ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

3
มีนาคม
2567

Focus

  • คนไทยเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้นในเจ็ดปีที่ล่วงมา (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475) โดยการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรของโรงเรียนสามัญ อุดมศึกษา และมัธยมวิสามัญเพื่ออาชีพต่างๆ รวมทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิทยาศาสตร์จึงเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของแต่ละคน
  • คนไทยควรเข้าใจใหม่ว่า คำว่า “วิทยาศาสตร์” มิได้หมายถึงเรื่องการทำของปลอมหรือของเทียม แต่คือความจริงที่ถูกรวบรวมเข้ามาไว้เป็นระเบียบของธรรมชาติ โดยได้มาด้วยการสังเกต และการทดลอง เป็นต้น
  • ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป และสามารถนำไปใช้ในหลายด้าน อาทิ การทำครัว เพื่อให้ได้อาหารที่ตรงกับที่ร่างกายต้องการ แม่บ้านจึงควรจ่ายตลาด จัดทำ หรือดูแลกิจการครัวด้วยตนเอง การปฐมพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่พ่อบ้านและแม่บ้านควรรู้และทำได้ รวมถึงการบริบาลทารกให้ถูกต้อง พลเมืองที่เข้าใจวิทยาศาสตร์จึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และบ้านเมือง

 

สมัยนี้เรามักจะได้ยินคำว่า “วิทยาศาสตร์” หนาหูขึ้นกว่าแต่ก่อน ในสมัยก่อนเมื่อมีใครมาพูดถึงวิทยาศาสตร์ให้เราฟัง เรามักจะทำหูทวนลมเสีย เพราะเรามีความเชื่ออย่างหนักแน่นอยู่ว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับคนไทยที่จะเรียนหรือรับรู้เห็น และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเรา

ครั้นมาเมื่อสมัยเจ็ดปีที่ล่วงมานี้ เด็กหนุ่มๆ ของเราเริ่มมองเห็นคุณค่าของการที่จะนำวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น จึงได้เริ่มสนใจเล่าเรียนวิทยาศาสตร์กันยิ่งกว่าแต่ก่อน บางคนก็เรียนตามหลักสูตรของโรงเรียนสามัญ ครั้นจบโรงเรียน

สามัญแล้วก็ไปเรียนชั้นอุดมศึกษาต่อไป บางคนก็หันเข้าหามัธยมวิสามัญอาชีพ อื่นๆ ซึ่งดำเนินการสอนแบบสมัยนิยม ส่วนมากที่ไม่มีทุนรอน หรือโอกาสที่จะเข้าเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ดั่งกล่าวมาแล้ว ก็ใช้วิธีเรียนเอาเองที่บ้านโดยตั้งความ

ประสงค์ที่จะกระทำให้ตนเองสามารถที่จะใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนในการอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนชอบ คนหนุ่มๆ ที่มีความคิดอันถูกต้องนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองไม่น้อย มีของหลายอย่างที่แต่ก่อนเราต้องอาศัยชาวต่างประเทศ

ทำให้แต่บัดนี้คนไทยทำพอใช้ได้ดีปานๆ กัน เช่น การชุบโลหะด้วยโครเมี่ยมและโลหะอื่นๆ การผะสมเนื้อโลหะเพื่อทำภาชนะต่างๆ การซ่อมไดนาโม เครื่องยนตร์ไฟฟ้า และทำแบ๊ดเตอร์รี่ การทำและซ่อมเครื่องวิทยุ การทำเครื่องสำอาง ตลอดจนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิทยาศาสตร์กสิกรรม

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียใจอยู่บ้างที่แม้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีบุคคลเป็นส่วนมากที่ไม่เข้าใจคำว่า “วิทยาศาสตร์” ดีพอ เมื่อบุคคลเหล่านั้นได้ยินคำว่า “วิทยาศาสตร์” ในกิจการใดๆ ก็มีความเชื่อมั่นเสียว่า กิจการนั้นๆ เกี่ยวแก่เรื่องทำของปลอมหรือทำเทียมของดีเท่านั้น คำว่า “วิทยาศาสตร์” สำหรับบุคคลเหล่านั้นไม่มีความหมายอันใดยิ่งไปกว่านี้เลย

พวกเราควรจะเข้าใจเสียใหม่ว่า คำว่า “วิทยาศาสตร์” นั้นมิได้มีความหมายฉะเพาะเกี่ยวแก่เรื่องทำของปลอม, ของเทียมดั่งกล่าวแล้ว วิทยาศาสตร์คือความจริงที่ได้ถูกรวบรวมเข้ามาไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้บุคคลรู้เท่าธรรมชาติ และนำเอามาใช้ ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ความจริงเหล่านั้นหามาได้ โดยการสังเกตตามที่ได้พบเห็นในธรรมชาติบ้าง และโดยการประกอบการทดลองบ้าง

ผู้เขียนมิได้ตั้งใจจะให้ท่านผู้อ่านทุกคน พากันละกิจการงานประจำวันของท่านมาสนใจฝักใฝ่ศึกษาวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปหมดทุกคน หากแต่ต้องการเพียงให้ท่านทั้งหลายเข้าใจหรือทราบความจริงที่ทางวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมเสาะหาไว้ให้แล้วอย่างพร้อมมูลสำหรับความเป็นอยู่ประจำวันในครอบครัวของท่านเท่านั้น

คนครัว ถ้าหากว่าจะมีการแบ่งชั้นของบุคคลในครอบครัว หนึ่งครอบครัวใดแล้ว ตามธรรมเนียมของเรามักจะถือว่าคนทำครัวเป็นคนที่ต่ำช้า แม่บ้านที่ไร้ความคิด มักจะมีความกระดากอายที่จะไปจ่ายตลาดด้วยตนเอง โดยสำคัญผิดไปว่าหน้าที่เช่นนั้นเป็นหน้าที่ของคนใช้ที่โง่ๆ ไม่ใช่กิจการของผู้ที่มีการศึกษาดีจะพึงกระทำ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดอย่างร้ายกาจ ชีวิตและอนามัยของคนทั้งบ้านอยู่ที่การเลือกซื้อและการปรุงอาหารที่ถูกต้อง อาหารที่ดีไม่ใช่อาหารที่มีราคาแพงเสมอไป แม่บ้านที่ดีย่อมรู้จักจัดอาหารให้ถูกต้องกับความต้องการของร่างกาย ไก่หรือเป็ดที่ปนโรคตายและถูกนำมาขายในท้องตลาดย่อมมีราคาถูกกว่าไก่หรือเป็ดที่จีนฆ่าขาย คนจ่ายตลาดที่เห็นแก่ได้จะรีบซื้อทันที โดยไม่เฉลียวใจถึงการที่ตนจะเป็นผู้นำเอาโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาสู่คนในบ้าน

แม่บ้านที่ดีย่อมไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ผู้เขียนยินดีที่จะได้เห็นแม่บ้านทั้งหลายเลิกมีความกระดากหรืออายชาวบ้านในการที่ตนจะไปจ่ายตลาดด้วยตนเอง เราไม่ควรลืมว่าชีวิตและอนามัยของสามี บุตร และคนในบ้านล้วนอยู่ในกำมือของคนครัวทั้งสิ้น ฉะนั้นคนครัวจึงไม่ควรถูกนับว่าเป็นคนที่เลวที่สุดในบ้าน ทางที่ถูกแม่บ้านควรเป็นแม่ครัวเสียเอง หรืออย่างน้อยก็ต้องช่วยดูแลกิจการทั้งสิ้นที่เกี่ยวแก่การครัว ไม่ควรปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่มีความรู้ทำ

การปฐมพยาบาล ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อบ้านแม่เรือนควรรู้จัก โรคภัยไข้เจ็บเล็กๆ น้อยๆ ถ้าไม่รู้จักทำการป้องกันรักษาเสียแต่ในชั้นต้น ทอดทิ้งไว้ก็จะกำเริบมากขึ้น ทำให้เป็นการลำบากทุกประการแก่รักษาพยาบาลในชั้นหลัง

การบริบาลทารกก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย มารดาควรรู้จักวิธีบริบาลทารกให้ถูกต้อง และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้นจะช่วยให้มารดาสามารถเข้าใจเหตุผลในการบริบาลทารกตามแบบสมัยนิยมดียิ่งขึ้น เช่นเมื่อให้ทารกกินน้ำนมควรให้ทารกมีเวลาพักแล้วตั้งตัวให้ตรงขึ้นจนทารกเรอแล้วจึงค่อยให้กินใหม่ต่อไป ในการทำดั่งนี้ เด็กจะไม่แหวะหรือที่เรียกว่าอาเจียรออกมา อันเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่สมัยเก่าตกอกตกใจ คิดว่าทารกท้องเสียไม่สบายจึงแหวะออกมา การที่เด็กเรอออกมานั้นก็เพราะอากาศที่เข้าไปในลำคอของทารกในขณะที่ทารกดูดนมนั้นได้มีโอกาสลอยตัวขึ้นมาได้เมื่อทารกถูกจับให้นั่งตัวตรง ถ้าไม่ให้โอกาสให้ทารกเรอได้ ก็ย่อมทำให้ทารกอาเจียรเอาน้ำนมออกมาด้วยเป็นธรรมดา

ความรู้เบื้องต้นทางวิทยาศาสตร์ นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจหลักการดำเนินชีวิตประจำวันอันถูกต้องแล้ว ยังช่วยให้เรามีความสนใจและเพลิดเพลินในธรรมชาติ เช่น การทำสวนไม้ดอก ไม้ผล หรือสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงนก และเลี้ยงปลา เป็นต้นอีกด้วย

ร่างกายของคนเราเปรียบเหมือนโรงงานโรงใหญ่ เราทุกคนควรรู้จักหน้าที่ต่างๆ ของอวัยวะของเราเอง เพื่อปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักอนามัย ยารักษาโรคที่เรารับประทานนั้น อย่างน้อยที่สุดเราควรรู้ว่าเป็นอะไร? ทำจากอะไร? อย่างใดเป็นพิษร้ายแรง?  ควรระวังในการเก็บรักษาให้พ้นมือเด็ก

ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอให้ท่านอย่านึกว่าวิทยาศาสตร์เบื้องต้นเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับท่านที่จะสนใจรู้เห็น บุคคลที่รู้เท่าธรรมชาติย่อมวางตนให้เหมาะสมแก่สังคมโดยสะดวกสบายฉันใด พลเมืองที่มีความรู้เท่าทันในปรากฏการณ์ของวิทยาศาสตร์ก็ย่อมวางตนให้เหมาะสมที่จะเป็นกำลังและประโยชน์แก่ประเทศบ้านเมืองฉันนั้น

 

ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม, “วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน,” ใน ที่ระลึกงานรัฐพิธีพระราชทางเพลิงศพ พณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม. (กรุงเทพฯ : การพิมพ์ไทย, 2484), น. 106 - 110.

หมายเหตุ : คงการใช้อักขระตามต้นฉบับเดิม