Focus
- บทความนี้ได้ค้นคว้าและรวบรวมหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ มาช่วยในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับประวัติ ความหมาย ความสำคัญ และพลังทางการเมืองของอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของยุคสมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 หลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนุสาวรีย์ จนมาถึง พ.ศ. 2561 เมื่ออนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกรื้อถอน เคลื่อนย้าย และหายไปอย่างลึกลับ
เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มคนที่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ 2475 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช แม้ว่ารัฐบาลคณะราษฎรจะสามารถพิทักษ์ปกป้องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญสำเร็จ โดยปราบปรามฝ่ายกบฏลงได้อย่างราบคาบ แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐบาลกลับต้องสูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ต่อมาหลังการปลงศพของเหล่าวีรชนทั้ง 17 นายที่เมรุกลางท้องสนามหลวง รัฐบาลคณะราษฎรจึงได้ให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นบริเวณตำบลหลักสี่ สำหรับบรรจุอัฐิของทหารและตำรวจที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช เพื่อเป็นการรำลึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของวีรชนในการสละชีพเพื่อพิทักษ์การปกครองระบอบใหม่ให้ดำรงอยู่ต่อไป
เมื่อพิจารณางานที่ศึกษาเกี่ยวกับอนุสาวรีย์บริเวณตำบลหลักสี่พบว่า มีงานจำนวนไม่มากนักที่ศึกษาประเด็นดังกล่าว งานที่โดดเด่นคือ งานของพิบูลย์ หัตถกิจโกศล เรื่อง“อนุสาวรีย์ไทย : การศึกษาในเชิงการเมือง”[1] (พ.ศ. 2527) โดยมองว่าอนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นการริเริ่มของรัฐบาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของรัฐบาลพลเรือนที่มีต่อพวกฝ่ายกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยม รวมถึงเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับผู้คิดจะต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นอนุสาวรีย์นี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่ในอนุสาวรีย์ เช่น พานรัฐธรรมนูญ รูปปั้นชาวนา และเสมาธรรมจักร
งานอีกชิ้นที่สำคัญคือ งานของชาตรี ประกิตนนทการ เรื่อง “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม”[2](พ.ศ. 2547) ที่เสนอว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ใน พ.ศ. 2476 โดยสร้างจากความคิดพื้นฐานว่า คณะราษฎรเป็นผู้นำระบอบใหม่ แต่ถูกขัดขวางโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองใน พ.ศ. 2476 อีกทั้งอนุสาวรีย์นี้ยังสะท้อนการต่อสู้เพื่อรักษาระบอบการปกครองแบบใหม่เอาไว้ให้พ้นจากกลุ่มผู้นิยมระบอบเก่า รวมถึงมีการใช้พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอนุสาวรีย์ ซึ่งหมายถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามงานทั้ง 2 ชิ้นข้างต้นศึกษาอนุสาวรีย์ดังกล่าวอย่างกว้างๆ มิได้ครอบคลุมและรอบด้านเท่าใดนัก ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าและรวบรวมหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ มาช่วยในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับประวัติ ความหมาย ความสำคัญ และพลังทางการเมืองของอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของยุคสมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 หลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนุสาวรีย์ จนมาถึง พ.ศ. 2561 เมื่ออนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกรื้อถอน เคลื่อนย้าย และหายไปอย่างลึกลับ
ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับชื่ออนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์มีสถานะเป็นวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างที่มีจุดมุ่งหมายเกี่ยวข้องกับการรำลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น “ชื่อ” ของอนุสาวรีย์ย่อมมีนัยยะสำคัญต่อการกำหนดความหมายต่อตัวอนุสาวรีย์ ดังสะท้อนได้จากการใช้ชื่อเหตุการณ์หรือชื่อบุคคลเพื่อสื่อความหมายว่าต้องการให้รำลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะเหล่านั้น ทว่าเมื่อพิจารณาอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลหลักสี่ กลับพบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้มีชื่อเรียกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ, อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ, อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม, อนุสาวรีย์หลักสี่, อนุสาวรีย์บางเขน, รวมไปถึง อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
จากเอกสารชั้นต้นปรากฏว่า ในช่วงแรกนั้นอนุสาวรีย์นี้ได้ถูกเรียกชื่อให้สัมพันธ์กับเหตุการณ์การปราบปรามกบฏบวรเดชใน พ.ศ. 2476 โดยชื่อเรียกที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่เก่าที่สุดคือ “อนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” พบในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2476 ที่พิจารณา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมการสัญจรระหว่างพระนครกับดอนเมืองและเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ. 2476”[3]
ขณะที่ชื่อ “อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ” เป็นชื่อเรียกอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการในงานพิธีบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชพร้อมทั้งพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479[4] รวมถึงปรากฏในหนังสือ “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482[5]
ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487)[6]ชื่อ “อนุสาวรีย์หลักสี่” เป็นชื่อที่ถูกใช้มากที่สุด ดังปรากฏในหนังสือที่ระลึกในการทำบุญอุทิศแก่ 17 ทหารและตำรวจ ณ “อนุสสาวรีย์หลักสี่” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2482[7]และที่สำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2483 หลวงพิบูลสงครามขอให้ที่ประชุมเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นอนุสาวรีย์หลักสี่ แม้ว่าการประชุมครั้งนั้นจะไม่มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์[8]ทว่าชื่ออนุสาวรีย์หลักสี่กลับปรากฏอย่างสม่ำเสมอจากเอกสารราชการโดยเฉพาะเอกสารของกระทรวงกลาโหมและข่าวหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าว หากพิจารณาชื่ออนุสาวรีย์หลักสี่นี้พบว่าสัมพันธ์กับชื่อสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์ (บริเวณตำบลหลักสี่) แทนการตั้งชื่อที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ ซึ่งความพยายามในการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งหวังของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในการกลบฝังความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สร้างความแตกแยกของกองทัพดังเช่นเหตุการณ์กบฏบวรเดช
“อนุสาวรีย์บางเขน” เป็นอีกชื่อที่สัมพันธ์กับที่ตั้งของอนุสาวรีย์คือ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร แม้ว่าชื่อนี้จะไม่ค่อยถูกใช้เรียกทั่วไป แต่ต่อมาชื่อนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอบางเขนคือ “ตำบลอนุสาวรีย์บางเขน” หรือ ตำบลอนุสาวรีย์ในปัจจุบัน อันเป็นตำบลที่กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นใหม่นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2486 หลังจากกระทรวงมหาดไทยยุบตำบลกูบแดงและตำบลคลองถนน[9] โดยตำบลนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญในอำเภอบางเขน ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอบางเขน, สถานีอนามัย, สถานีตำรวจ, วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน, โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน, โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร, โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์, และอนุสาวรีย์บางเขน
“อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม” เป็นอีกชื่อหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับชื่อบุคคลคือ หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) นายทหารเพื่อนร่วมรุ่นกับหลวงพิบูลสงครามและเป็นสมาชิกคนสำคัญในคณะราษฎร ผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามกบฏบวรเดช โดยชื่ออนุสาวรีย์นี้ปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2483 ระหว่างที่พิจารณาสร้างวัดประชาธิปไตย[10]เพื่อแสดงความรำลึกถึงความกล้าหาญของหลวงอำนวยสงครามในการปราบปรามกบฏบวรเดชที่บริเวณทุ่งบางเขน
ชื่อสุดท้ายที่ถูกกล่าวถึงคือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นชื่อที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าชื่อนี้ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2520 ในหนังสือ “อนุสาวรีย์วีรชนไทย” ของนายตรี อมาตยกุล ซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษา[11] ชื่ออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้สัมพันธ์กับสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญที่วางอยู่ด้านบนสุดของอนุสาวรีย์แห่งนี้ สะท้อนถึงการเสียสละชีวิตของเหล่าวีรชนทหารและตำรวจในเหตุการณ์ปราบปรามกบฏบวรเดช เพื่อพิทักษ์รักษาและปกป้องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนี้ไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ดังนั้นชื่อ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” จึงถูกเรียกและใช้จนได้รับความนิยมแพร่หลายตราบจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏให้เห็นจากป้ายคำอธิบายอนุสาวรีย์ของกรุงเทพมหานคร การจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตบางเขน และหนังสือแนะนำสถานที่สำคัญของเขตบางเขนที่จัดพิมพ์โดยสำนักงานเขต นอกจากนี้ชื่ออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญยังสอดคล้องและเชื่อมโยงกับชื่อ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (พ.ร.ธ.) อันเป็นเหรียญที่ระลึกสำหรับเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในการปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476
ด้วยความหลากหลายของ “ชื่อ” ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกเรียกขานนับตั้งแต่ชื่อที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์, ชื่อบุคคล, และชื่อสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์ นอกจากนั้นในบางช่วงเวลายังมีการเรียกชื่ออนุสาวรีย์แห่งนี้มากกว่าหนึ่งชื่อ เช่น ใน พ.ศ. 2482 กระทรวงกลาโหมเรียกว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่” ส่วนกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” การมีชื่อเรียกที่หลากหลายย่อมทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้มีความหมายที่ซับซ้อนคลุมเครือ ทั้งนี้ผู้เขียนได้เลือกใช้ชื่อ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” อันเป็นชื่อที่ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนานที่สุดและสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำมาสู่การสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวมากที่สุดในบรรดาชื่อทั้งหมดที่ถูกเรียกขานของอนุสาวรีย์แห่งนี้
ที่มาของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ
การสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏนี้มีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบไปด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” นำโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ได้รวบรวมทหารจำนวนหนึ่งมาจากจังหวัดต่างๆ ตามหัวเมืองใหญ่ ทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ายึดพื้นที่บริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับฝ่ายทหารของพระองค์เจ้าบวรเดชให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาลและถอนทหารทั้งหมดกลับสู่ที่ตั้งแต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้นพระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายกบฏที่มุ่งหมายล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎร โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายกบฏได้พ่ายแพ้ จนกระทั่งพระองค์เจ้าบวรเดชต้องหนีและลี้ภัยไปอินโดจีนในที่สุด อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐบาลเองก็ได้สูญเสียทหารและตำรวจผู้กล้าจำนวน 17 นายเพื่อปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญในครั้งนี้[12]
หลังเหตุการณ์สงบทางรัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ณ เมรุกลางท้องสนามหลวง ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง[13] จากนั้นได้บรรจุอัฐิไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทำด้วยทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นายเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาเมื่อทางราชการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนครแล้วเสร็จจึงได้นำอัฐิของวีรชนผู้กล้าทั้ง 17 นายมาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์
ภาพพิธีที่รัฐบาลจัดให้กับทหารและตำรวจผู้เสียชีวิตในคราวปราบกบฏบวรเดช การประดิษฐานศพทหารและตำรวจ ณ ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส (ซ้ายบน) ขบวนรถอัญเชิญศพทหารและตำรวจจากวัดราชาธิวาสมายังเมรุที่ท้องสนามหลวง (ขวาบน) เมรุกลางท้องสนามหลวงสำหรับปลงศพทหารและตำรวจ (ซ้ายล่าง) และกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ (ขวาล่าง) ภาพจากสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ในพิพิธภัณฑ์พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ลพบุรี
แนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง เริ่มต้นจากวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พุทธศักราช 2476” โดยเหตุผลสำคัญในการเสนอญัตตินี้คือ การตัดถนนจากสนามเป้าไปยังดอนเมืองเนื่องจากเหตุผลด้านยุทธศาสตร์ทางการทหารเพื่อควบคุมพื้นที่ดอนเมือง อีกทั้งยังต้องการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่การสร้างอนุสาวรีย์เป็นผลพลอยได้จากการตัดถนนเส้นนี้ ดังสะท้อนได้จากการที่นายไสว อินทรประชา ส.ส.สวรรคโลก ถามรัฐบาลว่า “สร้างอนุสาวรีย์นี้สำหรับทหารผู้ปราบกบฏที่ได้เสียชีวิตหรือหมายความว่าทหารทุกคนผู้ปราบกบฏ” พระยาพหลฯ ได้ตอบว่า “ในเรื่องอนุสาวรีย์นี้ ความประสงค์เดิมเราไม่ได้คิดว่าจะสร้างเลย แต่เมื่อบังเอิญสร้างถนนเช่นนี้ก็ประจวบเหมาะ จึ่งเลยถือโอกาสสร้างอนุสสาวรีย์นี้ด้วย”[14]
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติข้างต้น อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกสร้างขึ้นบริเวณลานกว้างบนถนนที่ตัดขึ้นใหม่ระหว่างถนนสายกรุงเทพฯ-ดอนเมือง หรือถนนประชาธิปัตย์ (ต่อมาใน พ.ศ. 2493 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา) ซึ่งเป็นถนนใหญ่เชื่อมต่อกับถนนยิงเป้า (สนามเป้า) ไปยังดอนเมือง กับถนนที่ตัดจากสถานีรถไฟหลักสี่ (ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของถนนแจ้งวัฒนะ) โดยลานนี้มีขนาดกว้าง 122.50 เมตร ยาว 90.00 เมตร และตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ถือว่าลานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของถนน[15]
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในกฎหมายว่าด้วยการตัดถนนและสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ ทางกระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างถนน โดยใช้วิธีการจ้างกุลีขุดและถมดิน เริ่มงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2477 รวมเนื้อที่ดินที่ได้ขุดทั้งสิ้นจำนวน 404,958.476 ลูกบาศก์เมตร เป็นจำนวนเงิน 17,980.16 บาท เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 25.56 สตางค์[16]
สำหรับอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ ใน พ.ศ. 2477 กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ พันโท หลวงนฤมิตรเรขการ (เยื้อน บุณยะเสน) เป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช[17] โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้หันหน้าไปยังทิศตะวันตก มีรูปทรงที่เรียบง่าย สงบ สง่างาม และทันสมัย ภายใต้สัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของทหารในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีรูปทรงเป็นเจดีย์แบบไทยตามคติความเชื่อพุทธศาสนา ดังเช่น อนุสาวรีย์ทหารอาสา ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1
ทั้งนี้อนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏมีลักษณะเป็นรูปเสาคล้ายกับกระสุนปืนใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต 8 เหลี่ยม มีกลีบบัวประดับซ้อนกันขึ้นไป 2 ชั้น ยอดของกลีบบัวมีพานรัฐธรรมนูญ อันสะท้อนถึงการสละชีพเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญให้ดำรงอยู่สถิตสถาพรชั่วกาลนาน ผนังด้านหน้าของอนุสาวรีย์ (ทางทิศตะวันตก) มีจารึกชื่อทหารและตำรวจวีรบุรุษแห่งชาติ 17 นาย มีรายนามดังนี้
- นายพันโท หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล)
- นายร้อยเอก ขุนศุกรนาคเสนีย์ (เจือ ศุกรนาค)
- นายร้อยโท น่วม ทองจรรยา
- นายดาบ ละมัย แก้วนิมิต
- นายดาบ สมบุญ บัวชม
- จ่านายสิบ หล่อ วงศ์พราหมณ์
- จ่านายสิบ แฉล้ม ศักดิ์ศิริ
- นายสิบเอก ชั้ว เผือกทุ่งใหญ่
- นายสิบเอก ทองอิน เผือกผาสุข
- นายสิบเอก เช้า สุขสวย
- นายสิบเอก พัน ยังสว่าง
- นายสิบเอก จัน ศุขเนตร
- นายสิบเอก บุญช่วย สุมาลย์มาศ
- นายสิบเอก ดา ทูคำมี
- นายสิบเอก หลิม เงินเจริญ
- นายร้อยตำรวจเอก ขุนประดิษฐ์สกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ)
- นายร้อยตำรวจตรี ทอง แก่นอบเชย
ผนังด้านทิศใต้เป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปครอบครัวชาวนา โดยสามีถือเคียว ภรรยาถือรวงข้าว และลูกชายถือเชือกมะนิลา เปรียบเสมือนกับกลุ่มชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ผนังด้านทิศเหนือเป็นประติมากรรมรูปธรรมจักร เป็นเครื่องหมายแทนความสงบสุขของชาติ ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นแผ่นโลหะจารึกโคลงพระราชนิพนธ์สยามานุสสติของรัชกาลที่ 6 เพื่อเตือนใจคนไทยให้ระลึกถึงความรักชาติ[18] ความว่า
สยามานุสสติ
๏ รักราชจงจิตน้อม ภักดี ท่านนา
รักชาติกอบกรณีย์ แน่วไว้
รักศาสน์กอบบุญตรี สุจริต ถ้วนเทอญ
รักศักดิ์จงจิตให้ โลกซร้องสรรเสริญฯ
๏ ยามเดินยืนนั่งน้อม กะมล
รำลึกถึงเทศตน อยู่ยั้ง
เป็นรัฏฐะมณฑล ไทยอยู่ สรวญฮา
ควรถนอมแน่นตั้ง อยู่เพี้ยงอวสานฯ
๏ ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงามฯ
๏ หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย
ราม ปร
ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ปราบกบฏคือ หลวงนฤมิตรเรขการ (เยื้อน นฤมิตรเรขการ) (พ.ศ. 2433 - 2498) หรือ “ย.ห้องศิลป์”[19] เป็นบุตรของหลวงเจนจิตรยง (สมบุญ บุณยะเสน) ช่างเขียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 5-7[20]กับนางหุ่น บุณยะเสน เกิดที่นนทบุรี เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นได้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ แต่ต่อมาทูลลาออกมาเป็นครูที่โรงเรียนสามจีนใต้และได้สอบเข้ารับราชการเป็นครูสอนวาดเขียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกใน พ.ศ. 2452 หลวงนฤมิตรฯ ยังมีงานพิเศษโดยการเป็นผู้ออกแบบเครื่องแบบทหาร ตำรวจ พลเรือน ศุลกากร และยุวชนทหาร ออกแบบเหรียญชัยสมรภูมิและเหรียญช่วยราชการเขตภายใน ตลอดจนเป็นผู้ออกแบบตกแต่งสถานที่รับแขกบ้านแขกเมืองในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงสถานที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. 2481[21]
นอกจากนี้หลวงนฤมิตรฯ ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมรุสามัญชน ณ ท้องสนามหลวง สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงศพทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช อันเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เน้นความยิ่งใหญ่ แต่เรียบง่ายและตัดขาดจากสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยที่ซับซ้อนและหรูหรา[22] อีกทั้งยังรับหน้าที่ในการตกแต่งขบวนรถที่ใช้อัญเชิญศพทหารและตำรวจจากวัดราชาธิวาสมายังเมรุที่ท้องสนามหลวง รวมถึงเป็นผู้ควบคุมการพระราชทานเพลิงศพจนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีและได้นำอัฐิมาตั้งไว้ในห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อพิจารณาจากผลงานการออกแบบของหลวงนฤมิตรฯ จะพบว่า มีการนำพานรัฐธรรมนูญมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการออกแบบ ซึ่งสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญนี้สะท้อนถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่เหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นายได้สละชีพเพื่อพิทักษ์รักษาไว้
ทั้งนี้หลวงนฤมิตรฯ มีความภาคภูมิใจกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นที่สุด โดยหลวงนฤมิตรฯ เป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างและที่สำคัญในพิธีบรรจุอัฐิทหารและตำรวจในอนุสาวรีย์ปราบกบฏเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 หลวงนฤมิตรฯ ยังเป็นผู้รับอัฐิเข้าตั้งบนแท่นภายในอนุสาวรีย์ ตลอดจนเป็นผู้ปิดแผ่นประตูทองแดงของอนุสาวรีย์จนเสร็จการฉลองพิธีเปิดอนุสาวรีย์[23]
พิธีบรรจุอัฐิ 17 ทหารและตำรวจและการเปิดอนุสาวรีย์
หลังจากอนุสาวรีย์ปราบกบฏสร้างเสร็จเรียบร้อย ทางกระทรวงกลาโหมได้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพิธีเชิญอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชมาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์และจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์ขึ้น โดยพิธีการแบ่งเป็น 2 วัน คือ วันที่ 14 และ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยในวันที่ 14 ตุลาคมเจ้าหน้าที่กรมพลาธิการทหารบกได้นำอัฐิทหารและตำรวจ 17 นาย มาประดิษฐานที่กระทรวงกลาโหม เวลา 16.00 น. นิมนต์พระสงฆ์ 17 รูป (เท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช) สวดพระพุทธมนต์ โดยประธานของพิธีนี้คือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่กรมพลาธิการทหารบกถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์เมื่อตอนเย็นวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 เวลา 13.00 มีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์และบังสุกุลอัฐิ เวลา 14.00 น. ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยาน (ป.ต.อ.) เชิญอัฐิ ซึ่งบรรจุอยู่ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองขึ้นรถ กองทหารเกียรติยศทำความเคารพแก่อัฐิ หลังจากนั้นเหล่าทหารกรมกองต่างก็ขึ้นรถเข้าร่วมขบวนแห่ไปยังอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ โดยริ้วขบวนแห่มีลำดับดังนี้
หน่วยรถหุ้มเกราะของกองทัพทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์, กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน, กองพันทหารราบที่ 1 (มหาดเล็ก) รักษาพระองค์, กองพันทหารราบที่ 2, 5, 6, 7 และ 8, กองโรงเรียนทหารสื่อสาร, กองแตรวง, กองบังคับการกองอำนวยการทั่วไป, ขบวนรถผู้เชิญอัฐิ, กองโรงเรียนทหารราบ, หน่วยทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ, รถอัฐิอะไหล่และขบวนรถตามทั่วไป โดยขบวนรถทั้งหมดอยู่ในการบังคับบัญชาของหลวงชำนาญยุทธศิลป์ รัฐมนตรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1[24]
เวลา 14.30 น. ขบวนรถได้เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนอู่ทองใน ถนนราชวิถี ผ่านโรงพยาบาลเสนารักษ์พญาไท เลี้ยวซ้ายไปถนนกรุงเทพฯ – ดอนเมือง และขบวนมาถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏเวลาประมาณ 15.40 น. มีประชาชนมาชุมนุมรอชมขบวนแห่อย่างเนืองแน่นตลอดทางทั้งทางบกและทางน้ำ[25] เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีเชิญอัฐิเหล่าวีรชนของชาติที่สละชีพเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อขบวนมาถึงอนุสาวรีย์กองทหารเกียรติยศทำความเคารพอัฐิ จากนั้นได้เชิญอัฐิลงจากรถและนำไปบรรจุยังอนุสาวรีย์ พระสงฆ์เข้าชักผ้าบังสกุล จากนั้นบรรดาทหารจึงแปรขบวนรถใหม่ เพื่อรอพิธีเปิดอนุสาวรีย์ต่อไป
ต่อมาหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กราบทูลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากนั้นพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มีพระดำรัสตอบในนามคณะผู้สำเร็จราชการฯ แล้วทรงเปิดแพรคลุมอนุสาวรีย์ ลูกโป่งสวรรค์กลุ่มใหญ่ 2 กลุ่มที่ผูกติดผ้าแพรลอยขึ้นสู่อากาศ กองทหารแสดงความเคารพ ถัดมาประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ ต่างเข้ามาวางพวงมาลาตามลำดับ สุดท้ายกองทหารที่เข้าร่วมขบวนแห่ได้ทำการสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์และคณะผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อจบการสวนสนาม เครื่องบินจึงเริ่มบินผ่านอนุสาวรีย์เป็นอันเสร็จพิธี และในตอนค่ำมีการจัดมหรสพฉลองอย่างยิ่งใหญ่
ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของรัฐบาลที่มีต่อฝ่ายกบฏบวรเดช แต่เมื่อพิจารณาคำกราบทูลและคำนำในหนังสือที่ระลึกในงานบรรจุอัฐิและเปิดอนุสาวรีย์ของหลวงพิบูลสงคราม[26] ตลอดจนพระราชดำรัสตอบของประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องความสามัคคีเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ ดังสะท้อนได้จากคำกราบทูลของหลวงพิบูลสงครามที่กล่าวว่า
“อนุสสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจผู้กล้าหาญ ซึ่งประดิษฐานอยู่ฉะเพาะพระภักตร์และต่อหน้าท่านผู้รักชาติทั้งหลาย ด้วยความจริงใจของเกล้ากระหม่อมแล้วไม่มีความยินดีเห็น เพราะเป็นอนุสสาวรีย์ที่ต้องสร้างขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์อันเศร้าสลดที่สุด ที่คนไทยต่อคนไทยแตกความคิดความเห็นและจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันเองจนถึงกับต้องเสียชีวิต ... กระทรวงกลาโหมขออุททิศอนุสสาวรีย์นี้ไว้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูด และการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสะเทือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดกาล”[27]
จากคำกราบบังคมทูลข้างต้น ย่อมสะท้อนความหมายของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่มุ่งเน้นการรำลึกวีรกรรมของทหารและตำรวจ 17 นายในฐานะ “วีรชนของชาติไทย” ที่ยอมสละชีวิตเพื่อพิทักษ์การปฏิวัติ 2475 และการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันยังเป็นสิ่งเตือนใจกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์การปฏิวัติมิให้ดำเนินการล้มล้างระบอบใหม่ รวมถึงให้คนกลุ่มนี้คำนึงถึงความสามัคคีและผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
ภูมิทัศน์อนุสาวรีย์ปราบกบฏสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ตั้งอยู่กลางทุ่งบางเขน เริ่มปรากฏขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อมีการขยายถนนประชาธิปัตย์ในท้องที่ตำบลหลักสี่เพื่อความสะดวกแก่การจราจร และการขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้มีความกว้างขวางมากกว่าเดิมประมาณเท่าตัว เพื่อความสะดวกแก่การประกอบพิธีการและเพิ่มความสง่างามแก่อนุสาวรีย์
อย่างไรก็ตามการขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏกลับประสบปัญหาติดขัด เนื่องจากที่ดินในบริเวณที่ต้องการขยายลานอนุสาวรีย์ล้วนมีเจ้าของอยู่แล้ว ดังนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2482 กระทรวงกลาโหมจึงขอให้รัฐบาลออกกฎหมายเวนคืน ทว่าระหว่างการตรากฎหมาย กระทรวงกลาโหมได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางเขน อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร”
ในการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2482 หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า การขยายลานอนุสาวรีย์ต้องใช้งบประมาณ 74,000 บาท แต่ไม่มีงบประมาณ ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยตัดงบประมาณที่จะใช้สร้างถนนสิงห์บุรี-นครสวรรค์มาใช้ในการขยายลานอนุสาวรีย์แทน จากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีลงมติรับหลักการพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่ให้มีการแก้ไขเหตุผลจาก “เพื่อประโยชน์แก่ราชการทหาร” เป็น “เพื่อขยายลานอนุสาวรีย์และเพื่อสะดวกแก่การจราจร” ตามวัตถุประสงค์จริง และเปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่รับผิดชอบจากกระทรวงกลาโหมมาเป็นกระทรวงมหาดไทย[28]
อย่างไรก็ตามระหว่างดำเนินการเรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ควรรีบเวนคืนที่ดินบริเวณลานอนุสาวรีย์ เนื่องจากหากต้องรอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การขยายลานอนุสาวรีย์จะล่าช้าและมีเวลาในการดำเนินการอย่างจำกัด รวมถึงติดฤดูฝนไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลหลักสี่ โดยอาศัยพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อประโยชน์แก่การขยายทางหลวง”[29]
หลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ได้มีการสำรวจที่ดินปรากฏว่า มีที่ดินของเอกชนรวม 45 ไร่ ซึ่งเจ้าของที่ดินต่างตั้งราคาขายเฉลี่ยไร่ละ 500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่รัฐประเมินไว้ ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงเห็นควรออก “พรบ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ในท้องที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2483” เพื่อจะได้กำหนดเงินค่าทำขวัญตามราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 เมื่อกฎหมายเวนคืนที่ดินได้ประกาศใช้แล้ว ทางกรมโยธาเทศบาลจึงเร่งรัดดำเนินการขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้เสร็จก่อนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เพื่อให้ทันกำหนดวาระครบรอบงานทำบุญอุทิศแด่ 17 ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏ[30]
นอกเหนือจากการขยายลานอนุสาวรีย์ใน พ.ศ. 2483 ทางรัฐบาลยังได้พยายามเปลี่ยนแปลงพื้นที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏจากพื้นที่ทุ่งนา อันห่างไกลความเจริญมาเป็นพื้นที่เมืองใหม่ โดยพัฒนาบริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางของอำเภอบางเขนแทนที่ตั้งเดิมบริเวณสี่แยกบางเขน ตำบลตลาดบางเขน โดยมีการสร้างที่ว่าการอำเภอบางเขนแห่งใหม่และสุขศาลาบริเวณทิศใต้ติดกับลานอนุสาวรีย์[31]ขณะที่ทางตอนเหนือของลานอนุสาวรีย์ได้สร้างโรงเรียนประชาบาลตำบลกูบแดง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์) ส่วนทางตะวันออกของลานอนุสาวรีย์ทางกรมตำรวจได้ใช้พื้นที่ในการสร้างสถานีตำรวจบางเขนที่ย้ายมาจากบริเวณดอนเมือง ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดจะสร้าง “วัดประชาธิปไตย” (วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร) ใน พ.ศ. 2483 เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการปฏิวัติสยาม รัฐบาลได้เลือกพื้นที่สร้างวัดในบริเวณใกล้กับลานอนุสาวรีย์เช่นกัน[32]อันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความเจริญและความเป็นชุมชนให้แก่อนุสาวรีย์แห่งนี้ นอกเหนือจากการเป็นเพียงพื้นที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของระบอบใหม่เหนือระบอบเก่า
อนุสาวรีย์ปราบกบฏกับการประกอบพิธีกรรม
อนุสาวรีย์กับการประกอบพิธีกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ซึ่งจากการศึกษาของมาลินี คุ้มสุภา พบว่า พิธีกรรมที่จัดขึ้น ณ อนุสาวรีย์ต่างๆ เป็นตัวแทนของการแสดงออกถึงความหมายที่ถูกกำหนดขึ้นของอนุสาวรีย์นั้นๆ พิธีกรรมจึงมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์อย่างยิ่งกับอนุสาวรีย์เพราะสามารถใช้อธิบายเหตุผล ความสำคัญ หรือความหมายของอนุสาวรีย์นั้นได้อย่างกระจ่างชัด อนุสาวรีย์บางแห่งถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมบ่อยครั้ง แต่บางแห่งกลับเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง จำนวนครั้งของพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนดำเนินควบคู่ไปกับการดำรงอยู่ของอนุสาวรีย์อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้พิธีกรรมรำลึกต่างๆ ที่อนุสาวรีย์ ยังเป็นการผลิตซ้ำความหมายหรือสร้างความหมายใหม่ให้เกิดกับอนุสาวรีย์ไปพร้อมกันด้วย[33]
ทั้งนี้อนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกเชื่อมโยงเข้ากับการรำลึกวีรกรรมของทหารและตำรวจในการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงถูกกำหนดความหมายให้เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน ตัวอย่างเช่นในการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญต่างๆ เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญในจังหวัดกรุงเทพฯ ของนักเรียนโรงเรียนดัดสันดานเด็กเมื่อ พ.ศ. 2480 นั้น ทางราชการได้เลือกอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นตัวแทนสถานที่สำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และได้นำนักเรียนไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อเป็นการอบรมและบ่มเพาะให้เกิดความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ[34]
ด้านการจัดพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ปราบกบฏนั้น จากหลักฐานชั้นต้นพบว่าระหว่าง พ.ศ. 2480-2486 ได้มีการจัดพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องในวันที่ 14 ตุลาคม เกือบทุกปี ซึ่งถือเป็นวันที่ทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลทำการรบแตกหักกับฝ่ายกบฏบวรเดชที่ทุ่งบางเขนใน พ.ศ. 2476 พิธีกรรมนี้ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “งานทำบุญอุทิศแก่ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในคราวปราบกบฏ”โดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพิธีทุกครั้ง ซึ่งการประกอบพิธีกรรมในแต่ละครั้งจะมีรูปแบบใกล้เคียงกัน คือ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงบ่าย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธีสงฆ์ อัญเชิญพระสงฆ์จำนวน 17 รูป (เท่ากับจำนวนทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏ) มาเจริญพระพุทธมนต์และสดับพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นเป็นพิธีวางพวงมาลา โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี เมื่อพลบค่ำจะมีการจัดแตรวงและฉายภาพยนตร์จนกระทั่งถึงเวลาเที่ยงคืนเป็นอันจบงาน นอกจากนี้ในการจัดพิธีกรรมทุกครั้งทางกระทรวงกลาโหมจะเชิญรัฐมนตรีและข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมในพิธีกรรมด้วย และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมาทางกระทรวงกลาโหมได้แจ้งให้ครอบครัวของทหารและตำรวจที่เสียชีวิตทั้ง 17 นายมาร่วมในพิธีกรรมนี้ด้วย[35]
จากการประกอบพิธีกรรมที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีส่วนช่วยย้ำเตือนให้ประชาชนรับรู้ถึงเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชอย่างกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งยังได้รำลึกถึงชัยชนะของฝ่ายพิทักษ์การปฏิวัติที่สามารถปราบปรามกบฏบวรเดชลงได้สำเร็จ ดังสะท้อนได้จากการประกอบพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏในต่างจังหวัดครั้งแรกใน พ.ศ. 2481 อันเป็นปีที่ครบรอบ 5 ปีของการปราบกบฏบวรเดช ได้ปรากฏว่ามีพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ณ โรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยครูประจำโรงเรียนได้กล่าวถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ใน พ.ศ. 2476 เพื่อปลุกใจให้นักเรียนมีความรักชาติและกล้าหาญ จากนั้นจึงอ่านรายนามผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏ และชักชวนให้นักเรียนยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยแก่ทหารและตำรวจที่สละชีพเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงมีพิธีปลูกต้นกล้วยมะลิลาเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการระลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏในครั้งนี้ด้วย[36]
ทั้งนี้เมื่อสืบค้นก็พบข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2482 การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ มีการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่จนนำไปสู่การปรับปรุงภูมิทัศน์และขยายลานอนุสาวรีย์สำหรับประกอบพิธีกรรมให้กว้างขวางมากขึ้น ในส่วนของพิธีวางพวงมาลาก็มีตัวแทนจากหน่วยราชการ สถานศึกษา และประชาชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมสัมพันธ์กับการขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และบรรยากาศทางการเมืองขณะนั้นที่ฝ่ายคณะราษฎรได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติอย่างเด็ดขาดหลังจากได้ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2481 ซึ่งการประกอบพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏย่อมสะท้อนถึงชัยชนะของคณะราษฎรที่สามารถกำราบกลุ่มอำนาจเก่าลงได้อย่างราบคาบ รวมถึงตอกย้ำเตือนใจให้ประชาชนรำลึกถึงวีรชนผู้กล้าที่อุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นดอกผลของการปฏิวัติสยาม
แม้พิธีกรรมรำลึกทหารและตำรวจที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกทางกำหนดให้จัดขึ้นในทุกวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี แต่ใน พ.ศ. 2483 พบว่ากระทรวงกลาโหมไม่สามารถจัดพิธีในวันดังกล่าวได้ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีราชการสำคัญอย่างอื่นที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งปัญหาการเลื่อนการจัดพิธีไปเป็นวันอื่น อาจเพราะความล่าช้าในการขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ต้องใช้ในการประกอบพิธี ประกอบกับในปีเดียวกันนี้ ทางรัฐบาลได้มีการจัดพิธีรำลึกทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 คือ การเปิดทางหลวง “ประชาธิปัตย์” หรือถนนพหลโยธินในปัจจุบันจากกรุงเทพฯ ไปยังลพบุรี โดยทางหลวงสายนี้ได้มีการก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่ข้ามลำน้ำสำคัญหลายแห่ง และได้ตั้งชื่อสะพานให้เป็นอนุสรณ์ของวีรชนผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏที่มีส่วนช่วยค้ำจุนระบอบรัฐธรรมนูญ ได้แก่
1) สะพานประดิษฐสกลการ ข้ามคลองขุดใหม่เจริญ ที่ กม.5
2) สะพานทองจรรยา ข้ามคลองขุดใหม่เจริญรางบัว ที่ กม.16
3) สะพานศุกรนาคเสนี ข้ามคลองขุดใหม่เจริญบางเขน ที่ กม.21
4) สะพานแก้วนิมิตต์ ข้ามคลองรังสิต ที่ กม.31
5) สะพานบัวชม ข้ามคลองสกัดหก ที่ กม.67
6) สะพานแก่นอบเชย ข้ามคลองระพีพัฒน์ ที่ กม.85
7) สะพานอำนวยสงคราม ข้ามแม่น้ำป่าสัก ที่ กม.108[37]
ก็ตามเมื่อพิจารณาเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรมที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ พบว่า ใน พ.ศ. 2485 ไม่ปรากฏเอกสารที่กล่าวถึงการจัดพิธีกรรมแต่อย่างใด และในปีถัดมา พ.ศ. 2486 ซึ่งครบรอบ 10 ปีของการปราบกบฏบวรเดช ทางกระทรวงกลาโหมได้จัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2486 ทว่าการจัดงานรำลึกเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2486 กลับเป็นไปอย่างเงียบเหงา รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อพิธีกรรมจาก “งานทำบุญอุทิศแก่ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในคราวปราบกบฏ” เป็น “การวางพวงมาลา นะ อนุสาวรีย์หลักสี่” แทน ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการจากเดิมที่จัดในช่วงบ่ายจนถึงเที่ยงคืน มาจัดในช่วงระหว่างเก้าโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น และมีการตัดพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมมหรสพในตอนค่ำออกจากกำหนดการ เหลือเพียงพิธีวางพวงมาลา เพื่อรำลึกถึงทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในราชการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เท่านั้น[38]
นอกจากนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2486 กรมแผนที่ทหารบกได้พิมพ์ตราไปรษณียากรชุดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ 10 ปีของการปราบกบฏบวรเดช โดยไปรษณียากรชุดนี้เป็นภาพอนุสาวรีย์ปราบกบฏอยู่ในกรอบรูปต้นข้าวและรวงข้าว รวมถึงมีคำว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบถ” อยู่ใต้ภาพอนุสาวรีย์ ตราไปรษณียากรนี้มีหลายชนิดราคาด้วยกัน ได้แก่ ราคา 2 สตางค์ จำนวนพิมพ์ 2,000,000 ดวง และราคา 10 สตางค์ จำนวนพิมพ์ 2,000,000 ดวง ซึ่งเหตุผลในการพิมพ์น่าจะเพื่อการปลุกใจให้ประชาชนเชิดชูการปกครองระบอบใหม่ รวมถึงเป็นการยกย่องความสามารถของนายกรัฐมนตรี(จอมพล ป. พิบูลสงคราม)ในการป้องปรามการก่อกบฏต่างๆ ด้วย[39]
อนุสาวรีย์ปราบกบฏในบทสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติกับนายคง รักไทย
วีระนาม
๏ อำนวยน่วม (รวม) ศุกรนาค จัน
บุญช่วย เช้า ชั้ว พัน ดา ประดิษฐ์
แฉล้ม หลิม หล่อ ละมัย แก้วนิมิต
สมบุญ ทอง (ก้องกิตติ์และ) ทองอินฯ
๏ วีระนามตามที่อ้างข้างบนนี้
เป็นศักดิ์ศรีจับใจไทยทั้งสิ้น
เอ่ยกี่คราวเล่ากี่ครั้งยังอยากยิน
ไม่รู้สิ้นสุดซึ้งซึ่งจับใจ
๏ เสียงเภรีปี่พาทย์ระนาดฆ้อง
มันจะก้องกังวานนานถึงไหน?
อันเสียงยอวีระชนแห่งคนไทย
นั่นแหละไซร้ลือลั่นทุกวันคืนฯ[40]
บทกลอนข้างต้นนี้ พระราชธรรมนิเทศเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2477 เพื่อไว้อาลัยและสดุดีทหารและตำรวจผู้สละชีพเพื่อชาติในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการปราบกบฏบวรเดช ต่อมาบทกลอนนี้ได้ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งในบทสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติกับนายคง รักไทย ที่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงนับตั้งแต่วันที่ 3-12 ตุลาคม พ.ศ. 2482 โดยกรมโฆษณาการได้นำเรื่องราวของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดชมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้และชักจูงให้ประชาชนรำลึกถึงวีรกรรมการพลีชีพเพื่อชาติและรัฐธรรมนูญของพวกเขาในช่วงเวลาก่อนการจัดพิธีทำบุญ ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2482
ทั้งนี้บทสนทนาของนายมั่นกับนายคงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการอธิบายความเป็นมาของเหตุการณ์การปราบกบฏและการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากคณะบุคคลที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลด้วยกำลัง อันเป็นวิถีทางที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2476 รัฐบาลและประชาชนจึงร่วมมือกันปราบปรามกบฏและทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ส่งผลให้ทหารและตำรวจ 17 นายพลีชีพเป็นวีรชนเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญให้มั่นคง[41]
พร้อมกันนั้นยังมีการนำรายชื่อวีรชน 17 นาย มาแต่งเป็นเพลงเพื่อให้ประชาชนจดจำได้อย่างแม่นยำ โดยวรรคแรกคือ “อำนวย น่วม (รวม) ศุกรนาค จัน” หมายถึง พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม, ร.ต.น่วม ทองจรรยา, ร.ท.ขุนศุกรนาคเสนีย์ และ พลทหารจัน ศุขเนตร วรรณที่สอง “บุญช่วย เช้า ชั้ว พัน ดา ประดิษฐ” หมายถึง พลทหารบุญช่วย สุมาลย์มาศ, พลทหารเช้า สุขสวย, พลทหารชั้ว เผือกทุ่งใหญ่, พลทหารพัน ยังสว่าง, พลทหารดา ทูคำมี และ ร.ท.ขุนประดิษฐสกลการ วรรคที่สาม “แฉล้ม หลิม หล่อ ละมัย แก้วนิมิตร” หมายถึง ส.ท.แฉล้ม ศักดิ์ศิริ, พลทหารหลิม เงินเจริญ, ส.ท.หล่อ วงศ์พราหมณ์ และ ส.อ.ละมัย แก้วนิมิตร และวรรคสุดท้าย “สมบุญ ทอง (ก้องกิตติ์ และ) ทองอิน” หมายถึง ส.อ.สมบุญ บัวชม, นายดาบทอง แก่นอบเชย และพลทหารทองอิน เผือกผาสุข[42]
นอกจากนี้นายมั่นกับนายคงยังยกย่องวีรชน 17 นายว่าเป็น “วีรชนของชาติ” ที่ทำประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติคือ การสละชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญและปกปักรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงสร้างอนุสาวรีย์ที่หลักสี่สำหรับบรรจุอัฐิวีรชนของชาติ เพื่อให้ประชาชนรำลึกถึงวีรกรรมของพวกเขาและเป็นเครื่องเตือนใจมิให้ชาวไทยแตกความสามัคคี
สุดท้ายแล้วนายมั่นกับนายคงยังได้เปรียบเปรยอนุสาวรีย์ปราบกบฏว่าเปรียบเสมือนเป็นบุคคลที่จะเฝ้าดูความเจริญต่าง ๆ ในบริเวณแวดล้อมอนุสาวรีย์ อาทิ ความเจริญทางเศรษฐกิจจากการสร้างถนนและทางรถไฟ ความเจริญด้านการเกษตรจากการตั้งสถานีทดลองและวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขน ความเจริญด้านศาสนาจากการปฏิสังขรณ์วัดเทวสุนทรขึ้นใหม่ ความเจริญของกองทัพจากการตั้งกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกที่บางเขน[43]อันสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏในฐานะเป็นสิ่งยืนยันถึงการเสียสละของวีรชนของชาติเพื่อปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นรากฐานให้ประเทศสยามมีความมั่นคงสืบไป ตลอดจนผลพลอยได้จากการสร้างอนุสาวรีย์ยังนำมาซึ่งความเจริญให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา การเกษตร การศึกษา และการทหาร อันเป็นหมุดหมายที่ดีในการพัฒนาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง
การบำรุงรักษาอนุสาวรีย์ปราบกบฏและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองอนุสาวรีย์
นับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลไทยได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (พ.ศ. 2477), อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (พ.ศ. 2479), อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2483), อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (พ.ศ. 2485), และอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี (พ.ศ. 2485) อย่างไรก็ตามกลับไม่มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดูแลรักษาอนุสาวรีย์ต่างๆ ดังนั้นในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 จอมพล ป. จึงมีคำสั่งว่า
“1. บอก ดร.เดือน ว่า อนุสาวรีย์ต่างๆ ที่ส้างขึ้นยังไม่มีกดหมายคุ้มครองและมอบหน้าที่แก่ไครรักสา หยากไห้พิจารนาดูด้วย
2. อนุสาวรีย์หลักสี่ยังไม่มีไครรักสา สวนยังทำไม่เส็ด การปลูกต้นไม้ยังไม่ดีพอ ขอไห้สั่งแก่มหาดไทยเปนผู้รักสาและจัดการบำรุงให้ดีโดยเร็วด้วย”[44]
ในเรื่องการรักษาและบำรุงอนุสาวรีย์ปราบกบฏ จอมพล ป. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อให้อนุสาวรีย์นี้มีความสง่างามและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสมกับเป็นอนุสาวรีย์แห่งชาติ โดยมีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในการบำรุงรักษาอนุสาวรีย์นี้ แต่กระทรวงมหาดไทยกลับชี้แจงมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่อยู่ในการควบคุมของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ส่วนการตกแต่งสนามเป็นหน้าที่ของกรมทาง ดังนั้นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงตอบยืนยันให้กระทรวงมหาดไทยปฏิบัติตามคำสั่งของจอมพล ป. ด้วยเหตุนี้กระทรวงมหาดไทยจึงขอตั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำ สำหรับบำรุงรักษาอนุสาวรีย์จำนวน 4 คน เนื่องจากมีข้าราชการไม่เพียงพอ รวมถึงขอให้กระทรวงการคลังตั้งอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ในงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงมหาดไทย แต่กรรมการพิจารณางบประมาณประจำ พ.ศ. 2487 เห็นว่า การบำรุงรักษาอนุสาวรีย์ควรเป็นหน้าที่ของกรมทาง จึงได้ตัดอัตราเงินเดือนตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอออกไป เพราะฉะนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณ แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีกลับไม่ปรากฏว่าได้ตั้งงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาอนุสาวรีย์หลักสี่แต่อย่างใด[45]
สำหรับเรื่องกฎหมายคุ้มครองอนุสาวรีย์นั้น หลังจากจอมพล ป. ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ให้ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์ ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2486 จอมพล ป. ได้มีคำสั่งเตือนไปยังดร.เดือน ความว่า “เวลานี้ประเทสของเรามีอนุสสาวรีมากแห่งสมควนจะมีการควบคุมบำรุงรักสาตลอดจนการสักการะ ฉะนั้นไห้กรมกรีสดีกาจัดการพิจารนาดูว่า สมควนจะมีกดหมายเกี่ยวไนเรื่องนี้ดีหรือจะควนทำหย่างไร”[46]
จากการพิจารณาของเลขานุการคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นควรให้มีกฎหมายคุ้มครองและรักษาอนุสาวรีย์ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และเสนอให้กรรมการร่างกฎหมายตรา “ร่างพระราชบัญญัติอนุสาวรีย์แห่งชาติ” แต่จากการพิจารณาตรวจร่างกฎหมายดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกา (อนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา) เห็นว่า อำนาจของคณะกรรมการตามร่างกฎหมายมีมากเกินไป ขณะเดียวกันก็เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องตราเป็นรูปพระราชบัญญัติ เพราะอาจตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการควบคุมหรือบำรุงรักษาเป็นการภายในได้
ขณะเดียวกันนายพิชาญ บุลยง (เดิมชื่อ เรอเน กียอง หรือ René Guyon) ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ได้เสนอรายงานเทียบเคียงกฎหมายของต่างประเทศเรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์สาธารณะ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, กรีซ, อิตาลี, ฮังการี, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, เยอรมนี, สเปน, สวิสเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, และจีน โดยนายพิชาญเห็นว่า กฎหมายไทยมี “พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477” ที่คุ้มครองอนุสาวรีย์โบราณ[47] แต่ยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองอนุสาวรีย์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ อันได้แก่ อนุสาวรีย์แห่งชาติ และอนุสาวรีย์สาธารณะ ซึ่งในกรณีการลงโทษผู้ทำลายหรือทำให้อนุสาวรีย์ใหม่เสียหาย อาจทำได้โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญา หากรัฐบาลมีนโยบายใหม่สามารถกระทำโดยออกกฎหมายใหม่เป็นพิเศษหรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2477 ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชบัญญัติอนุสาวรีย์สาธารณะ” ที่จะคุ้มครองทั้งอนุสาวรีย์โบราณและอนุสาวรีย์ใหม่
เมื่อกรรมการร่างกฎหมายได้พิจารณารายงานของนายพิชาญแล้ว เห็นว่าควรออกกฎหมายในเรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์ในรูปพระราชบัญญัติ ดังนั้นจึงยกร่างขึ้นใหม่ในชื่อ “พระราชบัญญัติคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 24..” ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดอนุสาวรีย์แห่งชาติ คือ อนุสาวรีย์ที่ระบุไว้ในใบแนบท้ายพระราชบัญญัติและอนุสาวรีย์อื่นที่ใดที่พระราชบัญญัติกำหนดว่าเป็นอนุสาวีย์แห่งชาติ (มาตรา 3) โดยผู้ที่ประทุษร้ายต่ออนุสาวรีย์แห่งชาติโดยทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้เสียประโยชน์ มีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 3,000 บาท (มาตรา 4) และผู้ใดกระทำการเหยียดหยามอนุสาวรีย์แห่งชาติ มีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 5)[48]
จากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2487 ลงมติให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาแก้ไขหลักการใหม่ คือ เมื่อจะกำหนดอนุสาวรีย์ใดให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งชาติหรือยกเลิกอนุสาวรีย์แห่งชาติ ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกากับให้กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ร่างกฎหมายนี้ควรออกในรูปพระราชกำหนดหรือในรูปพระราชบัญญัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้รอเรื่องนี้ไว้เสนอสภาผู้แทนราษฎรในรูปพระราชบัญญัติ
อย่างไรก็ตามเมื่อจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2487 ลงมติให้ระงับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ[49]
การระงับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติอาจมีสาเหตุมาจากกฎหมายฉบับนี้ถูกร่างขึ้นภายใต้แนวคิดและหลักการแบบทหารนิยม ที่มุ่งคุ้มครองและรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอนุสาวรีย์แห่งชาติ อันเกี่ยวข้องกับจอมพล ป. และพิธีกรรมของทหาร ประกอบกับรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายปรีดี พนมยงค์และกลุ่มเสรีไทย มีความพยายามขจัดอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของจอมพล ป. เช่น การประกาศยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของจอมพล ป. ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 หรือการยกเลิกงานด้านวัฒนธรรมที่เคยประกาศในสมัยจอมพล ป. เช่น การประกาศยกเลิกเรื่องวีรธรรม การแต่งกายในที่สาธารณะ การกินหมาก ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติจึงถูกระงับไปโดยปริยาย
ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอว่า อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของชาติ และเกี่ยวข้องกับราชการทหารเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หน่วยราชการเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ของทหาร แต่เมื่อตรวจสอบหลักฐานกลับไม่ปรากฏว่า กระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลรักษาอนุสาวรีย์ข้างต้นแต่อย่างใด ประกอบกับมีคนร้ายขโมยโซ่ที่ขึงรอบอนุสาวรีย์ทหารอาสาไปเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลอนุสาวรีย์ ดังนั้นกระทรวงกลาโหมจึงเสนอหลักการเกี่ยวกับการดูแลรักษาอนุสาวรีย์ที่รัฐบาลสร้างให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลในฐานะเป็นเจ้าของสถานที่ หากอนุสาวรีย์อยู่ในเขตเทศบาลควรให้เทศบาลนั้นดูแล หากอยู่นอกเขตเทศบาลควรให้คณะกรมการจังหวัดหรือคณะกรมการอำเภอดูแล
จากความเห็นของกระทรวงกลาโหมข้างต้น ทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา จากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้เสนอรายงานว่า ยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทางปฏิบัติหรือควบคุม ดังนั้นเมื่อทางราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ใดๆ ผู้ดำเนินการสร้างควรเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดงานพิธีเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นั้น กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เพียงช่วยระวังรักษาในฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลอนุสาวรีย์โดยตรง
จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 และมีมติว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ในส่วนความสะอาดและความสวยงาม ถ้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้มอบให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาล มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรมการจังหวัด สำหรับพิธีถ้าเป็นงานของหน่วยราชการใด ให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้จัดงานเอง[50]
หากพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น จะพบว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาลกรุงเทพมหานคร ดังนั้นกรมการจังหวัดกรุงเทพฯ จึงมีหน้าที่ในการรักษาความสะอาดและความสวยงาม ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของอนุสาวรีย์แห่งนี้
การรื้อสร้างความหมายของอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490
หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจลงใน พ.ศ. 2487 คณะราษฎรกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ได้พยายามประนีประนอมกับกลุ่มกษัตริย์นิยมมากขึ้น โดยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจลใน พ.ศ. 2476, 2478, และ 2481 หลังจากบรรดาเหล่านักโทษการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ 2475 ได้รับการปลดปล่อยและกลับมามีบทบาททางการเมืองทั้งการเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การรวมกลุ่มกันตั้งพรรคก้าวหน้าและพรรคประชาธิปัตย์เพื่อต่อต้านคณะราษฎร นอกจากนี้เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองเนื่องจากกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและปัญหาการบริหารประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนของคณะราษฎรถูกโจมตีอย่างหนัก จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มทหาร นักการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มกษัตริย์นิยม
หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กลุ่มกษัตริย์นิยมได้แสดงบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่นควบคู่กับคณะรัฐประหาร นำไปสู่การฟื้นฟูพระราชอำนาจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังการปฏิวัติ 2475 ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ขณะเดียวกันบรรดากลุ่มกษัตริย์นิยมยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้อุดมการณ์ในการปฏิวัติ 2475 เสื่อมสลายลง ผ่านงานเขียนต่างๆ ของอดีตนักโทษการเมือง นักการเมืองนิยมเจ้า และกลุ่มนักหนังสือพิมพ์หรือนักเขียนสารคดีการเมือง[51]
อนุสาวรีย์ปราบกบฏนับว่าเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างสำคัญที่สะท้อนถึงการพิทักษ์การปฏิวัติ 2475 อันเป็นเครื่องรำลึกที่เน้นย้ำถึงความรุ่งโรจน์ในชัยชนะของคณะราษฎรที่มีเหนือกบฏบวรเดช อนุสาวรีย์ปราบกบฏจึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มกษัตริย์นิยมในความพยายามที่จะรื้อสร้างความหมายอนุสาวรีย์แห่งนี้ผ่านงานเขียนสารคดีการเมือง เพื่อลดทอนความสำคัญและคุณค่าของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ดังสะท้อนได้จากงานเขียนของจำลอง อิทธะรงค์ เรื่อง ละครการเมือง (พ.ศ. 2492) และ หลุย คีรีวัต เรื่อง ประชาธิปไตย 17 ปี (พ.ศ. 2493)
ทั้งนี้จำลอง อิทธะรงค์ ได้อธิบายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ว่า เป็น “ถาวรวัตถุ” ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะไม่ได้เป็นเพียงอนุสาวรีย์ที่มีไว้ให้ลูกหลานของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏได้มากราบไหว้เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นประจักษ์พยานและหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในสมัยเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย ที่ “นักการเมือง” ได้แตกแยกความคิดเห็นเป็นสองฝ่าย และต่างฝ่ายก็อ้างว่าจะดำเนินการเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง แต่ทั้งคู่กลับต่อสู้กันโดยใช้ความมุทะลุดุดันและกำลังอาวุธจนผู้คนต้องล้มตายลงไปมากมาย[52]
นอกจากนี้จำลองยังเห็นว่า การที่รัฐบาลนำเอาอัฐิของผู้เสียชีวิตเฉพาะฝ่ายรัฐบาลมาบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์แต่เพียงฝ่ายเดียว และเรียกชื่ออนุสาวรีย์ว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” เป็นสิ่งที่ทำให้เกียรติประวัติของชาติไทยต้องหม่นหมองลง เพราะเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง นอกจากนี้อนุสาวรีย์ปราบกบฏยังเป็น “เครื่องสะกิดแผลในหัวใจ” ของฝ่ายที่พ่ายแพ้คือ ฝ่ายกบฏบวรเดช ให้ระลึกคุ่นแค้นและคิดจะ “ล้างแค้น” ฝ่ายคณะราษฎร[53]
ขณะที่หลุย คีรีวัต เย้ยหยันว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็น “อนุสสาวรีย์แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ ที่อุบัติขึ้นมาโดยปราศจากความหมายและหลักเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะเป็นเพียงแต่อนุสสาวรีย์ที่สร้างขึ้นไว้เพื่อความเย่อหยิ่งของบุคคลบางคน และเพื่อประจานทหารไทย คนไทย ที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน และมาฆ่าฟันกันจนล้มตายไปเท่านั้นเอง”[54]
หลุยยังพยายามชี้ให้เห็นว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏมีความแตกต่างจากอนุสาวรีย์แห่งอื่นที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกตัญญูต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบกับพระบรมรูปทรงม้า ที่ราษฎรเรี่ยไรเงินสร้างเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 หรืออนุสาวรีย์สุนัขย่าเหลที่รัชกาลที่ 6 สร้างเพื่อเตือนใจให้เห็นถึงความกตัญญูของสัตว์เดรัจฉาน และอนุสาวรีย์ทหารอาสาที่ระลึกถึงเหล่าทหารอาสาที่พลีชีพเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ในสงครามโลกครั้งที่ 1[55] เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ จึงเป็น “อนุสาวรีย์ไม่มีใครเคารพ นอกจากทหารบางคนที่ถูกบังคับให้ไปวางพวงมาลาปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดความเคียดแค้นแก่กัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้บรรดาโจรผู้ร้ายอาศัยบริเวณนี้ทำการทารุณกรรมต่างๆ เช่น ปล้น ทำร้ายร่างกาย หลอกคนไปฆ่าไปจี้”[56]
นอกจากนี้หากเปรียบเทียบอนุสาวรีย์ปราบกบฏกับอนุสาวรีย์บาสตีลที่กรุงปารีส หลุยเห็นว่า อนุสาวรีย์บาสตีลมีที่มาจากการจลาจลที่เกิดจากอำนาจมติประชามติโดยธรรมชาติอย่างแท้จริงของราษฎรฝรั่งเศสทั่วประเทศ ที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับการถูกบีบบังคับอย่างทารุณของเหล่าอำมาตย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิวัติ 2475 ที่ไม่ปรากฏว่าพวกอำมาตย์ของพระมหากษัตริย์สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรแต่อย่างใด และประชาชนยังอยู่ดีกินดีเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของตนเป็นอย่างยิ่ง แต่อำมาตย์ส่วนน้อยได้กระทำการกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดินเสียเองโดยราษฎรไม่ได้รู้เห็นหรือสนับสนุนแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่จึงเป็นเพียงอนุสาวรีย์ของการปฏิวัติแบบกรุงศรีอยุธยา ที่เหล่าอำมาตย์ทรยศและทำการกบฏต่อกษัตริย์เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกมากกว่าเพื่อราษฎร[57]
อนุสาวรีย์ปราบกบฏอาจสิ้นมนต์ขลัง หมดพลังทางการเมืองในระดับชาติ นับตั้งแต่การสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยแรกเมื่อ พ.ศ. 2487 ประกอบกับการจัดพิธีกรรมรำลึกถึง 17 ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดชต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2490 อย่างไรก็ตามแม้พิธีกรรมจะสิ้นสุดลง ทว่าจากคำปรามาสและความพยายามต่างๆ ในการลบล้างคุณค่าและความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏผ่านงานเขียนของบรรดานักเขียนสารคดีการเมืองที่มีอุดมการณ์กษัตริย์นิยมข้างต้น แสดงให้เห็นว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏในความทรงจำของพวกเขายังคงเป็นอนุสรณ์ที่ตอกย้ำความพ่ายแพ้และความน่าอับอายจากความพยายามล้มล้างการปฏิวัติ 2475 ที่ล้มเหลวของพระองค์เจ้าบวรเดช แต่พวกเขาสามารถทำได้เพียงตีอกชกหัวผ่านงานเขียนได้เท่านั้น เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่เคยเป็นหัวหน้ากองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดชได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2491-2500
อนุสาวรีย์ปราบกบฏกับท้องถิ่นบางเขน
แม้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกลดทอนความสำคัญในมิติของการเมืองระดับชาติลงหลังการรัฐประหาร 2490 แต่อนุสาวรีย์ปราบกบฏยังคงมีความสำคัญและผูกพันกับผู้คนในระดับท้องถิ่นของพื้นที่บางเขนแห่งนี้มาโดยตลอด ดังสะท้อนจากการเรียกชื่อตำบลอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ สถานที่ราชการ และชุมชนเมืองในอำเภอบางเขนว่า “ตำบลอนุสาวรีย์” มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา
เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะท้องถิ่นบางส่วนในตำบลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ขึ้นเป็นสุขาภิบาลใน พ.ศ. 2499 ได้เรียกสุขาภิบาลแห่งนี้ว่า “สุขาภิบาลอนุสาวรีย์”[58] แม้ว่าต่อมาใน พ.ศ. 2506 กระทรวงมหาดไทยจะขยายสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอำเภอบางเขนเพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารกิจการและทำนุบำรุงท้องถิ่น นำไปสู่การเปลี่ยนชื่อ “สุขาภิบาลอนุสาวรีย์” เป็น “สุขาภิบาลบางเขน”[59] แต่ตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏยังคงยึดโยงกับท้องถิ่นอย่างชัดเจน ดังปรากฏจากการออกแบบตราสัญลักษณ์สุขาภิบาลบางเขนเป็นรูปอนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างตรงไปตรงมา อันสะท้อนถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏในฐานะสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นบางเขน นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองของจังหวัดพระนคร เทศบาลกรุงเทพ-ธนบุรี รวมถึงยุบเทศบาลและสุขาภิบาลเป็นหน่วยการปกครองแบบเขตและแขวงในหน่วยการปกครองกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2510 อนุสาวรีย์ปราบกบฏก็ยังคงเป็นตราสัญลักษณ์ประจำเขตบางเขน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นตราสัญลักษณ์แบบปัจจุบันโดยกลายเป็นรูปเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุบางเขนในช่วงทศวรรษ 2550 สมัยที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
เมื่ออนุสาวรีย์ปราบกบฏได้ถูกสร้างความหมายใหม่ในฐานะเป็นสถานที่สำคัญอันแสดงเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นบางเขน ดังนั้นอนุสาวรีย์ปราบกบฏและบริเวณลานอนุสาวรีย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนพหลโยธินจึงได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีจากสุขาภิบาลบางเขน กล่าวคือนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏได้ถูกปรับปรุงเป็นพื้นที่สันทนาการขนาดใหญ่อันประกอบด้วยสวนหย่อม หอนาฬิกา และน้ำพุ ส่งผลให้ลานคอนกรีตที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและจัดกิจกรรมต่างๆ ของคนท้องถิ่นบางเขน ซึ่งมีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความทันสมัยสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองทั่วประเทศไทยช่วงทศวรรษ 2500[60] นอกจากนี้การปรับปรุงลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏยังช่วยเสริมความสง่างามและความมีชีวิตชีวาให้กับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งยังคงตั้งอยู่โดดเด่นและเป็นจุดหมายตาสำคัญกลางพื้นที่สันทนาการแห่งนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อกรมทางหลวงได้ปรับปรุงพื้นที่ลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้กลายเป็น “วงเวียนหลักสี่” ในช่วง พ.ศ. 2530 เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรตัดขัดในพื้นที่เขตบางเขนโดยขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ได้ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏเปลี่ยนแปลงและลดคุณค่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างเด่นชัด เดิมนั้นผู้คนที่สัญจรผ่านจุดตัดระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา และถนนแจ้งวัฒนะ จะสามารถสังเกตเห็นอนุสาวรีย์ปราบกบฏ อันเป็นสถานที่สำคัญของเขตบางเขน ตั้งโดดเด่นสง่างามในบริเวณจุดตัดถนนทั้งสามสาย แต่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นวงเวียนทำให้การเข้าถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นไปได้ยาก อันทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้ตัดขาดจากผู้คนและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนุสาวรีย์ จากนั้นใน พ.ศ. 2536 กรมทางหลวงได้ปรับภูมิทัศน์บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏอีกครั้งด้วยการตัดถนนผ่ากลางวงเวียนให้เป็นสี่แยกและทำให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกพิจารณาว่ากีดขวางการจราจร เนื่องจากไม่สามารถขยายผิวการจราจรในบริเวณดังกล่าวได้ ดังนั้นกรมทางหลวงจึงสร้างอุโมงค์รถยนต์ตามแนวถนนพหลโยธินบริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏใน พ.ศ. 2548 รวมถึงยกเลิกสี่แยกอนุสาวรีย์ปราบกบฏและปรับปรุงมาเป็นวงเวียนเช่นเดิม อันทำให้บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏตัดขาดจากผู้คนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ รวมถึงไม่ได้รับการดูแลรักษาจากหน่วยราชการที่รับผิดชอบ จนทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้หมดความสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง
การปลุกอนุสาวรีย์ปราบกบฏของคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549
จากบทความ “คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยา” ของชาตรี ประกิตนนทการ ได้ชี้ให้เห็นว่าหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เกิดปรากฏการณ์บูรณปฏิสังขรณ์ (reconstruction) คณะราษฎร ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา กลุ่มนักกิจกรรมตามมหาวิทยาลัย และกลุ่มนักวิชาการ โดยกลุ่มเหล่านี้ได้ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรได้กลับมาโลดแล่นในสังคมอย่างกว้างขวางผ่านการจัดกิจกรรมรำลึกคณะราษฎรในฐานะวีรชน การใช้ชื่อหรือสัญลักษณ์คณะราษฎรในการต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำสังคมไทย และการขยายพรมแดนความรู้ใหม่เกี่ยวกับคณะราษฎร[61]
ภายใต้ปรากฏการณ์บูรณปฏิสังขรณ์คณะราษฎรได้มีส่วนสำคัญต่อการรื้อฟื้นความหมายของอนุสาวรีย์ปราบกบฏครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มจัดชุมนุมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยนายวีระ มุสิกพงษ์ ประธาน นปช. ได้เลือกอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นสถานที่รวมพลเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 พร้อมกับได้ประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์และดวงวิญญาณของคณะราษฎร ตลอดจนวางพวงมาลาหน้าประติมากรรมครอบครัวชาวนาด้านทิศใต้ของอนุสาวรีย์ ที่ถูกให้ความหมายใหม่ในฐานะสัญลักษณ์ของ “ไพร่” ในการต่อสู้ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ของนปช. ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการปลุกชีวิต ฟื้นพลัง และกระตุ้นจิตวิญญาณของอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้กลับมามีพลังทางการเมืองอีกครั้ง[62]
ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนปช. ครั้งนี้จะจบลงด้วยการถูกสังหารหมู่กลางเมือง 99 ศพ และการฟื้นคืนพลังของอนุสาวรีย์ปราบกบฏขึ้นใหม่ในครั้งนี้จะตามมาด้วยการรื้อ-ย้ายอนุสาวรีย์ไปตั้งที่ใหม่ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนักวิชาการและประชาชน เพื่อหลบให้กับโครงการสะพานลอยยกระดับบริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏของกรมทางหลวงที่เชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะกับถนนรามอินทรา แต่อย่างไรก็ตามความหมายใหม่ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ถูกปลุกขึ้นกลับไม่ได้สูญหายไป รวมถึงยังสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยอมสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับวีรชนทหารและตำรวจ 17 คนที่สละชีพในคราวกบฏบวรเดช[63]
การปลุกพลังครั้งใหม่ให้กับอนุสาวรีย์ปราบกบฏของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ปรากฏชัดเจนในการจัดกิจกรรมของกลุ่มเสื้อแดงที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏระหว่าง พ.ศ. 2555–2556 เริ่มจากงาน “78 ปี วันปราบกบฏ” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, คณะสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎร, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540, กลุ่มแดงบางเขน และสมัชชาเสื้อแดงสมุทรปราการ[64]ซึ่งกิจกรรมของงานมีการวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้าที่ปราบกบฏและปกป้องรักษาประชาธิปไตย มีการอภิปรายให้ความรู้และงานรื่นเริง จากนั้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มคนเสื้อแดงอิสระในนามเครือข่ายภาคีพลังประชาชน (ภปช.) ได้ใช้บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์การปฏิวัติของคณะราษฎรมาเป็นที่ตั้งของ “หมู่บ้านต้านกบฏ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและต่อต้านความพยายามล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจากมวลชนและพรรคการเมืองตรงข้าม[65] และในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มคนเสื้อแดง 15 องค์กรได้ร่วมกันจัดงาน “80 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ภารกิจพิทักษ์ประชาธิปไตย” โดยมีกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่วีรชนที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช การจัดนิทรรศการภาพถ่ายเก่าและออกร้านขายสินค้าชุมชน การปราศรัยสดุดีวีรชน และการแสดงดนตรี[66]
นอกจากนี้อนุสาวรีย์ปราบกบฏยังใช้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้านการเคลื่อนไหวปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. และสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[67]อันสะท้อนถึงความหมายใหม่ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2556 – 2557
การรื้อถอนและการอันตรธานของอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลังรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557
หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ได้มีความพยายามทำลายความหมายทางการเมืองของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่คนเสื้อแดงนำไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของตนในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย โดยฝ่ายทหารได้ยึดพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นที่ตั้งชั่วคราวของทหารสำหรับเฝ้าระวังความปลอดภัย รื้อถอนหมู่บ้านต้านกบฏของกลุ่มเสื้อแดงออก และปิดล้อมพื้นที่ไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาในบริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทหาร
ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่รัฐหลังการรัฐประหารของคสช. ทว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏกลับยังคงมีพลังในฐานะเป็นพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการรำลึกถึงประชาธิปไตยและการต่อต้านคสช. ดังสะท้อนจากความพยายามในการจัดกิจกรรม “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เนื่องจากผู้จัดกิจกรรม 7 คนถูกตำรวจจับกุมระหว่างเดินไปอนุสาวรีย์ปราบกบฏและถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ[68]
ทั้งนี้จากการรื้อฟื้นความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้กรมศิลปากรพิจารณาว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ อันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อ พ.ศ. 2476 ดังนั้นกรมศิลปากรจึงประกาศให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นโบราณสถานของชาติและได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558[69]ซึ่งเปรียบเสมือนกับการประนีประนอมให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏได้มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ชาติแบบทางการและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคุ้มครองดูแลอนุสาวรีย์อย่างชัดเจนคือ กรมศิลปากร ขณะเดียวกันก็เบียดขับความหมายและลดทอนความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงไปโดยปริยาย
แม้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏต้องถูกเคลื่อนย้ายเป็นครั้งที่ 2 ในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เพื่อหลีกทางให้กับตัวสถานีและทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต การนี้กรมศิลปากรได้มีบทบาทในการพิจารณาเห็นชอบที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งใหม่บริเวณริมวงเวียนหลักสี่ด้านทิศตะวันตก รวมถึงกำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสริมฐานอนุสาวรีย์เป็นการถาวรให้สูงเด่น เพื่อลดการบดบังจากตัวสถานีรถไฟฟ้า มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อส่งเสริมคุณค่าและความสง่างามของอนุสาวรีย์ให้สมกับเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ตลอดจนมีการจัดทำป้ายข้อมูลแสดงความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้[70]
อย่างไรก็ตามในคืนวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561 อนุสาวรีย์ปราบกบฏอันเป็นโบราณสถานของชาติ กลับถูกรื้อถอนและหายไปอย่างไม่คาดฝันคล้ายคลึงกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 อันสะท้อนถึงการจัดการความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรระลอกใหม่ของพลังอนุรักษ์นิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรและประชาธิปไตย[71]ที่มิใช่เพียง “การรื้อสร้างความหมาย” แต่มีลักษณะเป็น “การรื้อถอนความทรงจำ” เสมือนไม่เคยมีวัตถุหรืออนุสรณ์ใดที่แสดงเรื่องราวการสถาปนาระบอบใหม่หรือการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบใหม่ของคณะราษฎรดำรงอยู่มาก่อน ซึ่งในกรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏสะท้อนถึงปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจนที่ไม่มีแม้แต่ภาพข่าวเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายของสื่อมวลชน ความเงียบงันของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการคุ้มครองดูแลอนุสาวรีย์ปราบกบฏราวกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ไม่เคยตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ ตลอดจนการเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก “สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่” เป็น “สถานีพหลโยธิน 59” อันแสดงถึงความพยายามที่จะลบล้างการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน
สรุป
แม้อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย ทว่าผลจากความสำเร็จของการปราบปรามกลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติในครั้งนั้น ทำให้คณะราษฎรสามารถปกปักรักษาการปกครองระบอบใหม่ไว้ได้ในที่สุด อนุสาวรีย์ปราบกบฏจึงมิได้มีคุณค่าเพียงแค่เป็นอนุสรณ์ที่ใช้บรรจุอัฐิวีรชนผู้พลีชีพพิทักษ์การปฏิวัติเท่านั้น ทว่ายังเป็นเครื่องเตือนใจให้คนรุ่นหลังตระหนักสำนึกถึงความสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่แม้ว่าการก่อการปฏิวัติให้ได้มานั้นอาจยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด แต่การต่อสู้เพื่อปกป้องพิทักษ์การปฏิวัติรักษาระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั้นมีราคาที่สูงค่ายิ่งกว่า
อนุสาวรีย์ปราบกบฏอาจถูกทำให้หายไปอย่างลึกลับในวันนี้และหลงเหลือแค่เพียงชื่อที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามมิอาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงการพิทักษ์การปฏิวัติจากฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย และยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุดลง
หมายเหตุ
- คงอักขร การสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
- บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ https://revolutionaryobjects.org/th/object/constitution-defense-monument#picture
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- หจช. (2)สร.0201.97.5/3 เรื่องวันที่ระลึกทหารและตำรวจฯ อนุสาวรีย์หลักสี่ (8 ตุลาคม 2480 – 12 ตุลาคม 2486).
เอกสารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.19.1/23 เรื่องที่ดินสำหรับขยายอนุสสาวรีย์ตำบลหลักสี่ (5 ธันวาคม 2482 – 9 กันยายน 2486).
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.37/1 เรื่องสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ (หลักสี่) (19 มกราคม 2476 – 6 พฤศจิกายน 2486).
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สลค.3.37/9 เรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ (3 กรกฎาคม 2486 – 5 กรกฎาคม 2488).
เอกสารราชการอื่นๆ
- “ประกาศกรมศิลปากร เรื่องรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 30 กันยายน 2558.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135, ตอนพิเศษ 165ง (12 กรกฎาคม 2561) : น. 10-14.
- “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73, ตอน 75 ฉบับพิเศษ (20 กันยายน 2499) : น. 5-7.
- “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80, ตอนที่ 109 (12 พฤศจิกายน 2506) : น. 2517-2518.
- “ประกาสกะซวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตตำบนและอำเพอบางจังหวัด.” ราชกิจจานุเบกสา เล่ม 60, ตอนที่ 24 (27 เมษายน 2486) : น. 1648.
- “พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ (นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม).” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 (28 กรกฎาคม 2484) : น. 981.
- “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมืองและเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ. 2476.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 (11 กุมภาพันธ์ 2476) : น. 950 – 959.
- “พระราชบัญญัติเวนคืออสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างสุขศาลาและที่ว่าการอำเภอบางเขน ตำบลกูบแดง อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร พุทธศักราช 2483.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 (12 พฤศจิกายน 2483) : น. 720 – 723.
- รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2483 เรื่องประกาศชักชวนให้ประชาชนมีส่วนในการสร้างวัด (30 ตุลาคม 2483).
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 (18 มกราคม 2476).
เอกสารภาษาไทย
- กรมโฆษณาการ. ความเป็นกลางของประเทศไทย ที่ระลึกในงานทำบุญอุททิศแด่ 17 ทหารและตำรวจ ที่อนุสสาวรีย์หลักสี่ ณ วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2482. พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482.
- กรมราชทัณฑ์. รายงานการงาน ร.ร.ดัดสันดานเด็ก ประจำปี 2479. พระนคร : กรมราชทัณฑ์, 2480.
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย. รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายพหลโยธิน (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) ของกรุงเทพมหานคร เฉพาะช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ (ปัจจุบัน รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ) : กรณีขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการฯ ถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว และบริเวณอุโมงค์อนุสาวรีย์หลักสี่. กรุงเทพฯ : บริษัทเอ็นทิค จำกัด, 2560.
- จำลอง อิทธะรงค์. ละครการเมือง. พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทสหอุปกรณ์การพิมพ์ จำกัด, 2492.
- ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
- ชาตรี ประกิตนนทการ. ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.
- ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (2475 – 2500). กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน.
- ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ. พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482.
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. กรณี ร. 7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง. กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2550.
- พิบูลย์ หัตถกิจโกศล. “อนุสาวรีย์ไทย : การศึกษาในเชิงการเมือง.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
- มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2548.
- วิชัย ภู่โยธิน และคนอื่นๆ. อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สถาบันราชภัฏพระนคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏพระนคร, 2542.
- สาส์นอนุสสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2500. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2500).
- หลุย คีรีวัต. ประชาธิปไตย 17 ปี. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2493.
- อนุสสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ. พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, 2479.
วารสารและหนังสือพิมพ์
- ข่าวโฆษณาการ 3, 5 (สิงหาคม 2483).
- ข่าวโฆษณาการ 3, 7 (ตุลาคม 2483).
- ข่าวโฆษณาการ 3, 9 (ธันวาคม 2483).
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. “กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง.” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : น. 92 – 118.
- ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2479).
- ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2479).
- ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2481).
- “พิธีบรรจุอัฏฐิสิบเจ็ดทหาร-ตำรวจ.” ยุทธโกษ 2, 5 (พฤศจิกายน 2479) : น. 129-136.
- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “การสร้าง ‘พื้นที่สันทนาการ’ กับอำนาจรัฐที่แฝงเร้นในยุคพัฒนา.” วารสารสังคมศาสตร์ 39, 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2551) : น. 357-383.
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ.” หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข 8, 381 (13-19 ตุลาคม 2555) : น. 5.
เอกสารออนไลน์
- BBC. สัญลักษณ์ประชาธิปไตยล่องหน จากหมุดคณะราษฎรสู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-46719147
- Voice. กลุ่มเสื้อแดงตั้งหมู่บ้านต้านกบฏ. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก http://www.voicetv.co.th/read/74695
- Voice. รวมสถานที่จัดกิจกรรมจุดเทียน 21-22 ก.พ.นี้. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/97961
- ประชาไท. 80 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ภารกิจพิทักษ์ประชาธิปไตย. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก http://prachatai.com/activity/2013/10/49315
- ประชาไท. พบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ ไม่ทราบอยู่ไหน. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2018/12/80289
- ประชาไท. รวบ 7 นิสิต ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ ขู่ฟ้องหมดสภาพนิสิต-ศาลไม่รับฝากขัง. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก http://prachatai.com/journal/2016/06/66502
- ภาพบรรยากาศจุดเทียนต้านรัฐประหาร. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562. เข้าถึงได้จาก https://pantip.com/topic/31494221
- อรรคพล สาตุ้ม. สัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ. เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2556. เข้าถึงได้จาก www.prachatai.com/node/26904/talk
[1] พิบูลย์ หัตถกิจโกศล, “อนุสาวรีย์ไทย : การศึกษาในเชิงการเมือง” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527).
[2] ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547).
[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 (18 มกราคม 2476), น. 279 – 298.
[4] ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2479) : น. 5.
[5] ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ (พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482).
[6] หลวงพิบูลสงคราม จะได้รับยศ จอมพล ภายหลังจากเหตุการณ์กรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2484 ดูใน “พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ (นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม),” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 (28 กรกฎาคม 2484): น. 981.
[7] กรมโฆษณาการ, ความเป็นกลางของประเทศไทย ที่ระลึกในงานทำบุญอุททิศแด่ 17 ทหารและตำรวจ ที่อนุสสาวรีย์หลักสี่ ณ วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2482 (พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482).
[8] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2483 เรื่องประกาศชักชวนให้ประชาชนมีส่วนในการสร้างวัด, (30 ตุลาคม 2483).
[9] “ประกาสกะซวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตตำบนและอำเพอบางจังหวัด,” ราชกิจจานุเบกสา เล่ม 60, ตอนที่ 24 (27 เมษายน 2486), น. 1648.
[10] วิชัย ภู่โยธิน และคนอื่นๆ, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สถาบันราชภัฏพระนคร, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏพระนคร, 2542), น. 30.
[11] ตรี อมาตยกุล, อนุสาวีย์วีรชนไทย (กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2520), น. 61-63.
[12] ดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง,” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : น. 92 – 118.
[13] ดู ชาตรี ประกิตนนทการ, “เมรุคราวกบฏบวรเดช: เมรุสามัญชนครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2552), น. 62 – 99.
[14] “เรื่องร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมกรุงเทพฯกับดอนเมือง” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สามัญ สมัยที่ 2 (18 มกราคม 2476), น. 38 – 39.
[15] “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมืองและเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ. 2476,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 (11 กุมภาพันธ์ 2476), น. 950 – 959.
[16] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.37/1 เรื่องสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ (หลักสี่) (19 มกราคม 2476 – 6 พฤศจิกายน 2486).
[17] สาส์นอนุสสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2500. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2500), น. 20.
[18] กรมโฆษณาการ, ความเป็นกลางของประเทศไทย ที่ระลึกในงานทำบุญอุททิศแด่ 17 ทหารและตำรวจ ที่อนุสสาวรีย์หลักสี่ ณ วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2482, น. ซ-ฎ.
[19] “ย.” ย่อจากชื่อเดิมของหลวงนฤมิตรเรขการ คือ “เยื้อน” ส่วน “ห้องศิลป์” เป็นชื่อร้านจำหน่ายแม่พิมพ์และเครื่องแบบข้าราชการของหลวงนฤมิตรเรขการ ซึ่งสถานที่นี้เคยเป็นที่ชุมนุมของจิตรกรไทยฝีมือดี เช่น เหม เวชกร, สว่าง ปัญญางาม และ บุญยัง แสนสมรส
[20]หลวงเจนจิตรยง (สมบุญ บุณยะเสน) มีผลงานที่สำคัญคือ การเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ใหม่ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในงานฉลองพระนครครบ 150 ปี
[21] สาส์นอนุสสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2500. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2500), น. 17–18.
[22]ชาตรี ประกิตนนทการ, “เมรุคราวกบฏบวรเดช: เมรุสามัญชนครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, น. 81 – 84.
[23] สาส์นอนุสสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2500. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. หลวงนฤมิตรเรขการ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2500), น. 20-29.
[24] ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2479) : น. 5.
[25] “พิธีบรรจุอัฏฐิสิบเจ็ดทหาร-ตำรวจ,” ยุทธโกษ ๒, ๕ (พฤศจิกายน ๒๔๗๙) : น. ๑๓๐.
[26] หนังสือที่ระลึกในงานบรรจุอัฐิและเปิดอนุสาวรีย์มีเนื้อหาเกี่ยวกับประมวลข่าวสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน ที่รวบรวมโดยแผนกที่ 2 กรมยุทธการทหารบก โดยกระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดพิมพ์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม รมว.กลาโหม ได้เขียนคำนำความตอนหนึ่งว่า “การสงครามกลางเมืองในประเทศสเปญในครั้งนี้ ข้าพจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่พวกเราคนไทยควรจะทราบไว้เพื่อให้ประจักษ์ชัดว่า การแตกแยกความสามัคคีในระหว่างกันเองนั้น ย่อมนำความหายนะมาให้แก่ประเทศชาติเพียงใด นอกจากนั้นการป้องกันภัยอันเกิดจากลัทธิคอมมูนิสต์อันเป็นลัทธิอุบาทว์และมหาประลัยนี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกๆ คนจะต้องทำ...” ดู อนุสสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ (พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, 2479).
[27]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.37/1 เรื่องสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ (หลักสี่) (19 มกราคม 2476 - 6 พฤศจิกายน 2486).
[28]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.19.1/23 เรื่องที่ดินสำหรับขยายอนุสสาวรีย์ตำบลหลักสี่ (5 ธันวาคม 2482 – 9 กันยายน 2486).
[29] เรื่องเดียวกัน.
[30] “เรื่องการขยายลานอนุสสาวรีย์ปราบกบฎ” ใน ข่าวโฆษณาการ 3, 7 (ตุลาคม 2483) : น. 1678.
[31] สำหรับการสร้างที่ว่าการอำเภอบางเขนและสุขศาลาในเนื้อที่ 12 ไร่ ประสบปัญหาราคาที่ดินที่สูงกว่าราคาตลาดเช่นเดียวกับการขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ดังนั้นรัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน ดูรายละเอียดใน ข่าวโฆษณาการ 3, 9 (ธันวาคม 2483) : น. 2270 – 2273. และ “พระราชบัญญัติเวนคืออสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างสุขศาลาและที่ว่าการอำเภอบางเขน ตำบลกูบแดง อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร พุทธศักราช 2483,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 (12 พฤศจิกายน 2483), น. 720 – 723.
[32]ดู ชาตรี ประกิตนนทการ, “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน : วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตยยุคคณะราษฎร,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, น. 100 – 117.
[33]มาลินี คุ้มสุภา, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น (กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2548), น. 76 – 77.
[34] สถานที่ทัศนศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ อนุสาวรีย์ทหารอาสา (ชาติ) วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว (ศาสนา) อนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า (พระมหากษัตริย์) และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ (รัฐธรรมนูญ) ดูใน กรมราชทัณฑ์, รายงานการงาน ร.ร.ดัดสันดานเด็ก ประจำปี 2479 (พระนคร : กรมราชทัณฑ์, 2480), น. 24.
[35]หจช. (2)สร.0201.97.5/3 เรื่องวันที่ระลึกทหารและตำรวจฯ อนุสาวรีย์หลักสี่ (8 ตุลาคม 2480 – 12 ตุลาคม 2486).
[36]ประชาชาติ (17 ตุลาคม 2481) : น. 1, 35, 36.
[37]ดู “เรื่อง การกระทำพิธีเปิดทางหลวง “ประชาธิปัตย์” ตอนจากกรุงเทพฯ-ลพบุรี,” ใน ข่าวโฆษณาการ ๓, ๕ (สิงหาคม ๒๔๘๓) : น. ๑๐๑๙ – ๑๐๒๗.
[38]หจช. (2)สร.0201.97.5/3 เรื่องวันที่ระลึกทหารและตำรวจฯ อนุสาวรีย์หลักสี่ (8 ตุลาคม 2480 – 12 ตุลาคม 2486).
[39] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, กรณี ร. 7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2550), น. 158.
[40] พระราชธรรมนิเทศ, “วีระนาม,” ใน เทิดธรรมนูญ บทประพันธ์ของพระราชธรรมนิเทศ พ.ศ.2477 (พระนคร: โรงพิมพ์สยาพณิชยการ, 2477), น. 3-4. (พิมพ์ช่วยในงานศพนางศรีสารสมบัติ (แฉล้ม ศรีไชยยันต์) วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2477)
[41] กรมโฆษณาการ, ความเป็นกลางของประเทศไทย ที่ระลึกในงานทำบุญอุททิศแด่ 17 ทหารและตำรวจ ที่อนุสสาวรีย์หลักสี่ ณ วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2482, น. (44)-(48).
[42] เรื่องเดียวกัน, น. (53)-(57).
[43]เรื่องเดียวกัน, น. (78)-(83).
[44] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สลค.3.37/9 เรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ (3 กรกฎาคม 2486 – 5 กรกฎาคม 2488).
[45]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2)สลค.3.37/1 เรื่องสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ (หลักสี่) (19 มกราคม 2476 - 6 พฤศจิกายน 2486).
[46] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สลค.3.37/9 เรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ (3 กรกฎาคม 2486 – 5 กรกฎาคม 2488).
[47] อนุสาวรีย์โบราณ หมายถึง อสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือซากปรักหักพังของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอายุหรือลักษณะของการก่อสร้าง หรือความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ในทางโบราณคดีหรือศิลปกรรม
[48]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สลค.3.37/9 เรื่องการคุ้มครองอนุสาวรีย์แห่งชาติ (3 กรกฎาคม 2486 – 5 กรกฎาคม 2488).
[49]เรื่องเดียวกัน.
[50] เรื่องเดียวกัน.
[51] ดูรายละเอียดใน ณัฐพล ใจจริง, “ฝันจริงของนักอุดมคติ “น้ำเงินแท้” : รื้อ 2475 สร้างระบอบกลายพันธุ์” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (2475 – 2500) (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน), น. 135 – 196.
[52] จำลอง อิทธะรงค์, ละครการเมือง (พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทสหอุปกรณ์การพิมพ์ จำกัด, 2492), น. 322 – 324.
[53] เรื่องเดียวกัน.
[54] หลุย คีรีวัต, ประชาธิปไตย 17 ปี (พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2493), น. 226.
[55] เรื่องเดียวกัน, น. 227 – 228.
[56] เรื่องเดียวกัน, น. 230.
[57] เรื่องเดียวกัน, น. 235 – 237.
[58] “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73, ตอน 75 ฉบับพิเศษ (20 กันยายน 2499), น. 5-7.
[59] “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80, ตอนที่ 109 (12 พฤศจิกายน 2506), น. 2517-2518.
[60]ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “การสร้าง ‘พื้นที่สันทนาการ’ กับอำนาจรัฐที่แฝงเร้นในยุคพัฒนา,” วารสารสังคมศาสตร์ 39, 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2551) : น. 357-383.
[61] ดูเพิ่มเติมใน ชาตรี ประกิตนนทการ, “คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยา,” ใน สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558), น. 377-405.
[62] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ,” หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข 8, 381 (13-19 ตุลาคม 2555) : น. 5.
[63] เรื่องเดียวกัน, น. 5.
[64] ชาตรี ประกิตนนทการ, “คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยา,” ใน สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49, น. 398.
[65]Voice, กลุ่มเสื้อแดงตั้งหมู่บ้านต้านกบฏ, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จากhttp://www.voicetv.co.th/read/74695
[66] ประชาไท, 80 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ภารกิจพิทักษ์ประชาธิปไตย, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก http://prachatai.com/activity/2013/10/49315
[67]Voice, รวมสถานที่จัดกิจกรรมจุดเทียน 21-22 ก.พ.นี้, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/97961 และ ภาพบรรยากาศจุดเทียนต้านรัฐประหาร, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก https://pantip.com/topic/31494221
[68]ประชาไท, รวบ 7 นิสิต ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ ขู่ฟ้องหมดสภาพนิสิต-ศาลไม่รับฝากขัง, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก http://prachatai.com/journal/2016/06/66502
[69] “ประกาศกรมศิลปากร เรื่องรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 30 กันยายน 2558,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135, ตอนพิเศษ 165ง (12 กรกฎาคม 2561) : น. 10-14.
[70] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในภาคผนวก 3 หนังสือการประสานงานกรมศิลปากร “ที่ วธ 0406/5566 เรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาอนุมัติตำแหน่งที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2558,” ใน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายพหลโยธิน (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) ของกรุงเทพมหานคร เฉพาะช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ (ปัจจุบัน รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ) : กรณีขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการฯ ถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว และบริเวณอุโมงค์อนุสาวรีย์หลักสี่ (กรุงเทพฯ : บริษัทเอ็นทิค จำกัด, 2560).
[71]ประชาไท, พบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ ไม่ทราบอยู่ไหน, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2018/12/80289 และ BBC, สัญลักษณ์ประชาธิปไตยล่องหน จากหมุดคณะราษฎรสู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2562, เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-46719147