ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

การต่อสู้บนถนนสายประดิษฐ์มนูธรรม

17
พฤษภาคม
2565

 

ในวาระ 122 ปีชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังคงมีเรื่องราวสืบเนื่องจากคุณูปการให้รำลึกถึงท่าน อาทิเช่น ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ย่านลาดพร้าว และถนนปรีดี พนมยงค์ ย่านสุขุมวิท ที่จะเล่าถึงในบทความชิ้นนี้[1]

หากจะกล่าวถึงถนน “ประดิษฐ์มนูธรรม” และ ถนน “ปรีดี พนมยงค์” ผู้สนใจประวัติศาสตร์ที่เห็นชื่อถนนต่างตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงตั้งชื่อตามนามของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ เมื่อค้นคว้าจึงพบว่า เพื่อแสดงถึงประวัติศาสตร์ของสามัญชนผ่านการตั้งชื่อถนนโดยสมาชิกคณะราษฎร และอีกมุมได้สะท้อนภาพลักษณ์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในสังคมไทยช่วงรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ไว้อย่างน่าสนใจ

 

จากถนนของราชสู่ถนนของราษฎร

การสร้างถนนแบบตะวันตกในสยามเริ่มต้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าว่า

“ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในพระนครเรียกร้องให้สร้างถนนเพื่อเล่นกีฬา  ขี่ม้า และนั่งรถม้าตากอากาศ จึงโปรดให้สร้างถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ขึ้น...”[2]

ส่วนชื่อถนน ตรอก ซอกซอย จะตั้งมาจากถนนสายหลักและถนนชั้นในของกรุงเทพมหานครก่อนการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 การตั้งชื่อถนนมักใช้ชื่อบุคคลสำคัญ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือชื่อเหตุการณ์สำคัญ[3]

 

ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493
ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493

 

จนกระทั่ง พ.ศ. 2493 ได้มีการตั้งชื่อถนนทางหลวงแผ่นดินตามนามของบุคคลสามัญ คนสำคัญในคณะราษฎร และข้าราชการที่ทำงานมีคุณูปการต่อสังคมสยาม เช่น ถนนสุขุมวิทย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิทย์ อดีตอธิบดีกรมทาง หรือทางหลวงแผ่นดินสายประชาธิปัตย์ ที่ให้ชื่อว่า ‘ถนนพหลโยธิน’ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา[4] สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญและอดีตนายกรัฐมนตรี

นับจากทศวรรษ 2540 การตั้งชื่อถนนตามนามสามัญชน และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมจึงเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เช่น ถนน 16 สิงหา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ในวันที่ปรีดี พนมยงค์ ได้ออกประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

ถนนปรีดี พนมยงค์ (สุขุมวิท 71)

 

 

‘ถนนปรีดี พนมยงค์’ เป็นถนนที่ตัดผ่านเขตวัฒนา และเขตสวนหลวง ในกรุงเทพมหานคร เดิมกรมทางหลวงเรียกทางสายนี้ว่า “ถนนสุขุมวิท 71” สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2485-2486 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากหนังสือราชการของที่ว่าการอำเภอบางกะปิ ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ระบุว่าทางราชการจะสร้างทางหลวงต่อจาก “ซอยปรีดี” ซึ่งเป็นนามของ ปรีดี พนมยงค์ และหมายถึงเส้นทางสายพระโขนง-คลองตัน

ใน พ.ศ. 2542 สำนักงานเขตวัฒนา โดยคณะกรรมการพิจารณาตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย และสะพานในพื้นที่เขตวัฒนาได้มีมติให้ตั้งชื่อถนนสุขุมวิท 71 ว่า “ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์ และกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้ใช้ชื่อว่าถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2545[5] ซึ่งผู้หนึ่งที่มีส่วนผลักดันสำคัญให้เกิดถนนปรีดี พนมยงค์ คือ สามารถ มะลูลีม อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่มาของถนนสายนี้ไว้ว่า

“สมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่พาไปหาญาติแถวๆ คลองตันก็จะบอกว่าพาไปปรีดี (ไม่มีคำว่าถนนนำหน้าชื่อ) เป็นอันรู้กันว่าบริเวณเชิงสะพานคลองตัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดำริที่จะตัดถนนจากสุขุมวิทไปคลองตัน และเคยมาสำรวจสถานที่นี้ด้วย ผมเคยเจอแผนผังถนนเขียนว่าถนนปรีดี...

เมื่อมีการปรารภที่จะเปลี่ยนชื่อถนนเนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก อิหม่ามในละแวกนี้ล้วนยืนยันว่าควรใช้ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เป็นชื่อถนน...ในที่สุด ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเป็นเอกฉันท์เปลี่ยน ชื่อถนนสุขุมวิท 71 เป็นถนนปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ. 2545  ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ข้อเสนอในการตั้งชื่อดังกล่าวของผมบรรลุผล...” 

 

 

คำถามที่ตามมาเสมอเมื่อได้ยินชื่อถนนสายนี้คือ ปรีดี พนมยงค์ มีที่ดินบริเวณคลองตันมากมายหรือ จึงตั้งชื่อถนนให้ ต่อเรื่องนี้ ดุษฎี พนมยงค์ บุตรสาวของปรีดี เคยเล่าไว้ว่า ปรีดี ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตัวเองเลย แม้ตอนที่นายเสียง พนมยงค์ บิดาเสียชีวิตลง พี่น้องทุกคนได้รับส่วนแบ่งที่ดินที่อยุธยา แต่ปรีดี ไม่ขอรับส่วนแบ่งนั้นแม้แต่ตารางวาเดียว[6]

 

ถนนประดิษฐ์มนูธรรม

 

 

 

“ถนนประดิษฐ์มนูธรรม” ตั้งตามราชทินนามของ ปรีดี พนมยงค์ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ราว พ.ศ. 2471 ภายหลังจากที่ปรีดี สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสเพียงไม่นานแล้วเข้ารับราชการจนมีผลงานน่าพอใจโดยเฉพาะการทำงานในกรมร่างกฎหมาย กระทั่ง พระยาจินดาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา) ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เพื่อเสนอความชอบขอพระราชทานบำเหน็จให้แก่ข้าราชการในงานเฉลิมพระชนมพรรษา แล้วระบุเป็นการพิเศษถึงปรีดี ว่า

“ได้คัดเลือกเสนอมาตามปกติส่วนหนึ่งแล้ว แต่มีข้าราชการคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเห็นสมควรจะขอพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษ คือ นายปรีดี พนมยงค์

...ถ้าแม้เจ้าคุณเห็นว่าไม่เป็นการนอกเหนือและมีเหตุผลพอที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษได้แล้ว ข้าพเจ้าขอพระราชทานให้นายปรีดี เปนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม[7]

“ถนนประดิษฐ์มนูธรรม” เป็นถนนที่ขนานไปกับแนวทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา มีระยะทาง 12 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 เขต คือ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตลาดพร้าว เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง

ใน พ.ศ. 2540 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอให้ใช้ชื่อถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ว่า ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และ พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเวลานั้นกับคณะผู้บริหารฯ ได้มีมติเปลี่ยนชื่อ “ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์” เป็นชื่อ “ถนนประดิษฐ์มนูธรรม” ตามข้อเสนอในบริบททางการเมืองที่เปิดกว้างเมื่อ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

และด้วยเหตุผลสำคัญคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสยาม เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส คนแรก นับเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศอย่างยิ่ง ทางกรุงเทพมหานครจึงมีมติประกาศให้ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ใช้ชื่อว่า ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นับตั้งแต่ พ.ศ. 2540

ต่อมาทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก ในโอกาส 100 ปี ชาตกาล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543[8]

 

 

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2545 กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรก จากถนนรามอินทราถึงถนนลาดพร้าวให้ใช้ชื่อเดิม  ส่วนช่วงที่ 2 คือแยกถนนลาดพร้าวถึงถนนพระราม 9 ใช้ชื่อถนนประเสริฐมนูกิจ[9] ซึ่งสมัคร ให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อถนนว่า ประชาชนร้องเรียนขอให้เปลี่ยนชื่อถนนและแบ่งเป็น 2 ช่วง เนื่องจากถนนสายนี้มีความยาวหลายกิโลเมตร ทำให้เกิดความยุ่งยากในการระบุที่อยู่และชื่อผู้รับทางไปรษณีย์

การเปลี่ยนแปลงชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ดังกล่าว ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากสภากรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา รวมทั้งทายาทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้คัดค้านการเปลี่ยนชื่อถนน ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร จึงนำชื่อถนนดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่้ง โดยเสนอให้คณะกรรมการตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร พิจารณาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ต่อมาคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ถนนดังกล่าวกลับมาใช้ชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ทั้งสายตามเดิม[10]

สามารถ มะลูลีม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ช่วงเวลานั้น ได้เล่าเรื่องการเปลี่ยนชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม[11] ไว้อีกว่า

“มาจะกล่าวถึงถนนประดิษฐ์มนูธรรมก็เช่นเดียวกันผมเป็นผู้เสนอในที่ประชุมสภา กทม. …ต่อมาในปี 2546 นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่า กทม. บอกผมว่า ถนนประดิษฐ์มนูธรรมยาวเกินไป และยังไปบรรจบกับถนนพระราม 9 ด้วย อาจจะมีปัญหาได้อีก

...จึงขอแบ่งถนนส่วนหนึ่งระยะทาง 3 ก.ม. และตั้งชื่อถนนว่าถนนประเสริฐมนูกิจ โดยให้เหตุผลว่าเป็นราชทินนามของ บุคคลสำคัญคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมัครฯ ยังพูดกับผมอีกว่า สภา กทม. ขอชื่อถนนปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ไปแล้วตอนนี้ขอแบ่งส่วนหนึ่งของถนนประดิษฐ์มนูธรรม ให้ใช้ชื่อถนนประเสริฐมนูกิจ บ้างก็แล้วกัน ผมไม่อยากมีปัญหายุ่งยาก ก็เลยยอมตามนั้น”

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้บันทึกการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ขณะนั้นแล้ววิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องของการเมือง และอคติ[12] 

“ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ในฐานะ “ประชาชน” (ที่นายสมัครอ้าง) คนหนึ่ง ผมมีสติพอที่จะรู้ความสำคัญอันมหาศาลของปรีดีต่อประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ที่สำคัญผมเห็นว่า การเปลี่ยนชื่อถนนของนายสมัคร ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนเพราะเหตุผลและความเชื่อทางการเมืองเป็นส่วนตัว (politically and ideologically motivated) ที่ไม่เหมาะกับการใช้สำหรับการตัดสินใจเรื่องสาธารณะแบบนี้...

สมศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นว่า ถนนประดิษฐ์มนูธรรม คือ ความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้นึกถึงความพิเศษของประวัติศาสตร์ไทย

ทุกครั้งที่ผมขับรถผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรมส่วนนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึก “ทึ่ง” ว่าข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างมหาศาล (great symbolic importance)..............ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่า คงยากจะหาอะไรที่เป็น “หลักฐาน” ร่วมสมัยที่กระตุ้นให้นักศึกษาคิดถึงลักษณะพิเศษของประวัติศาสตร์ไทย ได้ดีไปกว่าข้อเท็จจริงนี้แล้ว”

ความเป็นมาของ ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)  ถนนประดิษฐ์มนูธรรม รวมถึง ซอยปรีดี พนมยงค์ บนถนนสุขุมวิท 71 จึงมิใช่เพียงประวัติศาสตร์ของถนนสองสาย หากแต่เป็นการสะท้อนความหมายของการให้ความสำคัญต่อสามัญชน ของสมาชิกคณะราษฎรที่ตั้งชื่อถนนตามนามของบุคคลที่มีคุณูปการต่อสังคม และการให้ความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองผ่านสัญลักษณ์ สถานที่ และสามัญชนได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นทศวรรษ 2540[13]

และที่สำคัญ คือ แสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ยุคนี้มีภาพลักษณ์ค่อนไปทางบวกในกลุ่มข้าราชการ นักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการ ที่มีแนวคิดทางฝั่งประชาธิปไตย ขณะที่การฟื้นคืนความหมายของปรีดี อาจมีเหตุมาจาก 3 ประการ ได้แก่ การก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และการที่ปรีดี พนมยงค์ ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลกจากสหประชาชาติ (UNESCO) ประกอบกับวาระ 100 ปี ชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2543

ท้ายที่สุด ถนนสายปรีดี พนมยงค์ ได้สะท้อนแนวคิด ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ ของปรีดี นั่นคือ

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง[14]

เฉกเช่นการสร้างถนน สถานที่ หรือการให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายของระบอบประชาธิปไตย และสามัญชนในยุคหนึ่ง อาจไม่เป็นที่นิยมในยุคถัดมา และอาจถูกทุบทำลายในยุคถัดไป ดังกรณีของการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ[15] และการถอนหมุดคณะราษฎร[16] ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้น

 

ที่มาของภาพ : ราชกิจจานุเบกษา, ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, รวินทร์ คำโพธิ์ทอง

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

หนังสือภาษาไทย :

  • กนกวลี ชูชัยยะ, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548)
  • ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, บนถนนสายปรีดี พนมยงค์ ใน กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดี บรรณานุสรณ์ 2560  หนังสือที่ระลึกในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2560, (กรุงเทพฯ: งานสื่อสารองค์กร กองแผนงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 18-33.
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535)
  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552)
  • มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2543)
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ มาจากไหน, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2548) 

วิทยานิพนธ์ :

  • นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์, “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
  • ปนิตา จิตมุ่ง, “การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร,” (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)
  • อำพิกา สวัสดิ์วงศ์, “ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ. 2477-2539,” (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] ขอขอบคุณ คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ สำหรับคำแนะนำและกระตุ้นความสนใจให้ค้นคว้าหัวข้อนี้ และขอขอบคุณงานค้นคว้าอย่างเป็นระบบและบันทึกปากคำประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญเรื่องอนุสรณ์สถาน ถนน และสถานที่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ของคุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล โปรดดูเพิ่มเติม ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, บนถนนสายปรีดี พนมยงค์ ใน กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดี บรรณานุสรณ์ 2560  หนังสือที่ระลึกในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2560, (กรุงเทพฯ: งานสื่อสารองค์กร กองแผนงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 18-33.

[2] สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ มาจากไหน, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2548), น. 188-189.

[3] ปนิตา จิตมุ่ง, “การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร,” (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554) , น. 3.

[4] ราชกิจจานุเบกษา. เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ธันวาคม 2493, เล่ม 67, ตอนที่ 67, หน้า 6378. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/067/6377.PDF

[5] กนกวลี ชูชัยยะ, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548), น. 392-393.

[6] ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, บนถนนสายปรีดี พนมยงค์ ใน กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดี บรรณานุสรณ์ 2560  หนังสือที่ระลึกในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2560, (กรุงเทพฯ: งานสื่อสารองค์กร กองแผนงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 22-23.

[7] คำว่า “ประดิษฐ์มนูธรรม” มาจากหน้าที่การงานของปรีดี ในกรมร่างกฎหมาย เป็นตำแหน่งของผู้เชี่ยวชาญการร่างกฎหมายที่อาจแปลความได้ว่า เป็นผู้ประดิษฐ์/ร่าง มนูธรรมศาสตร์/กฎหมาย โปรดดูเพิ่มเติม จดหมายมาแต่กรมบัญชาการกระทรวงยุติธรรมหมายเลขที่ 226/2468 ลงวันที่ 11 ตุลาคม พระพุทธศักราช 2471” อ้างใน 120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์. (16 มกราคม 2563). กว่าจะมาเป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/PridiBanomyong120/photos/-กว่าจะมาเป็น-หลวงประดิษฐ์มนูธรรม-เมื่อนายปรีดี-พนมยงค์-สำเร็จการศึกษา-ปริญญาหมอ/116088336575824/

[8] กนกวลี ชูชัยยะ, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548), น. 175-176.

[9]  ซึ่งเป็นราชทินนามของนักกฎหมายคนสำคัญและเป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2500 คือหลวงประเสริฐมนูกิจ (ประเสริฐ ศิริสัมพันธ์ พ.ศ. 2439-2512) ราชทินนามหลวงประเสริฐมนูกิจ เป็นราชทินนามที่คู่กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

[10] กนกวลี ชูชัยยะ, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548), น. 176-179.

[11] ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, บนถนนสายปรีดี พนมยงค์ ใน กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดี บรรณานุสรณ์ 2560  หนังสือที่ระลึกในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2560, (กรุงเทพฯ: งานสื่อสารองค์กร กองแผนงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 26.

[12] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (ธันวาคม 2551). สมัคร สุนทรเวช กับถนนปรีดี. สืบค้นจาก  www.oknation.net/blog/print.php?id=372958

[13] ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2475-2526 มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบททางการเมือง และกลุ่มผู้นำทางการเมือง เช่น ในช่วงทศวรรษ 2490-2500 จะมีภาพลักษณ์ในเชิงลบ เป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ และปีศาจทางการเมือง จากการสร้างขึ้นของกลุ่มผู้นำทหารและกลุ่มอนุรักษนิยม ในยุคนั้น หากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถึง พ.ศ. 2526 ภาพลักษณ์ของปรีดี เป็นไปในทางบวกมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา โปรดดูเพิ่มเติม มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2543)

[14] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552), น. 31.

[15] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)

[16] นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์, “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)