‘ในระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้ รัฐบาลจะทำอะไรได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐบาลหรือใครๆ จะทำอะไรตามใจของตน โดยที่กฎหมายไม่ให้อำนาจนั้นไม่ได้ การกระทำโดยมีกฎหมายเป็นการกระทำด้วยความยินยอมของประชาชน ซึ่งมีผู้แทนมาอยู่ในสภา สมกับที่รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิ์และเสรีภาพไว้’
ปาฐกถา เรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
ทางวิทยุกระจายเสียง ในคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗
ในคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗
ท่านผู้ฟังทั้งหลาย
วันนี้เป็นศุภดิถีมงคลสมัย วันที่ระลึกอันสำคัญวันหนึ่งของชาติ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ซึ่งเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ชาวไทยได้พากันก้าวขึ้นสู่วิถีทางอันใหม่ สยามได้เข้าอยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐธรรมนูญที่ได้รับในวันที่ ๒๗ มิถุนายนนั้น จะเป็นแต่เพียงรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เป็นบันไดขั้นแรกที่ก้าวขึ้นไปสู่รัฐธรรมนูญถาวรซึ่งได้ประกาศแล้วในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ในระหว่างเวลาที่ล่วงมานับแต่วันประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวจนกระทั่งถึงบัดนี้ รัฐบาลผู้รักษารัฐธรรมนูญได้ขะมักเขม้นทำงานด้วยความมุ่งหมายจะยังสภาพการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้น ระบอบรัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดผลดีอะไรแก่บ้านเมืองบ้าง นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้บรรยายความรู้สึกของฝ่ายทหารให้ท่านฟังมาแล้วเมื่อคืนวันที่ ๒๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ นี้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ได้ทรงแสดงข้อสังเกตของพระองค์ท่านให้เพื่อนร่วมชาติฟัง ในคืนนี้คณะกรรมการวิทยุกระจายเสียง จึ่งมอบภาระอันมีเกียรติที่จะแสดงความรู้สึกของข้าพเจ้าบ้าง
อันว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ได้ทรงบรรยายมาแล้วว่าเป็นการเปลี่ยนโดยรอบ ไม่ใช่เปลี่ยนแต่เล็กน้อยหรือเพียงแต่บางส่วนบางแผนก เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีทางดำเนินของชาติทีเดียว ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจะต้องทำให้บังเกิดผลทั้งในรูปธรรมและนามธรรมแต่ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็วไม่ได้ มีภาษิตของชาวตะวันตกกล่าวว่ากรุงโรมมิได้สร้างในวันเดียวฉันใด กรุงสยามก็ฉันนั้น การที่จะวินิจฉัยถึงผลที่ได้รับในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นจะต้องมองดูด้วยสายตาที่ยุติธรรมและมองดูทุกๆ ด้าน มีผู้เคยกล่าวตำหนิรัฐบาลว่าไม่ได้ทำอะไรนอกจากออกกฎหมาย ผู้ที่ตำหนิเช่นนี้มองดูแต่ทางฝ่ายรูปธรรมอย่างเดียว ไม่ได้ระลึกถึงว่าการออกกฎหมายเป็นความจำเป็นเพียงไร ในระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้ รัฐบาลจะทำอะไรได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐบาลหรือใครๆ จะทำอะไรตามใจของตน โดยที่กฎหมายไม่ให้อำนาจนั้นไม่ได้ การกระทำโดยมีกฎหมายเป็นการกระทำด้วยความยินยอมของประชาชน ซึ่งมีผู้แทนมาอยู่ในสภา สมกับที่รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิ์และเสรีภาพไว้ อีกประการหนึ่งกฎหมายเป็นโครงงานของรัฐบาล เป็นแผนผังวิธีการที่จะให้ประชาชนทราบว่า รัฐบาลจะทำอะไร
การคิดก่อนแล้วจึ่งทำนั้น เป็นการสำคัญยิ่ง ในทางพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนให้คิดก่อนแล้วจึ่งทำอยู่เสมอ ขออย่าให้เราทำอะไรกันโดยไม่คิดให้รอบคอบก่อน ขออย่าให้เราทำอะไรกันโดยไม่มีหลักไม่มีแนวทาง ขออย่าให้เราเดินก้าวออกไปจนกว่าจะรู้แน่นอนว่าเราจะก้าวไปทางไหน พวกเราชาวสยามมีสภาพเหมือนคนที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน แล่นอยู่กลางมหาสมุทร เรือลำนั้นกำลังทำความพยายามฝ่าคลื่นฝืนลมแล่นเข้าหาฝั่ง ถ้าในเรือไม่มีเข็มทิศ คนเรือไม่รู้ว่าจะหันหัวเรือไปทางไหน ก็เป็นการพ้นวิสัยที่เรือนั้นจะตลอดปลอดภัยไปได้ ฉันใด การบ้านเมืองของเราก็ฉันนั้น ถ้าหากเรามิได้วางแผนงานอันแน่นอนลงไปแล้ว ก็เป็นการยากที่จะช่วยบ้านเมืองของเราให้ดีขึ้นได้
ในชั่วเวลา ๒ ปีที่ล่วงมาแล้ว รัฐบาลได้ทำอะไรบ้าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ยังประโยชน์อันใดให้บังเกิดขึ้นบ้าง การบรรยายความรู้สึกของข้าพเจ้าในข้อนี้ ข้าพเจ้าจะได้ดำเนินตามแนวหลัก ๖ ประการ และชี้แจงให้ท่านเห็นเป็นเรื่องๆ ไป
ประการที่ ๑ เรื่องความเป็นเอกราชนั้น กล่าวโดยเฉพาะการศาลก็ได้รีบเร่งทำประมวลกฎหมายให้เสร็จได้เป็นอันมาก ในชั่วเวลาเล็กน้อย เมื่อก่อนประกาศรัฐธรรมนูญถาวร คือก่อนวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ กรมร่างกฎหมายซึ่งในเวลานี้เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอร่างบรรพ ๕ ต่อสภา ครั้นถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ปีเดียวกัน ก็ได้เสนอร่างบรรพ ๖ พร้อมทั้งวิธีพิจารณาความแพ่งและความอาชญาต่อคณะรัฐมนตรี แต่พอรุ่งขึ้นสภาก็ถูกปิด งานจึ่งได้คั่งค้างและชะงักมา แต่ถ้าคิดถึงเวลาที่ได้ทำงานกันมาแล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับภายหลังวันเปลี่ยนแปลงนั้น งานร่างประมวลแพ่งได้เริ่มแต่ ร.ศ. ๑๒๗ นับจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ทำได้เพียงบรรพ ๑-๒-๓ และ๔ กับเริ่มวางหลักการของบรรพ ๕ ให้เงินประมาณ ๒ ล้านบาทเศษ ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วได้ทำบรรพ ๕-๖ วิธีพิจารณาความแพ่ง และวิธีพิจารณาความอาชญา ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญทั้ง ๔ เรื่องสำเร็จได้โดยใช้เวลาเพียง ๘ เดือนและใช้เงินเพียง ๑ แสน ๑ หมื่น ๕ พันบาทเศษ เวลานี้ร่างที่แล้วเสร็จก็กำลังปรึกษากันในคณะกรรมาธิการที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งจะได้รีบเร่งทำให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมปีนี้ตามมติของคณะรัฐมนตรี
ส่วนความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้น รัฐบาลก็ได้รีบเร่งจัดทำวัตถุอื่นๆ ดั่งจะได้กล่าวในข้อต่อๆ ไป
ประการที่ ๒ เรื่องรักษาความสงบภายในนั้น ได้อาศัยกำลังทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจและพลเรือนผดุงรักษาสันติภาพของประเทศให้ยั่งยืนต่อมา แต่มิใช่อยู่ในการที่บำรุงกำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปราบปรามอย่างเดียวเท่านั้น ยังจะต้องอาศัยการบำรุงในทางอื่นๆ อันอยู่ในหลัก ๖ ประการ ประกอบกันเช่นในทางเศรษฐกิจและการศึกษา เป็นต้น เพราะในหลัก ๖ ประการนี้ต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันดุจสายโซ่ เท่าที่ได้ผ่านไปแล้วในระยะเวลา ๒ ปี การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นในราชการบริหารส่วนกลางความหวังในการรักษาความสงบภายใน จะสำเร็จผลได้เมื่อได้จัดการปกครองท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นไปตามแบบเทศบาลโดยที่ราษฎรในท้องถิ่นจะได้มีสิทธิจัดการปกครองในส่วนท้องถิ่นของตนเอง
รัฐบาลได้เตรียมวิธีการร่างกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องที่อันจะต้องใช้แทนกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่ซึ่งใช้อยู่แต่เดิม เตรียมวิธีการที่จะป้องกันการกระทำผิดมิให้เกิดขึ้นด้วยวิธีปกครอง และยังดำริที่จะจัดการทะเบียนเกี่ยวแก่ราษฎรทั่วไปให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในเมื่อได้เริ่มการเทศบาลขึ้น และดำริวางวิธีการให้มีบัตรประจำตัวเพื่อความสะดวกในการป้องกันรักษาความสงบสุขและในการตรวจตราระมัดระวังความสงบเรียบร้อยภายในโดยทั่วๆ ไปได้ ฉะนั้นจึงเป็นการจำเป็น ยิ่งที่ยังจะต้องเตรียมทุนเตรียมผู้ที่จะบริหาร
แต่การรักษาความสงบภายในนั้นเป็นงานหนักอย่างยิ่ง เมื่อการเปลี่ยนแปลงได้ทำสำเร็จลงแล้ว ก็มีผู้ไม่พอใจบังเกิดความอิจฉาริษยา กระทำความพยายามด้วยประการต่างๆ ที่จะยังความไม่สงบให้บังเกิดขึ้น จนเกิดการกบฏ อันเป็นเหตุให้เสียชีวิตเลือดเนื้อและทรัพย์สมบัติของประเทศ การพยายามยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบเช่นนี้ก็ยังมีอยู่เสมอ เรื่องนี้กระทำความชักช้าในการที่จะจัดการอย่างอื่นๆเพราะเมื่องานจะดำเนินไปโดยเรียบร้อยดี ก็ต้องมาสะดุดหยุดลง แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลมีความมานะพยายามอันแรงกล้าที่จะต่อสู้อุปสรรคทั้งหลายและข้าพเจ้าเองก็เชื่อมั่นในหัวใจที่ยุติธรรมของประชาชนส่วนมาก ที่จะช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศชาติของเรา
ประการที่ ๓ การเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญที่พูดถึงกันอยู่เสมอ และไต่ถามกันอยู่บ่อยๆ ว่าเมื่อไรรัฐบาลจะจัดการเศรษฐกิจให้ดีขึ้น การที่เอาใจใส่กันถึงเรื่องเศรษฐกิจมากๆ นั้นก็สมควรแล้ว เพราะถ้าหากเปลี่ยนแต่วิธีการปกครอง ไม่เปลี่ยนวิธีการเศรษฐกิจแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นก็ไร้ผล บางคนกล่าวว่าจนกระทั่งบัดนี้รัฐบาลยังมิได้ทำอะไรในเรื่องบำรุงเศรษฐกิจ คำกล่าวเช่นนี้เป็นการใส่ร้าย โดยปราศจากความจริง เพราะการช่วยเหลือเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลได้ทำไปแล้วหลายเรื่อง เช่นสำนักงานจัดหางานการช่วยเหลือกสิกร โดยออกกฎหมายห้ามการยึดทรัพย์สินบางอย่าง ลดภาษีอากรต่างๆ ควบคุมการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในกฎหมาย ลดเงินรัชชูปการ ขยายการสหกรณ์ ตั้งข้อบัญญัติให้ใช้กรรมกรไทยตามส่วน ดั่งที่นายพันเอก หลวงพิบูลสงครามได้บรรยายมาแล้วในวันที่ ๒๔ นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดการคมนาคมตัดถนนและทำการเรื่องชลประทานโดยมิได้หยุดพัก แต่ความยุ่งยากในปัญหาเศรษฐกิจนั้นใหญ่ยิ่งกว่าปัญหาใดๆ อุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ บังเกิดมีขึ้นในปัญหาเศรษฐกิจนี้ไม่น้อยกว่าปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุหลายประการ เช่น เข้าใจกันไปว่ารัฐบาลจะต้องทำให้เงินทองไหลมาเทมา ให้คนเกียจคร้านมีเงินได้โดยมิต้องทำงานซึ่งเป็นสิ่งพ้นวิสัย ไม่มีรัฐบาลใดสามารถทำได้ ไม่มีคนสุจริตคนใดที่จะหาเงินได้โดยไม่ต้องทำงาน
เหตุขัดข้องประการที่สองก็เนื่องจากความไม่รู้ว่า การบำรุงเศรษฐกิจนั้น จะต้องทำอย่างไร เช่นเมื่อรัฐบาลลงทุนตัดถนนสายยาวๆ ก็พูดกันว่าจะไปดัดถนนทำไม? เหตุไรจึ่งไม่บำรุงเศรษฐกิจ ผู้ที่กล่าวนั้นไม่ทราบว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีถนนบางคน กล่าวว่ามัวแต่สำรวจ ไม่เห็นทำอะไร ทั้งนี้เพราะไม่ได้คำนึงว่าการสำรวจนั้นเป็นการกระทำอยู่ในตัว ถ้าไม่สำรวจก่อนจะทำอะไรได้ แต่อุปสรรคใดๆ ไม่สำคัญเท่ากับการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนใหญ่ การกระทำของรัฐบาลได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่กอบโกยเงินทองให้เฉพาะบุคคล
ดังนั้น ทุกครั้งที่รัฐบาลได้พยายามช่วยคนจน เช่น กสิกร รัฐบาล ก็ต้องรับความลำบาก การติฉินนินทา การยุยงส่งเสริม กฎหมายห้ามยึดทรัพย์สินบางอย่างของกสิกรก็ดี กฎหมายควบคุมการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราก็ดี กฎหมายเหล่านี้ออกมาได้ด้วยความยากลำบาก ความยากในปัญหาเศรษฐกิจ มีอยู่ดั่งนี้ ข้าพเจ้าจึงหวังว่าประชาชนจะเห็นใจ ถ้าหากว่าจะทำการให้ลุล่วงไปเร็วกว่านี้ไม่ได้ ก็เพราะเหตุที่รัฐบาลต้องประสบอุปสรรคอย่างมากๆ ดังกล่าวมาแล้ว แต่รัฐบาลก็จะมีความมานะพยายามอย่างยิ่งอยู่เสมอ
เมื่อว่าถึงการเงินของประเทศเป็นเรื่องหนึ่งที่เสียงของศัตรูแห่งรัฐธรรมนูญพยายามปลุกปั่นให้เกิดความวิตกว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วการเงินของประเทศได้ตกต่ำ ถึงกับกล่าวยุยงกันว่า เกือบไม่มีเงินเหลือคงคลังแล้ว การยุยงด้วยความเท็จเช่นนี้เป็นที่น่าละอายใจ แท้จริงสภาพการเงินนั้นเป็นของหลอกกันไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไร รัฐบาลจะต้องแถลงออกมาตามที่เป็นจริง เพราะการเงินของเรามีข้อเกี่ยวพันต่อเนื่องกับของประเทศอื่นๆ
เมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น งบประมาณที่ทำสำหรับ พ.ศ. ๒๔๗๕ เกือบไม่สู่ดุลยภาพ ยังความปั่นป่วนในทางการคลัง เมื่อก่อการแล้ว รัฐบาลคณะราษฎรได้พิจารณางบประมาณนั้นใหม่และในปลายปีก็บังเกิดรายได้มากกว่ารายจ่าย
ในเรื่องการเงินคงคลังนี้ ท่านควรทราบว่า
ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีเงินเหลือคงคลัง ๓๔ ล้านบาทเศษ
ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ มีเงินเหลือคงคลัง ๔๗ ล้านบาทเศษ
ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ มีเงินเหลือคงคลัง ๕๔ ล้านบาทเศษ
ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ มีเงินเหลือคงคลัง ๕๘ ล้านบาทเศษ
แปลว่าในชั่วเวลา ๒ ปีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีเงินเหลือคงคลังเพิ่มขึ้นถึง ๒๓ ล้านบาทเศษ นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศสยามยังได้ใช้เงินกู้ราย ๗ เปอร์เซ็นต์คือเป็นเงินกว่า ๒๐ ล้านบาท เงินใช้คืนนี้จ่ายจากเงินที่ได้สะสมไว้สำหรับใช้หนี้เงินกู้ เป็นการปลดเปลื้องภาระของประเทศลงมิใช่น้อย
ประการที่ ๔ เรื่องสิทธิเสมอภาค เป็นสิทธิที่ประชาชนได้รับอยู่แล้วโดยรัฐธรรมนูญและนอกจากนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำการหลายอย่างเพื่อผดุงสิทธิเสมอภาคของประชาชน รัฐบาลได้จัดการให้ได้ออกพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน เพื่อคนทุกคนได้รับความเสมอภาคในการที่จะเข้ารับราชการ รัฐบาลได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งแต่ก่อนมาเป็นเรื่องที่หวงแหนกันหนักหนาการศึกษาการเมืองนั้นแต่ก่อนมา คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ศึกษา แต่บัดนี้ ทุกคนก็ได้รับความเสมอภาคใน อันจะเรียนรู้ทางการเมืองและมีส่วนในการบ้านเมืองของตน
ประการที่ ๕ เรื่องเสรีภาพของประชาชน ข้อนี้ก็เป็นผลที่ได้อยู่ตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องเสรีภาพนี้ก็มีผู้เข้าใจผิดหรือแกล้งทำเป็นเข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก เสรีภาพไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามความพอใจ ถ้าทำเช่นนั้นก็กลายเป็นอนาคิสต์ คือการไม่มีรัฐบาล เสรีภาพจึงต้องมีระเบียบ เสรีภาพต้องอยู่ในวงเขตของกฎหมายและศีลธรรม มนุษย์เรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรได้ แต่ต้องไม่เป็นการประทุษร้ายเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ทำให้เกิดความระสำระสายในบ้านเมือง ในเรื่องเสรีภาพนี้รัฐบาลผู้รักษารัฐธรรมนูญของเราได้ให้มากกว่าที่เขาให้กันในประเทศอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ รัฐบาลได้ยอมนิ่งทนฟังคำกล่าวร้ายเสียงปฏิปักษ์ได้อย่างมากมาย ไม่มีประเทศใดที่เปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เขาจะนิ่งทนได้อย่างรัฐบาลรัฐธรรมนูญของเรานี้ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึ่งกล้ากล่าวว่ารัฐบาลได้ให้เสรีภาพถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญ
ประการที่ ๖ เรื่องการศึกษาได้ก้าวหน้าไปเพียงไรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านจะทราบได้ว่า การศึกษาประชาบาลได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกมาก นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็ได้แสดงความเอื้อเฟื้อเข้าช่วยการศึกษาของชาติ ในเวลานี้มีพระภิกษุในจังหวัดต่างๆ ยินดีเข้ารับการอบรมเพื่อช่วยเป็นครูประชาบาลเป็นจำนวนกว่า ๕๐๐ รูป และยังมีอีกเกือบ ๘๐๐ รูป ที่แสดงความจำนงจะเข้าช่วยเหลือโดยสอนให้เปล่า และนอกจากนี้คณะสงฆ์ยังคิดตั้งโรงเรียนวัดขึ้นช่วยเหลือการศึกษาประชาบาลอีกมาก ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า ระบอบรัฐธรรมนูญได้ประสานงานระหว่างบ้านเมืองกับคณะสงฆ์ได้อย่างดียิ่ง
การสามัญศึกษา เทียบจำนวนโรงเรียนในสมัยก่อนกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีโรงเรียนชั้นประถมเพิ่มขึ้น ๓๖ โรงเรียน มัธยมตอนต้น เพิ่มขึ้นอีก ๒๒ โรงเรียน มัธยมตอนกลาง เพิ่มขึ้นอีก ๔๓ โรงเรียน และใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ก็ได้ขยายการศึกษามัธยมตอนปลายออกไปทางต่างจังหวัด
การวิสามัญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนให้อาชีพได้ขยายออกไปอย่างมาก เช่นโรงเรียนช่างต่างๆ โรงเรียนกสิกรรม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วโรงเรียนช่างต่างๆ ได้เปิดขึ้นใหม่ถึง ๗ โรงเรียน โรงเรียนกสิกรรมเพิ่มขึ้นอีก ๕ โรงเรียน และโรงเรียนพณิชยการเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และ จังหวัดต่างๆ อีก ๑๐ โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนวิสามัญแผนกการเรือน วิสามัญแผนกเลขานุการและวิสามัญแผนกภาษา ซึ่งได้ตั้งขึ้นใหม่ในกรุงเทพฯ และที่จังหวัดภูเก็ต
การศึกษาที่ได้ก้าวหน้ามาถึงเพียงนี้ นับว่าเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันแลเห็นได้ชัด สิ่งสำคัญก็คือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งได้เปิดในวันนี้ และมีจำนวนนักเรียนที่มหาวิทยาลัยรับสมัครแล้ว ๗,๐๙๔ คน วิชาการเมืองซึ่งแต่ก่อนมาเป็นวิชาหวงแหนเดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม ยินดีเปิดสอนให้แพร่หลายที่สุด
อนึ่งในทางศิลปกรรมของชาติ รัฐบาลได้จัดฟื้นฟูขึ้น เช่นโรงเรียนช่างต่างๆ และโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่ และได้ดำเนินกิจการมาเป็นอย่างเรียบร้อยดี
รวมความตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านผู้ฟัง ที่มีความยุติธรรมในใจจริงๆ จะเห็นได้ว่าในชั่วเวลา ๒ ปีการงานได้ก้าวหน้ามาไม่น้อย ผู้ที่ได้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองหวังอยู่แต่ความก้าวหน้าของกิจการทั้งหลายถ้าหากว่ากิจการจะก้าวไปสะดวกไม่ได้ก็เพราะศัตรูของรัฐธรรมนูญมาขัดขวางก่อให้มีเรื่องร้ายแต่ถ้าประชาชนทั่วไปมีความรัก มีความนิยมรัฐธรรมนูญอยู่ทั่วถึงกันแล้ว รัฐธรรมนูญนี้เองจะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราทั้งหลายมีความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน ปราศจากความอิจฉาช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง ไม่ใช่คอยทำลายกัน
เมื่อเป็นได้ดั่งนั้น วิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญจะราบรื่น และเราจะพากันไปสู่ความสุขความเจริญ อันเป็นจุดหมายปลายทางของเรา ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านนิยมรัฐบาลหรือนิยมใครเป็นส่วนตัว แต่ขอร้องให้ท่านเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนทั่วไปและช่วยกันเชิดชูรัฐธรรมนูญของเราให้ถาวรลอยเด่นอยู่เสมอ ความถาวรแห่งรัฐธรรมนูญเป็นการฝังหลักความสุขความเจริญของประชาชนให้มั่นคง แต่ความดับสูญแห่งรัฐธรรมนูญเป็นอวสานแห่งประเทศและชาติ ขอให้พวกเราชาวไทย จงช่วยกันรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามให้สถิตสถาพรอยู่ชั่วกัลปาวสานเทอญ
ขอความสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสดกดตามต้นฉบับ
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “ปาฐกถา เรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ทางวิทยุกระจายเสียง ในคืนวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗”, ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 249-253.