บทบรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบ :
ข้อเขียนเรื่องมนุษยภาพ
ข้อเขียนเรื่อง มนุษยภาพ ชิ้นนี้ คือ “หลักบอกเขต” ที่พิสูจน์ว่า หนามแห่งกุหลาบนั้นคมมาแต่ครั้งวัยเบญจเพศแล้ว และหนามแห่งความ “คม” ดังกล่าวมีภาพรวมอยู่ที่ความเป็น “นักหนังสือพิมพ์ชั้นหนึ่ง” ที่ประกอบภารกิจด้วยหลักวิชา และมีจริยธรรมยึดเหนี่ยวอย่างมั่นคง ข้อเขียนเรื่อง มนุษยภาพ ที่นํามาเป็นบทโหมโรงนี้เคยพิมพ์ครั้งแรกสองตอนโดยไม่ได้ลงชื่อผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ รายวัน ฉบับวันที่ 8 และ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2474 แต่เกิดปัญหาเนื่องมา จากเป็นข้อเขียนที่ “แรง” จน “ชั้นสูง” ไม่ชอบ
ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ย้ายสํานักดังมีสํานวนในยุคนั้นเรียกว่า “ตบเท้าออก” คือทั้งนายกุหลาบ และเพื่อนพ้องคณะสุภาพบุรุษ ต่างพากันยกคณะออกจนมีชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติวงการหนังสือพิมพ์ไทย ต่อมาจากนั้นนายกุหลาบจึงส่งบทความชิ้นเดียวกันนี้ไปลงพิมพ์อีกครั้งที่หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง รายวัน โดยระบุชื่อจริงและเขียนกล่าวนําก่อนขึ้นเรื่องไว้ว่า “ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเป็นได้...” ความเรียงเรื่อง มนุษยภาพ ได้ลงพิมพ์ครบทั้ง 3 ตอน [10 มกราคม, 16 มกราคม และ 21 มกราคม พ.ศ.2474] ตามประวัติที่ปรากฏต่อมาก็คือ หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง รายวันได้ถูกรัฐบาล “ราชาธิปไตย” สั่งปิด และบรรณาธิการคือ พระยาอุปการศิลปเศรษฐ ได้ถูกถอนใบอนุญาต แต่หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ก็ปิดอยู่เพียง 9 วัน เพราะมีการวิ่งเต้นภายในจนได้รับอนุญาตให้เปิดดําเนินการต่อ ประจวบกับช่วงนั้นเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย เพราะในอีก 5 เดือนต่อมา การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่เกิดขึ้น จินตภาพของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ปรากฏใน มนุษยภาพ จึงดูเหมือนมีอารมณ์สอดคล้องไปกันได้กับ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง !
ดังเช่นตอนหนึ่งของ มนุษยภาพ ในยุคนั้นที่ยังเห็นภาพได้แจ่มชัดและยังเป็นจริงอยู่ในยุคนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านมา 74 ปีแล้วก็ตาม
“อํานาจบรรดาลความนิยม นี่เป็นความจริงมาแล้วแต่บรรพกาล ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันสมัย และจะยังเป็นต่อไปอีกจนกว่าโลกจะแตก แต่ท่านผู้อ่านพึงระลึกไว้ว่า สิ่งอันปรุงแต่งอํานาจขึ้นนั้นไม่คงที่ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย...”
ข้อเขียนการเมืองว่าด้วย มนุษยภาพ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นํามาเริ่มต้นเป็นชิ้นงานแรกครั้งนี้ ได้ใช้ต้นฉบับของหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง รายวัน เมื่อ 74 ปีก่อน และจะเห็นว่าผู้เขียนคุ้นชินกับการเขียนคําว่า เป็น โดยไม่ใส่ไม้ไต่คู่ตามแบบภาษาเก่ามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเขียนขึ้นในยุคอักขรวิบัติสมัยจอมพล ป.
ความซื่อตรงคือความจริง ความจริงคือความซื่อตรง
ส่วนนำ
ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเปนได้ ข้าพเจ้าจะได้รับความเชื่อถือจากเรื่องนี้สักเพียงไหน ขอให้เปนหน้าที่ของท่านผู้อ่านทั้งหลายจะพิจารณา เรื่องนี้จะต้องกล่าวพรรณนากันอย่างติดจะยืดยาว จึงขอย้อนเอาเรื่องตอนต้น ซึ่งได้เคยลงพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ มาตรวจแก้ไขปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อให้เรื่องราวติดต่อกันไปเปนอันดี-กุหลาบ สายประดิษฐ์
มนุษยภาพ หรือความเปนมนุษย์ หรือความเปนคน ควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร ชาวโลกทั้งหลายแม้ที่ได้บรรลุอารยธรรมแล้ว ก็ยังมีความเห็นแตกต่างไม่ลงรอยกัน ที่จริงเรื่องนี้เปนเรื่องใหญ่โตมาก เพราะพลโลกทุกคนย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่อย่างครบถ้วน ในต่างประเทศเขาสนใจกันเปนที่ยิ่ง ประหลาดที่ในบ้านเราเกือบจะไม่มีการนำพากันเสียเลย ตัวเราเปนใคร มีส่วนอยู่มากน้อยเพียงไรในความเสื่อมความเจริญของประเทศชาติ เรามีสิทธิอะไรบ้าง และควรใช้สิทธินั้นได้ภายในขอบเขตเท่าใดที่นิติธรรมของประเทศอนุญาตให้ พวกเราโดยมากไม่ทราบ และไม่พยายามที่จะทราบ ข้าพเจ้าเข้าใจไม่ได้เลยว่าเหตุใดพลเมืองสยาม จึงพาความสนใจของเขาข้ามเขตแดนปัญหาสำคัญอย่างอุกฤษฏ์นี้ไปเสีย บางทีก็จะเปนด้วยเขามัวเปนห่วงท้องของเขามากเกินไป ถ้าเปนจริง ดังนี้จะน่าอนาถใจเหลือเกิน
กล่าวกันว่าข้ารัฐการจีนนั้น ก่อนจะเปิดการประชุมว่าด้วยข้อราชการสิ่งใด ย่อมจะนำเอาภาพของท่านหมอซุนยัดเซน[1] มาประดิษฐานไว้กลางโต๊ะ แล้วก็พากันลุกขึ้นคำนับครบ ๓ ครั้งจึงจะเริ่มเรื่อง และพวกพราหมณ์ในเมื่อจะสาธยายเวท ย่อมจะกล่าวสดุดีคุณของพระพิฆเนศเปนปฐมฤกษ์เสียก่อน อันว่าการเขียนเรื่องมนุษยภาพนี้ ได้ตั้งมโนปรารถนาที่จะเขียนด้วยความรู้สึกอันจริงใจ และมั่นหมายให้ท่านทั้งปวงอ่านด้วยความรู้สึกชนิดเดียวกัน แม้จะต้องขัดกับหลักความคิดเห็นของผู้อื่นข้าพเจ้าก็พอใจ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นควรจะกล่าวในความจริงให้เปนที่ยึดมั่นทั้งของผู้เขียนและผู้อ่านเปนประเดิมเสียก่อน
สไมล์[2] เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า ความจริงและความซื่อตรง จะต้องไปด้วยกันเสมอ ความซื่อตรงคือความจริง และความจริงก็คือความซื่อตรง คุณธรรมอันนี้จัดว่าเปนส่วนสำคัญอย่างยิ่งของคนทั่วไป เพราะบุคคลใดที่ถือความจริงหรือความซื่อตรงประจำใจ แม้เปนผู้รับใช้ ก็ย่อมเปนที่อุ่นใจของหัวหน้า และแม้เปนหัวหน้าก็ย่อมเปนที่เชื่อมั่นของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ความจริง เปนสิ่งแรกที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องการ ความจริงเปนหัวใจของบ่อเกิดแห่งนิติธรรมต่างๆ เปนหัวใจของความบริสุทธิ์ และของความอิสสระ
การอ่านหรือฟังความเห็นของบุคคลต่างๆ ความจริงและความซื่อตรงยิ่งจำเปนหนักขึ้น คนเราในทุกวันนี้ โดยที่เห็นแก่ท้องจนเกินไป ได้ยอมละเสียซึ่งคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ความเห็นแก่ตัวเองทำให้เราสมัครเชื่อถือในสิ่งที่ปราศจากเหตุผลและเหลวไหล ในบางขณะเราถึงกับเชื่อโดยลงทุนด้วยการลวงตัวเราเองอย่างน่าบัดสี เราไม่ยอมสู้หน้ากับความจริง นี่แหละ ในที่สุดได้ทำให้เราขาดเอสเซนซ์[3]ของความเปนมนุษย์ จนเรากลายไปเปนประดุจรูปหุ่น ซึ่งเคลื่อนไหวได้ด้วยอำนาจของเครื่องยนต์กลไก ท่านผู้อ่านคงจะรู้สึกบ้างในบัดนี้ว่า อิทธิฤทธิ์ของความจริงหรือความซื่อตรงนั้นมีหรือไม่ และมีเพียงไร
ถ้าเราไม่สู้หน้ากับความจริง นั่นแปลว่าเราได้หันหน้าเข้าหาความหลอกลวง หรือโกหกตอแหล ความหลอกลวงไม่เพียงแต่จะย้อมให้เราเปนบุคคลที่ปราศจากความซื่อตรงอย่างเดียว ยังซ้ำทำให้เราได้ชื่อว่า เปนเจ้าขี้ขลาดตาขาวอีกสถานหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลอกลวงทั้งหมด ยังเปนภัยน้อยกว่าสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลอกลวงครึ่งหนึ่ง และความจริงอีกครึ่งหนึ่ง
ปลาโต[4] จอมเมธีของโลกมักพูดอยู่เนืองๆ ว่า “ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระผู้เปนเจ้า ที่ให้ข้าพเจ้ามาเกิดเปนคนกรีก ไม่ใช่คนป่า เกิดมาเปนไทแก่ตัว ไม่ใช่ทาส เกิดมาเปนลูกผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง แต่ยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด นั่นคือข้าพเจ้าได้เกิดมาในสมัยของโสเครติส”[5]
ก็พวกเราทั้งที่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ มีอะไรบ้างที่เราควรจะภูมิใจ และขอบใจในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้บรรดาลให้เรามาเกิด เราไม่เคยพบสมัยของโสเครติส หรือคล้ายกับโสเครติส ในบ้านเรามีความภูมิใจ แต่เพียงน้อยนิดที่ได้เกิดมาเปนคนไทย ซึ่งตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารได้แสดงว่าเราเปนไทแก่ตัว เรามีอิสรภาพทั้งในทางปฏิบัติ และในทางความคิด ละม้ายคล้ายคลึงกับอิสรชนทั้งหลายในโลก แต่ข้าพเจ้าให้วิตกว่าในความเปนไปที่เราได้เผชิญหน้าอยู่ เราได้ทำลายความภูมิใจอันเล็กน้อยอันนั้นเสียแล้ว เราได้ม้วนตัวของเราเข้าไปเปนทาสความคิดของผู้อื่น นั่นก็เพราะเหตุอย่างเดียว คือเราพากันยอมสละเสียซึ่งการสู้หน้ากับความเปนจริง ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของความจริงกว้างขวางขึ้นอีกหน่อย แต่ท่านอย่าพึ่งพอใจการกล่าวบูชาคุณความจริงเพียงเท่านี้ ยังไม่พอควรแก่การสักการะข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปอีกในวันหน้า
ความหลงของมนุษย์ ถือว่าอำนาจทำอะไรถูกหมด
วอลแตร์[6] ถูกกล่าวว่า “เขาตายไปพร้อมด้วยความจริงและพูดเหมือนดินระเบิดแตก”
บรรดาคนสำคัญของโลกซึ่งชื่อเสียงของเขาไม่รู้จักวันตาย มักมีนิสัยบูชาความสัจจริงยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ปลาโตได้กล่าวสดุดีคุณธรรมข้อนี้ไว้ว่า “ผู้ที่จะอยู่ให้จำเริญ จงยึดมั่นอยู่ในความจริง” อนึ่ง ในการกล่าวขวัญถึงลินคอล์น[7] ได้มีผู้เขียนว่า “เขาอยู่ เขาทำงาน และเขาตายเพื่อความจริงและความยุติธรรม แม้บางทึโชคของเขาก็ไม่งาม” และวอลแตร์อีกผู้หนึ่งซึ่งมีผู้กล่าวถึงเขาว่า “เขาตายไปพร้อมด้วยความจริง และพูดเหมือนดินระเบิดแตก”
ขอให้ข้าพเจ้าเล่าเรื่องเก่าแก่ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เมื่อเรกุลุส[8] ชาวโรมันผู้เปนเชลยของชาวคาร์เทยีเนียนได้ถูกส่งมายังกรุงโรม ภายใต้ความคุ้มครองของคณะทูตเพื่อเจรจาขอสงบสงครามกับกรุงโรม ได้มีสัญญาต่อกันว่า แม้ไม่เปนผลสมปรารถนาของกรุงคาร์เทจ เรกุลุสจะต้องกลับมาเปนเชลยของเขาดังเดิม เรกุลุสก็กระทำสัตย์สาบานรับรองสัญญานั้น ครั้นมาอยู่ในที่ประชุมของเมืองบิดรมารดา เรกุลุสได้ชักชวนให้ผู้แทนราษฎรโรมัน รับเคี่ยวสงครามกับกรุงคาร์เทจสืบไป และขอไม่ให้รับสัญญาเพื่อแลกอิสรภาพของชาวโรมันที่ถูกจับไปเปนเชลย
ทุกคนตอบตกลงตามคำขอของเรกุลุส แต่ที่ประชุมรวมทั้งหัวหน้าพระองค์หนึ่งได้คัดค้านในข้อที่เรกุลุสจะยอมกลับไปยังเมืองคาร์เทจอีก โดยอ้างว่าเปนสัญญาที่ถูกบังคับให้กระทำ ใช้ไม่ได้ เรกุลุสกลับตอบว่า “นี่ท่านทั้งหลาย จะมาชวนกันทำลายเกียรติยศของข้าพเจ้าเสียแล้วหรือ ข้าพเจ้าทราบว่า ความตายและความทรมานกำลังเตรียมไว้พร้อมแล้วสำหรับข้าพเจ้า ณ เมืองคาร์เทจ แต่สิ่งเหล่านี้หรือจะมาแลกกับความอับอายของการกระทำที่บัดสี หรือแลกกับความเจ็บปวดของหัวใจที่ได้กระทำผิดต่อสัญญาของเขา ร่างกายของข้าพเจ้าเปนเชลยของชาวคาร์เทจนั้น จริงแล้ว แต่วิญญาณของชาวโรมันยังคงสิงอยู่ในร่างกายนี้ ข้าพเจ้าสาบานว่าจะกลับ ข้าพเจ้าต้องทำดังที่ได้ลั่นวาจาไว้” แล้วเรกุลุสก็ได้กลับคืนไปยังเมืองคาร์เทจในฐานะเชลยอีก และได้รับการทรมานตายที่นั่น
นี่แหละ ทำให้เห็นว่าการบูชาความสัตย์จริง ได้มีอยู่อย่างน่าเลื่อมใส่ในสมัยนับตั้งร้อยปีพันปีมาแล้ว ในทุกวันนี้ โลกมีความเจริญรุ่งเรืองเหลือสติกำลังนัก จนดูเหมือนว่าชาวโลกของเรา สามารถถึงกับได้เลื่อนเอาภูมิแห่งเมืองสวรรค์และนรกมารวมไว้ในโลกมนุษย์ทั้งหมด วิทยาศาสตร์ในทางประดิษฐ์ก้าวหน้าไปไกลเพียงใด วิทยาศาสตร์ในทางโกหกตอแหลก้าวหน้าไปไกลถึงเพียงนั้น
ที่กล่าวดังนี้ ใช่จะเปนการกล่าวอย่างพล่อยๆ หาไม่ได้ บางท่านคงจะได้ยินใครพูดกันบ้างดอกว่า “การโกหกตอแหลที่ได้ทำกันนอกประเทศ คือผลประโยชน์ของประเทศ” นี่แหละเปนภาษิตของท่านพวกทูตละ อนึ่ง ตามความนิยมของพวกที่เรียกตัวเองว่าคนชั้นสูง เมื่อเวลามีใครมาหา แม้เขาจะอยู่ในบ้าน ถ้าไม่ประสงค์จะรับแขกเขาจะบอกว่า not at home ความนิยมอันนี้ได้ระบาดกันเข้ามาในบ้านเราบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น ที่ข้าพเจ้าว่าวิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลกำลังก้าวหน้าจึงมิใช่เปนคนพูดอย่างพล่อยๆ
การโกหกตอแหล การหลอกลวง ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาล และหมู่ชนชั้นสูง ดังตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อคิดถึงว่าอำนาจเปนสิ่งบรรดาลความนิยม และอำนาจในทุกวันนี้ เราหมายกันถึงเงินกับชั้นสูง ฉะนั้นเราจะไม่เตรียมตัวไว้ตกใจกันบ้างหรือว่า วิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลาย และนิยมกันทั่วไปในบ้านเรา
ข้าพเจ้าว่า อำนาจบรรดาลความนิยม และอำนาจคือเงินกับชั้นสูงนั้น เปนการแน่แท้ ด้วยอะไรที่เงินหรือชนชั้นสูงกระทำ เราถือว่าเปนการถูกต้อง ควรนิยมทุกอย่าง จนถึงมีศัพท์บ้าๆ อะไรเกิดขึ้นคำหนึ่งว่า บาปมุติ คือผู้ไม่รู้จักมีบาป ผู้ทำอะไรไม่ผิด หรือมิยินยอมให้ว่าเปนถูก นั่นมันเปนการที่ต่างหลอกลวง อย่างนี้ซึ่งสิ่งใดผิดถูก ชอบที่จะว่าให้ขาวเพื่อประโยชน์ของชนชั้นสูง ที่เราพากันเชื่อถืออย่างงมงายเช่นนี้ แสดงว่าเราไม่สู้หน้ากับความเปนจริงนั้น ไม่เห็นปรากฏมีใครในโลกที่จะทำอะไรไม่ผิดเลย ถึงท่านเจ้าของลัทธิหรือศาสนาทั้งหลายอันมีผู้เคารพสักการะทั่วโลก ที่ยังปรากฏว่าได้เคยคิด หรือทำอะไรผิดมาเหมือนกัน
โดยเหตุที่มักหลงเชื่อกันอยู่ว่า อำนาจย่อมทำอะไรถูกต้องเสียหมดนั่นเอง สงครามในโลกจึงหาเวลาสิ้นสุดยุติไม่ได้ และความปั่นป่วนจลาจล ความเดือดร้อนร้อยแปด จึงย่อมปรากฏอยู่ทั่วไปทุกซอกทุกมุมของโลก นี่เปนเครื่องแสดงผลร้ายของการไม่สู้หน้าของความเปนจริงอีกข้อหนึ่ง ข้าพเจ้ายังจะมาซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้บางตอนอีกในวันข้างหน้า
ความสงบ
ผู้เขียนๆ ว่า ขอให้ทุกคนอย่าดูถูกค่าของคอมมอนเซนส์[9] (ความรู้สึกธรรมดา) เพื่อพิจารณามนุษยภาพต่อไป
บุคคลผู้มีอำนาจอันประกอบขึ้นด้วยชาติตระกูลด้วยยศศักดิ์ หรือด้วยเงินก็ตาม มักพอใจปั่นให้คนทั้งหลายหลงด้วยวาจาอันไพเราะเพราะพริ้งของเขา เขาทำดังนั้นเพื่อประโยชน์ของใคร ข้าพเจ้าไม่อยากตอบ แต่แน่นอน ต้องไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของชาติ จริงอยู่ ในสมัยนี้ คนโง่ยังมีมาก หรือคนฉลาดที่ไม่เอาธุระของเพื่อนร่วมชาติยังมีอยู่ดาษดื่น ผู้มีอำนาจดังกล่าวแล้ว จะตำเนินการพูดเพราะของเขาไปได้โดยราบรื่น แต่ทุกคนย่อมรู้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มันหมุน และสรรพสิ่งในโลกจะไม่หยุดอยู่กับที่ ฉะนั้น จึงเปนการแน่นอนที่เขาเหล่านั้นจะต้องพบอุปสรรคในวันหนึ่ง
ในสมัยก่อน เราถามไม่มีใครตอบ ในสมัยปัจจุบัน เราถามมีคำตอบบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด และมีความจริงบ้าง โกหกบ้าง ในคำตอบเหล่านั้น ในสมัยที่เราๆ อยู่ข้างหน้า เราจะได้คำตอบที่เต็มตามคำถาม และต้องจริงทั้งหมด ความต้องการของมนุษย์ในที่สุดจะไปยุติอยู่ที่ความจริง
ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในวันก่อนว่า อำนาจบรรดาลความนิยม นี่เปนความจริงมาแล้วแต่บรรพกาล ยังเปนอยู่ในปัจจุบันสมัย และยังจะเปนต่อไปอีกจนกว่าโลกแตก แต่ท่านผู้อ่านพึงระลึกไว้ว่า สิ่งอันปรุงแต่งอำนาจขึ้นนั้นไม่คงที่ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ในโบราณสมัยอำนาจจะอยู่กับกษัตริย์หรือนักรบ บางคราวอยู่กับนักพูด บางคราวอยู่กับบุคคลชั้นสูง เปนต้นว่าพวกเจ้านายแลอำมาตย์ บางคราวที่โลกย่างเข้าสู่สมรภูมิแห่งเศรษฐสงคราม อำนาจย่อมอยู่กับเงิน ในประเทศรัสเซีย ณ สมัยปัจจุบัน อำนาจตกอยู่กับคนจน และในอารยประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา อำนาจเฉลี่ยตัวของมันอยู่กับบุคคลทั่วไป อำนาจบรรดาลความนิยม มันเปนความจริงทุกกาล ทุกสมัย แต่สิ่งที่ปรุงแต่งอำนาจย่อมแปรผันไปได้ตามโอกาส ในเมืองใด ถ้าอำนาจอยู่ที่เงินกับชั้นสูง และผู้ที่กำอำนาจจะไม่ละเสียซึ่งการสู้หน้ากับความจริงแล้วหันเข้าหาความโกหกตอแหลตะพืดตะพือไป อำนาจจะคงที่ไม่แปรรูปไปเปนอื่นได้
สมมุติว่าตัวเราเองเปนหัวหน้าอยู่ในบ้านๆ หนึ่ง ถ้าเราเกิดขาดแคลนจนถึงไม่มีสตางค์ซื้อข้าวให้คนในบ้านของเรากิน ความจริงจะบอกกับเราและกล้าสู้หน้ากับความเปนจริง ดั่งนี้ เราย่อมจะเห็นแก่ท้องของเราจนเกินไปไม่ได้ เราคงจะยอมสละอาหารอย่างดีของเราชั้นหนึ่ง เพื่อแลกกับอาหารเลวๆ หลายชั้น แล้วเอามาแบ่งให้คนของเราได้กินโดยทั่วถึงกัน บ้านเราก็จะมีความสงบสุข ปราศจากความเดือดร้อนใดๆ โดยตัวเราเองจะขาดไปเพียงนิดหนึ่งก็ที่ตรงโอชารสอันเคยมีแก่ลิ้นของเราเท่านั้น
แต่ขอให้เรามาพูดกันด้วยความสัตย์จริงใจเถิดว่า ทุกวันนี้ เราพอใจสู้หน้ากับความเปนจริงกันบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าเคยพบแต่เขาโกหกตัวของเขาเองอย่างง่ายดายเจ้าหมอนั่นมันพออดข้าวได้ถึงสามมื้อ แน่นอนมันพอทนความลำบากชนิดนั้นได้ดอกน่ะ ความเดือดร้อนเพียงเท่านั้นไม่เปนไรสำหรับมัน เรายังไม่จำเปนจะต้องแก้ไขอะไรให้มันดีขึ้น เราเรื่อยๆ ของเราไปก่อนได้ นี่ซิ โลกของเราจึงไม่มีเวลาสงบ ความเจ็บปวดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระหว่างคนชั้นหนึ่งกับอีกชั้นหนึ่ง จึงได้ปรากฏทั่วไปในประเทศต่างๆ การรวบเร่งรวมกำลังกันตั้งขึ้นเปนหมู่ เปนคน เปนสมาคม จึงอุบัติตามๆ กันขึ้นมา เพื่อความมุ่งหมายอย่างเดียวที่จะใช้กำลังอันได้รวมกันเข้าดีแล้ว บังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่โกหกตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งสู้หน้ากับความเปนจริง เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก
บัดนี้เรายอมรับกันได้ว่า การไม่สู้หน้ากับความจริง คือบ่อเกิดของความไม่สงบสุขเที่ยงแท้ เมื่อข้าพเจ้ายังไม่ทันเขียนเรื่องนี้ให้กระจ่างท่านผู้อ่านบางคนอาจติเตียนว่าข้าพเจ้าเขียนในสิ่งที่เหลวไหล ทีนี้คงเห็นกันทั่วแล้วซิว่า ความจริงกับความสงบเปนของคู่กัน แม้ในทางพุทธศาสนาก็สอนให้มนุษย์สู้หน้ากับความเปนจริง ให้เชื่อด้วยมีใจศรัทธา มิใช่ให้เชื่อด้วยความงมงาย หรือหลอกลวง หรือข่มขี่บังคับการโกหกตอแหลนั่นเทียวนี่เปนบ่อเกิดของความปั่นป่วนจลาจล และนำความเดือดร้อนมาสู่มนุษยชาติ
ข้าพเจ้ามาเล็งเห็นว่า ความจริงคือความสงบ จึงได้เซ็นชื่อจริงลงไว้ในการเขียนเรื่องนี้ เพื่อบูชาความจริง ด้วยน้ำใสใจจริงแท้ อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่ข้างรำคาญเต็มที ที่ได้ยินผู้พูดกันนักว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น มีท่านขุนนางผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้เปนผู้หนุนหลัง เปนผู้เขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ๆ บุคคลที่ไม่ได้เปนขุนนางหรือเปนผู้หลักผู้ใหญ่ จะทำอะไรไม่ได้เอาเสียเลย ข้าพเจ้าไม่อยากให้ผู้อ่านเรื่องนี้ตั้งต้นด้วยการหลอกตัวเอง จึงเซ็นชื่อกำกับไว้เพื่อให้ท่านดูงานของคนเปนข้อใหญ่ แม้บางท่านจะพูดว่า นี่เปนเรื่องของเจ้าเด็กเขียน ไม่ต้องการอ่าน ช่างเถอะ ข้าพเจ้าไม่น้อยใจ บางทีในวันหนึ่ง ท่านอาจจะหยิบมันขึ้นมาอ่านด้วยความสนใจก็ได้ ข้าพเจ้าไม่มีความรู้พิเศษอะไรทั้งนั้น ข้าพเจ้าเขียนไปตามคอมมอนเซนส์บอก ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนอย่าดูถูกค่าของคอมมอนเซนส์ วันหน้าเราจะได้พิจารณากันถึงเรื่องมนุษยภาพต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ รายวัน
เวลา : 8-11 ธันวาคม พ.ศ. 2474
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง รายวัน
เวลา : 10-21 มกราคม พ.ศ. 2474
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรวิธีสะกดคงไว้ตามเอกสารชั้นต้น
บรรณานุกรม
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
[1] ซุนยัดเซน [Sun Yat - sen : ค.ศ.1866-1925] ผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน และผู้นำความคิดเรื่อง ลัทธิไตรราษฎร ที่มีแนวเอียงข้างไปทางสังคมนิยม-ประชาธิปไตยมาสู่สังคมจีน -บก.
[2] สไมส์ ยังสืบค้นไม่ได้ว่าหมายถึงใคร -บก.
[3] เอสเซนซ์ ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ คือ essence = แก่น สาร จุดสำคัญ สาระสำคัญ เนื้อแท้ -บก.
[4] ปลาโต หมายถึง Plato นักปราชญ์ชาวกรีก ในสมัยยุคก่อนคริสคกาล -บก.
[5] โสเครติส หมายถึง Socrates นักปราชญ์ชาวกรีก ในสมัยยุคก่อนคริสตกาล -บก.
[6] วอลแตร์ หมายถึง Voltair นามปากกาของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อจริงว่า Francois-Marie Arouet เป็นนักคิดนักเขียนในยุคก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดที่ปารีสเมื่อ ค.ศ.1694 ตายที่ปารีสเมื่อค.ศ.1778 -บก.
[7] ลินคอล์น หมายถึง ประธานาธิบดี Abraham Lincoln [ค.ศ.1809-1865] ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ผู้ประกาศเลิกทาสจนเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ.1861-1865 -บก.
[8] เรกุลุส หมายถึง Marcus Atilius Regulus แม่ทัพชาวโรมัน ยุคเมื่อประมาณ 250 ปีก่อนคริสตกาล -บก.
[9] คอมมอนเซนส์ ทับศัพท์มาจากคำภาษาอังกฤษ คือ common sense กุหลาบ สายประดิษฐ์ แปลว่า ความรู้สึกธรรมดา ในปัจจุบันที่ใช้กันในภาษาไทย คือ “สามัญสำนึก” -บก.