ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

PRIDI Interview ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ : 91 ปี กบฏบวรเดช พื้นที่ความทรงจำจากอดีตถึงปัจจุบัน

31
ตุลาคม
2567

 

 

 

คำถาม :

สวัสดีทุกท่านครับกลับมาสู่รายการ PRIDI Interview อีกครั้งนึงนะครับ ในโอกาสเดือนนี้เป็นเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีความสำคัญมาก เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นภายในเดือนนี้นะครับเหตุการณ์แรกที่ทุกคนอาจจะนึกถึงก็คือช่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็นอกจากเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้วก็ยังมีเหตุการณ์ 14 ตุลาเหมือนกัน แต่อีกเหตุการณ์นึงที่มีความสำคัญในงานสำคัญของเดือนตุลานี้ก็คือเรื่องของการเกิดกบฏบวรเดชครับ

วันนี้ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ อยู่กับอาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ จึงอยากจะชวนอาจารย์มาคุยเกี่ยวกับเรื่องของการเกิดกบฏบวรเดชว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร รวมถึงบทบาทของกบฏบวรเดชกับการเมืองไทยร่วมสมัย ขอเริ่มให้อาจารย์ช่วยเล่าเเบ็กกราวนด์เหตุการณ์การเกิดกบฏบวรเดชที่มาที่ไปครับ

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :  

ถ้าพูดถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชจริง ๆ แล้วมันคือเป็นชุดของเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ประมาณปลายปี 2475 แล้วมาจนถึงประมาณเดือนตุลาคม ก็คือปลายเดือนตุลาคม ปี 2476 ซึ่งมันเป็นชุดของความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นมาคุกรุ่นระหว่างกลุ่มตัวแทนระบอบใหม่กับกลุ่มตัวแทนระบอบเก่าแล้วปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจนเลยก็คือการที่ทหารหัวเมืองกลุ่มหนึ่งมีผู้นำก็คือ พระองค์เจ้าบวรเดช เรียกตัวเองว่าคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งต่อมาถูกติดป้ายชื่อว่ากบฏบวรเดช ก็คือมีการลุกฮือขึ้นมาแล้วก็มีการยื่นคำขาดให้รัฐบาลพระยาพหลฯ จะต้องลาออกแล้วก็มีการใช้อาวุธและอะไรต่าง ๆ ในการที่จะมาต่อสู้แล้วก็ถ้าเรามาดูมันก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า สงครามกลางเมืองครั้งแรกเลยในประวัติศาสตร์ทางเมืองไทยที่มีการทั้งสองฝ่ายเนี่ยมีการจัดตั้งในลักษณะกองกำลังทหาร กองกำลังตำรวจ กองกำลังติดอาวุธเนี่ยสู้ห้ำหั่นกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

ในส่วนนี้สุดท้ายแล้ว ฝ่ายกบฏบวรเดชหรือว่าคณะกู้บ้านกู้เมือง ก็คือพ่ายแพ้ต่อรัฐบาลคณะราษฎรที่นำโดยรัฐบาลพระยาพหลฯ ซึ่งถ้าเรามาดูย้อนกลับไปเรามาถ้าเกิดจะอธิบายเหตุการณ์กบฏบวรเดช เราก็สามารถอธิบายว่าก็คือชุดของเหตุการณ์ที่เป็นความขัดแย้งที่มันมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2475 ถ้าเกิดเราไปดูเอาจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรียกว่าการปฏิวัติ 2475  ในด้านนึงมันคือการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ในช่วงแรกเราก็จะเห็นชัดเจนเลยก็คือการเปลี่ยนแปลงระบอบนี้มันจะมีลักษณะค่อนข้างที่จะประนีประนอมสูงมาก ๆ

การประนีประนอมในที่นี้ก็คือนับตั้งแต่การที่อัญเชิญรัชกาลที่ 7 มาเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญพร้อมกันนั้นทางคณะราษฎรยังยอมที่จะให้รัชกาลที่ 7 ก็คือมีการร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของรัชกาลที่ 7 เห็นชัดเจนเลยก็คือตัวแทนในการร่างส่วนใหญ่ที่จะประกอบด้วยข้าราชการในระบอบเก่า ในขณะที่ตัวแทนคณะราษฎรมีแค่คนเดียวคือ อาจารย์ปรีดีสุดท้ายแล้วกระบวนการทั้งหมดก็คือเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม ก็คือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งท่าทีการประนีประนอมอะไรต่าง ๆ มันก็น่าจะราบรื่น ขณะเดียวกันก่อนจะมีการประกอบพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญก็มีการขอขมาอะไรต่าง ๆ คณะราษฎรก็คือมีการขอพระราชทานขอขมาโทษอะไรต่าง ๆ ที่มีการล่วงเกินอะไรในประกาศราษฎรอะไรต่าง ๆ ในส่วนนี้ท่าทีมันก็เห็นชัดเจนเลยว่าน่าจะเป็นการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำระบอบใหม่กับระบอบเก่าแต่อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าเอาจริงแล้วเนี่ยตั้งแต่ปลายปี 2475 จะเริ่มเห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งตอนนั้นพระยามโนฯ ก็เป็นข้าราชการในระบอบเก่าที่รัฐบาลคณะราษฎรพร้อมที่จะประนีประนอมด้วยการให้มาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

 

 

ในส่วนนี้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ก็มีท่าทีอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างจะมีความขัดแย้งกับรัฐบาลซึ่งก็เห็นชัดเจนตั้งแต่กรณีเรื่องของพรรคการเมืองระหว่างสมาคมคณะราษฎรกับคณะชาติอะไรต่างๆ สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็คือ รัฐบาลพระยามโนฯ ก็ยกเลิกพรรคการเมืองไป ขณะเดียวกันในช่วงปลาย ๆ ปีประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์เดือนมีนาคม อาจารย์ปรีดีก็คือมีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในที่ประชุมคณะมนตรีแต่สุดท้ายแล้วก็คือถูกคัดค้านอะไรต่าง ๆ และเริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้นเมื่ออาจารย์ปรีดีจะมีการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสุดท้ายถูกคัดค้านแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ ก็คือการที่พระยามโนปกรณ์ฯ ยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน 2476 สุดท้ายแล้วก็มีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่แล้วก็เอาบรรดาพวกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งออกไปจากตำแหน่งในรัฐมนตรีซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อาจารย์ปรีดี จากนั้นก็พูดง่าย ๆ ก็คือมีการกระบวนการการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมันไม่ใช่แบบปกติที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

แต่มีการที่นายกรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ แล้วก็งดใช้รัฐธรรมนูญฯ บางมาตราซึ่งไม่ได้ระบุว่ามาตราไหน สุดท้ายคือเสมือนกับว่าเป็นการยึดอำนาจด้วยวิธีทางที่มันผิดระบอบรัฐธรรมนูญ โดยที่ตอนนั้นก็คือมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจากสภาฯ เพราะสภาฯ ก็คือถูกยุบหายไป ก็คือปิดสภาฯไปนะครับ พร้อมกันนั้นก็คือ รัฐบาลมีอำนาจเต็ม และสามารถออกกฎหมายอะไรต่าง ๆ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในนั้นก็คือกฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการพูดถึงการโจมตีเค้าโครงการเศรษฐกิจว่ามีเนื้อหาเป็นคอมมิวนิสต์อะไรต่าง ๆ พร้อม ๆ กันนั้นก็มีการส่งตัวอาจารย์ปรีดีไปฝรั่งเศส ก็คือคล้ายๆ กับการเนรเทศนั่นแหละ ส่วนนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งที่เห็นได้เด่นชัดแล้ว และเป็นความขัดแย้งที่มันมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2475

กระทั่ง เมื่อเข้าสู่วันที่ 1 เมษา ก็คือพระมโนปกรณ์นิติธาดา ยึดอำนาจจากนั้นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกำลังพลอะไรต่าง ๆ ในกองทัพด้วยการปลดแล้วก็มีการอะไรต่าง ๆ ที่สุดท้ายแล้วมันทำให้คณะราษฎรต้องมีการโต้การยึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์ฯ ก็คือนำโดยพระยาพหลฯ หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม ในการยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์ฯ แล้วหลังจากนั้นก็คือพูดง่าย ๆ ก็คือเอาระบอบรัฐธรรมนูญกลับมากลไกระบอบรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็นำไปสู่การยึดอำนาจครั้งที่ 2 ก็คือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 หลังจากนั้นก็คือสภาฯ ก็มีการลงมติให้พระยาพหลฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ก็คือเชิญอาจารย์ปรีดีกลับมาในประเทศ ขณะเดียวกันระหว่างตั้งแต่ช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงช่วงเดือนตุลาคมก็เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ทางฝ่ายระบอบเก่ารู้สึกว่าไม่พอใจมากๆ นั้นก็คือ กรณีที่ถวัติ ฤทธิเดช ซึ่งเป็นผู้นำกรรมกรรถรางที่มีการฟ้องร้องรัชกาลที่ 7

ในส่วนนี้ก็คือฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าก็เห็นว่ามันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอะไรต่าง ๆ ประกอบกับมีการเชิญอาจารย์ปรีดีกลับมาในประเทศ แล้วข้อหาคอมมิวนิสต์อะไรต่าง ๆ มันก็ยังถูกใส่ร้ายป้ายสีอะไรต่าง ๆสุดท้ายแล้วก็นำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏบวรเดชบรรดาทหารหัวเมืองได้มีการรวมกลุ่มกัน ถ้าเราไปดูทหารหัวเมืองก็มีตั้งแต่โคราช นครสวรรค์ และก็มีอุบลราชธานี คือส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานแล้วก็จะมีเพชรบุรี ราชบุรี ส่วนนี้ก็คือพยายามที่จะมาล้อมกรุงเทพฯ แล้วก็มายื่นคำขาดให้รัฐบาลพระยาพหลฯ ลาออก ซึ่งในส่วนนี้ทางฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่มีผู้นำก็คือ พระองค์เจ้าบวรเดชฯ ที่มีการยื่นคำขาดว่ามีข้อเสนอ 6 ข้ออะไรต่าง ๆ ถ้าเราไปดูรายละเอียดทั้งหลาย

ในด้านหนึ่งก็คือเป็นข้อเสนอที่มันให้ประโยชน์กับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองและเป็นโทษต่อฝ่ายคณะราษฎรก็มีตั้งแต่เรื่องการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิกประเภทสองก็คือบรรดาพวก สส. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งคือต้องมาจากการเลือกของพระมหากษัตริย์แทนที่จะเป็นรัฐบาลแบบคณะราษฎรทำ หรือไม่ก็เรื่องของการผลัดเปลี่ยนบรรดาพวกข้าราชการ ก็คือจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ โดยไม่ต้องถึงพิจารณาถึงเรื่องการเมืองอะไรต่าง ๆ และก็อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการจัดสรรอาวุธระหว่างทหารหัวเมืองกับทหารส่วนกลางนอกจากนี้ก็คือห้ามข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งการเมือง ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรนะครับ

 

 

คำถาม :

ความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่เกิดขึ้น การเกิดกบฏบวรเดชเป็นปฏิกิริยาที่โต้กลับฝั่งคณะราษฎรแล้วในมุมของอาจารย์ นอกจากวัตถุประสงค์ที่เขาพูดว่าต้องการที่จะนำพาระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่าเป็นประชาธิปไตยที่บิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ควรจะเป็นไม่ได้เหมือนอย่างสิ่งที่คณะราษฎรวางไว้ อาจารย์มองว่าลึก ๆ แล้ว วัตถุประสงค์อื่น ๆ ของเขามีสิ่งใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ปัญหาอย่างหนึ่งของเรื่องกบฎบวรเดชคือ ฝ่ายกบฏบวรเดชก็พูดไม่หมด อย่างน้อยเนี่ยพูดไม่หมดในแง่หนึ่งของการยื่นคำขาดอย่างหลัก 6 ข้อของกบฏบวรเดช เราก็จะพบว่าเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ ก็คือพูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นเนื้อหาสาระที่มันถูกเผยแพร่หลังจากที่คณะกู้บ้านกู้เมืองมาล้อมรัฐบาลแล้ว พูดง่ายๆ น่าจะประมาณวันที่ 13 ในการเผยแพร่ข้อเรียกร้องของพวกเขา และก็ขณะเดียวกันทั้งที่จริง ๆ แล้วคณะกู้บ้านกู้เมืองก็ส่งกองทัพมาล้อมรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 11 ขณะเดียวกันเนื้อหาสาระอะไรบางอย่าง ถ้าเกิดเราไปดูจากหนังสืองานศพเราก็จะเห็นความหลากหลายของกลุ่มแล้วก็ข้อเรียกร้องแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันเยอะพอสมควร บางกลุ่มก็คือต้องการย้อนกลับไปสู่ระบอบเก่า คือกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บางกลุ่มต้องการให้อยู่ในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแต่มีการเพิ่มพระราชอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ บางกลุ่มอาจจะมีการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องของความไม่เสมอภาคกันระหว่างทหารส่วนกลางกับทหารหัวเมือง ซึ่งมีการทรีทแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแง่ของงบประมาณ ในแง่ของอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้เราก็เห็นข้อเรียกร้องอะไรต่างๆ หลายข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างจะมีความหลากหลาย แต่ข้อเรียกร้อง 6 ข้อ เหมือนเป็นข้อเรียกร้องกลางอะไรบางอย่างที่เป็นการรวมกลุ่มกันของบรรดาคนที่เข้ามามีส่วนร่วมแต่ทุกคนมีจุดร่วมร่วมกัน คือต้องการที่จะล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่เป็นตัวแทนของคณะราษฎร แต่สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของพวกเขา เราก็จะเห็นชัดเจนเลยคือการเคลื่อนไหวที่ผิดกฎกติกาภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการใช้กำลังในการยึดอำนาจนะครับ

คำถาม :  

มรดกที่เกิดขึ้นหลังจากกบฏบวรเดชได้สร้างพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่องกันมา คือแม้แต่คนที่เป็นกบฏบวรเดชหรือได้ร่วมกบฏบวรเดช เขาก็อาจจะมีมุมมองอย่างหนึ่งของสิ่งที่เขาทำ ทีนี้ในปัจจุบันเองเข้าใจว่าสิ่งนี้ยังเป็นการเมืองที่ยังอยู่คือกบฏบวรเดช ณ วันที่เกิดเหตุการณ์มันก็เป็นการเมือง แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นการเมืองของการใช้สัญญะ หรือการอธิบายเหตุการณ์ของการเกิดกบฏบวรเดชกันอยู่นะครับผม ตรงนี้อยากให้อาจารย์ลองอธิบายหน่อยว่า ปัจจุบันความเคลื่อนไหวที่มันเกิดขึ้นมันเป็นยังไง

 

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

อาจจะต้องย้อนกลับไปหน่อย คือในแง่ของเรื่องของกบฏบวรเดชมีความเป็นการเมืองสูงมาก ความเป็นการเมืองสูงในที่นี้ก็คือมันมันมีการเล่า บางช่วงบางเวลามันมีการเปลี่ยนสถานะ ตัวเอกกับผู้ร้ายชัดเจนเลย เป็นมู้ดเปลี่ยนอารมณ์ชัดเจนมาก อย่างถ้าเกิดเราไปดูในช่วงยุคสมัยคณะราษฎร บรรยากาศของทุกสมัยจะเห็นชัดเจนเลยก็คือ พวกฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง หรือคณะกบฏบวรเดช ก็คือเป็นตัวร้ายชัดเจน ในฐานะที่เป็นคนที่พยายามจะล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ คนที่พยายามที่จะกลับไปสู่ระบอบเก่า หรือว่าเป็นพวกกบฏผู้ดีนะครับ เขาใช้คำนี้เลยก็คืออย่างเช่นในงานกุหลาบ สายประดิษฐ์ก็คือ ผู้ดีลุกฮือขึ้นมา  ผู้ดีก่อการกบฏขึ้นมา ในส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกับพวกคณะเจ้าซึ่งก็คือพูดง่าย ๆ คือ เป็นความพยายามการโต้การอภิวัฒน์ 2475 กลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ไปก็มีความหลากหลายนับตั้งแต่พวกนักหนังสือพิมพ์ บรรดากลุ่มเจ้านาย บรรดาพวกทหารหัวเมืองรวมไปถึงบรรดาข้าราชการระบอบเก่าอะไรบางอย่างที่สูญเสียผลประโยชน์ไป บรรยากาศพวกนี้ก็ปรากฎให้เห็นได้จากพวกหนังสือคำให้การหรือว่าบรรดาพวกสารคดีการเมืองที่ถูกผลิตในช่วงยุคสมัยคณะราษฎร หรือไม่ก็ปรากฏในนิยายหรือว่าเรื่องสั้นอย่างที่เห็นชัดเจนเลยก็คือเรื่องสั้นของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ชื่อว่า “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ” ที่นำพล็อตที่เกี่ยวกับการปราบกบฏมาพูดถึงเรื่องราว คนธรรมดาที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบกบฏบวรเดชด้วย

 

 

ขณะเดียวกันบรรยากาศอะไรบางอย่างมันยังมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในการปลุกเร้าให้คนรู้สึกว่าพวกเขาจะต้องมีการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีการสละชีพเพื่อชาติแล้วก็รักษารัฐธรรมนูญอะไรต่าง ๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศพวกนี้มันจะเปลี่ยนแปลงไป อารมณ์ความรู้สึกมันเปลี่ยนแปลงไปได้เพราะว่าสุดท้ายแล้วเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจแล้วทางฝ่ายกบฏ ตอนหลังก็คือบรรดาพวกฝ่ายกบฏได้รับการอภัยโทษและนิรโทษกรรมหลังจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาก็คือเริ่มกลับมามีบทบาททางการเมืองแล้วพร้อมกันนั้นพวกเขาก็ยังมีการเผยแพร่

ก็มีการเขียนงานที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขาในการที่พวกเขามีบทบาททางการเมืองยังไงเข้าไปร่วมกับฝ่ายกบฏและต้องตกระกำลำบากอย่างไร ตอนที่เขาติดคุกไม่ว่าจะเป็นที่บางขวางหรือตะรุเตา

 

 

ในส่วนนี้เป็นผลมาจากการเมืองช่วงเวลาที่คณะราษฎรหมดอำนาจและทำให้ฝ่ายที่เคยเข้าร่วมหรือเคยมีบทบาทในกบฏบวรเดช สามารถบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองถ่ายทอดออกมาผ่านทางพวกงานหนังสือพิมพ์ สารคดีการเมือง หรือไม่ก็เป็นพวกงานเขียนอะไรต่าง ๆ ซึ่งงานเขียนพวกนี้ก็คือจะให้ภาพอีกภาพหนึ่งเลย ก็คือภาพทางมุมมองของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์คณะราษฎร แล้วก็มีการโจมตีระบอบใหม่ครับ

โจมตีคณะราษฎรว่าพวกเขาไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มีลักษณะเป็นคณาธิปไตยอะไรต่าง ๆ แล้วก็ในด้านหนึ่งข้อเสนอการต่อสู้ของฝ่ายกบฏบวรเดชก็คือพยายามที่จะสร้างระบอบที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุคคณะราษฎรก็จะเป็นเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่ง

 

 

ปัญหาที่สำคัญก็คือเรื่องเล่าแบบนี้มันมีความสะเทือนอารมณ์สูงมาก มันสามารถปลุกเร้าดราม่าได้เยอะ แล้วก็ทุกคนอินกันมาก ขณะเดียวกันคณะราษฎรหมดอำนาจ เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าแบบนี้จึงมีอิทธิพลมาก ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 แล้วก็เป็น material เป็นวัตถุดิบสำคัญของนักวิชาการรุ่นหลัง อย่างเช่นงานของนิมิตรมงคล นวรัตน์ หรือว่างานของหลุย คีรีวัต งานของพระยาศราภัยพิพัฒ งานพวกนี้ก็คือฝ่ายกบฏ แต่สุดท้ายก็เป็นวัตถุดิบในการบอกเล่าเรื่องราวที่พูดถึงยุคคณะราษฎรและมีอิทธิพลต่อสังคมมากไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพคณะราษฎรในเชิงลบ และก็มองฝ่ายกบฏในเชิงบวก เราก็เห็นชัดเจนตั้งแต่หลัง 2490 ทั้งในงานเขียนทั่วไป งานเขียนสารคดี รวมไปถึงงานเขียนวิชาการด้วย

คำถาม :

ผมว่ามุมนี้น่าสนใจเหมือนกันเพราะว่าเรากลายเป็นว่าเราอาจจะมองหลักฐาน ในส่วนที่เป็นหลักฐานของคนส่วนใหญ่อาจจะมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ความคิดที่มันถูกถ่ายทอดออกมามันทำให้มีการเปลี่ยนขั้วอย่างที่อาจารย์บอกว่า เดิมเราเคยอาจจะมองกลุ่มกบฏบวรเดชเป็นตัวร้าย แต่ตอนนี้เราพลิกกลับมาพอเรามองตัวมีการพยายามทำให้คณะราษฎรเป็นตัวร้ายของเรื่องนี้ งานที่น่าสนใจคือ ไม่ได้เพียงแค่ในเชิงงานวิชาการอย่างที่อาจารย์ที่บอกอย่างที่ผมเคยเห็นงานละครก็มีความพยายามใช้เหตุการณ์นี้เพื่อพลิกสถานการณ์กลับมา แล้วทำให้คนส่วนใหญ่ เช่น คนชนชั้นกลางทั่ว ๆ ไปในสังคม มองคณะราษฎรกลับไปเป็นตัวร้ายแทน

ความน่าสนใจมีว่า ปฏิบัติการแบบนี้ในมุมของงานทางด้านวรรณกรรม งานทางด้านวิชาการอาจจะค่อนข้างชัดเจนว่าเขามี agenda แบบหนึ่งหรือว่ามีการเอามาใช้งานแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองกลับไปลักษณะของพฤติกรรมของรัฐ คืออาจารย์มีมุมมองยังไงกับความเปลี่ยนแปลงของรัฐบ้าง และรัฐมองเหตุการณ์นี้อย่างไร

 

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ถ้าไปดูเรื่องของรัฐจะเห็นชัดเจน คือรัฐก็ไม่ได้เชิดชูการปราบกบฏบวรเดชเท่าไหร่ อย่างน้อยถ้าเกิดเราไปดูเราก็จะเห็นว่าถึงแม้ว่าจะมีอนุสาวรีย์ปราบกบฏตั้งแต่ปี 2479 แล้วก็มีการประกอบพิธีกรรมทุกปี ทุกวันที่ 14 ตุลามีการวางพวงมาลารำลึกถึงทหารตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตในการปราบกบฏ แต่สุดท้ายแล้วหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจแล้ว อนุสาวรีย์ก็ไม่มีการประกอบพิธีกรรม ในการหล่อเลี้ยงความสำคัญของพื้นที่

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนความหมายของตัวอนุสาวรีย์จากสถานที่ในการรำลึก ในการปราบกบฏ อาจจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือว่ามีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นมากกว่าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความทรงจำของชาติอะไรพวกนี้มากกว่าครับ

อย่างไรก็ตาม ผมว่าส่วนหนึ่ง ความทรงจำทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับว่าสังคมให้ความหมายอย่างไร ตัวอย่างอย่างเช่นในยุคหนึ่งกรณีกบฏบวรเดชเคยเป็นประเด็นที่กบฏบวรเดชมองเป็นตัวร้าย

บางยุคก็คือตั้งแต่หลังคณะราษฎรหมดอำนาจกบฏบวรเดชกลายมาเป็นพระเอกขึ้นมาเป็นฮีโร่ในการสร้างประชาธิปไตย แต่เมื่อผ่านไปแล้วมีการเปิดหลักฐานใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่นเราสามารถเข้าถึงหอจดหมายเหตุแห่งชาตินับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา รวมไปถึงเราสามารถที่จะเข้าถึงเอกสารชั้นต้น สามารถเข้าถึงบันทึกได้

การเข้าถึงเอกสารราชการอะไรต่าง ๆ เราก็จะนำไปสู่การที่จะพิจารณาเหตุการณ์กบฏบวรเดชใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างเช่นในช่วงทศวรรษ 2520 เริ่มมีการพิจารณากบฏบวรเดชในแง่มุมมองของพูดง่าย ๆ คือแง่มุมที่ base on หลักฐานแล้วก็สามารถตีความได้มากขึ้นตัวอย่างเช่นงานอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ที่กลับไปย้อนกลับไปดูเกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์กบฏบวรเดช เรื่องเล่าก็คือ อำนาจที่มีผลต่อเรื่องเล่าอะไรต่าง ๆ ด้วย ซึ่งบรรยากาศพวกนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนหนึ่งเรื่องกบฏบวรเดชสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตีความ 2475 ว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับ 2475 ในแบบไหน ถ้าเราไปดูในปัจจุบันเอาจริงคือ เหมือนกับเหตุการณ์กบฏบวรเดชก็ยังสู้กันไม่จบยังมีการต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันระหว่างฝ่ายที่เชียร์คณะราษฎรกับฝ่ายที่เชียร์กบฏบวรเดชที่ชัดเจนแล้วยิ่งเด่นชัดมากขึ้นคือ แบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้นด้วยซ้ำ

คำถาม :  

ที่น่าสนใจคือ พอเรามองสถานะของกบฏบวรเดชในมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มองอย่างที่อาจารย์บอกคือเป็นสองฝ่าย ระหว่างคนที่มองเป็นประชาธิปไตยก็อาจจะมองว่ากบฏบวรเดชเป็นตัวร้าย แต่พอเรามองในมุมของคนที่เชื่อมั่นในระบอบเดิมหรืออาจจะเชื่อในกบฏบวรเดชอย่างนี้ เราก็อาจจะมองว่าคณะราษฎรเป็นตัวร้าย กลายเป็นว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดการต่อสู้กันจนมาถึงปัจจุบัน แต่อันนึงที่น่าสนใจคือตัวหลักฐานซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์นี้เช่น ตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏซึ่งตอนหลังก็ถูกเปลี่ยนความหมายเป็นอย่างที่อาจารย์บอกเปลี่ยนความหมายให้มันยึดโยงกลับพื้นที่บ้างเป็นอนุสาวรีย์หลักสี่บ้าง ตัวอนุสาวรีย์นี้ผมเข้าใจว่างานชิ้นหนึ่งของอาจารย์ก็ศึกษาเรื่องอนุสาวรีย์ตัวนี้อยู่  สิ่งที่เกิดขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงตัวอนุสาวรีย์สะท้อนภาพเดียวกันกับที่อาจารย์พูดหรือว่าคือความหมายของการปฏิวัติว่าการอภิวัฒน์ 2475 เปลี่ยนแปลงไป

 

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ส่วนหนึ่งก็คือส่วนหนึ่ง เรื่องของอนุสาวรีย์มันเป็นเรื่องของเป็นพื้นที่จัดการความทรงจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการความทรงจำสาธารณะถ้าเราเข้าไปดูการเกิดขึ้นมาของอนุสาวรีย์มันก็เกิดขึ้นมาจากบทบาทของรัฐ ในการที่เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มันมีความสำคัญ และควรที่จะทำให้สังคม คนในชาติรู้สึกว่ามันควรจะมีการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ในการสละชีพเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ก็คือรำลึกถึงทหารตำรวจ 17 คน ฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปราบกบฏ เพราะฉะนั้นจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาตรงบริเวณวงเวียนหลักสี่ ก็คือเป็นเหมือนกันเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายกบฏ

ขณะเดียวกัน อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังมี ไม่ได้อยู่โดด ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของถนนประชาธิปัตย์หรือถนนพหลโยธินปัจจุบัน เป็นถนนที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการปราบกบฏบวรเดชที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ก็คือสนามเป้าไปที่ดอนเมืองซึ่งตอนหลังก็คือ ขยายใหญ่โตไปถึงเชียงรายในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นถนนประวัติศาสตร์ที่มันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การปราบกบฏ พร้อมกันนั้นนอกจากตัวถนนแล้วยังมีตัวสะพานต่าง ๆ ที่เอาชื่อเอานามสกุล หรือว่าเอาราชทินนามต่าง ๆ ของทหารทั้ง 17 คนที่เสียชีวิตมาเป็นตั้งชื่อ ตัวอย่างเช่น สะพานใหม่ หรือว่าสะพานคลองบางบัวอะไรพวกนี้ ก็คือเอาชื่อทหารตำรวจที่เสียชีวิต หรือว่าสะพานอำนวยสงครามที่สระบุรีก็นำชื่อนายทหารฝ่ายรัฐบาลมาตั้ง ซึ่งเป็นการเมืองของความที่พยายามที่จะทำให้สังคมต้องจดจำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปราบกบฏบวรเดชที่รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งยังมีการหล่อเลี้ยงความทรงจำผ่านรัฐพิธีกรรมต่าง ๆ ในแต่ละปี

ทุกปีในช่วงยุคสมัยคณะราษฎร 14 ตุลาคมต้องมีการวางพวงมาลาของหน่วยงานต่าง ๆ หรือว่าโรงเรียนต่าง ๆ มีส่งตัวแทนมาแล้วก็มีงานมหรสพ เฉลิมฉลองอะไรต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการเมืองมันเปลี่ยน คณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้วพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจ ขึ้นมามีอิทธิพลของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งจำนวนหนึ่งก็คืออดีตกบฏบวรเดชเพราะฉะนั้นพิธีกรรมอะไรต่าง ๆ มันจะหมดไปพร้อมกันนั้นก็มีการสร้างความหมายใหม่หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการโจมตีเกี่ยวกับเรื่องอนุสาวรีย์เกี่ยวกับความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องกบฏบวรเดช ซึ่งสุดท้ายแล้วความหมายอะไรที่มันเคยเป็นปฏิทินใน 1 ปี ในวันที่ 14 ตุลาคมมันก็คือหายไปเลย กลับกลายเป็นว่าอนุสาวรีย์นี้กลายมาเป็น พื้นที่โล่งๆ ซึ่งมันก็ไม่ค่อยมีความหมายอะไรต่อประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักอะไรเท่าไรนัก

ในช่วงหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจ มันก็ยังมีความหมายต่อท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นเหมือนเป็นศูนย์กลางแลนด์มาร์คของเขตบางเขน แล้วก็ใกล้ ๆ กันมีวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร และก็มีที่ว่าการอำเภอบางเขนใหม่อะไรพวกนี้ มันก็ยังเหมือนกับเป็นพื้นที่ของศูนย์กลางอำเภอบางเขนและก็เป็นตราประจำอำเภอด้วยพร้อมกันนั้น มันก็มีการเปลี่ยนจากพื้นที่มันมีลักษณะคล้ายเป็นพื้นที่ลานประกอบพิธีกรรมก็กลายเป็นปาร์ค เป็นสวนสาธารณะอะไรต่าง ๆ 

เมื่อความหมายค่อย ๆ เลือนหายไปเรื่อย ๆ คนในยุคหลังมันไม่มีประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวอนุสาวรีย์เพราะฉะนั้น ในบางครั้งบางคราวเราก็จะเห็นว่า เมื่อรัฐมีการพัฒนาเมืองอย่างเช่นมีการตัดถนน หรือว่ามีการขยายพื้นที่ถนน การสร้างทางยกระดับ เขาจึงไม่เห็นความสำคัญของพื้นที่นี้ และบางทีก็คือสร้าง เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์เพื่อที่จะหลบพื้นที่ถนนหรือไม่ก็ในด้านนึงก็คือมีการย้ายอนุสาวรีย์ก็เป็นผลมาจากการที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

สุดท้ายแล้วเนี่ยตัวอนุสาวรีย์มันค่อย ๆ ถูกไร้ความหมายลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อคณะราษฎรถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เราก็จะเห็นชัดเจนก็คือมีกลุ่มคนเสื้อแดง พยายามที่จะยึดโยงประสบการณ์ทางการเมืองของพวกเขาเข้ากับคณะราษฎรแล้วก็สร้างความหมายใหม่ ในการต่อสู้กับฝ่ายอำมาตย์และอนุรักษนิยม เพื่อเชื่อมโยงกับการปราบกบฏบวรเดชอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์ฯ จึงถูกให้ความหมายใหม่ ในฐานะที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการที่จะไปบวงสรวง ในการปราบกบฏอำมาตย์ หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม พื้นที่ในการชุมนุมฯ ก็เป็นการรื้อฟื้นความหมายใหม่ให้กับอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตชีวามากขึ้นในบริบทร่วมสมัยในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 ขณะเดียวกันเมื่อพลังอนุรักษนิยมกลับมาใหม่

ในช่วงหลังปี 2557 เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ อนุสาวรีย์มันก็ถูกลดความหมายไป ก็คือเมื่อมีการตัดรถไฟฟ้ามันก็มี การเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ไปอยู่บริเวณขอบวงเวียนกระทั่งวันดีคืนดีมันก็ถูกยกหายไป ซึ่งมันก็สัมพันธ์อยู่กับบริบทการเมืองของความพยายามในการจัดการให้ความทรงจำของคณะราษฎรหายไปจากสังคม เป็นชุดเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ เช่นการที่หมุดคณะราษฎรหาย การรื้อทำลายตัวอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด แล้วก็ตามมาด้วยการที่ตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏอยู่ๆก็หายไปในปี 2561

คำถาม :

พอเรามองในภาพนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลาของการจัดการกับความทรงจำมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เริ่มตั้งแต่การที่ความหมายของตัวอนุสาวรีย์ค่อยๆ เลือนหายไปกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแต่พอเรามองไปแค่พื้นที่สาธารณะปกติ พอมีการจัดการเมือง วางผังเมืองใหม่มีการเปลี่ยนแปลง zoning พื้นที่เมือง หรือพื้นที่การใช้สอยประโยชน์ เราก็กลายเป็นมองว่าส่วนของอนุสาวรีย์ไม่มีความจำเป็นแล้วก็เลือนหายไปเลยจนถูกโยกย้ายหายไปที่ไหนก็ไม่รู้

อย่างที่อาจารย์ได้พูดถึงในช่วงหนึ่งว่าเรามีการนำการเมืองของกบฏบวรเดชกลับมาพูดอีกครั้งนึง รวมถึงการสร้างความหมายใหม่ ทั้งในฝั่งของประชาธิปไตยและฝ่ายที่เป็นอนุรักษนิยมกลายเป็นว่าพื้นที่ของการสนทนาเรื่องกบฏบวรเดช ยังกลายเป็นประเด็นการเมืองอย่างที่อาจารย์ได้พูดให้เราฟังอันนึงที่ผมรู้สึกว่าคนอาจจะสนใจก็คือ การหวนกลับมาพูดถึงกบฏบวรเดชในความหมายใหม่ โดยเฉพาะในการให้คุณค่าผ่านทางการเชิดชูในฐานะวีรบุรุษ เช่นการตั้งห้องบวรเดช หรือการตั้งพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความยึดโยงกับกบฏบวรเดชมากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาพยายามสร้างความของกบฏบวรเดชใหม่ถูกต้องไหมครับ

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ส่วนตัวของผมมันเหมือนกับเป็นสงครามความทรงจำระหว่างฝ่ายที่พยายามจะยึดโยงกับฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่เขาพยายามที่จะยึดโยงกับคณะกู้บ้านกู้เมืองหรือว่ากบฏบวรเดชครับ เราก็จะเห็นชัดเจนเลยฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยยึดโยงตัวเองเข้ากับคณะราษฎรในการปราบกบฏ แล้วก็เชิดชูฝ่ายคณะราษฎรในการปราบกบฏบวรเดช

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์หรือว่าต้องการให้ประเทศไทยยังไม่ค่อยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยก็คือจะยึดโยงกับคณะกู้บ้านกู้เมืองหรือว่าฝ่ายกบฏบวรเดช ซึ่งอันนี้ก็เป็นบรรยากาศที่มันก็มีนัยยะสำคัญอะไรบางอย่างนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างเช่น กองทัพ ในยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นกองทัพ พูดง่าย ๆ คือ ในยุคสมัยของคณะราษฎร กองทัพมีหน้าที่พิทักษ์ระบอบใหม่ พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ แล้วการขยายตัวของกองทัพมันก็เป็นผลสะเทือนมาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชด้วยซ้ำ

การที่ทหารจะต้องมีบทบาทในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ แต่ไป ๆ มา ๆ กองทัพ ในยุคปัจจุบันเราก็จะเห็นชัดเจนก็คือมีการเชิดชูฝ่ายกบฏบวรเดช แล้วก็มีการสร้างห้องติดชื่อห้องบวรเดชกับศรีสิทธิสงคราม ก็คือ ดิ่น ท่าราบ ที่เป็นนายทหารคนสำคัญในฝ่ายกบฏบวรเดช ซึ่งส่วนนี้มันเป็นอะไรที่กลับหัวกลับหางพอสมควร มันเป็นเรื่องตลกร้ายก็คือ Motto กองทัพในยุคหนึ่งสละชีพเพื่อชาติ มันเป็น Motto (คำขวัญ) ที่เกิดขึ้นมาหลังกบฏบวรเดชสละชีพเพื่อชาติอะไร เพื่อชาติในที่นี้เท่ากับประชาชนในการรักษาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

คำถาม :

อาจจะชวนอาจารย์คุยต่ออีกนิดหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความทรงจำในส่วนนี้ คือพอเรามองว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าสมมติว่า เราอยากจะระลึกถึงเหตุการณ์ของการปราบกบฏในครั้งนี้ เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนในสังคมประชาธิปไตย การให้ความหมายให้ความสำคัญกับพื้น ซึ่ง ปัจจุบันมันไม่ได้มีพื้นที่แบบอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ยืนยันสิ่งนี้อยู่แล้ว เราจะทำอย่างไร เพื่อให้เราระลึกถึงสิ่งนี้ได้

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ในปัจจุบันผมว่าโลกออนไลน์เสริช์เข้าไปมันก็เจออยู่แล้วเรื่องกบฏบวรเดช แล้วก็มีหลายเว็บไซต์ที่มีการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือว่าพื้นที่ หรือว่าอธิบายเหตุการณ์การปราบกบฏเยอะมาก ซึ่งอันนี้ผมก็ว่ามันเป็นผลสะเทือนอย่างหนึ่งของมันเป็น impact หนึ่งของการที่อนุสาวรีย์มันหาย แล้วทำให้คนเริ่มย้อนกลับไปหาอดีต ว่าอนุสาวรีย์อันนี้ที่มันเคยตั้งอยู่มันที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งที่เอาที่จริงๆเมื่อก่อนแทบจะไม่มีคนรู้ประวัติไม่รู้อะไรเรื่องราวต่าง ๆ แต่ก็มีคนกลับเข้าไปหา เข้าไปค้นข้อมูลอะไรต่าง ๆ แล้วก็ไปนำเสนอเรื่องพวกนี้ออกมา

ถึงแม้ว่าตัวอนุสาวรีย์มันจะไม่ ปัจจุบันมันจะไม่อยู่แล้วแต่เราก็รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้พื้นที่บางเขน แถววัดพระศรีมหาธาตุฯ ใกล้ ๆ กับวงเวียนหลักสี่เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ปัจจุบันก็อยากจะยกตัวอย่างเว็บไซต์ล่าสุดที่มีการพูดถึงวัตถุปฏิวัติ มันก็มีการนำเสนอเรื่องของวัตถุสิ่งของที่เคยถูกผลิตสมัยคณะราษฎรแล้วซึ่งบางชิ้นมันหายไปแล้ว  บางชิ้นปัจจุบันก็ไม่อยู่แต่มีการนำเสนอเรื่องพวกนี้ พร้อมกับการนำเสนอคอนเทนต์แล้วก็ภาพถ่ายในอดีตมันเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในปัจจุบันนั้นมันไม่สามารถปิดบังพวกนี้ได้แล้ว และทุกคนสามารถเข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้

ถ้าเราไปดูเรื่องเหตุการณ์กบฏบวรเดช เอาจริงมันนอกเหนือจากอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เรายังพบว่ามีวัตถุสิ่งของมี material อีกเยอะมากที่มันเกี่ยวข้องกับการปราบกบฏไม่ว่าจะเป็นเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่มีการแจกเป็นหมื่นคนเลยนะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามา มีส่วนร่วมทั้งทหารตำรวจพลเรือน รวมไปถึงข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการปราบกบฏแค่ไหน

ในช่วงยุคระบอบใหม่เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เราก็จะเห็นอนุสรณ์สถานที่ตัวอย่างเช่น ถนน สะพาน หรือว่า วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขนหรือไม่ก็อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดอะไรพวกนี้ ซึ่งมันเป็นผลสะเทือนมากจากการปราบกบฏบวรเดชด้วย และบางคนอาจจะไม่นึกว่าอนุสาวรีย์ย่าโม อนุสาวรีย์ย่าโมก็คือเป็นในด้านหนึ่งก็คือเป็นผลกระทบหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชด้วยเพราะว่าในด้านหนึ่งก็คือ อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็คือสร้างขึ้นมาหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเพื่อที่จะเอาใจคนโคราชหลังที่พื้นที่โคราชก็คือเหมือนฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏนะครับ

 

 

คำถาม :

เป็นมุมมองที่น่าสนใจมากครับอาจารย์ ผมรู้สึกว่าเรื่องการพูดถึง material ก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงค่อนข้างจะน้อย ในบริบทเวลาเราที่เราพูดถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เรากำลังคุยกัน

แต่อาจารย์ก็ได้นำเสนอให้เราเห็นว่ามีการพูดถึง material ในลักษณะอื่นหรือการพูดถึงความทรงจำในส่วนนี้ ซึ่งก็ทำให้พื้นที่ความทรงจำมันอาจจะเปลี่ยนไปจากการที่พื้นที่ในกายภาพไปสู่การในโลกออนไลน์ การระลึกถึงอะไรในลักษณะต่าง ๆมากขึ้นในส่วนที่อาจารย์คิดว่ามีอะไรอยากจะฝากในส่วนของทิ้งท้ายเกี่ยวกับการระลึกถึงตัวของคณะราษฎรอีกไหมครับ

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ถ้าพูดถึงคณะราษฎร ปัจจุบันก็มีการนำเสนอในหลากหลายประเด็น ก็มีแล้วแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมีความพยายามที่จะ raise ประเด็นข้อมูลหลักฐานอะไรต่าง ๆ เยอะมากมายแล้วก็พยายามอ้างอิงว่าตัวเองสามารถเข้าถึงสัจจะความจริงแท้อะไรบางอย่าง แต่ในทางประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งก็คือถ้าเกิดจะต้องสู้ มันนอกเหนือจากการสู้ด้วยหลักฐานแล้ว ก็ต้องรู้ว่าคุณอ่านหลักฐานแบบไหน อ่านหลักฐานด้วยแว่นตาแบบไหนได้ การใช้อุดมการณ์ ใช้ทัศนคติ อคติแบบไหนด้วย ซึ่งส่วนนี้ถ้าเกิดยอมรับถึงสัจจะความจริง ก็คือ ไม่โกหกตัวเอง ไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริง ผมว่าคุยกันได้

แต่ส่วนใหญ่ถ้าเราไปดูในปัจจุบัน บางกลุ่มบางฝ่ายก็คือ พร้อมที่จะเล่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริงหรือว่าการตีความด้วยตัวบทหรือว่าการตีความโดยอาศัยการตีความแบบทางประวัติศาสตร์จริง ๆ ซึ่งอันนี้ผมว่าในด้านนึงมันก็เรื่อง 2475 เรื่องคณะราษฎร เรื่องกบฏบวรเดช ผมว่ามันต้องสู้กันอีกนานแล้วก็ในด้านนึงมันก็เป็นประวัติที่มันยังมีชีวิต เป็นประวัติศาสตร์ที่มันยังไม่จบถ้าเกิดเรามองดูอย่างนี้เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันสำคัญกับเรื่องไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม สุดท้ายเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งหลายมันคือรับใช้ปัจจุบันทั้งนั้นนะครับ

ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวที่คนปัจจุบันมองย้อนกลับไปในอดีตซึ่งมันเป็นความมีเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ ที่ประวัติศาสตร์มันไม่มีทางถกเถียงกันแล้วจบ แต่มันก็คือสู้กันไปเรื่อย ๆ ภายใต้ชุดความคิดชุดอุดมการณ์จนกว่าประชาธิปไตยเราจะเบ่งบาน

คำถาม : 

อาจารย์ก็ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของอะไรหลาย ๆ อย่างเช่นเราพูดถึงตัวอนุสาวรีย์แล้วนะครับ ทีนี้อยากชวนอาจารย์คุยต่อว่าในเชิง material เช่นเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือว่าสิ่งที่เป็นวัตถุในการระลึกถึงเหตุการณ์ อาจารย์มีอะไรที่อยากจะแชร์ให้พวกเราฟังไหมครับ

 

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ถ้าพูดถึงวัตถุสำคัญ ในที่เกี่ยวข้องกับการปราบกบฏบวรเดช คือเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วก็เข็มกลัดที่เขาใช้ทางการก็คือเหรียญรัฐธรรมนูญ โดยปกติ ถาเกิดเราไปเสริช์ตามเว็บไม่ค่อยมีประวัติอะไรเท่าไหร่นัก ก็คือเรารู้แต่เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นเครื่องราชฯ ประเภทหนึ่งในการที่สร้างเพื่อที่จะแจกสำหรับคนที่มีส่วนร่วมในการปราบกบฏบวรเดชซึ่งก็แจกทั้งทหารพลเรือนแล้วก็มีรายชื่ออยู่ในราชกิจจานุเบกษาได้ประมาณหมื่นกว่าชื่อ

 

แต่ถ้าเราไปดูเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญพบว่ามันถูกสร้างในปี 2476 กว่าจะออกประมาณปี 2477 และในช่วงระหว่างเหตุการณ์การปราบกบฏเดือนตุลาคมปี 2476 มีการแจกเหรียญตรงนี้ที่เรียกว่าเข็มกลัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข็มกลัดอันนี้แจกให้กับทหาร ตำรวจ และบรรดาพวกข้าราชการที่เข้าร่วมกับการปราบกบฏบวรเดช ในช่วงระหว่างประมาณปลายเดือนตุลาคม คนที่ออกแบบก็คือ หลวงนฤมิตรเรขการ เจ้าของร้านช่างศิลป์ซึ่งลักษณะการออกแบบเหรียญน่าสนใจมากก็คือ เป็นการใช้สัญลักษณ์รูปตัวรัฐธรรมนูญ และก็มีการกำหนดข้อความว่า “สละชีพเพื่อชาติ” ส่วนนี้มันสะท้อนถึงบรรยากาศของยุคสมัยว่าพวกเขาคนได้ที่สัญลักษณ์เหรียญตราอะไรบางอย่างเพื่อที่จะไปต้องการพิทักษ์ปกป้องระบอบใหม่พร้อมที่จะไปสละชีพเพื่อชาติ

 

 

บรรยากาศนี้เราจะเห็นชัดเจนเลยก็คือ การแจกเหรียญเหรียญรัฐธรรมนูญให้กับบรรดาพวกลูกเสือที่เข้าไปมีส่วนร่วมและมีการแจกพวกนี้ ถ้าเกิดไปอ่านงานร่วมสมัยเขามีการพูดถึงว่ามีคนต้องการเหรียญแบบนี้เยอะมากถึงขนาดว่าในช่วงเดือนธันวาคมก็คือเป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญ จัมีบรรดาพวกพ่อค้ามีการขายเหรียญตราอะไรพวกนี้ ถ้าเกิดยุคสมัยนี้ก็ใช้คำว่า “Soft Power” ในยุคนี้ก็คือทุกคนต้องมี

ใครที่อินเทรนด์ก็ต้องมีการกลัดเข็มกลัดอันนี้ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่สะท้อนให้เห็นว่าเขาเนี่ยไปมีบทบาทส่วนร่วมในการปราบกบฏอะไรอย่างนี้ด้วย ซึ่งรายละเอียดอะไรพวกนี้ถ้าเกิดใครสนใจสามารถลองเข้าไปดูในเว็บไซต์วัตถุปฏิวัติก็ได้ครับ ผมเขียนบทความว่าด้วยเรื่องเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้วก็เข็มกลัดพวกนี้ด้วย เข็มกลัดอันนี้มีหลายรุ่นแล้วแต่ละรุ่นมีความน่าสนใจโดยปกติเหรียญมันทำด้วยทองแดง บางทีคือ ชาวบ้านที่ได้เหรียญไปก็คือเอาไปเคลือบด้วยเงิน ด้วยทองเหลืองด้วยนะครับ

นอกจากตัวเข็มแล้วก็ยังมีพวกกระดุมขนาดเล็กด้วยนะครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือสร้างก็คือ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญความน่าสนใจก็คือเป็นเหรียญแพรแถบที่ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปธงชาติ แดงขาวน้ำเงินนะครับ ก็คือเป็นธงไตรรงค์เลย แล้วก็ตัวเหรียญด้านหน้าก็คือเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญเปล่งรัศมี เป็นสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแล้วก็เขียนคำว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้านบน และก็ถ้ากลับด้านอีกด้านหนึ่งก็คือจะเป็นรูปของพระสยามเทวาธิราช ซึ่งส่วนนี้ก็คือเป็นสัญลักษณ์ของเทวดา เป็นเทวดาอารักษ์เป็นเทพพิทักษ์ประเทศสยามนะครับ

อย่างไรก็ตามภายใต้ระบอบใหม่ก็คือเอาสัญลักษณ์เดิมในการที่จะใช้พระสยามเทวาธิราชในการปราบกบฏมาคู่กับพานรัฐธรรมนูญ  แล้วก็มีข้อความที่พระสยามเทวาธิราช ก็คือเขียนคำว่าปราบกบฏ พ.ศ. 2476 แล้วก็เหนือธงแพรแถบเขียนว่าสละชีพเพื่อชาติตอนหลังก็คือกลายเป็น Motto ของกองทัพบก ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นวัตถุสิ่งของที่มีความสำคัญ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปราบกบฏบวรเดช และที่สำคัญก็คือมันไม่ได้แจกเฉพาะข้าราชการ แต่แจกบรรดาคนทั่วไปด้วยสะท้อนให้เห็นความร่วมมือกันของประชาชนทุกกลุ่มที่สนับสนุนระบอบใหม่ในการปราบกบฏบวรเดช

 

นอกจากเหรียญแล้วอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจคือวัตถุในยุคนั้นก็คือตัวใบประกาศซึ่งอันนี้ขาดไปหมดเรียบร้อยแต่ผมก็ได้มา เช่น ใบประกาศน่าสนใจมากคือเป็นใบประกาศเกรียติคุณว่า บุคคลที่มีชื่อได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ซึ่งในตัวใบประกาศก็่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญก็มีข้อความอะไรต่าง ๆ และก็ลงลายมือพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ ข้อความก็คือ ราษฎรคนนี้ได้มีส่วนร่วมในการปราบกบฏในปี 2476  ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจึงขอเชิดชมเชิดชูประมาณนี้

 

นี่ก็เป็นตัวอย่างซึ่งเป็นวัตถุยุคร่วมสมัย แต่ถ้าเกิดเราพูดถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชในยุคปัจจุบัน ก็อยากจะโชว์อันนี้ก็เป็นวัตถุอีกชิ้นหนึ่งนะครับ ก็คือผู้ที่จัดทำขึ้นหลังจากที่อนุสาวรีย์หายก็มีการรำลึกถึงอนุสาวรีย์ ด้วยการทำเป็นโมเดล print 3 D ออกมาก็เป็นบรรยากาศของยุคสมัยที่ตัวอนุสาวรีย์หายไป อันนี้ก็น่าสนใจและอีกชิ้นนึงก็เป็นปฏิทินป๋วยปี 2023 ทำเป็นรูปธีม 90 ปี การปราบกบฏบวรเดช ในส่วนนี้ก็เล่าเหตุการณ์ในปี 2476 ตั้งแต่ต้นปีจนมาถึงปลายปีซึ่งรูปสำคัญก็คือช่วงเดือนตุลาคม ที่เป็นการปราบกบฏบวรเดช อันนี้พระองค์เจ้าบวรเดช หลวงพิบูลสงคราม หลวงอำนวยสงครามแล้วก็การสู้กันที่บางเขน หลักสี่

คำถาม :

ผมว่าเป็นมุมน่าสนใจดีนะครับ เพราะว่าบางอย่างเราก็ไม่เคยเห็นของพวกนี้มาก่อน หรือว่าก็เพิ่งจะรู้จากอาจารย์ว่าเหรียญปราบกบฏมีมากหลายรูปแบบมากแล้วเป็นมีเซต มีทั้งกระดุมที่เอาไว้คือติดที่คอเสื้อใช่ไหมครับ

 

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์

กระดุมปกติถ้าเกิดจะมี มีกระดุมอะไรกลัด ๆ เป็นกระดุมที่ระลึกมากกว่าแล้วก็มีคัฟลิงค์ แต่หลัก ๆ ที่มีการแจกก็คือเข็มกลัดติดกระเป๋าเสื้อซ้าย บางครั้งเมื่อไปดูภาพถ่ายเก่าจะเห็นก็คือเครื่องแบบทหารจะมีการกลัดเข็มกลัดรัฐธรรมนูญสละชีพเพื่อชาติด้วย

คำถาม :  

น่าสนใจมากเลยครับผมคิดว่าเรื่องวัตถุเป็นเรื่องที่หากมีโอกาสก็จะชวนอาจารย์มาคุยอีกเพราะว่าผมเข้าใจว่าของแบบนี้น่าจะหาดูได้ยาก แล้วอาจารย์ก็เป็นผู้เสียสละเงินส่วนตัวให้กับเรื่องนี้พอสมควร สุดท้ายอยากชวนอาจารย์พูดถึงหนังสือของอาจารย์หน่อยได้ไหมครับ

 

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ถ้าเรามาดูหนังสือนะ ก็หนังสือราษฎรธิปไตยฯ ซึ่งหน้าปกเป็นรูปตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏ แล้วก็ดูทะมึน ๆ มืด ๆ หน่อยนะครับ คล้าย ๆ กับวันที่อนุสาวรีย์หายส่วนนี้จะมีบทความหลายชิ้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับยุคสมัยคณะราษฎร หนึ่งในนั้นจะมีการพูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏด้วยก็คือ บทความอนุสาวรีย์ปราบกบฏ จุดเริ่มต้นสู่การอันตรธานคือตั้งแต่ปี 2476 จนถึง 2561 บทความชิ้นนี้ก็น่าจะเป็นบทความที่พูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ค่อนข้างจะครบถ้วนมากที่สุดถ้าสนใจก็สามารถหาอ่านได้นะครับ ปัจจุบันน่าจะเป็น e-book ครับ

 

 

คำถาม :  

วันนี้ก็ขอขอบคุณอาจารย์มากครับผมที่อุตส่าห์มาเล่าให้พวกเราฟังนะครับผม แล้วก็วันนี้ได้ความรู้เยอะมากเลยทั้งในเรื่องของความเป็นมาเป็นไป หรือว่าอีกอันหนึ่งที่อาจารย์แนะนำกับเราแล้วน่าสนใจคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงความทรงจำ ขอขอบคุณอาจารย์มากนะครับ

ขอบคุณผู้ชมทุกท่านที่ติดตามรายการ PRIDI Interview ในเทปนี้ครับ ถ้ามีโอกาสหน้าเราก็อาจจะได้เจอกันอีกครับ

 

 

ผู้สัมภาษณ์ : เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567