ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และบทบาทกองทัพ

10
ตุลาคม
2564

 

6 ตุลาฯ 19 เมื่อ 45 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องของฝ่ายพิฆาตซ้าย เรามีศัพท์นี้กันอยู่ ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานของประชาชนที่เป็นระลอกหลายครั้งอยู่ตลอดมา สิ่งที่อยู่ข้างหลังคือเรื่องของ “อำนาจ”  และอำนาจที่แข็งแรงที่สุดก็คือ “ทหาร”

ดังนั้น ผมจึงขอนำเสนอในเรื่องที่ว่า “เราจะทำอย่างไรจึงจะยุติปัญหาต่างๆ เหล่านี้พร้อมกับนำเสนอสาเหตุ วิธีการ และการยุติการแทรกแซงทางการเมืองของทหารถาวร เราจะมีวิธีไหน”

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ซากทรรศนะทาส คือ อำนาจ วัฒนธรรมอำนาจนิยมคือปัญหาใหญ่ของประเทศเรา”

 

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า

“อำนาจนิยม” คำนี้มาจากไหน “อำนาจนิยม” จะอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบหนึ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า” วัฒนธรรมทางการเมืองนี้ คือสิ่งที่เราคุ้นชินในการดำรงชีวิต และอยู่กันมายาวนาน และมีการปลูกฝังบางอย่างให้เกิดความเคยชิน

 

 

‘กาเบรียล อับราฮัม อัลมอนด์’ (Gabriel Almond) กล่าวว่า “วัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า” คือ การที่เรากำลังไม่พ้นจากเกษตรมาเสียทีเดียว เรายังยึดถือตัวผู้นำ และเรายังยึดถือมูลนายของเราอยู่ อยู่ฝั่งไหน ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ฝั่งเหลือง ฝั่งแดง อะไรต่างๆ อย่างนี้ เนื่องจากเราไม่ได้มีผู้ประกอบการมากเพียงพอ และเราอยู่ในระบบอุปถัมภ์ แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยแล้ว ก็จะอยู่ในประเทศที่เขาเจริญพอสมควร เป็นอุตสาหกรรมมาก เป็นภาคบริการเยอะ มีผู้ประกอบการที่เข้มแข็งจำนวนมากและเขาจะมีส่วนร่วม

‘กาเบรียล อับราฮัม อัลมอนด์’ (Gabriel Almond) ยังได้กล่าวอีกว่า บุคคลที่มีความ active คือ มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเป็นเผด็จการก็จะลดลงเท่านั้น  และเมื่อประชาชนตื่นตัวทางการเมือง เขาจะยึดถือกฎหมาย ยึดถือข้อตกลงความยุติธรรมต่างๆ อยู่เสมอ แต่ถ้าใครก็ตามอยากมีอำนาจทั้งนั้น และถ้ามีอำนาจเขาจะมีความฉ้อฉล

‘ลอร์ด แอสตัน’ (Lord Aston) กล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะเก่ง หรือ เป็นคนดีจากที่ไหนก็ตาม เมื่อคุณมีอำนาจแล้ว  สุดท้ายคุณก็ต้องฉ้อฉล และคนที่ว่าเป็นคนดีมาแต่ไหนแต่ไร มักจะเป็นคนเลวในตอนจบ

เรื่องแบบนี้ได้นำเข้าไปสู่สหประชาชาติ นำโดย ‘โรเบิร์ต คลิทการ์ด’ (Robert Klitgaard) เป็นผู้นำเสนออธิการที่จะจำกัดอำนาจ จำกัดความฉ้อฉลต่างๆ ว่า ถ้าเราจะมีการคอร์รัปชั่น เราจะยุติ และต้องดูว่าคนที่ได้อำนาจนั้นเด็ดขาดมั้ย หรือมีความคิดแบบทำตามอำเภอใจได้ ถ้ามีอยู่ทั้งสองอย่างนั้นจะอันตรายมาก

ดังนั้นจึงต้องถ่วงดุล  และเราเห็นไหมว่าทหารมีอำนาจจริงไหม แล้วพอได้อำนาจ เขาจะฉ้อฉลทันที แน่นอนอยู่แล้ว เพราะว่าเขามีอำนาจในที่ของเขา ตรวจสอบก็ไม่ได้ มีอำนาจของตัวเอง แล้วเขาจะวางตัวตายตัวแทนหรือทายาททางการเมืองไว้ เพื่อที่จะดูแลเขาในระบบอุปถัมภ์ เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์  ซึ่งเป็นความเชื่อโดยอาศัยวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้ามาตั้งแต่ต้น  

หากประชาธิปไตยจะเกิดได้ก็ต้องบีบให้การฉ้อฉลลดลง หรือ เป็นไปไม่ได้ โดยการบอกว่า เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้น เราต้องมีการตรวจสอบที่ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่โยน หรือ หายไป หรือ ตรวจสอบไม่ได้

เรื่องที่ 2 เราต้องมั่นใจว่าคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบเผด็จการหรือไม่เผด็จการ เราต้องต่อสู้ให้เขา แสดงความซื่อสัตย์สุจริตมายาวนานไม่ใช่บอกว่าผมมีอำนาจตอนนี้ แต่เบื้องหลังผมไม่อยากจะเสนอเรื่องของการตรวจสอบทรัพย์สิน เป็นต้น

เรื่องที่ 3 คือ ความโปร่งใสจะต้องตรวจสอบได้ทั้งระบบ

3 เรื่องสำคัญ ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยจะต้องมีทั้งการบังคับให้มีความรับผิดชอบ บังคับให้มีความซื่อสัตย์ และ มีความโปร่งใส

 

สาเหตุที่ทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง 

 

 

เนื่องจากอุตสาหกรรมที่โตไม่พอ และ เหตุการณ์ขัดแย้งกันระหว่างใหม่กับกลุ่มเก่า คือ กลุ่มที่มีอำนาจเดิมๆ เขาไม่ยอม เขายังอยากรักษาฐานอำนาจอยู่ จึงเกิดการปะทะกันทำให้เศรษฐกิจชะงักและช้า ทำให้ผู้ประกอบการน้อย เมื่อผู้ประกอบการน้อยที่มีอำนาจทางการเมือง เขาก็ไม่ยุ่งแล้วทางการเมือง เขาไม่อยากวิ่งทางสังคมหรือเข้าไปอยู่เรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง อยู่ในแบบพรรคการเมือง เพราะว่าเขายังไม่แข็งแรงพอ

ดังนั้น ทหารซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งที่เข้มแข็ง เขาก็บอกว่าระบบราชการจะต้องดูแลประเทศแทน และข้าราชการอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายพลเรือน ก็จะเดินตามเพื่อร่วมมือกับทหารในการแข็งข้อกับประชาธิปไตย 

 

วิธีการที่ทหารจะได้อำนาจทางการเมือง 

1. ฝ่ายกระฎุมพีคนที่จะมาสร้างประเทศชาติขึ้นมา ผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง เขาบอกไม่ต้องแล้ว เพราะผมจะดูแลเอง เขาจะดูแลพ่อค้า ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว เพราะในกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้มีผู้ที่อยากรักษาผลประโยชน์ของตัวเองจำนวนมาก ดังนั้น องค์กรสำคัญต่างๆ เขาจะส่งตัวแทนของเขาไปควบคุมให้หมด อย่างเช่น ส.ว. ในรัฐธรรมนูญของเรา เป็นต้น

 

 

2. เขาจะถือว่าอำนาจความมั่นคงเป็นเรื่องของเขา พลเรือนอย่าแตะ ถ้าแตะเมื่อไหร่จะเป็นเรื่อง เขาไม่เคยมายุ่งกับการลงคะแนนเลย แต่กลับมีอำนาจทางการเมือง

3. เขาบอกว่าองค์กรอื่นๆ ใครก็ตามอย่ามาท้าทาย เพราะฉะนั้น เขาจะดำเนินการ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Capture คือ เขาจะทำให้องค์กรต่างๆ แม้แต่องค์กรอิสระ  จะต้องพึ่งพาทหาร

4. เขาไม่สนใจหรอกว่า จะต้องมาพูดเรื่องความชอบธรรม การเลือกตั้ง ความเสมอภาค ความยุติธรรม ไม่สนใจทั้งสิ้น เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะแต่งตั้งคนของเขาเข้าไปดูแลเท่านั้น และที่สำคัญที่สุด คือ เขาจะรวบเอาอุตสาหกรรม ธุรกิจหรืออะไรต่างๆ ที่เป็นใหญ่ในประเทศมาอยู่ภายใต้ปีกของเขา เพื่อที่จะควบคุมประเทศได้

ดังนั้น ทั้งธุรกิจ ทั้งทหาร ทั้งข้าราชการ อยู่ในการควบคุมของทหารได้ นี่เป็นเรื่องของทหารทั่วโลก  ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะเขาทำอย่างนั้น และสิ่งที่ตามมา คือ เขาไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ทหาร เพราะเขาควบคุมอำนาจทางการเมือง เป็นทหารธุรกิจ เป็นทหารการเมือง พลเรือนข้าราชการต่างๆ เขาเห็นว่า อยู่อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันจึงขอเดินตาม 

 

 

เราจึงพบเห็นว่าข้าราชการอื่นๆ ก็จะเดินตามทหารที่ดำเนินการด้านการกุมอำนาจถามว่าตะวันตกจะมาช่วยไหม ตะวันตกอยู่ไกลมาก และตะวันตกก็จะมองว่า ถ้าจะสร้างให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ ก็ต้องสร้างผู้ประกอบการ และทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แต่ว่านั่นต้องใช้เวลา ถ้าหากจะคุยให้ดูที่ผลประโยชน์แล้วมาแลกเปลี่ยนกันดีกว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้อำนาจทหารยังคงมีอยู่ในอีกหลายที่ทั่วโลก 

 

ทำอย่างไรให้ทหารไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

เหตุที่ทหารจะลังเล ไม่กล้าเข้ามายุ่งเรื่องของการใช้อำนาจทางด้านการเมือง หรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้  ต้องเกิดจากการที่ประเทศเจริญพอสมควร อย่างประเทศไทยตอนนี้เจริญมาพอสมควร มีความตื่นตัวทางการเมืองพอสมควร มีวิวัฒนาการทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมมากพอสมควร อยากได้ประชาธิปไตยมากพอสมควร  นั่นเรียกว่าเป็น “ค่านิยมของสังคม”

หนึ่ง ณ เวลานั้นๆ ที่จะไม่ยอมให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ก็จะเกิดความแพร่หลายทางความคิดทั่วไป แต่นั่นหมายความว่าด้านเศรษฐกิจจะต้องเกื้อหนุนด้วย  เพราะถ้าเกิดสภาพเศรษฐกิจไม่ดี คนเขาจะคิดเรื่องปากท้องก่อน แล้วก็จะยอม นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในประเทศไทยผมเชื่อว่ามันถึงจุดขีดที่เราใกล้ที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว 

สอง คือ ทหารจะเข้ามายุ่งเมื่อไหร่ ในเมื่อเขามองว่า ถ้าเขามายุ่งกับมันจะมีทหารการเมือง ทหารธุรกิจ มันจะข้ามหน้าข้ามตาแล้ว มันจะมีเรื่องของการหักหลัง วุ่นวายไปหมด จนระบบกองทัพเสียไปหมด อันนี้ที่เกิดในบางประเทศ เขาจะถอย อย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ ถ้าไปยุ่งทางการเมืองมากๆ กองทัพเขาเสียหาย เขาก็เลยถอยออกมา

สาม ฐานทุกแห่ง เมื่อยึดอำนาจแล้ว ก็จะมีการบริหารอำนาจ เขาจะพัฒนาประเทศไม่เป็น แล้วจะโดนต่อว่าโดนก่นด่าทุกแห่งไป บางทีคนที่ทำการรัฐประหารจะมองว่าทำไปก็ไม่สำเร็จ สู้ไม่เข้าเสียดีกว่า

สี่ คือ ประชาชนทั่วไปเคยเป็นความรู้สึกอยากต่อต้าน แล้วทหารมองว่าถ้าเกิดสงครามการเมือง ทหารเองจะเป็นฝ่ายที่อยู่ไม่ได้

ห้า คือ ค่านิยมของประชาชนทั่วไป ประชาชนรู้ว่าทหารมีความมั่นคงภายในหรือความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่เรื่องของทหารเท่านั้น แต่เรื่องของการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม เป็นเรื่องของการที่ทุกฝ่ายมาพูดจากันอย่างภราดรภาพ รู้จักที่แบ่งปันผลประโยชน์กัน และอยู่ร่วมกันด้วยการมองว่าความมั่นคงของชาตินั้น เป็นเรื่องที่ทหารจะต้องออกจากการเมืองโดยให้พลเรือนมาอยู่เหนือกองทัพ

‘โมริส จาโนวิส’ (Morris Janowitz) กล่าวว่า ถ้าจะป้องกันไม่ให้ทหารแทรกแซงทางการเมืองได้ คุณต้องเป็นทหารอาชีพ เหมือนแบบโรมัน ในสมัยก่อนที่ฟังรัฐบาลกลาง

‘ซามู พี ฮันตินตัน’ (Samuel P. Huntington) กล่าวว่า เราต้องให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เพราะพลเรือนเป็นรัฐบาลที่มาจากสัญญาประชาคม เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนเขาแต่งตั้ง ดังนั้นมาด้วยกลไกของรัฐบาลที่มาจากประชาชน จึงอยู่ภายใต้ประชาชน

วิธีการให้ความคิดแบบนี้ก็เพื่อให้ ทหาร ทำหน้าที่หลักของเขา ก็คือการป้องกันประเทศ ไม่ใช่การแทรกแซงทางการเมืองด้วยข้ออ้างความมั่นคงอีกต่อไป 

 

ทำไมสังคมจึงเกิดความขัดแย้ง

 

 

ประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยเกษตรอุตสาหกรรม ข่าวสารข้อมูลในปัจจุบัน  มันเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่  ทีนี้กลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ ถ้าสมมุติว่าทหารไปเข้าข้างกลุ่มเก่า  แล้วก็ไม่ปล่อยให้ประเทศวิวัฒน์ไปหรือพัฒนาไป มันก็จะเกิดความล้าหลังและเกิดการปะทะการสูญเสียอย่างที่เราทราบกันอยู่ แต่ถ้าเกิดทหารร่วมมือกับทุกฝ่าย ร่วมมือกับทางกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ กลุ่มเก่าก็ยอม กลุ่มใหม่ก็ถอยนิดหนึ่ง เพื่อจะก้าวหน้ากันต่อไป นี่เป็นวิธีการที่จะเป็นทางออกของทุกประเทศที่ใช้วิธีการแบบนี้ 

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นทหาร ทำไมต้องพูดถึงเรื่องทหาร เพราะทหารกับประเทศประชาธิปไตยเหมือนเป็นเหรียญ เหรียญเดียวกัน 2 ด้าน คือ ถ้าทหารสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็จะไปโลด แต่ถ้าทหารไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ จึงเกิดการต่อสู้กันในบางประเทศ หรือในบางประเทศไม่จำเป็นต้องต่อสู้ เพราะองค์กรทหารเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และก็มีการติดอาวุธ ดังนั้น กองกำลังทหารจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด “ทหารเปรียบเสมือนมีด คนถือมีดต้องใช้ให้เป็น ใช้ในทางที่สร้างสรรค์ก็จะสร้างสรรค์ ใช้ในทางที่ทำลายก็ทำลาย”

ดังนั้น เราจะต้องมองไปในภาพกว้างว่าแล้วในโลกเรา มันเป็นอย่างไร เราจะพบว่าในโลกเสรีที่ทหารสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีความอดอยาก ประชาชนมีความสมบูรณ์พูนสุข ประชาชนมีหลักประกันในชีวิตของตนเอง ทุกคนเกิดมาเสมอภาคกัน เพราะว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ในบางประเทศที่ทหารไปสนับสนุนลัทธิเผด็จการทางทหาร หรือว่าอย่างคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ก็จะมีความยากจน มีความลำบาก แล้วช่วงเวลาที่ทหารยึดอำนาจ ทุนผูกขาดจะรวยขึ้นไม่รู้กี่เท่า ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็ก้าวกระโดดไม่รู้อีกกี่เท่า 

 

ทำไมรัฐประหารจึงยังมีโอกาส

 

 

เราจะเห็นว่าการรัฐประหารของประเทศไทย ติดอันดับ Top 5 แต่ว่าทำสำเร็จเบอร์ 1 ของโลก และเป็นเบอร์ 1 ของโลกถึง 13 ครั้ง ส่วนผู้ที่ตามหลังเรามา คือ โบลิเวีย และซีเรียที่ทำสำเร็จ ทำไมประเทศไทยสำเร็จง่ายขนาดนั้น? ก็เพราะว่าเขามั่นใจว่า ทำแล้วรัฐประหารแล้วไม่ติดคุก แต่ถ้ามีการนำติดคุกเมื่อไหร่การรัฐประหารก็จะยุติไปเองอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือ ประเทศสเปน สองประเทศนี้ คือ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงจากการที่รัฐประหารแล้วไม่สำเร็จแล้วจบเลย 

เพราะเหตุใด ทำไมถึงรัฐประหารแล้วไม่ติดคุก? นั่นก็เป็นเพราะว่ามีการรับรองการรัฐประหารไว้เรียบร้อยแล้ว การรับรองการรัฐประหารชัดเจนในปี พ.ศ. 2496 ศาลฎีกาได้มีการตีความ รับรองการรัฐประหารไว้เรียบร้อยตั้งแต่นั้น (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496)

ดังนั้นเราจะพบว่าตั้งแต่ 2496 เป็นต้นมา จึงเกิดการรัฐประหารมากครั้งขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะการรับรองการรัฐประหารฉบับนี้  เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสู้ได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ประกอบการที่ต้องการปกป้องธุรกิจของตนเองจับอาวุธเพื่อเข้าสู้กับผู้มีอำนาจเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ยังไม่มากพอ ผลที่เกิดจากการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองทำให้การแข่งขันทางการเมืองไม่เกิดความยุติธรรม และ “เมื่อไม่มีความยุติธรรม สันติภาพจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

 

เมื่อทหารเป็นผู้ฉุดรั้งประชาธิปไตย และ ทหารที่เป็นผู้สร้างประชาธิปไตย

ท่านปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า “การสร้างประชาธิปไตยมีทั้งแบบที่เป็นสันติและไม่สันติ”

ทหารในฐานะผู้ฉุดรั้งประชาธิปไตย และ ฉุดรั้งความเจริญ ยกตัวอย่างเช่น ทหารในรัฐเผด็จการในอเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือ และอดีตของประเทศเกาหลีใต้ หรือ ทหารที่ปกครองชนเผ่าในแอฟริกา และประเทศเผด็จการอื่นๆ “สงครามและการต่อสู้ยาวนานทำให้ประชาชนยากแค้นถึงขนาดต้องขอรับบริจาคจากนานาประเทศ”

 

 

ประชาธิปไตยนั้นก็สามารถเกิดโดยทหารได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แมคนาคาตา (กองกำลังบารอน) การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (กองกำลังจากเนเธอร์แลนด์) จนถึงที่ประเทศไทย คือ การอภิวัฒน์สยาม 2475 (คณะราษฎร) ทำให้เราเห็นว่า “เมื่อทหารอยู่ข้างประชาชน ประชาชนก็จะสามารถชนะได้”

 

 

การปฏิรูปกองทัพ 9 ประการ

การสร้างระบบให้ฝ่ายพลเรือนอยู่เหนืองกองทัพและการสร้างกองทัพให้เป็นมืออาชีพนั้น ต้องเริ่มด้วยการปฏิรูปกองทัพ สนับสนุนด้วยข้อกฎหมายต่างๆที่จะทำให้ไม่สามารถทำรัฐประหารได้อีก การปฏิรูปกองทัพ 9 ประการนี้ เพื่อให้ทหารถอนตัวจากการแทรกแซงทางการเมืองอย่างถาวร

ประการที่ 1  สถาปนาอำนาจรัฐบาลพลเรือนให้อยู่เหนือกองทัพ 

รัฐบาลพลเรือนอยู่ในกองทัพโดยการตั้งเสนาธิการร่วม ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาการ ถ้าเกิดสงครามก็ให้นายกรัฐมนตรีบัญชาการ เหมือนแบบเยอรมันนี ถ้าแบบนี้กองทัพก็จะเดินตามรัฐบาลฝ่ายพลเรือนโดยกฎหมาย ส่วนทหารให้สัมภาษณ์ บอกว่านายกควรจะลาออกแล้ว ไม่ได้ ต้องผ่านไปแล้ว 5 ปี หรือติดคุกเลย การใช้อำนาจของทางทหารไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือการเคลื่อนย้ายหน่วยทหาร ก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

ประการที่ 2  ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพให้เป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 

เปลี่ยนทหารให้เป็นทหารอาชีพโดยการเสริมสร้างเทคโนโลยีให้กับทหาร เปลี่ยนจาก Labour intensive (แรงงานเข้มข้น) อาทิเช่น การไปล้างรถให้นาย หรือถือตะกร้าเดินตามภรรยาของนายไปตลาด เปลี่ยนเป็นทหารที่อยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือความรู้ขั้นสูง มีความรู้ในด้านของเทคโนโลยี สร้างความสำคัญและสร้างคุณค่าในตัวบุคคล ทำให้ทหารผู้นั้นรู้สึกว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นทหารอาชีพ แล้วเขาเหล่านั้นก็จะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง

ประการที่ 3 การส่งกำลังบำรุงรวมไว้ที่กระทรวงกลาโหม

การใช้งบประมาณที่เหล่าทัพมาอยู่ที่รัฐมนตรีกลาโหม แบบนี้เขาก็ไม่มีงบประมาณในมือ  เขาก็สะสมเงินไม่ได้

ประการที่ 4 ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ยกเว้นในสภาวะสงครามและใช้การสมัครใจ

  • รับราชการ 5 ปีจนถึงไม่เกิน พันโท
  • ผู้บังคับบัญชาจะมาจาก 3 สายคือ นายทหาร (นักรบอาชีพ) มหาวิทยาลัย และ นักเรียนเหล่า
  • มีทุนการศึกษา
  • ปลดแล้วมีทุนประกอบอาชีพให้
  • ยกเลิกการฝึก รด. เพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร รับสมัครทหารด้วยความสมัครใจ
  • ฝึกด้วยความไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย และ กฎหมายระหว่างประเทศ

ประการที่ 5 การซื้ออาวุธแบบเปิดเผยให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ครุภัณฑ์ใช้ระบบเครดิตแทนการถืองบประมาณ

การซื้ออาวุธต่างๆ นี่คือเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าถ้าให้เหล่าทัพซื้ออาวุธ ก็จะเกิดการสะสมทุนได้ เรื่องนี้เราให้ประชาชน ให้สื่อมวลชนเข้าไปเป็นคนร่วมมือในการดูว่าจะเอาอาวุธแบบไหน เขารู้อยู่แล้ว เปิดเผยอยู่แล้ว ทำแบบนี้โอกาสที่จะมีการส่วนต่างทางการตลาด มันจะไม่มี แล้วครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในกองทัพ เอาเครดิตไปเลย อยากซื้ออะไรซื้อไป แต่ไปตัดเงินที่กระทรวงการคลัง อย่างนี้จบ ไม่มีการสะสมเงินต่อไป

ประการที่ 6 การบริหารทรัพย์สินในส่วนของกองทัพ

ส่วนสินทรัพย์ในกองทัพ ทั้งที่ดินทั้งสนามกีฬาต่างๆ เอามาพัฒนา แล้วไปช่วยคนเป็นสวัสดิการให้กับทหารชั้นผู้น้อยต่ำกว่าพันโทลงไป

ประการที่ 7 สวัสดิการครอบคลุม หรือ สวัสดิการทหาร

ปัจจุบันนี้เรียกว่าประกันชีวิตอะไรต่างๆ หรือ ประกันสุขภาพไม่ถึง เรียกว่า “สวัสดิการทหาร” หากมีให้เขา เขาจะรู้สึกถึงความเป็นทหารอาชีพ ไม่ต้องมีการพึ่งพาผู้บังคับบัญชา

ประการที่ 8 ให้มีการวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นของตนเองเพื่อ หารายได้เข้าประเทศ

เงินทั้งหลายหากมีส่วนเกินก็สามารถนำไปช่วยในการวิจัยพัฒนาสร้างกองทัพต่อไปได้อีก

ประการที่ 9 ยุติระบบอุปถัมภ์เส้นสายภายในกองทัพ และกลับกรมกอง

เรื่องสำคัญที่สุดก็คือเรื่องที่ 9 คือ ใช้ระบบสะสมผลงานแทนการวิ่งเต้น ยุติระบบอุปถัมภ์เส้นสายในกองทัพ โดยการให้มีการเสนอใครจะขึ้นตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ เราจะมีคณะกรรมการที่จะไม่รู้จักคนที่ถูกเสนอชื่อ ทุกคนจะเอาผลงานที่เรียกว่า portfolio สะสมมาว่าตัวเองมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างไร

ยกตัวอย่างระบบแบบอเมริกัน เขามีผลงานอย่างเดียว และเอาผลงานมาดูโดยคณะกรรมการไม่รู้จักชื่อ แล้วก็เลือกมา 3 คน โดย 3 คนนี้ผ่านสเปคแล้ว เรียกว่าผ่านระบบคุณธรรมเรียบร้อยแล้ว จึงส่งให้ผู้บังคับบัญชาดู ผู้บังคับบัญชาก็จะดูว่า 3 คน ใครที่เขาเรียกว่าสามารถทำงานด้วยกันได้ มันก็จะเป็นระบบอุปถัมภ์ซึ่งไม่มากนัก แต่เขาจะร่วมมือกันแบบนี้เป็นการผสมผสานระหว่างระบบอุปถัมภ์กับระบบคุณธรรมอย่างลงตัว

ขณะเดียวกัน แต่งตั้งได้แค่ 2 ขั้น เพื่อตัดวงจรรวมศูนย์รวมอำนาจ เพิ่มความเป็นทหารอาชีพ เหล่าทัพตั้งได้แค่แม่ทัพ ปัจจุบันนี้ผบ.เหล่าทัพแต่งผู้บังคับบัญชายึดอำนาจ คือผู้พัน พันโทกับผู้การกรมยุติแล้วแต่ละคนพอยุติตรงนี้ได้ เขาจะแต่งตั้งได้เฉพาะคนที่เขาเห็นว่ามาทำงานกับเขาได้ ดังนั้นโอกาสที่จะตั้งคนของตัวมาเพื่อยึดอำนาจมันจะจบ

กองทัพต้องยึดโยงกับประชาชน และจะต้องมีจเรทหาร แนวคิดนี้มาจากสหรัฐอเมริกา เขาก็จะทำการแต่งตั้งมาจากรัฐสภา แล้วก็มาดูแลเรื่องกิจการทหารว่า คุณทำตามสัญญาไหม แล้วก็ใครจะร้องเรียนต่างๆ ก็ดูแลได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการงุบงิบ แล้วก็เก็บ ทำให้ทหารรู้สึกว่าถ้าเราออกนอกแถวเมื่อไหร่เราโดน เขาจะรู้สึกว่าเขาปลอดภัย แล้วก็จะอยู่ข้างประชาชนมากขึ้น นั่นก็คือการจัดการทหารทั้งหมด

 

การแก้ไขกฎหมายและระเบียบเพื่อยุติการแทรกแซงทางการเมือง

ระดับรัฐธรรมนูญ

  • ม.56 วรรค 2 “กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย” เปลี่ยนเป็น “กำลังทหารมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย” หากเกิดผู้บังคับบัญชาการผู้ใดวางแผนจะยึดอำนาจ ผู้ใต้บังคับบัญชาจับได้เลย
  • หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ม.50 เพิ่มเติม (๑๑) เมื่อมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์ รักษารัฐธรรมนูญไว้ทุกวิถีทางโดยให้การกระทำทั้งปวงนั้นชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากทหารแล้ว ประชาชนเองก็ต้องมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญด้วยทุกวิถีทางโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ จับอาวุธได้ ให้โอกาสประชาชนจับอาวุธสู้ได้ สู้ได้เมื่อไหร่  ทหารจะไม่กล้าออกมา

  • กฎอัยการศึกมาตรา 176 พระมหากษัตริย์คงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศและเลิกใช้กฎอัยการศึก ตัดวรรคสอง “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการเร่งด่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” ให้เอาออกให้หมด และไปแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.กฎอัยการศึกให้คณะรัฐมนตรี เป็น ผู้ถวายคำแนะนำเท่านั้น

ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจคราวนี้ ก็มีการสร้างสถานการณ์ก่อน แล้วก็ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อที่จะยึดอำนาจได้ หลังจากนั้นก็มีการพูดถึงการวางแผนอย่างทั้งหลายว่าอย่างครั้งแรก ยึดอำนาจครั้งแรกใช้เวลาวางแผน 8 เดือน ครั้งที่ 2 ใช้เวลา 6 เดือน มันเป็นการสมคบคิด มันไม่ใช่อย่างอื่นหรอก เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องพูดออกมาเอง ไม่ใช่ฝั่งของประชาชน 

  • ศาลยุติธรรม ม.175 ว่าด้วยการพิจารณาคดี ระหว่างวรรค 6 และวรรค 7 ให้เพิ่มวรรค 7เข้าไปใหม่ว่า “การล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ได้อำนาจการปกครองแล้วมิให้ถือเป็นรัฎฐาธิปัตย์”

เราจะพบว่าถ้าเราตัดวงจรตรงนี้เสีย ให้กฎอัยการศึกไปอยู่ที่คณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยทหารจะไม่มีโอกาสเคลื่อนย้ายหน่วยทหารอีกเลย มันจะจบ แล้วก็ตรงที่การรับรองการรัฐประหาร คือ ศาลยุติธรรม ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจแบบนี้ ล้มรัฐธรรมนูญแบบนี้ “ไม่ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์” มีคำนี้ไปถือว่าจบไปได้เยอะ 

ระดับพระราชบัญญัติ

พรบ.ความมั่นคง, พรบ.กฎอัยการศึก ให้ปรับปรุงใหม่ 3 ประเด็นคือ

  1. ให้อำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรี
  2. หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่สุจริตไม่ได้รับการยกเว้นทั้งทางแพ่งและอาญา
  3. ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องเป็นผู้รับผิดชอบได้รับโทษในกรณีผู้ใต้บังคับบัญชาประพฤติผิดด้วย

พรบ.ชุมนุม

  • ให้แก้ไขเป็น ”เจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวก ไม่ใช่การควบคุมและถือว่าเป็นสิทธิเด็ดขาดของประชาชน” ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของเยอรมนี

พรบ.รับราชการทหาร

  • ควรเปลี่ยนให้เป็น ยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยบังคับยกเว้นเกิดสงครามดังที่กล่าวมาแล้ว

อำนาจทุกอย่างตอนนี้เราเห็นว่ามันอยู่ที่คณะรัฐมนตรีหมด แล้วทหารจะมาอะไรที่ผิดแผกแตกต่างจากสิ่งที่ควรจะทำ ไม่มีการฝึกอบรมต่างๆ อยู่ที่ตัวของเงื่อนไขของ การไม่ขัดสิทธิมนุษยชน เรื่องของประชาธิปไตยทั้งสิ้นเลย แล้วก็ให้อำนาจประชาชน

พ.ร.บ. ชุมนุม อยากจะแก้ไขให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ก็คือให้สิทธิขาดต่อประชาชนในการชุมนุม เป็นผู้อำนวยการความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ควบคุม ดังนั้นที่จะมาจับเขาเรื่องความสะอาด เรื่องจราจร ทำไม่ได้เพราะผู้ที่มีความผิดคือเจ้าหน้าที่ ประชาชนก็จะมีที่ทางในการอธิบายว่าเขาอยากได้อะไร เขาคิดว่าเขาควรจะทำอะไร เด็กๆ ไม่ควรจะถูกจับ นี่คือประเด็นของมัน 

ระดับกฎกระทรวงและประเพณีทางทหาร

  • ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง 2499 แก้ไขให้มีการใช้สถานที่ทางทหารในการหาเสียงและเผยแพร่ประชาธิปไตยในหน่วยทหารได้ และให้มีโทษจำคุกสำหรับการแสดงความเห็นทางการเมืองที่มิใช่หน้าที่
  • แบบธรรมเนียมทหาร ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยสิทธิ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎการใช้อาวุธตามแบบของสหประชาชาติ สิทธิและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาในสังคมประชาธิปไตย

ระดับรัฐสภา

  • ให้การรับรองตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศและ มีการอนุมัติกฎหมายในเรื่อง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาญากรรมสงคราม และ อาชญากรรมจากการรุกราน (ในอนาคต)

ควรจะรับรองธรรมนูญกรุงโรมให้สัตยาบัน และอนุมัติกฎหมายทั้งหลายเพื่อที่จะตามธรรมนูญกรุงโรมในเรื่องอะไรบ้าง ในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม หรือในอนาคตอาชญากรรมจากรุกรานก็ได้

เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเกิดผู้ประกอบการมากขึ้นเพียงพอที่จะรักษาประชาธิปไตยได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นกระทบต่อการเมืองโดยตรง และเราก็ทราบวิธีการที่ทหารเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองแล้ว เราจะสามารถยุติบทบาทของทหารในการแทรกแซงการเมืองได้ด้วยการปฏิรูปทหาร ให้ทหาร ต้องเป็นทหารอาชีพให้ได้ ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เราต้องใช้กฎหมายต่างๆ มาปิดล้อมไม่ให้เขาขยับได้ สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของตัวเองได้ในที่สุด

 

 

ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และบทบาทกองทัพ” โดย พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564