ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นมาของศัพท์ไทย ถอดรหัส “เรฟโวลูชัน” (ตอนที่ 1)

11
มีนาคม
2567

Focus

  • ในข้อเขียนชิ้นนี้ อันเกิดขึ้นภายหลังการปาฐกถาของนายปรีดี พนมยงค์ ที่สก็อตแลนด์ในปี 2518 นั้น ผู้เขียนเห็นว่า คำศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” และ “อภิวัฒน์” เหล่านี้ เข้าข่ายคำยากที่ต้องแปล เพราะรับมาจากต่างประเทศที่เจริญกว่า โดยสังคมเดิมไม่มีคำเช่นนั้นใช้กัน ด้วยเกี่ยวเนื่องกับการระดับพัฒนาการของสังคม เช่น จากสังคมปฐมสหการ พัฒนาสู่ระบบทาส ระบบศักดินา และระบบทุนนิยม จึงเกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ในสังคมที่ต้องอาศัยคำศัพท์ใหม่มาอธิบาย
  • ในขณะที่ในทางชีววิทยามีคำว่า “วิวัฒน์” (Evolution) แต่ในทางวิทยาศาสตร์สังคม (สังคมศาสตร์)  กลับมีคำภาษาอังกฤษว่า “Revolution” แต่การแปลคำนี้เป็นภาษาไทย สำหรับกรณีเมื่อเทียบเคียงการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ในยุโรปกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่า “อภิวัฒน์” อันเป็นการแทนที่ระบบเก่าด้วยระบบใหม่ที่จะต้องพัฒนาต่อไป แทนคำว่า “ปฏิวัติ” ที่ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้บัญญัติ อันหมายถึงการเปลี่ยนหลักมูลของการปกครองแผ่นดิน
  • คำว่า “อภิวัฒน์” สอดคล้องกับคำว่า“เก๋อมิ่ง” หรือ “เก๊กเหม็ง" ในภาษาจีนที่เป็นการเปลี่ยนสังคมเก่าแบบระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มี “จักรพรรดิ” เป็นประมุขเป็นระบบสาธารณรัฐ อันมีนัยถึงการประหารระบบเก่าให้หมดไปประดุจการตัดชีวิต และกล่าวถึงคำที่เกี่ยวข้องคือ “รัฐประหาร” (Coup d' E'tat) อันหมายถึง “วิธี” ยึดอำนาจรัฐโดยฉับพลันที่ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้บัญญัติด้วยเช่นกัน3

 

(ต่อจากปาฐกถาที่สกอตแลนด์ กรกฎาคม 2518)

ประธานกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ประจำ พ.ศ. 2518 ได้ขอให้ผมเขียนบทความเพื่อลงหนังสือพิมพ์ที่ระลึกซึ่งชาวธรรมศาสตร์จะได้จัดทำขึ้น ผมมีความยินดีสนองศรัทธา โดยเขียนบทความเรื่อง “ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์” อันเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการสนทนาในที่ประชุมสามัคคีสมาคมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ที่เอดินเบอะเรอ สกอตแลนด์ คือ ได้มีบางท่านถามผมว่าในทางชีววิทยานั้น การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปตามวิธีที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “อีโวลูชัน” (Evolution) คือค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่เหตุใดในทางวิทยาศาสตร์สังคมจึงมีวิธีที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษ “เรฟโวลูชัน” (Revolution) บางท่านต้องการทราบว่าเหตุใด ผมถ่ายทอดคำอังกฤษ “เรฟโวลูชัน” เป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์” แทนที่จะใช้ศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” โดยที่วันนั้นผมต้องตอบปัญหาต่างๆ รวม 21 ข้อ และมีเวลาจำกัดเพียง 5 ชั่วโมง จึงได้ตอบโดยสังเขปต่อปัญหาหนึ่งๆ ซึ่งผมขอผัดจะเขียนขยายคำตอบต่อไป

ผมจึงได้รวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกันนั้นจัดทำเป็นบทความนี้ เพื่อส่งมาลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ประจำ พ.ศ. 2518 และขอให้สามัคคีสมาคมถือว่าบทความนี้เป็นคำตอบขยายความของปัญหาที่สมาชิกบางท่านได้ถามผมในที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น

1. ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจว่า คำว่า “ศัพท์” ในภาษาไทยนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “เสียง, คำ, คำยากที่ต้องแปล, เรื่อง” ในกรณีที่เกี่ยวกับความเป็นมาของศัพท์ไทยทั้ง 4 นั้น ท่านทั้งหลายย่อมสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องของ “คำยากที่ต้องแปล”

ใน สังคมปฐมสหการ มนุษย์มีคำที่พอใช้สำหรับสังคมที่พัฒนาถึงขั้นนั้น ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาเป็น ระบบทาส, ระบบศักดินา, ระบบทุนนิยม มนุษย์ก็จำเป็นต้องมีคำเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อให้พอใช้ในการสัมพันธ์ระหว่างกันภายในสังคมและในการสัมพันธ์กับสังคมอื่น

ถ้าท่านเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษขนาดเล่มกลางๆ ซึ่งบอกที่มาของคำอังกฤษ ท่านก็ย่อมสังเกตได้ว่าคำอังกฤษมากหลายรับเอาคำต่างประเทศมาใช้โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปศัพท์บ้าง หรือแผลงเป็นคำอังกฤษบ้าง ซึ่งแสดงว่าคนอังกฤษมีคำอังกฤษแท้ๆ ไม่พอที่จะใช้เป็นสัญญาณในการสัมพันธ์ จึงต้องรับเอาคำต่างประเทศอื่นมาเป็นภาษาของตนด้วย

ส่วนภาษาไทยเดิมของเรานั้นก็มีคำที่ใช้พอสำหรับ สังคมปฐมสหการ, สังคมทาส และศักดินาสมัยต้น แต่เมื่อสังคมไทยรับเอาวิธีการเศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม, ของอินเดียที่พัฒนากว่าระบบทาสศักดินาของไทยเดิม สังคมไทยจึงได้รับเอาคำบาลี, สันสกฤต, มาเป็นคำของภาษาไทยโดยไม่เปลี่ยนรูปคำบ้างหรือแผลงรูปบ้าง ภาษาบาลีสันสกฤตจึงเป็นที่มาแห่งหนึ่งของภาษาไทย และเป็น “คำยากที่ต้องแปล” คือเป็น “ศัพท์” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานดังกล่าวนั้น

ต่อมา ตั้งแต่บั้นปลายกรุงศรีอยุธยา คนจีนได้เข้ามาพึ่งโพธิสมภารมากขึ้น ในการติดต่อกับคนไทยนั้นคนจีนใช้ภาษาไทย แม้ว่าออกสำเนียงเพี้ยนบ้างแต่คนไทยก็เข้าใจได้ เมื่อคนจีนใช้คำไทยบางคำจนชินมาเป็นเวลาหลายร้อยปี คำไทยนั้นก็กลายเป็นคำที่คนจีนในสยามรับเอาเป็นคำในภาษาที่ตนใช้ แม้ในการติดต่อกับชาวจีนด้วยกัน เช่นคนจีนที่มาพึ่งโพธิสมภารก่อน ค.ศ. 1911 (ก่อนสมัยที่เกิดลัทธิที่เรียกว่า “ต้าห้าน” คือลัทธิที่ถือเชื้อชาติห้านซึ่งเป็นเชื้อชาติส่วนมากของประเทศจีนว่ายังใหญ่กว่าเชื้อชาติอื่นๆ) นั้น ได้รับเอาคำไทย “ตลาด” โดยออกสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ตาลัก” และคำว่า “นักเลง” ออกสำเนียงแต้จิ๋วว่า “หลักเล้ง” และเรียก “นักเลงโต” ว่า “ตัวหลักเล้ง” ฯลฯ ซึ่งเป็นคำที่จีนแต้จิ๋วรุ่นเก่าได้ใช้พูดระหว่างกัน

นอกจากนั้น คนจีนรุ่นเก่าในสยามก็นิยมให้ลูกหลานเรียนหนังสือไทยที่วัด และนิยมให้ลูกหลานบวชเป็นพระภิกษุเรียนบาลีเพื่อบำเพ็ญกุศล และก็ได้รู้ภาษาบาลีอันเป็นมูลศัพท์ของภาษาไทยด้วย ท่านเหล่านี้เป็นเปรียญและเป็นอาจารย์ที่ดีในภาษาไทยหลายองค์ ท่านและสานุศิษย์จึงเรียนรู้ว่าศัพท์ไทยนั้นๆ มีความหมายอย่างไร เช่นคำว่า “จักรพรรดิ” หมายถึง “พระราชาธิราช” ซึ่งตรงกับภาษาจีนที่ออกสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ฮ่องเต้” (ตรงกับภาษาจีนกลาง “หวงตี้”) พระมหากษัตริย์องค์หนึ่งสมัยอยุธยาทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”

ส่วนคนไทยที่ติดต่อกับคนจีนในสยามเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปีก็รับคำจีนหลายคำมาใช้ด้วย ถ้าท่านเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านก็จะพบว่ามีหลายคำ ซึ่งเป็นภาษาจีนที่ราชบัณฑิตยสถานได้บรรจุไว้ในพจนานุกรม โดยถือว่าเป็นคำไทย เพราะเป็นคำจีนที่คนไทยสมัครใจใช้เองจนชินมาแล้วหลายร้อยปี โดยที่คนจีนมิได้ยัดเยียดให้คนไทยใช้ การคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติระหว่างคนไทยกับคนจีนในสยามจึงราบรื่น เพราะคนจีนก็มิได้ดัดแปลงศัพท์ หรือคำไทยที่ใช้ในความหมายตามมูลศัพท์แห่งภาษาไทยนั้นให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น

ต่อมาเมื่อระบบทุนในยุโรปและอเมริกาได้แผ่อำนาจเข้ามาในสยามตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 สยามต้องติดต่อกับฝรั่งเหล่านั้นอันเป็นสภาพการณ์ที่คนไทยไม่มีศัพท์ไทยที่ใช้อยู่ก่อน เพื่อใช้สำหรับสภาพการณ์ใหม่ได้ คนไทยจึงอาศัยมูลศัพท์บาลีสันสกฤตตั้งเป็นศัพท์ไทยขึ้นใหม่หลายคำ เพื่อถ่ายทอดความหมายของศัพท์ฝรั่ง นอกจากนั้นสยามได้จัดระบบการศึกษาไทยรับเอาวิชาประเภท วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ของฝรั่งมาสอนในโรงเรียนไทย จึงจำเป็นต้องคิดศัพท์ไทยขึ้นใหม่หลายคำ เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งนั้น เช่น ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คอมมิวนิสต์ ฯลฯ

ส่วนในประเทศจีนก็ได้มีการตั้งศัพท์จีนขึ้นใหม่หลายศัพท์ เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่ง โดยวิธีเอาคำจีนเดิมมาผสมกันเป็นศัพท์ใหม่ขึ้น ถ้ามองดูตัวอักษรก็เห็นว่าเป็นอักษรจีนแต่คำที่ผสมนั้น มีความหมายตามคำฝรั่งที่จีนถ่ายทอดมาเหมาเจ๋อตงซึ่งต่อต้าน “ลัทธิต้าห้าน” ได้กล่าวที่นครเหยียนอานเตือนคนจีนว่า ภาษาจีนเดิมมีไม่พอที่จะถ่ายทอดคำต่างประเทศจึงจำเป็นต้องคิดศัพท์ใหม่ขึ้น ท่านยกตัวอย่างคำว่า “ก้านปู้” ตั้งขึ้นเพื่อทับศัพท์ฝรั่ง “Cadre” (ออกสำเนียงอังกฤษ, “กาเดรอะ” มาจากฝรั่งเศส “กาเดรอะ”) แปลว่าพนักงาน เหมาเจ๋อตงจึงตักเตือนให้สานุศิษย์เรียนภาษาต่างประเทศ เพื่อให้รู้ความหมายอันเป็นที่มาของศัพท์จีนใหม่ เหมาเจ๋อตงถือหลักการต่อสู้ระบบทุนที่พัฒนาเป็นทุนผูกขาดเป็นบรมธนานุภาพหรือจักรวรรดินิยม ไม่ว่าเจ้าสมบัตินายทุนผูกขาดนั้น เป็นคนผิวขาวหรือผิวเหลือง ท่านมิได้ต่อต้านคนฝรั่งไปทั้งหมด โดยท่านแยกคนที่ไม่ใช่เจ้าสมบัตินายทุนออกจากพวกชนิดหลังนี้ ท่านมิได้ต่อต้านภาษาฝรั่งหรือภาษาต่างประเทศ นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในยุโรปเวลานี้ก็ย่อมรู้ว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนได้ส่งนักเรียนจีนหลายคนมาศึกษาในหลายประเทศยุโรปตะวันตก ฉะนั้น ผู้ใดคัดค้านนักเรียนไทยในต่างประเทศที่เรียนอย่างจริงจัง ผู้คัดค้านก็กระทำเกินเลยกว่าเหมาเจ๋อตง และเป็นการที่ไม่ยอมทำแนวร่วมกับผู้ได้ศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถทำคุณประโยชน์แก่ชาติและราษฎรไทยตามสาขาวิชาที่ได้เล่าเรียน

คนที่ห่างไกลเหมาเจ๋อตงมักจะเข้าใจผิดว่าท่านรู้แต่ภาษาจีน แต่ความจริงท่านรู้ภาษาต่างประเทศและอ่านตำราต้นฉบับที่เป็นภาษาต่างประเทศตั้งแต่วัยหนุ่ม ซึ่งท่านเป็นพนักงานหอสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และท่านใช้เวลาว่างเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ตลอดเวลาจนเข้าวัยชรามิใช่ท่านเรียนลัทธิมาร์กซ์-เลนิน โดยวานให้คนอื่นแปลให้ เพราะผู้แปลอาจแปลศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะผิดไปได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจระบบนั้นผิดไปทั้งระบบหรือผิดในส่วนสำคัญของระบบได้

อนึ่งเราควรยอมรับว่า ต้นฉบับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็ดี วิทยาศาสตร์สังคมก็ดี ซึ่งชาวเอเชียสมัยนี้รับเอามาก็เป็นตำราที่มีต้นฉบับภาษาต่างประเทศ คำใดที่เป็นศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะ (เทคนิคกัล เทอม) ที่คนไทยยังไม่ชินมาเป็นเวลาช้านานแล้วก็ดี หรือเป็นคำกำกวมก็ดี ถ้าจะถ่ายทอดเป็นภาษาไทยก็ควรเขียนคำตามต้นฉบับไว้ในวงเล็บด้วย) เพื่อให้ผู้อ่านที่สามารถเทียบกับต้นฉบับคำต่างประเทศจะได้เข้าใจดีขึ้น และจะได้ช่วยกันค้นคว้าให้สมบูรณ์ขึ้น

2. เมื่อก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สยามอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบต่อๆ กันมาตั้งแต่ระบบทาสศักดินาเป็นเวลาหลายพันปี การเปลี่ยนระบบสังคมจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้นยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ที่เคยมีก็เพียงแต่เปลี่ยนสถาบันพระมหากษัตริย์ของราชวงศ์หนึ่งมาเป็นอีกราชวงศ์หนึ่ง หรือเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เดียวกัน ฉะนั้นจึงไม่มีศัพท์ไทยเฉพาะที่จะเรียกการเปลี่ยนระบบสังคมจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือมาเป็นระบบประชาธิปไตยชนิดอื่นๆ ซึ่งต่างกับชาวยุโรปที่มีศัพท์ว่า “เรฟโวลูชัน” ก่อนสยาม ดังนั้น คนไทยสมัยก่อนที่ต้องการกล่าวถึงเรื่องที่คนอังกฤษเรียกว่า “เรฟโวลูชัน” ก็ใช้วิธีทับศัพท์ หรือบางคนก็เรียกตามทรรศนะศักดินาสำหรับผู้ที่ทำการไม่สำเร็จว่า “กบฏ, ก่อการกำเริบ” แต่ผู้ทำการสำเร็จเรียกว่า “ปราบดาภิเษก”

พระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชวิจารณ์การเปลี่ยนระบบบริหารแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ว่ามีลักษณะเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” โดยพระองค์ทรงเขียนไว้ในวงเล็บว่า “Revolution”

ส่วนในประเทศจีนก่อน ค.ศ. 1911 การปกครองแผ่นดินเป็นไปตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมี “จักรพรรดิ” เป็นประมุขสืบต่อๆ มาหลายพันปีซุนยัดเซ็นที่นำราษฎรจีนต่อสู้ระบบจักรพรรดิจีนมาเป็นสารารณรัฐจึงได้เอาคำจีนเดิม 2 คำ ที่เรียกตามภาษากลางว่า “เก๋อมิ่ง” 革命 แต้จิ๋วออกสำเนียงว่า “ก๊กเหม็ง” แปลตามตัวว่า “การตัดชีวิต” มาเป็นศัพท์ที่เรียกการกระทำที่เปลี่ยนแปลงระบบสังคมเช่นนั้น

ท่านย่อมสังเกตว่าหนังสือจีนมีลักษณะเป็นภาพวาด ผันแปรมาจากโบราณหลายศตวรรษ ถ้าพิจารณาอักษร “เก๋อมิ่ง” 革命 ให้ดีจะเห็นว่าแสดงร่องรอยถึง “การตัดชีวิต” ฉะนั้นคนจีนที่ไม่ทราบว่าคำว่า “เก๋อมิ่ง” หรือ “เก๊กเหม็ง"นั้น” ซุนยัดเซ็นนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ “เรฟโวลูชัน” แล้ว หากมองจากตัวอักษรที่วาดขึ้นนั้นก็อาจทำให้สะท้อนถึงทางจิตและความนึกคิดว่า เป็นการประหารระบบเก่าให้หมดไปประดุจการตัดชีวิต

ผมซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้เขียนแถลงการณ์เห็นว่าการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมีลักษณะตามที่คนอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เรียกว่า “Revolution” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีคณะหรือพรรคใดทำการสำเร็จมาก่อน จึงยังไม่ควรคิดศัพท์ขึ้นใหม่ในขณะนั้นซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ สมควรที่จะใช้วลีที่ประกอบด้วยคำไทยธรรมดาสามัญว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน” แต่วลีนี้ยาวไปจึงตัดคำว่า “แผ่นดิน” ออก คงเหลือ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และเรียกสมาชิกแห่งคณะราษฎร “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” โดยย่อว่า “ผู้ก่อการ” เท่านั้น คือเป็นเพียงผู้เริ่มก่อให้มีการเปลี่ยนระบบเก่าเพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ที่จะต้องพัฒนาต่อไป

3. ภายหลังการเปลี่ยนการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แล้วประมาณ 1-2 เดือน พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่น นราธิปพงศ์ประพันธ์ ขณะดำรงฐานันดรศักดิ์ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้แสดงปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวนั้น พระองค์ทรงวินิจฉัยว่าการเปลี่ยนนั้น เป็นการเปลี่ยนหลักมูลของการปกครองแผ่นดิน ตรงกับที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Revolution” (ออกสำเนียงว่า “เรฟโวลูชัน”) จึงได้ทรงบัญญัติศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษนั้น

พระองค์ยังได้บัญญัติศัพท์ไทยว่า “รัฐประหาร” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษ ที่ชาวอังกฤษใช้ทับศัพท์ฝรั่งเศส “Coup d' E'tal” (ออกสำเนียง กูป์ เดตาต์) ซึ่งแปลตามตัวว่า “การเขกหรือการกระแทกรัฐ” โดยนัยหมายถึง “วิธี” ยึดอำนาจรัฐโดยฉับพลัน ซึ่งต่างกับวิธีได้อำนาจรัฐโดยสงครามกลางเมือง (Civil War)

(จบตอนที่ 1)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” “อภิวัฒน์”. (กรุงเทพฯ : นีลกา รพิมพ์, 2510), น. 47 - 60.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อเรื่องใหม่ โดย กองบรรณาธิการ