Focus
- ดร. ทองเปลว ชลภูมิ เกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และเป็นหนึ่งในลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาสำเร็จชั้นปริญญาเอกทางด้านกฎหมายจาก ประเทศฝรั่งเศส
- ในด้านอาชีพการงาน ท่านผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และระหว่างปี 2489-2490 เคยเป็น สส. ประเภทที่ 2 (มาจากการแต่งตั้ง) และต่อมาเป็นสส. พรรคแนวรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งจาก จ. ปราจีนบุรี และเป็นรัฐมตรี (ลอย) และรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลที่หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (23 ส.ค. 2489 - 30 พ.ค. 2490)
- ดร. ทองเปลว ชลภูมิ เคยรับผิดชอบดูแลองค์การสรรพาหารที่รัฐบาลตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับภารกิจจัดซื้อและจำหน่ายสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน (ซื้อแพง-ขายถูก) โดยในช่วงแรกไปได้ดี แต่ต่อมาล้มเหลว และต้องยกเลิกไปในที่สุด
- หลังจากเมื่อขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ พร้อมกับอีกสามอดีตรัฐมนตรีชาวอีสาน คือ นายถวิล อุดล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ นายจำลอง ดาวเรือง ถูกตำรวจสังหารเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2492
บ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 ผมสบโอกาสไปเยือนวัดเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากที่เคยยลยินกิตติศัพท์มาเนิ่นนาน รวมทั้งเคยอ่าน นิราศยี่สาร ผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422 ถ่ายทอดการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปเพื่อกราบไหว้พระพุทธรูปโบราณบนเขายี่สาร ด้วยความดื่มด่ำและเพลิดเพลินต่อสำนวนบทร้อยกรองในนิราศดังกล่าว จึงบันดาลให้ผมเกิดความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องไปเยี่ยมเยือนเขายี่สารเพื่อสัมผัสบรรยากาศของสถานที่จริงให้จงได้
ในที่สุดวันนั้นก็มาถึง ขณะที่ผมกำลังเดินทอดน่องชมรอบๆ อาณาบริเวณวัดบนเขายี่สาร สายตาบังเอิญเห็นเข้ากับที่เก็บอัฐิซึ่งระบุนามสกุลของผู้วายชนม์ว่า “ชลภูมิ” ผมพลันฉุกนึกถึงบุคคลทางการเมืองของไทยผู้ใช้นามสกุลนี้ขึ้นมาทันทีทันใด นั่นคือ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งผมคุ้นเคยกับเรื่องราวของเขามาเกือบๆ จะยี่สิบปี แต่เพิ่งจะรับทราบว่าพื้นเพของเขาเป็นชาวสมุทรสงคราม
สำหรับผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดร. ทองเปลว ย่อมเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในสี่รัฐมนตรีผู้ถูกสังหารผลาญชีวิตพร้อมกันอย่างเหี้ยมโหดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งอีกสามคนยังประกอบไปด้วย นายจำลอง ดาวเรือง, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ นายถวิล อุดล
วันที่ ดร.ทองเปลว ลืมตาดูโลกหนแรกสุดนั้น งานที่เขียนถึงเขาส่วนใหญ่มักระบุว่าคือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ซึ่งน่าจะอ้างอิงมาจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ แต่ในหลักฐานแหล่งเดียวกันนี้ยังให้ข้อมูลว่าเขาเกิดวันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เมื่อเทียบเคียงให้เป็นวันเวลาในปัจจุบันน่าจะตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455) เสียมากกว่า ข้อมูลวันเกิดของ ดร.ทองเปลว จึงยังมีความคลุมเครือและคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดี เขาถือว่าเป็นคนเกิดเดือนกุมภาพันธ์
ดร. ทองเปลว เป็นชาวตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา เกิดในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขาย บิดาชื่อนายฉุยและนางกิ่ม มีนายแร่และนางนิ่มเป็นปู่และย่า มีนายพลอยและนางไข่มุข ดำรงบุลเป็นตาและยาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่ นายทองเปรย, นางปั้นหยี และนางสมจิตร
ช่วงวัยเยาว์ได้ย้ายจากอัมพวาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำจังหวัดอ่างทองและโรงเรียนประจำมณฑลพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) ก่อนจะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์จนสำเร็จชั้นมัธยมที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2472 แล้วจึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เขานับเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ได้เรียนกับอาจารย์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์
ทองเปลว เรียนโรงเรียนกฎหมายไปพร้อมๆ กับเข้ารับราชการประจำกรมอัยการ ซึ่งผู้ที่แนะนำและรับรองให้เข้าทำงานคือ หลวงอรรถปรีชาชนูปการ (ฉอรรถ แสนโกศิก, มีนามเดิมว่า ฉอ้อน)
แม้จะเรียนวิชากฎหมาย หาก ทองเปลว มีความสนใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ยิ่งนัก พอปี พ.ศ. 2474 เขาจึงได้นำหนังสือ ทรัพยศาสตร์ ของ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง หนังสือเล่มนี้เป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทยและเคยเป็นหนังสือต้องห้ามหลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกสุดเมื่อปี พ.ศ. 2454
ทองเปลว ยังได้เข้าร่วมเป็นคณะราษฎรสายพลเรือนเพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ขณะนั้นเขารับราชการอยู่ที่กรมพัสดุแห่งชาติ กระทรวงการคลัง
ต่อมาโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมโอนไปขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2476 ทองเปลวจึงกลายเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์ด้วย โดยสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ รวมถึงสอบได้เป็นเนติบัณฑิต
ในปี พ.ศ. 2477 ทองเปลว เข้าพิธีสมรสกับ นิ่มนวล รักษ์เจริญ หญิงสาวชาวตำบลวังกระโจม เมืองนครนายก บุตรีของนายเจริญวรรณ์ (เบี้ยว) และนางพิมพ์ ทั้งสองคงจะพบเจอและพบรักกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2476
นิ่มนวล เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนนาครส่ำสงเคราะห์ อันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครนายก จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานครช่วงต้นทศวรรษ 2470 เข้าเรียนที่โรงเรียนเสาวภาจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมที่ 4 ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมบริบูรณ์ จากนั้นไปเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยจนสอบไล่ได้วิชาครู ป.ป. แล้วเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 สามารถสอบไล่ได้ผ่านครบทุกวิชา ยกเว้นวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สอบไม่ผ่าน
พอเล่าถึงตรงนี้ ผมก็ฉุกนึกว่า บางทีนี่อาจเป็นบุพเพสันนิวาสที่น่าอมยิ้ม ทองเปลว เป็นนักเรียนกฎหมายผู้หลงใหลวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่ง ส่วน นิ่มนวล เป็นนักเรียนกฎหมายผู้สอบวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ผ่าน แต่เธอกลายมาเป็นคนรักที่ครองชีวิตคู่กับชายผู้ชื่นชอบเศรษฐศาสตร์ และต่อมาภายหลังได้มาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ภรรยาของตนเคยสอบตก
ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 ทองเปลว ย้ายมารับราชการ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รั้งตำแหน่งประจำแผนกกองบรรณารักษ์และกรรมาธิการ
ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2479 ทองเปลวได้รับทุนให้เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายเพิ่มเติม ณ ประเทศฝรั่งเศส เขาต้องอำลาภรรยาสุดที่รักไปแสนห่างไกล หากในที่สุด ก็ร่ำเรียนจนสำเร็จชั้นปริญญาเอกเป็น Docteur en Droit
ครั้นหวนกลับคืนเมืองไทย พอปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 ดร. ทองเปลว ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณารักษ์และกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ล่วงต้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยขอยืมตัวไปช่วยราชการ ก่อนจะโอนกลับมาประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามเดิมในเดือนสิงหาคม กระทั่งต้นเดือนกันยายน เขาได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วมีการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเลยในเดือนพฤศจิกายน
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร. ทองเปลว ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างแข็งขัน แต่ได้เกิดความขัดแย้งกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง
บทบาทหนึ่งที่โดดเด่นของ ดร.ทองเปลว ในช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือการร่วมมือกับบรรดาข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ผู้มีบุตรมากขึ้นในปี พ.ศ. 2485 เขาดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมคนแรกสุด ทางสมาคมได้ขอความร่วมมือจากองค์กรของรัฐบาล หน่วยงานราชการ บริษัทห้างร้าน ให้การช่วยเหลือผู้มีบุตรมาก เช่น ให้โดยสารรถไฟ เรือเมล์ และเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยลดครึ่งราคา หรือสามารถจัดซื้อสินค้าในราคาพิเศษตามบริษัทห้างร้านที่ร่วมมือกับทางสมาคม
สำหรับสมาคมสงเคราะห์ผู้มีบุตรมากนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ซึ่ง ดร.ทองเปลว กำลังถูกเล่นงานทางการเมือง กรมประชาสงเคราะห์แห่งกระทรวงมหาดไทยได้ขอโอนกิจการไปดำเนินการเองเพื่อให้การสงเคราะห์ขยายวงกว้างขวางและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น ครั้นปี พ.ศ. 2492 ได้มีการเปลี่ยนชื่อสมาคมใหม่เป็น “สมาคมสงเคราะห์มารดาและบุตรแห่งประเทศไทย”
ห้วงเวลานั้น ดร. ทองเปลว ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2484-2487 และช่วงปีการศึกษา 2489-2490 ด้วย ดังปรากฏผลงานการเรียบเรียงหนังสือสำหรับการเรียนการสอน ได้แก่ หลักเสถสาตร เล่ม 1 ประดิถกัม, หลักเสถสาตร เล่ม 2 ปริวัตกัม, หลักเสถสาตร เล่ม 3 วิภาคกัม, ทริสดีเงินตรา,รวมความเรียงเรื่องเศรษฐศาสตร์ และ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ครอบครัว)
ในปี พ.ศ. 2488 ช่วงปลายสงคราม ได้มีการจัดเลือกตั้งซ่อมในเขตพระนครเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2488 สืบเนื่องจาก ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) ส.ส.พระนคร เขต 1 ถึงแก่กรรม ดร.ทองเปลว จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตนี้ และถือเป็นตัวเต็งที่คาดการณ์กันว่าน่าจะได้รับชัยชนะ เพราะ ดร.ทองเปลว ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายของ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งช่วงปลายสงครามโลกเป็นผู้ครองบทบาทสำคัญและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นมีการต่อสู้แข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ละฝ่ายใช้สารพัดวิธีที่จะทำให้ตัวเองคว้าชัยชนะ รวมถึงทำให้อีกฝ่ายเสียคะแนนนิยม สิ่งที่ ดร.ทองเปลว ต้องเผชิญคือฝ่ายคู่แข่งได้นำสีไปขีดเขียนตามพื้นที่สาธารณะบอกให้เลือก ดร.ทองเปลว เช่น “โปรดเลือก ดร.ทองเปลวเป็นผู้แทนของท่าน”, “เลือก ดร.ทองเปลวดีแน่ๆ”และ “ใครก็เลือก ดร.ทองเปลวทั้งนั้น” จนทำให้ผนัง กำแพง และเสาไฟฟ้าแลดูเลอะเทอะสกปรก ประชาชนจึงมอง ดร.ทองเปลว ในทางที่ไม่ดี ฝ่ายคู่แข่งยังปลอมตัวเป็นคนช่วยหาเสียงหรือผู้สนับสนุน ดร. ทองเปลว แล้วไปโก่งคอตะโกนโหวกเหวก พร้อมทั้งบุกไปเคาะหรือเอาไม้ทุบประตูบ้านของชาวบ้านและแผดเสียงลั่นว่า “ลุกขึ้นเถอะครับ ลุกขึ้น โปรดไปลงบัตร ดร.ทองเปลว ด้วยครับ” สิ่งนี้สร้างความรำคาญให้ประชาชนอย่างหนัก จนมีภาพจำเกี่ยวกับ ดร. ทองเปลว ในแง่ลบ และตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงให้เขา
ผลการเลือกตั้งคือ ดร.ทองเปลว ต้องพ่ายแพ้ ไม่ได้เป็น ส.ส. ส่วนผู้ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นคือม้ามืดอย่าง ดร. โชติ คุ้มพันธ์ อดีตนักโทษการเมืองที่เคยถูกส่งไปกักตัวยังทัณฑสถานบนเกาะเต่า เพราะการหาเสียงที่ได้ใจประชาชน โดยประกาศตนว่าเป็น “ผู้แทนคนยาก” พร้อมปั่นสามล้อและยืนกล่าวคำหาเสียงบนสามล้อ
หลังสงครามโลกปิดฉากลงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 พอเดือนกันยายน ดร. ทองเปลว ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ดำรงอยู่ในตำแหน่งนับแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
ต่อมาเมื่อทางรัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 คราวนี้ ดร.ทองเปลว ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดปราจีนบุรีและได้รับเลือก
ทองเปลว เป็น ส.ส. ยังมิทันถึงเดือน ดร.ชาวยี่สารก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลซึ่ง พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง
ช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดร.ทองเปลว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการต่างๆ ดังในเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกทัณฑ์ให้แก่ตำรวจขาดหนีราชการ พ.ศ. 2489 และเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2489 พอเดือนตุลาคม ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 5 ประจำ พ.ศ. 2489, เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2488, เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกเงินช่วยชาติในภาวะคับขันและภาษีอากรบางประเภท และเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ล่วงมาในเดือนธันวาคม ก็ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2489
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.ทองเปลว ได้รับผิดชอบดูแลองค์การสรรพาหารซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ มีหน้าที่ในการจัดซื้อและจำหน่ายสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อาศัยนโยบายสำคัญคือ “ซื้อแพง ขายถูก” โดยซื้อสินค้ามาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาย่อมเยา องค์การนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ระยะแรกๆ องค์การได้รับความนิยมอย่างมาก กระทั่ง ดร.ทองเปลว ได้รับฉายาว่า “ดร. สรรพาหาร” ทว่าต่อมาเกิดความบกพร่องในการบริหารและปัญหาคอร์รัปชัน เลยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงจนต้องยกเลิกองค์การไป ไม่เพียงเท่านั้น มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่องความผิดพลาดและล้มเหลวขององค์การสรรพาหารนานถึง 8 วัน 7 คืน โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านได้กล่าวโจมตีอย่างมาก ดร.ทองเปลว ลุกขึ้นชี้แจงและน้อมรับความผิดพลาด พร้อมกับเอ่ยว่า “ถ้าผมได้อ่านหนังสือ หว่อง อัน ยื้อ มาก่อน องค์การสรรพาหารจะไม่เกิดขึ้น”
ครั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยคือรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย ส่งผลให้ นายปรีดี ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างประเทศ ด้าน ดร.ทองเปลว ไม่เพียงสูญสิ้นสถานภาพ ส.ส. แต่ยังต้องหลบหนีลี้ภัยไปต่างประเทศเช่นกัน แต่พอในปี พ.ศ. 2491 เขาก็ถูกจับกุมตัวส่งไปคุมขังในคุก
ระหว่างถูกจองจำในห้องขัง ดร. ทองเปลว มุมานะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน! โดยหยิบยกเอาเรื่องราวจากพงศาวดารจีนมาเปรียบเปรยเพื่อสะท้อนสถานการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ตามท้องเรื่อง หว่อง อัน ยื้อได้ใช้นโยบายซื้อแพงขายถูกในเมืองจีน แต่ต้องประสบความล้มเหลวจนสร้างความเสียหายแสนสาหัส ซึ่งในเมืองไทย ดร.ทองเปลว ก็เคยก่อตั้งองค์การสรรพาหารเพื่อดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกัน และประสบความล้มเหลวเช่นกัน เขาจึงรู้สึกว่าชะตาชีวิตของตนไม่ผิดแผกไปจากหว่อง อัน ยื้อ
ดร. ทองเปลว เขียน หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน! เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ทว่าได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2492 จัดพิมพ์โดยหอสมุดกลาง ซึ่งมีถ้อยแถลงว่า
“หอสมุดกลางได้จัดพิมพ์ “หว่องอันยื้อ” ของท่านอาจารย์ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เป็นอันดับที่สอง จาก “นักปฏิวัติ” ซึ่งได้ออกไปสู่การต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งของประชาชน เมื่อ ๒ เดือนที่ล่วงมาแล้ว
โดยหนังสือ “หว่องอันยื้อ” เล่มนี้ หอสมุดกลางใคร่จะขอแถลงเจตนาในการจัดตั้งหอสมุดกลางซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
หอสมุดกลาง เป็นชมรมแห่งคนหนุ่มผู้ฝักใฝ่ในการเสาะแสวงวิทยาการทุกๆ สาขา นำมาถ่ายทอดผ่านไปสู่ท่านผู้ซึ่งไม่มีโอกาสว่างที่จะทำได้โดยตนเอง นอกจากการจัดพิมพ์เอกสารต่างๆ ในแนวบันไดการเมืองแล้ว ยังมีจุดประสงค์ก้าวต่อไปที่จะจัดตั้งหอสมุดสาธารณะสำหรับประชาชนขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินงานหาสถานที่และรวบรวมเอกสารนิตยสารต่างๆ…”
ดร. ทองเปลว ยังเขียนคำอุทิศในหนังสือว่า “หากหนังสือนี้จะมีความดี ข้าพเจ้าขออุทิศความดีให้แก่ พณฯ ปรีดี พนมยงค์ วีระบุรุษผู้กู้ชาติไทย แต่สุดท้ายเหมือนเจ้าตากสิน”
และแถลงความในใจผ่าน “คำนำ” ว่า
“นวนิยายเรื่อง หว่องอันยื้อ หรือบุรุษหัวเห็ดนี้ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นจากเค้าโครงเรื่องของลินยู่ถัง ข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นเรื่องนิยาย แต่ใครจะอ่านเป็นเรื่องจริงๆ ก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ขัดความประสงค์ แต่อย่างไรก็ดี หากข้าพเจ้าได้ค้นคว้าเรื่องนี้ ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะตั้งองค์การสรรพาหารแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ตั้งเป็นอันขาด การศึกษาวิชาการต่างๆ นั้น หากจะศึกษาแต่ฉะเพาะเรื่องของฝรั่งอย่างเดียวนั้น บางครั้งก็ไม่เพียงพอ ควรจะหาทางศึกษาเรื่องของจีนบ้าง เพราะประเทศจีนเป็นประเทศเก่าแก่ มีอะไรๆ มาช้านานแล้ว
นวนิยายเชิงสารคดีเล่มนี้ เป็นเรื่องแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่ตีพิมพ์ออกมาสู่ประชาชน จริงอยู่ ข้าพเจ้าได้เขียนไว้อีกเล่มหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าติดคุก ๗๕ วันแต่ไม่กล้าพิมพ์เพราะกลัวถูกจับ เนื่องจากเขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นกบฏทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้กบฏ
ถ้อยคำสำนวนมันออกปร่าๆ แปร่งๆ อยู่บ้าง ข้าพเจ้าขอยอมรับ แต่ว่ามันเป็นวิสัยธรรมดาของละครออกโรงครั้งแรก ก็ต้องมีอาการเก้อเขินบ้างเป็นของธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี อาการเก้อเขินนั้น บางทีก็เป็นการแสดงที่ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นหากจะมีการเก้อในถ้อยคำอยู่บ้าง ก็ขอท่านได้โปรดคิดอย่างข้าพเจ้าบอกก็แล้วกัน คืออาจจะเป็นการเก้อโดยธรรมชาติหรือเก้อเพราะต้องการให้เก้อ
เดิมข้าพเจ้าตั้งใจจะพิมพ์นวนิยายปนสารคดีเรื่องนี้ออกจำหน่าย โดยไม่คิดผลกำไรอย่างใด เพื่อต้องการเผยแพร่วิชาการเศรษฐกิจในสมัยโบราณ แต่เมื่อมานึกว่า เวลานี้ข้าพเจ้ากำลังเป็นโรคทรัพย์จาง ต้องหลบหลีกซ่อนตัวกลัวถูกจับ เพราะทุกครั้งที่เขาจับกันเรื่องกบฏ ข้าพเจ้าต้องกลายเป็นกบฏไปด้วยทุกครั้ง ข้าพเจ้าไม่มีทางจะมีรายได้อย่างไร พอจะมีทางได้มีข้าว ๑ ชาม ปลาทู ๑ ตัว บุหรี่บ้างสัก ๒-๓ มวนต่อวัน เป็นเครื่องประทังชีวิต ข้าพเจ้าจึงคิดขายพอเอากำไรบ้าง หากว่าราคามันจะแพงไป ท่านผู้อ่านและซื้อทั้งหลายก็จงโปรดกรุณาให้นึกว่าให้ทาน และอุปการะแก่มนุษย์ผู้ไม่มีแผ่นดินอยู่ด้วยเถิด
ถ้าท่านสนใจและชอบเรื่องอย่างนี้ ข้าพเจ้ายังมีอีกที่กำลังเขียนอยู่ แต่ข้าพเจ้าจะพิมพ์ออกได้หรือไม่ก็อยู่ที่ท่านทั้งหลาย หากท่านช่วยกันจ่ายทรัพย์สำหรับ หว่องอันยื้อ จนข้าพเจ้าสามารถมีชีวิตอยู่ได้สูงกว่าขอทานหน่อยหนึ่งและคุ้มค่าพิมพ์แล้ว เรื่องอื่นๆ ทำนองเดียวกันก็จะออกมาทำความรื่นเริงและยุ่งเหยิงให้แก่ท่านอีกอย่างแน่นอน
ท่านอ่านคาวัวร์ ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ เคมาล ของ พณฯ เลียง ไชยกาลแล้ว ท่านลอง หว่องอันยื้อ ของข้าพเจ้าบ้าง บางทีท่านคงจะได้รสแปลกออกไปจากหนังสืออื่นๆ ที่เขียนชีวประวัติของบุคคลทำนองเดียวกัน เรื่องของฝรั่งท่านได้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นผู้บรรยาย เรื่องของแขกท่านได้คุณเลียง ไชยกาล บัดนี้ขอเชิญท่านมาลองดูรสของจีนดูบ้างว่าในชีวิตของมนุษย์ต่างๆ ในโลกนี้นั้น ก็มีอะไรๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในมุมใดของโลก
ในที่สุด ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจงได้รับความเพลิดเพลินและเป็นสุขเมื่ออ่านหนังสือนี้”
ภายหลังออกจากคุก ดร. ทองเปลว ตัดสินใจลี้ภัยไปพำนักอยูในปีนัง แต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2492 ที่ นายปรีดี พนมยงค์ กับสมัครพรรคพวกตัดสินใจเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อพยายามทวงคืนอำนาจจากคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งต่อมารับรู้กันในนาม “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ” ได้มีคนไปล่อลวงให้ ดร. ทองเปลว ลอบกลับเข้ามาในเมืองไทย ท้ายที่สุด เขาจึงถูกจับกุมควบคุมตัวพร้อมกับ อดีตรัฐมนตรีชาวอีสานอีก 3 คน คือ ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ จำลอง ดาวเรือง ต่อมาในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปสังหารอย่างโหดเหี้ยมบริเวณทุ่งบางเขน ถนนพหลโยธินระหว่างกิโลเมตรที่ 14 และ 15 แต่ตอนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีโจรคอมมิวนิสต์มลายูบุกมาชิงตัวสี่อดีตรัฐมนตรีและเกิดการยิงต่อสู้ปะทะกันขึ้น ส่งผลให้สี่อดีตรัฐมนตรีถูกลูกหลงเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งแทบจะไม่มีใครเชื่อ เพราะถ้ามีการยิงต่อสู้กันจริงๆ ทำไมจึงไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตหรือบาดเจ็บเลยแม้แต่รายเดียว
นิ่มนวล ภรรยาของทองเปลวถือเป็นคู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างยิ่ง แม้จะเป็นผู้หญิง แต่เธอเองต้องถูกภัยการเมืองเล่นงานไม่สิ้นสุด เพียงเพราะเป็นภรรยาของ ดร. ชาวยี่สาร นิ่มนวลถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2502 แต่กว่าจะได้จัดงานฌาปนกิจศพ เวลาก็ล่วงเลยมานานถึง 8 ปีกว่า นั่นคือมีพิธีจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ภายหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดร. ทองเปลว ผู้เป็นสามีถึง 4 ปี ผู้จัดงานได้นำ หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน! มาจัดพิมพ์อีกครั้งในหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพของ นิ่มนวล ซึ่ง พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เขียน “คำนำ” ให้ มีความว่า
“เจ้าภาพจัดงานศพนางนิ่มนวล ชลภูมิ ภรรยาคู่ชีวิตของ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ ได้มาแจ้งต่อข้าพเจ้าว่า มีความปรารถนาจะพิมพ์หนังสือซึ่ง ดร. ทองเปลวเขียนไว้เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของ นางนิ่มนวล หนังสือนี้ชื่อว่า “หว่อง อัน ยื้อ” กล่าวเป็นทำนองชีวประวัติของรัฐบุรุษจีน ในสมัยพันกว่าปีมาแล้ว อันเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วยอุดมคติอันแรงกล้าที่จะปฏิรูปการเศรษฐกิจและการคลังของประเทศในสมัยนั้น โดยให้รัฐตั้งองค์การ ทำการค้าและขายปลีกเสียเอง นำเงินของรัฐออกให้ชาวนากู้ยืมเพื่อป้องกันมิให้ชาวนาถูกขูดรีดเรียกดอกเบี้ยแพงๆ จากพวกธนบดีทั้งหลาย
แต่ผลที่สุดโครงการต่างๆ เหล่านั้นเมื่อปฏิบัติไปกลับเป็นผลร้ายต่อประชาชน นำความเดือดร้อนทุกข์ยากมาสู่ประชาชน เนื่องจากผู้บริหารงานไม่เอาใจใส่ในโครงการหรือไม่เข้าใจซาบซึ้งในโครงการ ประกอบด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฉวยโอกาสจากการดำเนินงานนั้นหาประโยชน์ใส่ตน จึงทำให้โครงการที่วางไว้ด้วยเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง ต้องประสบความล้มเหลวไปในที่สุด”
หนังสือเล่มนี้ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ ได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2491 เมื่อเจ้าภาพจัดงานศพของภรรยา ดร. ทองเปลวปรารถนาจะพิมพ์ขึ้นอีกเพื่อแจกในงานศพดังกล่าว ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นการดี เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นด้วยน้ำมือของสามีผู้วายชนม์และสารประโยชน์ของหนังสือก็ย่อมจะเป็นคติเตือนใจแก่ผู้วางโครงการต่างๆ ไว้บ้างตามสมควร กล่าวคือแม้ผู้วางโครงการจะมีเจตนาดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือทรยศต่อชาติบ้านเมืองก็ตาม แต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบและตระหนักแน่เสียก่อนว่า ได้มีเครื่องมือที่พร้อมมูลแล้วหรือไม่ ผู้ร่วมงานและผู้ที่ปฏิบัติตามโครงการมีสมรรถภาพเพียบพร้อม ที่จะสนองให้งานลุล่วงไปได้ดังเจตนาหรือหาไม่ ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่จะดำเนินงานมีความหนักแน่นอย่างใด เพียงใด ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะต้องนำมาพิจารณาประกอบโครงการอย่างที่จะขาดเสียมิได้...”
ยุทธนา ชลภูมิ หรือ อู๊ด น้องชายของ ดร.ทองเปลว ซึ่งเคยเป็นบรรณาธิการผู้ช่วยในการจัดทำนิตยสารการเมืองชื่อ รัฐบุรุษ หรือ THE STATESMAN WEEKLY อันมี เทพวิฑูร นุชเกษม รั้งตำแหน่งบรรณาธิการ เจ้าของ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคือ เทพวิฑูร นุชเกษม ได้บอกเล่าถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างตนกับ ดร.ทองเปลว และ นิ่มนวล ผ่านหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพของพี่สะใภ้ ความว่า
“ข้าพเจ้าจำได้ว่าพี่เปลวไปรับข้าพเจ้ามาจากบ้านอ่างทอง อายุข้าพเจ้าเรา ๕ ขวบเท่านั้น มาอยู่ด้วยกัน ๓ คน เมื่อพี่ทั้งสองแต่งงานกันใหม่ๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนสมรส บ้านของเราอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พี่เปลวได้รับทุนไปเรียนต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าจึงอยู่กรุงเทพฯกับพี่นิ่มเพียงสองคน เราย้ายบ้านมาอยู่ที่บ้านหลังโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า เมื่อพี่เปลวกลับมาจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เราจึงย้ายมาอยู่ที่ตรอกช่างนาค ธนบุรี ที่บ้านนี้เป็นบ้านสุดท้ายของพี่เปลวและพี่นิ่ม
ถึงข้าพเจ้าจะเป็นเพียงน้อง แต่พี่ทั้งสองไม่มีลูกจึงเลี้ยงและรักข้าพเจ้าอย่างลูก พี่นิ่มเป็นภรรยาที่รักสามี อดทนต่อเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตตลอดมา ทำหน้าที่ภรรยาที่ดี ไม่เคยทอดทิ้งสามี ตราบจนวาระสุดท้ายของพี่เปลว
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ พี่นิ่มต้องถูกจับข้อหากบฏกับเขาด้วย ต้องไปนอนรับเคราะห์อยู่ในลหุโทษเสีย ๘๔ วัน แล้วก็เป็นระยะเวลาเดียวกับพี่เปลวถูกจับ ถูกยิงตาย พี่ทั้งสองจึงพรากจากกัน พี่นิ่มและข้าพเจ้าจึงเหลือกันอยู่สองคนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพี่นิ่มถูกปล่อยตัวกลับมาอยู่เป็นขวัญของบ้านไม่นาน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พี่นิ่มก็ถูกจับข้อหากบฏอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้พี่นิ่มถูกขังอยู่ที่สันติบาล ๙๑ วัน จึงถูกปล่อยตัวพ้นข้อหาไป
พี่นิ่มเป็นผู้หญิง เมื่อถูกกระทบกระเทือนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เริ่มเจ็บกระเสาะกระแสะ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พี่นิ่มก็ล้มเจ็บลงเพราะเส้นโลหิตฝอยแตก และถึงแก่กรรม เมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๐๒
เมื่อครั้งพี่นิ่มยังมีชีวิตอยู่ ได้ยังประโยชน์ให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง มิตรสหายทั่วหน้า โดยปรกติเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี ไม่เคยทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะได้รับความเมตตากรุณาปรานีเสมอจึงเป็นที่รักใคร่ของผู้ที่รู้จักโดยทั่วกัน โดยเฉพาะกับข้าพเจ้า แม้จะมิได้สืบสายโลหิต ก็ถือเอาพี่นิ่มเป็นแม่ที่ประเสริฐตลอดมา
ในที่สุด ข้าพเจ้าขอตั้งจิตปรารถนาให้กุศลแห่งคุณงามความดีที่พี่นิ่มได้สร้างสมไว้ ช่วยส่งวิญญาณพี่นิ่มได้เสวยสุขในสัมปรายภพเบื้องหน้าโน้นทุกประการ”
ความตายของสี่อดีตรัฐมนตรีคือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ถือเป็นอาชญากรรมที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต่อมาเมื่อดำเนินการสืบสวนคดีจึงพบว่าผู้ที่สังหารสี่อดีตรัฐมนตรีล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหัวหน้าชุดสังหารคือ พลตำรวจโท หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเป็นที่ทราบว่าได้รับคำบัญชามาจาก พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ส่วนตำรวจนายอื่นๆ ที่ร่วมกันก่อเหตุได้แก่ ผาด ตุงคะสมิต และ ทม จิตรวิมล อดีตนายทหารม้าที่ย้ายมารับราชการตำรวจประจำกองตำรวจสันติบาล จำรัส ยิ้มละมัย รวมทั้ง ธนู พุกใจดี และ แนบ นิ่มรัตน์ แห่งกองตำรวจนครบาลใต้ อีกทั้งกว่าจะมีการพิจารณาคดีและพิพากษาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนก็ในปี พ.ศ. 2504 หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอกเผ่า หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ท้ายสุดศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ ผาด ตุงคะสมิต, ทม จิตรวิมล และ แนบ นิ่มรัตน์ ส่วน จำรัส ยิ้มละมัย และ ธนู พุกใจดี ศาลให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ดี ยังมีคำกล่าวของ พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ ที่ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดล้วนแต่เป็นแพะรับบาป ไม่ใช่ผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุสังหารสี่อดีตรัฐมนตรีตัวจริง
ดร. ทองเปลว สูญสิ้นชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 แต่กว่าจะได้ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพก็ล่วงเลยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 แล้ว ถือเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 14 ปี โดยในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มีบุคคลสำคัญทางการเมืองไทยเขียนคำไว้อาลัยให้ เฉกเช่น พระยามานวราชเสวี ที่เขียน "คำไว้อาลัย แด่ คุณทองเปลว ชลภูมิ์" ความว่า
“ข้าพเจ้ามีโอกาสรู้จักคุณทองเปลว ชลภูมิ์ เมื่อสมัครเข้าไปรับราชการในกรมอัยการ โดยมีหลวงอรรถปรีชาชนูปการเป็นผู้นำและรับรอง ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีใจเข้มแข็ง ขยันหมั่นเพียร ทำงานดี เรียนกฎหมายก็ดี มีความเฉลียวฉลาด จึงได้ส่งเสริมให้เรียนกฎหมายมากกว่าอย่างอื่น เมื่อข้าพเจ้าไปรับราชการที่สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีโอกาสรับราชการร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสอบไล่กฎหมายไทยได้ มีความปรารถนาจะไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง ข้อสอบไล่กฎหมายฝรั่งเศสได้ชั้นดอกเตอร์ สำเร็จตามความปรารถนา แล้วกลับมาทำงานที่สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันอีกหนหนึ่ง ก็ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดี ต่อมาก็ย้ายไปทำงานที่อื่น แต่คุณทองเปลว ก็ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ที่ต้องสูญเสียคุณทองเปลวไป ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอันมาก
คุณทองเปลวได้จากไปแล้ว ไม่มีผู้ใดสามารถจะเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ฉะนั้น ในโอกาสที่จะพระราชทานเพลิงศพคุณทองเปลวคราวนี้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งจิตอธิษฐานอุทิศส่วนกุศล จงเป็นผลดลบันดาลให้วิญญาณอันผ่องใสของคุณทองเปลว จงไปสู่สุคติวิสัยในสัมปรายภพนั้น เทอญฯ”
หรือ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขียน "ไว้อาลัยคุณทองเปลวผู้ล่วงลับ" ความว่า
“เจ้าภาพจัดงานศพ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ์ กำหนดขอพระราชทานเพลิงศพในวันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับ เพื่อนำลงในหนังสืออนุสรณ์งานศพนั้น ในฐานะที่คุณทองเปลวมีความสนิทสนมและเคยร่วมการงานมากับข้าพเจ้า ทั้งได้ร่วมเป็นผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มาด้วยกัน ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีจัดทำให้ตามคำร้องขอร้องดังกล่าวนั้น
คุณทองเปลวมีวุฒิทางกฎหมายสอบไล่ได้เป็นขั้นเนติบัณฑิต ต่อมาได้รับราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วได้ไปศึกษาวิชากฎหมายเพิ่มเติม ณ ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับดีกรีเป็นดอกเตอร์อังดรัว ภายหลังกลับมาประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมีความสนใจในทางการเมือง คุณทองเปลวได้ลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี และได้รับการเลือกตั้งมา ตำแหน่งครั้งสุดท้ายของคุณทองเปลวคือ รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี
ในทางวิชาความรู้ คุณทองเปลว นับว่าเป็นผู้มีวุฒิอยู่ในชั้นที่ดี ในทางการงานก็เป็นผู้ที่มีความฉลาดไหวพริบเฉียบแหลม มีความมานะเข้มแข็ง และฝ่าฟันอุปสรรคในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ อุปนิสสัยใจคอก็เป็นผู้หนักแน่นมั่นคง มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อเพื่อนฝูง แม้ว่าจะมีลักษณะเชื่อในความเห็นของตนอย่างจริงจัง แต่ก็ประกอบด้วยเหตุผลและความจริงเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมทั้งในทางส่วนตัวและการงานเป็นอันดี
คุณทองเปลวยังมีอายุอยู่ในขั้นมัชฌิมวัย สามารถที่จะประกอบกิจการงานให้กับประเทศชาติอีกต่อไป แต่ความตายย่อมไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือวุฒิความดีแต่ประการใด ดังพระพุทโธวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวในไตรย์ลักษณ์ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ของเที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ทุกสิ่งที่มีขึ้นเป็นขึ้น ก็ต้องเสื่อมต้องสลาย ต้องแตกดับไปในที่สุด
ในทางคติโลก เมื่อผู้ที่ชอบพอรักใคร่ต้องมีอันเป็นแตกดับไป ความเศร้าโศกอาลัยก็ย่อมบังเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่แล้วก็ต้องใช้คติธรรมระงับยับยั้ง โดยยึดหลักความจริงตามที่เป็นจริงว่า อันความตายนั้นไม่มีผู้ใดที่จะหลีกพ้นไปเสียได้ ทุกรูปทุกนามที่เกิดมาก็จำต้องเดินทางไปสู่ความมรณะด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าร่างกายของคุณทองเปลว ชลภูมิ์จะแตกดับสูญสิ้นไปแล้ว แต่ผู้ที่ชอบพอนับถือก็ยังจะรำลึกถึงคุณธรรมอยู่เสมอ ขอกุศลบุญศรีที่ผู้ล่วงลับได้บำเพ็ญไว้แต่หนหลัง และที่บรรดาญาติมิตรได้บำเพ็ญอุทิศให้ จงเป็นผลดลบันดาลให้วิญญาณของคุณทองเปลวไปสู่ที่สุขที่สงบในสัมปรายภพนั้น เทอญ.”
ดร. ทองเปลว ชลภูมิ ถือเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้อำลาโลกไปถึง 75 ปีแล้ว เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองไทยด้านต่างๆ มิใช่น้อย แม้วาระสุดท้ายของชีวิตจะจบลงด้วยการถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด อันเป็นผลมาจากการกวาดล้างทางการเมืองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่เรื่องราวของเขาก็ควรอย่างยิ่งที่คนรุ่นหลังจะศึกษาค้นคว้าให้กระจ่างชัดเจนมากไปกว่าการรู้จักเพียงแค่ชื่อเสียงเรียงนาม
เอกสารอ้างอิง
- ก.ศ.ร. กุหลาบ. นิราศยี่สาร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2543.
- ทองเปลว ชลภูมิ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ครอบครัว). พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2478.
- ทองเปลว ชลภูมิ. ทริสดีเงินตรา. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2486.
- ทองเปลว ชลภูมิ. รวมความเรียงเรื่องเศรษฐศาสตร์. พระนคร: สำนักงานนายเมตตา, 2484.
- ทองเปลว ชลภูมิ. หลักเสถสาตร เล่ม 1 ประดิถกัม. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์, 2487.
- ทองเปลว ชลภูมิ. หลักเสถสาตร เล่ม 2 ปริวัตกัม. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์, 2487.
- ทองเปลว ชลภูมิ. หลักเสถสาตร เล่ม 3 วิภาคกัม. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์, 2487.
- ทองเปลว ชลภูมิ. หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน!. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2492
- ทองเปลว ชลภูมิ. หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน!. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางนิ่มนวล ชลภูมิ ณ เมรุวัดมงกุฎกษัตริยาราม วนอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510. พระนคร: โรงพิมพ์บรรณาคม, 2510.
- ปัญญานันทะ ภิกขุ. สิ่งเตือนใจ. เนติบัณฑิต รุ่น 2476 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2506. พระนคร: โรงพิมพ์กรมสรรพามิต, 2506.
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517.
- พุฒ บูรณสมภพ, พ.ต.อ.. 13 ปีกับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2524.
- สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือด ยุคอัศวินผยอง : คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544.
- หัด ดาวเรือง. เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี (ชีวิตและงานของสี่อดีตรัฐมนตรี). พระนคร: โรงพิมพ์อักษรสาส์น, 2508.
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ทองเปลว ชลภูมิ
- จำลอง ดาวเรือง
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ถวิล อุดล
- ผู้ถูกสังหารโหด
- นิราศยี่สาร
- คณะราษฎรสายพลเรือน
- พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- ผู้แทนคนยาก
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- พระยามานวราชเสวี
- โชติ คุ้มพันธ์
- พระราชบัญญัติพรรคการเมือง
- องค์การสรรพาหาร