ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สถิตินิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทย ในไทยและบริบทสากล

22
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ในงาน “เวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม” วันที่ 5 ม.ค. 2567 ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พบข้อนำเสนอที่สำคัญ คือ (1) หลักนิติธรรม (Rule of Law) ส่งเสริมต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ แต่ก็ต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการธรรมาภิบาลของรัฐ โดยต้องอาศัยรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองหลักนิติธรรม (มุมมองของ ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ) และ (2) การขับเคลื่อนหลักนิติธรรมต้องการ: มุมมองที่หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเดียวกัน อันจะทำให้ทุกคนเคารพการปฏิบัติตามกฎหมายอันชอบธรรมที่ได้มาโดยผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การลงทุนในหลักนิติธรรมที่อำนาจรัฐ และกลไกภาครัฐเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม โดยเน้นที่การพร้อมต่อความรับผิด (accountability) ของรัฐ และการมีดัชนี้ชี้วัดหลักนิติธรรม (มุมมองของ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ)
  • ดัชนีวัดหลักนิติธรรมของโครงการความยุติธรรมแห่งโลก (The World Justice Project (WJP) ประจำปี 2023 บ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 65-103 จาก 142 ประเทศ ใน 8 กลุ่มตัวชี้วัด คือ (1) การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (2) การปราศจากการคอร์รัปชัน (3) รัฐบาลที่โปร่งใส (4) สิทธิขั้นพื้นฐาน (5) ระเบียบและความมั่นคง (6) การบังคับใช้กฎหมาย (7) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และ (8)  กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  • ทางเลือกหรือทางออกของความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีมาตรา 112 ระหว่างรัฐกับเยาวชน อันสะท้อนการมีโลกทัศน์ต่างรุ่น ควรเน้นการปรึกษาหารือ การนิรโทษกรรมแก่เยาวชนภายใต้เงื่อนไขที่ต่างฝ่ายยอมรับได้และเห็นพ้องต้องกัน และอาศัยการเปิดกว้างให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีสาธารณะ

 


ภาพการชุมนุมของนักเรียนและประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ที่มา : X@BadStudent_

 

จากกระแสตื่นตัวเพื่อเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในไทยทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา[1]พบว่ายังมีสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณานอกจากบริบทการเมืองภายในนั่นคือ ข้อมูลทางสถิติเรื่องหลักนิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทยว่าอยู่ตรงไหนในบริบทสากล บทความนี้จะชี้ให้เห็นทั้งในทางสถิติและทัศนะของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากสถาบันยุติธรรมและองค์กรต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งในมิติการเมืองภายในและในบริบทสากลโดยเสนอให้เห็นที่มา สาเหตุ และทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองไทยเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองและพินิจพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนทุกระดับเป็นตัวแปรสำคัญ

 

สถิติ นิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทยในบริบทสากล

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวในเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (The Rule of Law Forum) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรม (TIJ) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และสำนักข่าว THE STANDARD เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยย้ำถึงโอกาสของประเทศไทยที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม เมื่อทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมที่มีต่อศักยภาพการแข่งขันทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ หลักนิติธรรม ได้กลายเป็นประเด็นกระแสหลักในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ที่ไม่ได้คุยกันแค่ในกลุ่มนักกฎหมาย แต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ถ้าไม่มีการพัฒนาส่วนอื่นๆ จะไม่สามารถก้าวต่อไป ทั้งยังสามารถวัดผลลัพธ์ของสังคมที่มีหลักนิติธรรมได้ตามดัชนีชี้วัดของ World Justice Project

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะทำเรื่องหลักนิติธรรมมายาวนานถึง 30-40 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยอ้างถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งยึดหลักให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นและมีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็งมากขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกลไกการตรวจสอบไม่เข้มแข็ง และนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่กว่าคือธรรมาภิบาลของประเทศอ่อนแอลง นำไปสู่ความขัดแย้ง กลายเป็นกฎหมายแห่งอำนาจ (Rule by Law) ผู้มีอำนาจใช้กลไกนี้คงอำนาจตัวเองไว้ ไม่ให้คู่แข่งทางการเมืองเข้ามามีอำนาจในที่สุด

วันนี้ถ้าจะทำอะไรใหม่ ต้องคิดให้ครบ ต้องคิดว่าหลักนิติธรรมที่ดีจะสร้างธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งจะโยงสู่ประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพไปด้วย ทั้งสามเรื่องทั้งหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้

และ ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ ยังระบุว่า สังคมจะมีหลักนิติธรรม ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าผู้ออกกฎหมายมีความชอบธรรมที่จะมาชี้ขาด เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ หรือเป็นประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ กฎหมายที่ออกมาทันสมัย คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนเพียงพอหรือไม่ เพราะหลักนิติธรรมคือกติกาของกฎหมาย กฎเกณฑ์ของกฎหมายที่มอบอำนาจให้รัฐใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเหมาะสม กฎหมายไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่อยู่ใต้กติกาที่ควรจะเป็น

ทั้งได้กล่าวถึงก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมในประเทศไทยว่า เรื่องด่วนสุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศโดยเร็วที่สุด (ease of doing business) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในงานนี้ ซึ่งส่วนที่หนึ่งในทางที่ทำได้คือการมีกระบวนการร่างกฎหมายรวดเร็ว การตัดกฎระเบียบที่ให้ดุลยพินิจมากเกินสมควร และลดกฎระเบียบที่ล่าช้า

ส่วนที่สองคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นเรื่องของ open government ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำ open data เน้นเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก อย่างการทำให้ข้อมูลภาครัฐอ่านในคอมพิวเตอร์ได้ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส และความร่วมมือในสังคม ยังส่งผลให้ช่วยลดคอร์รัปชันและเพิ่มบริการภาครัฐที่สนองตอบความต้องการของประชาชนได้

ส่วนที่สาม คือรัฐธรรมนูญต้องดี ต้องทำให้หลักนิติธรรมดีขึ้น โดยการมีกลไกในรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองให้มีหลักนิติธรรมได้อย่างดี ต้องร่างรัฐธรรมนูญและออกแบบกลไกให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล ให้สิทธิพื้นฐานประชาชนที่เหมาะสม นอกจากนี้ก็ต้องต่อยอดให้จุดแข็งที่ดีอยู่แล้วอย่างกระบวนการทางแพ่ง (Civil Procedure) ให้ดีขึ้นต่อไป

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ เสนออีกว่า เรื่องหลักนิติธรรมไม่จำเป็นต้องไม่รอรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดมาทำ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำไปทุกภาคส่วน โดยภาคประชาสังคมต้องจับมือกันไปกับรัฐบาล

ต้องเริ่มโดยภาคประชาชน เริ่มโดยเท่าทัน โดยตื่นรู้ว่าต้องทำ แม้จะยาก แต่ต้องทำให้ครบทุกเรื่อง ต้องรู้โจทย์ก่อนว่าปัญหาคือการขาดหลักนิติธรรม เหมือนอากาศมันดีก็ไม่เห็นความสำคัญ แต่ถ้ามี PM 2.5 เยอะๆ ก็รู้ว่าอาการป่วยทำให้คนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม การลงทุนก็แย่ไปเรื่อยๆ เริ่มมีปัญหาขัดแย้ง คนเชื่อ Social Media มากกว่าผู้ใหญ่ในระบบยุติธรรม เป็นอาการป่วย

ทั้งยังย้ำถึงแนวทางการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่ต้องแตกต่างจากเดิมว่า จำเป็นต้องมองภาพรวมของปัญหา และแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นเกมยาว แต่ต้องทำให้ถูกต้องว่า

อยากให้คนรุ่นใหม่ทำในสิ่งที่ไม่พลาด ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม เหมือนที่ ดร.พิเศษ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่าต้อง investing in the rule of law for the better future ตรงมากที่สุดแล้ว

ขณะที่ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law Forum) ในวันเดียวกันโดยนิยามคำว่าหลักนิติธรรมไว้ว่า คือ การที่คนทุกคนยอมรับและเคารพปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่ากฎหมายที่ว่านั้นจะเป็นที่ยอมรับและเคารพได้อย่างไร

ดร.พิเศษ ชี้ว่า หัวใจของหลักนิติธรรมนั้นมีกฎหมายเป็นตัวแสดงหลัก ที่มากฎหมายผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้คนเห็นว่ามีความชอบธรรม มีกระบวนการถูกต้อง เข้าถึงได้ เข้าใจได้ และที่สำคัญ กฎหมายนั้นต้องมีสาระสำคัญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย โดยจำเป็นต้องไม่ลืมว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องเดียวกับสิทธิมนุษยชน เพราะถ้าไม่มีส่วนนี้คนก็จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

การขับเคลื่อนหลักนิติธรรมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าในทุกสังคมในโลกต้องมีการลงทุนในระบบ ระบอบบางอย่าง ระบบกฎหมาย บุคลากรในกระบวนการ และเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ สำหรับบริบทของประเทศไทยก็เช่นกัน เพราะความพยายามจะลงทุนในหลักนิติธรรมในประเทศไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้หลักนิติธรรมเปล่งศักยภาพได้เต็มที่ มีการเสียโอกาสไปบ้างในเวลาที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต ซึ่งส่งผลให้ทุกคนเห็นพ้องกันว่าเราไม่ควรอยู่ในสังคมที่อยู่ในหลักนิติธรรมอ่อนแอ

ดร.พิเศษ ยังระบุว่า การฟื้นฟูหลักนิติธรรมหนนี้มีเดิมพันสูงมาก อาจต้องคิดหาวิธีใหม่ ต้องอาศัยทั้งองคาพยพในสังคมมาทำร่วมกัน โดยไม่มีองค์กรใดองค์กรเดียวจะทำได้สำเร็จ จากที่ผ่านมาให้รัฐเป็นกลไกนำอยู่มาก แต่ก็อาจทำให้ไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของภาครัฐด้วย เกิดวิกฤตศรัทธา จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่

ดังนั้น อำนาจรัฐ กลไกภาครัฐ ต้องไปกับภาคส่วนต่างๆ เปิดพื้นที่ให้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะการทำให้หลักนิติธรรมเข้มแข็งมีรายละเอียดอีกมาก และไม่มีทางเป็นไปได้ที่รัฐจะเข้าใจทุกเรื่อง ถ้าไม่มีการรับฟัง ต้องตั้งหลักมีระบบที่สร้างความรับผิดชอบ (accountability) ให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยทำตามอำนาจหน้าที่ ต้องตกลงว่าเป้าหมายใหญ่ (priority) คืออะไร ภาคส่วน องค์กรใดทำอะไร เห็นภาพเดียวกัน ทำก็ลงบัญชี ไม่ทำก็ช่วยกันทำ เกิดการติดตามประเมินผล ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง

ดร.พิเศษ ย้ำอีกครั้งว่า “ความรับผิดชอบ (Accountability) เป็นกุญแจสำคัญขับเคลื่อนในครั้งนี้”

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ดัชนี้ชี้วัดหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสะท้อนมุมมอง และเป็นตัวชี้วัดที่ช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์ในการพูดคุยจากเรื่องนามธรรม ทำให้หลักนิติธรรมจับต้องได้ วัดผลได้ และติดตามได้ รู้ว่าดีหรือแย่ลงในช่วงเวลาที่ผ่านไป และการมี accountability ช่วยให้ติดตามผลได้

และเพื่อช่วยขับเคลื่อนหลักนิติธรรมในสังคม ดร.พิเศษ เน้นย้ำว่า TIJ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกลไกภาครัฐในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชื่อมประสานในการนำองค์ความรู้สากลมาแปลงให้เข้าใจง่าย จัดทำตัวชี้วัดหลักนิติธรรมร่วมมือกับรัฐบาล และพันธมิตร อย่าง World Justice Project รวมทั้งเปิดพื้นที่เสริมพลังของกลไกภาคประชาชน ที่จะช่วยเป็นกุญแจแก้ไขปัญหา และทำให้เกิด ongoing business ที่จะทำให้เกิดประโยชน์และสร้างความยั่งยืนแก่สังคมได้[2]

The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023[3] เป็นชุดรายงานประจำปีที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อวัดหลักนิติธรรมในแต่ละประเทศ โดยวัดทั้งตามภูมิภาคและรายได้ ผ่านการสำรวจครัวเรือนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และนักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย 3,400 คน โดยใน พ.ศ. 2566 มีประเทศที่ถูกจัดลำดับ 142 ประเทศ ค่าดัชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของหลักนิติธรรมใน 142 ประเทศผ่านการให้คะแนนและจัดลำดับ โดยเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 8 ปัจจัย (factor) 44 ปัจจัยย่อย (sub-factor) ได้แก่

1. การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers)

  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายตุลาการ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายองค์กรตรวจสอบอิสระ
  • เจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษ (sanction) จากการประพฤติมิชอบ (misconduct)
  • อำนาจของรัฐอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ
  • การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

2. การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption)

  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายบริหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายตุลาการ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

3. รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government)

  • เผยแพร่กฎหมายและข้อมูลของรัฐ
  • ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
  • ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม
  • มีกลไกการรับข้อร้องเรียน

4. สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights)

  • มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • มีการรับประกันสิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล
  • มีกระบวนการออกกฎหมายที่เป็นธรรม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อ
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะหรือสมาคม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน

5. ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security)

  • มีการควบคุมอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ
  • มีการจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
  • ประชาชนไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ (ศาลเตี้ย) เพื่อการแก้แค้นส่วนบุคคล

6. การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement)

  • มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กฎระเบียบถูกประยุกต์ใช้และบังคับใช้โดยปราศจากอิทธิพลใดๆ ครอบงำ
  • การบริหารงานเป็นไปด้วยความไม่ล่าช้า
  • ขั้นตอนการทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างตรงไปตรงมา
  • รัฐบาลไม่เวนคืนทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายและการชดเชยที่เพียงพอ

7. กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice)

  • ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางแพ่งได้
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการแบ่งแยก
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการคอร์รัปชัน
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากอิทธิพลครอบงำจากรัฐบาล
  • กระบวนการทางแพ่งไม่เป็นไปด้วยความล่าช้าที่เกิดจากเหตุผลอันไม่สมควร
  • กระบวนการทางแพ่งถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทแบบทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นกลาง

8. กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

  • ระบบการสืบสวนสอบสวนทางอาญามีประสิทธิภาพ
  • ระบบการพิพากษาคดีอาชญากรรมมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเวลา
  • ระบบราชทัณฑ์มีประสิทธิภาพในการลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรม
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการแบ่งแยก
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการคอร์รัปชัน
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากอิทธิพลครอบงำของรัฐบาล
  • มีกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและประกันสิทธิของผู้ต้องหา

 

ภาพที่ 1 ภาพรวมและอันดับของประเทศไทย ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023

 


ภาพที่ 1 ภาพรวมและอันดับของประเทศไทย ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023
ที่มา : WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/

 

อติรุจ ดือเระ เสนอข้อมูลสถิติเชิงลึกของกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เผยแพร่ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน โดยพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ขณะที่ประเทศที่มีหลักนิติธรรมอ่อนแอ 5 อันดับสุดท้าย ได้แก่ เวเนซุเอลา กัมพูชา อัฟกานิสถาน เฮติ และคองโก ตามลำดับ

ข้อมูลเชิงลึกของดัชนีหลักนิติธรรมระดับโลก ระหว่าง พ.ศ. 2565-2566 พบว่าหลักนิติธรรม ระบบยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความอ่อนแอและถดถอยลงนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีหลักนิติธรรม โดยใน พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีอันดับดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) อยู่ที่ 82 ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อันดับดังกล่าวถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ไทย อยู่อันดับที่ 4 รองจาก สิงคโปร์ (อันดับที่ 17) มาเลเซีย (อันดับที่ 55) และ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 66) ขณะที่เมียนมา (อันดับที่ 135) และกัมพูชา (อันดับที่ 141) เป็นสองประเทศที่อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ส่วนบรูไนดารุสซาลาม และ ติมอร์เลสเต ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดอันดับครั้งนี้

และสรุปคะแนนตามดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ของไทยจาก 8 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้

  • การจำกัดอำนาจของรัฐบาล ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 100
  • การปราศจากการคอร์รัปชัน ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 72
  • รัฐบาลที่โปร่งใส ได้ 0.48 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 77
  • สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้ 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
  • ระเบียบและความมั่นคง ได้ 0.74 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 65
  • การบังคับใช้กฎหมาย ได้ 0.44 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 103
  • กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้ 0.49 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 87
  • กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้เพียง 0.41 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76[4]

 

ภาพที่ 2 Countries Scored by Criminal Justice และอันดับของประเทศไทย ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023

 


ภาพที่ 2 Countries Scored by Criminal Justice และอันดับของประเทศไทย ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023
ที่มา : WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/

 

ภาพที่ 3 Countries Scored by Civil Justice ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023

 


ภาพที่ 3 Countries Scored by Civil Justice ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023
ที่มา : WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/

 

จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาพรวมอันดับคะแนนจากดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ของประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 70-100 โดยมีเพียงด้านระเบียบความมั่นคงที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับโลกแม้ภาพรวมของประเทศไทย จะมีอันดับดีกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาการเมืองภายในของภูมิภาคนี้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสิทธิมนุษยชน การคอร์รัปชัน สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน และสิทธิพื้นฐานทางศาสนา

 

ภาพที่ 4 Countries Scored by Fundamental Rights ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023

 


ภาพที่ 4 Countries Scored by Fundamental Rights ใน The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023
ที่มา : WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/

 

ขณะที่กองบรรณาธิการ the101world[5] เสนอการวิเคราะห์ภาพรวมของไทยในดัชนี The World Justice Project 2023 และย้อนหลังกลับไปวิเคราะห์ในรอบ 10 ปีว่าอยู่ในระดับที่ไม่ผันผวนมากนัก โดยคะแนนมากที่สุดใน พ.ศ. 2558 คือ 0.52 คะแนนแต่ได้คะแนนน้อยที่สุดใน พ.ศ. 2566 และประเทศไทยได้คะแนนน้อยที่สุดคือกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ 0.41 ซึ่งถือว่าถดถอยลงจากปีที่แล้วโดยมีปัจจัยย่อยที่ทำให้ไทยได้คะแนนส่วนนี้น้อยที่สุดคือ ระบบราชทัณฑ์ (correctional system) ที่ไม่สามารถลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมได้และเคารพสิทธิของผู้ต้องขังและลดการกระทำผิดซ้ำได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

และขยายข้อวิเคราะห์ให้เห็นว่าด้านที่ได้คะแนนดีที่สุดคือด้านระเบียบและความมั่นคง (0.74) นั้นมาจากปัจจัยย่อยที่ไทยมีการจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยได้คะแนน 0.94 เกินกว่าค่าเฉลี่ยโดยวิเคราะห์จากตัวชี้วัดว่าประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความขัดแย้งที่ใช้อาวุธและการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ข้อมูลดัชนีหลักนิติธรรมไทย พ.ศ. 2559 พบว่าอันดับของไทยในบริบทสากลนั้นถดถอยลง อาทิ ใน พ.ศ. 2559 มีอันดับที่ 64 ใน พ.ศ. 2561-2562 อยู่ในอันดับที่ 71 และอันดับที่ 76 และ พ.ศ. 2563 อยู่ในอันดับที่ 71 และพบว่าดัชนีหลักนิติธรรมของไทยในช่วง 3 ปี ล่าสุดคือ พ.ศ. 2564-2566 ไทยมีอันดับที่ 80-82 และมีอันดับในภูมิภาคคงที่อยู่ในอันดับ 10 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2559

 

สถิติ นิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทย[6]

สถิติ นิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทยที่เป็นปัญหาร่วมสมัยนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และปะทุคุกรุ่นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2563-2565 คือประเด็นเรียกร้องทางการเมืองของเยาวชนความสนใจทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรวมทั้งมีความคิดทางการเมืองที่ต่างจากจารีตของสังคมไทยบางประการได้ปรากฏขึ้นเป็นการชุมนุมทางการเมืองนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ปัจจัยแรกเริ่มของการก่อตัวในการชุมนุมของนักเรียนมีรายงานวิจัยสรุปว่านักเรียนระดับมัธยมสนใจการเมืองหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองใน พ.ศ. 2563 มาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ

  • ประการที่ 1 ปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว ค่าใช้จ่ายในชีวิตการศึกษา
  • ประการที่ 2 ปัญหาที่ไม่แน่นอนของอนาคต ตัวอย่างในสองประการแรกเช่น นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดม ระบุสาเหตุในการมาร่วมชุมนุมที่โรงเรียนเตรียมอุดม และเข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมเสาหลักจะหักเผด็จการในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ว่า “เหตุผลที่เข้าร่วมการชุมนุมคือปัญหาปากท้องค่ะ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับหนูเลย ที่บ้านอนาคตจะเป็นยังไงไม่รู้ คนรุ่นใหม่เขากังวลต่ออนาคตของเขามากกว่าคนรุ่นอื่นๆ เพราะเขาต้องอยู่ในโลกนี้ไปอีกมากกว่า 50 ปี แต่เขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเองในอีก 50 ปีเลย” (นางสาวชี กรุงเทพฯ)[7]
  • ประการที่ 3 ปัญหาจากรัฐบาลอำนาจนิยมหรือกึ่งประชาธิปไตยและสถาบันอนุรักษนิยมที่ยังไม่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง โดยนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองระบุว่า รัฐบาลขาดศักยภาพในการบริหารประเทศ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ และไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและเสียงของประชาชน เช่น นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนหนึ่งและนักศึกษาหญิง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิจารณ์รัฐบาลว่า “รัฐบาลเอาเงินออกมาแจกโควิด แล้วทำได้แย่มาก หนูไม่พอใจมาก แทนที่จะเลือกเอาเงินมาช่วยเหลือประชาชน แต่เขาไปซื้อเครื่องบิน เรือดำน้ำ ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน...” และในกรณีของปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มีนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ผมเป็นคนมี empathy คนยากจน ในสังคมนี้คนรวยก็รวยมากขึ้น ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด คนที่ไม่มีก็จะตายอยู่แล้ว...เราทุกคนเสียภาษี แต่ไม่รู้เงินมันหายไปไหน ผมเป็นหมอ ทำเรื่องมะเร็งในสมอง ยารักษาแพงมาก มีแค่คนที่มีเงินจึงได้รักษา...” และยังมีปัญหาสืบทอดอำนาจของรัฐบาลปัจจุบันที่เยาวชนต่างให้ความสำคัญและวิพากษ์วิจารณ์ถึง

จากปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวที่ปรากฏทั้งในรายงานวิจัยและบทความวิจัยเสนอสอดคคล้องกันว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนและนักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองและเกิดความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงามมากกว่าในห้วงยามของรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันโอชา พ.ศ. 2557-เมษายน พ.ศ. 2566)

 

การปะทะทางความคิดของเยาวชนที่เรียกร้องทางการเมืองและทัศนะของบุคคลในสังคม[8]

เยาวชนที่เรียกร้องทางการเมืองของสังคมเป็นผลสำคัญมาจากการโลกทัศน์ต่างรุ่นของผู้ใหญ่ที่เกิดหรือมีดำรงชีวิตในช่วงยุคสงครามเย็นกับเยาวชน นักเรียน และนักศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับปริญญาตรีที่มีความคิด มีชุดความรู้ทางสังคมการเมือง รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีที่แตกต่างกัน จากรายงานวิจัยชิ้นสำคัญระบุโลกทัศน์ที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นสงครามเย็นและเยาวชนจากกลุ่มตัวอย่างไว้บางประการดังนี้

  1. โลกทัศน์
    • คนรุ่นสงครามเย็นจะเชื่อความดี ความถูกต้อง และความงามที่มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว
    • เยาวชนจะเชื่อเรื่องความหลากหลาย
  1. การแสดงออก
    • คนรุ่นสงครามเย็นจะไม่แสดงออกโดยเฉพาะความเป็นตัวตนของตนเอง
    • เยาวชนจะแสดงความเป็นตัวตนของตนเองทุกเรื่อง ทั้งความรัก ความโกรธ และความต้องการ
  1. ภาษา
    • คนรุ่นสงครามเย็นจะใช้ภาษากลางที่ไพเราะตามมาตรฐานที่รัฐส่วนกลางกำหนด
    • เยาวชนจะมีภาษาเฉพาะกลุ่มและมีศัพท์แสลงที่ไม่เป็นทางการ
  1. ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
    • คนรุ่นสงครามเย็นมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควรแตะต้องเพราะเป็นสมมติเทพสำหรับฝ่ายขวาและเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร
    • เยาวชนมองว่า ต้องพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ได้ในพื้นที่สาธารณะเพื่อการปฏิรูป
  1. ประเด็นเรื่องการคิดต่าง
    • คนรุ่นสงครามเย็นมองว่า การคิดต่างเป็นอันตรายและสร้างความแตกแยกในสังคม
    • เยาวชนมองอย่างเข้าใจว่าคิดต่างเป็นเรื่องปกติ
  1. ความสัมพันธ์ระหว่างการชุมนุมกับพรรคการเมือง
    • คนรุ่นสงครามเย็นมองว่าพรรคการเมืองมักจัดตั้งมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
    • เยาวชนมองว่าพรรคการเมืองควรสนับสนุนการชุมนุมที่ผู้สนับสนุนพรรคจัดขึ้น

ทั้งนี้ในภาพรวมของคนรุ่นสงครามเย็นไม่ว่าจะเป็นอดีตฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ต่างยังคงเชื่อมั่นในลำดับชั้นอาวุโสทางสังคมแบบอำนาจนิยมและระบบราชการที่เน้นให้ทุกคนอยู่ในระเบียบคำสั่งและมีประสบการณ์ความกลัวจากในช่วงเวลาสงครามเย็น โดยสะท้อนออกมาผ่านความไม่เชื่อในเรื่องความเปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อสรุปในงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า สำหรับคนรุ่นสงครามเย็นนั้นจะเห็นว่ากลุ่มเยาวชนเป็นผู้อ่อนประสบการณ์และขาดความรู้ โดยในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เยาวชนเสนอนั้น ทางคนรุ่นสงครามเย็นมองว่าเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย เป็นเรื่องน่ากลัว และเป็นการท้าทายด้วยความไม่เข้าใจของเยาวชน รวมถึงเชื่อว่าเยาวชนไม่ได้คิดเอง หรือถูกหนุนหลังโดยผู้ใหญ่หรือพรรคการเมือง เป็นต้น

นอกจากในแง่โลกทัศน์ที่แตกต่างกันระหว่างคนสองรุ่นแล้ว มุมมองต่อเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองยังปรากฏขึ้นจากกลุ่มคนในสังคม ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนรัฐ และรัฐเองโดยตัวอย่างที่กลุ่มคนในสังคมหรือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐได้ปฏิบัติการโต้กลับกลุ่มเยาวชนทั้งการจัดกิจกรรม การตอบโต้ด้วยความรุนแรง และการแจ้งดำเนินคดีทางการเมืองจากกลุ่มหรือบุคคลบางส่วน และในส่วนของกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยาวชนอีกด้วย

 

หลักนิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทย

ปัญหาทางหลักนิติรัฐกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนช่วง พ.ศ. 2563-2565 อีกประการคือ กฎหมายขัดกันในประเด็นเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กับตัวบทระหว่างบทบัญญัติทางกฎหมาย มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และการตีความ หลักนิติรัฐ และความชอบธรรมทางกฎหมาย มาตรา 112 ตามประมวลหมายอาญา ส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลหลักฐานของจำเลยในทางประวัติศาสตร์ ภาษา และการเมืองตามบทบัญญัติทางกฎหมาย มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญากับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ค่อนข้างกว้างและเป็นโทษต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคนค่อนข้างมาก โดยระหว่าง พ.ศ. 2563-2566 นับว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่มีสถิติการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางและมีลักษณะคดี การฟ้องร้องที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ จำนวนผู้ถูกตั้งข้อหาในภาพรวมพุ่งสูงเกิน 200 คน, จำนวนคดีต่อคนสูงสุดอยู่ที่ 23 คดี, เกิดคดีการฟ้องทางไกลข้ามจังหวัดระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร หรือมีการฟ้องคดีตามมาตรา 112 โดยบุคคลเดิมถึง 9 คดี อย่างไรก็ตาม สถิติคดีตามมาตรา 112 ที่น่ากังวลใจ คือการนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นครั้งแรก โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วเป็นจำนวนมากถึง 18 คน รวมทั้งสิ้น 21 คดี โดยมีคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 188 คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและการดำเนินคดีโดยรัฐปรากฏเป็นรูปธรรมจากตัวอย่างที่แกนนำการชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ระหว่าง พ.ศ. 2563  อาทิ

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์  23 คดี
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี
  • เบนจา อะปัญ 7 คดี

 

ข้อมูลของหลักฐานการดำเนินคดีการเมืองต่อเยาวชน พ.ศ. 2563-2566 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและประมวลผลสถิติโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นปี 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 9 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) และหากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,962 ครั้ง

สถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

  1. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 263 คน ในจำนวน 288 คดี
  2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 147 คน ในจำนวน 45 คดี
  3. ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
  4. ข้อหาตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี
  5. ข้อหาตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 197 คน ในจำนวน 215 คดี
  6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาลฯ อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาลฯ อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 494 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 774 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ[9]

ในจำนวนคดีทั้งหมดระหว่าง พ.ศ. 2563-2565 สามารถแบ่งประเภทคดีที่ตามที่มีการกล่าวโทษออกเป็น 5 ประเภท

  1. คดีฯ ประเภทที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 123 คดี
  2. คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี
  3. คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี
  4. คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี
  5. คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

และแบ่งตามพฤติการณ์ของคดีฯ ออกเป็น 4 ประเภท

  1. พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 48 คดี
  2. คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 67 คดี
  3. คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 137 คดี
  4. ไม่ทราบสาเหตุ 9 คดี

ส่วนข้อมูลสำคัญทางสถิติเกี่ยวกับเยาวชนตามคดีฯ นี้คือ มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 ราย ในจำนวน 21 คดี โดยเยาวชนที่มีอายุน้อยที่สุดที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 คือมีอายุ 14 ปี ทั้งนี้สาเหตุที่จำนวนตัวเลขของคนและคดีไม่ตรงกันเป็นเพราะว่าเยาวชนหนึ่งคนอาจถูกตั้งข้อหามากกว่าหนึ่งคดี เช่น กรณี เพชร ธนกร คือเจ้าของสถิติเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหามากที่สุดคือ 3 คดี คือสายน้ำ (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) ที่ถูกตั้งข้อหาเป็นจำนวน 2 คดี โดยเยาวชนทั้งสองคนก็ต่างมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วทั้งคู่

 

ประวัติศาสตร์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน พ.ศ. 2480-2565

 


ภาพเด็กนักเรียนมัธยมชูสามนิ้วและปราศรัย ในการประท้วงที่มีเยาวชนเป็นแกนนำที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563 © 2020 Supitcha Chailom
ที่มา : Human Rights Watch, https://www.hrw.org/th/news/2021/01/07/377484

 

เยาวชนกับความสนใจการเมืองจนกระทั่งออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการชุมนุมประท้วงเริ่มต้นมาตั้งในการเรียกร้องดินแดนจากอินโดจีนในทศวรรษ 2480 และการคัดค้านการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500 หากในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่มีภาพของเยาวชนที่รวมทั้งนิสิตและนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการและเรียกร้องรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มต้นครั้งแรกในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยปรากฏภาพนักเรียนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับเหล่านิสิตนักศึกษา เรียกได้ว่าเป็น ‘เยาวรุ่น’ ในทศวรรษ 2510 ซึ่งที่ผ่านมามีบันทึกความทรงจำที่เล่าถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในยุค 14 ตุลา คือ กลุ่มยุวชนสยามและศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยว่า พวกเขาและพวกเธอเป็นนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายที่มีความคิดเห็นทางสังคมการเมือง สนใจปัญหาเรื่องการศึกษา และมองเห็นปัญหาทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจาก 14 ถึง 6 ตุลา และยังมีงานศึกษาเรื่องนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้าจำนวน 24 คน โดยสัมภาษณ์ในกรอบวิเคราะห์ทางจิตวิทยาบุคลิกภาพเพื่อศึกษาว่าความเป็นนักเรียนฝ่ายซ้ายมีจุดเริ่มต้นอย่างไรและดำรงความเป็นฝ่ายซ้ายในเวลาต่อมาเพราะเหตุใด ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกอดีตนักเรียนมัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 9 คน ที่เข้าสู่การเคลื่อนไหวช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และได้ข้อสรุปว่าชีวิตในวัยเยาว์ การกดทับจากครอบครัวและสังคมส่งผลต่อบุคลิกภาพและการมีความคิดทางการเมืองที่แรดิคัลหรือมีแนวคิดซ้ายของพวกเขาซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในบริบทของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไม่ได้ถูกปราบปรามและล้อมปราบ หรือการตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นคดีความตามมาตรา 112

กระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกำลังไม่ทราบฝ่ายไปจนถึงมือที่สามหรือมือที่มองไม่เห็นล้อมปราบ ลอบสังหารผู้นำนิสิตนักศึกษา และจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การเมืองของเยาวชนและความใฝ่ฝันในการเปลี่ยนแปลงสังคมนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14-6 ตุลา จึงจบลงด้วยการที่เยาวชนกว่า 3,000 คน ถูกจับกุมคุมขังจนถึงการเข้าร่วมจับอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เชื่อมโยงการกระทำผิดของมาตรา 112 เข้ากับสถาบันพระประมุขและการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์โดยปรับโทษจำคุกให้โทษสูงสุดจาก 7 ปี เป็นโทษสูงสุด 15 ปี จนถึงปัจจุบัน และการเมืองของเยาวชน นักเรียน นักศึกษาจึงมีการขยับเคลื่อนอย่างเด่นชัดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2563

จากบริบทความขัดแย้งทางการเมืองและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการประชาชนและการเมืองของเยาวชน (Youth Politics) ตั้งแต่หลัง 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งมีกิจกรรมแรกๆ ช่วงปลาย พ.ศ. 2562 คือ กิจกรรมวิ่งไล่ลุง แต่กิจกรรมการเคลื่อนไหวของเยาวชนทางการเมืองที่เริ่มต้นอย่างเด่นชัดและมีเยาวชนถูกดำเนินคดีการเมืองและคดีจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเริ่มต้นจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 กระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองโดยประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติและจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่เพื่อดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย และเพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นโดยเน้นว่าจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หลังจากนั้นจึงมีการยกระดับการดำเนินคดีการเมืองและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้ที่แตกต่างจาก พ.ศ. 2561-2562 ต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวของเยาวชนหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนได้เป็น 3 ประเภท

  1. กลุ่มการเมืองของนักเรียนมัธยมศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวของนักเรียนในระบบ เช่น กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.), กลุ่มนักเรียนเลว, กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา, กลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม, กลุ่มนักเรียนโรงเรียนราชินี
  2. กลุ่มการเมืองของนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำหลัก และมีเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบฯ หรือประชาชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย  เช่น เยาวชนปลดแอก Free Youth, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่ม REDEM, กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก็ซ ทะลุวัง, กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย, ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
  3. กลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กลุ่มประชาลาด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่ม Spring Movement จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2565 ส่งผลให้มีผลสืบเนื่องคือการดำเนินคดีฯ มาตรา 112 ต่อเยาวชนอย่างถี่ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,890 คน ในจำนวน 1,169 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

และข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 242 คน ใน 261 คดี ส่วนข้อมูลสำคัญทางสถิติเกี่ยวกับเยาวชนตามคดีฯ นี้คือ มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 ราย ในจำนวน 21 คดี โดยเยาวชนที่มีอายุน้อยที่สุดที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 คือมีอายุ 14 ปี กรณีเด็กหญิงอายุ 14 ปี ได้รับหมายเรียกในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จาก สน.สำราญราษฎร์ โดยมี อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาเด็กหญิงวัย 14 ปีซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียก เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2565 โดยหมายเรียกดังกล่าวลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566 โดยมี ร.ต.อ.โยธี เสริมสุข ต่อรองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฎร์เป็นผู้ออกหมาย ในการบรรยายเนื้อหาของรูปคดีในหมายเรียกระบุว่าเป็นเหตุเกิด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565 บริเวณลานเสาชิงช้า และในหมายระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 


ที่มา : Reuters

 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 จนถึงกรณีออกหมายเรียกต่อเด็กหญิงในคดีนี้จึงส่งผลให้มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี แล้วอย่างน้อย 18 ราย ซึ่งในจํานวน 21 คดี นี้เป็นเยาวชนอายุ 14 ปี จำนวน 4 ราย หากนับจากวันเกิดเหตุในแต่ละคดี จะพบว่าเด็กหญิงรายนี้เป็นผู้ถูกดำเนินคดีที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่มีการรวบรวมข้อมูลฯ คือเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี 7 เดือนเศษ ทั้งนี้จากอคติต่อเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่ามีเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดอคติคือ ช่วงอายุของผู้ที่มีอคติหรือดำเนินคดีต่อเยาวชนคือ ผู้ใหญ่ที่เกิดในสมัยสงครามเย็นที่มีความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจทางขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี บรรทัดฐานบางอย่างที่แตกต่างจากกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งอคติดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปถึงการใช้ระบบกฎหมายและการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อเยาวชนในระดับเดียวกับผู้ใหญ่ที่เป็นข้อที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนไปพร้อมกันกับการลดอคติและสร้างความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน

 

ตารางการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญของเยาวชน พ.ศ. 2563-2565[10]

 

ลำดับ วัน เดือน ปี ที่เกิดการชุมนุม ชื่อกิจกรรม/เหตุการณ์การชุมนุม
1. 12 มกราคม 2563 ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานวิ่งไล่ลุง โดยมีข้อเรียกร้องคือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการหยุดเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
2. 22 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม จัดโดย สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สืบเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่)
3. 24 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมเสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป จัดโดยนิสิตจุฬาฯ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. 24 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรม KU ไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ เรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร. โดยกลุ่มนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5. 25 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมศาลายางดกินของหวานหลายสี ปราศรัยวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐบาล นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ราว 1,000 คน
6. 25 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมช้างเผือกจะไม่ทน เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ลาออก หรือยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
7. 26 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรม สว. ที่อยู่ข้างประชาธิปไตย แฟลชม็อบ จัดโดยกลุ่มนักเรียนสตรีวิทยา
8. 26 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมวังท่าพระไม่สายลมแสงแดด เรียกร้องมห้มีการเลือกตั้ง มี สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนลงประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ลานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
9. 22 พฤษภาคม 2563 กิจกรรมครบรอบ 6 ปีการรัฐประหาร จัดโดย สนท. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีรถแห่ 6 ปี แล้วนะไอ้สัส ไปตามย่านต่าง ๆ
10. 5 มิถุนายน 2563 กิจกรรมทวงคืนความยุติธรรมให้แก่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จัดโดย สนท. ที่สกายวอล์คปทุมวัน
11. 15 มิถุนายน 2563 กิจกรรมหน้าสถานทูตกัมพูชากรณีเรียกร้องให้จับผู้สั่งอุ้มวันเฉลิม จัดโดย สนท. เยาวชนปลดแอก และ 24 มิถุนายนประชาธิปไตย
12. 24 มิถุนายน 2563 กิจกรรมวันครบรอบ 88 ปี 24 มิถุนายน 2475 จัดโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ช่วงเช้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกิจกรรมลบยังไงก็ไม่ลืม ช่วงเย็นจัดโดย สนท. และเยาวชนปลดแอก จัดกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎร ที่สกายวอล์คปทุมวัน
14. 18 กรกฎาคม 2563 กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก
15. 3 สิงหาคม 2563 กิจกรรมเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย จัดโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด ซึ่งมีการปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ครั้งแรกๆ
16. 10 สิงหาคม 2563 กิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
17. 16 สิงหาคม 2563 การชุมนุม 16 สิงหาคม 2563 มีการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
18. 19-20 กันยายน 2563 กิจกรรม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามราษฎรหรือสนามหลวง จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
19. 20 กันยายน 2563 กิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ทำเนียบองคมนตรี
20. 14 ตุลาคม 2563 กิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จัดโดยคณะราษฎร 2563 บริเวณถนนพิษณุโลก
21. 8 พฤศจิกายน 2563 กิจกรรมราษฎรสาสน์ ปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และธนาคารไทยพาณิขย์
22. 24 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก เปิดตัวกลุ่ม REDEM และจัดกิจกรรมแบบทุกคนคือแกนนำ
23. 20 มีนาคม 2564 กิจกรรม 20มีนาไปสนามราษฎร จัดโดยกลุ่ม REDEM มีข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
24. 7 สิงหาคม 2564 กิจกรรมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วเคลื่อนขบวนไปที่พระบรมมหาราชวัง จัดโดยกลุ่ม REDEM และมีการโบกี้รถไฟหรือแคปซูลมากั้นที่สนามหลวง จึงย้ายไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นครั้งแรก
25. สิงหาคม-ตุลาคม 2564 กิจกรรมการชุมนุมเพื่อขับไล่พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา จัดโดยกลุ่มทะลุแก็ซ เช่น การจัดคาร์ม็อบ การชุมนุมที่ราบ 1
26. 31 ตุลาคม 2564 กิจกรรมยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จัดโดย คณะราษฎรยกเลิก 112 หรือ ครย. 112
27. 14 พฤศจิกายน 2564 กิจกรรมตอบโต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่าการชุมุนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
28. 10 สิงหาคม 2565 กิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำโพลถามประชาชน เช่น คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ จัดโดยกลุ่มทะลุวัง

 

 

ทางเลือกหรือออกของความขัดแย้งทางการเมือง

 

 

  1. การสร้างความเข้าใจและการเจรจาเพื่อปรึกษาหารือระหว่างรัฐกับเยาวชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีมาตรา 112
  2. การแก้ไขบทลงโทษทางอาญาของมาตรา 112 ให้เหมาะสมแก่เยาวชน รวมถึงประชาชน
  3. ในการเจรจาเพื่อปรึกษาหารือ จะเสนอข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เรียกร้องทางการเมืองของเยาวชนในกรณีปฏิรูปทางการเมืองว่าไม่ใช่การล้มล้างระบอบการเมืองหรือสถาบันการเมืองใด
  4. ในการเจรจาเพื่อปรึกษาหารือจะเสนอให้เห็นสองมุมมองของความเข้าใจคดีการเมืองนี้จากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม
  5. ในการเจรจาเพื่อปรึกษาหารือจะเสนอให้เห็นกรณีเปรียบเทียบในต่างประเทศและความมั่นคงของรัฐและสถาบันการเมืองที่ถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปว่า ในโลกร่วมสมัยสถาบันการเมืองจะมั่นคงและได้รับความนิยม รวมถึงเข้าถึงจิตใจของประชาชนอย่างหยั่งลึกได้ก็ด้วยการปรับตัวและหยืดหยุ่น พร้อมกับโอบรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
  6. นิรโทษกรรมแก่เยาวชนภายใต้เงื่อนไขที่ต่างฝ่ายยอมรับได้และเห็นพ้องต้องกัน

 

บทสรุป

จากสถิติ นิติรัฐ ความชอบธรรม ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของไทยในไทยและบริบทสากลจากดัชนี The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023 ในภาพรวมช่วง 10 ปีพบว่าหลักนิติธรรมของไทยถดถอยลงแต่สอดรับกับภาพรวมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาคมีอันดับไม่เกินค่าเฉลี่ยระดับโลก ขณะที่สถิติของคดีความที่ปัญหาร่วมสมัยนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และปะทุคุกรุ่นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2563-2565 คือประเด็นเรียกร้องทางการเมืองของเยาวชนความสนใจทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนนั้นพบว่ามีจำนวนเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 18 ราย ที่ถูกดำเนินคดีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112

ดังนี้ หากพิจารณาทางออกของความขัดแย้ง การประนีประนอม และการประสานประโยชน์ต่อกลุ่มต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐ ประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน อาจนำไปสู่การพิจารณาเพื่อเจรจาเพื่อปรึกษาหารือต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าสามารถลดอคติต่อความคิดที่แตกต่างทางการเมืองต่อเยาวชนและการไกล่เกลี่ยไปจนถึงการนิรโทษกรรมต่อคดีทางการเมืองได้หรือไม่ ในแง่การดำเนินงานของภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมาย และการสร้างความเป็นธรรมทางการเมืองอาจกระทำได้ด้วยการสร้างความเข้าใจจากทุกฝ่ายโดยการเจรจาเพื่อปรึกษาหารือทั้งในข้อเท็จจริงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่าง การรับทราบเงื่อนไข และความต้องการของแต่ละฝ่าย หรือกระทำได้ด้วยการเปิดกว้างให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีสาธารณะหรือสื่อมวลชน หรือเปิดวงสนทนาให้มีการแลกเปลี่ยนที่รัฐและประชาชนสามารถช่วยกันลดการสร้างความขัดแย้งหรือเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งเองได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ แต่ละฝ่ายจะต้องมีความเชื่อมั่นในทางบวกและพร้อมที่จะเจรจาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและสร้างสรรค์ นี่คือความใฝ่ฝันอันแสนงามของผู้ศึกษาที่หวังว่าจะนำไปสู่การลดทอนความขัดแย้งและการจับกุมคุมขังคดีทางการเมืองโดยเฉพาะต่อเยาวชนในอนาคต

 

หมายเหตุ: คงอักขร และวิธีการสะกดจากเอกสารต้นฉบับ

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ WJP Rule of Law Index 2023 และ X

 

ภาคผนวก

ทัศนะทางวิชาการของนักวิชาการสายเสรีนิยม-อนุรักษนิยมในทศวรรษ 2540-2550 ต่อความชอบธรรมของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ในรายการตอบโจทย์ พ.ศ. 2554 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเสนอให้ปรับโทษของมาตรา 112 มาเป็นในทางแพ่งไม่ใช่ทางอาญา

 


ที่มา : ตอบโจทย์ : อานันท์กับมาตรา 112 (10/6/54),  https://www.youtube.com/watch?v=_E_FzeM3zwQ

 

และในทศวรรษ 2550 ที่ ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนงานศึกษาเรื่อง ความถูกต้องตามกฎหมาย ความชอบธรรมทางการเมือง และธรรมแห่งอำนาจ โดยชี้ให้เห็นว่าการมีโทษขั้นต่ำของมาตรา 112 ส่งผลต่อดุลพินิจของศาลที่ให้โทษแรงขึ้น

 

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น และเอกสารทางกฎหมาย :

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  • ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ พ.ศ. 2566
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
  • พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

 หนังสือและรายงานวิจัย :

  • กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2564). สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • กรุณพร เชษฐพยัคฆ์ และอัษฏาวุธ บุญฤทธิ์ศักดิ์. (2564). #Whats happening in Thailand และแล้วความหวังก็ปรากฏ. กรุงเทพฯ: แซลมอนและ The MATTER.
  • จันทจิรา เอี่ยมมยุรา บรรณาธิการ. (2553). หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ. กรุงเทพฯ: โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • บุศรินทร์ แปแนะ และคณะฯ. (2565). There's always spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน. กรุงเทพฯ: MobData Thailand.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • พูนสุข พูนสุขเจริญ, เกื้อ เจริญราษฎร์. (2564). Covid-19 กับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน. กรุงเทพฯ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม.
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และคณะฯ. (2564). Introduction to No.112 12 คำถามเพื่อทำความเข้าใจกฎหมายอาญา มาตรา 112. กรุงเทพฯ: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ บรรณาธิการ. (2565). Never stop คนและคดียังไปต่อ. กรุงเทพฯ: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).
  • ฤดี เริงชัย. (2539). หยดหนึ่งในกระแสธาร. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร.
  • อนุสรณ์ อุณโณ. (2566). ให้มันจบที่รุ่นเรา : ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: แสงดาว.

วิทยานิพนธ์ และรายงานวิจัย :

  • กันต์ นาเมืองรักษ์. “ขอเป็นเด็กเลวในประวัติศาสตร์ไทย”: การร่วมเวลาและการรื้อถอนเขตแดนเวลาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยมผ่านแคมเปญของเครือข่ายกลุ่ม “นักเรียนเลว”, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565.
  • จารุวรรณ แก้วมะโน. การเรียนรู้คุณค่าประชาธิปไตยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย. การเมือง, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2566.
  • นพพล อาชามาส. การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาสังคม). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556.
  • วสันต์ ลิมป์เฉลิม. ประวัติชีวิตและจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์: พัฒนาการสู่ความเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายของนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งในบริบทการเมืองไทย ระหว่างปี 2516-2519. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  2533.
  • วุฒิเมศร์ ไกรจริยาเวทย์. บทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม "กลุ่มนักเรียนเลว" ในการผลักดันนโยบายด้านการศึกษา. ปริญญานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายและการจัดการสาธารณะ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2564.
  • กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์. รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัย “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564”. https://www.the101.world/wp-content/uploads/2021/10/Preliminary-report-Kanokrat-25102021.pdf

ภาษาอังกฤษ :

  • Aim Sinpeng (2021) Hashtag activism: social media and the #FreeYouth protests in Thailand, Critical Asian Studies, 53:2, 192-205, DOI: 10.1080/14672715.2021.1882866
  • Duncan McCargo (2021) Disruptors’ dilemma? Thailand’s 2020 Gen Z protests, Critical Asian Studies, 53:2,175-191, DOI: 10.1080/14672715.2021.1876522
  • Giuseppe Bolotta. (2021). Belittled Citizens: The Cultural Politics of Childhood on Bangkok’s Margins. ฺBangkok: Silkworm book.
  • Panarat Anamwathana & Sawaros Thanapornsangsuth. (2023). Youth Political Participation inThailand: A Social and Historical Overview, International Journal of Sociology, 53:2, 146-157, DOI: 10.1080/00207659.2023.2167381
  • Panarat Anamwathana. (18 January 2024). Yok’s case and Thailand’s Treatment of Child Activists. https://fulcrum.sg/yoks-case-and-thailands-treatment-of-child-activists/
  • Sawaros Thanapornsangsuth & Panarat Anamwathana. (2022). Youth participation during Thailand’s 2020-2021 political turmoil, Asia Pacific Journal of Education, DOI: 10.1080/02188791.2022.2037513
  • Siripan Nogsuan Sawasdee and Jiraporn Domjun. (2022). 2020-2021 Youth study Thailand. Bangkok: Friedrich-Ebert-Stiftung (FES).
  • Streckfuss, David. (2011). Truth on trial in Thailand defamation, treason, and lese-majeste. Abingdon [England]: Routledge.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กองบรรณาธิการ the101world. (22 ธันวาคม 2566). เปิดดัชนี WJP Index 2023 ไทยอยู่ตรงไหนในโลกที่หลักนิติธรรมถดถอย, https://www.the101.world/wjp-index-2023/, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567.
  • กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง. (26 กรกฎาคม 2565). ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565. สืบค้นจาก https://www.mof.go.th/index.php/th/view/attachment/file/3137303530/ข่าวแถลงกระทรวงการคลังฉบับที่%20100-2565%20%28ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี%202565%29.pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.
  • โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). (7 กุมภาพันธ์ 2567). นิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย จุดเริ่มต้นสลายความขัดแย้งคดีการเมือง. https://www.ilaw.or.th/articles/18483, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567. 
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. ส่องเศรษฐกิจปี 2565 ก้าวแรกหลังมรสุมโควิด 19. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256406TheKnowledge_EconomicOutlook.aspx, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.
  • โพสต์ทูเดย์, (17 ธันวาคม 2554). นักวิชาการจี้แก้ม.112ตั้งกก.กลั่นกรองฟ้อง. https://www.posttoday.com/politics/127377 , สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.
  • ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์. ฐานข้อมูลคดี. สืบค้นจาก   https://freedom.ilaw.or.th/case?order_by=update_progress_time
  • ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์. (14 พฤศจิกายน 2565). สถิตินับตามจำนวน “คดี” เรียงลำดับคนที่มีคดีมาตรา 112 มากที่สุด. สืบค้นจาก   https://freedom.ilaw.or.th/node/1133, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (6 กุมภาพันธ์ 2567). มกราคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,947 คน ใน 1,268 คดี. https://tlhr2014.com/archives/64518, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • สมคิด พุทธศรี. (8 มกราคม 2567). ‘โจทย์นิติธรรมโลก – โจทย์นิติธรรมไทย อะไรอยู่ข้างหลังตัวเลข’ ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ แห่ง World Justice Project, https://www.the101.world/interview-srirak-plilat-rule-of-law-index-2023/ , สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567.
  • สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ). (5 มกราคม 2567). คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ตัวแปรที่ใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ปี 2566. https://www.tijthailand.org/publication/detail/wjp-index-2023-translation, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล. สืบค้นจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • สำนักงบประมาณของรัฐสภา. สถิติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณฯ พ.ศ. 2563-2565. https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=966, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • Atirut Duereh. (ตุลาคม 2566). ไทยรั้งอันดับ 82 ‘ดัชนีหลักนิติธรรม’ ปี 2566 – พบคะแนนรายปัจจัยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยโลกทั้งหมด ยกเว้นปัจจัย ‘ระเบียบและความมั่นคง’. https://www.sdgmove.com/2023/11/01/rule-of-law-index-2023-thailand/, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • Freedom House Free Them All. (2024). “Visible and Invisible Bars”. https://freedomhouse.org/report/free-them-all/2024/visible-and-invisible-bars?fbclid=IwAR0xtCphvs2SEcJV7wJOijgVLpLgaERBpjfbYTMcdoWCeYhhrq6UOtH9ldE, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567.
  • Thailand Institute of Justice (TIJ). (11 มกราคม 2567), สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567. https://www.facebook.com/photo/?fbid=716839580544370&set=a.279976997563966&_rdc=1&_rdr, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.
  • WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.


[1] โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). (7 กุมภาพันธ์ 2567). นิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย จุดเริ่มต้นสลายความขัดแย้งคดีการเมือง. https://www.ilaw.or.th/articles/18483, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567. 

[2] Thailand Institute of Justice (TIJ). (11 มกราคม 2567). https://www.facebook.com/photo/?fbid=716839580544370&set=a.279976997563966&_rdc=1&_rdr, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.

[3] WJP Rule of Law Index 2023, https://worldjusticeproject.org/, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567. และ กองบรรณาธิการ the101world. (22 ธันวาคม 2566). เปิดดัชนี WJP Index 2023 ไทยอยู่ตรงไหนในโลกที่หลักนิติธรรมถดถอย, https://www.the101.world/wjp-index-2023/, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567. โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดทำคำแปลอย่างไม่เป็นทางการตัวแปรที่ใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ปี 2566 (WJP Rule of Law Index 2023) เพื่อแสดงถึงรายละเอียดของตัวแปรแต่ละตัวที่ใช้ในการจัดทำปัจจัยของดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP ไว้ที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ). (5 มกราคม 2567). คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ตัวแปรที่ใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ปี 2566. https://www.tijthailand.org/publication/detail/wjp-index-2023-translation, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.

[4] Atirut Duereh. (ตุลาคม 2566). ไทยรั้งอันดับ 82 ‘ดัชนีหลักนิติธรรม’ ปี 2566 – พบคะแนนรายปัจจัยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยโลกทั้งหมด ยกเว้นปัจจัย ‘ระเบียบและความมั่นคง’. https://www.sdgmove.com/2023/11/01/rule-of-law-index-2023-thailand/, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.

[5] กองบรรณาธิการ the101world. (22 ธันวาคม 2566). เปิดดัชนี WJP Index 2023 ไทยอยู่ตรงไหนในโลกที่หลักนิติธรรมถดถอย, https://www.the101.world/wjp-index-2023/, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567.

[6] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง. ความใฝ่ฝันอันแสนงาม ความคาดหวังของเยาวชนต่อประชาธิปไตยและการลดอคติทางการเมืองต่อเยาวชน พ.ศ. 2563-2565, https://www.sac.or.th/portal/menu_page/detail/29

[7] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2564). สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว. กรุงเทพฯ: มติชน.

[8] เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีกลุ่มนักวิชาการ 15 คน จากหลายสถาบันชื่อดัง ร่วมกันเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับเรื่องการหมิ่นสถาบัน โดยให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร สส. และ สว. ที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการ นักวิชาการ ผู้นำชาวบ้าน ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการเห็นว่ามีมูลเพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สำหรับรายชื่อนักวิชาการทั้ง 15 คน ประกอบด้วย นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายเกษียร เตชะพีระ นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไชยันต์ ไชยพร นายสุรัตน์ โหราชัยกุล นายศุภมิตร ปิติพัฒน์ นายฉลอง สุนทราวาณิชย์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นายเกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นางสายชล สัตยานุรักษ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ นายสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และนายชาญกิจ คันฉ่อง

ใน โพสต์ทูเดย์, (17 ธันวาคม 2554). นักวิชาการจี้แก้ม.112 ตั้งกก. กลั่นกรองฟ้อง. https://www.posttoday.com/politics/127377 , สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567.

[9] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (6 กุมภาพันธ์ 2567). มกราคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,947 คน ใน 1,268 คดี. https://tlhr2014.com/archives/64518, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567.

[10] เอกสารอ้างอิงในการจัดทำตารางการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญของเยาวชน พ.ศ. 2563-2565 1. Panarat Anamwathana & Sawaros Thanapornsangsuth. (2023). Youth Political Participation in Thailand: A Social and Historical Overview, International Journal of Sociology, 53:2, 146-157, DOI: 10.1080/00207659.2023.2167381 2. กรุณพร เชษฐพยัคฆ์ และอัษฏาวุธ บุญฤทธิ์ศักดิ์. (2564). #Whats happening in Thailand และแล้วความหวังก็ปรากฏ. กรุงเทพฯ: แซลมอนและ The MATTER.

3. บุศรินทร์ แปแนะ และคณะฯ. (2565). There's always spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน. กรุงเทพฯ: Mob Data Thailand. 4. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ บรรณาธิการ. (2565). Never stop คนและคดียังไปต่อ. กรุงเทพฯ: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).