Focus
- บทความนี้เสนอการพิจารณาว่าสังคมบนพื้นฐานของประชาธิปไตยและความเสมอภาคนั้นควรตั้งอยู่บนหลักการของนิติธรรม (Rule of law) ผ่านการประเมินตามดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of law index) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลการดำเนินงานและสถานการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของประเทศจำนวน 142 ประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของดัชนีหลักนิติธรรมในปัจจัยด้านต่าง ๆ แล้ว โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน พบว่าประเทศไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
- กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยต่อคดีทางการเมืองจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีทางการเมืองโดยการใช้อำนาจรัฐเพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมือง โดยจากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ระบุว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งสิ้น 1,954 คน ในจำนวน 1,296 คดี
- สถิติข้อมูลผู้ต้องขัง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามีผู้ต้องขังทั้งหมด 280,617 คน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด 216,519 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 64,092 คน และเยาวชนที่ฝากขังไว้ 6 คน และจำนวนที่เหลือคือผู้ต้องกักกันและผู้ต้องกักขัง และนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมาจนถึง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 มีต้องขังเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยทั้งหมด 4,152 คน และเสียชีวิตผิดธรรมชาติ จำนวน 145 คน
เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้มีเรื่องน่ายินดีคือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภาแล้วเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย สิ่งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีกับสังคมไทยที่จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน กฎหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นหมุดหมายที่จะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้การเริ่มต้นชีวิตครอบครัวไม่ถูกจำกัดโดยผลของกฎหมายอีกต่อไป แม้จะมีการแสดงทัศนคติของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านในเชิงไม่สร้างสรรค์ แต่ก็นับได้ว่าสังคมกำลังเคลื่อนไปสู่ความเสมอภาคมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมกำลังเหมือนจะเคลื่อนไปสู่ความเสอมภาคมากขึ้นนั้น จริง ๆ สังคมกำลังดำเนินไปแบบนั้นจริงหรือไม่
เมื่อพิจารณาสังคมบนพื้นฐานของประชาธิปไตยแล้ว ความเสมอภาคนั้นควรตั้งอยู่บนหลักการของนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งเป็นหลักประกันพื้นฐานว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันบนพื้นฐานของกฎหมาย และกฎหมายเป็นที่มาของอำนาจรัฐและข้อจำกัดในการใช้อำนาจรัฐ ยิ่งในสถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้งมากแบบในปัจจุบัน การกลับมายึดมั่นในหลักการนิติรัฐยิ่งมีความสำคัญ ทว่า สังคมไทยกำลังเดินทอดไปตามวิถีทางดังกล่าวหรือไม่ ในบทความนี้จะลองชวนผู้อ่านมาหาคำตอบกัน
ประเทศไทยสอบตกในการประเมินด้านนิติรัฐ/นิติธรรม
หนึ่งในการจัดลำดับสากลที่มีความน่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมคือ การประเมินตามดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of law index) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลการดำเนินงานและสถานการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของประเทศจำนวน 142 ประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ World Justice Project ได้เผยแพร่ผลคะแนนการประเมินดัชนีหลักนิติธรรม (ของจำนวน 142 ประเทศทั่วโลกของปี พ.ศ. 2565) พบว่าประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในลำดับที่ 82 ที่คะแนนประเมินรวมอยู่ที่ 0.49 น้อยกว่าประเทศเพื่อร่วมประชาคมอาเซียนแบบสิงคโปร์ที่อยู่ในลำดับที่ 17 มีคะแนนประเมินรวมอยู่ที่ 0.78 และน้อยกว่ามาเลเซียที่อยู่ในลำดับ 55 มีคะแนนประเมินรวมอยู่ 0.57 (ภาพที่ 1)
ผลของการที่ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 0.49 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่ค่อนไปในทางไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการประเมินในช่วงปี พ.ศ. 2566 พบว่าลำดับของประเทศไทยคงที่ แต่ที่น่าสนใจคือ คะแนนการประเมินของไทยแย่ลง โดยลดลงจากปี พ.ศ. 2566 ลงมา 0.01 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีแรกและเป็นที่ประเทศไทยได้คะแนนการประเมินมากที่สุด ประเทศไทยมีคะแนนลดลง 0.03 คะแนน (ภาพที่ 1)
หากลองพิจารณาในรายละเอียดของดัชนีหลักนิติธรรมในปัจจัยด้านต่าง ๆ แล้ว โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน พบว่าประเทศคะแนนประเมินของประเทศไทยล้วนต่ำกว่า 0.5 คะแนน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ครอบคลุมการประเมินกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 0.41 คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ 0.09 คะแนน ต่ำลงจากคะแนนปีที่ 0.01 คะแนน (ภาพที่ 2)
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่าสถานการณ์บ้านเมืองนี้แย่ขนาดนั้นจริงหรือไม่ เรามีการดำเนินคดีกับบุคคลอย่างไม่เหมาะสมจริงหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยย่ำแย่จริงหรือไม่ ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านลองพิจารณาข้อมูลบางอย่างต่อไปนี้อย่างจริงจัง
คนเห็นต่างทางการเมืองยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
หลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว คนไทยมีความหวังว่าประชาธิปไตยของไทยกำลังจะกลับมา สถานการณ์บ้านเมืองกำลังดีขึ้น คนไทยกำลังจะมีกินมีใช้ ปากท้องกำลังจะมา แต่คำถามสำคัญก็คือ ทุกคนกำลังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินคดีอาญากับผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีทางการเมืองโดยการใช้อำนาจรัฐเพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมือง โดยจากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งสิ้น 1,954 คน ในจำนวน 1,296 คดี[1] จำแนกได้ดังนี้
ตารางแสดงจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำแนกตามประเภท
ฐานความผิด | จำนวนผู้ถูกดำเนินคดี | จำนวนคดี |
---|---|---|
ฝ่าฝืนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 | 272 | 303 |
ฝ่าฝืนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 | 152 | 50 |
ฝ่าฝืนความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 | 1,446 | 670 |
ฝ่าฝืนความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 | 181 | 99 |
ฝ่าฝืนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 | 202 | 225 |
ความผิดจากการละเมิดอำนาจศาล | 43 | 25 |
หมายเหตุ ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2567 ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2567
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย(?) ก็ตาม แต่สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการดำเนินการกับผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองไม่ได้มีทิศทางที่ดีขึ้นเท่าใด โดยพบว่านอกจากการดำเนินคดีแล้วผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว ทั้ง ๆ ที่สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยผู้ถูกดำเนินคดีมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์และมีสิทธิได้รับการประกันตัว รวมทั้งการพิจารณาการประกันตัว จะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้[2]
ทว่า ในความเป็นจริงสถานการณ์สิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองนั้นไม่ดีเท่าใด จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างวันที่ 22-31 พฤษภาคม 2567 ยังมีประชาชนคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง 42 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน โดยในจำนวนนี้ผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 17 คน และยังมีเยาวชน 1 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ และยังมีในส่วนคดีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด-วางเพลิงรถตำรวจ รวม 9 คน[3]
นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถี่ขึ้น และสูงที่สุดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 60 ครั้ง โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวเพียง 3 คน คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ที่ถูกคุมขังตามมาตรา 116 จากข้อหาขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 และถนอม ชายไร้บ้าน จากการถูกฝากขังในข้อหาชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณแยกคอกวัว โดยยังมีนักกิจกรรมอีก 16 คนที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลให้ความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัวว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม[4]
อีกรูปธรรมหนึ่งของวิกฤตกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ซึ่งได้มีการอดอาหารเพื่อประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและแสดงจุดยืนตามความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยของตัวเอง ที่ต้องการให้ผู้ถูกดำเนินคดีเพราะความเห็นต่างทางการเมืองได้รับการประกันตัว[5]
ความน่าประหลาดใจของคดีการเมืองอย่างหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนกระทั่งผู้พิพากษาของศาลปฏิบัติกับผู้กระทำความผิดเสมือนหนึ่งว่าพวกเขาเป็นคนนอกกฎหมายโดยสมบูรณ์ และตกอยู่ในสภาวะยกเว้นจากความคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรมีต่าง ๆ แต่ก็ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสภาวะที่แปลกประหลาด
เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้พิพากษากลับไม่ได้ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงความนิ่งเฉยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับไม่แสดงท่าทีอย่างเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญานี้ หากประเทศไทยกลับสู่สภาวะที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรคัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมือง และศาลก็ควรจะต้องปฏิบัติต่อสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังอื่น ๆ
ท่ามกลางสถานการณ์การดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมนี้ ไม่ใช่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทุกคนจะได้รับความยุติธรรม แม้ว่าจะมีนักกิจกรรมผู้ถูกดำเนินคดีบางคนได้รับสิทธิพิเศษกว่านักโทษคนอื่น ๆ ทั้งในแง่ขอเลื่อนการรับฟังข้อกล่าวหาหรือการได้รับสิทธิประกันตัวอย่างสะดวกสบาย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคนี้กำลังดึงนิติรัฐไทยให้หักงอยิ่งกว่าเดิมหรือไม่
คนยังคงล้นคุก และต้นทุนชีวิตที่ไม่ค่อยดีของนักโทษในเรือนจำ
การเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม บอกอะไรกับสังคมไทยมากกว่ากระบวนการยุติธรรมที่บกพร่องและสิทธิประกันตัวแบบสองมาตรฐานในสังคมไทย แต่ยังชวนสังคมตั้งคำถามถึงการตายผิดปกติและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่เปรียบเสมือนแดนสนธยาในความรับรู้ของสังคมไทย
จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังของ BBC ไทย ระบุว่าข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีผู้ต้องขังทั้งหมด 280,617 คน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด 216,519 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 64,092 คน และเยาวชนที่ฝากขังไว้ 6 คน และจำนวนที่เหลือคือผู้ต้องกักกันและผู้ต้องกักขัง และนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมาจนถึง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 มีต้องขังเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยทั้งหมด 4,152 คน และเสียชีวิตผิดธรรมชาติ[6] จำนวน 145 คน[7]
เมื่อพิจารณาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ พบว่าภายในเรือนจำมีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีสักเท่าใด โดยจากการศึกษาของ ชุติมา สุทธิประภา เขมภัทร ทฤษฎิคุณ และกัญจน์ จิระวุฒิพงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย[8] ได้ระบุว่าในแต่ละปีมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศเฉลี่ย 3.1 แสนคน และเคยพุ่งสูงไปถึง 3.5-3.6 แสนคนต่อปี ในช่วงระหว่าง ปี 2561-2563 เมื่อคำนวณกับขนาดของพื้นที่รองรับผู้ต้องขังของเรือนจำ พบว่าจำนวนเกินความจุที่เรือนจำสามารถรองรับได้ไปกว่า 4-5 หมื่นคน
สภาพความแออัดดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้อง อาทิ วัณโรค หอบหืด งูสวัด ความเครียด นอนไม่หลับ น้ำหนักลดและซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่ดูแลสุขภาพ โดยจากรายงานการตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบว่า หลายเรือนจำให้บริการด้านทันตกรรมและสุขภาพจิตต่ำกว่าเป้าหมาย และในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็น 40% ของผู้ต้องขังทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 139 คน
ไม่พึงต้องพูดถึงนักโทษทางการเมือง เพียงแค่นักโทษในคดีปกติทั่วไป คุณภาพชีวิตของนักโทษเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ในขณะเดียวกันสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนี้ย่อมกลายเป็นการขัดขวางกระบวนการปรับปรุงอุปนิสัยของผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ต้องพ้นโทษออกจากคุก
อนึ่ง เช่นเดียวกันกับเรื่องสิทธิในการประกันตัว ไม่ใช่ผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอภิสิทธิ์พิเศษที่จะสามารถออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกเรือนจำได้ รวมถึงมีสิทธิพิเศษที่จะไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก แม้ว่าจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องรับโทษอยู่ก็ตาม สิ่งนี้คือ ภาพของความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย
นิติรัฐ/นิติธรรมที่หักงอ
หากภาพแทนของกระบวนการยุติธรรมมักจะแสดงออกโดยรูปของตราชูที่เที่ยงธรรมแล้ว บัดนี้ อาจกล่าวได้ว่า ตราชูแห่งกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้เพียงแค่เอียงเอน แต่มักหักงอลงมาเช่นเดียวกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรมของประเทศไทย บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้พิพากษาในองค์กรตุลาการได้ทำเสมือนว่าคดีทางการเมืองกลายเป็นข้อยกเว้นของสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปโดยปริยาย
ไม่เพียงแต่การอยู่ในสถานะของข้อยกเว้นเท่านั้น สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ ความไม่เสมอภาคของสังคม ในด้านหนึ่งรัฐบาลพยายามรณรงค์เรียกร้องให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคของคนหลากหลายทางเพศ ไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในฐานะนโยบายทางสังคมหรือเพียงแค่การสร้างแบรนด์ดิ้งทางการเมืองที่ทำให้สิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการฟอกสีรุ้ง (rainbow washing)[9] แต่ความเสมอภาคในฐานะมนุษย์คนหนึ่งล้วนสำคัญในทุก ๆ ด้าน ที่ไม่ควรถูกละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคนที่กำลังถูกกักขังเสรีภาพในทางการเมือง โดยไม่สมควร
การสูญเสียเสรีภาพไปโดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า สิ่งที่กระทำไปเป็นความผิดอย่างแท้จริงนั้นคือ อาชญากรรมที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ การพรากเอาช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตคน ๆ หนึ่งไปนั้นคือ การพรากเอาส่วนสำคัญของชีวิตของเขาไปโดยที่ไม่ได้มาจากความผิดที่ได้รับการพิสูจน์
เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ต้นทุนที่สังคมจะต้องแบกรับกับความอยุติธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาคือ การมีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค เราเห็นผู้ต้องหาทางการเมืองบางคนได้รับอภิสิทธิ์ที่ดีกว่า ในขณะเดียวกันนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกตั้งความผิดในฐานเดียวกันกลับถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
ความไม่เสมอภาคบนนิติรัฐ/นิติธรรมที่หักงอนี้ จะแสดงผลออกมาทั้งในเชิงตัวชี้วัดว่า แน่นอนตราบใดที่ประเทศไทยยังคงดำเนินคดีกับผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองแบบไม่ยุติธรรม หรือการไม่แก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังก็คงไม่ทำให้คะแนนดัชนีหลักนิติธรรมไทยดีขึ้น ในขณะเดียวกันภาพเชิงประจักษ์ได้แสดงให้เห็นว่า ระบบการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐานได้กลายเป็นจุดเสื่อมของสังคมที่ไม่สามารถไว้วางใจอำนาจรัฐได้ทั้งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาลที่ควรจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายกลับไม่สามารถพึ่งพาได้จริง
หมายเหตุ :
- คงรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
[1] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “พฤษภาคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,954 คน ใน 1,296 คดี,” [Online] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 5 มิถุนายน 2567, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://tlhr2014.com/archives/67575
[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29.
[3] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “สถานการณ์สิทธิประกันตัว ‘ผู้ต้องขังทางการเมือง’ ระหว่างวันที่ 22-31 พ.ค. 2567 ยังริบหรี่ แม้ 1 ชีวิตสูญเสียในเรือนจำ,” [Online] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 6 มิถุนายน 2567, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://tlhr2014.com/archives/67671
[4] เพิ่งอ้าง.
[5] วัชชิรานนท์ ทองเทพ, “ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์,” [Online] BBC ไทย, 11 กรกฎาคม 2567, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-62108959
[6] การเสียชีวิตผิดธรรมชาติ หมายถึง การฆ่าตัวตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ; ดู สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, “คู่มือการสอบสวนสาเหตุการตายนอกสถานพยาบาล (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560),” [Online] สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, มีนาคม 2560, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://spd.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/07/Death-Cause-Guide_out.pdf
[7] BBC ไทย, “กรมราชทัณฑ์ยืนยันดูแล "บุ้ง ทะลุวัง" ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ใช้ AED กู้ชีพ,” [Online] BBC ไทย, 15 พฤษภาคม 2567, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cd181n0y9ggo
[8] ชุติมา สุทธิประภา, เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, และกัญจน์ จิระวุฒิพงศ์, “ปรับมาตรการคุมผู้ทำผิด เพิ่มคุณภาพชีวิต-ลดแออัดเรือนจำ,” [Online] TDRI, 25 มีนาคม 2567, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2024/03/adjust-measure-alternatives-to-imprisonment/
[9] ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์, “Rainbow Washing การตลาดตบตาบนผืนผ้าสีรุ้ง,” [Online] 16 มิถุนายน 2566, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://www.the101.world/rainbow-washing/