ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทหารในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

23
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปลายทศวรรษของปี 1950 (พ.ศ. 2493) - 1960 (พ.ศ. 2503) ทหารในหลายประเทศกำลังพัฒนาและเกิดใหม่หลังสมัยอาณานิคม ได้เข้าไปแทรกแซงการเมือง ทั้งในรูปของการล้มล้างรัฐบาล การขู่บังคับหรือการกดดันรัฐบาลพลเรือน หรือกระทั่งการเป็นรัฐบาลทหารเสียเอง
  • กองทัพมีความเหนือกว่าสถาบันการเมืองของพลเรือน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ กองทัพเป็นองค์กรหรือกองทัพสมัยใหม่ มีเอกภาพภายในสูง และจัดลำดับชั้นของบุคลากรในองค์กรที่ชัดเจน และถืออาวุธ โดยมีคุณธรรมของทหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง อันได้แก่ ความกล้าหาญ ระเบียบวินัย การเชื่อฟัง และความรักชาติ
  • แต่ในช่วงสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 สภาวะการณ์ของโลกเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเย็นยุติ ความได้เปรียบทางการเมืองขององค์การทหารในประเทศกำลังพัฒนาไม่เป็นเช่นเดิม ประชาธิปไตยได้ให้โอกาสรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับหลักการของ “การควบคุมโดยพลเรือน” ที่มีต่อทหาร แต่กระนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือน (ดังเช่นในสังคมไทยนั้น)  จะทำให้เป็นจริงและหยั่งรากลึกลงในสังคมได้อย่างไร?

 

“ความได้เปรียบทางการเมืองของทหารต่อพลเรือนมีอยู่มากทหารมีองค์กรที่เหนือกว่าและทหารมีอาวุธ”

Samual E. Finer
The Men on Horseback (1962)

การเมืองของประเทศต่างๆ ในช่วงปลายทศวรรษของปี 1950 (พ.ศ. 2493) และในช่วงทศวรรษของปี 1960 (พ.ศ. 2503) เห็นได้ชัดเจนถึงปรากฏการณ์ของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร จนหนังสือพิมพ์ ‘The Times’ ของอังกฤษเรียกช่วงระยะเวลาดังกล่าวว่าเป็น “ปีทองของบรรดานายพล” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ปีทองของการรัฐประหาร” นั่นเอง

สภาพของการเมืองเช่นนี้ชี้ให้เห็นลักษณะร่วมของยุคสมัยที่กองทัพใช้พลังอำนาจทางทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือประเทศตน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการล้มล้างรัฐบาลโดยตรงหรือการขู่บังคับโดยการกดดันทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลกระทำตามปรารถนาของตน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศหลายๆ ประเทศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีประสบการณ์กับบทบาททางการเมืองไม่ว่าในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ตาม

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการกำเนิดของ “ประเทศใหม่” (The New Nations) ที่หมายถึงประเทศที่ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม และการเมืองของประเทศเหล่านี้สะท้อนให้เห็นบทบาททางการเมืองของทหารอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ในอัฟริกาหรือในอเมริกาใต้ กองทัพกลายเป็น “ตัวแสดง” ทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวแสดงที่เข้าควบคุมระบบการเมืองด้วยการรัฐประหารจนทำให้เกิดข้อสังเกตว่า การมีรัฐบาลทหารในประเทศเกิดใหม่(หรือที่ต่อมาถูกเรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา) เป็น “กฎ” มากกว่าจะเป็น “ข้อยกเว้น” ทางการเมือง

รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาในอดีต ถ้าไม่อยู่ในรูปของรัฐบาลทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยตรงด้วยการยึดอำนาจ ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีกองทัพเป็นผู้ค้ำประกันการดำรงอยู่ของตนหรือไม่รัฐบาลพลเรือนก็อยู่ในฐานะของการเป็น “รัฐบาลหุ่น” เป็นต้น สภาพเหล่านี้ว่าที่จริงก็คือกิจกรรมทางการเมืองของทหารขยายตัวออก และการมีกิจกรรมทางการเมืองที่อิสระของกองทัพก็เป็นไปอย่างกว้างขวางและอย่างแนบแน่นกับพัฒนาการของระบบการเมืองของพลเรือนที่อ่อนแอ

ดังนั้นคำถามทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเช่นนั้นก็คือ ทำไมกองทัพจึงมีความเหนือกว่า (Political advantages) สถาบันการเมืองของพลเรือน?

ในทางทฤษฎีคำตอบที่ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ การที่กองทัพเป็นองค์กรสมัยใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพปัจจุบันเป็นกองทัพสมัยใหม่ (Modern army) นั่นเอง นอกจากนี้กองทัพมีลักษณะเป็นเครื่องมือของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน (Purposive instrument) เพราะวัตถุประสงค์หลักของการมีกองทัพก็คือเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในการป้องกันประเทศซึ่งก็คือ การที่กองทัพมีหน้าที่ในการต่อสู้และเอาชนะสงครามของรัฐตน

ในสภาพเช่นนี้องค์กรของกองทัพจึงถูกสร้างขึ้นให้มีเอกภาพภายในสูงและมีการจัดลำดับชั้นของบุคลากรในองค์กรที่ชัดเจน (ดังคำอธิบายในภาษาอังกฤษที่กล่าวถึงองค์กรทหารสมัยใหม่ว่า “Modern armies are cohesive and hierarchical”) ฉะนั้นการที่องค์กรทหารมีลักษณะเช่นที่กล่าวในข้างต้น จึงทำให้กองทัพมีลักษณะที่สำคัญๆ 5 ประการ คือ

  1. องค์กรกองทัพมีการรวมศูนย์การบังคับบัญชาสูง
  2. องค์กรกองทัพมีการจัดลำดับชั้นของการบังคับบัญชาและยอมรับในเรื่องของลำดับอาวุโสที่ชัดเจน
  3. กองทัพเป็นองค์กรที่มีวินัยเป็นกรอบของการปฏิบัติ
  4. กองทัพมีระบบการติดต่อสื่อสารเป็นอิสระที่เป็นของตัวเอง
  5. ทหารมีความรักหมู่คณะสูง (Esprit de corpel) และองค์กรกองทัพมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้

คุณลักษณะข้างต้นทั้ง 5 ประการชี้ให้เห็นว่า องค์กรทหารมีความได้เปรียบในตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรของฝ่ายพลเรือนภายในรัฐ ดังที่นักรัฐศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตในช่วงของการสร้างชาติของหลายๆ ประเทศในยุคหลังอาณานิคมว่า “กองทัพสมัยใหม่เป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งสูงกว่าองค์กรอื่นภายในรัฐ” เพราะลักษณะขององค์กรเช่นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีหลักประกันในการรบชนะข้าศึก เพราะหากขาดลักษณะขององค์กรกองทัพสมัยใหม่แล้วก็ยากที่จะทำให้ทหารรบชนะในสงครามสมัยใหม่ได้

ดังนั้นในแง่ของโครงสร้างภายใน กองทัพจึงไม่ใช่เพียงแค่องค์กรที่รวมคนเอาไว้ หากแต่เป็นองค์กรที่จะต้องมีความเป็นเอกภาพและความสามัคคีภายใน รวมทั้งมีความจงรักภักดีที่จะเป็นหลักประกันว่าในทุกเวลาและในทุกสถานการณ์ ทหารจะต้องกระทำตามหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งมอบหมาย กล่าวคือลักษณะต่างๆ ขององค์กรทหารถูกสร้างขึ้นเพื่อยืนยันว่า ภายในกองทัพจะต้องไม่มีการกบฏภายใน ไม่มีการแตกความสามัคคี ไม่มีการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น กองทัพสมัยใหม่จะรบไม่ได้และเป็นเสมือน “คนตายแล้ว” นั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่งลักษณะของกองทัพสมัยใหม่เช่นนี้ยังได้สร้าง “วัฒนธรรมภายใน” องค์กรขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นดั่งสายใยที่เหนียวแน่นในการผูกพันผู้คนภายในกองทัพเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อปัจจัยเช่นนี้ถูกแปลงให้เป็นทรัพยากรทางการเมือง ก็จะส่งผลให้กองทัพอยู่ในสถานะที่มีความได้เปรียบมากกว่าองค์กรของพลเรือนอื่นๆ ภายในรัฐ (ดังเช่นที่กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้ในข้างต้น)

นอกจากทหารจะได้เปรียบจากฐานะของความเป็นกองทัพสมัยใหม่แล้ว ทหารยังถูกสร้างขึ้นพร้อมกับ “คุณธรรมทหาร” (Military virtues) เช่นที่ปรากฏในคำกล่าวของยุคโบราณ ดังที่ฮีโรโดตัส (Herodotus) นักปราชญ์ชาวเปอร์เซียได้กล่าวว่า

“ลูกชายตั้งแต่อายุห้าขวบจนถึงยี่สิบปีจะถูกสอน 3 เรื่องเท่านั้นคือ ขี่ม้า ยิงธนู และการพูดความจริง” คำกล่าวเช่นนี้ก็คือตัวแบบของการสร้าง “คุณธรรมทหาร” จากยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

ทหารในยุคสมัยใหม่ก็ถูกสร้างให้มีคุณธรรมในเรื่องเช่นนี้ได้แก่ เรื่องของความกล้าหาญ ระเบียบวินัย การเชื่อฟัง ความรักชาติ เป็นต้น ซึ่งคุณธรรมเช่นนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมให้การยอมรับและยกย่องทหาร แต่ก็จะต้องระมัดระวังในการทำความเข้าใจ เพราะการยอมรับและยกย่องทหารในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน หรือในบางกรณีในสังคมเดียวกันแตกต่างเวลากัน การยอมรับและยกย่องก็แตกต่างกันไปด้วย

กรณีตัวอย่างของเยอรมนีและญี่ปุ่นชี้ให้เห็นความแตกต่างได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนปี 1945 (พ.ศ. 2488 อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง) กองทัพของประเทศทั้งสองมีฐานะในสังคมสูงมาก แต่การแพ้สงครามทำให้ฐานะทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็ทำให้บทบาททางการเมืองของกองทัพในประเทศทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

แต่ในกรณีของฝรั่งเศสชี้ให้เห็นปรากฏการณ์อีกแบบหนึ่งหลังปี 1815 (พ.ศ. 2358) ผู้คนในสังคมฝรั่งเศสไม่ชอบทหารและมองว่าทหารเป็นพวก “โหดร้าย งุ่มง่าม หยาบคาย” เป็นต้น แต่ในอีก 50 ปีต่อมาทัศนะดังกล่าวก็เปลี่ยนไป สถานะของทหารได้รับการยกย่องอย่างมากในสังคม จนกล่าวกันว่าการให้ลูกสาวในครอบครัวได้แต่งงานกับนายทหารนั้น ถือว่าเป็นเป้าหมายในอุดมคติของชนชั้นกลางในฝรั่งเศสเลยทีเดียว เพราะเดิมสังคมมองแต่เพียงว่าทหารเป็นเสมือนพวกที่ไม่ทำอะไร หรือเป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องอะไรของโลก แต่พอเวลาเปลี่ยนแปลงไปสังคมกลับมองว่าทหารเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย มีความเชื่อฟัง ให้การยอมรับในเรื่องอาวุโส (หรือการยอมรับในเรื่องของการจัดลำดับชั้น)

เช่นเดียวกันเมื่อโลกเปลี่ยน ทัศนะบางอย่างก็เปลี่ยนไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในระยะเวลาต่อมา การถือเรื่องอาวุโสหรือการยอมรับในเรื่องของจัดลำดับชั้น (Hierarchy) กลับถูกมองว่าเป็นทัศนะที่ทำให้ทหารมีแนวโน้มที่จะเป็นพวก “ขวา” และไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สังคมมีแนวโน้มที่จะชอบการเมืองที่เอียงไปทาง “ซ้าย” เป็นต้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ทัศนะของสังคมที่เป็น “ความชอบ” ทหารก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สิ่งที่กล่าวมาเช่นนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมทหารที่ถูกสร้างให้เห็นองค์ประกอบสำคัญขององค์กรทหารนั้น อาจจะกลายเป็นสิ่งที่สังคมมองเป็นบวกหรือเป็นลบได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา แต่ปัจจัยเช่นนี้ไม่ว่าจะถูกสังคมมองอย่างไรก็ตาม ก็จะยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันทหาร และหากขาดคุณสมบัติเช่นว่านี้แล้ว กองทัพก็จะไม่มีสภาพเป็นกองทัพได้แต่อย่างใด จนอาจกล่าวได้ว่าคุณธรรมของทหารเช่นนี้ต่างหากทำให้กองทัพแตกต่างจากกองโจร และได้รับการยอมรับจากสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทหารที่ไร้วินัยและไร้การบังคับบัญชาก็มีสถานะไม่ต่างจาก “โจร” นั่นเอง

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ทำให้กองทัพมีความเหนือกว่าองค์กรอื่นในสังคมก็คือ กองทัพเป็นผู้ถืออาวุธ เพราะในแต่ละประเทศไม่ว่าจะมีระบบการปกครองเป็นแบบใดก็ตาม กองทัพคือผู้ได้รับสิทธิโดยตรงจากรัฐให้เป็นผู้ถือและใช้อาวุธ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพถือเป็นสถาบันที่ผูกขาดการใช้อาวุธของรัฐ เพราะรัฐโดยทั่วไปจะไม่ยินยอมให้องค์กรอื่นๆ มีสถานะเป็นผู้ถือและใช้อาวุธแข่งกับรัฐเป็นอันขาด ซึ่งผู้ที่กระทำการเช่นนั้นจะมีฐานะเป็น “กบฏ” ภายในรัฐ ดังองค์กรที่ติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เช่นในกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์จะถูกถือว่าเป็นกบฏภายในประเทศ เป็นต้น

ฉะนั้นหากกล่าวโดยสรุปทั้งในทางทฤษฎีและในความเป็นจริงทางการเมืองแต่ละประเทศ จะเห็นได้ว่ากองทัพมีความได้เปรียบกว่าสถาบันอื่นๆ ภายในรัฐ ก็เพราะสถาบันทหารมีสถานะของการเป็นกองทัพสมัยใหม่ มีองค์ประกอบในเรื่องของ คุณธรรมทหาร และที่สำคัญคือการเป็น ‘องค์กรติดอาวุธ’

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง สถานะทางการเมืองของกองทัพก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หากมองความเปลี่ยนแปลงภายนอกสถาบันกองทัพ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ยุคทองของการรัฐประหารที่เกิดควบคู่ไปกับความเป็นไปของการเมืองโลกในยุคสงครามเย็นและภัยคุกคามของสงครามคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างที่เป็นรูปธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารนำพาสถาบันของตนเข้าสู่เวทีการเมือง เพราะข้ออ้างเช่นนี้ใช่ว่าจะใช้แต่ในสังคมของตนเท่านั้น หากแต่ในสังคมโลกก็มีมหาอำนาจใหญ่ที่ถือเอาปัจจัยเรื่องคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างในการสนับสนุนต่อการกำเนิดและการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศที่ตนเองมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์อยู่

หากแต่ความเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ทำให้สภาวะแวดล้อมเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ข้ออ้างที่เป็นรูปธรรมในแบบยุคสงครามเย็นไม่มี พร้อมๆกับมหาอำนาจใหญ่เองก็เปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของตนจากที่เคยสนับสนุนการเมืองในระบอบทหาร ก็หันมาเป็นผู้นำในการผลักดันให้การเมืองอยู่ในระบอบที่ “เปิด” มากขึ้น จนกลายเป็นกระแสของยุคหลังสงครามเย็นที่รัฐต่างๆ จะต้องยอมรับเอาทิศทางของการเมืองในลักษณะของประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นบรรทัดฐานในการคัดสรรผู้บริหารประเทศ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทหารก็ยังนำมาซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมที่มาจากการเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพเช่นในอดีต

สภาพแวดล้อมรอบตัวสถาบันกองทัพที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงส่งผลให้ความได้เปรียบทางการเมืองในมุมมองทางทฤษฎีเป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจขององค์กรทหารมีความแตกต่างจากอดีตอย่างมาก กล่าวคือเป็นการยากสำหรับสถาบันกองทัพที่จะแปลงองค์ประกอบของตนให้เป็นอำนาจเพื่อใช้ในการแทรกแซงทางการเมือง เพราะในความเป็นจริงก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นวิ่งสวนทางกับการมีอำนาจและการดำรงอยู่ของกองทัพในการเมือง

ดังนั้นองค์กรกองทัพสมัยใหม่ พร้อมๆ กับการเป็นองค์กรติดอาวุธจึงอาจจะไม่ได้กลายเป็นปัจจัยที่จะถูกแปรให้เป็นพลังที่จะใช้ในการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองได้ในแบบเดิม โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งในประเทศกำลังพัฒนามีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของ “การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย” (Democratic Consolidation) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ได้ทำให้หลักการของ “การควบคุมโดยพลเรือน” (Civliancontrol) เป็นกติกาทางการเมืองในการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารของประเทศเหล่านี้มากขึ้นด้วย

ในมุมมองเช่นนี้สถาบันทหารในประเทศกำลังพัฒนากำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นดังเช่นสถาบันกองทัพในสังคมตะวันตกที่ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว โดยกองทัพก็ดำรงอยู่ในฐานะของการเป็นเครื่องมือของรัฐ (หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลนั่นเอง) อันเท่ากับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า “ยุคทองของบรรดานายพล” ได้ปิดฉากลงแล้ว แม้จะมีความสำเร็จของการรัฐประหารเกิดขึ้นในไม่กี่ประเทศ แต่ก็ไม่ได้เป็นทิศทางของการเมืองโลกเช่นในอดีตของยุคสงครามเย็นแต่อย่างใด

ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพของโลกในอนาคตคือ การสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีกรอบทางทฤษฎีในเรื่องของการควบคุมโดยพลเรือนเป็นเส้นทางหลัก ดังนั้นคำถามที่ท้าทายทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติก็คือ รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะดำเนินการให้หลักการเช่นว่านี้เกิดเป็นจริงและหยั่งรากลึกลงในสังคมได้อย่างไร?

 

ที่มา : สุรชาติ บำรุงสุข, “ทหารในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง,” ใน “บทนำ”, ใน “ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย”. (กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2551), น. 25-34.