ในเวลานี้ ในเมืองไทยเราได้มีความสนใจในการฝึกอบรมเด็กเกิดขึ้นบ้างแล้ว ดั่งจะเห็นได้จากที่ได้มีผู้เขียนความเห็นในเรื่องเช่นนี้ลงหนังสือพิมพ์เปนครั้งคราว ความเห็นเหล่านั้นก็เพียงแต่ขอร้องให้เห็นความสำคัญของการฝึกอบรมเด็ก ซึ่งเปนสิ่งที่จำเปน และจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ แต่การฝึกอบรมเด็กควรจะตั้งต้นวางโครงเพื่อดำเนิรการต่อไปอย่างไรนั้น ในชั้นนี้ ยังไม่มีความเห็นแสดงออกมาโดยละเอียด
อันที่จริงการฝึกอบรมเด็กหรือการฝึกอบรมพลเมืองเปนเรื่องที่ถือกันว่าเปนการสำคัญนับแต่โบราณกาลนานมาแล้ว ในเมืองไทยเราเท่านั้นที่ได้มองข้ามไปเสีย และเพิ่งจะได้มารู้สึกว่าได้มีความสำคัญอยู่บ้างนิดหน่อย ในเวลานี้
ในแผนการณ์บำรุงประเทศอิตาลี ท่านมุสโสลินีบังคับให้พลเมืองทุกคนออกกำลังกาย ให้ปอดขยายตัวทุกวัน หัดให้พลเมืองเดินอย่างสง่าผ่าเผย เพื่อที่จะได้เปนคนแข็งแรง แลมีสุขภาพสมบูรณ์
ท่านฮินเดนเบอรก ท่านรัฐบุรุษแห่งเยอรมนีซึ่งได้วายชนม์ไปแล้วได้กล่าวว่า “ชาวเยอรมันหลายหมื่นคนฝึกฝนบำรุงร่างกายตามแบบทหารการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ย่อมนำไปสู่ความแข็งแรงในทางใจแลพฤติธรรม เราสอนชาวเยอรมันทุกคนให้รู้จักเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะเปนทางแรกเพราะจะทำให้เราเปนนายใจเราเอง”
เยอรมนีเปนประเทศแรกที่อำนวยความผาสุกให้แก่ประชาชน โดยบังคับให้ทุกคนออกกำลังกาย ญี่ปุ่นเปนอีกประเทศหนึ่งที่ถือการฝึกอบรมเด็กและพลเมืองเปนสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ชาวญี่ปุ่นได้รับความอบรมมาตั้งแต่เด็กให้มีนิสสัยรักชาติยิ่งกว่าชีวิต ทั้งนี้เขามิได้กระทำโดยเพียงแต่การสอนให้ท่องคำนี้ไว้เท่านั้น ผู้ที่ได้ทัศนาภาพยนตร์เรื่องมาดามบัตเตอร์ไฟลคงจะสังเกตเห็นตัวอักษรที่จารึกไว้บนใบมีดที่มาดามบัตเตอร์ไฟลใช้ชักออกมาดูก่อนที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งมีใจความว่า “จงตายด้วยเกียรติยศ เมื่อเราไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีเกียรติยศ” นี่ก็เปนส่วนที่แสดงถึงการฝึกอบรมนิสสัยของชนชาติญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง
เปนความจริงที่เดียวว่าประเทศจะแข็งแรง รุ่งเรือง และมีอำนาจไม่ได้ ถ้าปราศจากรากฐานการฝึกอบรมพลเมือง ให้มีลักษณะตามที่ประเทศชาติต้องการ บางทีอาจจะมีผู้เห็นว่า ผู้เขียนนี่เปนบ้าไปละกระมังที่มายกย่องการฝึกอบรมพลเมืองว่าเปนสิ่งสำคัญจนถึงกับจะทำให้ประเทศแข็งแรงรุ่งเรือง และมีอำนาจได้ เพราะว่าประเทศจะมีอำนาจได้นั้นย่อมอยู่ที่กำลังกองทัพต่างหาก และประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้ที่อยู่ที่กำลังเงิน คือการบำรุงโภคกิจเปนสำคัญต่างหาก ถ้าจะมีคำค้านเช่นนี้ เราขอรับว่าเปนความจริง แต่ก่อนจะมาถามถึงความจริงข้อนี้เราขอตั้งคำถามว่า กำลังกองทัพก็ดี กำลังเงินก็ดีประเทศได้มาจากไหน ได้มาจากความขยันหมั่นเพียร ได้มาจากการทำงาน จากความรู้จักหน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบของพลเมืองใช่หรือไม่เล่า ถ้าพลเมืองเกียจคร้านไม่ทำการงานหรือไม่มีระเบียบอันดีในการดำรงชีวิตอยู่โดยทั่วไปแล้ว ประเทศจะเอากำลังกองทัพมาจากไหน จะเอากำลังเงินมาจากไหน
นอกจากนั้น การบำรุงกองทัพก็ดี การบำรุงโภคกิจก็ดี หรือตลอดจนการบำรุงอื่นๆ มีการศึกษาและการสาธารณสุขเปนต้นนั้นในบางครั้งบางคราว รัฐบาลก็ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้ ถ้าปราศจากความร่วมมือช่วยเหลือทั้งในทางกำลังทรัพย์ กำลังความคิด และกำลังกายของประชาราษฎร การขอร้องความร่วมมือช่วยเหลือจากประชาราษฎรเช่นนี้ มิใช่จะจำเปนแต่สำหรับประเทศที่ยากจนเช่นประเทศสยามเราเท่านั้นที่หามิได้ แม้ประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจ เช่น ประเทศญี่ปุ่นและนาประเทศในยุโรปก็จำเปนต้องการความร่วมมือช่วยเหลือของประชาราษฎรในกรณีพิเศษเหมือนกัน ถ้าราษฎรหรือพลเมืองเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้มีนิสสัยเห็นแก่ชาติหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเปนอย่างยิ่งแล้ว ประเทศจะได้รับความร่วมมือ ประเทศจะได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออะไรจากคนเหล่านี้ และประเทศจะสถาปนากำลังกองทัพ กำลังเงินให้เปนปึกแผ่นแข็งแรงได้อย่างไร
ถ้าประเทศหนึ่ง ราษฎรได้รับการฝึกอบรมให้มีนิสสัยใจคอกว้างขวาง พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือในเมื่อชาติเรียกร้องต้องการ กับอีกประเทศหนึ่ง ราษฎรไม่ได้รับการฝึกอบรมเช่นนี้เลย และดังนั้นจึงมีความเห็นแก่ตัวเปนอย่างยิ่ง เช่นนี้ท่านย่อมจะเห็นได้ที่เดียวมิใช่หรือว่า ประเทศทั้งสองนี้จะได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก และจะแตกต่างกันมากในความแข็งแรง รุ่งเรือง และอำนาจ ประวัติศาสตร์ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศใหญ่และพลเมืองมากไม่เปนข้อสำคัญ เราดูประเทศจีนและอินเดีย แล้วดูญี่ปุ่นและอังกฤษ ข้อสำคัญอยู่ที่การฝึกอบรมพลเมืองเท่านั้น ถ้าฝึกดีแล้ว อบรมดีแล้ว กำลังทุกอย่างจะตามมาภายในเวลาไม่ช้า
ที่เราพูดถึงการฝึกอบรมนิสสัยพลเมืองของบางประเทศ เช่น ประเทศอิตาลี, เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้น เรามิได้หมายว่า เราจะต้องฝึกอบรมนิสสัยพลเมืองของประเทศเราให้เหมือนอย่างเขา และบางทีเราก็จะทำเช่นนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะว่าความต้องการของประเทศเรา อาจไม่อยู่ในฐานะและเหตุผลอันเดียวกันกับความต้องการของประเทศเหล่านั้น เช่น ในเวลานี้ ในประเทศอิตาลี มุสโสลินิขวนขวายมากที่จะให้จำนวนพลเมืองทวีขึ้น จนถึงได้ออกกฎหมายเก็บภาษีชายโสด และให้ความสดวกและประโยชน์แก่ผู้ที่แต่งานแล้วและมีลูกมากๆ เปนเอนกประการ ในข้อนี้ประเทศญี่ปุ่นจะเอาอย่างอิตาลีไม่ได้ เพราะว่าญี่ปุ่นอยู่ในฐานะที่ตรงกันข้ามกับอิตาลี
การที่ยกตัวอย่างการฝึกอบรมพลเมืองของบางประเทศมากล่าวไว้บ้าง ก็เพื่อให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการฝึกอบรมนี้ ซึ่งประเทศสยามจะทำเมินเฉยไม่ได้ ถ้าประเทศสยามยังรักที่จะเปนประเทศที่แข็งแรง รุ่งเรืองและมีอำนาจในกาลข้างหน้า
ในเวลานี้เปนที่น่ายินดีอยู่ว่า ความขวนขวายในที่จะฝึกอบรมนิสสัยพลเมือง ได้มีการตั้งต้นลงมือและดำริกันขึ้นบ้างแล้ว เช่นกรมพลศึกษาแห่งกระทรวงธรรมการดำริจะสถาปนาการกีฬาของชาติให้เปนปึกแผ่น เพื่อที่จะให้พลเมืองได้ออกกำลังและได้รับการฝึกอบรมให้มีน้ำใจเปนนักกีฬา ทางราชการทหารได้ลงมือเพาะนิสสัยยุวชนให้มีความรักและนิยมการทหาร โดยการส่งกองทหารพร้อมด้วยเครื่องรบไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนหญิงและโรงเรียนชาย
เพื่อที่จะส่งเสริมความดำริและการลงมือในเรื่องฝึกอบรมนิสสัยพลเมืองให้มีค่าในความสำคัญ สมกับความหมายและความเปนจริงในตัวของมันเอง เราขอแสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้ด้วย
ถ้าเราทุกคนยอมรับนับถือคุณค่าอันสำคัญยิ่งของการฝึกอบรมนิสสัยพลเมืองแล้ว เราก็จำเปนจะต้องทราบต่อไปด้วยว่า การที่จะฝึกอบรมพลเมืองให้ได้ผลดีเลิศนั้น ไม่ใช่ใครมีความคิดที่จะอบรมอย่างไร ก็จัดการไปตามความคิดของแต่ละคนนั้น เพราะว่าความคิดเหล่านั้น อาจจะไปเกิดขัดแย้งกันขึ้นได้ หรือแม้แต่เพียงไม่สอดคล้องต้องกันทุกทาง ก็จะทำให้เสียผลได้
การฝึกอบรมพลเมืองทั้งประเทศ จำเปนต้องมีโครงการณ์แน่นอน จะต้องมีแบบพิมพ์อันแน่นอน ว่าเราจะทำพลเมืองทั้งประเทศให้มีแบบ มีรูป อย่างไร เราจะต้องคิดทำแบบพิมพ์ก่อน แล้ววางหลักอบรมให้เข้าสู่แบบพิมพ์นั้น เมื่อวางหลักอบรมแล้ว เรายังจะต้องวางวิธีการโดยละเอียด เพื่อที่จะบรรจุผลตามหลักนั้นๆ อีกด้วย
ก่อนจะสร้างแบบพิมพ์และวางหลักการอบรม เราจะต้องดำเนินการตรวจสอบแยกธาตุอุปนิสสัยของคนไทยทั้งหมดที่มีอยู่ เท่าที่จะกระทำได้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และอื่นๆ เมื่อเราได้ทราบอุปนิสสัยของคนไทยทั้งหมดแล้ว เราจึ่งจะมาพิจารณาตกลงกันว่าอะไรที่เปนอุปนิสสัยที่ดี ที่เราจะพึงรักษาไว้และบำรุงให้เจริญยิ่งขึ้น อะไรที่เปนอุปนิสสัยที่ชั่ว ที่เราปรารถนาจะกำจัตทำลายให้หมดสิ้นไป
เรายังไม่ควรจะพอใจเพียงเท่านี้ เราควรจะไปให้ไกลกว่านั้นอีก ถ้าเราไม่ปฏิเสธความต้องการในการก้าวหน้า กล่าวคือ เราควรจะตรวจสอบอุปนิสสัยที่ดีงามของนานาชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในบัดนี้ และซึ่งเราได้พิจารณาเห็นว่าเหมาะที่จะนำมาเพาะขึ้นในหมู่ชนชาติเรา ถ้าเราทำได้ถึงคั่นนี้ เราอาจทำให้ซนชาติไทยมีอุปนิสสัยดีเลิศกว่าอุปนิสสัยของนานาชาติที่เจริญกว่าเราในบัดนี้ได้ ในเรื่องที่ใหญ่โตราวกับสร้างประเทศใหม่เช่นนี้ เราต้องไม่หมายความสำเร็จในวันสองวัน เราต้องอดทนพอที่จะคอยได้ แม้ว่าผลนั้นจะไปเผล็ดขึ้นอย่างเต็มที่ภายหลังอายุขัยของเราแล้วก็ตาม
เมื่อเราได้ตรวจสอบและตกลงแล้วว่าอุปนิสสัยอะไรที่เราปรารถนาจะรักษาไว้ และบำรุงให้เจริญขึ้น อุปนิสสัยอะไรที่เราปรารถนาจะกำจัดทำลาย และอุปนิสสัยอะไรที่เราปรารถนาจะเพาะให้มีขึ้นใหม่ เราก็จะได้วางหลักการอบรมและวิธีการอบรมโดยละเอียด เพื่อที่จะบรรลุความปรารถนาดั่งกล่าวแล้ว ถ้าเราสามารถที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างหมกมุ่นจริงจัง เราก็สามารถที่จะทำคนไทยทั้งชาติให้มีอุปนิสสัยดีเลิศตามแบบพิมพ์ที่เราได้หล่อขึ้นได้ ภายในระยะเวลาที่เราจะกำหนดไว้ในโครงการณ์ฝึกอบรมนั้น
เรามีความเห็นอย่างจริงจังว่า เรื่องนี้จะปล่อยปละละเลยต่อไปอีกไม่ได้ เพราะว่ามันเปนฐานของความสำเร็จของประการอื่นๆ และโครงการณ์ฝึกอบรมนิสสัยพลเมืองนั้น จำเปนจะต้องเปนโครงการณ์ที่ละเอียด และแน่นอน เปนโครงการณ์ของชาติ ไม่ใช่เปนโครงการณ์ย่อยของแต่ละคน เราจะต้องตกลงกันเสียก่อนว่า เราจะเอาอะไร และเราจะไม่เอาอะไร ถ้าเราไม่ตั้งต้นในเรื่องนี้ เราก็จะต้องนั่งกอดเข่าบ่นกันอยู่เรื่อยไป ถึงอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ ที่ทำให้ประเทศของเราก้าวหน้าไปไม่ได้เต็มที่ เราขอให้นักกระทำการได้โปรดรับความคิดเห็นของเราไว้พิจารณาด้วย
[๑๕ มีน. ๗๗]
ที่มา : หนังสือประจำปี ศรีสมเด็จ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เวลา : พ.ศ. 2478
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรวิธีสะกดคงไว้ตามเอกสารชั้นต้น
- ภาพจากราชกิจจานุเบกษา
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ชีวิตของประชาชาติ [พ.ศ. 2478]” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 41-46.
บรรณานุกรม :
หลักฐานชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 เมษายน 2480, เล่ม 54, 204-213.
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ