ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การขนานนามถนนและสะพานสมัยคณะราษฎร

13
พฤษภาคม
2567

Focus

  • ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 การพัฒนาระบบคมนาคมเป็นงานที่คณะราษฎรให้ความสำคัญมาก อันจะเป็นประโยชน์ในการกระจายความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการศึกษาจากส่วนกลางไปยังชนบท ทั้งยังมีสาเหตุมาจากการติดขัดด้านการคมนาคมของฝ่ายรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายควบคุมเครือข่ายรถไฟที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศอีกด้วย
  • การตั้งชื่อถนนสมัยคณะราษฎรยุคแรกๆ ได้ปรับเปลี่ยนจากการตั้งชื่อที่ยึดความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และประวัติศาสตร์การสู้รับกับข้าศึก เป็นการตั้งชื่อตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชื่ออำเภอ ตำบล และตามบรรดาศักดิ์ นามสกุล หรือตำแหน่งของผู้ริเริ่มสร้างถนน เป็นต้น
  • ในทศวรรษ 2480 - 2500 การตั้งชื่อถนนและสะพาน รวมถึงอาคารสถานที่ได้เน้นการตั้งชื่อที่ส่งเสริมระบอบใหม่ และรำลึกถึงผู้ที่มีผลงานเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตยผู้วายชนม์ฝ่ายรัฐบาลสมัยกบฏบวรเดช การเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองและแนวคิดชาตินิยมของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม เช่น “ถนนประชาธิปไตย”“ถนนพหลโยธิน” “สะพานเฉลิมวันชาติ พ.ศ. 2483” “สะพานปรีดีธำรง” เป็นต้น

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้พัฒนาระบบคมนาคมขนานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงข่ายระบบถนนทั้งในเขตเมืองหลวงและหัวเมืองทั่วประเทศสยาม เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองที่ห่างไกลในทุกภูมิภาค รวมถึงกระจายความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการศึกษาจากส่วนกลางไปยังชนบทที่ห่างไกล นอกจากนี้ระบบถนนยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการปกครองและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลระบอบใหม่

ทั้งนี้รัฐบาลระบอบใหม่ได้วางโครงการก่อสร้างทาง 18 ปี สำหรับเชื่อมโยงจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศสยามเข้าด้วยกันผ่านการสร้างทางหลวงทั่วราชอาณาจักร โครงการนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2479 โดยวางแผนสร้างทางหลวงระยะทางยาวประมาณ 14,900 กิโลเมตร และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้อนุมัติโครงการระยะแรกเป็นการตัดถนนระยะทาง 2,880 กิโลเมตร กำหนดงบประมาณก่อสร้างไว้ 30 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2479-2483[1] ทางหลวงสำคัญของโครงการ 5 ปีแรกคือ ทางหลวงที่เชื่อมโยงภาคกลางจากกรุงเทพฯ อยุธยา สระบุรี และลพบุรี ระยะทางยาว 135 กิโลเมตร[2] ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ขนานนามว่า “ถนนประชาธิปัตย์” หรือที่รู้จักกันในนามปัจจุบันว่า “ถนนพหลโยธิน”

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้สัญจรไปมาบนถนนพหลโยธินเป็นประจำ โดยผ่านสะพานใหม่หรือสะพานสุกรนาคเสนีย์ วงเวียนหลักสี่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปราบกบฏในอดีต และสะพานบางบัวหรือสะพานทองจรรยา เพื่อไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ่อยครั้งระหว่างขับรถและเผชิญกับการจราจรติดขัดบนถนนสายนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักประวัติศาสตร์มักจะนึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างชื่อถนนและสะพานกับเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองบนพื้นที่บางเขน กล่าวคือ ชื่อวีรชนผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชได้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อสะพานสำคัญในพื้นที่บางเขนทั้งสะพานใหม่และสะพานบางบัว อันสะท้อนถึงการขนานนามถนนและสะพานให้เป็นอนุสรณ์ความทรงจำเกี่ยวกับการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญของฝ่ายคณะราษฎรในเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476

ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงต้องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลคณะราษฎรในการขนานนามถนนและสะพาน ที่เกี่ยวพันกับการสร้างสำนึกใหม่และผลิตซ้ำความทรงจำเกี่ยวกับยุคสมัยคณะราษฎรผ่านสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างถนนและสะพาน

 

การตัดถนนสมัยคณะราษฎร

เหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรตัดสินใจพัฒนาระบบคมนาคมใหม่ในรูปแบบถนน เนื่องจากในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช รัฐบาลต้องประสบปัญหาความยากลำบากในการคมนาคมที่ถูกตัดขาดระหว่างพระนครกับหัวเมือง เนื่องจากฝ่ายกบฏได้ควบคุมเครือข่ายรถไฟที่เป็นการคมนาคมหลักของประเทศสยาม[3]

ดังนั้นหลังจากคณะราษฎรปราบปรามฝ่ายกบฏบวรเดชได้สำเร็จ ทางรัฐบาลจึงได้ตัดถนนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างพระนครกับสนามบินดอนเมืองด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ ควบคู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องการพัฒนาสนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์[4] ถนนสายนี้เริ่มสร้างในปลายปี พ.ศ. 2476 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า “ถนนสายกรุงเทพฯ-ดอนเมือง” โดยถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นจากสนามเป้าไปสิ้นสุดที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างทางมีการตัดถนนซอย 4 สายเชื่อมโยงถนนนี้กับทางรถไฟสายเหนือ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลานขนาดใหญ่บริเวณหลักสี่ อันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ

การพัฒนาการคมนาคมด้วยระบบถนนอย่างเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่รัฐบาลพระยาพหลฯ อนุมัติแผนการทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2479 อันสะท้อนถึงการพัฒนาเครือข่ายระบบถนนมาเป็นการคมนาคมขนส่งหลักแทนที่ระบบรถไฟหรือการคมนาคมทางน้ำ[5] นำไปสู่การสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับภูมิภาคอื่นของประเทศ ได้แก่ การตัดถนนจากดอนเมืองไปยังสระบุรีและลพบุรีเพื่อเชื่อมโยงภาคกลาง การตัดถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการกับสายชลบุรี-สัตหีบเพื่อเชื่อมโยงภาคตะวันออก และการตัดถนนสายธนบุรี-นครปฐม เพื่อไปยังภาคตะวันตกและภาคใต้

 


แผนที่ทางหลวงที่กำลังก่อสร้างและก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2481
ที่มา : ข่าวโฆษณาการ 1, 2 (มีนาคม 2481): 16.

 

นอกเหนือจากการสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับภูมิภาคอื่นแล้ว เมื่อเข้าสู่สมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามยังมีการสร้างทางหลวงใหม่เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมของจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี และจังหวัดนนทบุรี อีก 5 สายในช่วงทศวรรษ 2480 ได้แก่ (1) ถนนสายสะพานพระราม 6 - บางกอกน้อย (2) ถนนสายสะพานพระราม 6 - นนทบุรี (3) ถนนสายบางเขน - นนทบุรี (4) ถนนสายหลักสี่ - ปากเกร็ด และ (5) ถนนสายบางซ่อน - สะพานพระราม 6[6] อันทำให้การคมนาคมขนส่งทางบกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

 

การกำหนดหลักการตั้งชื่อถนนสมัยคณะราษฎร

ก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ชื่อถนนและสะพานสำคัญล้วนมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่การนำพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สร้อยพระนาม รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ มาใช้ในการขนานนามเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ตัวอย่างเช่น ถนนราชดำเนิน ถนนราชดำริ ถนนทรงวาด ถนนราชวิถี ถนนสุโขทัย ถนนพิษณุโลก ถนนเสือป่า ถนนพระรามที่ 1 เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีการตั้งชื่อถนนตามชื่อขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สร้างถนน อาทิ ถนนสี่พระยา ถนนเดโช ถนนสุรศักดิ์ และถนนรองเมือง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาการตั้งชื่อถนนในสมัยรัชกาลที่ 7 จะพบว่า ถนนส่วนมากเป็นชื่อพระราชทานจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญอย่างกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยชื่อถนนถือเป็นเครื่องมือทางภาษาในการเชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อเทิดพระเกียรติอดีตพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏจากการนำชื่อสถานที่ที่กองทัพไทยรบชนะพม่าตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์มาใช้เป็นชื่อถนนในฝั่งธนบุรี อาทิ ถนนพรานนก ถนนเชียงใหม่ ถนนท่าดินแดง ถนนโพธิ์สามต้น และถนนลาดหญ้า[7]

เมื่อรัฐบาลระบอบใหม่วางแผนการสร้างทางหลวงทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2479 กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอรายงานหลักเกณฑ์การขนานนามถนนให้รัฐบาลพระยาพหลฯ พิจารณาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2479 เนื่องจากการกำหนดชื่อถนนในเขตชุมชนและนอกเขตชุมชนยังไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน ดังนั้นกรมโยธาเทศบาล กองควบคุมเทศบาล และกรมมหาดไทยจึงเสนอความเห็นเกี่ยวกับการขนานนามถนนมาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำหรับหลักการการขนานนามถนนนั้น ทั้งสามหน่วยงานต่างมีความเห็นเกี่ยวกับหลักการการขนานนามถนนว่าสามารถดำเนินการได้หลายวิธี อาทิ การใช้ชื่ออำเภอหรือตำบลต่างๆ ที่ถนนสายนั้นผ่านหรือไปถึง การใช้ชื่อบรรดาศักดิ์ นามสกุล หรือตำแหน่งผู้ที่ริเริ่มสร้างถนน การใช้ชื่อชุมชนหรือบุคคลที่มอบที่ดินสร้างถนน การใช้ชื่อทิศและมีตัวเลขกำกับ การใช้ชื่อบุคคลสำคัญหรือผู้มีชื่อเสียง และการขนานนามถนนเพื่อเป็นเกียรติยศแก่บุคคลสำคัญควรเป็นถนนใหญ่สายสำคัญของจังหวัดหรือเขตเมือง[8]

หน่วยราชการ ความเห็นเกี่ยวกับการขนานนามถนนในปี พ.ศ. 2479
กรมโยธาเทศบาล
  1. ให้ผู้ปกครองฝ่ายภูมิภาค (ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอ) เป็นผู้ขนานนามถนนในชุมชนที่ยังไม่ตั้งเทศบาล และให้เทศบาลขนานนามถนนในเขตเทศบาล
  2. การขนานนามถนนทำได้หลายวิธี ได้แก่ ใช้ชื่อผู้มีชื่อเสียง ชื่อทิศและมีเลขประกอบ ชื่อตามเมืองหรือท้องที่
  3. ควรนำความเห็นท้องถิ่นต่างๆ มาใช้ในการขนานนามถนน
  4. ให้กรมโยธาเทศบาลขนานนามถนนในเขตที่อยู่นอกชุมชน
กองควบคุมเทศบาล
  1. ให้นามตามเมือง
  2. ให้นามตามท้องที่หรือตำบล
  3. ให้นามตามทิศ
  4. ให้นามตามชื่อผู้มีชื่อเสียง
กรมมหาดไทย
  1. ให้นามตามอำเภอต่างๆ
  2. ให้นามตามตำบลสำคัญที่ถนนนั้นผ่านหรือไปถึง
  3. ให้นามตามบรรดาศักดิ์ นามสกุล หรือตำแหน่ง ผู้ที่ริเริ่มสร้างถนน
  4. ให้นามตามชุมชนหรือบุคคลที่มอบที่ดินหรือทุนจัดสร้างถนน
   

        ประมวลจาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.15.2/10 หลักเกณฑ์การขนานนามถนนและขั้วถนนต่างๆ
        (18 กันยายน 2479 – 28 มกราคม 2496)

         

        นอกจากนี้กรมโยธาเทศบาลยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของท้องที่ต่างๆ ในการกำหนดนามถนน ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์คร่าวๆ ดังนี้ (1) ให้ผู้ปกครองส่วนภูมิภาค ได้แก่ ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอ ตั้งชื่อถนนในชุมชนที่ยังไม่ตั้งเทศบาล (2) ชุมชนใดที่ตั้งเทศบาลแล้วให้เทศบาลเป็นผู้ขนานนามถนนในเขตเทศบาล และ (3) ถนนที่อยู่นอกเขตชุมชนให้กรมโยธาเทศบาลเป็นผู้ขนานนามถนนเพื่อความสะดวก[9]

        เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วได้ลงมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ของกรมมหาดไทยที่เสนอมา กล่าวคือ ชื่อถนนแต่ละสายจะกำหนดจากหลักการ 4 ประการ ได้แก่ (1) ตั้งชื่อตามอำเภอ (2) ตั้งชื่อตามตำบลที่ถนนผ่านหรือไปถึง (3) ตั้งชื่อตามบรรดาศักดิ์ นามสกุล หรือตำแหน่งของผู้ริเริ่มสร้างถนน และ (4) ตั้งชื่อตามชุมชนหรือบุคคลที่มอบที่ดินหรือจัดหาทุนสร้างถนน นอกจากนี้เมื่อเทศบาลจะตั้งชื่อถนนควรปรึกษาหารือกับคณะกรมการจังหวัดด้วย ส่วนถนนนอกเขตเทศบาลควรให้คณะกรรมการจังหวัดพิจารณาดำเนินการเอง[10]

         

        การขนานนามถนนและสะพานเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชาติ

        เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2480 การกำหนดชื่อถนนและสะพานสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแนวคิดชาตินิยมของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งวางอยู่บนหลักการว่าชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีความเป็นศิวิไลซ์ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม โดยมีผู้นำของชาติเป็นผู้ผลักดันความเจริญต่างๆ ให้เกิดแก่ชาติไทย ดังนั้นการตั้งชื่อถนนและสะพานสำคัญในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงเปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์แห่งชาติที่เชิดชูชาติไทยและการปกครองระบอบประชาธิปไตย การยกย่องบุคคลสำคัญของชาติ ตลอดจนการรำลึกถึงผู้สละชีพเพื่อรักษาชาติไทย

        การขนานนามทางหลวง “ประชาธิปัตย์” เป็นตัวอย่างชัดเจนของการตั้งชื่อถนนสายสำคัญในช่วงทศวรรษ 2480 กล่าวคือ ในบรรดาทางหลวงที่รัฐบาลระบอบใหม่ได้สร้างทั่วประเทศนั้น ทางหลวงที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ จนถึงอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นทางหลวงที่ยาวที่สุดสายหนึ่งของประเทศไทย มีระยะทางจากศูนย์กลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ จรดฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน ประมาณ 953 กิโลเมตรเศษ การก่อสร้างถนนสายนี้ได้ดำเนินการหลายตอนเชื่อมต่อกับส่วนของทางหลวงที่เคยมีอยู่แล้วเดิม ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-สระบุรี สายสระบุรี-ลพบุรี สายลพบุรี-สิงห์บุรี สายสิงห์บุรี-ชัยนาท สายชัยนาท-นครสวรรค์ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร สายกำแพงเพชร-ตาก สายตาก-ลำปาง สายลำปาง-เชียงราย และสายเชียงราย-เชียงแสนหลวง

        ดังนั้นเมื่อทางหลวงสายนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการจราจรในบางช่วงตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองลพบุรีในปี พ.ศ. 2483 อันมีระยะทาง 158 กิโลเมตร รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงขนานนามทางหลวงสายนี้ว่า ทางหลวง “ประชาธิปัตย์” นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมต่อเนื่องยาวนานมาจากเชียงแสนหลวงถึงกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน[11]

         


        สุภาพสตรีกับป้ายชื่อ “สะพานอำนวยสงคราม” ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำป่าสักบริเวณกลางเมืองสระบุรี
        ที่มาภาพ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์

         

        นอกจากนี้ตามแนวทางหลวงสายนี้ยังมีการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ข้ามลำน้ำสำคัญหลายแห่ง ซึ่งทางราชการได้ขนานนามสะพานเหล่านี้ให้เป็นอนุสรณ์แก่วีรชนผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ด้วย โดยในช่วงระหว่างกรุงเทพฯ ถึงลพบุรี มีอยู่ 7 สะพาน ได้แก่ (1) “สะพานประดิษฐสกลการ” ข้ามคลองบริเวณหลักสี่ ตรงกิโลเมตรที่ 15 มาจากชื่อ ร.ต.อ.ขุนประดิษฐ์สกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ) (2) “สะพานทองจรรยา” ข้ามคลองบางบัว ตรงกิโลเมตรที่ 16 มาจากชื่อ ร.ท.น่วม ทองจรรยา (3) “สะพานศุกรนาคเสนี” ข้ามคลองบางเขน ตรงกิโลเมตรที่ 21 มาจากชื่อ ร.อ.ขุนศุกรนาคเสนีย์ (เจือ ศุกรนาค) (4) “สะพานแก้วนิมิต” ข้ามคลองรังสิต ตรงกิโลเมตรที่ 31 มาจากชื่อ นายดาบ ละมัย แก้วนิมิต (5) “สะพานบัวชม” ข้ามคลองหก ตรงกิโลเมตรที่ 67 มาจากชื่อ นายดาบ สมบุญ บัวชม (6) “สะพานแก่นอบเชย” ข้ามคลองระพีพัฒน์ ตรงกิโลเมตรที่ 85 มาจากชื่อ ร.ต.ต.ทอง แก่นอบเชย และ (7) “สะพานอำนวยสงคราม” ข้ามแม่น้ำป่าสัก ตรงกิโลเมตรที่ 108 มาจากชื่อ พ.ท.หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล)[12]

         

        การเปิดถนนสายสำคัญใน “วันชาติ” 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483

        เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติในปี พ.ศ. 2481 ให้สอดคล้องกับสำนึกใหม่เกี่ยวกับชาติที่ประชาชนมีความสำคัญสูงสุดนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากนั้นรัฐบาลได้จัดงานวันชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเอกราชและความก้าวหน้าของชาติไทย โดยการจัดงานวันชาติครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 มีกิจกรรมที่สำคัญคือ การวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตลอดช่วงเวลาของการจัดงานวันชาตินับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2480 จนถึงต้นทศวรรษ 2500 รัฐบาลได้กำหนดให้มีการเปิดสถานที่สำคัญต่างๆ ของทางราชการในวันชาติ อาทิ อาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน สถานพยาบาล ถนน สะพาน บ่อน้ำสาธารณะ และสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการแสดงความก้าวหน้าของชาติไทยและเน้นย้ำถึงความสำคัญของวันชาติในแต่ละปีอีกด้วย

        ทั้งนี้ในงานวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ได้มีการเปิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรัฐพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน โดยมีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ยิ่งไปกว่านั้นในเช้าวันเดียวกันเวลา 7.50 น. นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ เป็นผู้เปิดถนนสายใหม่ที่ตัดมาบรรจบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

        ทั้งนี้ถนนสายใหม่นี้เป็นถนนคอนกรีตความกว้าง 12.56 เมตร ระยะทางยาว 630 เมตร เชื่อมต่อจากวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังถนนกรุงเกษมริมคลองผดุงกรุงเกษม มีสะพานข้ามคลองบางลำพู 1 แห่ง ความกว้างสะพาน 15 เมตร ยาว 24 เมตร โดยเทศบาลนครกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างถนนสายนี้สำหรับปรับปรุงสุขลักษณะของเมืองกรุงเทพฯ และให้สอดคล้องกับโครงการผังเมืองกรุงเทพฯ ถนนใหม่สายนี้ใช้เวลาสำรวจและก่อสร้างถนนและสะพานนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้ขนานนามถนนสายใหม่ว่า “ถนนประชาธิปไตย” และขนานนามสะพานข้ามคลองบางลำพูว่า “สะพานเฉลิมวันชาติ พ.ศ. 2483” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483[13]

         


        สะพานเฉลิมวันชาติ พ.ศ. 2483
        ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/FieldfeelbyV/posts/803383340047687/

         

        นอกเหนือจากการเปิดถนนสายสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ในวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ยังมีการเปิดถนนและสะพานในจังหวัดธนบุรี เริ่มต้นจากการเปิดถนนตัดใหม่จากวงเวียนใหญ่ไปยังคลองดาวคะนองที่ชื่อว่า “ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยมีพระพิศาลสุขุมวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้เปิดถนนสายนี้ ถัดมาขุนจำนงภูมิเวท ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครและธนบุรี ได้ประกอบพิธีเปิดสะพานข้ามคลองต่างๆ บนถนนสายนี้อีก 4 แห่ง ได้แก่ สะพานข้ามคลองบางไส้ไก่ สะพานข้ามคลองสำเหร่ สะพานข้ามคลองบางน้ำชน และสะพานข้ามคลองบางค้อ[14]

        ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน รัฐบาลได้ประกอบพิธีเปิด “ทางหลวงประชาธิปัตย์” โดยมีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นประธานในพิธี ณ บริเวณสนามเป้า ในพิธีเปิดทางหลวงนี้ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มีพระดำรัสถึงความสำคัญของทางหลวงประชาธิปัตย์ที่เชื่อมโยงประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นเครื่องเตือนใจถึงความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่สามารถรักษาอิสรภาพนับตั้งแต่อดีตจนถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้ นอกจากนี้การขนานนามสะพานขนาดใหญ่บนถนนสายนี้ยังเป็นอนุสรณ์และเกียรติยศสำหรับผู้ล่วงลับที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและระบอบประชาธิปไตย[15]

        ภายหลังพิธีเปิดถนนประชาธิปัตย์ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรียังได้เดินทางด้วยขบวนรถยนต์ไปตามถนนสายนี้เป็นปฐมฤกษ์ไปยังจังหวัดลพบุรี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการเดินทางนี้เป็นพิธีกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสำคัญของทางหลวงแผ่นดินและสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำในยุคระบอบใหม่ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางด้วยยานพาหนะรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดิน อันเป็นระบบการคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็วในยุคระบอบใหม่ กำหนดการเดินทางเริ่มต้นเวลาเที่ยงตรงหลังจากเสร็จพิธีเปิดถนนประชาธิปัตย์ ระหว่างการเดินทางนายกรัฐมนตรีจะแวะประกอบพิธีกรรมตามสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับทางหลวงแผ่นดินสายนี้ เริ่มต้นจากการวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ เพื่อระลึกถึงวีรชน 17 ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช จากนั้นการเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อประกอบพิธีแจกเครื่องหมายศิษย์การบิน นายกรัฐมนตรีจะออกจากสนามบินดอนเมืองเวลาบ่ายโมงเพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดลพบุรี

        สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ระหว่างการเดินทางผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี จนถึงลพบุรี แต่ละจังหวัดจะมีการสร้างประตูชัยเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรี มีข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าราชการคอยรับรอง และมีพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา โดยนายกรัฐมนตรีจะหยุดบริเวณประตูชัยประมาณ 5 นาที เพื่อนมัสการพระสงฆ์ ปราศรัยกับข้าราชการและประชาชนที่มาต้อนรับ รวมถึงมอบตู้ยาตำราหลวงให้แก่ผู้แทนจังหวัดเพื่อมอบให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่ผ่านตลอดเส้นทาง[16] อันสะท้อนถึงการสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำในระบอบใหม่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นและสามารถนำความเจริญมาสู่จังหวัดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วจากการเดินทางบนทางหลวงแผ่นดิน

        ขบวนรถของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดการเดินทางในช่วงเย็นที่จังหวัดลพบุรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติภารกิจเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล เปิดนิคมกสิกรจังหวัดลพบุรี และเปิดเมืองใหม่จังหวัดลพบุรี จนถึงช่วงค่ำนายกรัฐมนตรีจะกล่าวคำปราศรัยแก่ประชาชนเนื่องในวันชาติ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงจังหวัดลพบุรี ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำของนายกรัฐมนตรีในวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เป็นผลมาจากการสัญจรด้วยระบบถนนบนทางหลวงแผ่นดินประชาธิปัตย์ อันช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางให้กับขบวนรถของนายกรัฐมนตรีได้ถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว

         

        การขนานนามสะพาน “ปรีดีธำรง”

        เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรได้ดำเนินโครงการสร้างทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา เพื่อเชื่อมโยงตัวเมืองอยุธยาเข้ากับทางหลวงประชาธิปัตย์ ทางหลวงสายนี้ยังถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมของผู้คนมายังตัวเมืองอยุธยา กล่าวคือ เดิมนั้นผู้คนล้วนสัญจรมายังเกาะเมืองอยุธยาด้วยเรือเมล์หรือรถไฟแล้วข้ามฟากแม่น้ำด้วยเรือ แต่การตัดทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยาพร้อมกับสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ย่อมทำให้การเดินทางและการขนส่งทางบกระหว่างเกาะเมืองอยุธยากับพื้นที่รอบนอกเกิดความสะดวกยิ่งขึ้น

        สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2483 เมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้ออกกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักในทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2483 โดยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบ้านกระมังและตำบลหอรัตนไชย อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควป่าสัก[17]

        เมื่อสะพานแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 นายควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญว่า สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ความยาวทั้งสิ้น 186 เมตร สมควรที่จะได้รับการขนานนามเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ขนานนามสะพานต่างๆ ในทางหลวงประชาธิปัตย์ ประกอบกับทางราชการยังมิได้เปิดสะพานแห่งนี้ในวันชาติ พ.ศ. 2485 เนื่องจากการก่อสร้างทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา และทางแยกเข้าไปยังสถานีรถไฟอยุธยายังไม่แล้วเสร็จ ทางกระทรวงคมนาคมจึงขอเปิดสะพานพร้อมกับทางหลวงและทางแยกที่กำลังก่อสร้าง พร้อมกับขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาขนานนามสะพานแห่งนี้[18]

         


        สะพานปรีดีธำรง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
        ที่มาภาพ: ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

         

        ทั้งนี้จอมพล ป. ได้พิจารณาและขนานนามสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า “สะพานปรีดีธำรง” แต่เมื่อกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดีกลับปฏิเสธการนำชื่อของท่านมาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ ดังปรากฏข้อความในหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2485 ความว่า

         

        ท่านผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ขอขอบคุนไนเจตนาดีของท่านนายกรัถมนตรีเปนอันมาก ไนการที่ไห้เกียรติยสแก่ท่าน แต่มีเหตุขัดข้องไนการที่จะรับเกียรติยสนี้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าการก่อส้างปรับปรุงอยุธยา ซึ่งท่านได้มีส่วนช่วยเหลือหยู่นั้น มีอาคารหลายแห่งที่อยุธยา ได้มีผู้มาร้องขอจะไห้ไช้นามท่าน แต่ท่านก็ได้ปติเสธไป และว่าขนะที่ท่านหยู่กะซวงการคลัง ได้ดำหริการขุดคลองเข้าสู่นาเกลือ ที่สมุทปราการ กรมชลประทานก็ได้มาทาบทามไช้ชื่อท่านขนานนามคลองนั้น ท่านก็ได้ปติเสธไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้ารับเกียรติยสโดยมีชื่อขนานนามไนสะพานนี้ โดยที่ได้เคยปติเสธรายอื่นมาก่อน ก็จะทำไห้รายที่ต้องปติเสธไปนั้นมีความเสียใจไปได้[19] (สะกดตามต้นฉบับ)

         

        ถึงแม้ว่านายปรีดี พนมยงค์ จะปฏิเสธการนำชื่อไปเป็นนามสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก แต่จากการพิจารณาของจอมพล ป. ยังคงยืนยันให้ขนานนามสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานปรีดีธำรง” เพื่อแสดงความยกย่องและเป็นเกียรติแก่ชาวอยุธยา 2 คนที่เป็นบุคคลสำคัญของชาติและมีบทบาทสำคัญในการบริหารงานราชการของบ้านเมืองนับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พร้อมกันนั้นจอมพล ป. ได้แสดงความเห็นของตนด้วยลายมือในเอกสารราชการว่า

         

        ปรีดี = ยินดี
        ทำรง = คงไว้
        รวมกัน คงไว้ซึ่งความยินดี ไม่เกี่ยวแก่ไครเลย

        ถ้า ปรีดีทำรง เปนนามที่รัถบาลตั้งขึ้นไม่เกี่ยวกับผู้สำเร็ดหย่างใด จึงไม่ว่าเปนต้องเรียนท่านปรีดี ไห้ตั้งไปตามนั้น โดยไม่ต้องถามอะไรอีก

        พิบูล ป.
        17 ก.ย. 85
        [20]

         

        ด้วยเหตุนี้สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้รับการขนานนามจากจอมพล ป. ว่า “สะพานปรีดีธำรง” โดยมิได้รับการคัดค้านจากนายปรีดี พนมยงค์ สะพานอนุสรณ์แห่งนี้ได้ประกอบพิธีเปิดพร้อมกับทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ซึ่งตรงกับวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี[21]

         

        หลักการตั้งชื่อถนนเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้สร้างถนน

        ในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยแรก ได้เกิดแนวคิดการตั้งชื่อถนนเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้สร้างทางขึ้น โดยแนวคิดนี้เป็นผลพวงมาจากการขนานนามถนน 6 สายสำหรับการอพยพพลเมืองจากภัยทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ทางกระทรวงมหาดไทยได้สร้างถนนใหม่และขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณานามถนนใหม่ 6 สาย ดังนี้

        (1) ถนนหลักสี่-มีนบุรี ตั้งชื่อว่า “ถนนพิบูลสงคราม”
        (2) ถนนบางซื่อ-บางกะปิ ตั้งชื่อว่า “ถนนสังวร”
        (3) ถนนเอกมัย-คลองแสนแสบ ตั้งชื่อว่า “ถนนไทยตามผู้นำ”
        (4) ถนนพระโขนง-คลองแสนแสบ ตั้งชื่อว่า “ถนนไทยตามผู้นำ”
        (5) ถนนดาวคะนอง-สามแยกบางขุนเทียน ตั้งชื่อว่า “พรหมนิมิต”
        (6) ถนนนนทบุรี-ตลาดขวัญ ตั้งชื่อว่า “ถนนมหาดไทยบำรุง”

        อย่างไรก็ตามเมื่อจอมพล ป. พิจารณานามถนนที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา ได้มีคำสั่งลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 ว่า “หลักการตั้งชื่อถนนและสพานนั้น ฉันหยากไห้เปนประวัติแก่คนก่อส้างคือ คนอำนวยการ” ดังนั้นจอมพล ป. จึงมีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่อถนนทั้ง 6 สายใหม่[22] และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งชื่อถนนและสะพานตามชื่อบุคคลสามัญชนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางหลวงสายต่างๆ ทั้งผู้อำนวยการและนายช่างที่ควบคุมการก่อสร้าง แต่แนวคิดข้างต้นกลับยังมิได้ดำเนินการ เนื่องจากจอมพล ป. ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

        จนกระทั่งจอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491 จึงได้มีการรื้อฟื้นแนวคิดการตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินตามชื่อบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างทางอีกครั้ง เริ่มต้นจากการตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2493 ทั้งนี้กรมทางเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งชื่อถนนและสะพานขนาดใหญ่ จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะนำบัญชีรายชื่อถนนและสะพานขนาดใหญ่มาเสนอให้จอมพล ป. พิจารณา โดยจอมพล ป. เอาใจใส่ต่อการตั้งชื่อถนนและสะพานเหล่านี้มากจนถึงขนาดแก้ไขชื่อถนนด้วยตัวเองก่อนประกาศใช้

        สำหรับความน่าสนใจของชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ที่ถูกตั้งชื่อในปี พ.ศ. 2493 ชื่อทั้งหมดล้วนเป็นชื่อบุคคลสามัญชน โดยไม่ปรากฏพระนามของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ แม้ว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอพระนามของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์มาเป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินคือ ทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ใช้นามว่า “ถนนพระเจ้าตากสิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้ากรุงธนบุรี แต่จอมพล ป. ได้แก้ไขเป็น “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) อธิบดีกรมทาง ขณะที่ทางหลวงแผ่นดินสายหินกอง-อรัญประเทศ ที่ใช้นามว่า “ถนนกษัตริย์ศึก” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทว่าจอมพล ป. ได้รวมทางหลวงสายนี้เข้ากับทางหลวงแผ่นดินสายบ้านภาชี-หินกอง และกำหนดชื่อทางหลวงแผ่นดินสายบ้านภาชี-หินกอง-นครนายก-อรัญประเทศ ว่า “ถนนสุวรรณศร” เพื่อเป็นเกียรติแด่นายธะทรง สุวรรณศร อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางกรุงเทพฯ[23]

        นอกจากนี้จอมพล ป. ยังมีการแก้ไขชื่อทางหลวงแผ่นดินอีก 2 สายที่กระทรวงคมนาคมเสนอมา คือ ทางหลวงแผ่นดินสายประชาธิปัตย์ ที่ตั้งชื่อใหม่ว่า “ถนนสุขุมวิทย์” จอมพล ป. ได้แก้ไขเป็น “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาพหลพลพยุหเสนาและเป็นการให้เกียรตินำชื่อของท่านมาใช้เป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินสายสำคัญของประเทศไทย ส่วนทางหลวงแผ่นดินสายสามแยกดอนกระเบื้อง-กาญจนบุรี-ปิล๊อก ที่กระทรวงคมนาคมตั้งชื่อว่า “ถนนพหลโยธิน” จอมพล ป. ได้แก้ไขเป็น “ถนนแสงชูโต” เพื่อเป็นเกียรติแด่หลวงอุปกรณ์รัฐวิถี (สระ แสงชูโต) อดีตนายช่างใหญ่กรมทาง[24]

        หลังจากจอมพล ป. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี “เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่” ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ที่แสดงรายชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานสำคัญทั่วราชอาณาจักรที่ถูกขนานนามจากชื่อบุคคลสามัญชนที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติหรือมีบทบาทสำคัญในการสร้างทางหลวงแผ่นดิน อาทิ ทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ใช้ชื่อว่า “ถนนเพชรเกษม” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงเพ็ชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) อธิบดีกรมทางปัจจุบัน ทางหลวงแผ่นดินสายบางเขน-นนทบุรี ใช้ชื่อว่า “ถนนงามวงษ์วาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายดำรง งามวงษ์วาน อดีตช่างกำกับหมวดการทางนนทบุรี และทางหลวงแผ่นดินสายวังน้อย-อยุธยา ใช้ชื่อว่า “ถนนโรจนะ” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายวิธี โรจนะ นายช่างกำกับแขวงการทางหินกอง[25]

         

        ส่งท้าย

        การขนานนามถนนและสะพานสมัยคณะราษฎรสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับชาติที่ให้ความสำคัญกับประชาชน รวมถึงการเชิดชูชาติไทยที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยชื่อถนนสายสำคัญและสะพานขนาดใหญ่นั้น รัฐจะกำหนดขึ้นตามนามบุคคลสำคัญของชาติ เหตุการณ์สำคัญของชาติไทย รวมถึงนามบุคคลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ นอกจากนี้รัฐยังได้นำชื่อบุคคลสามัญชนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางหลวงแผ่นดินมาใช้ในการขนานนามถนนและสะพานสำคัญทั่วประเทศนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าทางหลวงสายสำคัญและสะพานขนาดใหญ่ในยุคสมัยคณะราษฎร จึงเป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมถึงเป็นอนุสาวรีย์ที่สื่อความหมายถึงระบอบใหม่และสามัญชนที่ได้วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้แก่คนรุ่นหลัง

         

        เอกสารอ้างอิง

        • กระทรวงคมนาคม. อนุสรณ์กระทรวงคมนาคม 2497. พระนคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2497.
        • กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา. “สะพานปรีดี-ธำรง ภารกิจฟื้นลมหายใจให้เกาะเมืองอยุธยา,” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/07/765 (23 มีนาคม 2567).
        • ข่าวโฆษณาการ 1, 2 (มีนาคม 2481).
        • ข่าวโฆษณาการ 3, 3 (มิถุนายน 2483).
        • ข่าวโฆษณาการ 3, 4 (กรกฎาคม 2483).
        • ข่าวโฆษณาการ 3, 5 (สิงหาคม 2483).
        • ณัฐพล ใจจริง, “การตัดถนนสมัยคณะราษฎร : อิสรภาพในการเดินทาง และส่งเสริมความเจริญให้ท้องถิ่นภายหลังการปฏิวัติ 2475,” เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_724616 (21 มีนาคม 2567).
        • ปนิตา จิตมุ่ง. “การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
        • ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 67 เล่ม 67 (12 ธันวาคม 2493).
        • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (26 กุมภาพันธ์ 2482).
        • ราชกิจานุเบกษา เล่ม 57 (24 มิถุนายน 2483).
        • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 43/2479 (23 กันยายน 2479).
        • วัลยา. “การต่อสู้บนถนนสายประดิษฐ์มนูธรรม.” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2022/05/1097#_ftnref3 (21 มีนาคม 2567).
        • ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562.
        • สถาบันปรีดี พนมยงค์. “สะพานปรีดี-ธำรง อนุสรณ์แห่งพระนครศรีอยุธยา,” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1174#_ftnref6 (23 มีนาคม 2567).
        • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “สมัคร สุนทรเวช กับถนนปรีดี.” เข้าถึงได้จาก https://www.oknation.net/post/detail/634d7efabe7f6c666894e9ee (21 มีนาคม 2567).
        • สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุเล่าเรื่องถนนเมืองบางกอก เล่ม 2 รัชกาลที่ 6-9. กรุงเทพฯ: สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, 2557.
        • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.15.2/10 หลักเกณฑ์การขนานนามถนนและขั้วถนนต่างๆ (18 กันยายน 2479 – 28 มกราคม 2496).
        • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.4/12 สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควป่าสักในทางหลวง สายวังน้อย-อยุธยา-ลพบุรี-นครราชสีมา (9 กันยายน 2483 – 31 สิงหาคม 2486).
        • หจช. (2)สร.0201.97.3.1/2 เรื่องเปิดสถานที่ต่างๆ ในวันชาติ พ.ศ. 2483 (ตอนที่ 2) (17 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2483).
        • อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. “ถนนสุขุมวิทกับการขยายตัวของกิจการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทยช่วงทศวรรษ 2480-2520,” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 2, 1 (เมษายน-กันยายน 2558): 14-63.

          


        [1] กระทรวงคมนาคม, อนุสรณ์กระทรวงคมนาคม 2497 (พระนคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2497), น. 95.

        [2] “ความก้าวหน้าของการสร้างทางตามโครงการห้าปี,” ใน ข่าวโฆษณาการ 1, 2 (มีนาคม 2481): 15.

        [3] ณัฐพล ใจจริง, “การตัดถนนสมัยคณะราษฎร : อิสรภาพในการเดินทาง และส่งเสริมความเจริญให้ท้องถิ่นภายหลังการปฏิวัติ 2475,” เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_724616 (21 มีนาคม 2567).

        [4] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ : จุดเริ่มต้นสู่การอันตรธาน พ.ศ. 2476-2561,” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), น. 231.

        [5] อำพิกา สวัสดิ์วงศ์, “ถนนสุขุมวิทกับการขยายตัวของกิจการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทยช่วงทศวรรษ 2480-2520,” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 2, 1 (เมษายน-กันยายน 2558): 23.

        [6] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวง 5 สาย ในจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี และจังหวัดนนทบุรี พุทธศักราช 2482,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (26 กุมภาพันธ์ 2482), น. 2314-2316; สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, จดหมายเหตุเล่าเรื่องถนนเมืองบางกอก เล่ม 2 รัชกาลที่ 6-9 (กรุงเทพฯ: สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, 2557), น. 138-159; “เรื่องถนน 5 สายใกล้พระนคร,” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 4 (กรกฎาคม 2483): 764.

        [7] ปนิตา จิตมุ่ง, “การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554), น. 128-141.

        [8] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.15.2/10 หลักเกณฑ์การขนานนามถนนและขั้วถนนต่างๆ (18 กันยายน 2479 – 28 มกราคม 2496).

        [9] เรื่องเดียวกัน.

        [10] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 43/2479 (23 กันยายน 2479).

        [11] “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องขนานนามทางหลวงประชาธิปัตย์,” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 3 (มิถุนายน 2483): 400-401.

        [12] “เรื่อง การกระทำพิธีเปิดทางหลวง “ประชาธิปัตย์” ตอนจากกรุงเทพฯ-ลพบุรี,” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 5 (สิงหาคม 2483): 1022-1023.

        [13] หจช. (2)สร.0201.97.3.1/2 เรื่องเปิดสถานที่ต่างๆ ในวันชาติ พ.ศ. 2483 (ตอนที่ 2) (17 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2483); “รายงานการสร้างอนุสสาวรีย์ “ประชาธิปไตย”,” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 (24 มิถุนายน 2483), น. 870-876.

        [14] หจช. (2)สร.0201.97.3.1/2 เรื่องเปิดสถานที่ต่างๆ ในวันชาติ พ.ศ. 2483 (ตอนที่ 2) (17 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2483).

        [15] “เรื่อง การกระทำพิธีเปิดทางหลวง “ประชาธิปัตย์” ตอนจากกรุงเทพฯ-ลพบุรี,” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 5 (สิงหาคม 2483): 1026.

        [16] “คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงแต่ประชาชนชาวจังหวัดปทุมธานี อยุธยา สระบุรี ลพบุรี ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2483,” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 4 (กรกฎาคม 2483): 833-834.

        [17] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.4/12 สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควป่าสักในทางหลวง สายวังน้อย-อยุธยา-ลพบุรี-นครราชสีมา (9 กันยายน 2483 – 31 สิงหาคม 2486).

        [18] เรื่องเดียวกัน.

        [19] เรื่องเดียวกัน.

        [20] เรื่องเดียวกัน.

        [21] สถาบันปรีดี พนมยงค์, “สะพานปรีดี-ธำรง อนุสรณ์แห่งพระนครศรีอยุธยา,” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1174#_ftnref6 (23 มีนาคม 2567); กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, “สะพานปรีดี-ธำรง ภารกิจฟื้นลมหายใจให้เกาะเมืองอยุธยา,” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/07/765 (23 มีนาคม 2567).

        [22] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.15.2/10 หลักเกณฑ์การขนานนามถนนและขั้วถนนต่างๆ (18 กันยายน 2479 – 28 มกราคม 2496).

        [23] เรื่องเดียวกัน.

        [24] เรื่องเดียวกัน.

        [25] “เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่,” ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 67 เล่ม 67 (12 ธันวาคม 2493), น. 6377-6389.