ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

กำเนิดองค์ความรู้สันติวิธีและความไม่/รุนแรงทางการเมืองไทย ของ ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

3
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ศึกษาพัฒนาการขององค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมืองไทยของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ในทศวรรษ 2510-2550 จากการค้นคว้าในเบื้องต้นพบว่าผลของความรุนแรงทางการเมืองไทยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คือต้นธารที่ก่อให้เกิดองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีกลุ่มแรก ๆ เช่น กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมซึ่งถือกำเนิดขึ้นราว พ.ศ. 2516 และทำงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และก่อเกิดองค์ความรู้ด้านสันติวิธีในสังคมไทยขึ้น
  • กำเนิดองค์ความรู้สันติวิธีนั้นมีมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 และมีงานศึกษาชิ้นหลักจากศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ทีาผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบของงานวิจัย เอกสารการเรียนการสอน บทความ และหนังสือและงานฯ ด้านนี้ที่ตีพิมพ์เล่มแรก คือ เอกสารการสอนชุดวิชาสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมามูลนิธิโกมลคีมทองนำบทความเรื่องความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในเอกสารการสอนฯ นี้มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อ พ.ศ. 2533

 


ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักทฤษฎีด้านสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมือง และอดีตกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
(25 มกราคม 2498-27 มิถุนายน 2567)

 

บทความนี้ขออุทิศให้แก่ครูผู้สอนของผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมลง ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยเป็นผลผลิตมาจากการศึกษารายวิชา ร. 624 สัมมนาความรุนแรง (การไม่ใช้ความรุนแรง) และความขัดแย้งทางการเมือง หนึ่งในวิชาเลือกของระดับบัณฑิตศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากบทความนี้เป็นเพียงความพยายามเล็ก ๆ ที่จะสำรวจพัฒนาการขององค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมืองไทยของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ในทศวรรษ 2510-2550

จากการสำรวจและค้นคว้าเบื้องต้นพบว่าผลของความรุนแรงทางการเมืองไทยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คือต้นธารที่ก่อให้เกิดองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีกลุ่มแรก ๆ เช่น กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมซึ่งถือกำเนิดขึ้นราว พ.ศ. 2516 และทำงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และก่อเกิดองค์ความรู้ด้านสันติวิธีในสังคมไทยขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมืองไทยที่ศึกษาการเริ่มต้นขององค์ความรู้ทางวิชาการด้านสันติวิธีในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 และองค์ความรู้ด้านสันติวิธีของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ว่ามีกำเนิด มูลเหตุ และมีแรงบันดาลใจในการศึกษามาจากช่วงเวลาใดและมีพัฒนาการฯ อย่างไรมาก่อนในสังคมไทย

 

กำเนิดและพัฒนาการองค์ความรู้สันติวิธีและความไม่/รุนแรงทางการเมืองไทยของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ในทศวรรษ 2510-2550

 

คำว่า non และ violent  นั้นได้ปรากฏขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อความหมายทางสันติวิธี เมื่อ ค.ศ. 1920 โดยมหาตมะ คานธี ได้นำคำนี้ไปอ้างอิงไว้ในงานศึกษาเรื่อง Principle or practice of abstaining from violence ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1960 Lewis Fry Richardson นักคณิตศาสตร์ ชาวอังกฤษได้ศึกษาความรุนแรงที่เป็นสาเหตุแห่งความตายของมนุษย์ในรูปสงคราม การปฏิวัติ และการฆาตกรรม ตั้งแต่ ค.ศ. 1820 ถึง ค.ศ. 1945  ในสองทศวรรษถัดมา ในการสำรวจวรรณกรรมเมื่อ ค.ศ. 1980 พบว่ามีตำรารวมทั้งบทความวิชาการที่พูดถึงความรุนแรงถึง 2,400 รายการ จึงทำให้มีนิยามของความรุนแรงหลากหลาย และในเบื้องต้นจากการสำรวจองค์ความรู้เรื่องสันติภาพและความรุนแรงในสังคมไทยเพื่อทำความเข้าใจความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Galtung 1969) และความรุนแรงโดยรัฐ (state violence) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2519-2553 พบแนวคิดและชุดความรู้เรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสันติภาพชิ้นแรก ๆ จากงานศึกษาเรื่อง วิวัฒนาการของมโนทัศน์การศึกษาเพื่อสันติภาพในประเทศไทย ของทัศนีย์ จันอินทร์ เสนอว่า ความคิดเกี่ยวกับสันติภาพไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  คือ สงบ ร่มเย็น หรืออยู่ดีมีสุข และชี้ว่า ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการศึกษาเรื่องสันติภาพในสังคมไทย โดยเริ่มรับชุดความคิดเกี่ยวกับสันติภาพสากล ซึ่งเห็นได้จากการประชุมและสัมมนาด้านสันติภาพ  เช่น  การประชุมภูมิภาคเอเชีย เรื่อง  Increasing International Understanding through Teaching about United Nation เมื่อวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ของสมาคมวิชาชีพครูแห่งโลก (WCOTP) โดยมีสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และคุรุสภา  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้มีการจัดประชุมและสัมมนาด้านสันติภาพถูกขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากยูเนสโกประกาศให้เป็นปีสันติภาพสากล โดยมีการประชุม ปาฐกถา และสัมมนาด้านสันติภาพกว่า 40 ครั้ง

เมื่อเชื่อมโยงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยข้างต้นกับการก่อเกิดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านสันติวิธีในสังคมไทย พบว่าแนวคิดและชุดความรู้เรื่องความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทยชิ้นแรกที่สำคัญคือ งานศึกษาของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยหลังจากที่ชัยวัฒน์เดินทางกลับมาจากการศึกษาปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2519  ก่อนหน้านั้นใน พ.ศ. 2516 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แสดงความเห็นว่าการจะสร้างประชาธรรมได้นั้นต้องมีสันติวิธีและเรียกแนวคิดนี้ว่า สันติประชาธรรม 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2526 ชัยวัฒน์ได้เปิดสอนวิชาความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นการเปิดสอนวิชาความรุนแรงและสันติวิธีในมหาวิทยาลัยของรัฐครั้งแรกในประเทศไทย วรรณกรรมเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงเล่มแรกของชัยวัฒน์ปรากฏอยู่ในเอกสารการสอนชุดวิชาสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2532 เป็นตำราวิชาสันติศึกษาที่สมบูรณ์แบบเล่มแรก ต่อมาชัยวัฒน์ได้อนุญาตให้มูลนิธิโกมลคีมทองนำบทความเรื่องความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในเอกสารการสอนฯ ดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง ในปี พ.ศ. 2533 

ดังนี้ ในแง่ของงานศึกษาและการก่อตั้งองค์กร รวมถึงโครงการต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เกิดการตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชน สันติวิธี และสนใจความรุนแรงทางการเมืองมากยิ่งขึ้น  อาทิ มีการก่อตั้งโครงการเผยแพร่สันติวิธีที่มีแกนนำหลักอย่างป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ส.ศิวรักษ์ เพื่อจัดพิมพ์หนังสือและเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองและสันติวิธี ใน พ.ศ. 2524 ในปีเดียวกันนี้ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้เขียนบทความ อิสรภาพกับพาราไดม์แห่งความรุนแรง ลงในรัฐศาสตร์สาร ฉบับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2524 บทความชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการเมือง ความรุนแรง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และความขัดแย้ง

ทั้งนิยาม ความหมาย วิเคราะห์ และความเชื่อมโยงแต่ละสิ่ง ผ่านแนวคิดของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ อาทิ ความหมายทางการเมืองของ Leo Strauss แนวคิดความรุนแรงทางการเมืองของ Hannah Arendt  แนวคิดความขัดแย้งและความรุนแรงของ Maurice Duverger และ Joan Valerie Bondurant แนวคิดปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของ Gene Sharp แนวคิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างของ Johan Galtung และแนวคิดพาราไดม์ของ Thomas kuhn  ที่ชัยวัฒน์นำมาวิเคราะห์เรื่องความรุนแรงและความไม่รุนแรง โดยเฉพาะทางการเมือง พาราไดม์ของ Kuhn ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีหรือข้อเสนอสมมติฐานที่สัมพันธ์กันทางตรรกะวิทยาแต่ในยุคหลัง พาราไดม์ถูกนำมาใช้ในความหมายของโลกทัศน์ทางสังคมหรือวัฒนธรรม ในบทความนี้ชัยวัฒน์ได้พยายามแยก “การเมือง” ออกจากสิ่งต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาพาราไดม์แห่งความไม่รุนแรงกับอิสรภาพในแง่หนึ่ง

กระทั่ง พ.ศ. 2526-2527 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ก็เริ่มต้นทำงานวิจัยองค์ความรู้ชายแดนใต้ให้แก่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526 สถาบันไทยคดีศึกษาได้ตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อภูมิหลังชาวมุสลิมในประเทศไทย ของดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ และปัญญาอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้ ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และสุรินทร์ พิศสุวรรณ  และปี พ.ศ. 2527 ได้ตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อ เงื่อนไขทางการเมืองที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสุรินทร์ พิศสุวรรณ และอิสลามกับความรุนแรง: การศึกษาเฉพาะกรณีเหตุการณ์รุนแรงในสี่จังหวัดภาคใต้ประเทศไทย พ.ศ. 2519-2524 ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และปีเดียวกันนี้เองยังมีการจัดสัมมนาเรื่องนโยบายต่างประเทศ: แนวทางการศึกษาวิจัยขึ้น โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริม วางแนวทาง และกระตุ้นให้เกิดการทำงานวิจัยขึ้นในประเทศไทย ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 ชัยวัฒน์ได้เสนอบทความ การเปลี่ยนแปลงโดยสันติ: เป้าหมายกับวิธีการ ในการอภิปรายเรื่องสันติภาพกับความหวังใหม่ในสังคมศึกษา จัดโดยบัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 คือวาระครบรอบ 40 ปี ที่สงครามโลกยุติครั้งที่สองยุติ

เมื่อวิเคราะห์จากการจัดงานเสวนา การจัดโครงการ และการจัดทำงานวิจัยเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยพบว่า ใน พ.ศ. 2529 มีการเผยแพร่งานวิจัยและแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงและสันติวิธีในวงกว้างเนื่องจากเป็นปีสันติภาพสากล เริ่มต้นจากเดือนมกราคม พ.ศ. 2529 ชัยวัฒน์เสนอบทความ ความรุนแรงกับมายาการแห่งเอกลักษณ์ ในการประชุมของฝ่ายวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 สถาบันไทยคดีศึกษา และมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้จัดสัมมนาอำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรงขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เสนอบทความและงานวิจัย คือ  ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และโคทม อารียา มีผู้วิจารณ์ ได้แก่ อุทัย ดุลยเกษม อภิญญา รัตนมงคลมาศ และ พ.ท. รณชัย ศรีสุวรนันท์  และผู้ดำเนินรายการ คือ สุรชาติ บำรุงสุข ในปีเดียวกัน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็เสนอบทความวิจัย หัวข้อสันติภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และโคทม อารียา เสนอบทความวิจัย หัวข้อข้อสังเกตเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องสันติภาพ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และปลายปี พ.ศ. 2529 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ไปเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการอุดมศึกษากับการส่งเสริมสันติภาพ ซึ่งจัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้กล่าวถึงสันติภาพไว้อย่างน่าสนใจ

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้ผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบของงานวิจัย เอกสารการเรียนการสอน บทความ และหนังสือ โดยวรรณกรรมที่ชัยวัฒน์เขียนและตีพิมพ์เล่มแรก คือ เอกสารการสอนชุดวิชาสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมามูลนิธิโกมลคีมทองนำบทความเรื่องความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในเอกสารการสอนฯ ดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง ในปี พ.ศ. 2533  และในวาระครบรอบ 45 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ชัยวัฒน์ได้นำเสนอบทความ ทฤษฎีสันติภาพ: พิจารณาจากบทเรียนของทฤษฎีสงครามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 ได้เสนอบทความ สิ้นสงครามสู่สันติ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธรรมยาตราเพื่อสันติภาพและชีวิต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดการความขัดแย้งและแนวคิดเรื่องสันติภาพ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้กล่าวไว้ว่าผู้ที่สนใจเรื่องสันติภาพอาจแยกวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งออกเป็น 2 แนวทาง คือ การแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยความรุนแรง (Violent Conflict Resolutions) และโดยไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolent Conflict Resolutions) ซึ่งในเมืองไทยมักไม่ค่อยกล่าวถึงประเด็นความขัดแย้ง โดยชัยวัฒน์อ้างถึงแนวคิดเรื่องความขัดแย้งของนักวิชาการ อาทิ Georg Simmel ว่าความขัดแย้งนั้นมิใช่สิ่งเลวเสมอไป ตรงกันข้ามกลับถือว่าความขัดแย้งเป็นรูปแบบการปะทะสังสรรค์แบบหนึ่ง

และ Lewis Coser ได้เขียนเรื่องความขัดแย้งไว้ในหนังสือเล่มสำคัญ ชื่อ The Functions of Social Conflict (1956) โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ของความขัดแย้งว่า ทำหน้าที่ประดุจลิ้นนิรภัย (Safety Salve)  และพวงทอง (รุ่งสวัสดิ์ทรัพย์) ภวัครพันธุ์ ได้จัดทำบรรณนิทัศน์สิ่งพิมพ์เรื่องสันติภาพขึ้น ในนามศูนย์ข่าวสารสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2530  และยังได้เขียนบทความวิจัย หัวข้อ วิเคราะห์ทัศนคติของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม ในการสัมมนาวิชาการประจำปี วันที่ 26-27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยไว้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยเรื่องความขัดแย้งทางด้านมานุษยวิทยา หัวข้อ ความขัดแย้งเกี่ยวกับมานุษยวิทยาศึกษาในประเทศไทย: ข้อถกเถียงเรื่องเมืองไทยและนักมานุษยวิทยาอเมริกัน (Conflict over the Anthropology of Thailand: The ‘Thailand Controversy’ and American Anthropology) ของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ (Charles F. Keyes) ศาสตราจารย์เกียรติคุณทางมานุษยวิทยาศึกษา มหาวิทยาลัยและเอเชียวอชิงตัน ซึ่งนำเสนอในการประชุมมานุษยวิทยา ของไทย ประจำปี พ.ศ. 2548 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน)

 

ตารางผลงานศึกษาเรื่องสันติวิธี ทฤษฎีความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง ของศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

[ไม่นับรวมวรรณกรรมองค์ความรู้สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้]

งานชุดนี้ได้แบ่งตามปีที่จัดพิมพ์ (พ.ศ. 2519-2555) ส่วนประเภทของงานวิจัย ได้แก่หนังสือ วิทยานิพนธ์ และรายงานวิจัย มีจำนวน 11 เล่ม วรรณกรรมประเภทบทความวิชาการ มีจำนวน 14 บทความ ดังต่อไปนี้ 

 

ปีที่พิมพ์ หนังสือ/วิทยานิพนธ์/รายงานวิจัย บทความวิชาการ
2524 Satha-Anand, Chaiwat. (1981). “The Nonviolence Prince,” A Thesis for the Degree of Doctor of Philosophy in Political Science University of Hawaii. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (พฤษภาคม-สิงหาคม 2524). “อิสรภาพกับพารา-ไดม์แห่งความรุนแรง,” รัฐศาสตร์สาร, 7(3): 1-16.
2528   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (ธันวาคม 2528). “ความเรียงเบื้องต้นว่าด้วยสันติภาพกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม,” วารสารธรรมศาสตร์, 1(14): 59.
2529 ยีน ชาร์ป. (2529). อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. แปลจาก Power, Struggle, and Defence. โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์. ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมล คีมทอง. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2529). “การวิจัยสันติภาพ: ข้อพิจารณาเชิงวิพากษ์,” วารสารวิจัย.
2530   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2530). “ความรุนแรงกับมายาการแห่งเอกลักษณ์,” สันติภาพกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง, 69-73.
2533 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2533). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.  
2534 Arthur and Lila Weinberg (eds) และคนอื่นๆ.  (2524). คำประกาศเพื่อสันติ. แปลจาก Instead of  Violence: writng by the great advocates of peace and non-violence  throughout history, โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, IFDA Dossier 25, Journal of peace  research Vol.26 No.2. กรุงเทพฯ: ศูนย์ข่าวสันติภาพ. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2534). “สันติภาพปลายศตวรรษที่ 20,” พบโลก, 5(49):12-14.
2535   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (มิถุนายน-สิงหาคม 2535). “ปราบจลาจล: ทางตันของอหิงสา,” วารสารสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 8(3): 29-31.
2539 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2539). สันติทฤษฎี/วิถีวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2539). “ความรุนแรงในสังคมไทย,” รัฐศาสตร์สาร, 3(19): 6-14.
    ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2539). “จดหมายถึงนวลลออกว่าด้วยวิธีคิดของ “คนไทย””, วารสารธรรมศาสตร์, 3(22): 87-94.
2542   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2542). “คำสั่ง 66/43?: รัฐ, ปัญหาวัฒนธรรมของรัฐกับการจัดการความขัดแย้งในศตวรรษใหม่,” รัฐศาสตร์สาร, 3(21):174-234.
2543 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2543). อภัยวิถี: มิตร/ศัตรูและการเมืองแห่งการให้อภัย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส.  
2543 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2543). คำสั่ง 66/43?: รัฐ ปัญหาวัฒนธรรมของรัฐกับการจัดการความขัดแย้งสมัยใหม่.การประชุมวิชาการเรื่องการเมือง การบริหารและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยต้นศตวรรษหน้า ของสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 1 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี. 10-12 ธันวาคม 2542, กรุงเทพฯ: สถาบันยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ.  
2544   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2544). “ความสำเร็จของลัทธิก่อการร้าย,” รัฐศาสตร์สาร, 3(21):174-234.
2546   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2546). “อารยะขัดขืน,” รัฐศาสตร์สาร, 3(24): 29-74.
2547   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (เมษายน-มิถุนายน 2547). “สันติวิธีจากแง่มุมของรัฐ,” รัฐฎาภิรักษ์, 2(46): 40-43.
2548   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, (2548). “ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”,” ฟ้าเดียวกัน. 2(3): 136-149.
2549 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2549). อาวุธมีชีวิต? แนวคิดวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (กรกฎาคม-กันยายน 2549). “มรดกรายงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ : ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนประเทศในบริบทความขัดแย้งของโลกสมัยใหม่,”ฟ้าเดียวกัน, 3(4): 112-156.
2551 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, (2551). ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  
2553 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรณาธิการ. (2553). ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. กรุงเทพฯ:มติชน.  

 

 

โครงการวิจัย ผลงานวิจัย และการส่งเสริมงานวิจัยด้านสันติวิธีของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พ.ศ. 2548-2555 

 

ส่วนทางด้านรายงานวิจัยเรื่องความรุนแรงและที่เชื่อมโยงกับความรุนแรงในมิติต่างๆ ทั้งมิติทางการเมือง มานุษยวิทยา ความยุติธรรม การปรองดอง และสมานฉันท์ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยชัยวัฒน์มีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2530 จนถึง พ.ศ. 2555 และใรงานวิจัยดังต่อไปนี้     

  • ด้านมานุษยวิทยา ได้แก่
  1. โครงการวิจัยและสังเคราะห์ความรู้เรื่องความรุนแรงในมิติวัฒนธรรม โดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า ก่ออนันตกูล และคณะ หัวข้อ วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง จัดโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีการคัดสรรบทความวิจัยมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง เล่ม 1 และเล่ม 2
  2. โครงการอัตลักษณ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ. 5 “ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง” จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย และสนับสนุนโยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี พ.ศ. 2552         
  • ด้านการปฏิรูปการเมือง ได้แก่
  1. โครงการการสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมือง (Preparing Knowledge for Political Reform) โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550
  2. โครงการเฝ้าระวังกฎระเบียบของรัฐ (Legulatory Watch) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551
  • ด้านความยุติธรรมและกฎหมาย ได้แก่
  1. โครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในสังคมไทย โดย ผศ.ดร.เดชา สังขวรรณ และคณะ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548
  2. โครงการวิจัยยุติธรรมชุมชน: การเปิดพื้นที่ของชุมชนในการอำนวยความยุติธรรม โดย ผศ. ดร. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย นายสุทธิ สุขยิ่ง และอาจารย์มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ เดือนธันวาคม พ.ศ.2549
  3. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการเรื่องปัญหาความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนได้รับ โดย นางอภิรดี โพธิ์พร้อม และคณะ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550
  4. โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดย รศ. ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล และคณะ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551
  5. โครงการปรับปรุงและเฝ้าระวังกฎหมาย (Legislative Watch) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เดือนมกราคม พ.ศ. 2551
  6. โครงการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการอยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554  เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ อาทิ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดังต่อไปนี้

  • ด้านความปรองดอง สมานฉันท์ และสันติวิธี ได้แก่
  1. เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ พ.ศ. 2549
  2. รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553-กรกฎาคม พ.ศ. 2555
  • ผลงานชุดคบไฟวิจัย จัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ ได้แก่
  1. ความเหลื่อมล้ำแนวราบ: ต้นกำเนิดความรุนแรง ฟรานซิส สจ๊วร์ต เขียน เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ แปล สายพิณ ศุพุทธมงคล บรรณาธิการแปล พ.ศ. 2555
  2. เผชิญความรุนแรงด้วยปรองดอง?: บทเรียนจากต่างแดน ศิวัช ศรีโภคางกุล เขียน พ.ศ. 2555
  3. เลือกตั้งไม่นองเลือด: ความรุนแรง ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียน พ.ศ. 2555 

จากการสำรวจองค์ความรู้เรื่องสันติวิธี ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงระดับสากลที่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ผ่านงานวิจัย วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หนังสือ และบทความนั้น พบว่าส่วนใหญ่มักเผยแพร่ผ่านชุดความคิดความรุนแรงของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้แก่ แนวคิดความรุนแรงโดยรัฐ (state violence) แนวคิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) ของ Johan Galtung และแนวคิดสันติวิธีของ Gene Sharp

หากตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาได้มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมานุษยวิทยาของไทยให้ความสนใจกับแนวคิดความรุนแรงเชิงสังคมศาสตร์-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสันติภาพ อีกด้วย เช่นงานศึกษาของพวงทอง ภวัครพันธุ์ แนวคิดความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) ของ Pierre Bourdieu โดยแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในบทความของธเนศ วงศ์ยานนาวา ยุกติ มุกดาวิจิตร ฐิรวุฒิ เสนาคำ และสายัณห์ แดงกลม แนวความรุนแรงเชิงชาติพันธุ์ของเดชา ตั้งสีฟ้า แนวคิดความรุนแรงเชิงรัฐศาสตร์ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และแนวคิดความรุนแรงเชิงสังคมศาสตร์ของเกษม เพ็ญภินันท์  เป็นต้น

ท้ายที่สุดนี้ องค์ความรู้สันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมืองของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากผลงานและโครงการวิจัยฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520-2560 มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างสูงแม้ว่า ‘อาจารย์ชัยวัฒน์’ ของลูกศิษย์ทุกคนจะจากไกลแล้วแต่ผลงาน ความเมตตา ความทุ่มเทในการสอน และการทำงานเพื่อสังคมยังคงอยู่ทั้งหยั่งรากความสนใจทางวิชาการ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งลูกศิษย์รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสันติวิธีต่อไป และผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

 

ภาคผนวก:

หนังสือเล่มสำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีสันติวิธีและทฤษฎีความไม่รุนแรงทางการเมืองของ ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

หมายเหตุ:

  • คงรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

หนังสือ:

  • กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด. (2552). ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ข้ามไปให้พ้นพลวัตภายใน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.
  • เครือข่ายสันติประชาธรรม. (2553). หลากมุมมองทางสังคมศาสตร์ต่อความรุนแรงโดยรัฐ. กรุงเทพฯ : คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล.
  • คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. (2530). ปรัชญาสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ). (2541). จาก 14 ถึง 6 ตุลา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
  • ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (พฤษภาคม-สิงหาคม 2524). “อิสรภาพกับพาราไดม์แห่งความรุนแรง,”     รัฐศาสตร์สาร, 7(3): 1-16. 
  • _______________.  (ธันวาคม 2528). “ความเรียงเบื้องต้นว่าด้วยสันติภาพกับกระบวนการ   เปลี่ยนแปลงทางสังคม,” วารสารธรรมศาสตร์, 1(14): 59.
  • _______________.  (2533). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง.   กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • _______________.  (2539). สันติทฤษฎี/วิถี วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • _______________.  (2539).   “ความรุนแรงในสังคมไทย,” รัฐศาสตร์สาร, 3(19): 6-14.
  • _______________.  (2542).   “คำสั่ง 66/43?: รัฐ, ปัญหาวัฒนธรรมของรัฐกับการจัดการความขัดแย้งในศตวรรษใหม่,” รัฐศาสตร์สาร, 3(21):174-234.
  • _______________.  (2543). อภัยวิถี: มิตร/ศัตรูและการเมืองแห่งการให้อภัย. กรุงเทพฯ:  คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส.
  • _______________.  (2546). “อารยะขัดขืน,” รัฐศาสตร์สาร, 3(24): 29-74.
  • _______________.  (เมษายน-มิถุนายน 2547).   “สันติวิธีจากแง่มุมของรัฐ,” รัฐฎาภิรักษ์,  2(46): 40-43.
  • _______________.  (2548). “ความรุนแรงกับการจัดการ"ความจริง",” ฟ้าเดียวกัน. 2(3): 136-149.
  • _______________.  (2549). อาวุธมีชีวิต? แนวคิดวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.
  • ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรณาธิการ. (2553). ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. กรุงเทพฯ:   มติชน.
  • _______________.  (กรกฎาคม-กันยายน 2549). “มรดกรายงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ : ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนประเทศในบริบทความขัดแย้งของโลกสมัยใหม่,” ฟ้าเดียวกัน, 3(4): 112-156.
  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช.  (2519). ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์กับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ____________. (2529). จากป่าสู่เมือง: การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในอุดมการของนักศึกษาไทย จาก ปี 2519. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • เอกสารสำคัญทางการเมือง ระหว่าง 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2519. กรุงเทพฯ: คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (2516). สันติประชาธรรม. พระนคร : เคล็ดไทย.       
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ...การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชน ก่อน 14 ตุลา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • พวงทอง (รุ่งสวัสดิ์ทรัพย์) ภวัครพันธุ์. (2530). บรรณนิทัศน์สิ่งพิมพ์เรื่องสันติภาพ. กรุงเทพฯ: ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ.
  • ยีน ชาร์ป. (2529). อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. แปลจาก Power, Struggle, and Defence. โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์. ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • ศิวัช ศรีโภคางกุล. (2555). เผชิญความรุนแรงด้วยปรองดอง?: บทเรียนจากต่างแดน. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
  • Galtung, Johan , 1969. `Violence, Peace and Peace Research', Journal of Peace Research, vol. 6, no. 3, pp. 167-191.
  • Girling, John L.S. (1981). Thailand Society and Politics. Ithaca and London: Cornell University.
  • Morell, David and Chai-anan Samudavanija. (1981). Political Conflict in Thailand Reform,  Reaction, Revolution. West Germany: Library of Congress.
  • Svalastoga, Kaare. (1982). On Deadly Violence. Oslo-Bergen-Troms Universitets forlaget.
  • Tejapira, Kasian. (2001). Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto: Kyoto University Press.
  • Zimmermann, Ekkart. (1983). Political violence, crises, and revolutions: theories and Research. Boston, Mass. : G.K. Hall ; Cambridge, Mass.

 

วิทยานิพนธ์:

  • คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง. (2530). ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนนักศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย.
  • จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล. (2548). “การใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง : ศึกษากรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย –มาเลเซียอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ชาญชัย ชัยสุโกศล. (2552).  “เทคโนโลยีกับการต่อสู้ทางการเมืองโดยไร้ความรุนแรง: ศึกษากรณีอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • พีรพร บุญลอย. (2537). “ตำรวจกับการใช้ความรุนแรงทางการเมือง,” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • สุทธิสุนทร ซ้ายขวัญ. (2544). “ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงของข้าราชการตำรวจกองกำกับการป้องกันและปราบปรามจลาจล,” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • เรือรบ เมืองมั่น. (2534). “มหาตมะ คานธีกับการพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างฮินดูกับมุสลิม,” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • สุรกิจ ปัญจวีณิน. (2550). “ความชอบธรรมกับการทำให้อารยขัดขืนเป็นสถาบันในระบอบ ประชาธิปไตยไทย,” วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อังคณา ใจเลี้ยง. (2543). “ทัศนะของเจ้าหน้าที่รัฐต่อความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย,” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.