ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ผลกระทบต่อการเปิดเสรีการค้ากลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลต่อการผลิตข้าวสยามอย่างไร

28
พฤษภาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อการเปิดเสรีการค้ากลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลต่อการผลิตข้าวสยามอย่างไร ผ่านประเด็นหลัก 3 ประการคือ 1. จุดตั้งต้นมาจากการเปิดเสรีทางการค้าในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการทำ ‘สนธิสัญญาเบาว์ริง’ 2. การผลิตข้าวในสยามช่วงศตวรรษที่ 19 3. การจะขูดรีดผลประโยชน์ส่วนเกินจากชาวนาก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475
  • การส่งออกข้าวของสยามเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักภายหลังการจัดทำสนธิสัญญาเบาว์ริงและส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรด้านแรงงานและที่ดินเพื่อตอบสนองการผลิตข้าวเพื่อการค้าให้มากยิ่งขึ้นผ่านนโยบายสำคัญ 3 ประการได้แก่ นโยบายการยกเลิกไพร่และทาส การขยายพื้นที่เพาะปลูก และการจัดเก็บภาษีข้าวในอัตราต่ำ ดังนั้น ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาชีพหลักของคนไทยคือ ชาวนาปลูกข้าวร้อยละ 80-90 ของคนไทยทั้งประเทศ
  • การจะขูดรีดผลประโยชน์ส่วนเกินจากชาวนาในการผลิตข้าวแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะได้แก่ 1. การไม่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2. การทำนาของชาวนารายย่อยอยู่ภายใต้ที่ดินอันจำกัดโดยในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการสำรวจท้องถิ่นต่างๆ โดยคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน แล้วพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนาแต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและอาศัยการเช่าที่ดิน 3. การจัดเก็บภาษีมีความซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ผู้ เขียนได้สรุปปัญหาหลักของสยามในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนับตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงไว้ว่าเพราะไม่มีการล้มล้างระบบศักดินาเดิมจึงทำให้ภาระทั้งหมดมาตกอยู่กับชาวนา และถูกขูดรีดซ้ำโดยรัฐบาลผ่านภาษีอากรและเงินรัชชูปการ

 


สนธิสัญญาเบาว์ริงในนิทรรศการเอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

การเปิดเสรีทางการค้าในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำ ‘สนธิสัญญาเบาว์ริง’ ระหว่างสหราชอาณาจักรกับราชอาณาจักรสยามในปี ค.ศ. 1855 ทำให้การค้าระหว่างประเทศที่เคยมีอยู่ในอดีตเพิ่มความสำคัญมากขึ้น[1]พร้อมๆ กันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวระบบเศรษฐกิจของสยามได้เปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพที่การผลิตมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคภายในครัวเรือนมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการค้าเสรี[2] ที่มีการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพและภาคกลางของสยามที่ระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพได้ลดบทบาทความสำคัญลง เนื่องจากวิถีการผลิตดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อระบบทุนนิยมที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น อาทิ การทอผ้าในครัวเรือนได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากราคาผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมีราคาถูกกว่า ทำให้ชาวบ้านอุทิศเวลาให้การผลิตข้าวมากขึ้นเพื่อนำเงินจากการขายข้าวมาซื้อสินค้าเพื่อบริโภคแทน[4]

ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังทศวรรษที่ 1867(นับแบบคริสต์ศักราช) เป็นต้นมา การส่งออกข้าวของสยามเพิ่มมากขึ้นโดยเป็นสินค้าส่งออกหลัก 2 ใน 3 ถึง 3 ใน 4 หรือราวๆ ร้อยละ 60-70 ของการส่งออกสยาม[5] ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการข้าวในต่างประเทศ โดยปริมาณความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 5 ของผลผลิตทั้งหมดในปี ค.ศ. 1850 เป็นร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นผลของการเพิ่มขึ้นประชากร[6]

การเพิ่มขึ้นของความต้องการข้าวทำให้รัฐบาลสยามเลือกที่จะจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญ 2 อย่างคือ แรงงานและที่ดินไปตอบสนองการผลิตข้าวเพื่อการค้ามากขึ้น[7] โดยสะท้อนผ่านนโยบายสำคัญ 3 อย่างคือ นโยบายการยกเลิกไพร่และทาส การขยายพื้นที่เพาะปลูก และการจัดเก็บภาษีข้าวในอัตราต่ำ

ในกรณีของการเลิกไพร่และทาสในช่วงทศวรรษ 1945 (นับแบบคริสต์ศักราช) มีจุดประสงค์สำคัญอยู่ที่การปลดปล่อยแรงงานให้เป็นอิสระจากการควบคุมภายใต้ระบบศักดินาเดิม ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานไม่สามารถกระทำได้อย่างอิสระ[8] ผลที่ตามมาก็คือ แรงงานไพร่และทาสในอดีตส่วนใหญ่หันไปบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำมาหากินประกอบอาชีพเป็นชาวนา โดยมีสถานะเป็นชาวนารายย่อย ในขณะเดียวกันชาวนาเหล่านี้ยังได้ทำอาชีพรับจ้างทำนาหรือเช่าที่นาของขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ซึ่งได้ครอบครองที่ดินเพื่อปลูกข้าว โดยเฉพาะในเขตคลองรังสิต (รังสิตและธัญบุรี)[9] สภาพดังกล่าวทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาชีพหลักของคนไทยคือ การเป็นชาวนาปลูกข้าวมีมากถึงร้อยละ 80-90 ของคนไทยทั้งหมด[10]

เมื่อความต้องการข้าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังทศวรรษที่ 1850 (นับแบบคริสต์ศักราช) เป็นต้นมา รัฐบาลสยามได้ตั้งเป้าหมายในการขยายพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นจนประมาณช่วงปี ค.ศ. 1905-1906 สยามมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 9.1 ล้านไร่ สูงกว่าที่ประเมินไว้ในปี ค.ศ. 1850 ว่าจะมี 5.8 ล้านไร่อยู่ 3.3 ล้านไร่ โดยจำนวนที่ดินนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 ล้านไร่ ในปี ค.ศ. 1950[11]

การขยายพื้นที่เพาะปลูกครั้งสำคัญก็คือ โครงการขุดคลองรังสิต เนื่องจากลำพังการจัดสรรที่ดินเพื่อให้นำไปใช้ในการทำนานั้นไม่เพียงพอต่อการจะทำให้นามีผลตอบแทนมาก การจะทำนาให้ได้ผลตอบแทนมาจะต้องมีระบบชลประทานที่เข้าถึงนาด้วย ฉะนั้น การขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยวิธีการขุดคลองจึงได้รับความนิยมมาก โดยรัฐบาลสยามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มอบพระบรมราชานุญาตขุดคลองและให้สิทธิพิเศษอันเกี่ยวเนื่องกับการขุดคลองกับบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม อาทิ สิทธิในการเลือกขุดคลองก่อน และสิทธิในการได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน[12]

อีกประการหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการขยายตัวของการปลูกข้าวในบริเวณกรุงเทพและภาคกลางของสยามคือ การจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ โดยงานศึกษาของ พอพันธ์ อุยยานนท์ ได้ระบุว่า นโยบายรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีที่นาเอาไว้ในระดับต่ำเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวขึ้น โดยภาระภาษีข้าวตกอยู่ที่ชาวนาไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าข้าวที่ผลิตได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษีที่เก็บในพม่าและอินโดจีนยิ่งมีอัตราที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบแล้วอัตราภาษีที่นาที่รัฐบาลสยามจัดเก็บกับชาวนามีอัตราต่ำไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่เก็บในพม่า[13] ทั้งนี้ ยังไม่รวมภาษีชนิดอื่นๆ ที่รัฐบาลสยามจัดเก็บ ซึ่งมีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนกัน

ทั้งสามปัจจัยมีส่วนช่วยตอบสนองให้การส่งออกข้าวเพิ่มของสยามให้เพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวที่เพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ชาวนาไทยส่วนใหญ่มีสถานะยากจนและประสิทธิภาพในการทำนาต่ำนั้นมีสาเหตุมาจากการไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางการเมือง รวมถึงสถาบันที่กำกับตัวสังคมอย่างเพียงพอ

กล่าวคือ การเข้าสู่ทุนนิยมภายใต้การผลิตเพื่อการค้าแบบเมืองขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าเพื่อป้อนให้กับอาณานิคมของชาติวันตกในเอเชีย ทำให้ไม่มีการทำลายระบบศักดินาเดิมลง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการปกครองบ้าง[14] อาทิ การออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในระบบไพร่-ทาส แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ออกมาเพื่อตอบสนองต่อการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพที่ควรจะมีในระบบตลาด

ในทางตรงกันข้ามกฎหมายเหล่านี้ออกมาเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมพลเมืองของรัฐ[15] ทำให้ส่วนเกินที่เกิดจากการผลิตสินค้าถูกดูดกลืนไปเป็นของนายทุนการค้าที่ส่วนใหญ่เป็นขุนนางที่มั่งคั่งขึ้นมาจากระบบราชการ เจ้าของที่ดิน และชาวต่างชาติบางกลุ่ม ซึ่งการส่งออกจึงเน้นไปที่การสร้างความมั่งคั่งให้กับทุนการค้าและทุนเงินกู้ที่มีกำลังทรัพย์มาจากการตักตวงผลประโยชน์บนความสัมพันธ์อุปถัมภ์ภายใต้ระบบศักดินา[16]

เมื่อโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำผลเสียตกกับชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันต้องการจะขูดรีดผลประโยชน์ส่วนเกินจากชาวนาในการผลิตข้าว โดยการขูดรีดอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ

ประการแรก การไม่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะการพัฒนาที่ดินสำหรับใช้ในการทำนาก็ตาม แต่การขุดคลองที่ดังกล่าวไม่ได้มาจากการลงทุนของรัฐ แต่เกิดขึ้นจากลงทุนของเอกชนที่เป็นนายทุนการค้า เจ้าของที่ดิน และชาวต่างชาติที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เอกชนดำเนินการขุดคลอง แต่ถึงกระนั้นการพัฒนาเทคนิคด้านการผลิตมีน้อย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงเทคนิคด้านการผลิตอยู่บ้างแต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไป[17] ชาวนาส่วนใหญ่ยังทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งพอดินฟ้าอากาศไม่อำนวยก็ทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรังสิตที่หากน้ำมากเกินไปการหว่านไถก็ทำไม่ได้ หรือถ้าน้ำท่วมก็จะทำให้นาล่มเสียหาย รวมถึงการที่ดินเปรี้ยวหรือเค็มเป็นกรดก็ทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดี[18]

วิธีขยายการเพาะปลูกโดยไม่ปรับปรุงเทคนิคการผลิตทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงในระยะยาวและสะท้อนคุณภาพของที่ดินซึ่งมีลักษณะเลวลง ไม่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูก[19] ในขณะเดียวกันนายทุนและเจ้าที่ดินไม่ได้มีแรงจูงใจเพียงพอที่จะพัฒนาที่ดินเนื่องจากนายทุนและเจ้าที่ดินไม่ใช่ชาวนาแต่เป็นผู้ให้เช่าที่นา ตราบใดยังได้ค่าเช่าและมีคนมาเช่าน่าก็เป็นที่พึงพอใจ

ประการที่สอง การทำนาของชาวนารายย่อยนั้นต้องทำนาภายใต้ที่ดินอันจำกัด โดยการจะทำให้ได้ผลผลิตมาจากการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติสูงและไม่มีการปรับปรุงเทคนิคจึงต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินของชาวนารายย่อยมีอยู่อย่างจำกัดและเป็นที่ดินแปลงขนาดเล็กซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนา จากการสำรวจท้องถิ่นสยามของ คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน ในช่วงปี ค.ศ. 1930 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนา แต่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและอาศัยการเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดิน หรือหากจะมีที่ดินเป็นของตัวเองก็เป็นที่ดินขนาดเล็ก[20]

ประการที่สาม การจัดเก็บภาษีมีความซ้ำซ้อนกัน แม้ว่าในช่วงต้นจะได้อธิบายว่ารัฐบาลสยามมีการเก็บภาษีค่านาต่ำ แต่ชาวนายังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอื่นๆ อาทิ ภาษีโคกระบือ เงินรัชชูปการ[21] และในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ามาใช้เพื่อเก็บกับผู้มีเงินได้ ทำให้ชาวนาที่มีรายได้จากการทำนาเพียงอย่างเดียวจะต้องจ่ายภาษีหลายรายการ[22] ประกอบกับชาวนายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเช่านา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นทุนให้กับชาวนาทั้งนั้น[23]

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสยามจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้วก็ตาม ทว่า การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบยังชีพมาสู่การผลิตเพื่อการค้า โดยไม่มีการล้มล้างระบบศักดินาเดิม ทำให้ระบบศักดินาตักตวงส่วนเกินการผลิต รวมถึงไม่ได้ลงทุนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงที่ดินให้มีศักยภาพเพียงพอในการผลิตจึงทำให้ภาระทั้งหมดมาตกอยู่กับชาวนาในการบำรุงที่นาเพื่อเป้าหมายในการเกษตร ทว่า ด้วยข้อจำกัดเทคนิคด้านการผลิต ทำให้การผลิตอยู่ในสถานะตามมีตามเกิด และถูกขูดรีดซ้ำโดยรัฐบาลผ่านภาษีอากรและเงินรัชชูปการจนทำให้ชาวนายากจนและประสิทธิภาพการทำนาไม่พัฒนา

 


[1] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 4 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555), 68-154.

[2] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ, “ระบบเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2394-2453,” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสมภพ มานะรังสรรค์ (บ.ก.), ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย จนถึง พ.ศ. 2484 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), 170.

[3]  พอพันธ์ อุยยานนท์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564), 15.

[4] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 170-171.

[5] พอพันธ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 15.

[6] เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา แปล (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552), 63.

[7] พอพันธ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 16.

[8] กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 79-86.

[9] พอพันธ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 20.

[10] เจมส์ ซี อินแกรม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 58.

[11] เพิ่งอ้าง, 65.

[12] ดู สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530), 1-14.

[13] พอพันธ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 20.

[14] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 173.

[15] ธงชัย วินิจจะกูล, รัฐราชาชาติ ว่าด้วยรัฐไทย (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563), 185.

[16] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรษฐ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 173-178.

[17] เพิ่งอ้าง, 184.

[18] สุนทรี อาสะไวย์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 12, 131.

[19] เจมส์ ซี. อินแกรม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, 71.

[20]  คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, ซิม วีระไวทยะ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), 18-32.

[21] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563, สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2567 จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/312.

[22] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “คณะราษฎรกับภารกิจเพื่อสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในสังคมไทย,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 26 เมษายน 2566, สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2567 จาก https://pridi.or.th/th/content/2023/04/1501. 

[23] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 21.