และการที่องค์กรพิทักษ์รักษานิติรัฐนิติธรรมกลายมาเป็นผู้มุ่งทำลายนิติรัฐนิติธรรมเสียเองสิ่งนี้มีความน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษาถึงบริบทของนิติรัฐนิติธรรมในไทยที่แตกต่างจากบริบทสากลที่กล่าวมาข้างต้น โดยในกรณีนี้ผู้เขียนจะขอเล่าถึงกรณีศึกษาของการออกกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พ.ศ. 2491

บทความนี้จะเริ่มต้นจากการอธิบายประเด็นเรื่องความชอบธรรมแห่งนิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทยก่อนเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจบริบทของคุณค่าในความชอบธรรมของนิติรัฐนิติธรรมไทย ก่อนจะต่อด้วยการอธิบายเรื่องการยอมรับให้ออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อวัตถุประสงค์ของความมั่นคงของชาติ และกลับมาที่สภาพปัจจุบันคือ การสืบสาน (รักษา) และต่อยอดนิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทย

 

ความชอบธรรมแห่งนิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทย

ภายหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เจตนารมณ์ของคณะราษฎรในครั้งนั้นคือ ต้องการให้เกิดสิทธิเสมอกันและให้ราษฎรทุกคนมีเสรีภาพที่มีความเป็นอิสระ[7] โดยให้รัฐธรรมนูญเป็นที่มาและกรอบของการใช้อำนาจของรัฐในการปกครองประเทศ[8]

ในลักษณะเสมือนว่าประเทศไทยได้มีการสถาปนาหลักนิติรัฐนิติธรรมขึ้นในประเทศไทย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  อย่างไรก็ดี รัฐไทยไม่ได้เป็นเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 พร้อมๆ กันกับการสถาปนาการปกครองแบบใหม่โดยคณะราษฎร แต่มีความเป็นมาก่อนหน้านั้น กล่าวเฉพาะในช่วงเวลาของการปกครองภายใต้ราชวงศ์จักรีคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325

ตลอดช่วงระยะเวลา 150 ปี ประเทศไทย (สยามในขณะนั้น) เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของประเทศตะวันตก แต่ความผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นก็ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะกึ่งอาณานิคม กล่าวคือ ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการปกครองและเศรษฐกิจเพื่อให้ตอบสนองต่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

การปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกดำเนินการไปภายใต้การนำของสถาบันกษัตริย์นี้ อำนาจส่วนใหญ่ตกอยู่กับชนชั้นนำไทยคือ สถาบันกษัตริย์ คณะสงฆ์ และระบบราชการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในส่วนของกองทัพและข้าราชการพลเรือน[9] โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของรัฐชาติ (Nation state) ใหม่แบบชาติตะวันตกที่มีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือ กรุงเทพฯ แตกต่างจากในอดีตที่อำนาจกระจายอยู่รอบนอก[10] ที่เมื่อยิ่งห่างไกลจากกรุงเทพฯ อำนาจของรัฐกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางลง ประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอกมีอิสรภาพในการปกครองตนเอง[11]

อย่างไรก็ดี ชนชั้นนำไทยไม่ได้ดำเนินการตามแบบตะวันตกทุกประการ ในทางตรงกันข้ามชนชั้นนำมีแนวทางที่เลือกรับเลือกทำตามแบบอย่างตะวันตก โดยชนชั้นนำสยามมีแนวโน้มจะแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาณ ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายของขุนนางและปราชญ์คนสำคัญของประเทศไทยคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ซึ่งได้เขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจขึ้นในปี พ.ศ. 2410 โดยหนังสือเล่มนี้ได้ยอมรับความรู้วิทยาศาสตร์ที่รับมาจากมิชชันนารีชาวตะวันตกที่เผยแพร่ในสยาม แต่ก็มีการแสดงความเห็นโต้แย้งปรัชญาของศาสนาคริสต์ และอธิบายความเหนือกว่าของพระพุทธศาสนาในการเชิงปรัชญาทางศาสนา ทำให้เกิดการแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วนคือ ทางโลกและทางธรรมหรือจิตใจ โดยความรู้แบบตะวันตกเป็นความรู้ทางโลก วิทยาการและวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ความรู้แบบพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทยเป็นความรู้ทางธรรมที่ตอบสนองต่อความหมายและคุณค่าของชีวิตได้มากกว่าในฐานะของกรอบทางศีลธรรม ซึ่งอยู่เหนือกว่าเรื่องทางโลก[12]

ไม่เพียงแต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีความคิดเห็นไปในลักษณะเดียวกัน ดังปรากฏตามพระราชดำรัสที่มีไปถึงนักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศว่า

“ให้พึงนึกในใจว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะมาเปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง[13]

พระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีทรรศนะที่แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ส่วนคือ ความรู้แบบตะวันตก และความรู้แบบไทย และการทรงเน้นย้ำว่า การเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง จึงเป็นการสะท้อนว่า ความเป็นไทยนั้นดีกว่าและอยู่เหนือกว่าความเป็นฝรั่งเพียงแต่คนไทยจะต้องเรียนรู้ความรู้ของตะวันตกที่เป็นความก้าวหน้าภายนอกเพื่อมาปรับใช้

ดังนี้ ทรรศนะว่าความเป็นแบบอย่างตะวันตกเป็นเรื่องในทางภายนอก ส่วนในเรื่องภายในจิตใจชนชั้นนำไทยกลับมาองว่า คุณค่าแบบไทยดั้งเดิมนั้นสูงส่งและดีงามกว่า ทำให้ยังคงลักษณะแบบแผนในเชิงวัฒนธรรมแบบเดิมเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามแนวทางแบบตะวันตก โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดไปสู่ระบบราชการที่สร้างขึ้นมาจากการปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย และตกทอดต่อมาถึงช่วงภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม

สภาพดังกล่าวนี้ทำให้เวลากล่าวอ้างความชอบธรรมในสังคมไทยนั้นชนชั้นในระบบราชการของไทยจึงมักกล่าวอ้างคุณค่าบางประการที่จากจารีตในระบอบการปกครองเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งพร้อมๆ กับความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ แนวคิดเรื่องความชอบธรรมของสามารถจำแนกได้เป็น 2 แนวทางคือ แนวคิดดั้งเดิมซึ่งพัฒนามาอย่างยาวนานพร้อมๆ กันการปกครองดั้งเดิมที่กลายมาเป็นรากฐานของสังคมไทย และแนวคิดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งยังคงไม่ตั้งมั่นเพียงพอในสังคมไทย เพราะถูกขัดขวางด้วยกระบวนการรัฐประหารและกลุ่มชนชั้นนำไทยที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้[14]

แนวคิดเรื่องความชอบธรรมแบบดั้งเดิมก็คือ แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความชอบธรรมดังกล่าวในฐานะตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกอธิบายว่าเชื่อมโยงกับคุณค่าของความเป็นไทยบนวิถีคิดแบบพุทธศาสนาว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมหาบุรุษผู้นำพามวลมนุษย์[15] ในขณะที่ความชอบธรรมใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นมาคือ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการสร้างกลไกการควบคุมอำนาจรัฐแบบหลักนิติรัฐนิติธรรมเพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกรับมาในฐานะของความรู้จากตะวันตก[16]

ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดนี้จึงทำให้กลายเป็นแนวคิดดั้งเดิมนี้เป็นแกนหลักของสังคมไทย ในขณะเดียวกันแนวคิดแบบประชาธิปไตยถูกใช้ในลักษณะเป็นเพียงแค่กรอบคิดหนึ่งๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อระงับหรือปิดปากและสร้างความชอบธรรมให้การกระทำใดๆ ที่ขับเคลื่อนแนวคิดแบบดั้งเดิม[17] สิ่งนี้คือต้นเค้าของแนวคิดที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ[18] ซึ่งกลายมาเป็นการสร้างระบบประชาธิปไตยเฉพาะบริบทของไทยที่ถูกอธิบายให้แตกต่างจากประชาธิปไตยสากล โดยพยายามขับเคลื่อนคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่ไปด้วยกัน ในลักษณะที่คุณค่าเก่าถูกทำให้มีความสำคัญ และทำให้ยอมรับสถานะของประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์หรือเป็นเพียงแค่เปลือกที่ซ่อนรูปเผด็จการไว้ให้แนบเนียนเท่านั้น[19]

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับนิติรัฐนิติธรรมของประเทศไทยเช่นเดียวกัน สภาวะของนิติรัฐนิติธรรมที่ต้องโอบรับแนวคิดดั้งเดิมและคุณค่าเก่าเข้ามาทำให้เกิดการยอมรับนิติรัฐนิติธรรมที่ยอมรับว่า ความมั่นคงของชาติ (ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์) เป็นข้อยกเว้นใหญ่ของการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สิ่งนี้นำไปสู่การเรียกของนักวิชาการว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์-ราชนิติธรรม ดังจะกล่าวถึงต่อไป

 

การยอมรับให้ออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อวัตถุประสงค์ของความมั่นคงของชาติ

ดังกล่าวมาแล้วว่า หลักการของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นนิติรัฐและนิติธรรมถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาและคุ้มครองระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง ซึ่งรวมถึงการประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ให้ถูกผู้ทรงอำนาจรัฐนำอำนาจดังกล่าวมาใช้ในการบีบคั้นหรือกลั่นแกล้ง

หนึ่งในหลักการย่อยที่สำคัญของหลักนิติรัฐและนิติธรรมก็คือ หลักการกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษกับบุคคล กล่าวคือ รัฐห้ามตรากฎหมายย้อนหลังไปเพื่อบังคับใช้เป็นโทษกับบุคคลทั้งในการลงโทษหรือจำกัดสิทธิที่บุคคลเคยมี ผลของหลักการนี้จึงเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากอำนาจรัฐ และผูกพันการใช้อำนาจรัฐไว้เฉพาะกับกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานั้น อำนาจรัฐจึงมีความชอบธรรมที่จะนำไปบังคับใช้กับประชาชน[20] ดังนี้โดยหลักการแล้วรัฐบาลที่ปกครองโดยนิติรัฐนิติธรรมและเป็นประชาธิปไตยจึงไม่สามารถที่จะออกกฎหมายย้อนหลังมาลงโทษกับบุคคลได้

อย่างไรก็ดี ในกรณีของประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไป นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทยที่สร้างขึ้นมาในบริบทเฉพาะของสังคมไทยที่ยอมให้เกิดการละเมิดนิติรัฐนิติธรรมโดยทั่วไปได้ หากการละเมิดนิติรัฐนิติธรรมนั้นกระทำไปเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างของการออกกฎหมายมาให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษกับประชาชนคือ กรณีของพระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พ.ศ. 2491 ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ภายหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อใช้กับการขยายระยะเวลาคุมขังจำเลยในคดีปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหาหลายๆ ครั้งติดกันแต่ครั้งหนึ่งไม่เกิน 30 วัน และรวมกันไม่เกิน 180 วัน[21]

ผลของกฎหมายฉบับนี้คือ การขยายอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องหา ซึ่งยังไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด ให้ถูกคุมขังต่อไปเกินกว่าระยะเวลาปกติที่กฎหมายกำหนดไว้คือ 48 ชั่วโมง เว้นแต่ศาลจะร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งขัง ซึ่งอาจสั่งขังคราวหนึ่งไม่เกิน 15 วัน รวมกันไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งหากเกินระยะเวลา ดังกล่าวศาลต้องออกหมายปล่อยผู้ต้องหา[22] จึงเท่ากับเป็นการออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาและขัดต่อหลักการนิติรัฐนิติธรรม

ทั้งนี้ กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเคยมีการตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังโดยมีผลเป็นโทษกับบุคคล ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เคยมีการตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เพื่อมาดำเนินการจับกุมและฟ้องร้อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตผู้นำทางการทหารและการเมืองกับพวก ในข้อหาอาชญากรสงคราม[23] อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมโดยศาลฎีกาทำหน้าที่ศาลอาชญากรสงครามได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำก่อนวันใช้กฎหมายเป็นความผิดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ จอมพล ป. พิบูลสงครามกับพวก จึงได้รับการปล่อยตัวพ้นข้อหา[24]  ดังนี้ หากสถาบันการเมืองไทยดำเนินการตามบรรทัดฐานในลักษณะเดียวก็ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการตรากฎหมายฉบับนี้หรือทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้ตกเป็นโมฆะ แต่สถาบันการเมืองไทยกลับทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เพราะในเชิงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ การตรากฎหมายฉบับนี้เป็นไปสอดคล้องกับข้อยกเว้นสำคัญของนิติรัฐนิติธรรมไทยที่อนุญาตให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีของความมั่นคงของชาติ ซึ่งสะท้อนภาพของนิติรัฐอภิสิทธิ์-ราชนิติธรรม

 

นิติรัฐอภิสิทธิ์: ภายสะท้อนความไม่ลงหลักปักฐานของนิติรัฐที่แท้จริง

นิติรัฐอภิสิทธิ์เป็นคำที่ ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยหยิบยกขึ้นมาเพื่ออธิบาย สภาวะที่ระบบกฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทรัพย์สินเอกชนได้ด้วยข้ออ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ[25] โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์สาธารณะนั้นคือความมั่นคงของชาติ

หากพิจารณาในชั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พ.ศ. 2491 ในพฤฒสภา (ขณะนั้นใช้วุฒิสภาแทนสภาผู้แทนราษฎร) จะพบว่าทรรศนะของรัฐบาลนั้นไม่ได้มีความสนใจต่อประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องขังแต่อย่างใด ดังปรากฏตามคำชี้แจงของ พล.ท. หลวงสิงหนาดโยธารักษ์ (ชิต มั่นศิลป์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยความว่า

“...เมื่อรัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ได้ถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีสำคัญซึ่งควรจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ จึ่งได้เร่งรัดทำการสอบสวน ทั้งทำการจับกุมคุมขังบุคคลที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าสมคบกันลอบปลงพระชนม์และเริ่มดำเนินการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามลำดับ แต่โดยพฤติการณ์ในกรณีนี้ได้ถูกปล่อยปละละเลยมาแต่ต้นดังกล่าวแล้ว จึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่พนักงานสอบสวนจะกระทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นได้ภายในกำหนดเวลาที่จะขังผู้ต้องหาไว้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะพฤติการณ์ณืเหล่านั้นกระทำให้เกิดความยุ่งยากและลึกลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการสอบสวนเนิ่นนานไปกว่าปกติ จึ่งจะปิดสำนวนการสอบสวนได้ และในบัดนี้ กรณีก็ได้คลี่คลายกระจ่างขึ้นมาแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้ถูกปลงพระชนม์ รัฐบาลนี้จึงถือว่ากรณีนี้มีความสำคัญเป็นิย่างยิ่งในอันที่จะต้องดำเนินการสอบสวนให้ได้ความจริงโดยกระจ่างและให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามโทษานุโทษ เมื่อกรณีมีความสำคัญเป็นพิเศษเช่นนี้ ประกอบทั้งพฤติการณ์ที่เป็นมายุ่งยากลึกลับซับซ้อนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนต้องตกอยู่ในฐานะที่จะต้องทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกรณีปกติไม่ได้ จึ่งจำต้องขอขยายเวลาขังผู้ต้องหาออกไปเป็นกรณีพิเศษฉะเพาะเรื่อง เพื่อให้ผลของคดีเป็นไปโดยสมบูรณ์...[26]

ในทางตรงกันข้ามนักนิติศาสตร์คนสำคัญที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมแบบพฤฒสภา อาทิ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (อดีตอธิบดีกรมอัยการ เทียบอัยการสูงสุด และเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กลับไม่ได้แสดงความเห็นที่จะคัดค้านเรื่องนี้ในฐานะนักนิติศาสตร์ ทั้งๆ ที่การตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังเคยถูกพิจารณาโดยศาลฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2489

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยยอมรับให้การยกเว้นกฎหมายเพื่อความมั่นคงแห่งชาติกลายมาเป็นอภิสิทธิ์มากกว่า รัฐสามารถที่จะงดใช้กฎหมายและกระบวนการตุลาการตามปกติได้หากสถานการณ์นั้นเป็นสถานการณ์พิเศษ โดยต้องเลือกความมั่นคงของชาติเหนือสิ่งอื่นใด[27]

 

ราชนิติธรรม: ภาพสะท้อนความบกพร่องขององค์กรตุลาการไทย

ในลักษณะเดียวกันกับนิติรัฐอภิสิทธิ์ องค์กรตุลาการไทยก็มีความบกพร่องในลักษณะเดียวกัน โดยอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘ราชนิติธรรม’ ซึ่งเป็นคำที่ ธงชัย วินิจจะกูล หยิบยกขึ้นมาเพื่ออธิบาย สภาวะที่กษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรม มิใช่รัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาดังที่ถือกันเป็นบรรทัดฐานทางสากล[28]  ทั้งนี้ ด้วยสถาบันกษัตริย์ไทยเติบโตและมีความชอบธรรมผ่านการอธิบายบนพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ธรรมะและศาสนาซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความคิดที่ถ่ายทอดในวิธีคิดของวงการตุลาการไทย

บทบาทของผู้พิพากษาและตุลาการไทยจึงวางตัวไว้ในฐานะของผู้มีบทบาทในการชี้กรรม โดยไม่ถือว่าตนนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับโจทก์หรือจำเลย แต่พิจารณาว่าผู้กระทำความผิดพลาดนั้นได้สร้างบาปสร้างกรรมขึ้นเอง และต้องรับผลแห่งกรรมนั้นด้วยตัวเอง ผู้พิพากษาและตุลาการจึงเป็นคนชี้กรรมเท่านั้น[29] สิ่งนี้ทำให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการไทยละเลยต่อเรื่องอื่นๆ หรือการคำนึงถึงคุณค่าของความยุติธรรมหรือการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนี้ การที่สถาบันตุลาการที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่นในฐานะผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สถาบันตุลาการวางตัวว่าอยู่ข้างผู้มีอำนาจโดยตลอด กล่าวคือ สถาบันตุลาการไม่เคยปฏิเสธผลทางกฎหมายของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่างๆ อาทิ การรัฐประหาร[30]

ในคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ ผู้พิพากษาองค์คณะในศาลฎีกาทั้งสามคนคือ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิ์ศฤงคาร (ธรรมบัณฑิต บุณยะปานะ, บุญจ๋วน บุญยะปานะ) พระนาถปรีชา (เอี่ยม นิติพน) และพระนนทปัญญา (โต มกรานนท์) ได้พิจารณาคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พ.ศ. 2491 เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ศาลกลับวินิจฉัยว่า การที่พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาเป็นความผิดแล้วและศาลได้สั่งขังในระหว่างสอบสวน และต่อมาศาลสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว ดังนี้ ย่อมไม่เป็นประโยชน์หรือผลแก่คดีของผู้ต้องหาอย่างใดที่จะวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมให้ยกฎีกาเสีย[31]

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ศาลละเลยต่อการพิจารณาประเด็นว่าการควบคุมตัวที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อรักษาหลักการของนิติรัฐนิติธรรม หรือเพียงแค่ดำเนินการให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนๆ ในขณะเดียวกันสิ่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า สถาบันตุลาการยังเลือกวางตนไว้โดยไม่ลงหลักปักฐานกับนิติรัฐนิติธรรม แต่การเลือกที่จะยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจคือ คณะรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในเวลานั้น

 

สรุปแล้วสังคมไทยยังคงสืบสาน (รักษา) และต่อยอดนิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทย

กระบวนการตราพระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พ.ศ. 2491 และคำพิพากษาของศาลนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า นิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ดังเช่นที่ ธงชัย วินิจจะกูล ได้อธิบายเรียกสภาพของรัฐไทยที่เรียกนิติรัฐอภิสิทธิ์-ราชนิติธรรมว่าเป็นเสมือนนิติรัฐนิติธรรมแบบสากลนั้นเป็นการอำพรางนิติศาสตร์แบบอำนาจนิยมให้ดูน่าเชื่อถือด้วยกฎหมายและธรรมะ[32] ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของนิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทย สิ่งนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยหรือข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่งๆ ที่กลายมาเป็นประเพณีทางการปกครองและการเมืองของสังคมไทย[33]

การที่สถาวะนิติรัฐนิติธรรมไทยไม่ใช่นิติรัฐนิติธรรมสากลนั้นทำให้สถานการณ์ของการใช้อำนาจรัฐเข้ามารุกล้ำสิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันองค์กรตุลาการไทยนั้นก็เพิกเฉยต่อการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยเพราะองค์กรตุลาการนั้นยืนหยัดอยู่ในข้างเดียวกันกับฝ่ายอำนาจนิยม ทำให้สถานการณ์ของการใช้อำนาจเพื่อคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้ ขบวนการยุติธรรมไทยเริ่มสั่นคลอนลงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ รัฐได้ผลิตซ้ำและอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการคุกคามและทำลายขั้วตรงข้ามทางการเมือง ผ่านการตีความกฎหมายและการออกกฎหมายมากคุกคาม โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ อาทิ การเลื่อนกฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย การอนุมัติต่ออายุการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการยอมรับให้บทบัญญัติของกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเป็นการขยายช่องว่างของข้อยกเว้นนิติรัฐนิติธรรมให้กว้างขวางเสมือนความเป็นปกติ

สภาวะที่นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทยดำรงอยู่นี้ อาจจะเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังคมไทยจะเดินหน้าต่อไป จะสะสางความไม่เป็นธรรมอย่างไรในสังคม และจะทำอย่างไรให้นิติรัฐนิติธรรมสัญชาติไทยกลายเป็นนิติรัฐนิติธรรมแบบสากลที่กลับมาคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่าแท้จริง

 

 


[1] ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นที่มาของหลักการหรือความแตกต่างของหลักนิติรัฐและนิติธรรม แต่เน้นการอธิบายหลักนิติรัฐและนิติธรรมในฐานะกรอบของการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ เนื่องจากในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า นักกฎหมายไทยให้ความสนใจกับถ้อยคำและเนื้อหาความแตกต่างของหลักการจนละเลยคุณค่าที่แท้จริงของหลักการทั้งสองว่า สิ่งนี้ไม่เคยลงหลักปักฐานในสังคมไทย.

[2] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย, 2564) 257.

[3] พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, “ปฏิรูปประเทศไทยด้วยแนวคิดประชานิติศาสตร์,” Pub-Law Net, 24 เมษายน 2554 สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=1580.

[4] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, “นิติธรรมไทย: เฟื่องฟู และล้มเหลว” ใน นิติรัฐนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, 2567), X.

[5] มาตรา 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ร่างจงใจใช้คำว่า “นิติธรรม” ซึ่งในชั้นของการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการถกเถียงถึงที่มาในเชิงถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ. ดู สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, “เอกสารรายงานการประชุมทางวิชาการ เนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 20 ปี (เอกสารภายใน),” การประชุมในวันที่ 9-10 เมษายน 2561 ณ โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, 14 อ้างใน กล้า สมุทวณิช, “ศาลรัฐธรรมนูญกับการแปลความหมาย สร้าง และบังคับใช้หลักนิติธรรมไทย,” ใน นิติรัฐนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, 2567), 182.

[6] ธีระ สุธีวรางกูร, "รายงานฉบับสมบูรณ์ศาลรัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหลังประกาศใช้," (รายงานวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัย คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), 118; อานนท์ มาเม้า, ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), 27.

[7] สถาบันปรีดี พนมยงค์, “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126.

[8] เพิ่งอ้าง และ ดู เจตนารมณ์ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475.

[9] Björn Dressel, “When Notions of Legitimacy Conflict: The Case of Thailand,” 2010 Politics & Policy 38 (3) 445: 447.

[10] บรรจง ตันตยานนท์, “ปัญหาการรวมชาติในสมัยรัชกาลพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,” ใน การเมือง-การปกครองไทยสมัยใหม่: รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522), 27-28. การปกครองของไทยก่อนทศวรรษที่ 2440 (ตามปี พ.ศ.) มีลักษณะเป็นการปกครองแบบจารีตตามคติจักรพรรดิราชที่ไม่มีเขตแดนของรัฐที่ชัดเจน และผู้อยู่ใต้ปกครองปรับเปลี่ยนไปตามขอบเขตแห่งพระเดชานุภาพของกษัตริย์ผู้ปกครองสูงสุดเสมือนพระจักรพรรดิราชในพระพุทธศาสนา. ดู อเนก มากอนันต์, จักรพรรดิราช: คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), 3-9.

[11] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นิติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2549), 19-20.

[12] ธงชัย วินิจจะกูล, เมื่อสยามพลิกผัน ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562), 31-37.

[13] ดู พระราชดำรัสตอบพวกนักเรียนในกรุงเทพฯ ที่พลับพลาท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 116 ใน กรมศิลปากร, พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเพทฯ: โรงพิมพ์สามมิตร, 2513), 31.

[14] Björn Dressel, supra note 9, 449.

[15] ตามอัคคัญญสูตรแนวคิดในพระพุทธศาสนาสนับสนุนให้กษัตริย์มีสถานะเป็นผู้เป็นใหญ่เพื่อเข้าแก้ไขความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ อบรมสั่งสอนธรรม และระงับความขัดแย้งของมนุษย์ในสังคม ดู มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เล่ม 11, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539), 96-99. ในขณะเดียวกันชนชั้นนำในสังคมไทยยอมรับว่า นิติรัฐนิติธรรมในสังคมไทยมาจากหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน อาทิ หลักทศพิธราชธรรมหรือหลักจักรวรรดิวัตร 12 ประการ ซึ่งหลักการเหล่านี้เป็นหลักธรรมของผู้ปกครอง.

[16] ดังจะเห็นได้ว่า คณะราษฎรพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่สร้างความหมายของชาติเข้าแทนที่สถาบันกษัตริย์และทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นศูนย์กลางของระบอบการปกครอง แต่กระบวนการสร้างวัฒนธรรมใหม่นี้ทำได้ไม่ต่อเนื่องเพราะสถานการณ์ทางการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและถูกตัดตอนจากการรัฐประหาร.

[17] Björn Dressel, supra note 9, 455.

[18] ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ประชาธิปไตย: ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนขยายต่างๆ (ตอนจบ)” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 3 ตุลาคม 2566, สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2023/10/1700.

[19] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, อ้างแล้ว เชิงอรรถ 4, XXII-XXIII.

[20] ณัฐพงษ์ โปษกะบุตร, “หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง (Ex Post Facto Law),” ใน รพี’50 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2550), 27.

[21] พระราชบัญญัติกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีที่ต้องหาว่าปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พ.ศ. 2491 มาตรา 3.

[22] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87.

[23] ธโนชัย ปรพัฒนชาญ, “อาชญากรสงคราม,” ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อาชญากรสงคราม.

[24] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2489.

[25] ธงชัย วินิจจะกูล, “ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย,” Way, 9 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก https://waymagazine.org/thongchai-winichakul-rule-by-law/.

[26] รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2/วันที่ 15 มกราคม 2491.

[27] ธงชัย วินิจจะกูล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 25.

[28] เพิ่งอ้าง.

[29] ธานินทร์ กรัยวิเชียร, “จริยธรรมของนักกฎหมาย,” ใน รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2548), 235.

[30] กฤตพล วิภาวีกุล, “ระบบกฎหมายและสถาบันตุลาการในนิติรัฐอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2,” สมติ, 6 สิงหาคม 2564, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 สืบค้นจาก https://www.sm-thaipublishing.com/content/9914/nitirat-law-2.

[31] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2491.

[32] ธงชัย วินิจจะกูล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 25.

[33] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มติชน 2557),115.