ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

โครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนากลางถนนราชดำเนิน (ที่ไม่ได้สร้าง)

14
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • ภายหลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาอสัญกรรมใน พ.ศ. 2490 รัฐบาลและประชาชนพยายามสร้างอนุสรณ์รำลึกให้แก่ท่าน เช่น การก่อตั้งโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เปลี่ยนชื่อถนนสายหลักเป็น “ถนนพหลโยธิน” (เดิมชื่อ “ถนนประชาธิปัตย์”) และตั้งชื่อค่ายทหารเป็น “ค่ายพหลโยธิน”(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ “ค่ายภูมิพล”)
  • บทความนี้เสนอเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2498 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กลางถนนราชดำเนิน โดยให้อยู่ภายใต้โดมพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนบทบาทของท่านในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย
  • สมัยต่อมาหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในป พ.ศ. 2500 รัฐบาลใหม่ไม่ได้สานต่อโครงการดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ โดยเลือกที่จะสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในค่ายพหลโยธินเป็นรูปปั้นท่านในเครื่องแบบทหารปืนใหญ่เต็มยศเพื่อขับเน้นมิติ “ความเป็นทหาร” ของพระยาพหลฯ มากกว่าจะเป็นนักอภิวัฒน์

 

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เชษฐบุรุษ มีคุณงามความดีและประกอบกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากหลาย ปรากฏเกียรติคุณเป็นที่เชื่อถือ และเคารพรักใคร่ไม่ฉะเพาะในหมู่ญาติมิตรสหายเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปทุกชั้นบรรดาศักดิ์ตลอดจนในต่างประเทศด้วย

คำนำของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  พระยาพหลพลพยุหเสนา
ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2490

หลังการอสัญกรรมของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ทางราชการและประชาชนได้พยายามสร้างอนุสรณ์เพื่อการรำลึกถึงคุณงามความดีและผลงานของพระยาพหลฯ ตลอดช่วงทศวรรษ 2490 เริ่มต้นจาก พ.ศ. 2493 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาพหลฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2493 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเรี่ยไรเชิญชวนข้าราชการและประชาชนทั่วประเทศร่วมบริจาคเงิน เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลและอนุสาวรีย์ของพระยาพหลฯ ณ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา” โรงพยาบาลแห่งนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเปิดในวันที่ 3-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2496[1]

ในปลายปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลจอมพล ป. ยังได้เปลี่ยนแปลงชื่อทางหลวงแผ่นดินสายที่ยาวที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสนามเป้า จังหวัดกรุงเทพฯ และมีปลายทางที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากเดิมชื่อทางหลวง “ประชาธิปัตย์” มาเป็น “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาพหลฯ และเป็นการให้เกียรตินำชื่อของพระยาพหลฯ มาใช้เป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินสายสำคัญของประเทศไทย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี “เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่” ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493[2]

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา บริเวณหน้าโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

 

ถัดมาในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหาร ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จากชื่อค่าย “กรมจเรทหารปืนใหญ่” มาเป็น “ค่ายพหลโยธิน” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพหลฯ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยรับราชการในกรมจเรทหารปืนใหญ่[3]

นอกจากนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 รัฐบาลจอมพล ป. ยังได้พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แห่งที่สองในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการรำลึกถึงบทบาททางการเมืองของพระยาพหลฯ ในฐานะหัวหน้าคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แห่งนี้คือ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินกลาง

บทความชิ้นนี้ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กลางถนนราชดำเนิน (ที่ไม่ได้สร้าง) ผ่านการอ่านหลักฐานชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แม้ว่าหลักฐานชุดนี้จะมีข้อจำกัดสำคัญคือ ไม่ปรากฏแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แม้แต่แบบเดียวที่เป็นเอกสารแนบในพิจารณาก่อสร้างอนุสาวรีย์ แต่การพิจารณาข้อมูลลายลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่นี้ก็สามารถเปิดเผยเรื่องราวโครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กลางถนนราชดำเนินได้เป็นอย่างดี

 

โครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กลางถนนราชดำเนิน

โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองในช่วงปลายสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันตรงกับช่วงเวลาการฟื้นฟูประชาธิปไตยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2498 กล่าวคือ รัฐบาลจอมพล ป. ที่มีลักษณะกึ่งเผด็จการและครองอำนาจอย่างยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเดินทางไปเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาของจอมพล ป. ในการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยนั้น รัฐบาลเริ่มต้นจากการเปิดประชุมแถลงข่าวและให้หนังสือพิมซักถาม ที่เรียกว่า “เพรสคอนเฟอเรนซ์” สัปดาห์ละครั้งนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 จากนั้นรัฐบาลได้ยินยอมให้มีการเปิดการชุมนุมสาธารณะที่สนามหลวง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลได้อย่างเสรี ตามแบบ “ไฮด์ปาร์ค” ของอังกฤษ ซึ่งรายการไฮปาร์คครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2498[4]

จากหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับโครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่กรุงเทพฯ ว่ามาจากการปราศรัยไฮปาร์คบริเวณสนามหลวง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2498 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครได้รายงานเรื่องนี้ไปยังพลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่ามีผู้ปราศรัยกล่าวถึงคุณงามความดีของพระยาพหลพลพยุหเสนาและเรียกร้องให้สร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ด้วยเหตุนี้หลวงสุนาวินวิวัฒ จึงส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาต่อไป[5]

 


บรรยากาศ “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498

 

ทั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรมถือเป็นส่วนราชการที่รัฐบาลจอมพล ป. ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2495 เพื่อส่งเสริมการวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านคติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรม และสหธรรม มีหน่วยราชการในสังกัดได้แก่ กรมการวัฒนธรรม กรมการศาสนา และกรมศิลปากร[6] โดยจอมพล ป. ได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานงานวัฒนธรรมด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนแรก

จากการพิจารณาเรื่องอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ทางกระทรวงวัฒนธรรมมีความเห็นว่า “อนุสาวรีย์พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นั้น ควรจะมี เพราะเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเป็นอันมากจนตลอดชีวิตของท่าน แต่การสร้างอนุสาวรีย์นี้เป็นงานใหญ่ จะต้องใช้งบประมาณมาก หรืออาจจะมีการเรี่ยไรสมทบด้วยก็ย่อมกระทำได้”[7] ดังนั้นหลวงยุทธศาสตร์โกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงนำเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป. เป็นประธาน ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2498 และที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอมา[8]

จากนั้นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้นำเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรม ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2499 ซึ่งประกอบด้วยหลวงยุทธศาสตร์โกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (ประธานการประชุม) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงตัวแทนอธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมการวัฒนธรรม อธิบดีกรมการศาสนา และเลขาธิการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ลงมติมอบหมายให้กรมศิลปากรพิจารณารูปแบบและกำหนดงบประมาณการก่อสร้าง[9]

หลังจากผ่านไป 5 เดือน กรมศิลปากรได้ออกแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9 แบบ พร้อมกับกำหนดงบประมาณแต่ละแบบ โดยงบประมาณต่ำสุดคือ 400,000 บาทและงบประมาณสูงสุดคือ 650,000 บาท พร้อมกันนั้นกรมศิลปากรได้ดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์จำลองด้วยปูนปลาสเตอร์ จากนั้นที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรมได้พิจารณาเรื่องอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ อีกครั้ง ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามแบบที่ 1 ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 600,000 บาท แต่ขอให้กรมศิลปากรแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานอนุสาวรีย์ใหม่ โดยให้บรรจุภาพหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นหลักการสำคัญภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[10]

พร้อมกันนั้นที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ว่าควรสร้างไว้ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณสี่แยกถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ โดยสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ประดิษฐานไว้ภายในโดมใต้พานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[11]

เมื่อกรมศิลปากรได้แก้ไขฐานอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ พร้อมกับเพิ่มภาพหลัก 6 ประการบริเวณฐานอนุสาวรีย์แล้วเสร็จ ที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2499 ได้ลงมติเห็นชอบแบบที่กรมศิลปากรแก้ไขใหม่ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แบบแรก (อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ อยู่ภายในโดมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) กระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอแบบที่กรมศิลปากรแก้ไขให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมกับมอบหมายให้กรมศิลปากรรีบดำเนินการออกแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่แก้ไขฐานและมีภาพหลัก 6 ประการ ให้ประดิษฐานอยู่ภายในโดมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 


ภาพสันนิษฐานอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ประดิษฐานภายในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ตามหลังจากกรมศิลปากรได้ดำเนินการแก้ไขแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้มีบันทึกข้อความถึงหัวหน้ากองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ความว่า “เนื่องด้วยคณะกรรมการคัดเลือกรูปจำลองอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ได้คัดเลือกเอารูปจำลอง ซึ่งสำหรับติดตั้งภายนอก แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า รูปจำลองนั้นไม่เหมาะสำหรับติดตั้งภายใต้โดมซึ่งเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่ากรรมการต้องการสร้างรูปพระยาพหลฯ ประดิษฐานไว้ภายใต้โดมรูปพานรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมต่อสถานที่นั้น จำเป็นต้องใช้รูปเท่าตัวจริงของพระยาพหลฯ บนแท่นเหมือนในรูปจำลอง ซึ่งข้าพเจ้าได้แนบมาพร้อมนี้ด้วยแล้ว”[12]

ข้อความข้างต้นนี้อันบ่งชี้ว่าแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่แก้ไขแล้ว มีขนาดเหมาะสมกับการก่อสร้างกลางแจ้ง ซึ่งหากลดขนาดเพื่อบรรจุภายในโดมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามความประสงค์ของคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรม อาจทำให้อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ผิดสัดส่วนและสูญเสียความสง่างามไป ดังนั้นหากกระทรวงวัฒนธรรมยังคงยืนยันว่าจะสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ประดิษฐานใต้โดมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดิม ทางกรมศิลปากรเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ขนาดเท่าบุคคลจริงบนฐานเรียบ ๆ หรือการย่อส่วนอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ตามแบบที่กรมศิลปากรออกแบบใหม่ อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาของคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ที่ประชุมได้ลงมติให้รอเรื่องนี้ไว้ก่อน[13]

เมื่อเปรียบเทียบโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กับโครงการอนุสาวรีย์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป. เคยเสนอให้สร้างบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วง พ.ศ. 2495 และถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2496 จะพบว่า แบบอนุสาวรีย์พระปกเกล้าให้ความสำคัญกับการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 ขึ้นแทนที่ อันสะท้อนการรื้อถอนความทรงจำประชาธิปไตยสมัยคณะราษฎรและแทนที่ด้วยความทรงจำเกี่ยวกับกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7[14]

 


แบบอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2495)

 

ขณะที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ค้นพบแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้แม้แต่แบบเดียว แต่จากรายงานการประชุมและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ บ่งชี้ว่าแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่คณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรมเห็นชอบนั้น มิได้มุ่งหมายรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ต้องการให้อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ประดิษฐานอยู่ภายใต้โดมพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันสะท้อนถึงการตอกย้ำและผลิตซ้ำความทรงจำเกี่ยวกับพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร ในฐานะผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญและนำพาประเทศไทยเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

โครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ กลางถนนราชดำเนินหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500

เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกโค่นล้มภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รัฐบาลใหม่ที่นำโดยนายพจน์ สารสิน ได้ขอให้กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวมีเวลาปฏิบัติงานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ กระทรวงวัฒนธรรมจึงรอนำเสนอเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

ทั้งนี้เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 เมื่อกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอรายละเอียดและงบประมาณการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ออกแบบอนุสาวรีย์รวมทั้งสิ้น 4 แบบ ทุกแบบล้วนต้องสร้างกลางแจ้ง มิได้ประดิษฐานอยู่ใต้โดมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามความประสงค์ของคณะกรรมการพิจารณาชุดเดิม ได้แก่

แบบที่ 1 อนุสาวรีย์สูงตั้งแต่พื้นถึงยอด 8.50 เมตร รูปพระยาพหลฯ สูง 2.50 เมตร แท่นฐานทำด้วยซีเมนต์หินขัด งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 220,000 บาท

แบบที่ 2 อนุสาวรีย์สูงตั้งแต่พื้นถึงยอด 9.00 เมตร รูปพระยาพหลฯ สูง 3.00 เมตร รูปประดับตกแต่งที่ฐานแต่ละรูปมีขนาดเท่าคนจริงปั้นหล่อรมยา มีความหมายเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ แท่นฐานทำด้วยซีเมนต์หินขัด งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 325,000 บาท

แบบที่ 3 อนุสาวรีย์สูงตั้งแต่พื้นถึงยอด 6.50 เมตร รูปพระยาพหลฯ สูง 2.50 เมตร รูปนั่งขนาดเท่าคนจริงปั้นหล่อรมยาเป็นรูปคนกำลังใช้ความคิดกับคนกำลังปฏิบัติงาน แท่นฐานทำด้วยซีเมนต์หินขัด งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 200,000 บาท

แบบที่ 4 อนุสาวรีย์สูงตั้งแต่พื้นถึงยอด 6.30 เมตร รูปพระยาพหลฯ สูง 2.50 เมตร ฐานประดับหินอ่อนสีดำและสีงาช้าง หินทรายเป็นส่วนประกอบกับรูปปั้นหล่อ แท่นฐานทำด้วยซีเมนต์หินขัด งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 220,000 บาท[15]

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ได้พิจารณาเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่าอนุสาวรีย์นี้จะจัดสร้างขึ้นที่ใด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตอบกลับในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 ว่ายังไม่ทราบว่าจะสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่ใด แต่แบบอนุสาวรีย์ทั้ง 4 แบบนั้น เป็นแบบสำหรับสร้างกลางแจ้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบเผด็จการในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมิได้มีความเชื่อมโยงกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือพระยาพหลฯ ประกอบกับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ รวมถึงปัญหาด้านงบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นประธาน ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2503 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ พร้อมกับนำเสนอแบบอนุสาวรีย์ทั้ง 4 แบบ และประมาณการราคาจัดสร้างให้คณะรัฐมนตีพิจารณา ที่ประชุมได้ลงมติให้รอไว้ก่อน[16] และเป็นการยุติโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498

 

ความส่งท้าย

แม้ว่าโครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ บริเวณกลางถนนราชดำเนิน ที่ริเริ่มขึ้นในช่วงปลายสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นับตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จะต้องยุติโครงการไปในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2503 สาเหตุสำคัญของการยกเลิกโครงการอนุสาวรีย์แห่งนี้อาจสัมพันธ์กับความเป็น “การเมือง” ของอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ทั้งในแง่ของที่ตั้งอนุสาวรีย์ที่ต้องการสร้างในพื้นที่ทางการเมืองสำคัญของไทยคือ ถนนราชดำเนิน และความหมายอย่างตรงไปตรงมาของอนุสาวรีย์ที่ต้องการรำลึกถึงบุคคลสำคัญในการปฏิวัติสยามและก่อกำเนิดประชาธิปไตยไทย อันขัดแย้งกับบรรยากาศทางการเมืองแบบเผด็จการและการฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของพลังอนุรักษ์นิยมในสมัยจอมพลสฤษดิ์

 


อนุสรณ์วันเปิดอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
5 ตุลาคม 2503

 

อย่างไรก็ตามในปีเดียวกับที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ยกเลิกโครงการอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่กรุงเทพฯ  ทางศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นค่ายภูมิพล) ได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2503 เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของพระยาพหลฯ ในการประกอบกรณียกิจแก่ประเทศและชาวค่ายพหลโยธิน อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือเป็นอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยตั้งอยู่กลางแจ้งใกล้กับสโมสรนายทหารปืนใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปพระยาพหลฯ แบบเต็มตัวในท่ายืนใส่เครื่องแบบนายทหารปืนใหญ่ มีขนาดประมาณ 2.5 เมตร อนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนฐานสูงทำด้วยซีเมนต์หินขัด อันชวนให้จินตนาการถึงแบบอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่กรมศิลปากรออกแบบไว้แต่มิได้สร้างที่กรุงเทพฯ ความสำเร็จในการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในค่ายพหลโยธินนี้ สัมพันธ์กับการลดความเป็นการเมืองของพระยาพหลฯ ในฐานะหัวหน้าคณะราษฎร และเน้นการนำเสนอภาพพระยาพหลฯ ในฐานะนายทหารปืนใหญต้นแบบ ที่มีเกียรติประวัติอันโดดเด่นและเป็นศูนย์รวมจิตใจของทหารปืนใหญ่รุ่นหลัง

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ในค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี ขณะก่อสร้าง

 


อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ในค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบัน

 

หมายเหตุ :

  • รูปแบบการอ้างอิงคงไว้ตามต้นฉบับ
  • ภาพหนังสือ ภาพประกอบ และภาพถ่ายโดย ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียน

 


[1] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 405-406.

[2] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “การขนานนามถนนและสะพานสมัยคณะราษฎร,” เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2024/05/1900#_ftn24

[3] อนุสรณ์วันเปิดอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา 5 ตุลาคม 2503 (ลพบุรี: โรงพิมพ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่, 2503), น. 82.

[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500), พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2553), น. 327-329.

[5] หจช. ศธ.0701.42/42 เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2499-2503).

[6] กรมศิลปากร, บันทึกผลงานของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499 (พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2500), น. 183.

[7] หจช. ศธ.0701.42/42 เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2499-2503).

[8] “29. เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา,” ใน รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 67/2498 (28 ธันวาคม 2498).

[9] หจช. ศธ.0701.42/42 เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2499-2503).

[10] เรื่องเดียวกัน.

[11] เรื่องเดียวกัน.

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “การเมืองเรื่องอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับการช่วงชิงความทรงจำว่าด้วยประชาธิปไตยไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494,” ใน ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), น. 321-329.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 38/2503 (30 สิงหาคม 2503)