ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

A Romantic Operetta "The Land of Smiles" ความรัก ความหมาย ข้ามสายธารวัฒนธรรม

5
มีนาคม
2567

Focus

  • ละครไทยแบบใหม่จากอิทธิพลของตะวันตกที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คือ ละครร้อง ซึ่งปัจจุบันนิยมกันในรูป ‘ละครเพลง’ (Musical) รวมทั้งละครร้องสลับพูดแบบ OPERETTA (Lite Opera) ที่ผ่อนคลายโดยลดความเข้มข้นลงมาจาก OPERA หรือ อุปรากร
  • เมื่อวันที่ 22-25 ก.พ. 2567 สาขาขับร้องคลาสสิค วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล ได้จัดแสดง Operetta เรื่อง “The Land of Smiles” (Das Land des Lächelns) อันเป็นเรื่องความรักโรแมนติกข้ามวัฒนธรรมตะวันตก–ตะวันออก ระหว่างลูกสาวขุนนางเวียนนาระดับพระยากับเจ้าชายจีนนักการทูต สร้างสรรค์งานโดย แนนซี่ (ซุย ผิง เหว่ย) (หัวหน้าโปรเจคและฝึกสอนขับร้อง) นพีสี เรเยส (คือกำกับการแสดง) และดร.ภมรพรรณ โกมลภมร (อำนวยเพลง)
  • ความสำเร็จของละครเรื่องนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาอันโรแมนติกของความรักและการปรับตัวอยู่ร่วมกันอย่างขมขื่นของคู่รักต่างวัฒนธรรมในประเทศจีน เพลงร้องและดนตรีอันไพเราะหลายเพลง การใช้ฝ่ายฉากและเทคนิคการสร้าง น้ำเสียงที่ทรงพลังของผู้แสดง รวมทั้งโปสเตอร์ใบปิดที่อาศัย AI (ปัญญาประดิษฐ์) ช่วยออกแบบ เป็นต้น และยังเป็นที่ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล มีความสามารถในระดับสากลทัดเทียมนานาอารยประเทศ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

คนไทยในปัจจุบันรู้จักคุ้นเคยกับ ‘ละครเพลง’ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘Musical’ เป็นอย่างดี และเรามีการแสดงประเภท “ละครร้อง” ที่ใช้การร้องดำเนินเรื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประวัติศาสตร์นาฏศิลป์และคีตศิลป์บันทึกไว้ว่า การแสดงประเภทนี้เป็นละครแบบใหม่ ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก รุ่งเรืองเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 ในขณะที่ตะวันตกมี OPERA หรือ อุปรากร เป็นศิลปะการแสดงที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอิตาลีช่วงปลายศตวรรษที่ 16 รูปแบบใกล้เคียงกับละครเพลง แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันชัดเจนในวิธีการขับร้องเพลง และเนื้อหา (บทละครเพลง - Musical Book) จากโอเปราที่เข้มขลังพลังล้นพัฒนามาเป็น OPERETTA (Lite Opera) ที่ผ่อนคลายมากขึ้น มีส่วนต่างตั้งแต่เนื้อหา (บท) , การแสดงที่พูดปนร้อง และการเต้นรำ ผสานเข้ามาช่วยให้รื่นรมย์มากขึ้น OPERETTA  มีพัฒนาการในปารีสในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว จากความชื่นชมเกิดเป็นการผสมข้ามวัฒนธรรมข้ามทวีปไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยแม้ในปัจจุบันยังรู้จักกันเฉพาะกลุ่มก็ตาม

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

ละครร้องของไทย

ละครร้อง ใช้การร้องในการดำเนินเรื่องราว มี 2 ประเภท คือ

1. ละครร้องล้วนๆ หรือ ละครร้องแบบรัชกาลที่ 6  ผู้ให้กำเนิดละครประเภทนี้คือ รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นละครที่ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง  ไม่มีคำพูดแทรก เล่าเรื่องเป็นเพลงแทนการเจรจา ใช้ท่าทางแบบสามัญชน อาจมีการรำแทรกบ้าง ดนตรีและเพลงร้อง ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ใช้ลูกคู่ร้องประกอบการแสดง มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง เรื่องที่แสดง ได้แก่ สาวิตรี เป็นละครร้องล้วนๆ เรื่องเดียวที่ไม่มีบทพูดเเทรกอยู่เลย

2. ละครร้องสลับพูด หรือละครร้องแบบกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิประพันธ์พงศ์) ทรงดัดแปลงนำเค้ามาจากการแสดงของชาวมลายูที่เรียกว่า“บังสาวัน”หรือ“มาเลย์โอเปร่า” ละครร้องสลับพูดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับละครร้องล้วนๆ แต่ได้รับความนิยมมากกว่า ใช้การขับร้องดำเนินเรื่อง มีพูดสลับเจรจาสอดแทรกเพื่อทบทวนบทที่ผู้แสดงร้องมาแล้ว ถ้าตัดบทพูดออกก็ไม่เสียความใดๆ ใช้กิริยาท่าทางอย่างสามัญชนตามธรรมชาติ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเรียกว่า “ละครกำแบ” ดนตรีและเพลงร้อง ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องเกริ่นเรื่องและดำเนินเรื่อง ถ้าบทนั้นเป็นคำพูดของตัวละคร ผู้แสดงตัวนั้นจะต้องร้องเอง แต่ร้องเฉพาะที่เป็นถ้อยคำเท่านั้น ส่วนการเอื้อนลูกคู่จะเป็นผู้ร้องแทรกให้

 

โอเปร่า (Opera) & โอเปเรตตา (Operetta)

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

โอเปร่า (Opera)

โอเปร่า หรือ อุปรากร เป็นศิลปะการแสดงที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศอิตาลีในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โดยคีตกวีชื่อ Jacopo Peri กับ Giulio Caccini และ กวีชื่อ Ottovio Rinuccini ร่วมกันสร้างการแสดงรูปแบบใหม่เรียกว่า “Dramma per musica” ซึ่งประกอบด้วยเพลงร้องในลักษณะ Recitative และ Aria นอกนั้นก็มีบทเพลง Duet, Trio และการขับร้องประสานเสียง ต่อมา Claudio Monteverdi พัฒนาการแสดงประเภทนี้โดยทำให้บทร้องประเภท Solo Aria กลายเป็นส่วนสำคัญในโอเปร่า

โอเปร่ายุคแรกๆ มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้ายุคโบราณ แต่หลังจากนั้นที่ประเทศอังกฤษ John Gay (1685 - 1732) กับนักประพันธ์เพลง Christoph Pepusch ได้นำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างออกไป

โอเปร่าของเขาเรื่อง “The Beggar’s Opera” (1728) มีตัวละครที่เป็นอาชญากร โสเภณี และขอทาน เนื้อหามีการเสียดสีล้อเลียนการเมือง เป็นการแสดงที่เรียกว่า Pasticcio คือแทนที่จะใช้การขับร้องแบบ Belcanto หรือเพลงร้องแบบ Coloratura Aria ตามแบบที่โอเปร่าสมัยก่อนนิยม ก็จะคัดเลือกเอาบทเพลงดังๆ ที่เป็นที่นิยมในร้านเหล้า หรือเพลงพื้นเมือง หรือใช้เพลงจากนักแต่งเพลงร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง เช่น George Frideric Handel (1685 - 1759) หรือ Henry Purcell (1659 - 1695) นำมาใส่เนื้อร้องแทน เพื่อให้คนดูชื่นชอบ แล้วยังเปลี่ยนเพลงร้องในส่วนที่เป็น Recitative ซึ่งร้องยากฟังยากเป็นการพูดแทน และมีการสอดแทรกการเต้นรำอีกด้วย

หมายเหตุ มีนักแต่งเพลงยุคหลังๆ นำ The Beggar’s Opera มาดัดแปลงจัดการแสดงมากมาย แต่ฉบับที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ฉบับที่ใช้ชื่อว่า “The Threepenny’s Opera” ของนักเขียนละครและผู้กำกับการแสดง Bertolt Brecht กับนักประพันธ์เพลง Kurt Weill ในยุโรป

ในช่วงศตวรรษที่ 18 การแสดงโอเปร่าที่มีเนื้อเรื่องตลกขบขันได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ฝรั่งเศสเรียกว่า โอเปรา โคมีค (Opera Comique) อิตาเลียนเรียกว่า โอเปร่า บุฟฟ่า (Opera Buffa) ชาวเยอรมันเรียกว่า ซิงชปีล (Singspiel) ตัวอย่างคีตกวีผู้ประพันธ์การแสดงประเภทนี้ได้แก่ Wolfgang Amadeus Mozart (1756 - 1791), Gioachino Rossini (1792 - 1868) และGaetano Donizetti (1797 - 1848) เป็นต้น

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

โอเปเรตตา (Operetta)

โอเปเรตตา คือการแสดงที่มีลักษณะคล้ายกับโอเปร่า แต่มักมีลักษณะ “เบา” กว่า (Light Opera) คือมีเนื้อหาที่เบากว่า อาจเป็นเรื่องตลกขบขัน หรือเสียดสี หรืออาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ๋มกระจิ๋มคล้ายๆ กับ Comic Opera บางทีก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกินแดนที่ห่างไกล Exotic และเป็น Fantasy มักมีการเต้นรำสลับ ในส่วนของนักแสดงจะต้องฝึกเสียงร้องเหมือนนักร้องโอเปร่า ดนตรีมีความซับซ้อนเหมือนโอเปร่า มีเพลงร้องและดนตรีประกอบที่มีทำนองไพเราะเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ โอเปเรตตามีบทพูดแทรกไปกับเพลงร้องแบบ Aria หรือ Chorus โอเปเรตตาเป็นรูปแบบการแสดงที่ปูทางไปสู่ Musical Comedy ในเวลาต่อมา

โอเปเรตตามีพัฒนาการในปารีสในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว โอเปเรตตากลายมาเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับผู้ประพันธ์เพลงในการสร้างงานเสียดสีที่สนุกสนาน ผลงานโอเปเรตตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาเลียน และเยอรมัน

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

Operetta “The Land of Smiles” (Das Land des Lächelns)

สาขาขับร้องคลาสสิค วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Classical Voice Department, MSMU) ได้นำหนึ่งใน Operetta ที่ได้รับความนิยมสูงเรื่อง “The Land of Smiles” (Das Land des Lächelns) โดยนักแต่งเพลงระดับโลกชาวออสเตรีย-ฮังการี ฟรันซ์ เลอาร์ (Franz Lehár) อันเป็นที่รักที่สุดของผู้ชมทั่วโลกมาจัดแสดงอีกครั้ง หลังจากจัดครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน (28 - 30 พฤศจิกายน 2556) เป็นผลงานรวมรุ่นของนักศึกษาและอาจารย์ ร่วมสร้างสรรค์ความฝันที่ทุกคนมีร่วมกันในด้านดนตรี  “The Land of Smiles” เป็นเรื่องราวความรักโรแมนติกข้ามวัฒนธรรมตะวันตก - ตะวันออก ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ 1929 สู่เรื่องราวย้อนยุคไปในปี 1912 (ตรงกับปี พ.ศ 2455 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ลิซ่า เคาน์เตสชาวเวียนนาตัดสินใจอย่างหาญกล้าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาของความรัก เพราะ ซูชง คนรักที่เป็นชายชาวจีนของเธอได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เธอเดินทางไปอยู่กับเขาที่ถิ่นไกลแดนเกิด ณ กรุงปักกิ่ง โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากครอบครัวและเพื่อน แล้วโชคชะตาก็นำพาให้เธอพบกับความต่างทางวัฒนธรรมที่นำโจทย์มาให้ต้องตัดสินใจเลือกใหม่อีกครั้ง ระหว่างความรักกับเกียรติยศ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

Operetta เรื่องนี้มีบทเพลงไพเราะมากมาย เพลงที่รู้จักกันดีที่สุดคือเพลง “Dein ist mein ganzes Herz” (เธอคือทั้งหมดของหัวใจฉัน) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก เพลงนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Tauberlied” เพราะ Lehár นักแต่งเพลงเรียบเรียงให้เพื่อนสนิทของเขาชื่อ Richard Tauber นักร้องเสียง Tenor ในเรื่องเจ้าชายซูชงจะเป็นคนขับร้องบทเพลงนี้ ที่มีความซาบซึ้งบาดใจในเนื้อหา… “ยิ้มเสมอ ร่าเริงและพอใจเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงยิ้มทั้งๆ ที่เศร้าโศกและเจ็บปวดนับพันครั้ง” (Always smiles and always cheerful and content, no matter what happens, smile in spite of your sorrows and a thousand aches and pains.) เป็นโอกาสดีที่ชาวไทยได้ชมการแสดงประเภท Operetta ที่หาชมยากและนำเสนออย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 22 -25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคารภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

Production Note

หัวหน้าโปรเจคและฝึกสอนขับร้อง : แนนซี่ (ซุย ผิง เหว่ย)
กำกับการแสดง : นพีสี เรเยส
อำนวยเพลง : ดร.ภมรพรรณ โกมลภมร
ผู้ช่วยอำนวยเพลง : ณัฐวัฒน์ เลื่อนตามผล
ออกแบบท่าเต้น : ดร.ธนพัฒน์​   พัฒนกุลไพศาล
ออกแบบฉาก : ดร.ภัคคพร พิมสาร และ อ.วีรชัย วรรัตน์ชัยกุล
เสื้อผ้า หน้า ผม :  ดร.ภัคคพร พิมสาร และนักศึกษาจาก ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
ออกแบบแสง : ทวิทธิ์ เกษประไพ
ออกแบบโปสเตอร์ : ศักดิ์ชัย พนาวรรต

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

“THE LAND OF SMILES” ดินแดนแห่งรอยยิ้ม

องก์ 1

ในค่ำคืนพิเศษบรรยากาศตื่นตาตื่นใจในคฤหาสน์ของ ท่านเคานต์ ลิชเช่นเฟล ณ กรุงเวียนนา ปี ค.ศ. 1912 ขณะที่กำลังมีงานปาร์ตี้เพื่อฉลองความสำเร็จของลูกสาว ลิซ่า ที่ได้รับชัยชนะในงานแสดงการขี่ม้าแมตช์ยิ่งใหญ่ ทันทีที่ลิซ่าปรากฏตัว แขกในงานต่างร่วมแสดงความยินดี และอวยพรให้เธอมีสุขภาพแข็งแรง ลิซ่ากล่าวขอบคุณพร้อมเชิญทุกคนเต้นระบำวอลซ์ ในบรรดาแขกเหรื่อเหล่านั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งที่หลงรักลิซ่าอยู่ เขาคือทหารม้า กุสเทิล วอน พอทเท่นสไตน์ เขาหลงรักลิซ่ามานานแล้ว แต่ไม่กล้าจะเปิดเผยความในใจ เขาตั้งมั่นไว้ว่าต้องสารภาพรักกับเธอให้ได้ เพราะเขาเก็บเงินได้ถึง 20,000 โครน แล้ว (เป็นจำนวนเงินที่ทางการกำหนดให้เจ้าพนักงานรวบรวมให้ได้ก่อนที่จะเข้าพิธีสมรส) แต่กุสเทิลโชคไม่ดี เพราะลิซ่าหลงรักชายชาวจีนที่ดำรงตำแหน่งนักการทูตแห่งกรุงเวียนนา ลิซ่าขอร้องให้กุสเทิลคบกับเธอในฐานะเพื่อน เพราะเธอมีความรู้สึกที่ดีต่อเขาอย่างจริงใจ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, ฺBy Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

ในวาระสำคัญนั้นซูชงส่งของขวัญชิ้นเล็กๆ แต่ล้ำค่ามาให้ลิซ่า ลิซ่าขอบคุณซูชงสำหรับของขวัญที่ทำให้เธอรู้สึกหลงใหลในเสน่ห์แบบคนตะวันออกที่น่าค้นหาของ ซูชง แต่พยายามเก็บความรู้สึกไว้ภายในอย่างมิดชิด ลิซ่าได้เชิญเขามาร่วมดื่มน้ำชาด้วยในเย็นวันนั้น และหลังจากนั้นก็ได้เข้าพบลิซ่าเป็นการส่วนตัวตามลำพัง ทั้งสองต่างสารภาพความในใจที่มีต่อกัน

ซูชงได้รับสารจากทางการจีนส่งมาว่าเขาต้องกลับไปรับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิที่บ้านเกิดเมืองนอน ลิซ่ารู้ตัวว่าหลงรักเขาจนไม่อาจแยกจากกันได้ เธอจึงตัดสินใจติดตามเจ้าชายไปเมืองจีนโดยไม่ฟังคำทัดทานจากท่านเคานต์ ลิชเช่นเฟล ผู้เป็นบิดา

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

องก์ 2

เมื่อลิซ่าเดินทางมาอยู่ปักกิ่งกับซูชงแรกทั้งคู่มีความสุขมาก จนเมื่อซูชงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ รับมอบเสื้อคลุมสีเหลืองล้ำค่าสูงส่งสัญลักษณ์กษัตริย์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับกฎเกณฑ์ที่ทำให้เธอเป็นทุกข์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเจ้าคุณลุงผู้อาวุโสแห่งวงศ์ตระกูลชื่อ ชาง ซึ่งเป็นคนเคร่งครัดประเพณี และหัวโบราณ ไม่ยินดีต้อนรับสะใภ้ชาวต่างชาติเช่นเธอ มิหนำซ้ำยังบังคับให้เจ้าชายซูชงอภิเษกสมรสกับมเหสีถึง 4 องค์ นำมาซึ่งความแตกร้าวของคู่รักต่างวัฒนธรรม

เจ้าชายซูชงมีน้องสาวชื่อเจ้าหญิงมี่ เป็นคนหัวสมัยใหม่แบบยุโรปเธอหลงรัก กุสเทิล ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตทหารประจำกรุงปักกิ่ง เขาพยายามติดตามสอดส่องดูแลความเป็นไปด้วยรักและห่วงใยลิซ่า โดยมีเจ้าหญิงมี่เป็นผู้ช่วยด้วยรักที่มีต่อทั้งลิซ่าและกุสเทิล เป็นขณะเดียวกับลิซ่าได้ทราบเรื่องที่เจ้าชายจะต้องอภิเษกกับมเหสีสี่คน เธอรู้สึกรับไม่ได้ แม้เจ้าชายซูชงพยายามอธิบายว่าเป็นเพียงประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ และยืนยันว่าเจ้าชายรักลิซ่าแต่เพียงผู้เดียวไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หลังขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเจ้าชายซูชงเรื่องอภิเษกสมรสกับมเหสี 4 คน ทรงกริ้วในท่าทีของผู้มีอำนาจที่เกรี้ยวกราดว่า “กษัตริย์ต้องเป็นฝ่ายทอดทิ้ง แล้วฝ่ายหญิงจะถูกประหารชีวิต” เพื่อยับยั้งการจากลา แต่ทว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำลายความรัก เมื่อลิซ่าได้พบกับกุสเทิลที่ลักลอบติดสินบนขันทีเจ้าเล่ห์ข้ามเข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นใน เขาทำให้เธอรู้สึกหวนหาเวียนนาแผ่นดินแม่และครอบครัว ลิซ่าได้คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่ต้องแยกทางกันแล้วกลับไปเวียนนา ขณะกำลังหลบหนี กลับไม่พ้นสายพระเนตร พระองค์ลงโทษด้วยคำสั่งกักขังเธอไว้ในวังอย่างน่าเวทนา

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

องก์ 3

ภายในห้องที่แสนหดหู่ ลิซ่าถูกทหารคุมขังกำลังรําพันกับเหล่านางกำนัลที่คอยปลอบใจอยู่ห่างๆ เธอพยายามหาทางออก แต่ก็ไร้ซึ่งหนทาง จนกระทั่งกุสเทิลร่วมมือกับเจ้าหญิงมี่ช่วยหาทางออกให้ลิซ่า แต่ไม่สำเร็จ เมื่อทั้งสองต้องเผชิญหน้ากัน ซูชงเจ้าชายทวงถามด้วยความเยื่อใย “ทำไมถึงคิดว่าเราจะใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น” แต่ลิซ่าพยายามอ้อนวอนด้วยเหตุผลที่เธอไม่อาจทนได้ ภายใต้สถานะนางบำเรอ ท้ายที่สุดพระองค์ต้องตัดใจปล่อยลิซ่าไปในเส้นทางที่เธอปรารถนา เหลือเพียงเจ้าหญิงมี่กับจักรพรรดิที่ทำได้เพียงพยายามยิ้มทั้งน้ำตาเพื่อประโลมใจ เก็บความปวดร้าวไว้ไม่ให้ใครรับรู้เพราะความเป็นจักรพรรดิ พระองค์ตรัสคติเตือน (Theme ของเรื่อง) ว่า “ยิ้มเสมอ ร่าเริงและพอใจเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ใน ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

Operretta เหมาะเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับคนที่ไม่เคยชม Opera มาก่อน เพราะเรื่องราวจะเข้าใจง่ายในเนื้อหาที่ไม่หนัก มีการร้องโอเปราสลับกับการพูด สนทนา ด้วยกริยาภาษาปกติที่ทุกคนคุ้นชินในชีวิตประจำวัน เช่น “The Land of Smiles” รวมถึงมีบทเพลงคุ้นใจไพเราะทำนองเสนาะหู แม้ฟังไม่รู้เรื่องทั้งหมดแต่ดนตรีออร์เคสตราที่บรรเลงเต็มวง ทุกเส้นเสียงสามารถสร้างความพิศวงเพราะทำให้หลงเคลิบเคลิ้มไปกับทุกคำเมื่อทุกคนเปล่งเสียงร้อง แม้ในทำนองคึกคักก็รู้สึกหลงรักเพราะความครึกครื้นที่รู้สึกได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

สิ่งที่จะทำให้ผู้ชมที่ชม Operetta ครั้งแรกอาจจะสับสนนิดหน่อย เพราะในเรื่อง “The Land of Smiles” มีการ ‘ซ้อนบท’ ให้กับนักแสดงหนึ่งคนสามารถแสดงได้มากกว่าหนึ่งตัวละครในรอบการแสดงเดียวกัน โดยเฉพาะนักแสดงที่มีบุคลิกพิเศษโดดเด่นเป็นเป้าสายตา (Jatuphol Nuanjan - James) เมื่อแสดงเป็นพ่อลิซ่า แล้วโดดมาเป็นลุงของซูชง แม้ไม่มีรูปลักษณ์ที่เหมาะสม แต่การแสดงและเสียงร้องกลับได้รับการพิจารณาให้แสดงสองบทในรอบเดียวได้ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมใหม่ ‘ไม่เชื่อ’ ได้สนิทใจนักในสองบทบาท เพราะเขาแสดงได้เนียนเนี้ยบไปแล้วในบทแรก ที่มีบุคลิกเหมือนตัวละครในการ์ตูนฝรั่งโบราณ แต่ครึ่งหลังที่เล่นเป็นลุงชางชาวจีนพระญาติพระวงศ์ผู้อาวุโส นอกจากจะโดดเดี้ยงเพราะบุคลิกไม่ให้ แล้วบทนี้ยังเรียกร้องความมีอาวุโส และต้องโก้อย่างมีคุณวุฒิ แต่เขาแสดงได้ไม่เนียนนักเพราะขาดวัยวุฒิ และหลุดอย่างไม่ตั้งใจเพราะบุคลิกไม่ใช่ แม้ในน้ำเสียงที่ทรงพลัง ตรงข้ามกับ อ.วิลเลียม ที่ชัดและใช่ (Prof. Krit Buranavitayawut) ในบทลุงชาง

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

ฝ่ายฉากฉลาดเล่นให้เห็นเทคนิคการประกอบสร้างในแนว ทำน้อยแต่ได้มาก ด้วยฉากกั้นเพียงไม่กี่แผ่นตั้งไว้แล่นเข้าออก แต่บอกได้ทุกสถานที่ที่บทต้องการ ตั้งแต่ท้องพระโรงรโหฐาน ไปจนถึงประตูลับหลังวัง เพียงหมุนฐานสลับด้านหน้าหลัง ก็อลังการด้วยงานฝีมือจิตรกร โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประกอบมากมาย เหมือนภาพลักษณ์หรูรวยของโรงโอเปราในยุโรป เพราะสิ่งที่เป็น ‘ตัวเอก’ คือการร้องและการแสดงที่ทุกคนทำได้ดี มีน้ำเสียงที่ทรงพลังเป็นทุนหนุนหลังให้เติบโต

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

ศักดิ์ชัย พนาวรรต : Sakchai Limonado : Phanawat / ออกแบบโปสเตอร์

ก่อนที่ผู้ชมจะตัดสินใจจองที่นั่ง สิ่งหนึ่งที่เหมือนมีมนต์ขลังดึงให้หันหลังกลับไปมองหลายรอบ เหมือนมีเสียงร้องเรียกเชิญชวนอย่างไพเราะเพราะความสวย หวานละมุน ชวนครุ่นคิด คือโปสเตอร์ใบปิด ที่ประดิษฐ์จาก AI มีเอกลักษณ์สวยคลาสสิค ลงตัวเหมือนความงามของลูกครึ่งตะวันออก-ตะวันตก อยู่ในทุกชิ้นงานเป็นลายเซ็นที่เห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือ ศักดิ์ชัย พนาวรรต

การออกแบบโปสเตอร์ที่ผมทำให้โอเปอเรตตาเรื่อง “The Land of Smiles” ของ College of Music Mahidol เป็นการตีความตามเนื้อหาของละครเกี่ยวกับชีวิตคู่ของตัวละครต่างวัฒนธรรม เรื่องของหญิงออสเตรียนตามเจ้าชายจีนกลับไปใช้ชีวิตคู่ในประเทศจีน ต้องพบกับ Culture shock ที่มีผลต่อชีวิตคู่ เลยจัดให้ตัวละครหันหลังให้กัน ใบหน้าแสดงความรู้สึกขมขื่นภายใน และเนื่องจาก Conflict สำคัญของเรื่องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ทางสังคม จึงใช้ Headpiece เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่กดทับทั้งคู่ไว้ และเสนอประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตกที่เผชิญหน้ากัน

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

Headpiece เป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ความรับผิดชอบ เหมือนหัวโขน ในความหมายแบบไทย ในที่นี้เจ้าชายต้องกลับไปรับตำแหน่งฮ่องเต้ ทำให้เขาต้องทำตามประเพณีจีนที่ห้ามแต่งงานกับหญิงต่างชาติ ในขณะที่ตัวนางเอกก็มีความคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก ภาพที่ออกมา หมวกหรือเครื่องประดับศีรษะของทั้งคู่แม้จะเชื่อมกันแต่ก็พันกันยุ่งเหยิงเหมืองการขัดแย้งทางความคิด ความขัดแย้งระหว่างชายหญิง และความไม่ Compatible กันของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์เหมือนนกฟีนิกซ์ เหมือนตัวละครที่ต้องเกิดใหม่ รับบทบาทหน้าที่ใหม่ โดยต้องแลกมากับการละทิ้งอดีต ที่ใช้ภาพในจินตนาการ เพราะต้องการความเหนือจริง เนื่องจากเรื่องราวอาจพ้นสมัยไปแล้ว แต่ต้องการนำเสนอว่าความขัดแย้งทางความคิดและวัฒนธรรมเป็นสากล และยังเป็นประเด็นที่นำมาเสนอให้ขบคิดได้เสมอ

เสื้อผ้าใช้ลายจีนให้นางเอกใส่ แสดงถึงความตั้งใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมจีน แต่สุดท้ายก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอีกข้างไม่ยอมปรับตัว อย่างไรก็ดี เนื่องจาก Operetta เรื่อง “The Land of Smiles” มีชื่อเสียงด้านความไพเราะของดนตรี เราจึงนำโทนสีละมุนละไมอ่อนหวานมาใช้เสมือนเป็นน้ำผึ้งเคลือบสาระของละครไว้อีกชั้นหนึ่งครับ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

นอกเหนือไปจากดนตรีและบทร้องอันไพเราะแล้ว การออกแบบโปสเตอร์ยังใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเครื่องมือ ทำให้ใช้เวลาออกแบบ ตีความ แก้ไขได้อย่างรวดเร็วครับ ยอมรับว่าผมศึกษาศิลปะตะวันตกมามาก และรับมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งมีผลอย่างมากในการเชื่อมต่องานที่ทำจากเทคโนโลยีใหม่ ให้มีความอ่อนหวานละมุนละไมตามแบบสุนทรียศาสตร์เดิมครับ

สำหรับความเห็นที่ว่า ‘การใช้ AI ไม่ใช่งานศิลปะเพราะไม่ได้เกิดจากศิลปินที่เป็นมนุษย์’ นั้น ผมคิดในทางกลับกันขอยืนยันว่า ได้ใช้แง่มุมความเป็นศิลปะและความคิดของมนุษย์ในการออกแบบทุกขั้นตอนครับ แม้จะใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ แต่เราใช้ คำ และภาษา ซึ่งกลั่นกรองแล้วเพื่อจะโน้มนำให้เทคโนโลยีสร้างภาพที่สื่อได้ทั้งความหมายและความรู้สึก AI ก็เป็นใจ คิดเขียนคำสั่งอะไรไปก็ทำออกมาได้ตรงใจ หรือเกินกว่าคาดหวังด้วยซ้ำ คนดูที่ได้ชมโปสเตอร์นี้ต่างก็รู้สึกเช่นนี้ครับ ดีใจครับที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนดูด้วยการถ่ายทอด Theme ของละครให้ถูกใจคนที่เห็นโปสเตอร์ครับ ถือว่าทำหน้าที่โฆษณาละครได้ตามเป้าประสงค์ครับ ต่างกับช่างวาดที่วาดงานด้วยมือแต่ทำไปตามความคุ้นเคย ไม่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ก็จะได้ออกมาแค่ ‘งานช่าง’ ชิ้นหนึ่งที่ไม่มีแง่มุมทางศิลปะใดๆ เลยครับ

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

อาจารย์นพีสี เรเยส Napisi Reyes

สอนกำกับการแสดง เขียนบท ประวัติศาสตร์ละครเพลง สัมมนาละครเพลงที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เหตุผลที่เลือกเรื่องนี้กลับมาจัดแสดงซ้ำ เพราะเพลง เนื้อหา หรือว่าเพราะความนิยม เพื่อง่ายต่อการขยายกลุ่มคะ

อ.นพีสี : “Operetta เรื่อง “The Land of Smiles” เป็นผลงานประจำปีของสาขาขับร้องคลาสสิค ซึ่งตามปกติมักจะจัดแสดงโปรดักชั่นใหญ่กันปีละครั้ง ในการเลือกเรื่องอาจารย์ที่สอนขับร้องทางคลาสสิคจะเป็นคนเลือก โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเสียงนักศึกษาที่มีอยู่เป็นหลัก เช่นในปีนี้ มีนักศึกษาสาขาโอเปร่า ผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน มีเสียงโซปราโน อัลโต้ เทนเนอร์ และเบส อย่างละกี่คน ความสามารถและพื้นฐานของนักศึกษาแต่ละรุ่นเป็นอย่างไรและคำนึงถึงความยากง่ายของบทเพลงว่าจะสามารถซ้อมและสามารถเป็นไปได้ในเวลาที่กำหนด ดูแล้วสามารถแสดงเรื่องใดได้ ก็จะเลือกเรื่องนั้นมาทำโปรดักชั่น

นอกจากนั้นก็อาจจะคำนึงถึงความนิยมของผู้ชม และผู้สนับสนุนอยู่บ้างเหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายและคนในวงการดนตรีคลาสสิคให้ความสนใจมากๆ เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า ค่อนข้าง “ขายได้” ในวงการเพลงคลาสสิค ด้วยเนื้อหาโรแมนติกซาบซึ้งกินใจ บทเพลงไพเราะแถมยังเป็นหนึ่งในโอเปร่าหรือโอเปเรตตาไม่กี่เรื่องที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนตะวันออก และมีสำเนียงดนตรีแบบตะวันออก อีกประการผู้ประพันธ์ดนตรี คือ Franz Lehar ก็เป็นคีตกวีชื่อดังที่คนรู้จักกันดีจากผลงาน operetta ที่ได้รับความนิยมที่สุดตลอดกาล

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

การคัดเลือกนักแสดงและการวางตัว บางคนได้รับหลายบท ทั้งที่มีนักแสดงหลายคน เหตุผลเพราะอะไรคะ

อ.นพีสี : การแสดงเรื่อง “The Land of Smiles” เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงประจำปีของสาขาขับร้องคลาสสิค ซึ่งมักจะใช้นักศึกษาระดับปี 3 และปี 4 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา Opera Workshop เป็นนักแสดงหลัก ส่วนนักศึกษาปี 1 และปี 2 มักจะมีบทบาทที่น้อยลงมาหรือเป็นคอรัส ในส่วนของนักศึกษาปี 3 ละปี 4 ที่ลงเรียนวิชานี้ มีจำนวนเพียง 10 กว่าคน  ในจำนวนนี้มีผู้ชายเพียงแค่สามคน คนหนึ่งจึงต้องรับสองบทบาทคือ เป็นพ่อและลุงชาง ส่วนนักศึกษาชายอีกสองคนก็ต้องสลับกันเล่นเป็นพระเอกและพระรองในทุกๆ รอบ

เรื่องนี้กำหนดให้มี 5 cast  ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ๆ เนื่องจากคิดว่านักศึกษาที่เข้ามาแสดงค่อนข้างมีคุณภาพ หลายคนโดดเด่นพอที่จะรับบทนำได้ จึงอยากให้นักศึกษาได้มีกระบวนการเรียนรู้ ที่ดีที่สุดคือได้ฝึกหัดแสดง ‘บทบาทนำ’ ตลอดทั้งเรื่อง

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

การกำกับ opera ต่างจาก operetta อย่างไร ในมุมการแสดงและการร้อง

อ.นพีสี : ในการคัดเลือกนักแสดง จะกระทำโดยมีการ audition เลือกเสียงและบทบาทที่เหมาะสมกับบทนั้นๆ และยังฟัง range ของเสียงอีกด้วยว่าจะสามารถแสดงรับบทนั้นได้หรือไม่

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า operetta ต่างจาก opera หลัก ๆ ก็ตรงที่มีการพูดสลับการร้องด้วย ในขณะที่โอเปร่าทั่วไปมักร้องอย่างเดียว แล้ว operetta ก็มักมีเนื้อเรื่องเบากว่าโอเปร่า operetta ใช้เทคนิคการร้องเหมือนกับ opera คือไม่นิยมใช้เสียงสังเคราะห์จะนิยมให้นักแสดง project คือใช้เสียงของตนเองโดยไม่พึ่งพาไมโครโฟน

ดังนั้น การกำกับ Operetta จะมีการฝึกให้นักแสดงพูดโดย Project เสียงด้วย ต้องคอยเตือนนักแสดงอยู่เสมอว่า ตอนนี้เบาไปแล้วนะ อย่าลืม Project มิฉะนั้นผู้ชมจะไม่รู้เรื่อง ฯลฯ

การกำกับ Opera หรือ Operetta มีความแตกต่างจากละครเพลงตรงที่ ใน Opera สิ่งสำคัญที่สุดคือดนตรีและการร้องเพลง ในขณะที่ละครเพลงมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ ดนตรี ละคร และการเต้นรำ ค่อนข้างจะมีบทบาทใกล้เคียงกัน ในส่วนของทักษะนักแสดงโอเปร่า หลายๆ คนมีความคล่องกับการร้องเพลงแต่ยังขาดพื้นฐานเรื่องการแสดง (การเคลื่อนไหว การรำ หรือการเต้นรำ)

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

ฉะนั้นในการกำกับหรือการวาง Blocking ของตัวละครจำเป็นจะต้องให้นักแสดงอยู่ในที่ที่คนดูจะได้ยินเสียงได้อย่างชัดเจน ในบางกรณีแม้จะดูไม่เป็นธรรมธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอม เช่น

  1. บางกรณียก็ต้องให้นักแสดงหันหน้าตรงหาผู้ชม เพื่อให้ผู้ชมได้ยินเสียงนักแสดงได้อย่างชัดเจน
  2. เน้นย้ำให้นักแสดงเปิดตัว ไม่หันหลังให้คนดูในขณะที่ร้องเพลง หรือพยายามให้เคลื่อนที่หรือทำท่ายากๆ ในช่วงที่มีดนตรีบรรเลง เพื่อจะได้ยินเสียงชัดเจน ตรงนี้จะต่างจากนักแสดงละครเพลงที่มักจะหันไปทิศทางใดก็ได้เพราะมีไมค์มารับ
  3. บางทีจะต้องเพิ่มนักร้อง Opera เข้ามาในฉาก เช่น ผู้รับบทเป็นนางเอก “ลิซ่า” แม้ว่ารอบนั้นๆ จะไม่ได้แสดงเป็นลิซ่า ก็จะต้องแต่งตัวมาเป็นคอรัสอยู่ดีเพื่อเพิ่มเสียงร้องให้กระหึ่มขึ้น

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

  1. การแสดงส่วนใหญ่หรือบทสนทนามักเกิดขึ้นในบริเวณ Downstage ใกล้กับคนดู เพื่อให้คนดูได้ยินเสียงชัดเจน
  2. นักแสดงจะต้องมอง Conductor (วาทยกร) ในจุดที่จะมีการให้คิวยากๆ จนในทางการแสดงดูเหมือนว่านักแสดงไม่ได้สนใจคู่ของตน แต่ความจริงแล้วเขาจะต้องคอยเหลือบตาดู Conductor ให้จังหวะจะได้เข้าได้ตรง
  3. ในส่วนการแสดงอื่นๆ นักแสดงต้องมีการเตรียมตัวคล้ายๆ กับนักแสดงละครเพลง มีการค้นคว้าข้อมูล ทำความเข้าใจกับเรื่องราวของตัวละครที่ได้รับบท วิเคราะห์ตัวละคร หาแรงบันดาลใจ และจุดประสงค์ของตัวละครเมื่อจะเข้าและออกไปจากฉาก ฯลฯ
  4. เรื่องนี้มีฉากที่มีตัวละครจำนวนมากอยู่หลายฉาก เช่นฉากเต้นรำ ฉากพิธีราชาภิเษก ตอนแรกคิดว่าจะใช้นักแสดงนำที่ไม่ได้แสดงบทเป็นลิซ่าในรอบนั้นๆ มาแสดงให้ แต่ต่อมาก็คิดว่าหาคนอื่นมาแทนดีกว่า เพื่อนักแสดงนำจะได้มีสมาธิและฝึกบทของตนเองได้ดีที่สุด จึงได้ตาม “นักเต้น” และคอรัสต่าง ๆ มาช่วยแสดง

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

เรื่องนี้มีประเด็นปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมตะวันออก และเสรีนิยมในวัฒนธรรมตะวันตก (ช่วงเริ่มต้นของประชาธิปไตย) ต้องการสื่ออะไรคะ

อ.นพีสี : อยากจะทบทวนถึงความหมายของโอเปเรตตาก่อน โอเปเรตตาต่างจากโอเปราตรงที่มีบทพูดแทรกเข้ามาด้วย นิยมเรื่องราวที่เบาๆ โรแมนติก นิยมความ Exotic ในสายตาฝรั่ง เช่น เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในประเทศที่ห่างไกลแตกต่างจากวัฒนธรรมคนตะวันตกอะไรแบบนี้ คนดูสมัยนั้นจะคลั่งไคล้การชม Operetta พอๆ กับที่เราคลั่งละครหลังข่าวอะไรแบบนั้นเลย แล้วยิ่งมีเรื่องราวที่โรแมนติก จบแบบหวานอมขมกลืนแบบเรื่องนี้ก็ทำให้ชื่นชอบมากขึ้น

The Land of Smiles ถูกประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 อันเป็นช่วงประมาณเสร็จจากสงครามโลกครั้งที่ 1 นาซีกำลังเรืองอำนาจในเยอรมนี ก่อนจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี หรือการติดต่อระหว่างประเทศมากนัก การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างยุโรปและประเทศตะวันออกก็ทำได้ยากมาก แล้วเรื่องนี้ก็ยังย้อนยุคไปเป็นปี ค.ศ. 1912 ในนครเวียนนาและกรุงปักกิ่งก็ยิ่งย้อนหลังไปอีก สมัยนั้นกว่าจะเดินทางจากเวียนนาไปจีนคงทำได้เฉพาะการเดินทางทางเรือ ที่กินเวลาหลายเดือนหรืออาจเป็นปี ฉะนั้นการที่พ่อนางเอกพยายามจะห้ามปรามลูกว่า อย่าไปเลยมันมีความแตกต่างกันเยอะมากระหว่างยุโรปกับประเทศจีน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ลูกสาวไม่เชื่อยังตามเจ้าชายจีนไปอยู่ดี แล้วก็ได้รับรู้ประสบการณ์หวานซึ้งแต่เจ็บปวด (หากมองจากสายตาตะวันตก)

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

หากมองเรื่องนี้จากสายตาตะวันตก โดยมีตัวแทนคือ ลิซ่า นางเอกเรื่องนี้ คนดูอาจจะเกิดความรู้สึกสงสารนางเอกฝรั่ง ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต ติดตามคนรักไปอยู่เมืองจีนแล้วก็พบว่าชีวิตเปลี่ยนไป เป็นได้แค่นางสนมไม่อาจเป็นมเหสีได้ เพราะเจ้าชายซูชงที่เปลี่ยนสถานะมาเป็นจักรพรรดิจำเป็นจะต้องอภิเษกกับมเหสี 4 พระองค์ ตามกฎมณเฑียรบาล ลิซ่าตัดพ้อกับพระเอกว่าเขาหลอกลวงเธอ และ “ฉันเกลียดคุณ” ย้ำว่าถ้าอยู่ที่โลกตะวันตกผู้คนเขาจะยกย่องภรรยามากกว่านี้ สามีได้รับการยกย่องอย่างไรก็จะให้เกียรติภรรยาไปด้วย คนตะวันตกจะเชื่อในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว และการยกย่องภรรยา

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

หากมองจากสายตาคนจีนเช่นเจ้าหญิงมี่ น้องสาวของพระเอก อาจคิดว่า ถูกฝรั่งหลอก เพราะกุสเทิลที่เจ้าหญิงมี่หลงรักแต่เขาหลงรักลิซ่า นางเอก และพยายามติดตามมาช่วยนำตัวเธอกลับบ้าน แต่ระหว่างที่ดำเนินการช่วยเหลือลิซ่า กุสเทิลกำชับเจ้าหญิงมี่ว่า “ขอให้ช่วยจริงๆ อย่ามาหลอกกันนะ” แต่ระหว่างลิซ่าเผลอ เขาก็แอบมาจีบหยอกๆ กับเจ้าหญิงมี่ และบอกเธอว่า “หัวใจผมรู้สึกเจ็บปวด ทำไมเธอถึงไม่เป็นคนเวียนนานะ” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเคยบอกว่า “พระเจ้าสร้างโลกมาให้มีความเท่าเทียมกันไม่มีคนขาว คนผิวเหลือง คนดำ” แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน เขาหลงรักเจ้าหญิงมี่ และเจ้าหญิงมี่ก็รักเขาเช่นกัน

สำหรับผู้เขียนเรื่องนี้ขึ้นในปี 1929 คนจีนอาจจะดูเป็นชนชาติที่โหดร้าย เก็บความรู้สึก ไม่แสดงออกตรงๆ แบบฝรั่ง ฝรั่งคิดว่าศาสนาพุทธสอนให้ซ่อนความรู้สึกทุกข์ร้อนเจ็บปวดไว้ในใจ จักรพรรดิซูชงบอกกับน้องสาวตอนจบเรื่องว่า “พวกเขาไม่เข้าใจความรู้สึกของเราหรอก จงแบกรับความขมขื่นทุกข์ระทมอย่างเงียบสนิท ชีวิตจะดำเนินต่อไป จงยิ้มและเป็นสุข แม้จะเจ็บปวดขนาดไหน ไม่มีใครล่วงรู้ความรู้สึกภายใน” นั่นคือที่มาของชื่อโอเปเรตตา The Land of Smiles

 


Photo : The Land of Smiles 2024, by Classical Voice Department, MSMU

 

ในฐานะคนที่ทำเรื่องนี้ เรารับรู้ว่า เรื่องนี้ถูกเขียนโดยคนตะวันตก ในยุคที่ความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิดมีน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย ด้วยบริบทของโลกปัจจุบัน ความไม่เข้าใจกันและความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกกับจีนก็ยังคงมีอยู่ และอาจจะยิ่งขยายมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ก็อยากให้ผู้ชมสนุกสนานกับ Operetta แบบที่เราสนุกกับสื่อบันเทิงอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละครหลังข่าว หรืออะไรทำนองนั้นมากกว่า”

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

การหลากไหลและหลอมรวมทางวัฒนธรรม คือวัฏปกติที่เป็นไปตามวิถีธรรมชาติของสังคมโลก สิ่งจรรโลงใจให้ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นฉันมิตรคือ ‘ศิลปะ’ และมีมหรสพความบันเทิงทำหน้าที่เป็นสะพานประสานความสัมพันธ์ของมนุษยชาติในนาม ‘ศิลปะการแสดง’ ทุกแขนงทุกประเภท อย่างไร้ขอบเขตของภูมิประเทศหรือการปกครอง เป็นสิ่งสนองจิตวิญญาณที่ต้องการความสุนทรีย์อย่างไม่มีเงื่อนไข หลายวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือ บ้านเรียน และศิลปิน ทั่วประเทศไทย ต่างร่วมกันใจพัฒนาสาขาการแสดงแม้ต้องแข่งกับหลายปัจจัย  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ( College of Music, Mahidol University : MSMU) เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ขับเคลื่อนการขับร้อง ดนตรี และการแสดงของไทย เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นสากลอย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศมาตลอด 30 ปี นับจากการสถาปนาสถาบันในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานมากมายยืนยันนโยบายการก่อตั้ง รวมทั้งคุณภาพในงานสร้าง Operetta " The Land of Smiles " ด้วย.

 


Photo : The Land of Smiles 2024, By Classical Voice Department, MSMU

 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลทางวิชาการจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (College of Music, Mahidol University : MSMU)